วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

รักแห่งสยาม


มนตรี รัศมี ๐๕๔๙๐๓๐๓


คงจะไม่มีใครปฏิเสธว่า ไม่รู้จักภาพยนตร์รักแห่งสยาม ซึ่งเป็นเรื่องที่มีกระแสความดัง ตั้งแต่ยังไม่เข้าฉาย คนส่วนใหญ่เมื่อดูตัวอย่างของภาพยนตร์ เข้าใจว่าเป็นเพียงความรักของวัยรุ่นชายหญิงธรรมดา หากเมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายกลับพลิกความคาดหมายให้แก่ผู้ชมเป็นอย่างมาก จากความรักแบบธรรมดา กลับกลายเป็นความรักของชายกับชาย ที่ใครๆ เรียกกันว่า “เกย์” จนเกิดทั้งกระแสชื่นชมและต่อต้านจากหลายฝ่าย เกิดกระแสความดัง จนหลายๆ คน ต้องเข้าไปดูในโรง หากสุดท้าย ภาพยตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลมากมาย จากหลายสาขา ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2550 บทภาพยนตร์และกำกับการแสดงโดย มะเดี่ยว ชูศักดิ์ ศักดิ์วีระกุล สังกัดค่ายสหมงคลฟิล์ม

ภาพยนตร์เรื่องรักแห่งสยาม เป็นเรื่องของ “มิว” เด็กชายคนหนึ่ง เขาต้องอยู่เป็นเพื่อนอาม่าที่กรุงเทพมหานคร แทนการไปอยู่กับพ่อและแม่เลี้ยงที่ระยอง ส่วนอีกครอบครัวหนึ่ง เป็นครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ ประกอบไปด้วย พ่อ แม่ ลูก คือ “กร” “สุนีย์” “แตง” และ “โต้ง” มิวและโต้ง อยู่โรงเรียนเดียวกัน โต้งมักจะช่วยเหลือมิว จากการถูกรังแกอยู่เสมอ


จนวันหนึ่ง เมื่อครอบครัวของโต้ง เดินทางไปเที่ยวเชียงใหม่ ปรากฏว่า หลังจากแตงขอไปเที่ยวกับเพื่อนต่อ แตงหลงป่าหายไป จากครอบครัวที่สมบูรณ์ กลับกลายเป็นว่า กรโทษตัวเองว่าทำให้แตงหายไป ทั้งหมดแก้ปัญหาโดยการย้ายบ้าน เพื่อจะได้ไม่ต้องมาพบเจอสภาพแวดล้อมเดิมๆ อีก จนเวลาผ่านไป สุนีย์ต้องเป็นคนประคับประคองครอบครัวแทน


โต้งกับมิว กลับมาเจอกันอีกครั้งที่ “สยาม” สถานนัดพบของวัยรุ่นใจกลางเมือง มิวเป็นนักร้องนำ “วงออกัส” ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่น โดยมี “จูน” เป็นผู้จัดการวง มิวและโต้งพบกัน เมื่อโต้งมาถามหาแผ่นเพลงของวงออกัส มิวจึงเสนอจะนำแผ่นเพลงนั้นมาให้เอง
มิวต้องแต่ง “เพลงรัก” เพื่อสนองตลาดในปัจจุบัน แต่เขาไม่สามารถเขียนได้ จน “หญิง” เพื่อนข้างบ้านเสนอจะเป็นแฟนด้วย มิวปฏิเสธ และได้ความคิดดีๆ จากคำพูดของหญิง จนเขาสามารถแต่งเพลงรักออกมาได้เพราะนึกถึงโต้ง ฝ่ายโต้งซึ่งกำลังคบกับ “โดนัท” แฟนสาวต่างโรงเรียน มีเรื่องทะเลาะกัน อีกทั้งในครอบครัวของเขา กรก็เอาแต่กินเหล้า และยังคงจมปรักอยู่กับปัญหาเก่าๆ


การพบเจอระหว่างโต้งกับจูน ทำให้ทั้งมิวและโต้งนึกถึงแตง พี่สาวของโต้ง มิวเล่าเรื่องที่หลังจากโต้งย้ายบ้านไป ไม่กี่ปีต่อมาอาม่าก็เสียไป มิวต้องอยู่กับความเหงามาโดยตลอด และกับโต้ง จากการเป็นเพื่อน ความผูกพัน กลับกลายเป็นความรักในที่สุด


