วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2551

Shine...ขอเพียงก้าวไปตามใจฝัน

กุลธิดา


“ Shine ขอเพียงก้าวไปตามใจฝัน ” ภาพยนตร์สัญชาติออสเตรเลีย แนวดราม่า ผลงานการกำกับของ Scott Hicks ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อ ปี 1966 โดยอ้างอิงและดัดแปลงจากชีวิตจริงของ David Helfgott นักเปียโนอัจฉริยะชาวออสเตรเลียที่มีอาการผิดปกติทางจิต ซึ่งได้นักแสดงนำฝีมือดีอย่าง Noah Taylor มารับบทเดวิดตอนวัยรุ่น Geoffrey Ruch รับบทเป็นเดวิดตอนแก่ และ Armin Mueller-Stahl รับบท ปีเตอร์ พ่อของเดวิด






ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลอะคาเดมี อวอร์ดส์ ประจำปี1997 สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมโดย Geoffrey Ruch ผู้รับบทเป็นเดวิดตอนแก่และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม ตัดต่อภาพยอดเยี่ยม นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รวม 6 รางวัลด้วยกัน จึงทำให้ชื่อของเดวิด กลายเป็นที่รู้จักและกล่าวขวัญถึงในหลายประเทศ เขาได้เดินทางไปเปิดการแสดงเปียโนยังสถานที่ต่างๆ จากกระแสความนิยมในตัวของเดวิด ทำให้เขาถูกเรียกขานว่าเป็น A Necessary Breath Of Fresh Air







ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เสนอเรื่องราวของ David Helfgott นักเปียโนอัจฉริยะชาวออสเตรเลีย เดวิดเติบโตมาในครอบครัวที่ไม่ค่อยมีฐานะมากนัก พ่อแม่ของเดวิดเป็นชาวยิวจากโปแลนด์ที่อพยพหนีภัยสงครามและการคุกคามของนาซีมาตั้งรกรากในประเทศออสเตรเลีย ในวัยเด็ก เดวิดถูกกดดันจากพ่อให้ฝึกฝนเล่นเปียโนอย่างหนัก พ่อมักย้ำอยู่เสมอว่า ลูกต้องชนะ สิ่งนี้ทำให้เดวิดเล่นเปียโนเพื่อเอาชนะอย่างเดียว พ่อบังคับเดวิดให้เล่นเพลงที่ยากกว่าเด็กวัยอย่างเขาจะเล่นได้ และเป็นคนตัดสินใจแทนเขาในทุกเรื่องเสมอมา จึงทำให้เดวิดกลายเป็นเด็กที่คิดเองไม่เป็นและได้รับความกดดันสูง เวลาต่อมาด้วยความที่เป็นผู้มีพรสวรรค์ทางด้านดนตรี จึงทำให้เขาชนะการแข่งขันมากมาย จนกระทั่งได้รับทุนไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา จากไอแซก สเติร์น นักไวโอลินผู้ยิ่งใหญ่ แต่พ่อของเขาไม่ยอมให้ไปด้วยเหตุผลเพียงว่า หากเขาไปจะทำให้ครอบครัวแตกแยก เขาจึงต้องทิ้งความฝันและเผชิญกับชีวิตที่ไร้จิตวิญญาณต่อไปตามเดิม ในช่วงเวลานั้นเองที่เดวิดได้พบกับนักเขียนชื่อดังชาวออสเตรเลียเชื้อสายรัสเซีย แคทเธอรีน พลิตชาร์ด เดวิดได้ไปเล่นดนตรีให้เธอฟังอยู่บ่อยๆ จนเกิดเป็นความผูกพัน เดวิดได้รับคำปรึกษาและกำลังใจที่ดีจากเธอ เธอจึงเปรียบเสมือนเป็นที่พักพิงทางใจของเขา ทำให้เขามีความเข้มแข็งมากขึ้น และสามารถตัดสินใจเลือกที่จะไปเรียนต่อที่ Royal Music Collage ประเทศอังกฤษ โดยไม่สนใจคำคัดค้านของพ่อ เป็นเหตุให้ถูกตัดพ่อตัดลูก และไม่สามารถกลับมาที่บ้านได้อีก






ระหว่างที่เขาอยู่ที่อังกฤษ การอยู่คนเดียวทำให้เขาเกิดความว้าเหว่ใจ แต่โชคดีเขายังมีแคททอรีนคอยเป็นเพื่อนคุยแก้เหงา และให้คำปรึกษาแก่เขาทางโทรศัพท์อยู่เสมอ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเขาต้องเผชิญกับความโหดร้ายอีกครั้ง เมื่อป้าแคททอรีนที่พึ่งทางใจของเขาได้เสียชีวิตลง และยิ่งไปกว่านั้นเขายังต้องเสียใจเป็นอย่างมาก เมื่อพ่อสุดที่รักของเขาไม่ยอมตอบรับของเขาเลยแม้แต่ฉบับเดียว






ในเวลานั้นเอง เดวิดได้รับการฝึกสอนเปียโนจากอาจารย์ชื่อดังซีซิล พาร์ค ซึ่งทำให้เขาสามารถบรรเลงบทเพลงที่ได้ชื่อว่ายากที่สุด “เปียโน คอนเชอร์โต ราช หมายเลข 3 ของ แร็ชมานินอฟ” (ซึ่งก็คือบทเพลงที่พ่อของเขาบังคับให้เขาเล่นให้ได้ในสมัยก่อนนั่นเอง) ใน Albert Hall ได้สำเร็จ เมื่อการแสดงจบ เขาล้มลงด้วยอาการของคนที่ควบคุมสติไม่ได้ และถูกนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการทางจิตที่ผิดปกติ ในระยะนี้แพทย์ได้สั่งห้ามไม่ให้เขาเล่นเปียโนอีก เพราะอาจจะทำให้อาการทางจิตกำเริบขึ้นอีกครั้ง เขาพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวชเป็นเวลาหลายปี ต่อมาจึงย้ายไปอาศัยอยู่กับเบอริล หญิงวัยกลางคนที่เป็นอาสาสมัครมาเล่นเปียโนให้ผู้ป่วยทางจิตฟัง แต่ด้วยพฤติกรรมที่ผิดปกติของเดวิด ทำให้เบอริลลำบากใจที่จะให้เขาอาศัยร่วมกับเธอต่อไป เธอจึงตัดสินใจพาเขาไปฝากไว้กับมินิน๊อก เพื่อนของเธอในอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง เดวิดหมกมุ่นอยู่กับการเล่นเปียโนในห้องทั้งวันทั้งคืน จนเป็นที่รำคาญของห้องพักใกล้เคียง ในที่สุดมินิน๊อกจึงต้องเข้ามาล็อคเปียโนของเขา เมื่อไม่ได้เล่นเปียโนเขาจึงเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย






อยู่มาวันหนึ่งเขาออกไปข้างนอกและวิ่งไปเรื่อยเปื่อย และมาหยุดจ้องมองเปียโนในร้านอาหารแห่งหนึ่ง และได้พบกับซิลเวีย เพื่อนเก่าของเขาสมัยวัยรุ่น ซิลเวียพาเขามาอยู่ที่บ้านด้วยกัน ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่กิลเลียน โหรทำนายดวงชะตาเพื่อนรักของซิลเวียก็มาเยี่ยมที่บ้านเช่นกัน ทั้งสองรักกัน และได้ตัดสินใจแต่งงานกันอย่างมีความสุข กิลเลียนเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตของเดวิดให้สดใสขึ้น เธอเป็นคู่ชีวิตที่คอยดูแลและให้กำลังใจแก่เขาเสมอมา จนเดวิดสามารถกลับมาเล่นเปียโนได้อีกครั้ง จากนั้นไม่นาน เดวิดได้เปิดการแสดงดนตรีอีกครั้ง เมื่อการแสดงจบ เสียงปรบมือก็ดังกระหึ่มขี้น เขาภาคภูมิใจจนหลั่งน้ำตาออกมาด้วยความปลื้มปีติ




ด้วยความรัก ความเข้าใจที่คนรอบข้างมีให้แก่เขา แสงสว่างในใจของเขาจึงเริ่มเจิดจรัสขึ้นอีกครั้ง...




การเปิดเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มต้นขึ้น ในคืนวันฝนพรำ ชายวัยกลางคนผู้หนึ่ง ซึ่งมีลักษณะท่าทางแปลกๆ พูดกับตัวเองคนเดียว เนื้อหาการพูดนั้นจับใจความไม่ได้ เปลี่ยนเรื่องไปมาอย่างรวดเร็ว กำลังวิ่งอยู่กลางถนน และได้ไปหยุดยืนอยู่ที่หน้าร้านอาหารชื่อ “โมบาย” สายตาของเขาหยุดและจับจ้องอยู่ที่เปียโน ที่ตั้งอยู่ตรงกลางร้านอาหารแห่งนั้น แล้วทำไมเขาจึงต้องหยุดวิ่ง และจ้องมองอยู่ที่เปียโนหลังนั้น นั่นคือประเด็นให้ผู้ชมได้คิดแล้วว่า ชายคนนี้ต้องมีความสัมพันธ์อย่างใดอย่างหนึ่งกับเปียโนอย่างแน่นอน และการที่เขาพูดพึมพำนั้นมันต้องมีความหมายอะไรซ่อนอยู่ แม้ว่าจะฟังไม่ค่อยชัดเจนเท่าไร






เมื่อมาดูถึงการเปิดเรื่องด้วยสายฝน นั่นเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องเป็นเรื่องราวของความเศร้า หรือเรื่องที่หดหู่ แต่แฝงด้วยเงาแห่งความหวังเล็กน้อย เพราะสายฝน หมายถึง ความชุ่มฉ่ำ ความอึมครึม ความไม่สดใส ถ้าเปรียบกับชีวิตคนเรา ก็เหมือนชีวิตที่มืดมนไม่สดใส เพลงที่บรรเลงเปิดฉากนี้ เมื่อฟังแล้วรู้สึกเหมือนเศร้าแต่มีความหวัง เป็นดนตรีที่ให้ท่วงทำนองที่นุ่มนวล แต่แฝงด้วยการปลุกเร้าอารมณ์ให้ฮึกเหิมเร้าใจให้มีหวังขึ้นมา






หากกล่าวถึงจังหวะของการดำเนินเรื่องในภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่าดี กระชับ ไม่เยิ่นเย้อจนน่าเบื่อ สังเกตได้ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ความสำคัญกับภาษากาย และสัญลักษณ์ทางภาพมากว่าภาษาพูด ซึ่งทำให้ผู้ชมเข้าใจเรื่องได้ชัดเจน และทำให้เนื้อเรื่องกระชับ ได้ใจความ และมีความน่าสนใจเมื่อมีการตัดฉากสลับไปมาระหว่างชีวิตของเดวิดในวัยเด็ก และวัยผู้ใหญ่ ทำให้มองเห็นพัฒนาการของตัวละครได้ดี มองเห็นสาเหตุได้อย่างชัดเจนจากอดีตซึ่งส่งผลมาสู่ปัจจุบันที่ทำให้ตัวละครเอกต้องมีพฤติกรรมไปในทิศทางนั้นๆ กล่าวคือทำให้ทราบว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เดวิดมีอาการผิดปกตินั้นคือการได้รับความกดดันจากครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก นอกจากนี้ยังมีความลงตัวของความเป็นดราม่าที่มีความขบขันปนอยู่เล็กน้อยเพื่อให้เรื่องไม่ตึงเครียดจนเกินไป






ส่วนเรื่องฉากและบรรยากาศในภาพยนตร์เรื่องนี้ มีการใช้ฉากได้กลมกลืนกับเหตุการณ์ในเรื่อง ฉากเหล่านี้ช่วยให้ผู้ชมสัมผัสกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครได้ดี จะเห็นได้ว่า ฉากจะเริ่มต้นด้วยบรรยากาศฝนตก อึมครึม ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงอารมณ์เศร้าของตัวละครได้เป็นอย่างดี ส่วนใหญ่ก็จะใช้โทนสีเทา ดำ น้ำเงินคราม น้ำตาล และสีโทนหมองๆ ให้ความรู้สึกหดหู่ กดดัน เป็นการแสดงให้เห็นว่าเนื้อหาในเรื่องเป็นเรื่องเศร้า หดหู่ใจ แต่เมื่อมาถึงตอนที่เดวิดมาพบกับซิลเวีย และกิลเลียน ฉากและบรรยากาศอันหม่นหมองเริ่มหายไป รวมถึงฉากฝนตกก็ไม่มีปรากฏให้เห็น โดยฉากเหล่านี้ถูกแทนที่ด้วยบรรยากาศของแสงแดดที่ส่องสว่างเป็นส่วนใหญ่ ท้องฟ้าแจ่มใส และโทนสีก็เปลี่ยนเป็นโทนสีขาว เหลือง ฟ้าสดใสของน้ำ เป็นสีที่แสดงความสดใส ร่าเริง ซึ่งให้ความรู้สึกที่เต็มไปด้วยความหวัง และความสุขใจ ฉากและบรรยากาศเหล่านี้จึงถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่มีความสัมพันธ์กับเนื้อเรื่อง ช่วยให้เนื้อเรื่องมีความชัดเจนขึ้น รวมถึงดนตรีประกอบที่มีความหลากหลาย กลมกลืนกับอารมณ์ของตัวละครและฉากได้เป็นอย่างดีด้วย






แก่นเรื่องในเรื่องนี้มีประเด็นสำคัญอยู่ที่ตัวละครหลักคือ เดวิด ซึ่งเป็นตัวละครที่เป็นผู้ถูกกระทำเสมอ สิ่งที่กระทำกับเขาคือ การที่เขาเติบโตมาจากการเลี้ยงดูของครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์นัก จึงสามารถกล่าวได้ว่า ครอบครัวมีส่วนสำคัญที่จะทำให้บุคคลในครอบครัวมีพฤติกรรมออกมาในทิศทางใด สำหรับเดวิด การที่เขาเติบโตมาในครอบครัวที่ใช้อารมณ์เป็นหลักจึงทำให้เกิดความกดดันในจิตใจ แต่ในภายหลังเขาได้รับกำลังใจและความเข้าใจจากคนรอบข้าง สุดท้ายเขาก็สามารถยืนหยัดได้อย่างมีความสุข






