วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

Shine


ปองกานต์



ภาพยนตร์ที่สร้างจากชีวิตจริงของเดวิด เฮลก็อต นักเปียโนที่ป่วยเป็นโรคจิตเพราะความกดดันจากพ่อตั้งแต่เด็ก เขาถูกตี ถูกด่าว่าสลับกับการกอดและคำปลอบโยนจากพ่อ นั่นยิ่งทำให้เขาสับสนมากขึ้น จากการเคี่ยวเข็ญของพ่อทำให้เขาสามารถคว้าชัยชนะจากเวทีการแข่งขันมากมาย จนได้รับเชิญให้ไปศึกษาต่อที่อเมริกา แต่กลับถูกพ่อปฏิเสธ


เขาได้พบกับนักเขียนหญิงชื่อดังชาวรัสเซียคนหนึ่ง และพวกเขาก็สนิทสนมกันในเวลาต่อมา เขามักจะไปเล่นดนตรีให้เธอฟังและระบายความในใจอยู่เสมอ เธอเองก็รักและเอ็นดูเขาเสมือนลูกชาย ทั้งสองจึงเป็นสิ่งเติมเต็มให้แก่กันและกัน เธอได้มอบความเชื่อมั่นให้เดวิดตัดสินใจไปเรียนต่อที่อังกฤษตามคำเชิญครั้งที่ 2 โดยไม่ฟังคำทัดทานจากพ่อ ทำให้เขาถูกตัดขาดจากครอบครัว

ต่อมาเขาก็ต้องเสียใจอย่างมากเมื่อได้รับข่าวการจากไปของนักเขียนที่เคารพ ซึ่งเป็นเพียงผู้เดียวที่ติดต่อกับเขาตลอดหลังจากมาศึกษาที่อเมริกา ขณะที่ศึกษาเขาฝึกซ้อมเปียโนอย่างหนัก จนสามารถบรรเลงบทเพลงคอนแชร์โต หมายเลข 3 ของโรมานินอฟได้สมใจพ่อ เขาชนะการแข่งขัน แต่หลังจากที่เพลงจบเขาก็หมดสติลง
เขาถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลและได้พบกับครอบครัวอีกครั้ง แต่ก็ยังคงไม่ได้รับการยอมรับจากผู้เป็นพ่อ ต่อมาเขาได้พบกับกิลเลี่ยนซึ่งเป็นนักดูดวง หลังจากที่ทั้งคู่ใช้เวลาอยู่ด้วยกัน กิลเลี่ยนก็มองเห็นความน่ารัก ความสามารถ และจิตใจที่งดงามของเขา จนในที่สุดเดวิดก็ขอเธอแต่งงาน ด้วยความรักจากกิลเลี่ยนและครอบครัว ทำให้เขากลับมาเล่นเปียโนได้อย่างน่าประทับใจอีกครั้ง

การเปิดเรื่องด้วยจุดสงสัย สร้างความน่าสนใจได้ไม่น้อยเลยทีเดียวสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ชายวัยกลางคนผู้หนึ่งไปหยุดยืนที่ร้านอาหารซึ่งปิดบริการแล้ว เขาจ้องมองที่เปียโนหลังหนึ่งในร้านพลางเคาะกระจกร้องเรียกคนข้างใน ท่าทางแปลกๆและคำพูดที่จับใจความไม่ได้ ทำให้สงสัยว่า “ทำไมเขาต้องทำอย่งนั้น” “เปียโนสำคัญอย่างไร” การนำเสนอในลักษณะนี้ทำให้เรื่องดูน่าติดตามขึ้นมาทันที

ต่อมาเรื่องราวจึงเริ่มดำเนินขึ้นโดยการเล่าย้อนไปในอดีตของชายผู้นั้น เดวิด เฮลก็อต เกือบจะทุกรายละเอียดในแต่ละฉาก มีความหมายโดยนัยแฝงไว้ตลอดทั้งเรื่อง การเล่าเรื่องจึงมิได้หยุดอยู่เพียงแค่ตัวละครเท่านั้น แต่อยู่ในทุกรายละเอียดของเรื่อง ตั้งแต่ฉาก บรรยากาศ เวลา เป็นต้น เหล่านี้ล้วนแสดงความหมายได้แจ่มชัดยิ่งกว่าการดำเนินเรื่องผ่านตัวละครเสียอีก

บ้านหลังไม่ใหญ่นัก ภายในค่อนข้างมืด บ่งบอกชัดเจนว่าบรรยากาศของที่นี่เต็มไปด้วยความกดดัน อึมครึมและไม่น่าอยู่ จึงไม่น่าจะเป็นครอบครัวที่มีความสุข รั้วบ้านที่เคยมีช่องเล็กๆก็ถูกปิดตายในเวลาต่อมา ตอกย้ำความคับแคบของความคิดจิตใจ แต่ละฉากที่ผ่านไปยิ่งทำให้เข้าใจตัวละครมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปีเตอร์ เฮลก็อต เดวิด เฮลก็อต แม่ พี่สาวและน้องสาว ทุกคนชีวิตด้วยความกดดัน และเป็นสิ่งที่เกิดจากภายในบ้านทั้งสิ้น ภาพความเกรี้ยวกราดสลับกับความอ่อนโยนของปีเตอร์ แสดงถึงความสับสนภายในใจของเขาเอง สัญลักษณ์ในแต่ละฉาก เช่น ตอนที่เดวิดอยู่ในอ่างน้ำที่เต็มไปด้วยของเสียจากภายในร่างกาย หยดน้ำจากก๊อก ยิ่งทำให้

เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครได้เป็นอย่างดี เป็นต้น

ความทุ่มเทให้กับดนตรีเป็นจิตวิญญาณทางดนตรีที่ชัดเจนของเดวิด หรืออาจเป็นเพราะความกดดันจากพ่อก็เป็นได้ ที่สุดแล้วแม้เขาจะประสบความสำเร็จ แต่กลับไม่ได้รับสิ่งที่รอคอยมาตลอดคือการยอมรับและรอยยิ้มจากพ่อ ซ้ำร้ายเขายังต้องไปรักษาอาการทางจิตที่โรงพยาบาล ชีวิตก็ย่ำแย่ลงถึงขั้นตกต่ำ ให้สัจธรรมของชีวิตว่าไม่มีอะไรแน่นอน เช่นเดียวกัน ในที่สุดเขาก็ได้พบรักแท้ ทำให้เขาหลุดจากวังวนแห่งความพร่ำเพ้อ ไร้สติ และกลับมาประสบความสำเร็จอีกครั้ง เป็นกานมอบกำลังใจให้กับคนที่ท้อได้คิดและมีสติอีกครั้ง เป็นภาพยนตร์ที่เสียเงินไม่เท่าไร แต่สิ่งที่ได้นั้นคุ้มค่าเสียเหลือเกิน แง่คิด ปรัชญาชีวิตที่ซ่อนอยู่ในจอเงินที่คนดูเองก็อาจคาดไม่ถึง

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

บทวิจารณ์นี้ ขึ้นต้นด้วยการเฉลยเรื่องราวทั้งหมด จึงดูไม่น่าจะเชิญชวนเข้าสู่บทวิจารณ์ การวิเคราะห์ก็เน้นที่เหตุการณ์ในเรื่อง ที่น่าสนใจคือการวิจารณ์บ้านของเดวิดซึ่งน่าจะทำให้ละเอียดกว่านี้ได้ แต่ก็ต้องของชมเชยไว้ตรงนี้ พยายามต่อไปนะ