วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551

พระจันทร์คงรู้สินะ (Nobody Knows But the Moon)
คิมฮยางฮี เขียน
อุไรวรรณ จิตเป็นธม คิม แปล
มิถุนายน ๒๕๔๘
สำนักพิมพ์ ส.ส.ท. เยาวชน สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น)
๒๓๒ หน้า ภาพประกอบ
๑๔๕ บาท

“คำอธิษฐานของเด็กหญิงตัวน้อยที่มีต่อพระจันทร์ดวงกลม กับการรอคอยที่ยาวนานถึงสิบสองปี เพื่อพบผู้เป็นพ่อ แม้เพียงสักครั้งในชีวิต...” คำโปรยด้านหลังปกหนังสือวางอยู่ด้านล่างภาพเด็กหญิงผมสั้นผู้กำลังแนบแก้มของตัวเองกับแก้มของหญิงชรา สองแขนของเธอโอบรอบคอผู้เป็นย่าเอาไว้ สีน้ำอ่อนๆของภาพวาด รอยยิ้มอบอุ่นของตัวละครและคำโปรยสั้นๆแต่ชวนให้อยากรู้ เป็นสิ่งที่ทำให้ฉันตัดสินใจหยิบหนังสือเล่มนี้ออกจากชั้นวาง

เมื่อพลิกไปอ่านประวัติของผู้เขียนที่อยู่ในส่วนท้ายของหนังสือ ฉันก็พบว่าหนังสือเล่มนี้เคยได้รับรางวัลวรรณกรรมซัมซุงในปี ค.ศ. ๑๙๙๔ และรางวัลวรรณกรรมเยาวชนเซจง ในปี ค.ศ. ๒oo๑ ด้วย นอกจากนั้นฉันยังพบความข้อความที่น่าประทับใจอีกตอนหนึ่ง นั่นคือ “วรรณกรรมเป็นสิ่งที่ทำให้รู้ซึ้งในวัฒนธรรม ไม่ว่าอยากจะรู้เรื่องวัฒนธรรมของชนชาติใด เราควรอ่านวรรณกรรมของชาตินั้นๆเสียก่อนแล้วจะรู้เอง” ข้อความข้างต้นเป็นคำพูดที่โนวัสลิส นักเขียนที่คิมฮยางฮีชื่นชอบเคยกล่าวเอาไว้

คำกล่าวของโนวัลลิส รวมกับภาพศิลปินแห่งชาติของประเทศเกาหลีที่กำลังตีกลองเข้าจังหวะในพิธีส่งสวดวิญญาณของผู้ตายให้ไปสู่สุขคติในจอโทรทัศน์ เป็นแรงผลักดันและจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้เกิดวรรณกรรมเยาวชนเรื่องพระจันทร์คงรู้สินะขึ้น หญิงชราที่ประกอบอาชีพคนทรงเจ้าเป็นตัวละครแรกที่ผู้เขียนวางให้เป็นตัวละครสำคัญของเรื่อง โดยอาศัยลักษณะนิสัยของป้าแท้ๆของเธอเป็นแบบอย่าง
วิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อและวัฒนธรรมของคนเกาหลีในชนบทช่วง ค.ศ. ๑๙๙๑ ถูกถ่ายทอดผ่านตัวละครเอกของเรื่องคือซงฮวาและย่าของเธอผู้ประกอบอาชีพคนทรงเจ้า แม่ของเด็กหญิงเสียชีวิตในวันที่เธอคลอด ส่วนพ่อแท้ๆของเธอหลังจากเอาเธอมาฝากไว้กับย่าเมื่อยังเป็นทารก เขาก็ไม่เคยกลับมาที่บ้านเกิดอีกเลย