ภาพยนตร์เรื่องนี้มีการเน้นพฤติกรรมของตัวละครเป็นสำคัญ เรื่องราวต่างๆ สามารถดำเนินไปได้ด้วยพฤติกรรมของตัวละครหลัก คือ เดวิด เขาเป็นตัวละครที่มีพัฒนาการทางอารมณ์ที่เห็นได้เด่นชัด เดวิดเติบโตมาในครอบครัวที่ใช้อารมณ์เป็นหลักมากกว่าเหตุผล เขาถูกยัดเยียดให้ฝึกเล่นเปียโนอย่างหนัก และพ่อมักย้ำให้เขาเอาชนะแต่เพียงอย่างเดียว สาเหตุสำคัญที่ทำให้พ่อคาดหวังในความสำเร็จของเดวิดมาก ทั้งนี้เกิดขึ้นจาก ชีวิตในวัยเด็กของพ่อนั้นไม่ได้รับการตอบสนองความสนใจทางด้านดนตรีจากพ่อ (ปู่ของเดวิด) จึงทำให้เขาส่งเสริมเดวิดทางด้านดนตรีมากเกินไปเสมือนหนึ่งเพื่อทดแทนหรือเติมเต็มและตอบสนองความต้องการของตัวเองในอดีต ส่งผลให้ตัวเดวิดเองเกิดความสับสน ไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูก หรือสิ่งที่ผิดเพราะพ่อจัดการให้แบบเบ็ดเสร็จ และทำให้ขาดความเชื่อมั่นในตัวเองไปด้วย






พ่อใช้อารมณ์เป็นเครื่องตัดสินแทนที่จะใช้เหตุผลเป็นหลัก การที่พ่อเข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตของเดวิดมากเกินไป เช่น การตัดสินใจแทน โดยไม่รับฟังเหตุผล การว่ากล่าวด้วยวาจาที่รุนแรง บางครั้งมีการใช้กำลังสลับกับการแสดงออกถึงความอบอุ่นของตัวพ่อเอง สิ่งนี้ทำให้เดวิดสับสนและแยกแยะไม่ออก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ของพ่ออย่างกะทันหันจนรับไม่ทัน เดวิดจึงเกิดความกดดันที่สะสมอยู่ในจิตใจ






เดวิดไม่มีทางออกของชีวิต ความกดดันจึงทวีขึ้น จะเห็นได้จาก ฉากที่เดวิดนั่งแช่ตัวในอ่างอาบน้ำ ด้วยความตึงเครียดที่สะสมมานาน ทำให้เขาไม่สามารถควบคุมระบบการทำงานของร่างกายได้ จึงได้อุจจาระลงในอ่าง นี่แสดงให้เห็นว่า จิตใจของเขาเริ่มเข้าสู่ภาวะผิดปกติจนควบคุมอารมณ์ไว้ไม่อยู่ แทนที่พ่อเข้ามาเห็นจะเป็นห่วงลูก กลับโมโหและทุบตีซ้ำเติมเขาอีก ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มความกดดันให้เขามากยิ่งขึ้น แต่อาการทางจิตของเดวิดยังไม่รุนแรงมาก นั่นเป็นเพราะ เขายังมีที่พึ่งทางใจคือป้าแคททอรีน คอยให้กำลังใจและเป็นที่ปรึกษาแก่เขา จึงยังช่วยระงับจิตใจอันฟุ้งซ่านของเขาไปได้บ้าง






เมื่อวิเคราะห์จากอาการทางจิตของเดวิดในวัยเด็กนั้น เรียกได้ว่า เริ่มเป็นโรคจิตเภทอ่อนๆ จนเมื่อป้าแคททอรีนเสียชีวิตลง เดวิดขาดที่พึ่งทางใจ ผนวกกับการต้องใช้ชีวิตตามลำพังที่อังกฤษ จึงทำให้จิตใจอ่อนแอลงไป เดวิดเริ่มแสดงอาการผิดปกติออกมา เช่นในฉากที่เขาเดินแก้ผ้าท่อนล่างลงมาหยิบพัสดุทางชั้นล่างของอพาร์ตเมนต์ ยิ่งเมื่อเขาต้องฝึกซ้อมบทเพลงแร็คมานีนอฟ 3 ซึ่งเป็นเพลงที่ต้องเล่นโดยใช้อารมณ์ที่ลึกซึ้งอย่างมากเข้าด้วยแล้ว ยิ่งทำให้จิตใจของเขาเข้าสู่ความกดดันของอารมณ์ครั้งใหญ่ เขาเริ่มพูดซ้ำๆ เร็วๆ รัวๆ ที่ไม่เข้าใจ จนเมื่อเขาได้เข้าแข่งขันดนตรี และเมื่อการแสดงจบลงเขาก็ล้มลงอย่างคนไร้สติ ซึ่งเปรียบได้กับ ชีวิตของเขาเมื่อมาถึงจุดสูงสุดแล้ว ก็ต้องพบกับจุดต่ำสุดของชีวิต ( เป็นสัญลักษณ์ที่ผู้สร้างภาพยนตร์ต้องการจะสื่อให้ผู้ชมได้เห็น ) กล่าวคือ เมื่อเดวิดกลายเป็นนักเปียโนที่เก่งกาจจนสามารถเล่นเพลงที่ยากที่สุดได้แล้ว แทนที่ชีวิตจะรุ่งโรจน์ เขากลับต้องเผชิญกับจุดพลิกผันของชีวิตอันแสนตกต่ำ




การที่เดวิดป่วยเป็นโรคจิตเภทนั้น ไม่อาจเกิดขึ้นมาลอยๆ ได้ โดยไม่มีสาเหตุ ครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขาเป็นแบบนี้ การแสดงความรักของพ่อนั้นมากเกินไป จนกลายเป็นการยัดเยียดให้เขาทำอย่างคนที่ไร้สมอง ความกดดันจึงส่งผลให้เขาเป็นโรคจิตในที่สุด




การที่เดวิดกลายเป็นคนป่วยทางจิต เขาได้เผยจิตใต้สำนึกออกมาจากการกระทำ และคำพูดของเขา เขาชอบวิ่ง หัวเราะไปเรื่อยๆ มีฉากหนึ่งในโรงพยาบาลจิตเวช เดวิดเดินไปกับนางพยาบาล และก้าวกระโดด เหมือนเด็กๆ นั่นเป็นเพราะเขาต้องการทดแทนความสุขเล็กๆน้อยๆ ที่เขาไม่มีในวัยเด็ก นอกจากนี้เขามักโทษตัวเองอยู่เสมอที่ทำให้พ่อผิดหวังในตัวเขา การที่เขาพึมพำเรื่องต่างๆ นั้น ล้วนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวเขาเองทำสิ้น นั่นเป็นเพราะเขายังจมปักอยู่กับอดีตที่ปวดร้าว จนเมื่อเจอกิลเลียน ภรรยาของเขา เธอเปรียบเสมือนแสงสว่างที่ส่องลงมาเบิกทางให้เขาอีกครั้ง ผู้ป่วยโรคจิตอย่างเขา อาการดีขึ้นได้ด้วยยาใจจากคนที่เข้าใจและให้กำลังใจเขาเสมอ การยอมรับ และแนะนำสิ่งที่ดีให้แก่ผู้ป่วยอย่างเดวิดเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ที่จะช่วยฉุดเขาให้พ้นเหวนรกนั้นได้






เมื่อพิจารณาถึงตัวละครที่มีบทบาทสำคัญอีกตัวคือ ปีเตอร์ พ่อของเดวิด หากคิดในแง่จิตวิทยาแล้ว เป็นไปได้ที่ปีเตอร์อาจมีความผิดปกติทางจิตซ่อนอยู่ หรือที่เรียกว่า โรคจิตอ่อนๆ คือไม่ได้แสดงออกด้วยอาการผิดปกติเกินไปจนคนในสังคมรับไม่ได้ แต่เขาเป็นคนที่มีปมปัญหาในตัวของเขาเอง เมื่อวัยเด็กเขาถูกพ่อกีดกันไม่ให้เล่นไวโอลิน ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาชอบ ความทรงจำเหล่านี้จึงฝังใจมาตลอด จนเมื่อมีลูก เขาจึงเห็นลูกเป็นเครื่องมือที่ใช้ทดแทนสิ่งที่เขาขาดหายไป โดยไม่นึกถึงความรู้สึกของลูก เขาต้องการเห็นลูกเป็นเงาของตัวเองในคราบแห่งความสำเร็จ แต่ความที่เขาสอนลูกไม่ถูกทาง เพียงแต่เอาความคิดที่ไร้เหตุผลกรอกสมองให้ลูกว่า ลูกต้องชนะ จนทำให้ลูกกลายเป็นเด็กเก็บกด แม้เขาจะเป็นพ่อที่รักลูกมาก แต่แสดงออกไม่เป็น ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล แทนที่จะชมลูกว่าทำดีแล้ว แต่กลับกดดันลูกให้รู้สึกว่าตนแพ้อยู่เสมอ และต้องเอาชนะให้ได้






การที่ปีเตอร์เผด็จการ และกลัวครอบครัวจะแตกแยกนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากปมในอดีตของเขาที่ต้องใช้ชีวิตอย่างลำบาก ต้องเผชิญกับสงครามอันโหดร้ายจนสูญเสียพ่อแม่และพี่สาวไป ความเก็บกดในใจของเขาเป็นสิ่งกระตุ้นให้เขาคิดฟุ้งซ่าน และไม่ยอมให้เดวิดไปเรียนต่อที่อังกฤษ เพราะเขาคิดว่าหากขาดเดวิดไป ก็เหมือนสมาชิกครอบครัวอยู่ไม่ครบ ทำให้ครอบครัวแตกแยก เขาคิดว่าการให้ความรักกับลูก และครอบครัวจะสมบูรณ์ได้นั้นคือการที่ทุกคนในครอบครัวจะต้องอยู่ด้วยกันตลอดไป แต่สิ่งนี้กลับกลายเป็นเครื่องบั่นทอนความฝันของลูกโดยไม่รู้ตัว ถือว่าปีเตอร์เป็นตัวละครที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อพฤติกรรมของตัวละครเดวิดอย่างมาก






ตัวละครอีกตัวที่แม้จะไม่เด่นมากนัก แต่ก็มีความสำคัญต่อพฤติกรรมของตัวละครหลักเป็นอย่างมาก คือ กิลเลียน ตัวละครนี้ถือได้ว่า เป็นหญิงที่เพียบพร้อมทั้งฐานะ การทำงาน และความรัก ทั้งที่เธอมีคู่หมั้นที่มีคุณสมบัติครบถ้วนอยู่แล้ว แต่ทำไมเธอถึงเลือกที่จะแต่งงานกับเดวิด ชายซึ่งมีอาการผิดปกติทางจิตได้ ก็เพราะเธอมองลึกลงไปในจิตใจอันดีงามไร้พิษภัยของเดวิดมากกว่าที่จะมองภาพลักษณ์ภายนอก กิลเลียนทำให้ผู้ชมได้เปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อคนโรคจิต หลายคนคิดว่าคนโรคจิตจะเป็นภัยต่อสังคม แต่ในเรื่องนี้กลับไม่ใช่อย่างที่คิด เดวิดแม้จะเป็นโรคจิตแต่เขาก็ไม่คิดทำร้ายใคร กิลเลียนถือเป็นคนที่น่ายกย่องคนหนึ่ง เธอทำให้หลายคนเปลี่ยนทัศนคติใหม่และมองโลกในแง่ดีขึ้น เธอเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พฤติกรรมของเดวิดเปลี่ยนไปในทางที่ดี ทำให้เราได้เห็นว่า กำลังใจและความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถเยียวยาใจที่บอบช้ำของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี






ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่ามีความดีเด่นทางด้านการใช้สัญลักษณ์โดยนัยที่สื่อให้เห็นเหตุการณ์และพฤติกรรมในตัวละครได้อย่างลึกซึ้งขึ้น ได้แก่ แว่นตา เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความคิดของตัวละคร โดยในฉากที่เดวิดย้ายมาอยู่ในอพาร์ตเมนต์และเล่นเปียโนทั้งวัน ในขณะนั้นเขายังสวมใส่แว่นตาที่แตกและติดเทปกาวไว้ หมายความว่า เดวิดยังคงไม่เปลี่ยนความคิด ยังคงจมปลักกับอดีต เขามักโทษตัวเองว่าทำให้พ่อผิดหวัง และตนจะถูกลงโทษไปตลอดชีวิต จนเมื่อเดวิดมาเล่นเปียโนที่ร้านอาหารของซิลเวีย และได้เจอกับกิลเลียน เขาได้เปลี่ยนแว่นอันใหม่ นั่นก็หมายความว่า เขาได้เปลี่ยนความคิดใหม่และเลิกที่จมปลักกับอดีตที่เจ็บปวดแล้ว






ในขณะที่พ่อของเขามาหาเขาที่ห้องพัก และยังคงสวมแว่นตาอันเดิมที่มีรอยแตกและติดเทปกาวไว้ หมายความว่า แม้วันเวลาจะผ่านไป แต่พ่อของเขายังคงไม่เปลี่ยนแปลงความคิดของตนเลย




ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับแว่นตา คือ เดวิดมีปัญหาทางด้านสายตามาตั้งแต่เด็กๆ เขาจึงสวมแว่นตาอยู่ตลอดเวลา แต่ทุกครั้งที่เขาเล่นเปียโนเขาจะถอดแว่นตาวางไว้ แล้วจึงเริ่มเล่น นี่เป็นอีกความหมายหนึ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้บอกโดยนัยว่า เมื่อเดวิดได้เล่นเปียโน ก็เหมือนกับการได้ปลดปล่อยอารมณ์และความรู้สึกของตนได้อย่างเต็มที่ จนไม่สามารถควบคุมได้




นอกจากนี้ยังมีภาพของก๊อกน้ำที่ปิดสนิทแล้ว แต่ยังมีหยดน้ำไหลลงมาอย่างช้าๆ ซึ่งเปรียบได้กับจิตใจของเดวิด ซึ่งได้รับความกดดันจนถึงขีดสูงสุดเกินกว่าจะควบคุมได้ จึงรั่วไหลออกมากลายเป็นจิตใจที่บอบช้ำจนยากที่จะควบคุมให้เป็นปกติได้




ในเรื่องนี้ยังมีสัญลักษณ์ที่เน้นย้ำให้เราเห็นถึงความคิดของตัวละครได้ชัดเจน ได้แก่ ฉากที่พ่อพาเดวิดไปทำพิธีเข้าศาสนายิว ซึ่งเมื่อเสร็จพิธี และยังไม่ทันเดินออกมานอกตัวอาคารประกอบพิธีเลย พ่อก็ถอดหมวกที่เป็นเครื่องหมายของศาสนาลง เป็นนัยบอกให้ทราบว่า พ่อของเดวิดไม่สนใจศาสนาเลย และเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไร้สาระ




คำพูดที่ติดปากของเดวิดที่ว่า “We gonna win .” เป็นสิ่งที่บอกเป็นนัยให้ทราบว่า เดวิดถูกพ่อสั่งสอน ปลูกจิตสำนึกเรื่องการเอาชนะมาตั้งแต่เด็กจนฝังลึกลงในจิตใจ ยากที่จะลบล้างได้




