วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

Shine ชายผู้ส่องแสงเปล่งประกาย


นพวรรณ



เดวิด เฮลฟ์ก็อทท์ (David Helfgott) เด็กชายผู้มีพรสวรรค์ทางด้านดนตรี ซึ่งไม่เคยได้สัมผัสกับความสนุกสนานเหมือนกับเด็กคนอื่นๆในวัยเดียวกัน แต่กลับต้องมาคร่ำเคร่งอยู่กับการฝึกซ้อมเปียโนและเข้ารับการแข่งขันต่างๆ จนวันหนึ่งเขาชนะการแข่งขันและได้รับทุนไปเรียนดนตรีที่อเมริกา แต่พ่อเขากลับไม่ยอมให้ไป ด้วยเหตุผลที่ว่าเขาจะไม่ยอมให้ใครมาทำลายครอบครัวของเขาได้ เดวิดจึงต้องกลับมาใช้ชีวิตแบบเดิมๆ โดยมี แคทเธอรีน พริทชาร์ด นักเขียนหญิงสูงวัยเป็นที่พึ่งทางใจ เธอคนนี้ทำให้เขาเข้มแข็งและกล้าที่จะทำตามที่ใจตัวเองต้องการ ทำให้เขาตัดสินใจไปเรียนดนตรีที่อังกฤษจากทุนที่เขาได้รับเป็นครั้งที่สอง พ่อของเขาประกาศตัดพ่อตัดลูกนับแต่นั้น


ที่อังกฤษ เดวิดเริ่มมีพฤติกรรมที่หมกมุ่นแต่เรื่องการเล่นเปียโน เขาสนใจดูแลตัวเองน้อยลง และทุ่มเทให้กับการฝึกฝนเพลงของแร็คแมนีนอฟ ซึ่งถือเป็นบททดสอบที่ยากที่สุดของความเป็นเลิศด้านเปียโน แต่เมื่อจบการแสดง เขาล้มลงหมดสติอยู่บนเวที และถูกนำตัวเข้ารับการรักษา เขากลายเป็นคนป่วยทางจิตและต้องพักรักษาตัวนานเกือบ 20 ปี แม้เขาจะมีสภาพที่ไม่เหมือนเดิม แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเหมือนเดิมคือเขายังคงเป็นอัจฉริยะทางด้านเปียโน ต่อมาเขาได้พบกับกิลเลียน ซึ่งเธอได้เห็นความน่ารัก ความร่าเริง อารมณ์ดีและความสามารถทางดนตรีของเขาจนเกิดความประทับใจและแปรเปลี่ยนมาเป็นความรักและเขาทั้งคู่ก็แต่งงานกัน ท้ายที่สุดเขาได้กลับมาเล่นเปียโนอีกครั้งและได้รับเสียงชื่นชมจากผู้ชมอย่างท่วมท้นท่ามกลางความยินดีของครอบครัวที่ปราศจาก “พ่อ” ของเขา

เรื่องนี้เปิดฉากในคืนที่ฝนตก ชายวัยกลางคนคนหนึ่ง วิ่งไปตามถนนท่ามกลางสายฝน และไปหยุดอยู่หน้าร้าน “โมบาย” สายตาของเขาจับจ้องอยู่ที่เปียโนในร้าน และเมื่อมีคนมาเปิดประตูให้ เขาก็เริ่มพูดเร็วจนแทบจับใจความไม่ได้ เปลี่ยนเรื่องไปมาอย่างรวดเร็วและพูดไม่หยุด เห็นได้ว่าเป็นอาการของคนที่ไม่ปกติ และจากนั้นเรื่องก็เล่าย้อนไปถึงชีวิตในวัยเด็กของเดวิด ซึ่งถูกพ่อฝึกเปียโนให้อย่างหนักเพื่อจะให้เขาชนะในการแข่งขันต่างๆ โดยไม่สนใจว่าเพลงที่ฝึกให้จะยากเกินไปสำหรับเด็กอย่างเดวิดหรือไม่

