วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

รักแห่งสยาม




นางสาวเปียรินทร์ มหาพงษ์เสถียร รหัส 05490241

รักแห่งสยาม ภาพยนตร์ไทยของชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ที่ได้เข้าฉายเมื่อเดือนพฤจิกายน ปี 2550 เป็นภาพยนตร์ที่ดีและเป็นที่น่าสนใจของคนจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มเด็กวัยรุ่น ด้วยเนื้อหา เรื่องราวที่ดีเยี่ยม รักแห่งสยามจึงได้รับรางวัลมากมายหลายรายการเช่น 6 รางวัลจากชมรมวิจารณ์บันเทิงครั้งที่ 16 , 6 รางวัลจากสตาร์เอนเตอร์เทนเมนท์ อวอร์ต หรือ 3 รางวัลใหญ่จากงานสุพรรณหงษ์ นอกจารางวัลจากรายการเหล่านี้แล้วก็ยังได้รับรางวัลอื่นๆอีกมากมายที่เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าเป็นภาพยนตร์ที่น่าสนใจและควรติดตามเป็นอย่างยิ่ง



รักแห่งสยาม เรื่องราวของโต้งและมิวเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงกัน ที่รู้จักและสนิทกัน คอยช่วยเหลือซึ่งกันและกันตลอดเวลา แต่วันหนึ่งมีเหตุให้ครอบครัวของโต้งต้องย้ายบ้านออกไปเพราะไม่ต้องการอยู่บ้านที่มีความทรงจำอันแสนเศร้าจากการที่ต้องสูญเสียแตงลูกสาวคนโตที่หายตัวไปขณะไปเที่ยวเชียงใหม่กับเพื่อนๆ เมื่อหลายปีผ่านไป โต้งและมิวได้กลับมาเจอกันอีกโดยบังเอิญ เริ่มนำความสนิทสนมของทั้งคู่กลับมาอีกครั้ง ซึ่งความรู้สึกและความสัมพันธ์ครั้งนี้มิได้เป็นไปอย่างเพื่อน แต่เป็นความรู้สึกแบบคนรัก ทำให้สุนีย์แม่ของโต้งไม่อาจรับความสัมพันธ์แบบนี้ได้ โต้งและมิวจึงเริ่มห่างกัน ขณะเดียวกันจูนหญิงสาวที่มีหน้าตาคล้ายแตงก็ถูกสุนีย์จ้างให้มาเป็นแตงเพื่อให้กร ที่เป็นสามีรู้สึกดีขึ้นหลัจากที่กินแต่เหล้าจนไม่สบายหนักกับการเสียใจ จูนได้รับรู้ถึงเรื่องราวระหว่างโต้งกับมิว และปัญหาในครอบครัวที่จ้างตนมา ด้วยความรักและผูกพันต่อครบครัวนี้ เธอจึงได้อธิบายเรื่องราวต่างๆให้สุนีย์ได้เข้าใจจนเปิดใจยอมรับมากขึ้นและให้โอกาสโต้งที่จะเลือกทางเดินของตนเอง แต่สุดท้ายโต้งก็เลือกที่จะรู้สึกกับมิวอย่างเพื่อนมากกว่าอย่างคนรัก

รักแห่งสยามเปิดเรื่องราวด้วย 2 ครอบครัวในตอนเดียวกัน คือ ฉากที่มิวคุยกับอาม่าเรื่องที่จะย้ายไปอยู่ระยอง และตอนที่ครอบครัวของโต้งนั่งอยู่พร้อมหน้ากันบนโต๊ะอาหาร จากการเปิดเรื่องก็แสดงให้เห็นถึงความรักของครอบครัวได้แล้วเช่นกัน และมีเหตุการณ์การการเจอกันโดยบังเอิญระหว่างโต้งกับมิวหลังจากที่ไม่ได้พบกันอีกสมัยเด็กที่จะนำไปสู่ความใกล้ชิดและผูกพันต่อไปจนเกิดเป็นความรักที่สร้างความขัดแย้งให้กับตัวละครได้ ดังนี้



ควาขัดแย้งที่เห็นได้ชัดนั้นคือระหว่างโต้งกับสุนีย์ ที่สุนีย์ห้ามโต้งไม่ให้คบกับมิว
ความขัดแย้งในใจของโต้งเองว่าเขารักมิวแบบไหน
ความขัดแย้งในใจของมิวเองว่าเลือกที่จะทำตามคำขอของสุนีย์ที่ให้เลิกความสัมพันธ์แบบคนรักกับโต้ง ซึ่งมิวก็เลือกที่จะห่างและไม่เจอหน้าโต้งอยู่ช่วงหนึ่ง


เมื่อมาถึงจุดไคลแมกซ์ของเรื่องก็เป็นตอนที่สุนีย์และโต้งตกแต่งต้นคริสต์มาสมีตุ๊กตาหญิงและชาย 2 ตัวให้โต้งเลือกติด ซึ่งตอนแรกโต้งไม่กล้าเลือกว่าจะเอาตัวไหนเพราะกลัวไม่ถูกใจแม่ แต่สุนีย์ก็ให้โอกาสโต้งที่จะเลือกซึ่งตัวนั้นก็คือตุ๊กตาผู้ชาย สุนีย์ก็ไม่ว่าอะไรนั่นก็หมายถึงการเปิดโอกาสให้โต้งเลือกดำเนินชีวิตในอย่างที่ตัวเองอยากเป็นได้


ในเรื่องนี้จะสร้างโดยเน้นในเนื้อหา เรื่องราวของภาพยนคร์เป็นจุดสำคัญในเรื่องราวของความรักหลากกลายรูปแบบทั้งความรักของครอบครัว ความรักแบบเพื่อน มิตรภาพ และความรักแบบคนรัก อีกอย่างที่โดดเด่นมากเช่นกันคือบทพูดที่มีนัยและสาระอยู่ในตัวของมันตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งจะไม่ค่อยเน้นฉากหรือบรรยากาศเพราะจะเห็นได้ว่าฉากนั้นจะเป็นฉากเดิมๆ คือที่บ้าน ที่ห้องซ้อมดนตรี และที่สยาม เป็นต้น


ฉากสุดท้ายในการปิดเรื่องเป็นฉากที่โต้งนำชิ้นส่วนจมูกของตุ๊กตาไม้มาให้มิวและ มิวเอาชิ้นส่วนนั้นมาต่อให้ครบสมบูรณ์และร้องไห้ออกมา การร้องไห้ของมิวนั้นไม่ได้ร้องเพราะไม่ได้โต้งมาคบแบบคนรัก แต่ร้องเพราะได้รู้ว่าชีวิตนี้ไม่ได้อยู่โดดเดียวอีกต่อไปแต่ยังมีคนที่รักและพร้อมจะอยู่เคียงข้าง อย่างน้อยก็มีโต้งคนหนึ่ง


ตัวละครเอกของเรื่องหลักๆมี 2 ตัวด้วยกัน ได้แก่


“โต้ง” ชายวัยรุ่นที่ต้องเจ็บปวดกับการสูญเสียพี่สาวสมัยยังเด็ก แต่เขาก็ดำเนินชีวิตไปอย่างวัยรุ่นธรรมดาที่ใช้เวลาไปกับการเรียนและเพื่อนๆ
“มิว” ที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับโต้ง อาศัยอยู่กับอาม่าตั้งแต่เด็ก เมื่ออาม่าเสียก็อยู่อย่างโดดเดี่ยว มิวจึงโตมากับความเหงาโดยมีเสียงดนตรีเป็นพื่อน


สำหรับตัวละครรองที่พอมีบทบาทนั้นเห็นจะมี
“สุนีย์” แม่ของโต้งผู้มีจิตใจแข้มแข็งที่ต้องดูแลครอบครัว แต่ภายในใจก็รู้สึกบอบช้ำมากจากการสูญเสียลูกสาว ทำให้โต้งเป็นคนเดียวที่เป็นความหวังของเธอ จึงได้พยายามทำทุกอย่างให้โต้งเป็นอย่างที่เธอต้องการ จนเกิดความขัดแย้งกับโต้ง เมื่อดูแล้วจะเห็นว่าสุนีย์เป็นตัวละครที่ไม่ได้เห็นแก่ตัวที่ไม่ให้โต้งคบกับมิว เพราะเธอยังถือเป็นคนที่ไม่สมัยใหม่มากนักในการจะยอมรับความรักระหว่างเพศเดียวกันได้ อีกสาเหตุก็เป็นเพราะเหลือลูกอยู่คนเดียวก็ไม่อยากให้ใช้ชีวิตไปในแนวทางที่สังคมยังไม่ยอมรับมากเท่าที่ควร
”จูน” ตัวละครที่เป็นตัวกลางทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมิวและโต้งดีขึ้นและยังทำให้ปัญหาระหว่างสุนีย์และโต้งได้เข้าใจกัน



สัญลักษณ์ต่างๆในเรื่องที่พอจะสังเกตได้
ที่เลือกให้มิวเป็นนักดนตรีนั้นก็เพื่อสื่อให้เห็นว่าความรู้สึกและเพลงมันสามารถเชื่อมเกี่ยวกัน อย่างเช่น เพลงรักที่มิวแต่งนั้นก็มีแรงบันดาลใจเมื่อเห็นรูปโต้งทุกครั้ง นอกจากนี้เพลงยังเป็นสิ่งที่จะสามารถสื่อความรู้สึกบางอย่างถายในใจได้โดยไม่ต้องพูดออกมาตรงๆ



หมอนในห้องของมิวในสมัยเด็กมี 2 สีคือฟ้าที่สื่อหมายถึงโต้ง และหมอนสีเขียวที่สื่อถึงมิว หลังจากที่โต้งย้ายบ้านไป จะเห็นว่าหมอนมี 2 ใบเหมือนเดิม แต่เป็นสีเขียวหมด มันก็อาจสื่อได้ว่าชีวิตตรึ่งหนึ่งของมิวที่เคยมีโต้งมันหายไป



ตุ๊กตาไม้ที่โต้งให้กับมิวสมัยยังเด็กที่ขาดชิ้นส่วนที่เป็นจมูกไป และสุดท้ายโต้งไปหาซื้อมาได้และนำไปให้มิว นั่นแสดงให้เห็นว่าจมูกนั้นมีไว้หายใจถ้าขาดจมูกชีวิตก็อยู่ไม่ได้ ก็เหมือนกับความรักก็จะช่วยให้มิวมีชีวิตต่อไปแม้ว่าโต้งจะไม่สามารถคบกับมิวแบบคนรักได้



ฉากที่จะนำตุ๊กตามาติดต้นคริสต์มาส มีตัวผู้หญิงและผู้ชาย โต้งเลือกที่จะเลือกตัวผู้ชายมาติด นั่นก็แสดงให้เห็นว่าโต้งเลือกมิว

หลังจากได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงความรัก ความผูกพันในรูปแบบต่างๆที่ได้กล่าวมาแล้วและยังสะท้อนให้เห็นว่าแม้ว่าสังคมปัจจุบันจะเปิดกว้างในเรื่องความรักระหว่างเพศเดียวกันได้แล้ว แต่มุมมองคนบางคนก็ยังคงปิดกั้นเลือกที่จะไม่ยอมรับทั้งๆที่ความรักนั้นเป็นความรักแบบบริสุทธิ์ก็ตาม อีกเรื่องหนึ่งที่สื่อออกมาในภาพยนตร์เรื่องนี้คือปัญหาของเด็กวัยรุ่นที่มีความสับสนภายในใจที่ไม่สามารถบอกกับคนใกล้ชิดในครอบครัวได้จึงไปปรึกษาและรวมกลุ่มกันในหมู่เพื่อนๆมากกว่านั่นเอง

เพื่อน...กูรักมึงว่ะ


สุกานดา นาคเล็ก
05490415

“เรื่องราวความรักของชายหนุ่มสองคนที่รักกัน แต่ไม่มีวันสมหวัง
ในความรัก นี่คือเรื่องราวของความรัก ที่แม้ไม่สมควรเกิด
แต่เมื่อมันพร้อมก็ไม่มีสิ่งใดมาขวางกั้นได้”


เพื่อน...กูรักมึงว่ะ เป็นภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายในเดือนกันยายน พ.ศ. 2550 ภาพยนตร์แนวโรแมนติก-ดราม่า ผลงานการกำกับของผู้กำกับ พจน์ อานนท์ เป็นภาพยนตร์ที่ได้รับเลือกให้เป็นหนังเปิดเทศกาลภาพยนตร์ “ Hong Kong Lesbian & Gay Film Festival ” ที่เกาะฮ่องกง เมื่อเดือนธันวาคม 2550 อีกทั้งยังได้รับคัดเลือกให้ไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์ผู้สร้างอิสระ บรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ครั้งที่ 34 และได้รับรางวัลสูงสุด ( The Grand Award in all Categories )


เรื่องราวชีวิตและความรักระหว่างชายหนุ่มสองคนที่ชีวิตของทั้งคู่เป็นเหมือนเส้นขนานที่ไม่อาจวนมาบรรจบกันได้ แต่โชคชะตาก็ทำให้คนทั้งคู่โคจรมาพบกัน

เมฆ ชายหนุ่มผู้เคร่งขรึม พูดน้อย เขาไม่เคยรักใครและไม่คิดจะรักใคร นอกจากแม่และหมอกน้องชายคนเดียวของเขา เมฆไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เขาอาศัยอยู่คนเดียวด้วยเหตุผลของเรื่องงาน งานที่ไม่มีความแน่นอน ทุกวินาทีของชีวิตเหมือนแขวนอยู่บนเส้นด้าย อาชีพของเขาไม่สมควรมีความรัก เมฆเป็นมือปืนรับจ้าง

วันหนึ่งเมฆได้รับคำสั่งภารกิจฆ่าชิ้นใหม่ เป้าหมายของเขาคือ อิฐ ชายหนุ่มหน้าตาดี มีฐานะ ว่าที่เจ้าบ่าวที่กำลังจะเข้าพิธีแต่งงานกับ ทราย แต่อิฐยังรู้สึกว่าชีวิตเหมือนยังขาดอะไรบางอย่างไป

เมฆเฝ้าติดตามอิฐทุกฝีก้าวเพื่อทำงานชิ้นนี้ให้สำเร็จ และด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้เมฆและอิฐได้มาพบกัน แต่การพบกันของทั้งสองไม่ใช่ภาพที่น่าประทับใจ เพราะเมฆได้รับบาดเจ็บจากการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าที่ไม่ยอมฆ่าอิฐ แต่กลับช่วยเหลือเมื่อรู้ว่าอิฐเป็นคนดี จึงทำให้เมฆและอิฐถูกหัวหน้าของอิฐตามล่า ต้องหนีหัวซุกหัวซุนไปหลบซ่อนยังที่พักของเมฆ ที่นี่เองที่ความรู้สึกดีๆของทั้งคู่ค่อยๆก่อตัวขึ้น อิฐคอยดูแลรักษาเมฆที่บาดเจ็บจนอาการดีขึ้น