เมื่อเริ่มชมภาพยนตร์ก็ยังสับสนกับชื่อเรื่อง “Shine” แต่เมื่อชมจนจบแล้ว จึงทราบว่า ชื่อเรื่องกับเนื้อหากลมกลืนกันอย่างลงตัว หากพิจารณาให้ลึกซึ้งก็จะเห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ เริ่มเรื่องด้วยความเศร้า ผิดหวัง หดหู่ ของเดวิดตัวละครหลัก แต่กลับมีความสุขในตอนจบ คือเปลี่ยนจากความมืดมนของชีวิต เป็นแสงสว่างที่ส่องมากระทบให้ชีวิตสดใสอีกครั้ง ความสอดคล้องระหว่างความหมายของชื่อเรื่องและตอนสุดท้ายของภาพยนตร์เป็นเหตุผลที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีชื่อว่า “Shine” นั่นเอง




นักแสดงที่รับบทเดวิดทั้งวัยเด็กและวัยแก่ในเรื่องนี้แสดงได้ดี และเข้าถึงอารมณ์ของตัวละครอย่างแท้จริง จนทำให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครด้วย ส่วนผู้รับบทปีเตอร์ พ่อของเดวิดก็สามารถถ่ายทอดอารมณ์ของความเป็นพ่อที่เผด็จการได้เป็นอย่างดี




ภาพรวมของภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่าดีมาก ไม่ว่าจะเป็นโครงเรื่องที่มีการเปิดฉากได้น่าสนใจ การดำเนินเรื่องที่ไปตามลำดับของเหตุการณ์ มีการสลับฉากวัยเด็กกับวัยผู้ใหญ่ได้อย่างลงตัว และไม่ทำให้ผู้ชมสับสน แก่นเรื่องที่ให้ข้อคิดที่ดีแก่ผู้ชม ฉากและบรรยากาศที่ช่วยเสริมสร้างอารมณ์และความรู้สึกของตัวละครได้เป็นอย่างดี ดนตรีประกอบที่นอกจากจะไพเราะแล้ว ยังช่วยให้เกิดจินตนาการและอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครได้เป็นอย่างดี องค์ประกอบทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้สามารถผสมผสานกันได้อย่างลงตัว เป็นความกลมกลืนที่ทำให้เกิดความงดงามในภาพยนตร์






และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้คือ ครอบครัวมีส่วนสำคัญยิ่งในการกำหนดทิศทางพฤติกรรมและจิตใจของสมาชิกในครอบครัว หากคนในครอบครัวไม่มีความเข้าใจกันและไม่ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะกดดันจนถึงขั้นมีอาการทางจิตได้ ดังเช่นเดวิด เดวิดเป็นเหมือนอุทาหรณ์ที่สอนใจให้ได้คิดและตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินชีวิตในครอบครัว เดวิดถีบตัวจากชีวิตใต้เหวลึกออกมาสู่พื้นดินใต้ท้องฟ้าอันแสนสดใสได้ ด้วยการรับการรักษาทางการแพทย์อย่างถูกต้อง และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การดูแลอย่างดี การให้ความรัก ความเข้าใจอย่างสม่ำเสมอดังในช่วงท้ายของหนังเรื่องนี้ ที่ซิลเวียและกิลเลียนดูแลเขาด้วยความรักและความเข้าใจ ทำให้เขาสามารถหวนกลับไปเล่นเปียโน และประสบความสำเร็จได้อีกครั้ง แม้เขาจะไม่สามารถกลับไปเป็นปกติเหมือนเดิมอย่างเต็มตัว แต่เขาก็สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข


อย่าลืมว่า ...โรคทางใจไม่มียาตัวใดรักษาให้หายได้........นอกจากยาใจ..............

Shine....แสงสว่างในความมืดมน

กนกนภา

Shine เป็นภาพยนตร์ออสเตรเลียที่ได้เข้าฉายในหลายประเทศจนได้รับความนิยมติดอันดับหนึ่งในสิบภาพยนตร์ยอดนิยมของโลกในปี 1996 โดยมีการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในสาขาต่างๆทั้งในประเทศออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการการันตีถึงคุณภาพของทั้งผู้ผลิตและนักแสดง ไม่ว่าจะเป็นรางวัลออสกา(oscar)นักแสดงนำชายยอดเยี่ยมอย่างเจฟฟรีย์ รัช (Geoffrey Rush) ผู้รับบทบาทเดวิด หรือรางวัลโกลเด้น คีย์(Golden Key)ผู้กำกับยอดเยี่ยมอย่างสก๊อต ฮิกส์ (Scott Hicks) และอื่นๆอีกมากมาย


Shine เป็นภาพยนตร์แนวดราม่าที่สร้างขึ้นโดยอ้างอิงจากชีวิตจริงของเดวิด เฮล์ฟกอตต์ (David Helfgott) นักเปียโนอัจฉริยะชาวออสเตรเลีย เชื้อสายยิว ที่มีพรสวรรค์ในการเล่นเปียโนตั้งแต่เล็ก จึงถูกปีเตอร์ เฮล์ฟกอตต์ (Peter Helfgott)พ่อของเขากดดันให้ฝึกฝนอย่างหนักด้วยหลักสูตรที่ยากเกินตัวเพื่อชัยชนะในการแข่งขัน ซึ่งเขาก็ทำได้ดีจนได้รับการเสนอทุนไปเรียนต่อที่สหรัฐฯแต่พ่อไม่ยอมให้ไป ต่อมาได้รับทุนไปเรียนที่ Royal College of Music กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แต่ด้วยพลังแห่งความฝันที่อยู่ภายใต้แรงกดดันตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา ประกอบกับการสนับสนุนของนักเขียนสตรีสูงศักดิ์วัยกลางคนเชื้อสายรัสเซีย ที่ให้อะไรแก่เขาในสิ่งพ่อแม่ให้ไม่ได้ คือความเข้าใจในพลังอันยิ่งใหญ่ที่มีอยู่ในตัวเขา คอยให้กำลังใจ และช่วยให้เขาได้ปลดปล่อยมันออกมา เดวิดจึงตัดสินใจไปแบบขืนใจพ่อ แม้ว่าเขาจะถูกประกาศตัดลูกตัดพ่อตั้งแต่ตอนนั้นก็ตาม เมื่อไปอยู่ที่อังกฤษเขาได้เรียนเปียโนกับเซซิล พาร์คส์(Cecil Parkes)นักเปียโนชื่อดังชาวอังกฤษ ผู้ขัดเกลาฝีมือการเล่นเปียโนระดับสูงให้เขา เขาหมั่นฝึกซ้อมตามคำสอนของครูอย่างหนัก จนสามารถเล่นเปียโน คอนแชร์โตหมายเลข 3 ของรัคมานีนอฟ (Rachmaninoff) ได้อย่างยอดเยี่ยมจนได้รับการบันทึกไว้ว่าเป็นสุดยอดการแสดง Rach 3 ซึ่งว่ากันว่าเป็นบททดสอบสุดท้ายที่ยากที่สุดของความเป็นเลิศทางเปียโนตามที่เขาต้องการ หลังการแสดงใน Albert Hall จบลง เขาล้มลงหมดสติ ถูกนำส่งโรงพยาบาล โดยที่หมอสั่งห้ามไม่ให้เล่นเปียโนอีกและต้องพักรักษาอาการทางประสาทอยู่เกือบยี่สิบปี ก่อนที่จะค่อยๆ กลับฟื้นคืนสู่สภาพที่ไม่ปกติเหมือนเดิมคือ ดูสนุกสนานร่าเริง พูดจาเร็วจนฟังไม่ได้ศัพท์ ยิ้มและหัวเราะตลอดเวลา และเขาก็ได้กลับมาเล่นเปียโนอีกครั้งที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งและเล่นประจำอยู่ที่นั่น ทุกคนต่างตกตะลึงในลีลาการเล่นเปียโนของชายที่สติไม่สมประกอบอย่างเขา ต่อมาเขาได้พบกับกิลเลียนเพื่อนของซิลเวียคนที่เขาอาศัยอยู่ด้วยและทั้งคู่ก็แต่งงานกัน หลังจากนั้นไม่นานพ่อของเขาเสียชีวิต กิลเลียนดูแลเดวิดอย่างใกล้ชิดด้วยความรัก จนในที่สุดเขาก็ได้ขึ้นเวทีแสดงคอนเสิร์ตเป็นครั้งแรกหลังจากห่างหายไปนานกันการรักษาตัว ท่ามกลางความปลาบปลื้มใจ ชื่นชมและชื่นชอบของภรรยาที่เป็นกำลังใจสำคัญ ตลอดจนแม่ น้องสาวและผู้ชมอีกมากมาย


ภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจะให้ความสำคัญกับตัวละครเป็นหลัก เพราะเปิดเรื่องด้วยหน้าของผู้ชายคนหนึ่งบนพื้นสีดำที่กำลังพรึมพรำอะไรบางอย่างกับตัวเอง และชายคนนั้นเองที่เป็นตัวดำเนินเรื่องตั้งแต่เริ่มเรื่องจนกระทั่งจบเรื่อง ชายใส่แว่นตาพร้อมกับบุหรี่หนึ่งมวนท่าทางไม่เหมือนคนปกติเท่าไรนัก วิ่งตากฝนมาเคาะกระจกร้านอาหารที่มีคนเล่นเปียโน ซี่งกำลังจะปิดแล้วแต่ก็ยังมีพนักงานอยู่ในร้าน เขาคนนั้นคือเดวิด ซึ่งเป็นตัวละครเอกของเรื่อง การลำดับเหตุการณ์ของเรื่องนี้เริ่มเรื่องด้วยเวลาในปัจจุบันและเล่าย้อนไปถึงเรื่องราวในอดีตที่มีความสัมพันธ์และส่งผลสืบเนื่องให้เกิดเหตุการณ์ในปัจจุบันสลับไปมา โดยมีเดวิดเติบโตไปพร้อมๆกับเหตุการณ์ต่างๆเหล่านั้น ฉากส่วนใหญ่ในตอนช่วงต้นและกลางเรื่อง มักเป็นฉากฝนตกหรือไม่ก็เป็นฉากมีโทนสีที่ให้บรรยากาศเศร้าหมอง ไม่สดชื่น สดใส รวมไปถึงบรรยากาศในบ้านของเดวิดที่ให้ความรู้สึกหดหู่และเงียบเหงาซึ่งอาจสื่อถึงชีวิตที่อึดอัด มืดมนของเดวิดและอาจรวมถึงสมาชิกในครอบครัวที่ต้องอยู่ภายใต้การกดดันจากพ่อ ส่วนในช่วงหลังบรรยากาศโดยรวมมักมีแสงสว่างสดใส ซึ่งอาจเปรียบเสมือนอารมณ์ความรู้สึกของเดวิด ที่ได้แต่งงานและมีความสุขกับชีวิตที่เขาเลือกเองหลังจากที่ต้องทนทุกข์อยู่ในความมืดมนมาเกือบครึ่งชีวิต นอกจากนี้ยังมีการนำฉากเดิมในตอนเริ่มเรื่องมาปรากฏอีกครั้ง เมื่อข้อขัดแย้งต่างๆได้ยุติลง เสมือนว่าเป็นการบรรจบกันระหว่างเรื่องราวในอดีตกับปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจและน่าติดตาม


เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในShine ล้วนอยู่ภายใต้ความขัดแย้งระหว่างปีเตอร์ พ่อผู้มีชีวิตเป็นครอบครัวกับเดวิด ลูกชายผู้มีเสียงดนตรีเป็นชีวิต จนเป็นชนวนสำคัญให้เหตุการณ์ต่างๆในเรื่องตั้งแต่ต้น ดำเนินไปสู่จุดวิกฤต จุดไคลแม๊กซ์ จนกระทั่งจุดจบของเรื่อง ตัวละครทั้งสองนี้จึงมีพฤติกรรมและลักษณะที่น่าสนใจอยู่หลายประการ


เดวิดเป็นตัวละครที่เติบโตไปพร้อมๆกับเรื่องราวและกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ ด้วยลักษณะที่ส่อแววความเป็นอัจฉริยะมาตั้งแต่เด็ก เขาจึงได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีด้วยความรักที่หนักอึ้งไปด้วยความหวังของผู้เป็นพ่อ เขาทำทุกอย่างตามที่พ่อต้องการมาตลอด จนทำให้กลายเป็นเด็กที่ไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง ไม่กล้าตัดสินใจแม้แต่ที่จะพูดอะไรออกไปจากความคิดและจิตใจของตัวเอง หากสังเกตฉากที่เดวิดแข่งขันเปียโนครั้งแรก จะเห็นได้ว่าสีหน้าท่าทางของเขาดูตึงเครียดและดูเหมือนว่าถูกบังคับให้มา แต่เขาก็สามารถเล่นเปียโนในเพลงที่พ่อเลือกให้ซึ่งถือว่ายากสำหรับเด็กในวัยนั้นได้อย่างเฉียบขาด จึงเป็นที่น่าสงสัยว่า ณ ช่วงเวลานั้น แท้จริงแล้วเดวิดรู้สึกอย่างไรกันแน่ระหว่างความรักและหลงใหลในเสียงดนตรีกับความรู้สึกกดดันที่ถูกผู้เป็นพ่อบังคับให้เล่นและฝากความหวังไว้ที่เขา


แต่แล้วเมื่อโตขึ้นนิสัยรักในเสียงดนตรี(เปียโน)ตามที่พ่อได้ปลูกฝังไว้ตั้งแต่เล็กนั้นก็เต็มเปี่ยมอยู่ในหัวใจของเขา แต่ด้วยความกดดันจากพ่อที่ไม่ยอมให้เขารับทุนไปเรียนต่อที่สหรัฐฯและอังกฤษ ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่อยากให้ใครมา “ทำลายครอบครัว” ทำให้เดวิดเริ่มมีอาการของคนที่อยู่ภายใต้ความกดดันอย่างหนัก จนควบคุมตัวเองไม่อยู่ดังเช่นตอนที่เขาถ่ายอุจจาระลงในอ่างอาบน้ำ เนื้อตัวสั่นสะท้านไปหมด เมื่อพ่อมาเห็นก็ถูกตีอย่างแรงสร้างความรู้สึกหวาดกลัวและกดดันเพิ่มขึ้นไปอีก จนในที่สุดพลังความมุ่งมั่นสู่ความฝันเพื่อทำในสิ่งที่ตนเองรักเท่าชีวิตของเขา ก็ไม่มีใครสามารถฉุดรั้งเอาไว้ได้แม้แต่พ่อ ผู้ที่เขายอมทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการตลอดชีวิตที่ผ่านมา ความกล้าตัดสินใจของเดวิดเพื่อไปเรียนต่อที่อังกฤษโดยไม่ฟังคำทัดทานของพ่อ การยอมแลกความฝันกับครอบครัวที่ต้องตัดขาดกับพ่อและทุกคนในบ้าน ทำให้ความสงสัยของดิฉันที่กล่าวไว้ในตอนต้นหมดไปทันที เพราะไม่ว่าสาเหตุของความรักในเสียงดนตรีของเขาจะเกิดจากอะไรก็ตาม แต่สิ่งที่เขาทำได้แสดงให้เห็นว่าเสียงดนตรีคือชีวิตและความฝันของเขาอย่างแท้จริง และเมื่อตัดสินใจก้าวออกมาแล้ว เขาก็ไม่เคยคิดจะถอยหลัง แต่กลับใช้แรงกดดันที่เคยมีให้เปลี่ยนเป็นแรงผลักดันไปสู่จุดสูงสุดในชีวิต



