วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

สัตว์ประหลาด ( Tropical Malady)



นางสาวชยานุตม์ ภักษา
05490091

สัตว์ประหลาด ( Tropical Malady)


ภาพยนตร์เรื่องสัตว์ประหลาด ของ อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล เป็นภาพยนตร์ไทยที่ได้รับรางวัลปาล์มทองคำ (Jury Prize) จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ เรื่องนี้ได้แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกกล่าวถึงความรักของ เก่ง.ทหารหนุ่มและโต้ง.ลูกจ้างโรงงานน้ำแข็ง ที่แสดงออกความรักแบบไม้ป่าเดียวกันอย่างเปิดเผย ความสัมพันธ์ของทั้งสองดำเนินไปได้ด้วยดี แต่แล้วก็ต้องยุติลงดื้อๆเเพราะอยู่ดีๆเโต้งก็หายตัวไป เก่ง จึงออกเดินทางเข้าไปในป่าลึกเพื่อตามหาชายคนรักเพียงลำพัง จึงเป็นข้อต่อกับส่วนที่สองที่เก่งต้องเผชิญกับความลึกลับดำมืดของป่า ส่วนหลังสอดคล้องกับเรื่องลี้ลับเชิงนิทาน เกี่ยวกับการตามล่าในป่าทึบระหว่างนายพราน กับเสือสมิง ที่เคยกินคน และมีวิญญาณของเหยื่อที่ถูกกินสิงอยู่ จึงเป็นปมที่ไม่รู้ว่า ความสับสนของเก่งที่เกิดขึ้นระหว่างที่อยู่ในป่านั้น เกิดจากวิญญาณของเสือสมิงหรือเกิดจากจิตใต้สำนึกของเขาหรือที่เราเรียกว่า “สัญชาตญาณดิบ”


เรื่อง “สัตว์ประหลาด” มีลักษณะคล้ายนิทานพื้นบ้าน ในแต่ละตอนมีกลิ่นไอของวิถีชีวิตและความเชื่อของชาวบ้านในชนบทให้เห็น ภาพยนตร์เรื่องนี้ มีรูปแบบการดำเนินเรื่องแปลกกว่าเรื่องอื่นๆ เป็นภาพยนตร์แฝงปรัชญาและจิตวิทยาที่นับได้ว่าค่อนข้างจะเข้าใจยาก เพราะโครงสร้างสองส่วนของภาพยนต์ มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในด้านของเนื้อหา ไม่มีการเชื่อมโยงชุดเหตุการณ์และการเรียงลำดับเวลา แต่ในความแตกต่างนี้ ก็ยังมีเส้นใยบางๆเชื่อมโยงให้ทั้งสองส่วนนี้มีความสัมพันธ์กัน
สำหรับดิฉันตอนดูแรกๆ คิดว่าเรื่องนี้เป็นหนังที่ค่อนข้างจะกระชากจากส่วนแรกไปอีกส่วนหนึ่ง แต่เมื่อดูจนจบเรื่อง ทำให้ดิฉันได้เข้าใจว่าจริงๆแล้ว ผู้กำกับได้ผูกปมทั้งสองส่วนเอาไว้ตั้งแต่ที่ช่วงแรกดำเนินแล้ว เช่น ฉากคนเปลือยกายเดินข้ามทุ่งในตอนเปิดเรื่อง ฉากโต้งเลียมือเก่งคล้ายพฤติกรรมของสัตว์ก่อนจะเดินหายเข้าไปในความมืด ฉากป้าสำเริงพาสองหนุ่มมุดเข้าถ้ำ เป็นต้น ฉากเหล่านี้ได้นำเสนอในรูปแบบกึ่งสารคดี ซึ่งสะท้อนให้เห็นชีวิตประจำวันในชนบท และสภาพตัวเมืองอันขวักไขว่ไปด้วยผู้คน นอกจากนั้น ผู้สร้างยังเน้นเสียงประกอบให้ดังจนเกือบจะกลบบทสนทนาของตัวละคร แต่ขณะเดียวกัน พวกมันก็เป็นตัวช่วยสร้างความกลมกลืนให้กับการส่งช่วงต่อไปยังหนังครึ่งหลัง ผ่านฉากชะนีสื่อสารกับคนและการใช้ภาพวาดช่วยเสริมการเล่าเรื่องและเทคนิคพิเศษด้านภาพ ภาพยนตร์เรื่องนี้ จุดสำคัญที่สุดคือตัวละคร ซึ่งเน้นตัวละครหลักแค่สองคนเท่านั้น คือ โต้งและเก่ง โดยจุดวิกฤตของเรื่องสัตว์ประหลาด เกิดขึ้นขณะที่เก่งใช้ชีวิตอยู่ในป่า เป็นความขัดแย้งภายในจิตใจของเขาเอง หลังจากที่ชนะได้สื่อสารกับเขาแล้วบอกว่า เขาถูกวิญญาณผีร้ายติดตามอยู่ตลอดเวลา ทางออกเดียวที่จะหลุดพ้นจากมันได้ คือ ต้องฆ่ามันเสียหรือไม่ก็ยอมให้มันกินเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโลกมัน
ภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงสภาพสังคมไทยในเมืองและในชนบทจากฉากต่างๆ ช่วงครึ่งแรกเปรียบเสมือนภาพสะท้อนสังคมไทยในเมืองที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสโลกาภิวัฒน์อย่างเต็มที่ ครึ่งแรกจึงเต็มไปด้วยฉากหลังอย่างร้านอินเตอร์เน็ท โรงหนัง ห้างฯ บิ๊กซี และลานออกกำลังกายแอโรบิก ซึ่งมีครูฝึกแอโรบิกชายแอบโบกมือให้เก่งอย่างมีเลศนัย คล้ายกับว่า วัฒนธรรมเกย์ เป็นวัฒนธรรมประเภทหนึ่งที่แทรกตัวเข้ามากับวัฒนธรรมตะวันตก จนกลายเป็นเรื่องปกติของคนไทยในปัจจุบันนี้ แต่อีกด้านหนึ่งในชนบทได้เห็นป้าสำเริงเล่าถึงตำนานเณรน้อย ได้เห็นพระพุทธรูปในถ้ำประดับประดาด้วยดวงไฟระยิบระยับ ได้เห็นป้าน้อยเชื่อว่าปลัดขิกช่วยให้กิจการของเธอรุ่งเรือง เป็นต้น

ภาพยนตร์เรื่องนี้ จึงเป็นเปรียบเหมือนกระจกเงาที่ส่องสะท้อนสังคมไทยในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ทั้งยังทำให้เราได้เห็นรูปแบบใหม่ๆของภาพยนตร์ ต่างกับที่เราคุ้นเคย หรือที่เรียกว่า หนังสูตรสำเร็จ แบบที่ไม่ต้องคิดต่อยอดอะไรมาก สัตว์ประหลาด จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้รักการดูหนัง นอกจากภาพยนตร์เรื่องนี้จะฉีกแนวสร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้ชมแล้ว หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้จบลง ดิฉันมั่นใจว่า พวกท่านจะได้เห็นชีวิตในแง่มุมต่างๆที่หลากหลายขึ้น