วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551

เทวดาที่โหล่


เทวดาที่โหล่
ผู้แต่ง : โอคะดะ จุน
ผู้แปล : พิมพ์ครั้งที่ 2 / 2547
สำนักพิมพ์ Bliss Publishing
151 หน้า ภาพประกอบ
140 บาท



“บางทีพ่ออาจจะคิดว่า สิ่งที่ทำไปคือความพยายาม แต่แม่จะบอกให้นะ ถ้าความพยายามคือการใช้ชีวิตเหมือนพ่อ หรือการพยายามหมายถึงการต้องเอาชนะคนอื่นแล้วละก็ ฮาจิเม แม่ไม่อยากให้ลูกต้องพยายามทำอะไรเลย”

นั่นคือเนื้อความในบทนำของวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง เทวดาที่โหล่ อีกหนึ่งผลงานคุณภาพของนักเขียนชื่อดังชาวญี่ปุ่น “โอคะดะ จุน” ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ “ความพยายาม” ที่ไม่ใช่การแข่งขันเพื่อเอาชนะผู้อื่น แต่เป็น “ความพยายาม” ของเด็กๆ ที่ยังคงไว้ซึ่งหัวใจอันอ่อนโยน

เทวดาที่โหล่ เป็นเรื่องราวของคิโนชิตะ ฮาจิเม เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ที่เพิ่งสูญเสียพ่อและต้องย้ายมาเรียนที่โรงเรียนแห่งใหม่ ซึ่งเต็มไปด้วยการแข่งขัน ตั้งแต่การเก็บคะแนนสอบท้ายชั่วโมง ไปจนถึงการแข่งขันเรื่องความเร็วในการรับประทานอาหารกลางวัน เด็กๆทุกคนในห้องต่างก็แข่งขันกันเพื่อให้ได้อยู่ในอันดันต้นๆ เพราะนั่นหมายถึงการได้ทั่งแถวหน้าในห้องเรียน และคนที่ได้คะแนนไม่ดีก็จะได้นั่งแถวหลัง ซึ่งไม่มีใครอยากคุยด้วย

ด้วยความที่พ่อของฮาจิเมล้มป่วยและเสียชีวิตเนื่องจากทำงานหนักเกินไป ทำให้ฮาจิเมและแม่ไม่ชอบความพยายามหรือการแข่งขันเพื่อให้ได้เป็นที่หนึ่ง แล้ววันหนึ่งเขาก็ได้พบกับสิ่งประหลาดตัวโปร่งใสบินไปมาอยู่ในห้องเรียน เมื่อเขาจึงเฝ้าสังเกต จึงได้รู้ว่าเจ้าสิ่งมีปีกรูปร่างโปร่งใสนี้ มักจะไปวนเวียนอยู่ใกล้ๆคนที่ได้ที่โหล่เสมอ ดังนั้นเขาจึงพยายามทำให้ตัวเองได้ที่โหล่ของชั้นในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นคะแนนสอบ การวิ่งแข่ง การกินอาหารกลางวัน เพื่อที่จะได้มองเห็นและคุยกับ “เทวดาที่โหล่” ได้ แต่เมื่อความลับนี้กระจายออกไป เพื่อนๆในห้องจึงอยากที่จะเป็นที่โหล่เพื่อจะได้เห็นและคุยกับเทวดาที่โหล่บ้าง

เทวดาที่โหล่ เป็นหนังสือที่ถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้อย่างเรียบง่ายและลงตัว ด้วยการใช้ภาษาที่ง่าย และเนื้อเรื่องที่น่ารัก ชวนให้ติดตาม อีกทั้งการบรรยายฉากและตัวละครที่ทำได้อย่างดีเยี่ยม พร้อมทั้งภาพประกอบที่มีแทรกอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพได้อย่างชัดเจน และเข้าใจเนื้อหาได้โดยง่าย
แม้ว่าหนังสือเล่มนี้ จะเป็นเรื่องราวของเด็กประถม ที่มีความเปลี่ยนแปลงและเกิดการเรียนรู้ขึ้นอย่างง่ายๆ ไม่มีเงื่อนงำซับซ้อนอันใด แน่นอนว่าเป็นไปตามธรรมชาติของเด็ก ทว่าแง่คิดที่แฝงไว้ในเรื่องราว ผ่านความคิดและการกระทำของบรรดาตัวละครเด็กในเรื่องกลับลึกซึ้งและกระทบใจเหลือเกิน จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า หนังสือเล่มนี้จะกลายเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมในหมู่คนไทย เช่นเดียวกับที่ได้รับความนิยมมาแล้วจากคนญี่ปุ่น