เขาตั้งใจฝึกซ้อมเปียโนอย่างหนักหน่วงเพื่อเล่น Rach 3แบบปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ได้เรียนรู้มาจากเซซิล พาร์คส์นักเปียโนผู้มีชื่อเสียงชาวอังกฤษ และด้วยความกดดันที่สะสมมาตั้งแต่วัยเด็กที่พ่อมักสอนให้เล่นอะไรที่ยากเกินตัวมาถึงจุดสุดท้าย เขาได้ปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกทั้งหมดภายในจิตใจด้วยการเล่น Rach 3 ของรัคมานีนอฟที่เป็นสุดยอดแห่งดนตรีเปียโน ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกอันแสนโกลาหลอลหม่าน ซึ่งเดวิดก็เข้าถึงแบบตีแตก แลกด้วยชีวิตของตนเองอีกครั้ง จิตวิญญาณของการเป็นนักเปียโนได้เข้าไปอยู่ในสายเลือดของเขาอย่างเข้มข้น สังเกตได้จากตอนที่เขาไม่สามารถเล่นเปียโนได้เพราะหมอสั่งห้าม เมื่อเขาได้ยินเสียงเปียโนครั้งใด เขาก็จะกระดิกนิ้วตามเสมือนว่าได้พรมนิ้วอยู่บนคีย์เปียโนเลยทีเดียว การที่เขาพอใจและมีความสุขกับชีวิตที่เป็นอยู่โดยไม่คิดที่จะกลับไปอยู่กับครอบครัวที่บ้านเพราะสิ่งที่เขาเป็นอยู่คือหนทางชีวิตที่เขาเลือกเองแต่เขาก็ยังคงรับรู้ได้ถึงความรักที่พ่อมีให้เขาไม่เคยเปลี่ยนแปลง สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าความฝันที่เขายอมแลกด้วยชีวิตทั้งชีวิตมันคุ้มค่าและเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่แล้วสำหรับตัวเขา



ตัวละครอีกคนหนึ่งที่น่าสนใจและน่าค้นหาเรื่องราว ความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนความต้องการที่อัดแน่นอยู่ในใจของเขา ก็คือปีเตอร์ เฮล์ฟกอตต์ (Peter Helfgott) พ่อของเดวิด ปีเตอร์เป็นชาวยิวที่หนีภัยสงครามและการคุกคามของนาซีจากโปแลนด์มาอยู่ที่ออสเตรเลีย ความเจ็บปวดอันโหดร้ายกับสูญเสียพ่อแม่พี่น้องที่เขารักไปได้ตราตรึงอยู่ในใจของเขาอยู่ตลอดเวลา “ชีวิตของเขาคือครอบครัว” เขาจึงต้องการให้ลูกๆอยู่พร้อมหน้ากันตลอดไป การจากไปของใครสักคนในบ้านทั้งๆที่ยังมีชีวิตอยู่ถือว่าเป็นการทำลายครอบครัว และนั่นก็เป็นเหตุผลที่เขาไม่ยอมให้เดวิดไปเรียนต่อที่สหรัฐฯและอังกฤษ



ด้วยการยึดมั่นในจิตใต้สำนึกของตนจากประสบการณ์ที่เลวร้าย ทำให้ความรู้สึกภายในใจกับการแสดงออกของปีเตอร์ดูเหมือนว่าจะขัดแย้งกัน จากชีวิตในวัยเด็กที่โดนกีดกันไม่ให้เล่นดนตรีปีเตอร์จึงยกความฝันนี้มาฝากไว้ที่เดวิด เขาสอนเปียโนลูกด้วยตัวเองตั้งแต่ยังเล็ก และอยากให้ลูกเก่งและเป็นผู้ชนะเสมอจึงยัดเยียดบทเรียนยากๆให้ในขณะที่ลูกยังไม่พร้อม และด้วยความรักประกอบกับความหวังดีที่ต้องการให้ลูกประสบความสำเร็จที่อาจมากเกินไป จนทำให้ลูกรู้สึกว่าต้องอยู่ระหว่างความฝันอันยิ่งใหญ่ที่พ่อตั้งไว้ให้เขาประสบความสำเร็จกับโอกาสอันน้อยนิดที่พ่อปิดไว้ไม่ให้เขาไปถึงจุดนั้น ความรักที่มากล้นของพ่อที่มีต่อลูกจึงกลับกลายเป็นความกดดันอันโหดร้ายที่สร้างความทุกข์ทรมานให้แก่เขาทั้งคู่



ด้วยอุดมการณ์ที่แตกต่างระหว่างพ่อผู้มีชีวิตเป็นครอบครัวกับลูกชายผู้มีเสียงดนตรีเป็นชีวิต เมื่อเดวิดตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตของตัวเอง นั่นเท่ากับว่าเขาได้ทำลายชีวิตของพ่อลงไปด้วยในขณะเดียวกัน เหตุการณ์หลายตอนในเรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นลักษณะร่วมอย่างหนึ่งที่แฝงอยู่ในความขัดแย้งของความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกคู่นี้ นั่นคือ ทั้งคู่ต่างมีความรักอันยิ่งใหญ่ให้กัน และรับรู้ถึงความรู้สึกนั้นเสมอมา เพียงแต่เดวิดเลือกที่จะเดินไปตามเส้นทางแห่งความฝันอันสูงสุดในชีวิตของเขา เลือกที่จะเดินไปข้างหน้าโดยไม่คิดที่จะหวนกลับมาจมปลักอยู่กับความรู้สึกที่แสนจะเจ็บปวดทรมานที่เคยเจอในอดีต แต่เขาใช้ชีวิตที่เหลืออยู่กับจิตวิญญาณแห่งความเป็นนักเปียโนที่เขาแลกมาด้วยชีวิต อยู่กับความเป็นจริงในปัจจุบัน แตกต่างจากพ่อของเขาที่ยังคงยึดติดอยู่กับความคิด ความรู้สึกเดิมๆ ที่ฝังใจมาตั้งแต่อดีต เขาเก็บความเจ็บปวดนั้นไว้ในใจเสมอ ซ้ำยังส่งผ่านความรู้สึกนั้นไปยังคนรอบข้างที่เขารักอย่างไม่รู้ตัว ทุกคนต้องเชื่อฟังคำสั่งและรอการตัดสินใจของเขา ความอบอุ่นในครอบครัวไม่ได้เกิดจากการอยู่ร่วมกันอย่างพร้อมหน้าอย่างที่เขาคิด แต่มันเกิดจากสายใยแห่งความรักที่มีต่อกันต่างหาก



เมื่อครั้งที่เดวิดชนะการแข่งขันเปียโนอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่รู้จักของทุกคนก่อนที่จะได้รับทุนเรียนต่อ พ่อของเขาภูมิใจมาก ถึงขนาดตัดข่าวในหนังสือพิมพ์มาเก็บไว้และชื่นชมอย่างมีความสุข แต่พอรู้ว่าเดวิดตัดสินใจไปเรียนต่อโดยไม่ฟังคำขู่ตัดพ่อตัดลูกหรือแม้แต่คำร้องขอจากเขา เขาพยายามเก็บอาการผิดหวังและเสียใจแต่ก็กลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่ แล้วจึงนำข่าวของเดวิดที่เคยชื่นชมนั้นมาเผาทิ้ง เขาไม่เคยตอบจดหมายที่เดวิดส่งมาจากอังกฤษเลยแม้แต่ฉบับเดียว ครั้นเมื่อเดวิดโทรศัพท์มาหาก็ไม่คุยด้วย จนกระทั่งถึงตอนใกล้จบเรื่องซึ่งเป็นฉากสุดท้ายที่พ่อและเดวิดได้เจอกัน เขานำเหรียญห้อยคอซึ่งน่าจะเป็นเหรียญแห่งชัยชนะที่ทำเองมาให้เดวิด เขาสวมกอดเดวิดอย่างเคยและยังคงพูดประโยคเดิมที่เคยพูดกับเดวิดมาตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก “มองหน้าพ่อแล้วบอกว่า...แกเป็นคนโชคดี ไม่มีใครรักแกเท่าพ่อ ไม่มีใครเหมือนพ่อ...ตอนพ่อยังเด็ก พ่ออุตส่าห์เก็บออมเงินซื้อไวโอลินเอง แล้วรู้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้น...” เหตุการณ์ที่ยกมาข้างต้นนี้แสดงในเห็นว่าพ่อของเดวิดยังคงยึดติดอยู่กับอุดมคติเดิมๆแม้ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนแปลงไป ความรักระหว่างพ่อลูกที่ยังคงมีให้กันเสมอไม่ว่าจะช่วงเวลาไหนก่อให้เกิดความสุขอันยิ่งใหญ่ก็จริง แต่การใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ขังตัวเองอยู่กับความมืดมนจากเรื่องราวอันเลวร้ายในอดีตอาจบดบังความสุขสูงสุดในชีวิตที่ควรจะได้รับก็เป็นได้



แว่นตา...คือสัญลักษณ์สำคัญที่เป็นตัวแทนในการสื่อให้เห็นถึงความเหมือนและความแตกต่างของเดวิดและพ่อ แว่นตาเปรียบเสมือนกรอบชีวิตที่ถูกกำหนดขึ้น ทั้งเดวิดและพ่อใส่แว่นตาเหมือนกัน แต่เส้นทางชีวิตของทั้งคู่ต่างกัน เดวิดไม่ใส่แว่นตาตอนเล่น Rach 3 นั่นอาจสื่อให้เห็นว่าเดวิดได้ปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกไปกับการเล่นเปียโนของเขาอย่างเต็มที่จนหลุดพ้นจากกรอบของชีวิต เดวิดเปลี่ยนแว่นตาอันใหม่เมื่อแว่นอันเก่าแตก แต่พ่อของเขายังคงใส่แว่นที่แตกอยู่อย่างนั้น แสดงว่าเดวิดพร้อมที่จะเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆเข้ามา เลือกที่จะเดินไปข้างหน้าต่อไปเรื่อยๆ ต่างจากพ่อของเขาที่ยังคงปิดตัวเองอยู่กับอดีตและความคิดเดิมๆไม่เปลี่ยนแปลง



สาระสำคัญของ Shine อยู่ที่ความขัดแย้งบนพื้นฐานแห่งความรักระหว่าง พ่อผู้มีชีวิตเป็นครอบครัวกับลูกชายผู้มีเสียงดนตรีเป็นชีวิต พ่อเป็นผู้หล่อหลอมนิสัยการรักในเสียงดนตรีและสอนให้เดวิดเล่นเปียโนตั้งแต่เด็กเพื่อให้สานต่อความฝันที่ล่มสลายของตนในวัยเด็ก แต่กลับไม่ให้โอกาสเขาทำตามความฝันเพราะยังคงฝังใจอยู่กับการสูญเสียครอบครัวในอดีต จึงอยากให้ครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้า แต่หากคนในครอบครัวไม่มีความสุข คำว่า “ครอบครัว”นั้นก็ถือว่าได้ถูกทำลายลงไปแล้ว การยัดเยียดความหวังใส่มือผู้มีความฝันอันบริสุทธิ์ก็เช่นกันจากความหวังดีอาจกลายเป็นความกดดันอันแสนจะโหดร้ายได้ดังกรณีของเดวิดนี้



คนในครอบครัวเป็นตัวการสำคัญในการหล่อหลอมคนๆหนี่งให้เติบโตขึ้นในลักษณะที่แตกต่างกัน ความฝันและความสำเร็จบางครั้งก็ต้องแลกด้วยชีวิต ถ้าเรากล้าพอที่จะดิ้นรนให้หลุดพ้นจากกรอบชีวิตที่ใครบางคนกำหนดไว้เพื่อทำตามความฝันของตัวเอง กล้าที่จะก้าวออกจากวังวนแห่งความมืดมน เก็บเอาความเจ็บปวดในอดีตมาเป็นแรงผลักดันไปถึงจุดสูงสุดของชีวิตให้ได้ ถึงแม้ว่าสักวันเราอาจต้องลงมาจากจุดนั้น...แต่มันก็เป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจมิใช่หรือ


ถ้าเดวิดไม่มีพ่ออย่างปีเตอร์....เขาอาจไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับความสำเร็จสูงสุดเช่นนี้ก็ได้ และถึงแม้ว่าเดวิดจะต้องเป็นโรคประสาทและตกลงจากจุดสูงสุดนั้นอย่างกะทันหัน แต่เขาก็มีความสุขและพอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่เพราะมันเป็นชีวิตที่เขาลิขิตเอง


ไม่มีใครที่จะพบกับความมืดมน ผิดหวัง ไปตลอดชีวิต อย่างเดวิดที่สุดท้ายชีวิตก็ได้อยู่กับเปียโนและคนที่เขารักอย่างมีความสุข ประดุจกับแสงสว่างที่ได้ส่องลงมามอบความสดใสให้ชีวิตฟื้นขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ต้องพบกับพายุฝนที่ถาโถมเข้ามาอย่างหนักหน่วง ตามชื่อของภาพยนตร์เรื่องนี้ “Shine”



Shine เป็นภาพยนตร์ที่เป็นมากกว่าหนังชีวิตที่บันทึกประวัติศาสตร์เรื่องหนึ่งเรื่องใดเอาไว้พอดูแล้วอาจเลือกที่จะทิ้งเรื่องราวทุกอย่างไว้ตรงนั้นให้มันจบลงพร้อมกับฉากสุดท้าย แต่ Shine เป็นเสมือนบทเรียนชีวิตที่นำเสนอแนวคิด คติเตือนใจบนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง ทำให้คนดูเชื่อและเกิดอารมณ์ความรู้สึกคล้อยตามกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้โดยไม่ยากเกินไป เนื่องจากทุกองค์ประกอบของภาพยนตร์เรื่องนี้ล้วนมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้ง ทุกสิ่งทุกอย่างต่างมีความหมาย มีเหตุผล มีที่มาที่ไป นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังรู้สึกซาบซึ้งในความรักของพ่อที่มีต่อลูก แม้ว่าความรักนั้นจะกลายเป็นความกดดันที่หวนกลับมาทำร้ายลูกอย่างแสนสาหัสก็ตาม แต่ข้าพเจ้าก็สัมผัสได้ถึงความเจ็บปวดของผู้เป็นพ่อที่มีอยู่ไม่น้อยไปกว่าลูกเลย