จากความใกล้ชิดที่มีต่อกันก่อให้เกิดความรู้สึกบางอย่างลึกๆในใจของคนทั้งคู่ และภายหลังก็แปร เปลี่ยนมาเป็นความโหยหา แต่เมฆไม่อาจทำใจยอมรับความสัมพันธ์ที่อาจจะกลายเป็นสิ่งลึกซึ้งได้ และด้วยความสับสนในใจของตนเอง ทำให้เมฆพยายามหนีและหลบหน้าอิฐ ส่วนอิฐเองก็ออกตามหาเมฆอย่างไม่ละความพยายาม

ขณะนั้นเมฆก็ตัดสินใจที่จะกลับมาสะสางงานชิ้นสุดท้ายให้เสร็จ เพื่อที่จะพาแม่กับน้องที่ติดเอดส์จากพ่อเลี้ยงไปรักษาตัวและอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวอีกครั้ง แต่ทุกอย่างก็ไม่เป็นไปตามที่เมฆคาดหวังไว้ ภารกิจสุดท้าย ฆ่าหัวหน้าใหญ่และผู้ว่าจ้างได้สำเร็จ แต่เขาต้องสูญเสียแม่และน้องไป ส่วนตัวเองก็ถูกจับกุม

ทางด้านอิฐก็ได้แต่เฝ้ารอ รอวันที่จะได้พบกับเมฆอีกครั้ง และบอกความในใจให้เขารู้ก่อนที่จะสายเกินไป และแล้ววันที่ทั้งคู่ได้พบกันและน่าจะได้อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ก็มาถึง เมฆได้รับอิสรภาพในปี 2575 โดยมีอิฐมารอรับที่หน้าเรือนจำ

เรื่องน่าจะจบลงอย่างมีความสุข แต่ทว่า โชคชะตาก็ย้อนกลับมาเล่นตลกกับความรักของคนทั้งคู่อีกครั้ง เสียงปืนดังขึ้นหนึ่งนัดพร้อมๆกับร่างของเมฆก็ค่อยๆทรุดลงท่ามกลางสายฝนโปรยปรายและเสียงร้องเรียกของอิฐ


ประเด็นสำคัญของเรื่องคือ การถ่ายทอดเรื่องราวความรักระหว่างชายหนุ่มสองคนที่ไม่มีกฎเกณฑ์มาคั่นกลาง จบลงด้วยโศกนาฏกรรม

เริ่มเรื่องด้วยตัวละครเอกคือ เมฆ ถ่ายทอดชีวิตที่เร่งรีบและอาชีพในด้านมืดของเขาซึ่งก็คือมือปืนรับจ้าง
สะท้อนผ่านฉากและบรรยากาศที่ใช้โทนสีดำเป็นหลัก ภาพส่วนใหญ่ที่ถ่ายออกมาจะเป็นฉากตอนกลางคืน และแม้จะเป็นกลางวันก็ยังใช้ภาพโทนสีดำ ซึ่งบ่งบอกได้ถึงอารมณ์ ความรู้สึกของตัวละคร

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมี 2 ประเภท คือ
1. ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ คือ เมฆ กับ หัวหน้า จากเหตุการณ์ที่เมฆไม่ยอมฆ่าอิฐ จึงทำให้ทั้งสองถูกหัวหน้าตามล่า
2. ความขัดแย้งภายในจิตใจของตัวละคร คือ เมฆ เกิดความสับสนไม่อาจทำใจยอมรับความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างเขากับอิฐได้ จึงพยายามหนีและหลบหน้าอิฐ

เพื่อน...กูรักมึงว่ะ เป็นหนังที่มีทั้งจุดเด่นและจุดด้อย จุดเด่นก็คือ การกำกับศิลป์ที่ใช้แสงสี และมุมกล้องได้สวยงาม ตัวอย่าง


ภาษาที่ใช้นั้นก็มีความไพเราะ เช่น ถ้าความรักทำให้คนหายเหงา ทำไมบางคนจึงปฏิเสธที่จะรัก หรือ เป็นเพราะผมรักคุณมากเกินไป ผมถึงได้เกลียดตัวเองนัก เป็นต้น การดำเนินเรื่องเป็นไปเรื่อยๆและมีดนตรีประกอบ ทำให้ผู้ชมดื่มด่ำและไม่รู้สึกเบื่อ จุดด้อยคือการยัดเยียดความโชคร้ายให้กับตัวละคร เช่น ตัวละคร หมอก เป็นโรคเอดส์ แม่ก็เป็น ทุกครั้งที่ออกจากบ้านหมอกก็ถูกวัยรุ่นแถวบ้านรุมซ้อม ต้องไปขายตัวเพื่อหาเงินมาซื้อข้าว มันเป็นชีวิตที่รันทดเกินไป เหมือนผู้สร้างพยายามสร้างให้ตัวละครทั้งสองนี้น่าสงสาร จนบางครั้งก็ทำให้ความสำคัญของตัวเอกลดลง

นอกจากนี้หนังยังสร้างคำถามให้กับผู้ชมอยู่ตลอด อย่างเมื่อเริ่มต้นเรื่อง ทำไมเมฆต้องฆ่าอิฐๆไปรู้ความลับอะไรมา แล้วอิฐเป็นตำรวจไหม? ตัวละครตัวนี้ไม่มีความชัดเจน อีกทั้งหนังเรื่องนี้ยังให้ความสำคัญและรายละเอียดของเรือนร่างผู้ชายมากเกินไป เกือบทุกฉากที่อิฐและเมฆอยู่ด้วยกัน ตัวละครทั้งสองมักจะใส่แค่กางเกงเพียงตัวเดียว ซึ่งอวดร่างกายท่อนบน มันก็ดี แต่มันมากเกิน

การแสดงความรักของเมฆและอิฐใช้สัญลักษณ์เป็นเหตุการณ์ฝนตก ฟ้าร้อง ที่แสดงถึงความปรารถนา ความโหยหาต่อกันอย่างมาก และสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งก็คือ ขวดปลา ซึ่งเป็นของหมอกๆทำขวดแตกและนั่งมองปลาโชคร้ายตัวนั้น ซึ่งเหมือนกับชีวิตของตัวเองที่ต้องนั่งรอวันตาย

โดยภาพรวมแล้ว หนังเรื่องนี้ถือว่าเป็นหนังที่ดี ให้แง่คิดมุมมองการมองโลกโดยผ่านตัวละคร เป็นหนังที่ถ่ายทอดอารมณ์ความรักได้อย่างลึกซึ้งและกินใจ การรอคอยคนที่รักคือจุดหมายสูงสุดที่ต้องการ และความรักก็ทำให้คนเราอ่อนโยนได้

ดูหนังเรื่องนี้แล้ว ก็อย่าลืมดูแลคนที่คุณรักให้ดีๆ

Daratt : Dry season


ชนิกรรดา คงน้อย

05490086


Daratt หรือ Dry Season เข้าฉายในปี 2006 เป็นภาพยนตร์จากสาธารณรัฐชาด (Chad) ความยาวประมาณ96นาที เป็นผลงานล่าสุดของมะหะหมัด ซาเลห์ ฮารูน ผู้กำกับชาวชาดที่อพยพเข้ามาอยู่ในฝรั่งเศส Darattยังได้รับรางวัลพิเศษสิงโตทองคำจากเทศกาลหนังเวนิสครั้งที่13ด้วย "ชาด" เป็นประเทศในภูมิภาคแอฟริกากลาง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย ไม่มีทางออกทะเลและติดอันดับต้นๆ ประเทศยากจนที่สุดในโลก


ระหว่างสงครามกลางเมืองในประเทศชาด ประชาชนถูกสังหารเป็นจำนวนมาก รวมทั้งพ่อของอาติม เด็กหนุ่มวัย 16ปี พ่อของเขาถูก นาสซารา ฆ่า ตั้งแต่เขายังไม่เกิด มีเพียงปู่ตาบอดของเขาเท่านั้นที่รับรู้เรื่องราวทั้งหมด และหวังให้เขาแก้แค้นแทน หลังสงครามสิ้นสุดลง รัฐบาลประกาศนิรโทษกรรมให้กับอาชญากรทุกคน ทำให้นาสซารา พ้นจากความผิด แต่ความอาฆาตของอาติม ก็ยังคงอยู่ เขาจึงรีบออกเดินทางเพื่อมาตามหานาสซารา เขาได้รับความช่วยเหลือจากชายคนหนึ่ง เขาและเพื่อนใหม่หาเลี้ยงชีพด้วยการขโมยหลอดไฟตามบ้านเพื่อนำไปขาย แต่อาติมก็ไม่เคยรับเงินจากส่วนนี้เลย อาติมตามหา นาสซาราจนพบและรู้ว่านาสซาราคือชายผู้สูงอายุผู้มีอาชีพทำขนมปังขาย และใช้ชีวิตอยู่กับภรรยาสาวที่กำลังตั้งครรภ์ จนวันหนึ่งอาติมทำทีเป็นขอทำงานกับนาสซาราเพื่อหาโอกาสแก้แค้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปเขายิ่งเห็นความเป็นคนที่ไม่มีพิษสงในตัวนาสซารามากขึ้น ขณะที่นาสซาราก็รู้สึกผูกพันกับอาติมมากขึ้นด้วยจนถึงขนาดขอให้อาติมมาเป็นลูก แม้ว่าอาติมมีโอกาสที่จะฆ่านาสซาราหลายครั้งแต่เขาไม่ทำ จนในที่สุดเขาตัดสินใจลาออก ทำให้นาสซาราขอตามไปหาครอบครัวของเขาเพื่อขอให้เขากลับมาทำงาน และในที่สุดนาสซาราก็เข้าใจทุกอย่างเมื่อเห็นปู่ของอาติม ปู่บังคับให้นาสซาราถอดเสื้อออกก่อนที่อาติมจะลงมือฆ่า แต่อาติมไม่สามารถฆ่านาสซาราลงได้ เขาจึงแกล้งทำเป็นยิงปืนขึ้นฟ้าแล้วผลักนาสซาราให้ล้มลงแกล้งตาย แต่ปู่ของเขาไม่แน่ใจ เขาจึงยิงปืนซ้ำแล้วพาปู่เดินจากไป โดยทิ้งนาสซาราไว้ตรงนั้น


ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดเรื่องที่ปู่ร้องเรียกให้อาติมมาเปิดวิทยุฟังการแถลงข่าวประกาศนิรโทษกรรมให้แก่อาชญากรเมื่อครั้งเกิดสงครามกลางเมือง แสดงบรรยากาศและสภาพบ้านเมืองภายในเรื่องที่แห้งแล้ง ไม่มีชีวิตชีวา มองทางไหนก็เห็นเพียงแต่สีน้ำตาลของทะเลทรายตลอดทั้งเรื่อง

เรื่องดำเนินไปโดยให้อาติมออกเดินทางเพื่อทำสิ่งที่ต้องการ แต่เมื่อการกระทำของอีกฝ่ายซึ่งก็คือนาสซาราทำให้อาติมรู้สึกลังเลใจ และเกิดความรู้สึกดีๆขึ้นโดยไม่รู้ตัว เพราะตลอดทั้งเรื่องนาสซาราแสดงออกว่ารู้สึกดีและหวังดีกับอาติม เช่น ตอนที่นาสซาราให้เศษขนมปังแก่อาติมเหมือนเด็กคนอื่นๆ แม้อาติมจะทำลายน้ำใจเขาด้วยการกัดแล้วถ่มทิ้ง หรือตอนที่เขาสอนอาติมด้วยความจริงใจว่าการทำขนมปังต้องการความรักและการใส่ใจ เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ทำให้อาติมเริ่มไม่มั่นใจในความคิดของตัวเอง ประเด็นที่ต้องการสื่อ คือตัวละครหลักเพียง 2 คน คืออาติมและนาสซาราที่แสดงออกอย่างคลุมเครือ บางครั้งเหตุการณ์ตึงเครียด บางครั้งก็ผ่อนคลาย ทำให้หนังมีแรงผลักอยู่ตลอดเวลาและความผูกพันที่ค่อยๆก่อตัวขึ้นระหว่างทั้งสองทำให้ไม่สามารถคาดเดาบทสรุปของเรื่องได้ในทันที

ความขัดแย้งภายในจิตใจของตัวละครเป็นจุดสำคัญของเรื่อง นั่นคือ ความสับสนของอาติมที่ลังเลว่าจะลงมือฆ่านาสซาราหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่ว่าเขาจะไม่มีโอกาสฆ่านาสซารา เพียงแต่ว่าเขาไม่เคยกล้าที่จะลงมือเท่านั้น อาจจะด้วยความไม่มั่นใจในตัวเองว่าเขาเกลียดนาสซาราจริงหรือไม่ เพราะตลอดเวลาที่เขาอยู่กับนาสซารา อาติมเองก็ดูแลปรนนิบัตินาสซาราอย่างดี เขาเห็นความจริงใจและความอ่อนโยนในตัวนาสซารา และเขาพบว่าหลายๆคนก็มีการสูญเสียเหมือนกัน บางครั้งเขาสังเกตเห็นความเสียใจบางอย่างที่นาสซาราไม่ต้องการเอ่ยถึง เห็นได้จากตอนที่นาสซาราปาโทรศัพท์ของอาติมทิ้ง แล้วเขาก็ขอโทษอาติมและบอกว่าหลายครั้งที่เขาทำอะไรลงไปโดยที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ นั่นอาจเชื่อมโยงให้เห็นว่านาสซาราไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ จึงฆ่าพ่อของอาติม

มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นในฉากที่ทั้งอาติมและนาสซาราอยู่ในโรงทำขนมปังที่ค่อนข้างอับ สกปรกและอบอ้าว ไม่ว่าจะเป็นการที่นาสซาราสอนให้อาติมทำขนมปังด้วยความรักและความใส่ใจ แม้นาสซาราจะสอนวิธีทำขนมปังให้อาติมดูเพียงแค่ช่วงแรก แต่เมื่อวันหนึ่งนาสซาราปวดหลังจนไม่สามารถทำงานได้ อาติมจึงต้องทำขนมปังด้วยตัวเองทั้งหมดทุกขั้นตอน ทำให้เขารู้สึกภูมิใจมาก นั่นเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่นาสซาราได้เปิดโลกกว้างและปล่อยให้อาติมเรียนรู้ด้วยตนเอง เมื่อเปรียบเทียบกับปู่ของอาติมที่ยัดเยียดแต่ความชิงชังใส่หัวของเขา

จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเรื่อง ทำให้เกิดความคิดที่ว่า เหตุใดปู่ซึ่งเป็นคนรุ่นก่อนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก แต่ไม่มีการให้อภัย และยังคงมีความอาฆาตแค้นฝังแน่นอยู่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด แต่อาติม เมื่อได้เห็นการกระทำที่จริงใจของนาสซารากลับให้อภัยได้ หรือนั่นอาจแสดงให้เห็นว่า คนต่างรุ่นมีความคิดที่ไม่เหมือนกัน คนรุ่นก่อนยังหลงอยู่ในความแค้น ความชิงชัง ใครฆ่ามาต้องฆ่าตอบ มีเพียงปู่และนาสซาราเท่านั้นที่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และไม่มีใครทราบได้ว่าพ่อของอาติมเคยทำอะไรนาสซาราก่อนหรือไม่ แต่เรื่องทั้งหมดถูกกำหนดโดยปู่ที่ยัดเยียดความแค้นให้อาติม นอกเหนือจากการปลิดชีวิตซึ่งเป็นความต้องการสูงสุดของปู่แล้ว การบังคับให้นาสซาราถอดเสื้อก่อนถูกฆ่านั้น ก็เป็นการทำให้อับอายอย่างมาก เพราะคนอาหรับถือว่าเป็นเรื่องที่รุนแรง หยามเกียรติเท่าๆกับการถูกฆ่า คงเป็นเพราะปู่ไม่เพียงต้องการฆ่านาสซาราเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการแสดงให้เห็นว่าเหนือกว่าด้วย

Daratt หรือ Dry season น่าจะหมายถึงความแห้งแล้งของภูมิประเทศ ที่เต็มไปด้วยทะเลทราย ไม่มีต้นไม้ใบหญ้า ผู้คนหิวโหย และความสูญเสียสิ่งที่รักไปของตัวละคร ทั้งปู่และอาติมที่สูญเสียลูกชายและพ่อ นาสซาราและภรรยาที่สูญเสียลูกชาย หรือแม้แต่ทหารในเรื่องที่เสียขาข้างหนึ่งไปจากสงคราม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นฤดูกาลแห่งความแห้งแล้งสูญเสียที่ยาวนานและฝังลึกภายในจิตใจของตัวละครแต่ละตัว


ภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ดูแล้วเข้าใจได้ง่าย ไม่ได้มุ่งสอนศีลธรรมมากจนเกินไป และไม่ต้องอาศัยการตีความที่สลับซับซ้อนมากนัก มีจุดที่น่าสังเกตหลายจุด เช่น อาติมยังใส่เสื้อผ้า รองเท้าแบรนด์เนม ทั้งๆที่เขาก็ไม่ได้ร่ำรวย และยังอยู่ในประเทศที่ได้ชื่อว่าจนติดอันดับโลก ดิฉันคิดว่าเป็นส่วนที่แสดงให้เห็นว่าอาติมเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่จมอยู่ในความแค้นเหมือนเช่นปู่ และการที่สร้างตัวละครให้ปู่เป็นคนตาบอด ก็น่าจะเป็นเพราะต้องการให้เห็นว่าปู่หมกมุ่นอยู่ในความอาฆาต ชิงชัง ไม่รับรู้เรื่องราวภายนอก ดังนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงให้ตัวละครที่เป็นเด็กหนุ่ม คือผู้รับมรดกความแค้นจากปู่ซึ่งเป็นคนรุ่นเก่า และการตัดสินใจของคนรุ่นใหม่นี่เองที่ควรจะเป็นทางออกที่ดีให้แก่สังคม หรือในส่วนของ ชื่อเรื่องคือ Dry season คือสภาพภูมิประเทศที่แห้งแล้ง ไร้ชีวิตชีวา มีแต่สีโทนทะเลทราย แต่ประชาชนกลับใส่เสื้อผ้าที่มีสีสันสดใส ซึ่งก็เป็นการแสดงให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างฉากและตัวละคร

สิ่งที่เป็นส่วนสำคัญที่สุดที่ได้รับจากการชมภาพยนตร์เรื่องนี้ คือความคิดของตัวละครเอก อาติมที่ไม่เพียงแต่ให้อภัยนาสซารา แต่ยังเลือกที่จะหาทางออกให้กับทุกฝ่ายอย่างเหมาะสม นั่นคือ เขาไม่ได้ฆ่านาสซารา ปู่หมดสิ้นความแค้น และนาสซาราก็ได้รับการให้อภัยจากอาติมและปลดปล่อยความผิดในอดีต ซึ่งทำให้ดิฉันรู้ว่าการยึดติด และหมกมุ่นอยู่กับบางสิ่งที่ปิดกั้นมุมมองใหม่ๆของเรา ไม่สามารถทำให้ชีวิตเราดีขึ้นได้ รวมทั้งการรู้จักให้อภัย ให้โอกาส เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการจะได้รับและควรจะพึงมีให้กันเสมอ

‘สัตว์ประหลาด’ ( Tropical Malady )


เชษฐกิดา ตระกูลกาญจน์ 05490111

สัตว์ประหลาดที่ไม่ใช่สัตว์ประหลาด

‘สัตว์ประหลาด’ ( Tropical Malady ) ฝีมือการกำกับของคุณอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เข้าฉายในปีพ.ศ. 2547 เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้เข้าประกวดในสายหลักของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ และได้รับรางวัล Jury Prize ( ขวัญใจกรรมการ ) จนอาจกล่าวได้ว่านี่คืออีกย่างก้าวแห่งความสำเร็จของภาพยนตร์ไทย จึงควรค่าที่คนไทยจะไปชมเพื่อให้กำลังใจและสนับสนุนภาพยนตร์ไทย

“ภายในตัวเราทุกคนมีสัตว์ป่าแฝงอยู่ มนุษย์มีหน้าที่เป็นผู้คุมสัตว์เหล่านี้ให้เชื่อง แม้แต่สอนมันให้ทำในสิ่งที่ขัดกับสันดานดิบของตนเอง” และนี่คือประโยคเปิดเรื่องของ‘สัตว์ประหลาด’ ภาพยนตร์ที่ตั้งคำถามให้แก่ผู้ชมตลอดทั้งเรื่อง นับตั้งแต่ชื่อเรื่องที่ชวนขบคิดว่า ‘อะไรคือสัตว์ประหลาด’ จากนั้นภาพยนตร์ก็สร้างความประหลาดใจแกมสนเท่ห์แก่ผู้ชมอีกหลายระลอก ไม่ว่าจะเป็นการตัดภาพยนตร์ออกเป็นสองส่วน ภาคแรกเป็นแนวสมจริง( realism) กล่าวคือตัวละครดำเนินชีวิตไปเรื่อยๆประหนึ่งเป็นชีวิตจริง หรือการไม่มีพัฒนาการของตัวละครและจุดไคลแม็กซ์ และภาคที่สองเป็นแนวเหนือจริง
( surrealism) ที่ใช้เทคนิคการผสมผสานเรื่องเล่าของนิทานพื้นบ้าน ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก น้อย อินทนนท์ นอกจากนี้แต่ละฉากก็ไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน อีกทั้งภาพยนตร์ยังสร้างระยะห่างจนผู้ชมรู้สึกเหมือนถูกผลักออกตลอดเวลา ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงฉีกจากขนบของภาพยนตร์ทั่วไป โดยเฉพาะกับภาพยนตร์ไทยโดยสิ้นเชิง

ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเรื่องผ่านความสัมพันธ์ของตัวละครสองตัว คือโต้ง ลูกจ้างโรงงานน้ำแข็ง และ เก่ง ทหารชายแดน ความสัมพันธ์อันบริสุทธิ์แสนซื่อราวกับอยู่ในโลกอุดมคติของทั้งคู่งอกงามขึ้นเรื่อยๆผ่านสภาพสังคมในเมืองใหญ่ แต่จากนั้นเรื่องราวของโต้งก็ขาดหายไป ส่วนเก่งก็ต้องเข้าป่าเพื่อไปค้นหาสาเหตุที่สัตว์เลี้ยงและชาวบ้านหายไป

ราวกับว่าภาพยนตร์ส่วนแรกจบลงตรงนี้ เมื่อเก่งเข้าป่าไป เขาก็ต้องผจญกับความลึกลับดำมืดในป่า และพบกับ ‘เสือสมิง’ ซึ่งตัวละครในที่นี้ก็คือ โต้ง แต่ดูเหมือนว่าทั้งคู่จะไม่รู้จักกัน เวลาผ่านไปเก่งต้องเผชิญกับความหวาดกลัวที่ทวีขึ้นเป็นลำดับ แต่น่าขบคิดว่านั่นคือความหวาดกลัวจากภายนอกหรือภายในใจของเก่งเอง

ทว่าภาพยนตร์ก็ยิงคำถามใส่ผู้ชมเป็นระลอก โดยที่แต่ละเหตุการณ์ที่สะกิดใจนั้นกลับเป็นเหตุการณ์เล็กๆน้อยๆที่ดูไม่น่าสลักสำคัญ เช่น ประการแรก เพราะเหตุใดโต้งจึงต้องสวมชุดทหารตลอดเวลาที่หางานทำในเมือง แม้โต้งจะให้เหตุผลว่ามันจะทำให้เขาได้งานง่ายขึ้น แต่ผู้ชมก็ไม่พบว่าโต้งจะได้งานทำแต่อย่างใด ประการที่ต่อมา คือ เรื่องสถานภาพทางความรู้และการศึกษาของโต้ง จากตอนที่โต้งถามพนักงานขายรองเท้าด้วยความสงสัยแกมขบขันว่า ‘ ขายรองเท้าจำเป็นต้องมีความรู้ด้วยเหรอ ’ หรือการที่โต้งไม่ค่อยรู้หนังสือนั้นสะท้อนอะไรบ้าง

แม้การดำเนินเรื่องที่ไม่ต่อเนื่องกันอาจทำให้อารมณ์สะดุดบ้างเพราะยังไม่เคยพบหรือไม่เข้าใจวิธีการนำเสนอ แต่ภาพยนตร์ในส่วนแรกก็ค่อนข้างสร้างความอิ่มเอมใจจากความสัมพันธ์ที่บริสุทธิ์ของทั้งคู่ ซึ่งดำเนินไปโดยใช้ฉากในเมืองเป็นส่วนใหญ่สลับกับฉากบ้านในชนบทของโต้งบ้าง ประกอบกับโทนที่ดูสว่าง ผู้ชมจึงซึมซับความสุขของทั้งคู่ได้

ทว่าภาพยนตร์ส่วนที่สองกลับขัดแย้งแตกต่างจากส่วนแรกโดยสิ้นเชิง ซึ่งภาพยนตร์ก็บอกเป็นนัยไว้แล้วในตอนที่โต้งเดินจากเก่งไปในความมืด และเมื่อเข้าสู่ส่วนที่สองแล้ว ภาพยนตร์ก็สร้างความอึดอัดให้กับผู้ชมตลอดเวลา ทั้งจากความกดดันที่ได้รับผ่านตัวละครและจากโทนที่ดำมืดอึมครึมด้วย และความมืดหม่นของฉากในป่าของส่วนที่สองนี้เองที่สร้างความขัดแย้งขึ้นในจิตใจของตัวละครจนพัฒนาไปจนถึงจุดไคลแม็กซ์

เนื่องด้วย ‘สัตว์ประหลาด’ แทบจะเรียกได้ว่าถูกหั่นออกเป็นสองส่วน ราวกับว่ามีสองโครงเรื่องซ้อนกัน ตัวละครเอกจึงดูเหมือนมีสองตัว แบ่งหน้าที่กันขับเคลื่อนเรื่องราวจากคนละภาคส่วน ส่วนแรกมีโต้งเป็นตัวละครเอกที่เล่าเรื่องผ่านฉากในเมืองเป็นส่วนใหญ่ และส่วนที่สองมีเก่งเป็นตัวละครเอกเล่าเรื่อผ่านฉากในป่าทั้งสิ้น ทว่าหากสังเกตให้ดีจะพบว่าทั้งคู่เหมือนอยู่ผิดที่ผิดทาง กล่าวคือ โต้งซึ่งเป็นคนชนบทและคุ้นเคยกับธรรมชาติมากกว่ากลับต้องมาดิ้นรนหางานทำในเมือง โดยแทบจะไม่มีความรู้ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งสำคัญหากต้องการใช้ชีวิตในเมือง การสวมชุดทหารของโต้งในเมืองจึงสะท้อนความรู้สึกแปลกแยกและความไม่มั่นใจที่มีต่อสภาพสังคมเมือง นำมาสู่ความต้องการการยอมรับ โต้งจึงสวมชุดทหารด้วยความเชื่อว่ามันจะทำให้เขาดูน่าเชื่อถือหรือมีเกียรติยิ่งขึ้น ‘ชุดทหาร’ ของโต้งจึงเปรียบเสมือนเกราะแต่เป็นเกราะกั้นความเป็นธรรมชาติของเขาไม่ให้เล็ดลอดออกมาสู่สังคมเมือง ในขณะที่เก่งซึ่งมีลักษณะซื่อ และอนุมานได้ว่าน่าจะเป็นคนชนบทเช่นกัน แต่ได้ปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมในเมืองแล้ว เห็นได้จากการรู้หนังสือของเก่งหรือการขับรถเป็น เป็นต้น

แต่หากพินิจดูแล้วพฤติกรรมของเก่งดูไม่ ‘ประหลาด’ อะไรเลย ในขณะที่โต้งนั้นจัดอยู่ในทางตรงข้าม เก่งจีบโต้งด้วยเพลงของนักร้องยอดนิยมร่วมสมัยคือวงแคลช โต้งจีบเก่งด้วยเพลงลูกกรุงย้อนยุคอย่างเพลงวนาลี เก่งรู้หนังสือและขับรถเป็น ส่วนโต้งนั้นไม่ สิ่งเหล่านี้สะท้อนอะไร? เราเรียกพฤติกรรมของโต้งว่า‘ความศิวิไลซ์’ใช่หรือไม่ และเราคุ้นเคยกับพฤติกรรมศิวิไลซ์ของเก่งมากกว่าโต้งใช่หรือไม่

ในขณะเดียวกันภาพยนตร์ก็ทยอยชี้ปม‘ประหลาด’ของเก่งออกมาเช่นกัน เห็นได้จากฉากในถ้ำที่ป้าสำเริงพาทั้งคู่เข้าไปเที่ยว จนเมื่อป้าบอกว่าจะพาเดินต่อไปแต่คนที่เข้าไปโดยไม่มีไฟเกือบเอาชีวิตไม่รอด เก่งก็รู้สึกไม่พอใจอย่างเห็นได้ชัด และรีบออกมาราวกับเกรงกลัวบางอย่าง ‘ชุดทหาร’ซึ่งคือสัญลักษณ์ของการปกป้องตนเองจากธรรมชาติอยู่แล้ว ก็ยิ่งขับให้ชุดทหารของเก่งมีความหมายของการปกป้องตนเองเด่นชัดขึ้น ภาพยนตร์ในตอนแรกที่แม้ดูไม่สลักสำคัญอะไรจึงกลายเป็นการปูทางให้ผู้ชมเข้าใจตัวตนที่แท้ของตัวละคร

และเก่งนี้เองที่พาผู้ชมเข้าสู่แกนกลางของเรื่องผ่านปมขัดแย้งที่อยู่ในใจซึ่งเกิดขึ้นโดยฉากในป่าที่มีโทนมืดหม่น อ้างว้างตลอดเวลา เก่งเริ่มมองเห็นรอยเท้ามนุษย์แปรเปลี่ยนไปเป็นอุ้งตีนของสัตว์ มโนสำนึกของเขาเปลี่ยนไปอีกเมื่อคิดว่าตนเข้าใจคำพูดของชะนีที่บอกว่าจะฆ่าเสือสมิงเพื่อปลดปล่อยวิญญาณผีร้าย หรือยอมให้มันกลืนกินเพื่อเข้าไปอยู่ในโลกของมัน