เดวิดเติบโตขึ้นมาโดยถูกพ่อตัดสินใจและจัดการให้ทุกเรื่อง ทำให้เขาสับสน ไม่รู้ว่าอะไรถูกหรืออะไรผิดเพราะพ่อจัดการให้ทุกอย่าง ทำให้เขากลายเป็นคนขาดความมั่นใจเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้คน และด้วยความรักที่มากจนเกินไปของพ่อแต่เป็นความรักแบบไม่มีเหตุผลและใจแคบ จึงกลายเป็นสิ่งที่สร้างความกดดันให้เดวิด เขาต้องเติบโตขึ้นมาอย่างเงียบเหงาและโดดเดี่ยว โดยที่พ่อของเขาอ้างความรักในการดูแลครอบครัวแบบเผด็จการ บางครั้งมีการใช้กำลังอย่างรุนแรง ตลอดจนยัดเยียดความต้องการของตนเองให้กับลูก นั่นเป็นเพราะเกิดจากความกดดันที่เขาเคยได้รับในวัยเด็กที่เคยอยากเรียนดนตรี จึงเก็บออมเงินจนสามารถซื้อไวโอลินเองได้ แต่กลับโดนพ่อทุบทิ้ง เขาจึงใช้เดวิดเป็นตัวแทนของตนในวัยเด็ก นำความฝันที่ไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากพ่อมาไว้ที่เดวิด โดยการพร่ำสอนเดวิดเสมอว่า "ลูกต้องชนะ"
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเรื่องที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์โดยเดวิดและพ่อของเขามีความคิดเห็นและมุมมองที่ไม่ตรงกัน เดวิดอยากจะไปเรียนดนตรีที่สหรัฐอเมริกา ในขณะที่พ่อกลับคัดค้านไม่ยอมให้ไป ด้วยเหตุผลที่เขารักครอบครัวของเขามากและต้องการให้ทุกคนอยู่พร้อมหน้ากัน ซึ่งเป็นทัศนคติและจิตใจที่คับแคบของเขา เขาประกาศว่าจะไม่ยอมให้ใครมาทำลายครอบครัวของเขาได้ เป็นเหตุให้เขาคัดค้านและกีดกันไม่ให้เดวิดไปอเมริกา
เดวิดต้องผิดหวังและเสียใจอีกครั้ง เมื่อเขาได้รับทุนไปเรียนดนตรีที่อังกฤษ แต่ครั้งนี้พ่อก็ยังคงไม่ให้เขาไปอยู่ดี เหตุการณ์ในตอนนี้ได้นำไปสู่จุดวิกฤติของเรื่อง ความต้องการและความฝันที่จะไปของเขา ทำให้เขาต่อต้านผู้เป็นพ่อโดยยืนกรานจะไปให้ได้ พ่อโกรธมากจนลงมือทุบตีเขาอย่างรุนแรงสุดท้ายเขาก็เลือกที่จะทำตามความฝันของเขา เขากล้าหาญและเข้มแข็งขึ้นหลังจากที่ได้ยายพริทชาร์ดเป็นที่พักพิงทางใจและยังได้คิดจากคำพูดของยายพริทชาร์ดที่ว่า “พ่อหยุดยั้งเธอไม่ได้เดวิด” ทำให้เขากล้าที่จะต่อต้านโดยไม่ฟังคำคัดค้านของพ่อ เป็นเหตุให้เขาถูกตัดพ่อตัดลูกนับแต่นั้น