เรื่องราวในพระจันทร์คงรู้สินะเริ่มต้นขึ้นในวันธรรมดาวันหนึ่ง ซงฮวาคือตัวละครตัวแรกที่ผู้เขียนแนะนำให้ผู้อ่านได้รู้จัก ความโดดเดี่ยวของเด็กหญิงจางหายไปเมื่อตัวละครอื่นๆปรากฏตัวขึ้น ตัวละครแทบทุกตัวในเรื่องมาพร้อมกับมิตรภาพและความโอบอ้อมอารี ไม่เว้นแม้แต่เจ้าดำ สุนัขจรจัดที่ซงฮวาบังเอิญพบเข้า แม้ย่าจะโทษว่าเจ้าดำเป็นตัวกาลกิณีและไล่มันออกจากบ้าน แต่ซงฮวาก็ยังออกตามหาเจ้าดำจนพบ ยองบุนเพื่อนร่วมชั้นเรียนของซงฮวายอมให้เจ้าดำไปอยู่ที่บ้านด้วย เพื่อแลกกับการรักษาความลับเรื่องที่เธอถูกพ่อขี้เหล้าทุบตี บ้านของยองบุนเป็นสถานที่ที่ซงฮวาได้พบกับยองกิ พี่ชายในละแวกบ้านเดียวกันอีกคนหนึ่ง เมื่อคราวที่ซงฮวาตกต้นไม้ขาหัก เจ้าดำ ยองบุนและยองกิก็ได้ช่วยเธอเอาไว้

ในขณะที่มิตรภาพอันงดงามกำลังก่อตัวขึ้นเงียบๆ บรรยากาศของความหม่นเศร้า ความพลัดพรากและความตาย ก็เข้าครอบคลุมเนื้อเรื่องช่วงกลางแทน เมื่อพ่อของยองบุนเสียชีวิตลงเพราะเมาเหล้าจนขาดสติหลังจากที่แม่ของยองบุนกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดและหนีไปอีกครั้ง จนถึงตอนนี้พระจันทร์ก็ยังไม่เคยให้คำตอบแก่ซงฮวาได้ว่าพ่อแท้ๆของเธออยู่ที่ใด มีเพียงประสบการณ์และเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเท่านั้นที่สอนให้ซงฮวารู้และเข้าใจว่าในโลกนี้ไม่ได้มีเพียงเธอเท่านั้นที่เป็นทุกข์ ยองบุนต้องสูญเสียพ่อ แม่ของบูดูลก็เคยสูญเสียลูกชายไปอย่างไม่มีวันกลับ หรือแม้กระทั่งย่าแท้ๆของเธอเองก็ต้องพลัดพรากจากปู่ก่อนเกิดสงครามแบ่งแยกเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ รวมทั้งไม่ได้พบหน้าลูกชายแท้ๆมานานเท่ากับอายุของซงฮวาด้วย
อารมณ์หม่นเศร้าจางหายไป เมื่อเรื่องดำเนินมาถึงตอนท้าย หลังจากที่ยองบุนย้ายไปอยู่โซลกับแม่ได้ระยะหนึ่ง พ่อของซงฮวาก็กลับมาที่บ้านเกิดและรับย่ากับซงฮวาไปอยู่ด้วยกันที่เมืองอินชอน

การรอคอยของซงฮวาสิ้นสุดลงเมื่อครอบครัวกลับมาอยู่พร้อมหน้า แต่การรอคอยอันยาวนานของคนเกาหลีที่หวังจะรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียวนั้นยังคงอยู่ ผู้เขียนถ่ายทอดความหวังอันแรงกล้านี้ผ่านฉากจบในการร่ายรำของย่าในพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษริมแม่น้ำอินจิม (แม่น้ำแบ่งแยกเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้) ได้อย่างน่าประทับใจจริงๆ

พระจันทร์คงรู้สินะไม่ใช่วรรณกรรมเยาวชนที่เต็มไปด้วยเรื่องราวชวนฝัน แต่เป็นเรื่องเสมือนจริงที่ใกล้กับชีวิตของคนเราแค่เอื้อม ตัวอักษรจากปลายปากกาของคิมฮยางฮีร้อยเรียงออกมาเป็นเรื่องราวเรียบเรื่อยไม่หวือหวา แต่เมื่อถึงฉากเศร้าก็กลับบาดอารมณ์ได้อย่างเหลือเชื่อ ทำให้ฉันอยากจะนั่งเงียบๆเพื่อทบทวนเรื่องราวที่ได้อ่านอีกครั้ง อีกครั้งและอีกครั้ง ความเรียบเรื่อยแต่ลึกซึ้งนี้เองเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ฉันชื่นชอบวรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้