สุนีย์และโต้ง ตัดสินใจแก้ปัญหาของกร โดยให้จูน ซึ่งทั้งหมดลงความเห็นว่าเหมือนแตงมาก เป็นคนเข้ามาดูแลกร และงานจัดเลี้ยงเพื่อรับแตงกลับบ้าน ทำให้สุนีย์เห็นว่าความสัมพันธ์ของมิวกับโต้ง ว่าไม่ใช่แค่เพื่อนธรรมดา สุนีย์จึงคุยกับมิวให้เลิกคิดกับลูกชายของตนแบบคนรักเสีย ฝ่ายหญิงซึ่งแอบรักมิวอยู่ เมื่อรู้เข้าโดยบังเอิญก็เสียใจเป็นอย่างมาก มิวเสียใจที่สุนีย์มาคุยเรื่องนี้ ทำให้เขาไม่รับโทรศัพท์โต้ง ไม่มีอารมณ์ร้องเพลง จนวงออกัสกำลังจะต้องหานักร้องใหม่ โต้งทะเลาะกับแม่ จนไปลงกับหญิง และในที่สุดโต้งที่สับสนกับความรู้สึกของตัวเองว่าเป็นผู้ชายปกติ หรือว่าเป็นเกย์ ก็ได้หญิงคอยปลอบ กรอาการหนักขึ้นจากพิษสุรา และจูนก็กลับเชียงใหม่ไป สุนีย์ก็กำลังสงสัยว่าจูนคือแตง


มิว หลังจากที่ตัดสินใจว่าจะเลิกร้องเพลง เพราะไม่สามารถร้องเพลงรักที่ตนแต่งให้กับโต้งได้แล้ว แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจขึ้นคอนเสิร์ตในวันคริสมาสต์ที่สยาม เพราะคิดว่าควรจะทำเพื่อคนอื่นมากว่า การเอาแต่ยึดเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง


ฝ่ายโต้งตัดสินใจเลิกกับโดนัท และรับวิ่งมาดูมิวที่เวทีคอนเสิร์ต โดยมีหญิงเป็นคนคอยให้กำลังใจและจูงมือโต้งให้เดินไปหามิว แต่ตัวเองกลับถอยออกไป สุดท้ายโต้งบอกมิวว่าเขาไม่สามารถคบเป็นแฟนกับมิวได้ แต่เขาก็ยังรักมิว


ส่วนกรและสุนีย์เข้าใจทุกอย่างที่จูนได้บอกไว้ ความรักที่สูญหายไปจากครอบครัวนี้จึงกลับมาอีกครั้ง

เปิดเรื่องโดย “มิว” กำลังไม่พอใจที่พ่อของตนไม่พาไปอยู่ที่ระยองกับพ่อและแม่เลี้ยงด้วย จนกลายเป็นเรื่องทะเลาะกับอาม่า

ฉากในเรื่อง สถานที่แรกที่ถ่ายให้เห็นคือ บ้านของมิว และบ้านของโต้ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสังคมแบบเก่า ที่อยู่กันด้วยความผูกพันอย่างญาติพี่น้อง มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน เป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน จนกลายเป็นบ้านใหม่ของโต้ง ที่มีความทันสมัยมากขึ้น เพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไป หากความทันสมัยมิได้แปรผันตามความอบอุ่นของคนในครอบครัว จนสุดท้าย สถานที่สำคัญของเรื่อง คือ “สยาม” สถานที่เที่ยวของวัยรุ่นในปัจจุบัน ที่เป็นทั้งศูนย์การค้า ที่เรียนพิเศษ สถานที่นัดพบ กับเพื่อน หรือแฟน เป็นสถานที่สำคัญสำหรับวัยรุ่นอย่างแท้จริง

บรรยากาศในเรื่องก็มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความรู้สึกของตัวละคร เช่น ในตอนที่ตัวละครรู้สึกเศร้า เหงา ทั้งแสงและเสียง ในเรื่องก็จะให้ความรู้สึกที่ชัดเจนกับตัวละคร หรือเวลาที่ตัวละครรู้สึกมีความสุข แสงหรือเสียงก็ทำให้เราผู้ชมรู้สึกได้มากขึ้น เวลาในเรื่องก็ทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวละคร ทั้งร่างกาย ความรู้สึกของตัวละคร ซึ่งเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นตามกาลเวลาที่ผ่านไป เช่น มิว ที่สามารถอยู่คนเดียวได้ ถึงแม้จะเหงาเพียงใดก็ตาม หรือ ความรู้สึกกดดันมากขึ้นจากภาระต่างๆ เช่น สุนีย์ ที่ต้องดูแลครอบครัวด้วยตัวเอง เป็นต้น

ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ เช่น ตอนนี้สุนีย์เห็นการกระทำระหว่างลูกชายของตนกับมิว จึงเกิดความไม่พอใจ ไม่ต้องการให้มิวมาทำลายครอบครัวของตนอีก จึงเดินทางเพื่อไปคุยกับมิวถึงเรื่องนี้ มิวปฏิเสธว่าตนกับโต้งเป็นแค่เพื่อนกัน แต่สุนีย์ที่เห็นกับตาไม่เชื่อ สุนีย์จึงขอร้องให้เลิกยุ่งกับโต้ง หรือ ตอนหลังจากนั้น ที่โต้งรู้ความจริงว่า สุนีย์ไปหามิว ก็รู้สึกโกรธ เกิดการถกเถียงกันระหว่างสุนีย์และโต้ง หรือ การที่สุนีย์พาลไปว่าจูน เมื่อโดนจูนต่อว่า แต่สุนีย์กลับบอกว่าอย่ายุ่งเรื่องในครอบครัวของคนอื่น


ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับจิตใจตนเอง เช่น ตอนที่โต้ง โดนถูกเพื่อนถามว่าเป็นเกย์หรือไม่ และกำลังสับสนว่าตนเป็นอย่างไรกันแน่ ถ้าตัวเองรักมิว ตัวเองก็ต้องเป็นเกย์ แต่ถามว่าไม่รักก็ไม่ใช่ โต้งโมโหคิดว่าเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น เพราะว่าหญิงเป็นคนบอกเพื่อนๆ จนเกิดไปลวนลามหญิงเพราะจะให้หญิงพิสูจน์ เพราะหาว่าเขาเป็นเกย์ สุดท้ายคนที่คอยนั่งปลอบโต้งให้สงบลงคือหญิงเอง หรือ ตอนที่มิว โต้งเกิดความไม่แน่ใจว่า สิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ มันแปลก หรือมันไม่เหมือนคนทั่วไปอย่างไร เลยไปถามโต้ง หากโต้งก็ตอบว่าไม่ มิวก็ดูเหมื่อนคนอื่น


ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสังคม เช่น ตอนที่มิวถูกเอ็กซ์ เพื่อนของตัวเองแกล้งบอกเพื่อนๆ ว่า มิวแอบสอดลิ้นเข้าไปในปากเอ็กซ์ ในขณะที่กำลังสอบการทำ CPR กันอยู่ ทำให้เพื่อนๆ หัวเราะ และพากันแซวเสียงดัง ทำให้มิวรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมือนคนอื่น จนพาลโมโหทั้งตัวต้นเหตุและโมโหเพื่อนๆ คนอื่นไปด้วยที่ไม่เข้าใจเขา

ตัวละครเป็นส่วนหนึ่งในภาพยนตร์รักแห่งสยามที่มีความสำคัญมาก ถือได้ว่าตัวละครมีบทบาทอย่างยิ่งในการดำเนินเรื่อง รวมถึงพัฒนาการของตัวละคร ซึ่งช่วยทำให้ผู้ชม เข้าใจของการกระทำของตัวละครมากขึ้นด้วย


มิว เด็กชายผู้ซึ่งอยู่กับความเหงา มีดนตรีเป็นเพื่อนมาตั้งแต่ยังเด็ก ในตอนแรกเขาอาจจะอยู่กับอาม่า ได้รับความรักความอบอุ่นจากอาม่าแม้เพียงคนเดียว แต่ก็เพียงพอแล้วสำหรับเด็กผู้ชายคนหนึ่ง หากเมื่ออาม่าเสียชีวิตไป เขาก็ต้องอยู่คนเดียวอย่างโดดเดี่ยวในบ้านหลังเดิม จนเมื่อเจอโต้ง ความสดใส มีชีวิตชีวาของมิวที่หายไปก็กลับมาอีกครั้ง