นอกจากคำถามที่ผุดขึ้นมากมาย ภาพยนตร์ก็หยิบยื่นสัญลักษณ์บางประการให้เราต้องฉุกใจ
ขบคิด สัญลักษณ์หนึ่งคือวิทยุสื่อสารหรือ ‘วอล์คกี้ ทอล์คกี้’ ที่เสือสมิงรู้สึกประหลาดใจและสนใจเป็นอย่างมาก วอล์คกี้ ทอล์คกี้ในที่นี้คืออะไร? อาจกล่าวได้ว่ามันคือ ประดิษฐกรรมหนึ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อก้าวออกจากโลกของธรรมชาติใช่หรือไม่ วอล์คกี้ ทอล์คกี้ทำให้มนุษย์ก้าวไปสู่อีกโลกหนึ่ง ที่หลุดพ้นไปจากโลกที่ตนอยู่ เพราะมันทำให้คนสื่อสารกับคนอื่นที่อยู่โลกภายนอกได้ เสือสมิงสนใจประดิษฐกรรมชิ้นนี้ของมนุษย์ ประดิษฐกรรมที่สุดท้ายไม่สามารถหยิบยื่นความหลุดพ้นของมนุษย์ไปจากธรรมชาติได้ เฉกเช่นการขับรถได้ การมีความรู้ในเรื่องอาชีพที่ตนทำ หรือการรู้หนังสือที่มนุษย์เอ่ยอ้างว่านี่คือบ่อเกิดแห่งอารยะก็ไม่สามารถช่วยเก่งให้หลีกหนีออกจากกรงขังแห่งธรรมชาติได้เลย

สิ่งสำคัญที่ภาพยนตร์ต้องการนำเสนอและชี้ชวนให้หาคำตอบ คือ ‘ อะไรคือสัตว์ประหลาด’ ภาพยนตร์ใช้เสือสมิงเป็นสัญลักษณ์ของสัตว์ประหลาด เสือสมิงที่มีลักษณะของทั้งสัตว์และมนุษย์ อาจเป็นได้ทั้งสัตว์ที่เกือบจะเป็นมนุษย์ หรือมนุษย์ที่เกือบจะเป็นสัตว์ แต่ไม่ว่าเสือสมิงจะเป็นอย่างแรกหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะมนุษย์อย่างเราก็คงสนใจอย่างหลังมากกว่า เสือสมิงหรือสัตว์ประหลาดในที่นี้จึงเป็นตัวแทนของสัญชาตญาณที่กักเก็บอยู่ในตัวมนุษย์ เป็นสัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด จะเห็นได้ว่าท้ายที่สุดเก่งเองไม่สามารถต้านทานความกลัวพลังแห่งธรรมชาติได้อีกต่อไป เก่งจึงปรับสภาพตนเองจนเหมือนสัตว์ป่าสี่ขา จนไม่หลงเหลือความเป็นมนุษย์หรือสัตว์ประเสริฐอันมีนิยามว่าสิ่งมีชีวิตที่มีลำตัวตั้งขนานกับพื้นโลกได้อีกต่อไป ซึ่งอาจไม่ต่างจากเสือสมิงที่ครั้งหนึ่งมันอาจเคยเป็นมนุษย์มาก่อน แต่สัญชาตญาณการเอาตัวรอดได้ถูกปลุกเร้าจากธรรมชาติจนมันต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในที่สุด

นอกจากนี้เสือสมิงในเรื่องก็มีความรู้สึกนึกคิดที่คล้ายมนุษย์มาก คือ ไม่ปรารถนาความอ้างว้างโดดเดี่ยว มันเองก็อยากมีเพื่อนที่รับรู้ชะตากรรมของมันบ้างดังที่ภาพยนตร์ให้คำนิยามของเสือสมิงว่า มันเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความทรงจำอยู่ได้ด้วยความทรงจำของคนอื่น ราวกับภาพยนตร์ต้องการบอกว่า สิ่งมีชีวิตนี้ก็คือมนุษย์ด้วยมิใช่หรือ เก่งทนสภาพในป่าไม่ได้ เพราะทนความอ้างว้างไม่ได้ เขาต้องการให้คนอื่นมีความทรงจำเกี่ยวกับเขาเพียงเพื่อเป็นสิ่งยืนยันว่าเขาไม่ได้ยืนอยู่เพียงลำพัง

เหตุการณ์สุดท้ายคือการเผชิญหน้ากันระหว่างเสือกับเก่ง เก่งได้ยินเสียงจากเสือพูดกับตนว่าเมื่อข้ากินเจ้าแล้ว เราทั้งคู่ก็ไม่ใช่สัตว์และคนอีกต่อไป (ภาพยนตร์ใช้คำว่า creature อันหมายถึง สัตว์โลก) นั่นหมายความว่าหากเก่งยอมพ่ายต่อสัญชาตญาณในใจเขาก็ไม่ใช่มนุษย์อีกต่อไป ขณะเดียวกันเขาก็ไม่ได้กลายเป็นสัตว์ไปเสียทีเดียว เหมือนเขาอยู่บนเกาะกลางถนนที่เชื่อมเส้นทางสองเส้นระหว่างสัญชาตญาณที่มีร่วมกันของมนุษย์และสัตว์
สัตว์ประหลาดที่แท้จริงจึงไม่ใช่สิ่งที่จับต้องได้แบบรูปธรรม แต่มันคือสัญชาตญาณที่ถูกกักเก็บไว้ภายใน และนี่คือประเด็นสำคัญที่ภาพยนตร์ต้องการบอกเราใช่หรือไม่? เรามีแค่สองทางเลือกในชีวิต คือการฆ่าสัตว์ประหลาดซึ่งก็คือความแปลกแยกอ้างว้างและหมองเศร้า ซึ่งเป็นการทำตามสัญชาตญาณป้องกันตัวของมนุษย์ หรือจะยอมให้สัตว์ประหลาดกลืนกินเพื่ออยู่กับมัน ซึ่งก็คือสัญชาตญาณการปรับตัวของมนุษย์ สัญชาตญาณเหล่านี้เป็นเสมือนทางรอดเพียงสองทางของมนุษย์ที่หากทำไม่ได้ก็ไม่อาจมีชีวิตรอดต่อไป

“เมื่อหนังส่วนแรกจบลง มันเหมือนกับว่าผม นายอภิชาติพงศ์ในฐานะผู้กำกับได้ลบความทรงจำของตัวละครทั้งสอง จนพวกเขาต้องออกแสวงหาความทรงจำของตนในช่วงหลัง

แนวคิดและการนำเสนอที่แตกต่างจากภาพยนตร์เรื่องอื่น ปลุกเร้าจินตนาการของเราที่นับวันจะเหือดแห้งลงทุกทีเพราะความฉาบฉวยและสิ่งแปลกปลอมจากธรรมชาติที่มนุษย์สร้างขึ้นนี่เอง ซึ่งอาจตามมาหลอกหลอนเรา จนน่ากลัวว่าสักวันหนึ่งเราอาจต้องกลายเป็นสัตว์ประหลาดของธรรมชาติที่สร้างเราขึ้นมา และก่อนที่เราจะจมดิ่งไปกับสิ่งแวดล้อมแปลกปลอมที่เราสร้างขึ้น เราก็ควรจะออกค้นหาตัวตนของเราไปพร้อมๆกับ‘สัตว์ประหลาด’ ก่อนที่‘สัตว์ประหลาด’ ของเราจะโผล่มา

Lemony Snicker’s a Series of Unfortunate Events


นพวรรณ ถาวรประวัติ
05490178

Lemony Snicker’s a Series of Unfortunate Events
เลโมนี สนิกเก็ต อยากให้เรื่องนี้ไม่มีโชคร้าย

สามพี่น้องตระกูลโบดแลร์ ไวโอเล็ต เคลาส์ และซันนี่ ไวโอเล็ต คือพี่สาวคนโต หนึ่งในนักประดิษฐ์วัย 14 ปีที่เก่งที่สุดเท่าที่โลกเคยรู้จัก เธอสร้างอุปกรณ์ได้แทบทุกชนิดจากสิ่งของทุกอย่างที่มี เคลาส์ ลูกคนกลางวัย 12 ปี เขารักการอ่านหนังสือและอ่านมามากมายหลายประเภท และเขาก็จำทุกอย่างที่อ่านได้ทั้งหมด และซันนี่ น้องสาวคนสุดท้องซึ่งอยู่ในวัยที่พูดอ้อแอ้ไม่เป็นภาษา มีเพียงไวโอเล็ต กับเคลาส์เท่านั้นที่เข้าใจคำพูดของเธอ และเธอชอบกัดข้าวของด้วยฟันคมๆทั้งสี่ซี่ เรื่องราวของหนังเรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อพี่น้องตระกูลโบดแลร์ทั้งสามคน ได้รับการแจ้งข่าวอย่างกะทันหันว่าเกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้ขึ้นที่คฤหาสน์โบดแลร์ และพ่อแม่ของเขาก็เสียชีวิตในกองไฟ

ด้วยเหตุนี้ เด็กๆ บ้านโบดแลร์จึงต้องถูกส่งตัวไปอาศัยอยู่กับผู้ปกครองหลายคน หนึ่งในนั้นคือ เคาต์ โอลาฟ ซึ่งเป็นญาติที่ใกล้ชิดที่สุดเป็นผู้ดูแล และเคาต์ โอลาฟนี่เอง ที่ติดตามพวกเด็กๆไปยังบ้านของผู้ปกครองคนใหม่ทุกๆหลัง เพื่อหวังที่จะได้รับสมบัติจำนวนมหาศาล เด็กๆ ทั้งสามคนแห่งบ้านโบดแลร์ ต้องใช้ความเฉลียวฉลาดและความกล้าหาญตลอดทั้งเรื่อง เพื่อฝ่าฟันต่อเหตุการณ์อันเลวร้ายต่างๆ ที่เป็นแผนการชั่วร้ายของเคาต์ โอลาฟ ผู้ยังคงมุ่งมั่นกับการตามล่าเด็กๆ อย่างไม่ยอมลดละ

ภาพยนตร์เรื่องนี้ เปิดเรื่องด้วยฉากที่เป็นภาพการ์ตูน สีสันสดใส ตัวการ์ตูนต่างๆ ร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน รื่นเริง ทำให้ผู้ชมรู้สึกได้ถึงความสุข หลังจากนั้นภาพก็ตัดไปที่ฉากตอนกลางคืน ท้องฟ้ามืด ปกคลุมไปด้วยหมอกควัน ให้ความรู้สึกตรงข้ามกับภาพเปิดเรื่องอย่างเด่นชัด การเปิดเรื่องโดยใช้ความขัดแย้งนั้นถือเป็นจุดที่น่าสนใจ เพราะเป็นการพาเข้าสู่เนื้อเรื่องที่ต้องการจะนำเสนอให้ผู้ชมเห็นอย่างชัดเจนว่า เรื่องราวที่จะชมต่อไปนั้น จะไม่มีความสุข เรื่องจะดำเนินไปด้วยความทุกข์เศร้า หม่นหมองที่เด็กๆ ตระกูลโบดแลร์จะต้องเผชิญไปตลอดทั้งเรื่อง

เลโมนี สนิกเก็ต อยากให้เรื่องนี้ไม่มีโชคร้าย เปิดเรื่องด้วยความโศกเศร้าของเด็กๆตระกูลโบด์แลนด์ จะมีอะไรที่โชคร้ายกับพวกเด็กๆไปกว่าการที่พวกเขาต้องสูญเสียพ่อแม่ และคฤหาสถ์ทั้งหลังที่ไหม้ในกองเพลิง การเปิดเรื่องด้วยความโชคร้ายนั้น นำพาพวกเขาเข้าสู่ความโชคร้ายต่างๆตลอดทั้งเรื่อง เรื่องราวความทุกข์เศร้าที่ตัวละครหลักได้พบ ทำให้ตัวละครทั้งสาม คือ ไวโอเล็ต เคลาส์และซันนี่ ต้องใช้ความรู้ความสามารถและไหวพริบที่มีในการแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อให้ตนเองผ่านพ้นอุปสรรคและอันตรายไปให้ได้

เลโมนี สนิกเก็ต อยากให้เรื่องนี้ไม่มีโชคร้าย จึงเป็นภาพยนตร์ที่เน้นตัวละครหลักทั้งสามคือ ไวโอเล็ต เคลาส์ และซันนี่ เนื่องจากตัวละครในเรื่องเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เรื่องนี้ดำเนินไปได้ เพราะการดำเนินเรื่องนั้นต้องอาศัยความสามารถของตัวละครในการแก้ปัญหาต่างๆ ตลอดทั้งเรื่องนอกจากนี้ หตุการณ์และฉากในเรื่องก็มีบทบาทสำคัญที่ผลักดันให้ตัวละครมีบทบาทเด่นมากขึ้น เหตุการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ตัวละครต้องใช้ปฏิพานไหวพริบในการแก้ปัญหา อีกทั้งฉากที่ไม่มีความสดใส มีแต่ความมืดมนที่ทำให้ดูแล้วรู้สึกความเศร้าหมอง ส่งผลให้ตัวละครดูน่าสงสารและน่าเห็นใจมากยิ่งขึ้น

เนื้อเรื่องดำเนินไปพร้อมกับปมปัญหาในใจของเด็กๆที่อยากทราบสาเหตุของเพลิงไหม้ และการตายของ พ่อแม่ ปมปัญหาเริ่มชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อเด็กๆ ได้พบกับเคาต์ โอลาฟ ผู้ปกครองที่พวกเขาสงสัยว่าจะเป็นผู้วางเพลิง เคาต์ โอลาฟหวังจะทำร้ายและยึดทรัพย์สมบัติทั้งหมดจากเด็กๆไป โดยไม่ยอมลดละ ความขัดแย้งระหว่างเคาต์ โอลาฟและเด็กๆ จึงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเคาต์ โอลาฟทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะแย่งชิงทรัพย์สมบัติของเด็กๆ พยายามคิดแผนร้ายและตามล่าเด็กๆไปทุกๆแห่ง