“SHINE” (ชายน์...โชคดีที่สวรรค์ไม่ลำเอียง)

เกศสุดา


SHINE เป็นภาพยนตร์เรื่องหนึ่งของ Scott Hick ของประเทศ สหรัฐอเมริกา ออกฉายเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1996 เรื่องนี้ได้รับรางวัลออสก้า ประจำปี 1997 สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม โดย เจฟฟรี่ รัช ผู้รับบทเป็นเดวิดตอนแก่ และภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม ตัดต่อภาพยนตร์ นักแสดงสมบทขายยอดเยี่ยมและภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รวม 6 รางวัล และยังเป็นภาพยนตร์ติดอันดับ Top 10 ในปี 1996 ของโลกอีกด้วย


ท่ามกลางสายฝนโปรยปราย เดวิดชายวัยกลางคนบุคลิกแปลกๆ มองนอกหน้าต่าง จ้องมองไปที่เปียโนในร้านอาหารแห่งหนึ่ง เขาเดินผ่าฝนไปยังร้านอาหารนั้น ทักทายผู้คนที่อยู่ในร้านพูดประโยคซ้ำไปมา จับใจความได้ว่า “อยู่ไปเรื่อยๆ ดิ้นรนให้ชีวิตรอด” เขาเริ่มเล่าถึงพ่อว่า พ่อเขาเป็นคนเคร่งศาสนาและโหดร้ายซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว


เรื่องเล่าย้อนหลัง ในวัยเด็ก เดวิด เคยแข่งขันเล่นเปียโนบนเวที ขณะที่เขาพรมนิ้วเล่นเปียโนอย่างถึงอารมณ์ ล้อเปียโนเลื่อนออกจากตัวเขา เขาก็ขยับตัวตามเปียโน ไม่ให้มันหลุดมือ เขาก็ยังเล่นไปเรื่อยๆ ไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงมนุษย์มักจะไขว้คว้าหาโอกาสหรือความฝัน ไม่ยอมปล่อยให้หลุดมือเสมอ เขาแพ้การแข่งขันทำให้พ่อโกรธ พ่อและเดวิดเดินกลับบ้าน ก้าวเดินของพ่อช่างกว้างหนักแน่นและมั่นคง ต่างจากตัวเขาที่เดินตามพ่อเท่าไหร่ก็ไม่ทัน ก้าวเล็กๆที่ไม่มั่งคงของเดวิดและก้าวใหญ่และหนักแน่นของพ่อ เปรียบเสมือนวัยและประสบการณ์ที่ไม่มีวันจะเท่ากันได้


แรคแมนนีนอฟ โน้ตบรรเลงเพลงที่ยากระดับโลก ทำนองที่บาดจิต ลึกซึ้งยากหยั่งถึงสภาวะอารมณ์ คือ สิ่งที่พ่อคาดหวังให้เดวิดเล่นได้ในตอนนั้น พ่อมักตัดสินใจโดยไม่คำนึงถึงความสามารถของเดวิดเลย พ่อเข้มงวดเผด็จการ และมีเรื่องเก็บกดในอดีตที่พ่อของเขา (ปู่ของเดวิด) ไม่ให้เขาเล่นดนตรี ความเก็บกดเหล่านี้ระบายออกในครอบครัว เดวิดจึงกลายเป็นคนไม่มีเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่กล้าตัดสิน ซึ่งมีผลต่อการเลือกทางเดินของชีวิตของเขา


เดวิดได้รับทุนไปศึกษาด้านดนตรีที่อเมริกา พ่อไม่ให้เขาไปเพราะต้องการให้ครอบครัวอยู่พร้อมหน้า แต่เขาอยากไปเรียนต่อทำให้เขากลัวและเกิดสับสนในชีวิต
ในเวลาเดียวกันเดวิดรู้จักแคเธอรีน นักเขียนชื่อดัง เดวิดมักจะไปเล่นเปียโนให้เธอฟังบ่อยๆ เธอเอ็นดูเดวิดและให้กำลังใจเขาอยู่เสมอ แคเธอรีนได้ให้ข้อคิดดีๆกับชีวิตเขา ทำให้เขากล้าตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆได้เป็นครั้งแรกในชีวิต


เขาตัดสินใจไปเรียนต่อที่อังกฤษ ฝึกซ้อมเพลงแรคแมนนีนอฟ ในขณะที่ซ้อม เขาก็เริ่มมีพฤติกรรมแปลก ๆ อีกทั้ง แคเธอรีนผู้ที่เคยเป็นที่พักพิงให้เขาก็เสียชีวิต
ในวันที่เขาเล่นแรคแมนนีนอฟบนเวที พอเล่นเสร็จ เขาก็ล้มป่วยกลางเวที เขาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลประสาท หมอสั่งไม่ให้เขาเล่นเปียโนอีก เพราะจะทำให้อาการเขากำเริบ


เดวิดมีอาการทางประสาท มีโลกส่วนตัวสูง เขาได้แต่งงานกับหมอยิบซีและสามารถเล่นแรคแมนนีนอฟได้อีกครั้ง แต่คนที่เดวิดอยากเล่นให้ฟังมากที่สุดกลับเสียชีวิตไปแล้ว นั้นคือ “พ่อ” เขาหลั่งน้ำตากลางเวทีท่ามกลางเสียงปรบมือเกรียวกราว


การเปิดเรื่องโดยการนำจุดเด่นและเอกลักษณ์ของตัวละคร(เดวิด) บุคลิกแปลกๆ สติฟั่นเฟือน บ่นอยู่คนเดียว พฤติกรรมของเดวิดเป็นตัวเกริ่นเข้าเรื่องต่าง ๆ เช่น การมองเปียโนที่อยู่ในร้านอาหารท่ามกลางสายฝนทำให้คนดูเกิดความสนใจว่า ชายคนนี้เกี่ยวข้องกับเปียโนอย่างไร


เหตุการณ์เริ่มพัฒนา โดยการเล่าเรื่องย้อนหลัง ตั้งแต่เดวิดเป็นเด็กเล่นเปียโนเก่ง พ่อสนับสนุนให้เขาเล่นดนตรี ปลูกฝังให้เอาชนะ เป็นการเล่าถึงที่มาของลักษณะนิสัยตัวละคร


ความอัจฉริยะทางด้านดนตรีทำให้เดวิดได้รับทุนไปเรียนต่อที่อเมริกา แต่พ่อไม่ให้ไป จึงเป็นประเด็นที่ทำให้คนดูสงสัย (จุดสงสัย) ว่า ในเมื่อพ่อสนับสนุนให้เขาเล่นดนตรี ต้องการให้เขาเล่นแรคแมนนีนอฟได้ แต่กลับไม่อนุญาติให้เขาไปเรียนด้านดนตรีที่อเมริกา


เรื่องนี้ความขัดแย้งประเภทมนุษย์กับมนุษย์ พ่อไม่ต้องการให้เขาไปเรียนต่อ เพราะอ้างเหตุผลว่าต้องการให้ครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้า ส่วนเดวิดก็อยากไปเรียนเพื่ออนาคต และเล่นแรคแมนนีนอฟให้ได้ตามเจตนารมย์ของพ่อที่ให้เขาไว้ตั้งแต่เด็ก


เขาตัดสินใจรับทุนไปเรียนที่อังกฤษด้วยตัวเขาเอง พ่อโกรธมาก ห้ามไม่ให้เขากลับมาบ้านอีก ตั้งแต่นั้นมาการออกจากบ้านครั้งนั้นก็เป็นตราบาปในชีวิตเขาในเวลาต่อมา เหตุการณ์นี้ คือ จุดวิกฤต ที่จะเป็นตัวโยงไปสู่ความแตกหัก


ขณะที่เขาเล่นเพลงแรคแมนนีนอฟบนเวที อารมณ์ดิ่งลึกกับตัวโน้ตเป็นล้านๆตัว พอเล่นเสร็จ เสียงปรบมือดังเกรียวกราว เขาก็ล้มป่วยลงกับพื้น การบรรเลงเพลงแรคแมนนีนอฟ จึงเป็นจุดไคลแม็กซ์ เพราะเขาสามารถทำให้พ่อภูมิใจ พิสูจน์ให้เห็นว่าดนตรีเป็นทั้งชีวิต และดนตรีสามารถเปลี่ยนชีวิตเขาได้ด้วย


การปิดเรื่องทำให้ได้ข้อคิดหลายอย่าง เดวิดกลับมาเล่นเปียโนได้อีกครั้ง กลับมาใช้ชีวิต ถึงแม้จะไม่มีพ่ออยู่ข้าง ๆ เพราะฉากสุดท้าย เดวิดและภรรยา ไปเยี่ยมศพพ่อที่สุสาน และเดวิดก็ย้ำเสมอว่า ชีวิตไม่สิ้นก็ต้องดิ้นต่อไป


SHINE หมายถึง ความสุกใส แสงสว่าง ความเปล่งปลั่ง ความแวววาว ชื่อเรื่องเป็นตัวบอกถึงแก่นเรื่อง ว่า ถึงแม้เดวิดจะป่วยเป็นโรคประสาทนานแค่ไหน แต่เขาก็กลับมาเล่นเปียโนได้อีกครั้ง พลังศิลปินในตัวเขาก็ยังคงอยู่ เปรียบเสมือนดาวก็คือดาวอยู่วันยังค่ำถึงแม้ว่าบางคืนฟ้าอาจมืด เมฆอาจบังแต่ดาวดวงนั้นก็ยังคงอยู่ที่เดิมไม่มีวันเปลี่ยนแปลง


ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้แฝงนัยมากมาย เช่น พ่อปิดเปียโนเอามือประสานกันวางทับฝาปิดเปียโน และนั่งชื่นชมผลงานของเดวิดบนเก้าอี้ผุพัง ภาพตัดมาที่ที่วางแขนที่มีรอยพรุนจากอายุการใช้งานของโซฟาที่นานมาแล้วพ่อก็เอาผ้ามาปิด แล้วก็ตัดไปฉากอื่น แสดงให้เห็นว่าเป็นการบอกถึงอดีตของพ่อที่เต็มไปด้วยความปวดร้าวและรอยแผล โดยที่ผู้แต่งไม่จำเป็นต้องบอกผู้รับสารตรงๆ


ข้อคิดที่ได้จากเรื่องที่ข้าพเจ้าได้รับคือ การนำจุดอ่อนของตัวเองมาสร้างเป็นจุดแข็ง ความรักที่เห็นแก่ตัวไม่ได้เรียกว่าความรัก ดนตรีสามารถสื่ออารมณ์ได้ดีกว่าภาษา ไม่จำเป็นต้องเป็นที่สมบูรณ์แบบถึงจะมีคนชื่นชม เป็นต้น


ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่ามีคุณค่ามากเพราะเป็นภาพยนตร์ตั้งแต่ปี 1996 แต่ตอนนี้ข้าพเจ้าเพิ่งได้ดู ในปี 2008 ผ่านมา 12 ปี ไม่ได้ทำให้หนังเรื่องนี้ล้าสมัยเลย มีประเด็นให้ขบคิด ประทับใจ ซึ่งต่างจากหนังในปัจจุบันมีเทคนิคการถ่ายทำดีแต่ไม่มีประเด็นให้คิด ก็ไม่นับว่ามีคุณค่า เรื่องนี้ถือว่าเป็นหนังอมตะเลยก็ว่าได้ เพราะวิธีการถ่ายทำ ตัดต่อ เขียนบท นักแสดง ฯลฯ องค์ประกอบรวมดูลงตัว จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าผิดหวังที่จะย้อนกลับมาดูหนังเก่าอีกครั้ง

ภาพยนตร์เรื่อง Shine

กนกวรรณ


ภาพยนตร์ Shineของออสเตรเลียเรื่องนี้ สร้างขึ้นจากชีวิตจริง ของนักเปียโน ชาวออสเตรเลีย - ยิว กำกับโดยชาวออสเตรเลีย Scott Hicks ได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ดส์ ประจำปี1997 สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม โดย Geoffrey Rush ผู้รับบทเป็นเดวิดตอนแก่ และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม ตัดต่อภาพยอดเยี่ยม นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รวม 6 รางวัลด้วยกัน


เดวิด ตัวละครเอกของเรื่อง เกิดและเติบโตมาจากครอบครัวที่อบอุ่น แต่เต็มไปด้วยความคาดหวังจากผู้เป็นบิดา โดยเคี่ยวเข็ญให้เขาฝึกซ้อมอย่างหนัก นอกจากนี้ยังพยายามปลูกฝังให้เขามุ่งแต่จะชนะสถานเดียว เดวิดได้พบกับครูคนแรก ซึ่งครูคนนี้แปลกใจและไม่เห็นด้วยที่พ่อเขาพยายามเคี่ยวเข็ญให้เขาเล่นเพลงที่ยาก เดวิดได้เรียนเปียโนอย่างจริงจัง และประกวดได้รางวัลมากมาย ผู้คนเริ่มรู้จักเขามากขึ้น รางวัลที่ใหญ่ที่เขาได้รับ คือ การได้ทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่พ่อเขาไม่ให้ไป และต่อมาได้รับทุนไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ แต่คราวนี้พ่อเขาไม่สามารถ ยับยั้งความตั้งใจของเขาได้ เขาได้เรียนเปียโนอย่างเอาเป็นเอาตาย และมีการแสดงที่ดีเยี่ยม แต่เกิดช๊อค และเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลจิตเวช เขามักพูดจาซ้ำๆวนไปวนมา โดยที่แพทย์ให้เขาเลิกเล่นเปียโนจนกว่าอาการจะดีขึ้น เมื่อเขาอาการดีขึ้นแล้วและมีคนพาออกมาจากโรงพยาบาล แต่คนนั้นก็ทนอาการของเขาที่มักจะเปลือยกายและทำข้าวของระเกะระกะไม่ได้ เขาจึงต้องระเห็จระเหินไปอยู่อาพาร์ทเม้นท์ เจ้าของที่นี่ล็อคเปียโนคู่ใจเขา เพราะเกิดความรำคาญที่ส่งเสียงดัง เขาเสียใจมากจึงเดินทางตามหาเปียโนตามที่ต่างๆ และ ได้ไปเล่นเปียโนที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง จนมีคนพบและลงพาดหัวข่าวและพ่อเขาได้ตามมาเจอพ่อเขาพยายามให้เขากลับบ้าน แต่เขาปฏิเสธ สุดท้ายเขาได้ลงเอยและมีครอบครัวที่อบอุ่นกับสาวนักพยากรณ์ อีกทั้งเขายังได้กลับมาแสดงเปียโนอีกครั้ง และประสบความสำเร็จอย่างมาก ซึ่งพ่อของเขาไม่มีโอกาสรับรู้ เพราะได้จากโลกนี้ไปเสียแล้ว