สุนีย์ แม่ผู้รับบทหนักทั้งในการดูแลครอบครัว ในตอนแรกสุนีย์จะเป็นคนที่สดใส เห็นได้จากรอยยิ้มที่มีอยู่เสมอ แต่ในตอนหลัง เมื่อครอบครัวประสบปัญหา จูนหายตัวไป กรติดเหล้า สุนีย์ต้องเป็นผู้ประคับประคองครอบครัวให้อยู่รอด ใบหน้าที่เคยยิ้มแย้มก็เศร้าหมอง อมทุกข์ มีเรื่องให้คิดมาก การแต่งตัวก็อยู่ในลักษณะทึบ สีเข้ม เช่น สีดำ สีน้ำเงินเข้ม เป็นต้น

โต้ง ลูกชายคนเดียวของสุนีย์ และกร หลังจากจูนหายตัวไป โต้งจึงได้รับความคาดหวังจากสุนีย์เป็นอย่างมาก เพราะครอบครัวนี้เสียกร หัวหน้าครอบครัวไปแล้ว กลายเป็นคนที่จมปรักอยู่อดีต กินแต่เหล้า และเสียจูน ไปจากการหลงป่านั่นเอง โต้งมีความเป็นตัวของตัวเองสูง หากแต่มีเหตุผลในแบบของตัวเอง เชื่อมั่นในการกระทำต่างๆ หากก็เป็นคนไม่มีความมั่นใจในตัวเอง จนเกิดความสับสนในตอนกลางของเรื่อง


แตง หญิงสาวผู้ปรากฏตัวขึ้นพร้อมกับความสงสัยของทั้งสุนีย์ โต้ง มิว เป็นผู้เข้ามาทำให้กรมีกำลังใจมากขึ้น มาคอยดูแลให้ทานข้าวและทานยา ทำให้กรรู้สึกดีขึ้น เพราะคิดว่าแตงคือจูน ลูกสาวของตนที่หายไป นอกจากนั้น จูนยังเข้ามาทำให้ครอบครัวนี้ดีขึ้น มาเตือนสติทั้งสุนีย์ กร และโต้ง ให้ใช้ความรักที่มีให้กันให้ถูกให้ควร ไม่ใช่สักแต่ว่ารักอย่างเดียว

จากภาพยนตร์รักแห่งสยาม ทำให้เห็นว่า ความรักเป็นสิ่งสวยงาม เกิดได้กับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา ความรักไม่ได้เกิดแค่กับ คนรักฉันชู้สาว แต่เกิดได้ทั้งในครอบครัว เกิดได้กับพ่อแม่ พี่น้อง เครือญาติ ความรักจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนใฝ่หา และต้องการรักษาไว้ให้อยู่กับตัวให้นานที่สุด

สำหรับภาพยนตร์เรื่อง “รักแห่งสยาม” เป็นภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ที่ข้าพเจ้ารู้สึกชื่นชอบเป็นอย่างมาก นักแสดงสามารถแสดงได้เป็นธรรมชาติ เนื้อเรื่องเน้นเรื่องของความรักหลากหลายรูปแบบ และที่ได้รับความสนใจ ก็คงหนีไม่พ้นประเด็นเรื่องเพศที่สาม ซึ่งเรื่องนี้ สามารถนำเสนอเฉกเช่นเป็นเรื่องธรรมดา คือ เป็นแค่เด็กผู้ชายคนหนึ่งที่มีรสนิยมทางเพศแบบหนึ่งเท่านั้น หากจริงๆ ภาพยนตร์เรื่องนี้มิได้เน้นความรักแบบนี้ มันเป็นเพียงแค่ ส่วนหนึ่งของในรูปแบบของความรักเท่านั้นเอง

รูปแบบของความรักในเรื่องมีหลากหลายแง่มุม เช่น ความรักของคนในครอบครัว ความรักแบบเพื่อน ความรักแบบคนรัก เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้ ส่งผ่านตัวละครที่มีความแตกต่างทางวุฒิภาวะ อีกทั้งในเรื่องยังได้แสดงแง่มุม ข้อคิดต่างๆ สอดแทรกให้ผู้อ่านได้คิดและร่วมอภิปราย มีประเด็นต่างๆ ให้ได้ถกเถียงและสงสัยกันต่อ


เมื่อดูภาพยนตร์จบแล้ว
เราจึงพบได้ว่า หัวใจของเรื่องนี้ คือ “ความรัก” ที่เกิดได้ในทุกคน ทุกวัย และ ทุกเพศ อย่างคำกล่าวที่ว่า “ความรักไม่มีเพศ เราต่างหากที่ไปกำหนดเพศให้มัน”