เรื่องราวดำเนินมาจนถึงตอนที่เดวิดต้องขึ้นเล่นเพลงที่ถือว่ายากที่สุด นั่นคือเพลงของแร็คแมนีนอฟ เพลงที่เต็มด้วยอารมณ์และความรู้สึกมากมายที่แสนจะสับสน ทั้งท่วงทำนองที่หนักหน่วงและแสนเศร้า แต่เดวิดก็เข้าถึงอารมณ์ของเพลงนี้ได้ แต่เมื่อเขาเล่นไปจนใกล้จะจบเพลง อาการเคร่งเครียดและเหน็ดเหนื่อยอย่างมากของเขาได้แสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจน และในตอนนี้เองที่เป็นการนำเข้าสู่จุดไคลแม็กซ์ของเรื่อง เขาล้มลงหมดสติบนเวทีหลังจากบรรเลงเพลงจบ
หลังจากนั้นเขาได้กลายเป็นผู้ป่วยทางจิต มีความคิดที่รวดเร็ว ไม่ปะติดปะต่อ พูดเร็วและมีการพูดคนเดียว อีกทั้งยังคงคิดถึงเรื่องราวในอดีตว่าตนเองทำผิดจึงเป็นสาเหตุให้เกิดเรื่องเลวร้ายขึ้น การแสดงพฤติกรรมที่ไม่ปกติ เช่น ถอดเสื้อผ้า ไม่รักษาสุขภาพตัวเอง เล่นสนุกสนานตามที่ใจตัวเองต้องการ เหมือนจะเป็นการทดแทนสิ่งที่เขาไม่เคยได้ทำในวัยเด็ก

ด้วยความรักและความเข้าใจจากกิลเลียนและครอบครัว ทำให้เดวิดสามารถหวนกลับมาเล่นเปียโนและสามารถสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ฟังได้อีกครั้ง ฉากปิดเรื่องของหนังเรื่องนี้จบลงที่เดวิดและกิลเลียนไปที่หลุมศพของปีเตอร์ (พ่อของเดวิด) เขาเสียชีวิตไปโดยที่ไม่ทันได้เห็นความสำเร็จของลูกของเขา และในวันนี้เดวิดมีความสุขอยู่กับผู้หญิงที่รักเขาและเขาก็รักเธอมากเช่นกัน เขามีความสุขอยู่กับการเล่นเปียโนและการใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่ค่อยได้มีในช่วงอดีตที่ผ่านมา

หลังจากดูหนังเรื่องนี้จบ ทำให้ได้แง่คิดในเรื่องของ “ความรัก” ความรักซึ่งถือเป็นสิ่งที่สวยงาม แต่กลับกลายเป็นโทษ เมื่อผู้ที่มอบความรักนั้นใช้ความรักในแบบที่ผิด ความรักที่เห็นแก่ตัวจะทำให้ทุกอย่างเลวร้าย แล้วผลสุดท้ายก็ไม่มีใครมีความสุขจากความรักนั้น ปีเตอร์ให้ความรักแก่เดวิดด้วยจิตใจที่คับแคบและยัดเยียดในสิ่งที่ตนเองไม่เคยได้รับในวัยเด็กให้กับเดวิด โดยไม่เคยถามความต้องการของลูกเลย อีกทั้งยังใช้อารมณ์และบางครั้งมีใช้กำลังที่รุนแรง ทำให้สุดท้ายเดวิดก็รับไม่ไหว เขาจึงกลายเป็นคนป่วยทางจิต

พรสวรรค์และความสามารถของแต่ละคน เป็นสิ่งที่จะติดตัวคนทุกคนไปตลอด ไม่ว่าคนๆนั้นจะมีสภาพเปลี่ยนไปเช่นไร ถึงแม้ในวันที่เดวิดไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่เขายังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนก็คือการที่เขาสามารถทำให้ผู้ฟังประทับใจได้ทุกครั้งที่เขาพรมนิ้วลงบนเปียโน เหมือนกับว่า “เปียโน” ได้กลายเป็นสิ่งที่อยู่ในจิตวิญญาณของเขาไปแล้ว

หนังเรื่องนี้นำเสนอภาพของผู้ป่วยทางจิตที่สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้อย่างปกติสุขและไม่มีพิษภัย “ความรักแท้” ที่หวังดีอย่างจริงใจและความเข้าใจ จะสามารถเยียวยาให้เขามีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข สุดท้ายเขาก็ “เปล่งประกายสดใส” อย่างเต็มภาคภูมิได้อีกครั้ง