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้น ถือเป็นความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ เพราะตลอดทั้งเรื่องเด็กๆต้องแก้ปัญหาเพื่อหนีเคาต์ โอลาฟ การพยายามดิ้นรนจากความยากลำบากและการถูกรังแกจากเคาต์ โอลาฟ ทำให้พวกเขามีความสามารถในการแก้ปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ
ยิ่งเด็กๆหลบหนีแผนการและความชั่วร้ายของ เคาต์ โอลาฟ มากเท่าไร ความขัดแย้งในเรื่องก็มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งปมปัญหาในใจของเด็กๆที่อยากทราบสาเหตุของเพลิงไหม้ก็ยังคงต้องการคำตอบที่แน่ชัด การพยายามหาคำตอบของเด็กๆนำเข้าสู่จุดวิกฤติในเรื่อง เมื่อเคลาส์มองไปเห็นเลนส์แว่นขยายขนาดมหึมาอยู่ในกรอบวงกลมซึ่งถูกยึดโยงกับผนังบนและล่างด้วยโครงเหล็กที่บ้านของเคาต์ โอลาฟ และด้วยความฉลาดและความสามารถของเคลาส์ ทำให้เขาทราบว่าเลนส์แว่นขยายทำให้เกิดความหักเหของแสง จนสามารถเกิดประกายไฟลุกไหม้ ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้บ้านของพวกเขาไหม้ ปมปัญหาในใจเด็กๆจึงค่อยๆคลี่คลายลง

เรื่องนี้ปิดเรื่องเมื่อปมปัญหาในใจของเด็กๆได้รับการคลี่คลาย พวกเขาไขปริศนาเหตุเพลิงไหม้คฤหาสถ์โบดแลร์ได้สำเร็จ ทรัพย์สมบัติไม่ต้องตกเป็นของเคาต์ โอลาฟ เด็กๆโบดแลร์ฉีกหน้ากากมือวางเพลิงผู้โหดเหี้ยมได้ การปิดเรื่องก็ยังคงน่าสนใจ เพราะไม่ได้จบอย่างมีความสุขเช่นเรื่องอื่นๆ เนื่องจากเคาต์ โอลาฟหายตัวไปหลังจากคณะลูกขุนเพื่อนของเขากลับคำตัดสินโทษ พวกเด็กๆยังคงต้องเผชิญกับความโชคร้ายที่ไม่มีวันจบสิ้นต่อไป

เห็นได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นภาพยนตร์ที่มีความน่าสนใจ ทั้งวิธีการดำเนินเรื่อง ตัวละคร ฉากและบรรยากาศ รวมไปถึงเหตุการณต่างๆที่ตัวละครจะต้องพบเจอ โดดเด่นด้วยการเล่าเรื่องที่แหวกขนบของภาพยนตร์ที่มักจบลงด้วยความสุข ความสมหวัง การที่ตัวละครต้องเผชิญกับความโชคร้ายที่ไม่จบสิ้นนั้น ทำให้เรื่องนี้สนุกสนาน ชวนตื่นเต้นและน่าติดตาม ถือเป็นภาพยนตร์อีกเรื่องที่ไม่ควรพลาด

Me myself ขอให้รักจงเจริญ


นางสาวซีรีน ไหมหมาด

รหัสนักศึกษา 05490114


บทวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่อง Me myself ขอให้รักจงเจริญ

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องราวของอุ้ม หญิงสาวคนหนึ่งที่เพิ่งถูกแฟนทิ้งโดยไม่รู้สาเหตุ เธออาศัยอยู่ในห้องพักกับหลานชายที่อายุยังไม่ถึงสิบขวบ วันหนึ่งเธอได้ขับรถชนชายคนหนึ่งเข้าอย่างจัง เมื่อเขาฟื้นขึ้นมาพบว่าเขากลายเป็นคนความจำเสื่อมและไม่มีที่ไป ด้วยความรู้สึกผิดเธอจึงจำใจพาชายแปลกหน้าคนนั้นมาพักด้วยที่ห้อง และตั้งชื่อให้ตามจี้ที่ติดตัวเขาอยู่เป็นอักษรภาษาอังกฤษว่า “แทน” ระหว่างที่อยู่ด้วยกันมีเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นมากมาย จากคนแปลกหน้าที่ไม่น่าไว้ใจ กลายเป็นผู้ที่นำความอบอุ่นกลับมาสู่หัวใจอุ้ม สายสัมพันธ์บางๆระหว่างคนทั้งสองได้เริ่มก่อตัวขึ้น กลายเป็นความรัก ความผูกพัน แทนได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของเธอ คอยเป็นกำลังใจและสร้างรอยยิ้มให้เธอได้เสมอ อีกทั้งยังทำให้เธอสามารถใช้ชีวิตร่วมกับหลานชายได้ลงตัวมากขึ้น


ในขณะเดียวกันชีวิตที่ว่างเปล่า ปราศจากความทรงจำใดๆของแทน ก็ค่อยๆถูกเติมเต็มโดยหญิงสาวที่มีท่าทางแข็งๆคนนี้ ในที่สุดทั้งคู่ก็รักกัน ทุกอย่างดำเนินไปด้วยดีจนทำให้แทนแทบไม่อยากจะกลับไปจดจำเรื่องราวชีวิตในอดีตของตัวเองอีกต่อไป แต่ทั้งคู่ก็ต้องตกใจกับความจริงที่ปรากฎว่า แทนเคยเป็นกระเทยและมีอาชีพเป็นนางโชว์ แทนจึงตัดสินใจกลับไปเป็นนางโชว์เหมือนเดิม ส่วนอุ้มก็ใช้ชีวิตตามทางของเธอต่อไป แต่สุดท้ายทั้งสองก็ไม่อาจหนีหัวใจของตัวเองได้ และตัดสินใจกลับมารักกันในท้ายที่สุด

ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดเรื่องด้วยภาพของกระเทยคนหนึ่งที่มีอาชีพเป็นนางโชว์กำลังแสดงอยู่ ซึ่งเมื่อดูไปเรื่อยๆผู้ชมจะทราบได้ว่า ภาพเหล่านั้นคือภาพความทรงจำในอดีตที่หายไปของตัวละครเอกฝ่ายชายนั่นเอง



ความขัดแย้งในภาพยนตร์เรื่องนี้คือ ความขัดแย้งภายในใจของมนุษย์เอง นั่นก็คือความขัดแย้งภายในใจของแทนเมื่อได้ทราบความจริง และต้องตัดสินใจว่าจะเลือกมีชีวิตแบบไหน ระหว่างกลับไปเป็นนางโชว์เหมือนเดิม หรือจะมีชีวิตใหม่กับผู้หญิงที่เขารัก

ตัวละครสำคัญในเรื่องมีสองตัว คืออุ้มครีเอทีฟสาวที่ไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นในตัวเองและแทนชายความจำเสื่อมที่ไม่มีที่ไป ซึ่งแทนถือเป็นตัวละครที่มีบทบาทมากที่สุดในเรื่อง เพราะเป็นตัวละครที่ทำให้เกิดปม ความขัดแย้งขึ้น

เนื่องจากตัวละครฝ่ายหญิงมีอาชีพเป็นครีเอทีฟ บรรยากาศในเรื่องส่วนใหญ่จึงอยู่ในสถานที่ทำงาน และสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะการใช้ชีวิต ความเป็นอยู่ของคนในสังคมเมืองยุคปัจจุบัน สถานที่ทีมีบทบาทกับชีวิตประจำวันมักได้แก่ ที่ทำงาน ห้องพัก และห้างสรรพสินค้า

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นถึงอานุภาพของความรัก หากคนสองคนมีความรักเป็นพื้นฐานแลแะมั่นคงในความรักต่อกันแล้ว แม้ว่าจะเจออุปสรรคใดๆก็ย่อมสามารถผ่านพ้นมันไปได้
ซึ่งสอดคล้องกับการตั้งชื่อเรื่อง “Me myself ขอให้รักจงเจริญ”

นอกจากเรื่องราวความรักอันโรแมนติกของคนทั้งสองที่ทำให้อดยิ้มไม่ได้แล้ว สิ่งที่ข้าพเจ้าประทับใจในภาพยนตร์เรื่องนี้อีกอย่างหนึ่งคือ ข้อคิดที่ได้จากแทนตัวละครเอกฝ่ายชาย ที่เคยเป็นกระเทยและสูญเสียความทรงจำไป เลือกที่จะมีชีวิตใหม่โดยไม่สนใจอดีตและคนรอบข้าง แสดงให้เห็นว่าคนเรามีสิทธิที่จะเลือก และกำหนดชีวิตของตนเองได้ว่าจะป็นอย่างไร โดยไม่ยึดติดกับสิ่งที่เป็นอดีต หรือให้ความสำคัญกับสังคมมากเกินไป แต่เราต้องรู้จักเลือกสิ่งที่ทำให้ชีวิตของเราในปัจจุบันมีความสุขที่สุดโดยไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน

The Devil Wears Prada


นายเอกพันธุ์ พูลสุข
รหัส 05490482


ภาพยนตร์เรื่อง The Devil Wears Prada หรือ นางมารสวมปราด้า สร้างจากนิยายของ ลอเร็น ไวส์เบอร์เก้น (Lauren Weisberger)ที่ขายดีทั่วโลก โดยเป็นเรื่องที่ล้วงลึกถึงโลกแฟชั่นในนิวยอร์ค โดยมีมิแรนด้า พรีสท์ลี่ (เมอริล สตรีพ)เป็นตัวละครหลัก เธอคือบรรณาธิการของนิตยสาร Runway นิตยสารแฟชั่นชื่อดัง ไม่ว่าใครก็รู้ดีว่าเธอเป็นเจ้าแม่ผู้ทรงอิทธิพลในโลกแฟชั่นและ Runway ก็เป็นปราการด่านสำคัญของทุกคนที่คิดจะก้าวเข้าสู่โลกแฟชั่น แล้วการจะทำให้ Runway ยังคงเป็นนิตยสารแฟชั่นชั้นนำของนิวยอร์คและของโลกอยู่ได้นั้น มิแรนด้าจะไม่ยอมให้อะไรมาเป็นอุปสรรคโดยเด็ดขาด รวมทั้ง “ผู้ช่วย”ของเธอก็เช่นกัน การได้เป็นผู้ช่วยของมิแรนด้านั้น ถือเป็นงานที่ยากลำบากมาก น้อยคนนักที่จะทำงานนี้ได้ตลอดรอดฝั่ง แต่ถึงอย่างไรก็ตามมันก็ยังเป็น ตำแหน่งที่หญิงสาวชาวนิวยอร์คนับล้านคนต่อสู้แย่งชิงเพื่อให้ได้โอกาสสำคัญนี้


งานผู้ช่วยของ มิแรนด้า ที่น่าเบื่อนี้อาจจะเป็นการเปิดโอกาสให้กับเด็กจบใหม่อย่าง แอนดี้ แซ็ค (แอนน์ แฮ็ทธาเวย์ ) สาวน้อยธรรมดาๆที่ไม่สนใจเรื่องแฟชั่นเลยแม้แต่น้อย แต่การได้รับโอกาสเป็นผู้ช่วยมิแรนด้านี้ ยิ่งทำให้เธอยิ่งโดดเดี่ยวท่ามกลางผู้คนที่ทำงานใน Runway ทั้งนี้ก็เพราะทุกคนที่ทำงานในนั้นล้วนแต่เป็นผู้ติดตามแฟชั่นอย่างใกล้ชิด เพราะหากไม่ทันแฟชั่นก็อาจจะตกงานได้เนื่องจากมิแรนด้าไม่พอใจ แอนดี้จึงรู้ว่าทางเดียวที่จะแจ้งเกิดในวงการนี้ ต้องใช้มากกว่าแค่เพียงความมุ่งมั่น และการตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยว เพราะบททดสอบสุดหินที่เธอต้องเผชิญหน้าก็คือการตามแฟชั่นให้ทันตั้งแต่หัวจรดเท้า

ถึง มิแรนด้า จะสามารถปั่นโลกแฟชั่นได้ในกำมือ แต่เธอกลับไม่ว่างพอจะหาผู้ช่วยดี ๆ และรั้งตัวไว้ให้ร่วมงานกับเธอนาน ๆ เลยสักคน แอนดี้นี่ก็ช่างไม่เหมาะกับงานนี้เลยสักนิด แต่เธอมีคุณสมบัติข้อเดียวที่ผู้ช่วยคนก่อน ๆ ขาด นั่นก็คือ เธอไม่ยอมแพ้

การตัดสินใจที่จะเปลี่ยนความคิดของแอนดี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของหญิงสาวธรรมดาๆอย่างเธอ เพราะการตัดสินใจคราวนี้ก็คือการต้องเลือกระหว่างคนที่เธอรักกับงานของเธอ เมื่อเธอได้ตัดสินใจแล้ว ก็ได้เดินทางตามสิ่งที่เธอเลือก แอนดี้ปรับเปลี่ยนการแต่งตัวใหม่ เธอเปลี่ยนไปมากเสียจนแฟนหนุ่ม (เอเดรียน เกรเนียร์ ) ของเธอจำไม่ได้ เธอพูดจาฉะฉานเด็ดขาด เดินด้วยท่วงท่าสง่างาม แต่ยิ่งเธอมองวิถีชีวิตผ่านมุมมองของมิแรนด้ามากขึ้น เธอก็ยิ่งเห็นว่า โลกของมิแรนด้าช่างอ้างว้างโดดเดี่ยวเพียงใด และมิแรนด้าต้องเสียสละหลายๆสิ่งไปมากกว่าทีเธอคิด

การได้เป็นผู้ช่วยของมิแรนด้าถือเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ยิ่งใหญ่ของแอนดี้ เธอได้ค้นพบสัจธรรมแห่งชีวิต อีกครั้งที่เธอต้องเลือกเส้นทางชีวิตของเธอ ระหว่างการเป็นผู้ช่วยของมิแรนด้าต่อไปกับการเดินทางตามความฝันที่จะเป็นนักเขียนของเธอ สุดท้ายเธอก็เลือกที่จะปลดปล่อยตัวเองออกจากกำมือของมิแรนด้า และเดินทางตามเส้นทางที่เธอใฝ่ฝันต่อไป

จุดสุดขั้นของภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจะเป็นตอนที่แอนดี้ต้องเลือกเส้นทางชีวิตของเธอ ระหว่างคนที่เธอรักกับความฝันของเธอ ฉากนั้นถือเป็นฉากการตัดสินใจที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะวันนั้นเป็นวันเกิดของคู่รักของเธอ ในขณะที่เธอสัญญาไว้กับคนรักว่าจะกลับไปฉลองวันเกิดด้วยกัน แต่กลับมีโทรศัพท์จากมิแรนด้ามาเรียกตัวเพราะมีงานด่วน เธอมีสิทธิ์ที่จะไม่รับสายก็ได้ แต่ท้ายที่สุด เธอก็ตัดสินใจรับสายและต้องไปทำงาน ทำให้ไม่สามารถมาฉลองวันเกิดกับคนรักได้ตามสัญญา ทำให้ทั้งสองต้องบาดหมางใจกัน