หนังสือเล่มนี้ เปรียบเสมือนสิ่งที่ช่วยย้ำความเชื่อของดิฉันในเรื่องที่ว่า หนังสือที่ถูกกำหนดชื่อให้เป็นวรรณกรรมเยาวชน ไม่ได้เหมาะสำหรับบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็น “เยาวชน” เท่านั้น หากแต่เป็นหนังสือที่เหมาะสมอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ผู้ใหญ่” จะหยิบขึ้นมาอ่าน เพราะไม่ใช่แค่กลวิธีในการดำเนินเรื่องราวทั้งหลายในความสัมพันธ์อันบริสุทธิ์ของเด็กๆ ได้อย่างงดงาม หรือความน่ารักของเด็กๆที่สื่อออกมาผ่านการกระทำ คำพูด และความคิดที่แสนจะน่ารัก จนทำให้อดยิ้มไม่ได้ขณะที่อ่าน แต่ผู้เขียนยังได้แฝงแง่คิดในเรื่องของ “ความพยายาม” เอาไว้อย่างแยบยล จากความพยายามที่มุ่งเอาชนะเพื่อการเป็น “ที่หนึ่ง” แปรเปลี่ยนไปสู่ความพยายามเพื่อการเป็น “ที่โหล่” ซึ่งเดินควบคู่ไปพร้อมกับน้ำใจและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ใช่การแข่งขันเพื่อหวังชัยชนะ

ผู้เขียนพยายามชี้ให้ตระหนักว่า โลกและชีวิตทุกวันนี้เต็มไปด้วยการแก่งแย่ง แข่งขันเพื่อเอาชนะกันอยู่ตลอดเวลา และนั่นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครหลีกหนีพ้น แต่สิ่งสำคัญเหนืออื่นใดก็คือ การแข่งขัน ต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งการเป็นที่หนึ่งหรือเพื่อความสำเร็จนั้น มิได้นำมาซึ่งความสุขที่แท้จริง หากแต่อยู่ที่การกระทำทุกเรื่องราวในชีวิตอย่างเต็มที่ เต็มความสามารถ โดยไม่ละเลยหรือมองข้ามมิตรภาพ รวมถึงการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น สิ่งนี้ต่างหาก ที่เป็นหัวใจสำคัญของความสุขในการดำรงชีวิต

ความหมายของความพยายามนั้น แต่ละคนคงตีความไปต่างๆกัน แต่เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบ คงจะทำให้หลายคน ต้องลองกลับมาคิดทบทวนดูใหม่ ถึงความหมายของ “ความพยายาม” ว่าที่ตนเข้าใจนั้น ถูกต้องแล้วหรือไม่

ความพยายามของ “ฮาจิเม” และบรรดาตัวละครเด็กในเรื่อง ที่สวนทางกับความพยายามในความหมายของคนทั่วไป ดิฉันเชื่อแน่ว่าวรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้ จะทำให้ผู้อ่านทุกเพศทุกวัย เข้าใจได้อย่างถ่องแท้ว่า ความพยายาม การแข่งขันและน้ำใจ สามารถเดินควบคู่กันไปได้ หากรู้จักจัดวางให้เหมาะสมกับชีวิต
หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องราวชวนอมยิ้มของเด็กน้อยวัยประถม หากแต่เป็นงานเขียนที่แฝงไว้ด้วยแง่คิดและแก่นเรื่องได้อย่างน่าชื่นชม ที่นักเขียนน้อยคนนักจะทำได้ ประกอบกับสำนวนภาษาที่ได้รับการกลั่นกรองด้วยความรักและตั้งใจของ “ปริวัณย์ เยี่ยมแสนสุข” อีกหนึ่งนักแปลคุณภาพหน้าใหม่ จึงทำให้งานเขียนชิ้นนี้เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าน่ายกย่องอีกชิ้นหนึ่ง

นพวรรณ

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

คุณเป็นคนเขียนหนังสือน่าอ่านนะ ลื่นไหล เรียบง่ายและได้อารมณ์ มีบางคำที่เป็นคำธรรมดา เช่น ไม่มีเงื่อนงำซับซ้อนอันใด แม้ว่าจะดูเป็นภาษาพูดไปสักหน่อย แต่ก็เหมาะสมกับเรื่อง คือ อาจเป็นเพราะตัวเรื่องเองก็ส่งให้บทแนะนำหนังสือเป็นเช่นนี้ คือ อ่านง่าย และรู้สึกดี

อยากให้คุณอ่านเยอะๆ และเขียนมากๆ อย่าทิ้งไปนะ

9