หนังเรื่องนี้ดึงเอาอารมณ์จากเหตุการณ์ต่างๆในเรื่องออกมาได้อย่างดีและน่าประทับใจอย่างมาก นักแสดงนำทั้งที่รับบทเป็นเดวิดตอนช่วงวัยรุ่นและวัยกลางคน ถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกออกมาได้อย่างดีเยี่ยม เป็นหนึ่งในหนังดีอีกเรื่องที่เมื่อดูจบแล้ว รู้สึกประทับใจอย่างมาก สำหรับทุกคนที่ชอบดูหนัง นี่เป็นหนังดีอีกหนึ่งเรื่องที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง

Shine


ปองกานต์



ภาพยนตร์ที่สร้างจากชีวิตจริงของเดวิด เฮลก็อต นักเปียโนที่ป่วยเป็นโรคจิตเพราะความกดดันจากพ่อตั้งแต่เด็ก เขาถูกตี ถูกด่าว่าสลับกับการกอดและคำปลอบโยนจากพ่อ นั่นยิ่งทำให้เขาสับสนมากขึ้น จากการเคี่ยวเข็ญของพ่อทำให้เขาสามารถคว้าชัยชนะจากเวทีการแข่งขันมากมาย จนได้รับเชิญให้ไปศึกษาต่อที่อเมริกา แต่กลับถูกพ่อปฏิเสธ


เขาได้พบกับนักเขียนหญิงชื่อดังชาวรัสเซียคนหนึ่ง และพวกเขาก็สนิทสนมกันในเวลาต่อมา เขามักจะไปเล่นดนตรีให้เธอฟังและระบายความในใจอยู่เสมอ เธอเองก็รักและเอ็นดูเขาเสมือนลูกชาย ทั้งสองจึงเป็นสิ่งเติมเต็มให้แก่กันและกัน เธอได้มอบความเชื่อมั่นให้เดวิดตัดสินใจไปเรียนต่อที่อังกฤษตามคำเชิญครั้งที่ 2 โดยไม่ฟังคำทัดทานจากพ่อ ทำให้เขาถูกตัดขาดจากครอบครัว

ต่อมาเขาก็ต้องเสียใจอย่างมากเมื่อได้รับข่าวการจากไปของนักเขียนที่เคารพ ซึ่งเป็นเพียงผู้เดียวที่ติดต่อกับเขาตลอดหลังจากมาศึกษาที่อเมริกา ขณะที่ศึกษาเขาฝึกซ้อมเปียโนอย่างหนัก จนสามารถบรรเลงบทเพลงคอนแชร์โต หมายเลข 3 ของโรมานินอฟได้สมใจพ่อ เขาชนะการแข่งขัน แต่หลังจากที่เพลงจบเขาก็หมดสติลง
เขาถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลและได้พบกับครอบครัวอีกครั้ง แต่ก็ยังคงไม่ได้รับการยอมรับจากผู้เป็นพ่อ ต่อมาเขาได้พบกับกิลเลี่ยนซึ่งเป็นนักดูดวง หลังจากที่ทั้งคู่ใช้เวลาอยู่ด้วยกัน กิลเลี่ยนก็มองเห็นความน่ารัก ความสามารถ และจิตใจที่งดงามของเขา จนในที่สุดเดวิดก็ขอเธอแต่งงาน ด้วยความรักจากกิลเลี่ยนและครอบครัว ทำให้เขากลับมาเล่นเปียโนได้อย่างน่าประทับใจอีกครั้ง