สิ่งที่สำคัญที่สุดของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือ ตัวละคร เพราะตัวละคร คือส่วนที่เด่นที่สุด ดังจะเห็นได้จากตัวละครหลัก 2 ตัวละคร คือ มิแรนด้าและแอนดี้ ทั้งสองคือตัวดำเนินเรื่องสำคัญที่ขาดไม่ได้ มิแรนด้า คือตัวละครที่สร้างสีสันให้กับเรื่อง ส่วนแอนดี้ก็คือตัวละครที่เป็นตัวแทนของความใฝ่ฝัน ทั้งสองตัวละครเดินเรื่องร่วมกันภายใต้โลกแห่งแฟชั่น โลกที่เป็นเสมือนโลกของมิแรนด้า โดยมีแอนดี้เดินเข้ามายังโลกใบนี้ แอนดี้ปรับตัวเองเพื่อให้ตนเองสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ เมื่อเธอรู้สึกได้ว่า เธอสูญเสียความเป็นตัวเองมากเกินไปแล้ว เธอก็ตัดสินใจที่จะก้าวออกมาจากโลกแห่งแฟชั่น เพื่อเรียกความเป็นตัวเองกลับคืนมา และเดินทางตามความฝันของเธอต่อไป

ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนภาพโลกแห่งแฟชั่นที่หมุนเร็วยิ่งกว่าโลกยุคโลกาภิวัตน์ แอนดี้คือแรงบันดาลใจของคนที่ยังต้องสู้เพื่อเดินตามความฝัน เธอทำให้เห็นว่าการจะทำให้ความฝันกลายเป็นความจริงนั้น ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากเพียงใด และสิ่งที่ทุกคนได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือ แม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์บีบบังคับเพียงใด แต่เรายังมีสิทธิ์เลือกได้เสมอ ดังที่แอนดี้ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า เธอเลือกที่จะทำในสิ่งที่เธอต้องการนั่นเอง

โหมโรง


น.ส.ตริยาภรณ์ บุญคง 05490144


วิเคราะห์ภาพยนตร์ เรื่องโหมโรง (The overture)


ภาพยนตร์เรื่องโหมโรง ภาพยนตร์ปลุกจิตสำนึกความเป็นไทย ที่คุณอิทธิสุนทร ไชยลักษณ์ ได้เปลี่ยนแง่มุมแห่งประสบการณ์หยิบมาสร้างเป็นภาพยนตร์เพื่อสะท้อนสภาพวัฒนธรรมสังคมโลกยุคโลกาภิวัฒน์ โดยสื่อให้เห็นถึงสิ่งที่น่าอัศจรรย์, สิ่งที่วิเศษในอดีตกาล นำมาถ่ายทอดผานตัวละคร และโลดแล่นอยู่บนหน้าจอภาพยนตร์ได้อย่างน่าประทับใจ


การจำลองชีวประวัติของเพชรน้ำงามแห่งวงการดนตรีไทย เช่น หลวงประดิษฐ์ไพเราะมาไว้ในภาพยนตร์นั้น สามารถสร้างได้อย่างกลมกลืนกับตัวเนื้อเรื่องอย่างไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจเมื่อได้รับชม การรับอรรถรสผ่าน "ศร" ตัวละครเอก สามารถตรึงใจผู้ชมได้ในทุกฉาก และพร้อมที่จะร่วมให้กำลังใจและชื่นชมในความสำเร็จไปในขณะเดียวกัน


ลักษณะการดำเนินเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นการเล่าเรื่องย้อนไปในอดีต มีการลำดับภาพที่โยงเรื่องในอดีตสลับกับเหตุการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน การเกริ่นนำก่อนเข้าสู่ตัวเรื่อง เป็นฉากในหมุ่บ้านแห่งหนึ่งท่ามกลางธรรมชาติ มีเด้กผู้ชายตัวน้อยผมจุกกำลังวิ่งไล่จับผีเสื้อกระทั่งเข้าไปถึงในห้องเก็บอุปกรณ์ดนจรีไทย และได้สะดุดตากับระนาดเอก 1 ราง สลับกับฉากที่ "ครูศร" ในวัยชราได้สนทนากับ "ทิว"เพื่อนสนิทของเขาก่อนสิ้นลม ศรมีความใฝ่ฝันที่จะเล่นดนตรีไทยให้เก่งเหมือนพ่อ "สิน" ครูดนตรีที่มีลูกศิษย์ลูกหามากมายในสมัยนั้น และพี่ชายที่มีฝีมือระนาดเอกยอดเยี่ยม จนหาใครทัดเทียมได้ยากใน "อัมพวา"


จนกระทั่งวันที่ ศร ต้องสูญเสียพี่ชาย จากการดักแก้แค้นของพวกวัยรุ่นที่แพ้การประชันตีระนาดกับพี่ชายของเขานั้น ทำให้พ่อของ ศร มีอคติกับการเล่นดนตรีไทย จึงสั่งห้ามไม่ให้ ศร เล่นดนตรีไทย หากแต่เจตนารมณ์ที่จะเป็นนักดนตรีแทนพี่ชายได้พุ่งพล่านขึ้นในหัวใจของ ศร ศรจึงได้ขอความร่วมมือจาก "ทิว"เพื่อนสนิท แอบเอาผืนระนาดที่แม่เก็บไว้ไปฝึกตีที่วัดในตอนดึกของทุกคืน จนกระทั่งพ่อของ ศร ทราบเรื่อง และได้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ ศร จึงสนับสนุนให้ ศร เล่นดนตรีไทยอย่างจริงจัง โดยต้องผ่านพิธีไหว้ครูเสียก่อน


ความกระตือรือร้นที่จะเป็นนักดนตรีเอก ทำให้ ศร มุ่งมั่นฝึกซ้อม จนกรัทั่งวันที่เขาได้มีโอกาสแสดงฝีมือในการประชันวงปี่พาทย์ครั้งแรกกับวงของจังหวัดราชบุรี และ ศร ได้รับชัยชนะในครั้งนี้ จนวันที่เขาได้มีโอกาสเข้าเมืองหลวงกับพ่อของเขา และได้เห็นฝีมือของ "ขุนอิน" และสิ่งนี้เองที่ทำให้ศรเกิดความรู้สึกเกรงและกลัวขึ้นมา จนเขาต้องคิดหาวิธีที่จะฝึกฝนลีลาการตีระนาดให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ศร พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อคิดค้นลูกเล่นใหม่ๆแต่ไม่เป็นผล ในขณะที่ สร กำลังท้อแท้อยู่นั่นเอง คำพูดของ ทิว ที่ว่า "คนเราเชี่ยวผิดกัน" ความคิด,และสภาพแวดล้อมรอบๆๆตัวของสร ลมที่พัดให้ยอดมะพร้าวพริ้วไหว ทำให้ ศร ฉุกคิดถึงลีลาการตีระนาดที่เขาสามารถพลิกแพลงได้ในขณะนั้นเอง ศร มีกำลังใจที่จะฝึกซ้อมอีกครั้ง


การดำเนินเรื่องหลักดำเนินไปอย่างรวดเร็ว สลับกับโครงเรื่องรอง ที่เสนอถึงผู้นำที่ต้องการนำประเทศไปสู่ความเป็นอารยะทัดเทียมกับชาติอื่น จึงเสนอให้มีการควบคุม และปรับปรุงวัมนธรรมที่โบราร,ล้าสมัย เช่น ดนตรีไทย แต่ได้รับการคัดค้านจาก "ครูศร" ในช่วงปลายชีวิต และเหล่าลูกศิษย์ของท่าน ชีวิตของ ศร ได้ถึงจุดเปลี่ยน เมื่อชัยชนะในการประชันระนาดครั้งแรกเป็นเสียงเลื่อลือไปทั่ว จากหมู่ของเจ้านายหัวเมืองก็ได้แพร่หลายไปถึงวงของเจ้านายในเมืองหลวง และจากการที่ ศร ได้แสดงฝีมือให้เป็นที่ประจักษ์ของเจ้านายท่านหนึ่งแล้ว ศรจึงได้เข้าไปอยู่ในวงปี่พาทย์ในวัง ด้วยเหตุผลที่ว่า ทางระนาดของ ศร ผิดแปลกไปจากแบบแผนเดิม,แปลกตา,เป็นที่ถูกใจของท่าน ในระหว่างที่ ศร เข้ามารอในห้องเพื่อซ้อมดนตรีไทย เขาได้เห็นหญิงสาวซึ่งสวยสะดุดตา จับใจเขาตั้งแต่แรกพบ นามว่า "แม่โชติ" และแม่โชติก็เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่สำคัญในการก้าวขึ้นเป็นนักดนจรีเอกของ ศร และในห้องซ้อมดนตรีนั้น เขายังได้พบกับครูเทียน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันให้เขาอีกด้วย


เมื่อ ศร ได้เข้ามาเป็นมือระนาดในวงปี่พาทย์หลวงแล้ว เขาได้ฝึกซ้อมอย่างหนัก เมื่อเขารู้ว่า เขาต้องประชันวงปี่พาทย์กับวงต่างเมือง และมือระนาดของอีกฝั่ง ก็คือ ขุนอิน ผู้ซึ่งมีทำนองการตีระนาดที่ ศร บอกว่าไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน และทำให้ใจของเขานึกเกรงได้ในทุกครั้งที่เขาคิดถึงนั่นเอง เสียงระนาดของขุนอินก้องอยู่ในทุกโสตประสาทของ ศร เขาวิตกกังวลมากถึงกับเก็บไปฝัน และทำให้ ศร นึกท้อแท้ขึ้นมา จนกลับไปที่บ้าน ทิ้งความฝันของตนไว้เบื้องหลัง จนพ่อของ ศร ทราบเรื่องที่ทหารตามมาถึงบ้านก็ล้มป่วยลง ศรกลับมาที่บ้าน เขาเห็นสีหน้าและแววตาที่ผิดหวังของพ่อ จึงสำนึกและพร้อมที่จะต่อสู้ใหม่อีกครั้ง โดยได้รับคำแนะนำและการฝึกฝนที่ดีจาก "ครูเทียน"


ในที่สุดวันประชันก็มาถึง มีคณะผู้นำจากต่างประเทศและผู้ชมมากันอย่างคับคั่ง รวมถึง แม่โชติ และทิว เพื่อนสนิทของเขาด้วย วงผู้มาเยือนได้เริ่มการบรรเลงก่อน และบรรเลงได้อย่างยอดเยี่ยม ผู้คนต่างชื่นชอบกันมาก ศรมีความกังวล,ความประหม่า, และความตื่นเต้นมาก เมื่อถึงคราวที่เขาต้องแสดงความสามารถ ในครั้งแรก ศรตีระนาดเพี้ยนจังหวะ เนื่องจากตะกั่วของระนาดเปราะมากแล้วจึงต้องมีการเปลี่ยนระนาดผืนใหม่ โดยทิวเป็นผู้นำระนาดผืนใหม่มาเปลี่ยนให้ และเป็นผืนระนาดที่ ศรคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็กนั่นเอง ศร เริ่มบรรเลงระนาดอีกครั้งด้วยความมั่นใจ ผลในรอบแรกทำให้ตัดสินใจลำบากที่จะให้ใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ชนะ จึงต้องให้มีการเดี่ยวเพลงเชิดตัดสินกันตัวต่อตัว ทั้ง ศร และขุนอินไม่มีใครยอมอ่อนข้อให้กัน ทั้งคู่ต่างแสดงฝีมือกันอย่างเต็มที่ แสดงลีลาและลุกเล่นของแต่ละฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น การกรอ,การขยี้,การรัว,หรือการตีแบบคาบลุกคาบดอก ทั้งคู่ต่างก็ทำได้อย่างดี ความหนัหน่วงของจังหวะที่ดังจนอกใจคึกคักตามไปด้วย และบางครั้งก้ค่อนยแผ่วเบาจนใจจะขาด สามารถสะกดผุ้ฝังทุกคนให้หลงติดอยู่กับมนต์เสน่ห์นั้นได้ หากแต่ตัวผุ้เล่นเองนั้นก็ตื่นเต้นด้วยการรับ-ส่งจังหวะที่สอดคล้องกัน ความตื่นเต้นกอปรกับความต้องการที่จะเอาชนะ ทำให้ขุนอินเกิดอาการเกร็งจนไม่สามารถเล่นต่อไปได้ เสียงระนาดที่จับใจผู้ฟังของศร ทำให้เขาได้รับการยกย่องให้เป็น "ท่านครู" ที่มีลูกศิษย์มากมายในเวลาต่อมา

ในขณะที่ทางฝ่ายทหาร ยังคงยึดมั่นกับคำสั่งชองผู้นำ โดยมองข้ามและดูถูกรากเหง้าของตนเอง ชีวิตในบั้นปลายของ "ครูศร" ได้ใช้หมดไปในการเป็นครูอย่างแท้จริง ท่านสอนลูกศิษย์ของท่านทุกคนให้สืบทอด ดนตรีไทย ท่านยึดมั่นในอุดมการณ์ที่จพต่อสู้ยืนหยัดเพื่อดนตรีไทย ในตอนท้าย เหล่าทหาร ก็เหมือนจะเข้าใจในอุดมการณ์ของท่าน ก่อนจะถึงวาระสุดท้านในชีวิตท่านก็ยังได้บรรเลงระนาดอีกครั้ง ก่อนที่ท่านจะสิ้นใจอย่างไม่มีวันกลับ ทำให้เราได้รู้ว่า ท่านยังคงต่อสู้ยืนหยัดในสิ่งที่ท่านรักตราบจนวินาทีสุดท้าย


สำหรับตัวละครเอกในเรื่อง ตั้งแต่เป็น "เด็กชายศร" ,"นายศร" จนกระทั่งถึง "ครูศร"เป็นตัวละครที่มีความมุ่งมั่น,ตั้งใจที่จะทำตามความใฝ่ฝันของตน มีอุดมการณ์ที่แน่วแน่ อาจจะมีการท้อแท้บ้าง แต่ก็ยังต่อสู้ได้เป็นอย่างดี มีบุคลิกภาพที่ดี นิสัยใจคอมีความเมตตา,โอบอ้อมอารี,ให้ความรักแก่บรรดาลูกศิษย์ทุกคน,เป็นคนช่างสังเกตคน ยืนหยัดที่จะต่อสู้เพื่อสิ่งที่ตนเองรักจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต


ตัวละครรอง "ทิว"เพื่อนสนิทของศร ในเรื่องอาจจะไม่มีบทบาทมากนักแต่ก็เป็นคนที่สนิทกับ ศร มาตั้งแต่เด็กๆ เป็นแรงผลักดันและกำลังใจที่ดียามที่ ศรท้อแท้ ไม่อิจฉาริษยาเมื่อเห็นเพื่อนได้ดี และยังแสดงความยินดีด้วย


ตัวละครที่เหมือนเป็นแรงผลักดันและกำลังใจให้ ศร ก็มีอีกหลายตัวในเรื่อง เช่น แม่โชติ,ครูเทียน,พ่อ,แม่,และพี่ชายของ ศร ท่านผู้พัน เป็นนายทหารที่ยึดมั่นในคำสั่งของเจ้านาย ปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด จนบางครั้งอาจจะละเลยในสิ่งที่ถูกต้อง ขุนอิน เป็นตัวหลัก ตัวตั้งที่ให้ตัวเอกปีนป่ายขึ้นไปสู่ความสำเร็จได้ เป็นผู้มีความมุ่งมั่นและรักในดนตรีไทย ไม่แพ้ ศร