“เพื่อนผู้เปรียบเสมือนพระจันทร์ในตอนกลางวัน” เป็นบทที่ฉันประทับใจมากที่สุด คำพูดของซงฮวาที่ว่า “ถึงเราจะมองพระจันทร์ไม่ค่อยเห็นในตอนกลางวัน แต่มันก็อยู่บนฟ้าใช่ไหมล่ะ...ก็เหมือนที่เธออยู่กรุงโซล ฉันมองไม่เห็นเธอ แต่เธอก็จะอยู่ในใจฉันตลอดไปไงล่ะ” ครั้งแรกที่ได้อ่านฉันไม่ได้นึกถึงใครที่เป็นพระจันทร์ในตอนกลางวันของฉัน แต่ฉันนึกถึงประเทศบ้านเกิดของผู้เขียนที่ถูกแบ่งแยกออกเป็นสองและคิดถึงเรื่องราวของคนรอบข้าง ระยะทางที่ห่างไกลไม่อาจห้ามความผูกพันและความคิดถึงได้เลยจริงๆ

นอกจากพระจันทร์คงรู้สินะจะช่วยเตือนใจวัยรุ่นเกาหลีให้ระลึกถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเก่าแก่ของชาติตามที่ผู้เขียนตั้งใจแล้ว ความรู้เล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับประเทศเกาหลีที่สอดแทรกอยู่ตลอดเรื่อง รวมทั้งประวัติศาสตร์ช่วงแบ่งแยกประเทศที่บอกเล่าผ่านตัวละครย่าของซงฮวา ยังทำให้คนต่างชาติอย่างฉันเข้าใจและเห็นใจคนเกาหลีมากขึ้น ความแตกแยกของคนชาติเดียวกันเป็นเรื่องน่าเศร้า หากไม่เคยประสบด้วยตัวเองคงไม่เข้าใจ

ความละเอียดอ่อนของเรื่องราวและสำนวนเรียบง่ายของผู้เขียน ทำให้พระจันทร์คงรู้สินะกลายเป็น “หนังสือน่าอ่านจากเกาหลี” อย่างที่เขียนเอาไว้บนปกหนังสือจริงๆ พระจันทร์คงรู้สินะเป็นงานเขียนอีกชิ้นหนึ่งที่ยืนยันได้ว่า หนังสือที่ดีไม่จำเป็นต้องมีเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นหรือสำนวนสวยหรูตลอดทั้งเรื่อง ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจเลย หากวรรณกรรมเยาวชนที่โดดเด่นอย่างมากในด้านคุณค่าของเนื้อหาอย่างพระจันทร์คงรู้สินะ จะกลายเป็นหนังสือเล่มโปรดของใครหลายคน

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะหันมาใส่ใจวัฒนธรรมของชาติอย่างจริงจังบ้าง ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนไทยจะสมานฉันท์ปรองดองกัน ก่อนที่ประเทศของเราจะแบ่งแยกออกเป็นสองเหมือนประเทศเกาหลี ถึงเวลาแล้วหรือยังที่นักเขียนไทยจะผลิตผลงานที่ได้ชื่อว่าเป็นหนังสือน่าอ่านจากประเทศไทยบ้าง คำตอบของคำถามเหล่านี้พระจันทร์คงรู้สินะ

พิชญา

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

แนะนำได้ดีมีรายละเอียด เป็นนวนิยายใช่มั้ยคะ

ถึงฉากเศร้าก็กลับบาดอารมณ์ได้อย่างเหลือเชื่อ

ไม่เห็นอะไรเลย

7.5