การเปิดเรื่องด้วยจุดสงสัย สร้างความน่าสนใจได้ไม่น้อยเลยทีเดียวสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ชายวัยกลางคนผู้หนึ่งไปหยุดยืนที่ร้านอาหารซึ่งปิดบริการแล้ว เขาจ้องมองที่เปียโนหลังหนึ่งในร้านพลางเคาะกระจกร้องเรียกคนข้างใน ท่าทางแปลกๆและคำพูดที่จับใจความไม่ได้ ทำให้สงสัยว่า “ทำไมเขาต้องทำอย่งนั้น” “เปียโนสำคัญอย่างไร” การนำเสนอในลักษณะนี้ทำให้เรื่องดูน่าติดตามขึ้นมาทันที

ต่อมาเรื่องราวจึงเริ่มดำเนินขึ้นโดยการเล่าย้อนไปในอดีตของชายผู้นั้น เดวิด เฮลก็อต เกือบจะทุกรายละเอียดในแต่ละฉาก มีความหมายโดยนัยแฝงไว้ตลอดทั้งเรื่อง การเล่าเรื่องจึงมิได้หยุดอยู่เพียงแค่ตัวละครเท่านั้น แต่อยู่ในทุกรายละเอียดของเรื่อง ตั้งแต่ฉาก บรรยากาศ เวลา เป็นต้น เหล่านี้ล้วนแสดงความหมายได้แจ่มชัดยิ่งกว่าการดำเนินเรื่องผ่านตัวละครเสียอีก

บ้านหลังไม่ใหญ่นัก ภายในค่อนข้างมืด บ่งบอกชัดเจนว่าบรรยากาศของที่นี่เต็มไปด้วยความกดดัน อึมครึมและไม่น่าอยู่ จึงไม่น่าจะเป็นครอบครัวที่มีความสุข รั้วบ้านที่เคยมีช่องเล็กๆก็ถูกปิดตายในเวลาต่อมา ตอกย้ำความคับแคบของความคิดจิตใจ แต่ละฉากที่ผ่านไปยิ่งทำให้เข้าใจตัวละครมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปีเตอร์ เฮลก็อต เดวิด เฮลก็อต แม่ พี่สาวและน้องสาว ทุกคนชีวิตด้วยความกดดัน และเป็นสิ่งที่เกิดจากภายในบ้านทั้งสิ้น ภาพความเกรี้ยวกราดสลับกับความอ่อนโยนของปีเตอร์ แสดงถึงความสับสนภายในใจของเขาเอง สัญลักษณ์ในแต่ละฉาก เช่น ตอนที่เดวิดอยู่ในอ่างน้ำที่เต็มไปด้วยของเสียจากภายในร่างกาย หยดน้ำจากก๊อก ยิ่งทำให้

เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครได้เป็นอย่างดี เป็นต้น

ความทุ่มเทให้กับดนตรีเป็นจิตวิญญาณทางดนตรีที่ชัดเจนของเดวิด หรืออาจเป็นเพราะความกดดันจากพ่อก็เป็นได้ ที่สุดแล้วแม้เขาจะประสบความสำเร็จ แต่กลับไม่ได้รับสิ่งที่รอคอยมาตลอดคือการยอมรับและรอยยิ้มจากพ่อ ซ้ำร้ายเขายังต้องไปรักษาอาการทางจิตที่โรงพยาบาล ชีวิตก็ย่ำแย่ลงถึงขั้นตกต่ำ ให้สัจธรรมของชีวิตว่าไม่มีอะไรแน่นอน เช่นเดียวกัน ในที่สุดเขาก็ได้พบรักแท้ ทำให้เขาหลุดจากวังวนแห่งความพร่ำเพ้อ ไร้สติ และกลับมาประสบความสำเร็จอีกครั้ง เป็นกานมอบกำลังใจให้กับคนที่ท้อได้คิดและมีสติอีกครั้ง เป็นภาพยนตร์ที่เสียเงินไม่เท่าไร แต่สิ่งที่ได้นั้นคุ้มค่าเสียเหลือเกิน แง่คิด ปรัชญาชีวิตที่ซ่อนอยู่ในจอเงินที่คนดูเองก็อาจคาดไม่ถึง