ภาพยนตร์เรื่องนี้ มีการเปิดเรื่องที่น่าสนใจ โดยเน้นตัวละครเอกของเรื่อง นั่นคือเดวิด ที่เป็นการฉายภาพที่เดวิด กำลังบ่นพึมพำระคนเสียงดนตรี ต่อมาได้เริ่มเรื่องตอนที่เขาวิ่งฝ่าสายฝนไปที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง โดยที่พึมพำคำพูด ที่คนต่างสงสัยว่าเขาพูดอะไร การเปิดเรื่องลักษณะนี้ทำให้ผู้ชม เกิดความสงสัยและอยากที่จะติดตามต่อไปว่า เรื่องราวที่แท้จริงมันเป็นอย่างไรกันแน่ มีอะไรเกิดขึ้นกับเดวิด ที่ทำให้เขา มีอาการคล้ายคนบ้า การเปิดเรื่องลักษณะนี้สามารถดึงดูดผู้ชมได้เป็นอย่างดี


เหตุการณ์เริ่มพัฒนาตรงที่ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ย้อนภาพในวัยเด็กโดยการเล่าประวัติของเดวิด ตั้งแต่เล็กจนโต โดยทำให้ผู้ชมรู้ว่า เดวิด เกิดในครอบครัวที่มีความรักความอบอุ่น แต่ก็แฝงไปด้วยความคาดหวังจากผู้เป็นพ่อด้วยเช่นกัน โดย ผู้เป็นพ่อ ได้ปลูกฝังให้เขาเล่นเปียโนตั้งแต่ยังเล็ก นอกจากนั้นยังต้องการให้เขาเอาแต่ชนะสถานเดียว พยายามให้เขาฝึกเล่นเพลงที่ยาก เพียงเพื่อต้องการชัยชนะโดยที่ไม่คำนึงถึงศักยภาพภายในตัวเขาแม้แต่น้อย

ความขัดแย้งในเรื่องเกิดจาก ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ นั่นคือ เดวิด และพ่อของเขาที่มีความคิดเห็นและความต้องการที่ไม่ตรงกัน

แก่นเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ ตอนที่เดวิด เกิดอาการช๊อค ระหว่างแสดงเปียโนเพลงที่ยากที่สุด ที่เขาต้องทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจ เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ ทำให้ชีวิตของเขาเกิดพลิกผัน

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีการนำเสนอที่ดี โดยเป็นการเล่าเรื่องแบบย้อนกลับ นั่นคือ หลังจากการเปิดเรื่องที่มีคนพึมพำอะไรในมุมมืดแล้ว ฉากต่อมา คือที่ ณ ปัจจุบันของเรื่อง และเล่าย้อนอดีตเรื่อยมาจนเหตุการณ์ดำเนินและมาประกอบเข้ากับการเปิดเรื่องในตอนแรกได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเมื่อประกอบกับเหตุการณ์ตอนเปิดเรื่องแล้วยังมีการดำเนินเรื่องต่อไปอีกด้วย ทำให้ผู้ชมเข้าถึงเหตุการณ์และลำดับของเรื่องได้เป็นอย่างดี และทำให้น่าติดตามอีกด้วย


ฉาก บรรยากาศ และดนตรีประกอบเพลง เหมาะสมเป็นอย่างดี เนื่องจาก ก่อนเริ่มเรื่องมีการเปิดเรื่องที่ฉากมือสนิท สื่อถึงความดับ ทางตัน ทางจิตใจ และฉากฝนตก ทำให้สื่ออารมณ์ตัวละครได้ชัดแจ้ง เนื่องจาก ตัวละครกำลังต้องการอะไรบางอย่างนั่นคือ กำลังตามหาเปียโน ตามทางในเมือง การใช้ฉากฝนตกหนัก ยิ่งเป็นการเสริมอารมณ์และเสริมความหมาย เพราะแสดงถึงความรวดเร็ว และความกระตือรือร้น มากกว่าที่จะใช้ฉาก ฤดูหนาว หรือฤดูแล้ง ที่จะสื่อถึงความโดดเดี่ยว อ้างว้าง


การปิดเรื่องเป็นฉากที่แสดงถึงความหดหู่แต่แฝงไปด้วยความภาคภูมิ นั่นคือ เดวิด ตัวละครเอกของเรื่อง มีความภาคภูมิใจที่เขาได้รับการตอบรับดีเป็นอย่างมากจากการที่กลับมาเล่นเปียโนอีกครั้ง และความหดหู่คือ อยากที่จะให้พ่อของเขาเอง ได้มีโอกาสเห็นความภาคภูมิใจของเขา


มีการใช้ดนตรีประกอบที่ดี เมื่ออารมณ์ โดดเดี่ยวก็ใช้เพลงที่สื่อถึงความเศร้า เข้าถึงอารมณ์ นอกจากนั้น การถ่ายภาพมีการตัดต่อที่ดี ทำให้ตื่นเต้นน่าติดตาม


ตัวละครเดวิด เป็นตัวละครเอกของเรื่อง ได้รับการปลูกฝังมาจากพ่อ ให้มุ่งมั่นและเอาชนะ จะเห็นได้ว่าเมื่อตอนเด็กจะเป็นเด็กค่อนข้างที่จะเป็นเด็กเรียน คือ จะหมกมุ่นอยู่กับตนเองและจริงจัง ต่อมาเมื่อถึงตอนที่ผิดหวังจากการที่พ่อไม่ให้ไปเรียนที่อเมริกา ทำให้ความเก็บกดที่ซ่อนภายในจิตใจได้แสดงออกมา โดยที่ความเก็บกดนี้มีติดตัวเขามาโดยตลอดตั้งแต่เด็ก โดยที่เขาไม่รู้ตัว เมื่อถึงตอนที่มีอะไรมากระตุ้น หรือทำให้เขาถึงขีดสุด เขาก็จะระเบิดมันออกมา ความเก็บกดที่แสดงออกมานั้น เช่น เมื่อพ่อไม่ให้ไปเรียนต่อ จึงไปหาที่พึ่งแต่เมื่อไม่สามารถติดต่อใครได้ จึงมาระเบิดอารมณ์ในตอนที่แก้ผ้า เปลือยเปล่าอยู่ในอ่างอาบน้ำและเปิดฝักบัว นั่งกอดเข่า อย่างหดหู่ จริงอยู่ที่คนปกติจะแก้ผ้าเปลือยตอนอาบน้ำ แต่ในขณะนั้น เขาไม่ได้ตั้งใจจะอาบน้ำเลย และเมื่อพ่อมาเรียกให้ออกไป เขาก็ไม่ยอมออก และพฤติกรรมการเปลือยเปล่านี้ก็มีผลต่อเนื่องมาถึงตอนโต คือ เมื่อเขาได้เรียนดนตรีที่อังกฤษ ก็ได้ซ้อมอย่างหนัก และไม่ได้ใส่กางเกง เดินไปข้างนอก เมื่อถึงตอนโต หลังจากที่ออกจากโรงพยาบาลจิตเวชแล้วก็มีการเปลือยล่อนจ้อน จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมที่พ่อกระทำต่อเขาครั้งยังเด็กนั้นมีผลต่อเขาอย่างมาก แสดงว่าเขานึกถึงพ่อเขาตลอดเวลา และพยายามนึกถึงสมัยเด็กๆ แม้ขณะตอนท้ายเรื่อง เขายังเดินหันหลังและก้าวกระโดด ท่าเดียวกับเมื่อตอนเด็กที่พ่อจูงกลับบ้าน


ตัวละคร Peter พ่อของเดวิด เป็นตัวละครที่ทำให้เดวิด มีชะตากรรมที่ทุลักทุเล เนื่องจาก ตัวเขาเองไม่ได้รับการสนับสนุนการเรียนดนตรีจากบิดา และเมื่อโตขึ้นจึงนำความผิดหวังนั้นมาเติมเต็มให้กับลูกชายตน โดยหารู้ไม่ว่า การกระทำของเขาไม่ได้เป็นการเติมเต็มแต่เป็นสิ่งที่ล้นเกินไป การที่เขาคาดหวังในตัวลูก มากจนเกินไป และพยายามนำสิ่งที่ยากเกินไปยัดเยียดให้ลูกทำ โดยไม่คำนึงถึงความพร้อมของลูกชาย ทำให้ลูกชายเป็นเด็กเก็บกด และเมื่อถึงตอนที่ลูกได้ทุนไปเรียนต่อ เขาก็ไม่ให้ลูกไป และได้ใช้กำลังทำร้าย ทารุณ ลูกของตนเอง การกระทำเช่นนี้ ถือเป็นการแสดงออกถึงความกลัว นั่นคือ ความกลัวที่จะสูญเสียความรัก ความอบอุ่นของครอบครัว โดยเขาอาจจะคิดว่า ถ้าลูกไปเรียนต่อแล้วครอบครัวจะไม่สมบูรณ์ ถึงแม้ตอนสุดท้ายเขาจะตามหาตัวลูกชายของเขาเจอแต่กลับรับในพฤติกรรมของลูกชายไม่ได้ จึงเดินจากไป แสดงว่าถึงแม้ว่าเขาจะกลัวที่ต้องอยู่คนเดียว แต่ในเมื่อลูกชายทิ้งเขาไปเพื่อไปตามหาความฝันของตนเองแล้วนั้น เขาก็สามารถทำใจได้ในระดับหนึ่งที่ว่า ไม่สามารถรั้งลูกชายของตนได้อีกแล้ว แต่ถึงกระนั้น ความรักที่เขามีต่อลูกชายก็ไม่ได้ลดลง เนื่องจากยังคงติดตามผลงานของลูกชายตนอยู่ตลอดเวลา


การตั้งชื่อภาพยนตร์ว่า Shine นั้น ดูแล้วชวนให้ติดตามและเข้ากันได้ดีกับเนื้อหาเป็นอย่างมาก เนื่องจาก คำว่า Shine แปลว่า ความสดใส รุ่งโรจน์ และความสว่าง สามารถสื่อถึงเนื้อเรื่องที่ว่า ตัวละครเอกของเรื่อง คือ เดวิด ที่ต้องเผชิญกับมรสุมชีวิตตั้งแต่วัยเด็กจนโต แต่สุดท้ายเขาก็กลับมาทวงความยิ่งใหญ่และเจิดจรัสอีกครั้งในการแสดงเปียโนที่เขารัก ชีวิตของเขา เหมือนกับชื่อภาพยนตร์ เพราะ เท่ากับว่าตัวเขาได้กลับมาสว่างสดใส และรุ่งโรจน์หลังจากที่มืดมนมานานนั่นเอง


ภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นภาพยนตร์ที่มีเนื้อหา และการดำเนินเรื่องที่ประทับใจเป็นอย่างมากคือการลำดับขั้นตอน เพราะนอกจากจะมีการดำเนินเรื่องที่เป็นลำดับขั้นตอนที่ชวนให้น่าติดตามแล้วนั้น คติที่แฝงมากับภาพยนตร์เรื่องนี้ สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ทั้งกับผู้ปกครองและเด็ก ในส่วนคติเมื่อผู้ปกครอง จะได้รับหลังชมภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ การอบรมเลี้ยงดูลูก เด็กจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต ย่อมต้องเกิดจากการปลูกฝัง และความรักและความเอาใจใส่ ไม่ยัดเยียดอะไรที่เกินพอดี เพราะจะเป็นผลร้ายต่อเขาในวันข้างหน้า และคติที่ได้ หากผู้ชมเป็นบุคคลที่กำลังศึกษาหาความรู้อยู่นั้น คือ การรักที่จะทำในสิ่งในสิ่งหนึ่ง ต้องอาศัยความพอดี เป็นพื้นฐาน หากเราทำอะไรเกินตัวแล้ว จะเป็นโทษแก่ตัวเราเอง กล่าวโดยสรุปว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ ให้คติ คือ ความพอดี เพราะ ในพื้นฐานของความเป็นจริงโดยทั่วไปแล้ว การทำอะไรเกินพอดีย่อมเป็นโทษต่อตนเอง เช่น การทานอาหารประเภทโปรตีนเพื่อให้ร่างกายเจริญเติบโต แต่ถ้าทานมากเกินไปก็จะเกิดภาวะอ้วน

ภาพยนตร์เรื่องนี้นอกจากจะให้คติแล้วยังแฝงความสุข ความเศร้า ความหดหู่ และความเห็นใจ ในตัวเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองอีกด้วย

Shine : โชคดีที่สวรรค์ไม่ลำเอียง

กนกกาญจน์

Shine เป็นภาพยนตร์ที่มีรางวัลการันตีจากหลายสถาบัน ซึ่งเป็นหนังที่ถูกสร้างขึ้นโดยอ้างอิงจากชีวิตจริงของชายคนหนึ่งที่ชื่อ David Helfgott ซึ่งเป็นนักเปียโนอัจฉริยะชาวออสเตรเลีย ชีวิตวัยเด็กของเดวิดได้เรียนรู้ที่จะเล่นเปียโนจากพ่อของเขาเอง และเขาก็ได้ชนะการแข่งขันมากมายติดต่อกัน จนได้รับการเสนอทุนฯไปเรียนต่อที่สหรัฐฯ แต่พ่อของเขาไม่ยอมให้ไป ซึ่งนั่นได้ทำให้เดวิดเสียใจมาก แต่ต่อมาเมื่อเดวิดได้รับทุนไปเรียนที่ Royal College of Music ที่ลอนดอน เดวิดจึงไม่คิดที่จะปฏิเสธ เขาตัดสินใจไปแบบที่ขืนใจพ่อ และนั่นพ่อเขาจึงประกาศตัดลูกตัดพ่อโดยเด็ดขาด ที่ลอนดอนเดวิดได้เรียนเปียโนกับนักเปียโนชื่อดัง ผู้ที่เจียระไนเพชรเม็ดนี้ให้สุกสว่างขึ้นมา ต่อมาเดวิดเล่นเปียโนคอนแชร์โตหมายเลข 3 ของ Rachmaninoff ได้อย่างยอดเยี่ยม แต่เมื่อการแสดงจบลง เดวิดก็หมดสติล้มลง ถูกนำส่งโรงพยาบาล กลายเป็นผู้ป่วยจิตเวช และต้องพักรักษาตัวเกือบ 20 ปี ก่อนที่จะค่อยๆ กลับฟื้นคืนสภาพที่แม้จะไม่เหมือนเดิม แต่ก็ยังมีแววอัจฉริยะเหลืออยู่ให้ผู้คนเชยชม