สำหรับฉากในเรื่อง ถึงแม้ว่าจะเป็นฉากจำลองในสมัยโบราณ ในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ก็ทำออกมาได้สมจริง การเลือกใช้โทนสีก้กลมกลืน การแต่งหน้า ทำผม ของตัวละครเอก,ตัวละครรอง,และตัวแสดงประกอบก็ไม่ละเลยที่จะใส่ใจในรายละเอียด การนุ่งผ้าโจงกระเบน,กระโจมอก,การเคี้ยวหมากให้ฟันดำ,การตัดผมทรงมหาดไทย,หรือการใส่เสื้อราชปะแตนเมื่อเข้าสู่ในเขตพระราชฐานรวมถึงการแสดงความเคารพต่อเจ้านายชั้นสูง ก็มีการศึกษามาแล้วอย่างดี


ฉากในบ้านศิลปบรรเลง,ฉากในวัง,ฉากธรมมชาติกลางทุ่ง หรือแม้แต่ ฉากห้องที่ใช่ประชันระนาดก็ทำได้เหมือนจริงน่าเชื่อถือ


สัญลักษณ์ที่ใช้ในเรื่องคือ ระนาด ที่มีความหมายมากกว่าการเป็นแค่เครื่องดนตรี แต่รวมถึง แรงบันดาลใจ,การสืบทอดเจตนารมณ์ของผู้ที่ตนนับถือ,ความมุ่งมั่น ระนาดผืนที่ สร เล่นมาตั้งแต่เด้ก ทำให้เขารู้สึกมั่นใจและเชื่อมั่นเมื่อได้เล่นระนาดผืนเดิมของเขา แม้ว่าจะเป็นการประชันที่ยิ่งใหญ่ขนาดไหนก็ตาม ตัวเอกของเรื่องจะผูกพันกับระนาดมาตั้งแต่เด็กจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ข้อความที่ท่านฝากไว้ให้กับลูกหลานและลูกศิษย์ของท่าน ก็สื่อถึงเจตนารมณ์ที่จะสืบทอดการตีระนาดของท่านเอาไว้เช่นนั้น


ความขัดแย้งที่ปรากฏในเรื่อง คือความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ คือ ศร กับพ่อของเขาที่พ่อของ ศร ห้ามเล่นดนตรี แต่ ศร ก็ยังต้องการที่จะเล่นดนตรี ศรกับขุนอิน ซึ่งต้องแข่งขันฝีมือการตีระนาดกัน มนุษย์กับจิตใจตนเอง บ่อยครั้งที่ ศร รู้สึกท้อแท้หมดกำลังใจ เขาคิดอยากที่จะทิ้งความฝันของเขา แต่เขาก็ต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆจนกลับมามีความหวังที่เข้ามแข็งอีกครั้ง


ชื่อเรื่องที่ว่าโหมโรงนั้น หมายถึง การประโคมดนตรีก่อนมหรสพลงโรง; เพลงเริ่มต้นของการบรรเลงหรือการแสดง เพื่อบอกให้ทราบว่าพิธีหรืองานนั้นได้เริ่มขึ้นแล้ว หรือ เป็นการบูชาเทพยดาและครูบาอาจารย์ พร้อมทั้งอัญเชิญท่านเหล่านั้น มาปกปักรักษาและอำนวยความสำเร็จให้แก่การแสดง นอกจากนั้น ยังเป็นการ อุ่นโรง ให้ผู้แสดงเตรียมตัวให้พร้อมเพราะใกล้จะถึง เวลาแสดง และเป็นสัญญาณแจ้งแก่ประชาชน ที่อยู่ทั้งใกล้และไกล ให้ได้ทราบว่าจะมีการแสดงลิเก และใกล้เวลาลงโรงแล้ว จะได้ชักชวนกันมาชม เป็นการตั้งชื่อเรื่องที่ผู้ชมสามารถเดาได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเล่นดนตรี


ข้อคิดที่ได้จากเรื่องคือ คนเราจะต้องไม่ท้อแท้ต่อปัญหาที่เข้ามาในชีวิต ต้องหาทางที่จะฟันฝ่าอุปสรรคไปให้ได้ และต้องหาสิ่งใหม่ๆเข้ามาสร้างสรรคืผลงานของตนให้ดีขึ้นเสมอ เหมือนกับ ศร ที่ไม่เคยหยุดคิดหาวิธีมาพัฒนาทักษะการตีระนาดของเขาเสมอ ไม่ว่าจะพบเจออะไร เขาก็จะสามารถดัดแปลงให้เข้ากับงานของเขาได้เสมอ, คำพุดของครูเทียน "ศรจะกลับมาเมื่อเข้าพร้อม"หมายความถึงเราควรจะทำทุกอย่างด้วยใจรัก ไม่ควรจะบังคับฝืนใจ เพราะจะทำให้ผลงานที่เราทำออกมามีประสิทธิภาพมากที่สุด,เชือกที่ตึงไปของผืนระนาดทำให้ตีไม่ได้ดี จึงต้องผ่อนลงมาบ้าง หมายถึง เราควรจะทำทุกอย่างด้วยความพอดี ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป


สรุป ภาพยนตร์เรื่องโหมโรงเป้นคติสำหรับสอนเยาวชนได้ดี ดุแล้วไม่มีที่ติ เป็นภาพยนตร์ปลุกจิตสำนึก และรากเหง้าของความเป็นไทย มีภาพและเสียงประกอบที่สวยงามประทับใจ การคัดเลือกนักแสดงก็ทำได้อย่างเหมาะสมลงตัว มีพลังที่จะทำให้ผู้ชมติดตามได้อย่างมีศิลปะและรสนิยม มีเรื่องราวที่สัมผัสได้จริง มีเนื้อหาที่เข้าใจง่าย ให้สาระ ดูแล้วไม่รู้สึกเบื่อ เป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ๆๆให้ดนตรีไทย ได้เห็นดนตรีไทยในรูปแบบที่น่าตื่นเต้นประทับใจ ผู้ชมสามารถสร้างจินตนาการตามได้ ผู้แต่งเก็บรายละเอียดได้อย่างสมจริงในทุกสัดส่วน มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านดนตรีเป็นที่ปรึกษา และนักแสดงทุกคนก็ต้องเรียนดนตรีก่อน ทุกคนคงได้เรียนรู้ถึงคุณค่าของดนตรีไทย จากภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นตัวนักแสดงเอง หรือแม้กระทั่งผู้ชมด้วยเช่นเดียวกัน

รักแห่งสยาม


ประภาพรรณ สุวัณณุสส์
0548232


บทวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่อง “รักแห่งสยาม”
โต้งกับมิวเป็นเพื่อนกันตั้งแต่เด็กเพราะบ้านอยู่ตรงข้ามกัน มิวอาศัยอยู่กับอาม่า โต้งอาศัยอยู่กับกรและสุนีย์พ่อและแม่รวมทั้งแตงพี่สาว แตงหายไปขณะไปเที่ยวเชียงใหม่ ทำให้พ่อจมอยู่กับความเศร้าไม่สามารถทำงานได้และกินเหล้าตลอดเวลา ครอบครัวของโต้งย้ายไปอยู่บ้านใหม่เพื่อลืมความทรงจำเก่าๆ แต่พ่อยังอยู่กับความทุกข์เช่นเดิม ไม่กี่เดือนต่อมาอาม่าของมิวก็เสียชีวิต

โต้งมีแฟนชื่อโดนัท แต่ด้วยความเย็นชาและห่างเหินของโต้งทำให้โดนัทคิดว่าโต้งไม่รักเธอแล้ว ในขณะที่มิวก็ทุ่มเทความรักให้กับเสียงเพลงและวงดนตรีออกัส หญิงเพื่อนบ้านของมิวคอยเป็นกำลังใจและแอบรักมิวอยู่เงียบๆ มิวและโต้งกลับมาเจอกันอีกครั้งหนึ่งที่สยาม ความสัมพันธ์ของทั้งคู่เริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อมิวแนะนำโต้งให้รู้จักจูนผู้ดูแลวงดนตรีของมิวที่มีหน้าตาและท่าทางคล้ายแตงพี่สาวที่หายไป โต้งและแม่จึงว่าจ้างให้จูนมาช่วยดูแลอาการของพ่อให้ดีขึ้น

โต้งและมิวมีความสัมพันธ์ที่เกินคำว่าเพื่อน จนสุนีย์ขอร้องไม่ให้ทั้งสองติดต่อกันอีก แต่เมื่อจูนได้เตือนสติสุนีย์ ทำให้เธอรู้ว่าความรักที่แท้จริงเป็นอย่างไร เธอจึงให้โต้งเลือกทางเดินของตนเอง

ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอความรักหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความรักในครอบครัวที่สุนีย์ต้องเป็นผู้ประคับประคองครอบครัวไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้นอีก กรจมอยู่กับความโศกเศร้าที่ต้องสูญเสียลูกสาวจนลืมนึกถึงคนที่อยู่ด้วย ความรักของโดนัทที่มีต่อโต้งเป็นความรักเพื่อให้ได้มาซึ่งการครอบครอง ในขณะเดียวกันความรักของหญิงที่มีต่อมิวเป็นความรักที่ปรารถนาให้มิวมีความสุขแม้เธอจะไม่ได้ครอบครองมิวก็ตาม และความรักของโต้งกับมิวที่สื่อออกมาในรูปแบบของเพศเดียวกัน เป็นความรักที่มีให้กันโดยไม่มีเรื่องเพศสัมพันธ์เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ไม่ว่ามิวจะเป็นหญิงหรือชายโต้งก็อาจจะรักมิวเพราะเข้ามาเติมเต็มส่วนที่ขาดหาย

ความขัดแย้งในเรื่องมีหลายเหตุการณ์แต่ทุกเหตุการณ์มีความเกี่ยวข้องและสามารถนำมาร้อยเรียงกันได้อย่างกลมกลืน ความขัดแย้งแรกจะเห็นตั้งแต่ต้นเรื่องคือตอนที่แตงหายตัวไป เป็นความขัดแย้งในจิตใจของกรเอง กรเฝ้าแต่โทษตัวเองว่าไม่น่าปล่อยให้ลูกไปเลย กรเสียใจมากจึงเอาแต่ดื่มเหล้าและเฝ้ารอการกลับมาของลูกสาว เขากลายเป็นคนที่โหยหาแต่คนที่จากไป จนทิ้งภาระทุกอย่างให้กับคนที่ยังอยู่โดยไม่สนใจ รวมทั้งบทสวดของชาวคริสต์ที่ครอบครัวนี้มักจะสวดอยู่เสมอก่อนทานข้าวก็ไม่มีอีกต่อไป อาจหมายความว่าเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจหรือศรัทธาที่มีต่อพระเจ้าหายไปพร้อมกับแตง

เมื่อจูนหญิงสาวที่มีหน้าตาและท่าทางคล้ายแตงเข้ามาในโลกของกร ทำให้กรกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง ภาพถ่ายครอบครัวโต้งตอนไปเที่ยวเชียงใหม่ไม่มีรูปแตงอยู่ด้วย กรมักจะถามจูนหรือสุนีย์เสมอว่าแตงหายไปไหน แต่การมาของจูนทำให้เห็นว่าไม่ว่าแตงจะอยู่หรือไม่ จูนเป็นคนที่ทำให้กรลุกขึ้นมายอมรับความจริง ตอนที่กรเข้าโรงพยาบาลจะเห็นแก้วน้ำหวานที่มีหลอด และเห็นผึ้งพยายามไต่หลอดเพื่อออกจากแก้ว เหมือนกับกรที่ต้องก้าวผ่านความเจ็บปวดไปให้ได้

ความขัดแย้งต่อมาอยู่ที่ตัวสุนีย์ สุนีย์ต้องรับภาระทั้งหมดหลังจากกรติดเหล้า เธอต้องพยายามประคับประคองครอบครัวไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้นอีก เธอเก็บความหวาดกลัวไว้ในใจจนแสดงออกมาเป็นความหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเธอกับกรและโต้ง
เมื่อสุนีย์รู้ว่าโต้งกับมิวมีความสัมพันธ์เกินเพื่อน จึงไม่ให้ทั้งสองคบกันอีก แต่สิ่งที่สุนีย์ทำลงไปกลับทำให้โต้งเจ็บปวด จูนเข้ามาเตือนสติจนในที่สุดสุนีย์ให้โต้งตัดสินใจด้วยตนเอง หนังสื่อให้เห็นถึงการเลือกตุ๊กกตาประดับต้นคริสต์มาสของโต้ง โต้งเลือกตุ๊กตาผู้ชาย ในขณะที่สุนีย์ก็ยอมรับการตัดสินใจของลูก
ปัญหาของโต้งน่าจะอยู่ที่โต้งยังสับสนเพราะไม่รู้ว่าตนเองเป็นอะไรหรือต้องการอะไร ในขณะที่โต้งคบกับโดนัท โต้งรู้สึกเฉื่อยชาแต่เมื่ออยู่กับมิวโต้งมีความสุขและสดใส จนเมื่อโต้งยอมรับกับตัวเองว่ารักมิว เขาจึงบอกเลิกกับโดนัทและไปดูคอนเสริ์ตที่มิวเล่น จึงหมายความว่าโต้งยอมรับกับสิ่งที่ตนเองเป็นและต้องการ

ฉากสำคัญที่ปรากฏคือ สยามสแควร์ เป็นสถานที่ที่โต้งเจอกับมิวครั้งแรกนับตั้งแต่จากกันมา นอกจากสถานที่แล้ว เวลาที่ปรากฏคือวันคริสต์มาสเพราะเป็นวันสำคัญของชาวคริสต์ นัยยะของสถานที่และเวลาจึงมีความเกี่ยวข้องกัน โต้งบอกเลิกโดนัทในคืนวันคริสต์มาสที่สยามสแควร์ และบอกรักมิวพร้อมให้ของขวัญ โต้งบอกมิวว่า “เราคงคบมิวแบบแฟนไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้รักมิวนะ” แสดงให้เห็นว่าความรักของทั้งโต้งและมิวไม่ต้องการการครอบครอง

ตัวละครแต่ละตัวต้องเผชิญปัญหาที่เข้ามาในชีวิต บททดสอบนี้เองที่ทำให้ตัวละครมีการเติบโตทางความคิดและมุมมองที่เปลี่ยนไปทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อีกทั้งหนังยังปูพื้นตัวละครตั้งแต่การเลี้ยงดู สภาพครอบครัว สภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อจิตใจของตัวละคร เช่นมิวอยู่กับอาม่าและเรียนโรงเรียนชายล้วน จึงมีโอกาสที่จะมีพฤติกรรมที่เอนเอียงไปในทางชายรักชาย ในขณะที่โต้งมีพ่อแต่พ่อไม่อยู่ในสภาพผู้นำประกอบกับช่วงวัยรุ่นที่ต้องการความรัก โต้งจึงเกิดความสับสนและมีมิวมาเติมเต็มส่วนที่ขาดหาย ทั้งคู่จึงกลายเป็นส่วนเติมเต็มของกันและกัน