เรื่องราวของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เน้นไปที่ตัวละครเป็นหลัก ฉากเปิดเรื่องจึงเปิดด้วยตัวละครเอกบนพื้นหลังสีดำ แสดงให้เห็นถึงความหม่นหมอง ความมืดมิดและการต่อสู้ซึ่งก็สามารถเล่าเรื่องราวได้เป็นอย่างดี โดยได้เริ่มต้นที่ชายวัยกลางคนผู้หนึ่ง ซึ่งมีลักษณะท่าทางแปลกๆ พูดกับตัวเองคนเดียว เนื้อหาการพูดนั้นจับใจความไม่ได้ กำลังวิ่งอยู่กลางถนน และได้ไปหยุดยืนอยู่ที่หน้าร้านอาหารแห่งหนึ่งชื่อ “โมบาย” สายตาของเขาหยุดและจับจ้องอยู่ที่เปียโนตลอดเวลา ซึ่งนั่นผู้ชมจะเกิดข้อสงสัยว่าเขาเป็นอะไรและมีความผูกพันกับเปียโนอย่างไร ต่อมาภาพก็จะย้อนกลับไปยังเรื่องราวในอดีตของเด็กชายเดวิด ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้จะใช้กลวิธีการย้อนกลับไปกลับมาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ทำให้ผู้ชมภาพยนตร์เกิดความสงสัยในช่วงแรกๆ แต่ต่อมาเมื่อเรื่องราวได้ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ผู้ชมก็จะคลายความสงสัยไปในที่สุด


ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สะท้อนโศกนาฏกรรมทางด้านจิตใจอย่างรุนแรง และนักแสดงนำ ที่แสดงโดยเจฟฟรี่ รัช ก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยม เขาแสดงเป็นผู้ป่วยจิตเวชได้อย่างดีเยี่ยม จนทำให้เขาได้รับรางวัล Best Actor จากเวทีออสการ์ เดวิดเป็นตัวละครที่ได้รับความกดดันมาโดยตลอด ชีวิตในวัยเด็กของเขาต้องเผชิญกับการกดดันจากพ่อ เดวิดไม่เคยได้สัมผัสกับสิ่งที่สนุกสนานตามวัยอันสมควร แต่เขากลับต้องมาคร่ำเคร่งอยู่กับการฝึกซ้อมเปียโนแทน ภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงสิ่งหนึ่งที่ผู้ชมต้องกลับมาคิดว่า บางครั้งการมีพรสวรรค์ก็ต้องควบคู่ไปกับความเหมาะสมทางวัยวุฒิด้วย นั่นคือปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของเวลานั่นเอง


นอกจากนี้ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้แสดงถึงความรักที่ได้กลายเป็นความเห็นแก่ตัว กลายเป็นสิ่งกดดันให้เดวิดต้องเติบโตขึ้นมาอย่างเงียบเหงา อ้างว้าง และโดดเดี่ยว เส้นทางที่เหมือนโรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบของเดวิดกลับกลายเป็นเส้นทางแห่งโขดหิน นั่นเพราะได้ถูกปิดกั้นไว้ด้วยจิตใจที่คับแคบของผู้เป็นพ่อ เมื่อได้ชมภาพยนตร์ไปเรื่อยๆจนกระทั่งจบลง ทำให้รู้สึกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ดึงเอาอารมณ์ของตัวละครออกมาแสดงได้อย่างชัดเจน และเหตุการณ์ต่างๆของหนังนั้นก็ได้นำเอาทั้งความโศกเศร้าและความประทับใจมานำเสนอได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล เป็นบทเรียนอันล้ำค่าแก่ผู้ชมภาพยนตร์ อีกทั้งตัวของนักแสดงเองก็ได้ถ่ายทอดความรู้สึกและแสดงได้อย่างยอดเยี่ยมอีกด้วย


ภาพยนตร์เรื่อง shine ได้แสดงสัญลักษณ์ต่างๆมากมายให้ผู้ชมได้ขบคิดตาม ไม่ว่าจะเป็นแว่นตาของพ่อ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าแว่นตาได้แตกเป็นเสี่ยงๆ แต่พ่อก็ยังไม่ยอมเปลี่ยนแว่น นั่นแสดงให้เห็นว่าพ่อยังคงยึดติดกับความคิดเดิมๆอย่างไม่ยอมเปลี่ยนแปลง อยู่กลับกรอบความคิดเดิมจนหันหลังให้กับเดวิดอีกครั้ง ฉากที่เดวิดนั่งมองน้ำที่ไหลออกมาจากก๊อกที่ปิดไม่แน่นก็เช่นกัน ได้แสดงให้เห็นความคิดของเดวิดที่ล่องลอย เปรียบตนเหมือนกับน้ำที่ไม่ใช่น้ำ เพราะไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ เหมือนกับตัวเองที่ไม่ใช่ตัวเอง เพราะมีพ่อบังคับให้ทำโน่นนี่นั่นเอง


นอกจากนี้ก็ยังมีเหตุการณ์ต่างๆที่ได้แสดงทัศนะของเดวิดออกมาโดยไม่ต้องใช้คำพูดหรือบท เช่น ตอนที่เดวิดแข่งเปียโนแพ้ พ่อได้แสดงท่าทีกดดันเพราะไม่พอใจเดวิด ระหว่างทางกลับบ้านเขาเดินตามพ่อด้วยอาการที่เก็บกดความรู้สึก แต่เมื่อผ่านสนามเด็กเล่นที่เด็กเล่นกระโดดกัน เขาก็เขย่งกระโดดโดยเผยการกระทำของเด็กที่ถูกเก็บกดเอาไว้ให้แสดงออกมาด้วยท่าทีเด็กๆอย่างไม่รู้ตัว และเหตุการณ์ที่เดวิดตัดถุงมือที่เขารักเพื่อซ้อมเปียโน ก็ได้สะท้อนภาพการกระทำของเดวิดที่สามารถยอมสละของที่เขารักเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่เขาต้องการ


บทสรุปของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้จบลงแบบโศกนาฏกรรมอย่างที่หลายๆคนคิด นั่นเพราะหลังจากนั้นไม่นาน เดวิดก็ได้พบกับหญิงสาวผู้หนึ่งที่ชื่อว่า กิลเลียน เดวิดได้สร้างความประทับใจให้กับเธอ จนในท้ายที่สุดก็ได้แปรเปลี่ยนเป็นความรัก กิลเลี่ยนและครอบครัวได้มอบความรักที่กลายเป็นยาขนานเอกที่ช่วยรักษาเดวิดให้สามารถหวนกลับมาเล่นเปียโนและสร้างความประทับใจให้กับผู้ฟังได้อีกครั้ง เดวิดสามารถชนะใจแม่และน้องสาวของเขาจากคอนเสิร์ตในครั้งนั้น แต่น่าเสียดายที่พ่อของเขาจากไปเสียก่อนที่จะได้เห็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของบุตรชาย ฉากสุดท้ายจึงได้จบลงบนเวทีเดี่ยวเปียโนของเดวิด และ Shine ก็เป็นภาพยนตร์ที่ส่องแสงสว่างให้กับชีวิตสมกับชื่อเรื่อง และแสงสว่างที่ได้พลังจากความรักนี่เอง ที่ได้กลายมาเป็นพลังแห่งชีวิตให้กับเดวิดได้ก้าวเดินอีกครั้งนั่นเอง

SHINE

กชพรรณ

ชาย์น ภาพยนตร์ออสเตรเลียที่สร้างมาจากเรื่องจริงของนักเปียโนชาวออสเตรเลีย เดวิด เฮส์ทกอทท์ ผู้มีพรสวรรค์ในด้านเปียโนมาตั้งแต่เล็กๆ แต่ต้องโดนการกดดันจากพ่อแท้ๆของเขาจนเกิดอาการป่วยทางจิตใจ จนแพทย์สั่งห้ามเรียนเปียโนอีก แต่เขาก็สามารถกลับมาเล่นเปียโนที่เขารักได้เพราะกำลังใจจากภรรยาและครอบครัว

ชาย์น สร้างในปี1996 โดยผู้กำกับ สก็อต ฮิกส์ โดยมีเรื่องราวของเดวิดเป็นแรงบันดาลใจ ถ่ายทอดโดยนักแสดงมือฉมัง จีโอเฟรย์ รัช, โนอาห์ เทเลอร์ และนักแสดงอื่นๆอีกมากหน้าหลายตา ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ถูกเสนอเข้าชิงรางวัลออสการ์หลายสาขา และตามความคาดหมายของคอภาพยนตร์ ชาย์นชนะรางวัลออสการ์ สาขา นักแสดงชายยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, เพลงประกอบยอดเยี่ยม และสาขาอื่นๆอีกมากมาย

ชาย์น เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับนักเปียโนผู้มีพรสวรรค์ตั้งแต่เด็กๆ เดวิด เฮส์ทกอทท์ เดวิดเป็นน้องชายคนสุดท้องในจำนวนพี่น้องสามคน ปีเตอร์พ่อของเดวิดหัดให้เขาเล่นเปียโนตั้งแต่เด็กๆ และถูกจำกัดกรอบให้มีแต่ดนตรีเครื่องใหญ่เครื่องนี้ ชีวิตในวัยเด็กของเดวิดจึงมีแต่เปียโน และไม่มีโอกาสได้ออกไปเล่นตามประสาเด็กๆกับใครเลย พ่อผู้เข้มงวดคอยพร่ำสอนให้เดวิดเข้มแข็งและต้องชนะการแข่งขันเท่านั้น เดวิดเป็นเด็กที่ไม่เถียงและเชื่อฟังพ่อแม่เป็นอย่างดี อีกทั้งพระเจ้าได้มอบพรสวรรค์ด้านเปียโนให้เดวิดอย่างงดงาม พ่อภูมิใจในตัวเดวิดมากและพยายามผลักดันให้เดวิดเป็นนักเปียโนที่ยิ่งใหญ่ให้ได้ ด้วยความที่พ่อมีปมหลังในตอนเด็ก ทำให้เดวิดน้อยต้องวนเวียนอยู่ในความคิดฝันเดิมๆของพ่อ พ่อคอยกดดันเดวิดในทุกเรื่อง ทั้งเรื่องเรียน เรื่องเปียโน ไปจนถึงจิตใจของเดวิด จนกระทั่งระหว่างที่เดวิดเล่นเพลง ซึ่งเป็นเพลงที่พ่อวาดความหวังไว้กับตัวเขาไว้สูงมากจบ เดวิดถึงกับสลบลงไป และหลังจากนั้นเดวิดก็มีอาการทางประสาท แพทย์สั่งเดวิดไม่ให้เล่นเปียโนอีกต่อไป แต่หัวใจเดวิดยังมีโน้ตเพลงอยู่เต็มไปหมด เขายังอยากเล่นเปียโนที่เขารักอยู่ จนสุดท้ายเมื่อเดวิดมีครอบครัว และได้รับกำลังใจและการดูแลรักษาอย่างดีจากภรรยา กิลเลียน เดวิดก็สามารถกลับมาเล่นเปียโนได้และเปิดการแสดงอันยิ่งใหญ่อีกครั้ง เดวิดกลับมาส่องสว่างได้อีกคราหลังจากเกือบจะมืดมิดไป


ฉากแรกเปิดเรื่องด้วยใบหน้าครึ่งซีกของชายวัยกลางคนบนพื้นหลังสีดำ ชายผู้นั้นมีการพูดที่ผิดปกติ เสียงสั่นและพูดติดๆกัน พื้นหลังสีดำทำให้ภาพหน้าของผู้ชายคนนั้นชัดขึ้น ถึงจะเป็นแค่บางซีกเสี้ยว แต่ก็เป็นภาพที่สื่อให้รู้ว่าเรื่องราวเปิดเรื่องด้วยคนๆนี้ และด้วยการพูดที่ติดๆขัดๆดูแปลกของเขาสะกิดใจผู้ชมว่าเรื่องนี้จะเกี่ยวกับอะไร ฉากต่อมาเป็นฉากที่ชายคนเดิมวิ่งฝ่าฝนไปยังร้านอาหารร้านนึง ชายคนนั้นเข้าไปและพูดไม่หยุด ด้วยการพูดที่ผิดปกติของเขาทำให้คนในร้านนึกว่าเขาเป็นคนบ้า แต่มีผู้หญิงที่ชื่อซิลเวีย ดูท่าทางใจดีมาคอยช่วยและพูดคุยถามตลอดเวลา


อยู่ดีๆภาพก็ตัดไปยังผู้คนที่นั่งเรียงกันมองเข้ามาที่จอ เปรียบเสมือนเราเป็นตัวละครหนึ่งในนั้น เป็นฉากการแสดงเปียโน โดยมีเด็กผู้ชายผมดำหยักศก ใส่แว่นตาเดินตรงเข้าไป โดยมีความรู้สึกกดดันเจืออยู่ และฉากนี้ทำให้ได้รู้ว่าเด็กชายคนนั้นชื่อเดวิด เด็กน้อยเล่นเปียโนอย่างไพเราะและพลิ้วไหว แต่เกิดอุบัติเหตุเล็กน้อยที่เปียโนเลื่อนเอง ทำให้เดวิดเล่นเปียโนลำบากขึ้น ชายแก่คนนึงลุกขึ้นมาและสบถด่าเรื่องที่เปียโนเลื่อนเอง และเขาก็คือพ่อของเดวิดน้อย จากตอนแรกที่โมโหมาก แต่พอได้รับคำชมจากผู้ชมแถวนั้นก็รู้สึกภูมิใจขึ้นมา เป็นการสื่อถึงลักษณะตัวละครตัวนี้ได้ในครั้งแรกว่าเป็นคนยังไง ระหว่างทางกลับบ้าน พ่อเดินนำหน้าเดวิดลิ่วโดยไม่รอ การเดินเร็วๆนั้นทำให้รู้ว่าพ่อโกรธและผิดหวัง เพราะเดวิดแพ้


ฉากในบ้าน พ่อเล่าเรื่องสมัยเด็กของพ่อให้เดวิดฟัง และทำให้รู้ว่า พ่อนั้นมีปมในใจตั้งแต่เด็ก พ่ออยากเล่นไวโอลินแต่พ่อของพ่อเองกีดกัน ทำให้ความรู้สึกที่พ่ออยากเป็นนักดนตรีถูกปิดตาย และเดวิดกลายเป็นตัวแทนของพ่อที่จะสืบสานความฝันที่แรงกล้าของพ่อต่อไป พ่อพร่ำสอนกับเดวิดอย่างเข้มงวดว่าต้องชนะ ระหว่างนั้นก็มีแขกมาเยือน เขาคนนั้นคือกรรมการในการประกวดเปียโนที่เดวิดไปแข่งมา กรรมการมาบอกกับพ่อว่าเดวิดเป็นเด็กที่มีพรสวรรค์และเดวิดก็ไม่ได้แพ้ เขาส่งซองจดหมายสีขาวที่ปิดผนึกให้พ่อ พ่อรีบเก็บเอาไว้โดยไม่ได้เปิด ทำให้สงสัยว่าในนั้นมีอะไร กรรมการจูงใจพ่อว่าควรให้เดวิดได้เรียนรู้มากกว่านี้ แต่พ่อได้ปฏิเสธไป คืนนั้นเดวิดเล่นเปียโนอยู่ พ่อเดินเข้ามาถามถึงเพลงที่เดวิดเล่น นั่นคือเพลง แร็คมานีนอฟ 3 เพลงนี้เป็นเพลงที่ยากมากเกินกว่าเด็กจะเล่นได้สมบูรณ์แบบ พ่อหวังอยากให้เดวิดเล่นเพลงนี้ให้ได้ทั้งๆที่เป็นเด็กอยู่จึงตัดสินใจให้เดวิดไปเรียนกับกรรมการคนนั้น ชายหนุ่มรับสอนแต่บอกว่า แร็คมานีนอฟ 3 นั้นเด็กอายุอย่างเดวิดยังเล่นไม่ได้ จึงสอนเดวิดไปจนกระทั่งเป็นหนุ่ม