ตัวละครที่น่าสนใจอีกตัวหนึ่งคือจูน จูนใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงเทพฯคนเดียว พ่อแม่เสียชีวิตหมดแล้ว จูนจึงมีทั้งความเหงาและความหว้าเหว่ แต่เธอใช้สิ่งที่ขาดหายไปในชีวิตของเธอมาทำให้ครอบครัวโต้งรู้ว่าครอบครัวนี้โชคดีขนาดไหนที่อยู่รวมกันเป็นครอบครัว เธอยังเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกรและสุนีย์กับโต้งและสุนีย์ เพราะเธอรู้ว่าความเหงาเจ็บปวดขนาดไหน

การมีความรักให้แก่กันทุกคนสามารถทำได้ แต่การทะนุถนอมและรักษาความรักให้ยืนนานเป็นเรื่องอยาก ความรักอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอและไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของชีวิต ต้องอาศัยความเข้าใจเป็นองค์ประกอบหลัก เมื่อมีความเข้าใจเป็นพื้นฐานของความรักแล้ว ความรักของเราคงไม่ทำให้คนรอบข้างและตัวเราเองเจ็บปวด

ตัวละครในเรื่องสื่ออารมณ์ถึงกันออกมาเป็นอย่างดีทั้งนักแสดงรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ปมปัญหาถูกร้อยเข้าด้วยกันอย่างแนบเนียน รวมทั้งผู้กำกับทิ้งเรื่องราวให้ผู้ชมขบคิดว่าแตงและจูนเป็นคนเดียวกันหรือไม่ จูนจะมางานวันคริสต์มาสหรือไม่มา หรือจมูกตุ๊กตาไม้ที่โต้งให้มิวแม้จะเข้ากันได้ไม่สนิทแต่ไม่ได้หมายความว่าจะรักหรืออยู่ด้วยกันไม่ได้ ความรักต้องค่อยๆดำเนินไปเหมือนกับที่โต้งให้มิวหาส่วนประกอบของตุ๊กตาไม้ทีละชิ้นส่วน แล้วค่อยนำประกอบกัน

ภาพยนตร์เรื่องรักแห่งสยามเป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนรูปแบบความรักหลายแง่หลายมุม และไม่ได้ตัดสินว่าความรักรูปแบบไหนถูกหรือผิด แต่อยู่ที่ตัวเราเองว่าจะเลือกรักแบบไหน เหมือนที่มิวบอกโต้งว่า “มันจะเป็นไปได้เหรอที่เราจะรักใครโดยไม่มีการสูญเสีย แต่อีกใจหนึ่งก็คิดว่าแล้วมันจะเป็นไปได้เหรอถ้าเราอยู่ได้โดยไม่รักใครเลย”

Bangkok Love Story (เพื่อน...กูรักมึงว่ะ)


นางสาว พิชญ์สินี พร้อมวิหาร
๐๕๔๙๐๒๐๐ (ครั้งที่๑)


ภาพยนตร์เกี่ยวกับความรักระหว่างชายหนุ่มสองคนที่ชีวิตของทั้งคู่เป็นเหมือนเส้นขนาน
ที่ไม่มีวันโคจรมาเจอกันได้ แต่แล้ววันหนึ่งโชคชะตากลับนำพามาให้ทั้งคู่มาพบกัน

เมฆ ชายหนุ่มพูดน้อย ที่ไม่เคยรักใครนอกเหนือจากแม่และหมอก น้องชายคนเดียวของเขา เมฆอยู่คนเดียวโดยเปลี่ยนชื่อและที่อยู่ไปเรื่อยๆ เพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการทำงาน

เขามีอาชีพเป็นมือปืน ซึ่งเป็นงานที่ไม่มีความแน่นอนและไม่สมควรที่จะมีความรัก เมฆได้รับ
มอบหมายภารกิจการฆ่า โดยมีเป้าหมายคือ อิฐ ชายหนุ่มหน้าตาดี มีฐานะ แต่อิฐกลับรู้สึกว่าเขา
ขาดอะไรบางอย่างในชีวิตรัก แม้ว่าเขาจะมีทราย ผู้หญิงที่เขาจะแต่งงานด้วยอยู่เคียงข้าง เมฆเฝ้าติดตามอิฐทุกฝีก้าวเพื่อทำงานชิ้นนี้ให้เสร็จ แต่เมื่อถึงเวลาเขากลับไม่ได้ฆ่าอิฐ การกระทำครั้งนี้
ทำให้เมฆและอิฐถูกตามล่าจากหัวหน้าของเมฆ เมฆได้รับบาดเจ็บจากการปกป้องอิฐ ทั้งคู่พากันมาหลบที่ห้องของเมฆ อิฐคอยเฝ้าดูแลรักษาเมฆซึ่งบาดเจ็บจนอาการดีขึ้น

เมื่อทั้งคู่ได้ใกล้ชิดกัน ความรู้สึกลึกๆภายในใจของทั้งคู่จึงจึงปรากฎออกมา กลายเป็นความโหยหาในความรักที่ทั้งคู่ขาดหาย แต่เมฆไม่อาจทำใจยอมรับความสัมพันธ์ซึ่งเขาเองก็ยัง
สับสนว่าเป็นความรักจากใจ หรือเป็นแค่เพียงความใคร่ชั่วข้ามคืน เมฆพยายามหนีความต้องการ
ภายในจิตใจของตัวเอง แต่อิฐกลับไม่ลดละความพยายามในการตามหาเมฆที่เปรียบเสมือน
อีกครึ่งหนึ่งของชีวิต เมฆพยายามที่จะตัดใจและบังคับตัวเองให้กลับมาสะสางภารกิจสุดท้าย
ให้เสร็จสิ้น เพื่อที่จะพาแม่และน้องชายซึ่งทั้งคู่ติดเอดส์จากพ่อเลี้ยงไปรักษาตัวและอยู่ด้วยกัน
เป็นครอบครัวอีกครั้ง


แต่ทุกอย่างกลับไม่เป็นไปตามที่เมฆหวัง ส่วนอิฐนั้นก็ได้แต่เฝ้ารอวันที่เขาจะได้พบกับเมฆเพื่อบอกความในใจกับเมฆ ภายในใจของทั้งอิฐและเมฆนั้นเอ่อล้นด้วยแรงปรารถนาและความคิดถึงกัน แล้ววันที่ทั้งคู่ได้พบกันพร้อมกับความปรารถนาที่จะได้อยู่เคียงข้างกันอย่างมีความสุข
ก็มาถึง แต่ว่าโชคชะตากลับไม่เข้าข้างความรักของเขาทั้งสองคน ความรักของทั้งคู่นั้นเป็นได้แค่
เพียงเส้นขนานที่ไม่อาจกลับมาพบและรักกันได้อีกตลอดไป

ภาพยนตร์เปิดฉากที่เมฆ(ตัวละครเอก) คุยกับผู้ชม โดยใช้คำแทนตัวเองว่าผม และใช้คำแทนผู้ชมว่าคุณ เขาเดินผ่านฉากที่คราคร่ำไปด้วยผู้คนตามสถานที่ต่างๆ พร้อมถามผู้ชมขึ้นมาลอยๆว่า “คุณเคยรู้สึกไหม เวลาที่คนอื่นเขามีความสุขกัน แต่คุณกลับเป็นคนเดียวที่เดินเหงาอยู่ตามลำพัง
บนถนน บนรถ หรือว่าบนเรือ หรือที่ไหนๆก็ตาม มันคงไม่แปลกอะไรที่จะคิดว่าโลกนี้มันช่างเงียบเหงาและหดหู่เหลือเกิน”

จากนั้นเรื่องได้ดำเนินต่อไปโดยที่เมฆเริ่มเล่าถึงอาชีพของตนเอง อาชีพที่เขาบอกว่าเป็นอาชีพที่คนอื่นไม่ค่อยอยากจะทำ เขาเองก็ไม่ต้องการทำอาชีพนี้ แต่เพื่อความอยู่รอดของครอบครัว
เขาจึงจำเป็นต้องทำ เพื่อนำเงินมาเลี้ยงดูแม่กับน้องชายผู้ซึ่งเปรียบเสมือนเพื่อนเพียงคนเดียวของเขา


เมฆได้รับมอบหมายงานจากหัวหน้าให้ไปฆ่าผู้ชายที่ชื่อ อิฐ แต่เหตุการณ์กลับทำให้เมฆและอิฐกลายมาเป็นเพื่อนกัน การที่อิฐช่วยดูแลปฐมพยาบาลเมฆซึ่งได้รับบาดเจ็บจากการไม่ฆ่าอิฐ ทำให้ทั้งคู่ได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันอย่างใกล้ชิด ก่อให้เกิดความผูกพันและกลายเป็นความรักที่ก่อตัวขึ้นเงียบๆในใจ แล้วความสัมพันธ์ทางกายของทั้งคู่ก็เกิดขึ้นภายใต้ความต้องการลึกๆภายในจิตใจ


จุดที่ทำให้เกิดความสงสัย คือ ฉากที่อิฐไปหาน้องชายของเมฆที่บ้าน ทำให้แม่และน้องชายของอิฐเกิดความสงสัยว่า อิฐเป็นใคร ทำไมถึงรู้จักบ้านของเมฆได้ เพราะเมฆไม่เคยมีเพื่อนมาก่อน
นอกจากนั้นยังมีจุดสงสัยที่สำคัญอีกจุดหนึ่ง คือ ฉากที่ทราย คู่หมั้นของอิฐสงสัยว่า ตั้งแต่อิฐกลับมาบ้านอิฐก็เริ่มมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม


ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งภายในจิตใจของเมฆ ที่พยายามปกปิดความรู้สึกของตนเอง โดยการต่อต้านและพยายามที่จะปฏิเสธว่าเขาเองก็รู้สึกรักอิฐเช่นเดียวกันกับที่อิฐรักเขา

เมฆ เป็นตัวละครที่สะท้อนให้เห็นภาพของผู้ที่มีปมปัญหาภายในจิตใจ เขาฟังใจกับอดีต
ที่เห็นภาพความรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นในครอบครัว เขาเห็นภาพพ่อเลี้ยงที่ทุบตีแม่ และพยายามที่จะข่มขืนเขา แต่เขาก็สามารถหลุดพ้นน้ำมือของพ่อเลี้ยงมาได้ วันหนึ่งเมื่อเขากลับมาบ้านและเห็น
ภาพพ่อเลี้ยงกำลังข่มขืนน้องชายของเขา เขาเข้าไปช่วยน้องชาย ด้วยความโกรธจึงลงมือทำร้ายพ่อเลี้ยงจนเสียชีวิต เหตุการณ์สะเทือนใจครั้งนั้นทำให้เมฆรู้สึกรังเกียจความสัมพันธ์ระหว่าง
ผู้ชายกับผู้ชาย เขาจึงกลายเป็นคนที่เย็นชาและขาดความรัก


จุดวิกฤตที่เกิดขึ้น คือ ฉากที่เมฆและอิฐได้มาพบกันอีกครั้งที่บ้านของเมฆ ทั้งคู่กอดจูบกัน
ด้วยความคิดถึงที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจ ในขณะเดียวกันนั้น แม่ หมอกและทรายก็ได้เห็นภาพความ
สัมพันธ์ของคนทั้งสองที่เกิดขึ้นอยู่ตรงหน้า ทำให้ทั้งสามคนยอมรับในภาพที่เห็นไม่ได้


จุดสูงสุดของเรื่อง(ไคล์แม็กซ์) คือ ฉากที่เมฆเลือกที่จะยุติความสัมพันธ์ที่เกินเลยมากกว่าเพื่อนกับอิฐ เพราะเขาตั้งใจจะพาแม่และน้องชายที่ทั้งคู่ได้รับเชื้อไวรัสโรคเอดส์จากพ่อเลี้ยงไปอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวที่ต่างจังหวัด แต่เมฆกลับโกรธมากเมื่อพบว่าน้องชายของตนเองไปขายบริการทางเพศเพื่อนำเงินมาเลี้ยงดูแม่และตนเอง เมื่อแม่ได้ยินลูกทะเลาะกันจึงเกิดความรู้สึกผิด
คิดว่าเป็นเพราะตนเองไปมีสามีใหม่ จึงทำให้ครอบครัวต้องมาตกอยู่ในสภาพนี้ แม่จึงพยายาม
ที่จะผูกคอตาย เมฆมาช่วยแม่ไว้ได้และกำลังจะพาแม่ไปโรงพยาบาล ขณะที่เมฆกำลังจะพาแม่ไปโรงพยาบาลนั้น ลูกน้องของหัวหน้าเก่าของเมฆพยายามจะยิงเมฆ แต่กระสุนกลับไปถูกแม่ ทำให้แม่เสียชีวิต เมฆโกรธมาก เขาจึงไล่ฆ่าทุกคนที่มีส่วนร่วมทำให้แม่ของเขาต้องตาย


ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้การปิดเรื่องแบบโศกนาฏกรรมความรัก เมฆถูกฆ่าตายหลังจากเดินออกมาจากเรือนจำได้แค่เพียงไม่กี่นาที


โครงเรื่องเน้นฉากและบรรยากาศ โดยฉากส่วนใหญ่จะเน้นโทนสีที่มืด ทึม ใช้สีเทาและดำ สะท้อนให้เห็นถึงมุมมืดของสังคม การใช้ฉากในลักษณะนี้ทำให้บรรยากาศในภาพยนตร์ดูเศร้าและหม่นหมอง นอกจากนี้เสียงดนตรีที่ใช้ประกอบฉากก็ยังช่วยเร้าอารมณ์ให้ผู้ชมเกิดอารมณ์
และความรู้สึกร่วมไปกับตัวละครด้วย


ภาพยนตร์เรื่องนี้มีแก่นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นถึงความรักในอีกแง่มุมหนึ่งของสังคม นอกจากนี้ยังมีการสอดแทรกข้อคิดดีๆผ่านบทสนทนาของตัวละคร เช่น ตอนที่อิฐพูดกับเมฆว่า “เสื้อผ้าที่ดีบางทีมันก็ไม่ได้บ่งบอกว่าคนๆนั้นเป็นคนดี แต่ความคิดที่ดีต่างหากที่เป็นตัวบ่งบอก” หรือตอนที่เมฆพูดกับอิฐว่า “เงินนั้นไม่สำคัญหรอก แต่มันจำเป็น”


ภาพยนตร์เรื่องนี้มีการใช้สัญลักษณ์ คือปลากัด แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอและแข็งแกร่งของคนในสังคมที่ต้องดิ้นรนต่อสู้และแข่งขันกัน ผู้ที่แข็งแกร่งกว่าก็คือผู้ชนะ โดยให้มุมมองสะท้อนผ่านตัวละครสำคัญ คือ หมอก

เรื่องราวความรักระหว่างเมฆกับอิฐนั้น อาจเป็นความรักที่ผิดแผลกแตกต่างจากความรักของคนทั่วไป แต่บางครั้งการที่เราจะรักใครสักคนนั้นก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงเหตุผล
ดังเช่นความรักของเมฆและอิฐที่จะตราตรึงอยู่ในใจของเขาทั้งคู่ตลอดไป