ภาพตัดฉายให้เห็นที่การชนะการประกวดของเดวิดในวัยหนุ่ม และได้มีผู้เชิญรางวัลผู้นึงมามอบรางวัลและถามคำถามเดวิด แต่เดวิดดูจะตอบไม่ค่อยได้ จนพ่อต้องตะโกนพูดให้แทน ฉากนี้ทำให้ได้รู้ว่า พ่อเองก็กดดันและบังคับเดวิดไปถึงจิตใจและทุกอย่าง ทำให้เดวิดเป็นคนที่ประหม่า ขาดความมั่นใจเมื่ออยู่ต่อหน้าคนอื่น ไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง เออออห่อหมกกับคนอื่นตลอดเวลา ส่วนพ่อเองก็มีความคิดที่หนักแน่นไม่เปลี่ยนแปลง พ่อรักและภูมิใจในตัวเดวิดมาก พ่อจะมีสมุดที่รวบรวมข่าวสาร รูปภาพของเดวิดที่ลงในหนังสือพิมพ์ต่างๆตัดแปะไว้ ในฉากที่พ่อดูสมุดนั้นอยู่ พ่อยิ้มและมีแววตาที่ภูมิใจเหลือเกิน และด้วยความรักที่มีต่อเดวิดมากนั้น กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างพ่อกับเดวิด เพราะเดวิดได้รับเชิญให้ไปอเมริกา เดวิดดีใจมากแต่สุดท้ายก็ไม่ได้ไป ด้วยเหตุผลของพ่อว่า ไม่อยากให้ครอบครัวแตก อยากให้ทุกคนอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา ด้วยเหตุทำให้เดวิดเสียใจมาก จะมีในฉากที่มีงานเลี้ยงที่เชิญเดวิดไปอเมริกา เดวิดได้เจอกับผู้หญิงแก่คนนึง เธอเป็นนักเขียนชื่อว่าแคทเธอรีน ผู้หญิงคนนี้จะทำให้ชีวิตของเดวิดเปลี่ยนไป


ฉากนึงที่แสดงถึงผลกระทบจากความกดดันของพ่อต่อเดวิดก็คือ ฉากที่เดวิดอาบน้ำในอ่างแล้วอุจจาระลงไป พ่อโกรธมากและฟาดเดวิดอย่างรุนแรง สื่อให้เห็นว่าเดวิดถูดกดดันอย่างมาก จนขาดการควบคุมตัวเอง แต่พ่อก็ไม่รับรู้ คำพูดที่ออกจากพ่อส่วนใหญ่จะมีแต่คำที่คอยบ่มเพาะเดวิด พ่อจะสอนให้เอาตัวรอด เข้มแข็ง ชนะคู่ต่อสู้ และจะให้เดวิดทวนคำพูดของตนอีกโดยไม่ได้สนใจถึงจิตใจของเดวิดเลย สิ่งที่พ่อกระทำกับเดวิดทั้งหมดกำลังหล่อหลอมให้เดวิดกลายเป็นคนที่ดูไม่ปกติในสายตาผู้อื่น


ฉากตัดมาเปิดที่เดวิดวัยกลางคนที่นอนอยู่บนพื้น ในทีวีมีเงาลางๆของแคทเธอรีน ในมือของเดวิดมีจดหมายสภาพเก่าและขาดอยู่ เป็นฉากที่เปิดส่งผู้ชมเข้าสู่เรื่องของเดวิดกับแคทเธอรีน เดวิดเริ่มสนิทกับแคทเธอรีน เดวิดจะไปเล่นเปียโนให้เธอฟังอยู่เสมอ และดูเหมือนเธอจะเป็นคนเดียวที่คอยสนับสนุนเรื่องเปียโนกับเดวิดอย่างอิสระ เดวิดเองก็สบายใจที่ได้อยู่กับแคทเธอรีน วันหนึ่งเดวิดได้รับจดหมาย ซึ่งจดหมายนั้นคือจดหมายที่ให้เดวิดไปเรียนต่อทุนทางด้านเปียโน แคทเธอรีนเป็นเพียงคนเดียวที่ดีใจกับเดวิด เดวิดอยากให้พ่อดีใจมากกว่า แต่ก็รู้อยู่แก่ใจว่าพ่อต้องโกรธมากแน่ๆ และก็เป็นจุดแตกหักระหว่างพ่อกับเดวิดจริงๆ พ่อทุบตีร่างกายเดวิดอย่างหนักสาหัส แต่สุดท้ายเดวิดก็เลือกที่จะออกจากบ้านไป พ่อเสียใจมากถึงกับเอาสมุดที่รวบรวมข่าวและรูปภาพเกี่ยวกับเดวิดไปเผาทิ้งทั้งหมด แสดงถึงความโกรธของพ่อ สัญลักษณ์อีกอย่างที่แสดงว่าพ่อโกรธมากก็คือ เปลวไฟที่สะท้อนในแว่นตาของพ่อทั้งสองข้างที่ตรงกับตาพอดี สื่อให้รู้ว่าในดวงตาพ่อมีแต่ความโกรธ
ต่อมาเดวิดเข้าเรียนต่อทุนตามที่ต้องการ เดวิดได้มีโอกาสเจอครูที่เก่งกาจ และมีโอกาสได้เล่นแร็คมานีนอฟ 3อีกครั้ง เพลงแร็คมานีนอฟ 3กลายเป็นเพลงที่เป็นจุดหมายของเดวิดไปแล้ว เพราะเป็นเพลงที่พ่อตั้งความหวังกับตนไว้มาก เดวิดตัดสินใจเลือกเพลงนี้เข้าประกวดรอบสุดท้าย ครูตอบตกลงที่จะสอนเดวิดอย่างเข้มงวด เดวิดเองก็เข้มงวดกับตัวเอง ซ้อมอย่างเอาเป็นเอาตาย เดวิดซ้อมหนักมาแม้อากาศจะหนาวเหน็บ จนกระทั่งถึงวันแข่ง เดวิดเล่นแร็คมานีนอฟ 3 อย่างหนักหน่วงและงดงามสมกับที่ซ้อมมาอย่างหนัก คุณครูภูมิใจและซาบซึ้งในการแสดงของเดวิดครั้งนี้มาก จนจบลงเสียงตกมือดังเกรียวกราว เดวิดยังไม่ทันได้ยืนโค้งขอบคุณ แต่กลับล้มลงสลบไป


เดวิดกลายเป็นคนป่วยทางประสาท เนื่องจากความเครียดและถูกกดดันมากเกินไป แพทย์สั่งไม่ให้เดวิดเล่นเปียโน เขากำลังจะพลัดพรากจากสิ่งที่เขารัก ชีวิตในตอนนี้กลับมืดมิดทันที เดวิดอาศัยอยู่ในโรงพยาบาลโรคจิตและพักรักษาตัวเองจนได้เจอกับผู้หญิงคนนึง เธอชื่อเบอริล เดวิดตามออกไปอยู่กับผู้หญิงคนนั้น แต่ก็อยู่ได้ไม่นานเพราะเดวิดสร้างความเสียหายแก่บ้านของเบอริล จนเบอริลส่งเดวิดไปอยู่กับมิน็อก ทีนั่นมีเปียโน ทำให้เดวิดได้เล่นเปียโนอย่างเต็มที่ เดวิดเอาแต่เล่นเปียโนจนก่อความรำคาญให้เพื่อนบ้าน ดูเหมือนนี่ไม่ใช่สิ่งที่เดวิดต้องการ


วันหนึ่งเดวิดนั่งเล่นอยู่สวนสาธารณะและออกวิ่งตามคู่ชายหญิงคู่หนึ่ง เดวิดวิ่งไปเรื่อยๆ และฉากนี้ก็ได้กลับวนทับซ้อนกับฉากแรกที่เปิดตัวภาพยนตร์ เดวิดได้เข้าไปอยู่ในร้านอาหารแห่งนั้น และได้เล่นเปียโนที่เขารักอย่างมีความสุข เดวิดมีชื่อเสียงขึ้นมา และได้ลงหนังสือพิมพ์ จนพ่ออ่านเจอ ในนั้นเขียนว่า “David shines” หรือก็คือเดวิดกลับมาส่องประกายอีกครั้ง พ่อได้เดินทางมาหาเดวิดที่ห้องพัก เป็นฉากที่พ่อกับลูกเจอกันหลังจากไม่เจอกันนาน พ่อนำเชือกที่มีเหรียญทองคล้องให้เดวิด ซึ่งเหรียญนี้เป็นเหรียญตั้งแต่สมัยเด็กๆที่อยู่ในซองจดหมายสีขาว พ่อไม่เคยได้ให้เดวิดไว้เลย พ่อเล่าเรื่องตอนเด็กๆของพ่ออีกครั้ง คำถามนี้พ่อรู้ดีว่าเดวิดต้องตอบอย่างที่เคยตอบ แต่เดวิดกลับบอกว่าจำไม่ได้ และพ่อก็รับรู้ว่าเดวิดได้เลือกทางของตนเองแล้ว


ซิลเวียเพื่อนของเดวิดได้พากิลเลียนเพื่อนของเธอมาแนะนำให้เดวิดรู้จัก กิลเลียนมีความสามารถพิเศษคือผูกดวงได้ ฉากที่ทั้งสองได้เจอกันเป็นฉากที่ตลกมาก กิลเลียนเจอเดวิดในสภาพที่กายเปลือยเปล่า แต่กิลเลียนก็ไม่ได้แสดงความรังเกียจ กลับดูเปิดใจและยอมรับเดวิดเป็นอย่างดี ฉากที่กิลเลียนนั่งมองเดวิดเล่นเปียโนในร้าน กิลเลียนมองเดวิดอย่างทึ่งๆปนชอบใจ เป็นฉากที่เฉลยทีละนิดในความรู้สึกของกิลเลียน เธอเป็นเพื่อนที่ดีของเดวิด คอยพาเดวิดไปสถานที่ต่างๆและดีต่อเดวิดมาก ฉากที่กิลเลียนจะต้องกลับไปยังที่ของเธอ เดวิดขอกิลเลียนแต่งงาน กิลเลียนตกใจมากแต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธอย่างชัดเจน คำพูดเด็ดของเดวิดที่ตรึงใจกิลเลียนก็คือ “ให้ถามดวงดาวดูสิ” กิลเลียนได้แต่คิดถึงเรื่องที่เดวิดขอแต่งงาน และคำพูดของเดวิด จึงตัดสินใจนำดวงของเดวิดมาผูกดู ในขณะนั้นมีสัญลักษณ์ถึงการตัดสินใจของกิลเลียนก็คือ กิลเลียนใช้นิ้วเคลื่อนแหวนแต่งงานไปมา จนกระทั่งหลุดออกมาและวางทิ้งไว้ เป็นอันเข้าใจว่า กิลเลียนตกลงแต่งงานกับเดวิด ชีวิตของเดวิดดูมีความสุขขึ้นมาก กิลเลียนเป็นผู้หญิงที่น่ารักมาก คอยดูแลเดวิดและรักเดวิดอย่างใจจริง เธอใจเย็นและเข้าใจเดวิดเสมอ กิลเลียนเป็นกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ในการที่เดวิดจะกลับมาเล่นเปียโนและแสดงโชว์ยิ่งใหญ่อีกครั้ง


ภาพตัดมาที่ฉากเดวิดยืนบนเวที และมีเสียงตบมือดังสนั่น ทุกคนยืนตบมือให้เดวิดอย่างชื่นชม เดวิดดีใจมากจนร่ำไห้ด้วยความตื้นตัน ทุกคนที่อยู่ในชีวิตของเดวิดได้มาดูการแสดงอันยิ่งใหญ่นี้ ขาดแต่เพียงคนเดียว คนที่สำคัญมากของเดวิด ฉากสุดท้ายเดวิดนั่งมองป้ายสุสานของพ่อ แต่ความรู้สึกของเขาก็ไม่ได้เสียใจถึงขั้นใจจะขาด แต่ก็เป็นความหม่นมองในใจ เดวิดเดินคุยกับกิลเลียนไปอย่างมีความสุข


สิ่งที่ประทับใจในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็จะมีอยู่เด่นชัดในเรื่องตัวละคร นักแสดงที่แสดงเป็นเดวิดทั้งวัยเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่แสดงได้ดีมาก โดยเฉพาะในวัยผู้ใหญ่ซึ่งได้ จีโอเฟรย์ รัช นักแสดงมากฝีมือมาแสดง ซึ่งขอชื่นชมผู้คัดตัวแสดงเพราะ จีโอเฟรย์ รัชในเรื่องนี้ แสดงออกมาได้เหมือนเดวิดมาก แม้กระทั่งรูปลักษณ์ที่เหมือนกับเดวิดอย่างกับถอดแบบออกมา ภาพยนตร์เรื่องนี้ภาพสวย แต่ก็ดูไม่ได้เน้นถึงบรรยากาศมากมาย ภาพและเรื่องจับอยู่แต่เรื่องราวของเดวิด และลูกเล่นที่สลับเหตุการณ์การนำเสนอก็แปลกดี ดึงดูดให้ผู้ชมไม่เบื่อ และติดตามเรื่องราวไปเรื่อยๆ ถึงแม้ในช่วงท้ายๆของภาพยนตร์หรือแม้กระทั่งฉากจบจะดูกระชับเกินไป จนขาดความซาบซึ้งที่ควรจะได้มากกว่านี้ แต่เรื่องนี้ได้ให้ข้อความใหญ่ๆที่ตรึงในหัวใจของผู้ชมไว้อย่างดี ความพยายาม ความอดทน และการต่อสู้ต่ออุปสรรคของเดวิดสอนให้ผู้ได้รับชมมีความเข้มแข็งขึ้น และรู้สึกอิ่มเอมใจกับความสุขที่เดวิดได้รับหลังจากผ่านสิ่งเลวร้ายมามากมาย