กนกนภา
Shine เป็นภาพยนตร์ออสเตรเลียที่ได้เข้าฉายในหลายประเทศจนได้รับความนิยมติดอันดับหนึ่งในสิบภาพยนตร์ยอดนิยมของโลกในปี 1996 โดยมีการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในสาขาต่างๆทั้งในประเทศออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการการันตีถึงคุณภาพของทั้งผู้ผลิตและนักแสดง ไม่ว่าจะเป็นรางวัลออสกา(oscar)นักแสดงนำชายยอดเยี่ยมอย่างเจฟฟรีย์ รัช (Geoffrey Rush) ผู้รับบทบาทเดวิด หรือรางวัลโกลเด้น คีย์(Golden Key)ผู้กำกับยอดเยี่ยมอย่างสก๊อต ฮิกส์ (Scott Hicks) และอื่นๆอีกมากมาย
Shine เป็นภาพยนตร์แนวดราม่าที่สร้างขึ้นโดยอ้างอิงจากชีวิตจริงของเดวิด เฮล์ฟกอตต์ (David Helfgott) นักเปียโนอัจฉริยะชาวออสเตรเลีย เชื้อสายยิว ที่มีพรสวรรค์ในการเล่นเปียโนตั้งแต่เล็ก จึงถูกปีเตอร์ เฮล์ฟกอตต์ (Peter Helfgott)พ่อของเขากดดันให้ฝึกฝนอย่างหนักด้วยหลักสูตรที่ยากเกินตัวเพื่อชัยชนะในการแข่งขัน ซึ่งเขาก็ทำได้ดีจนได้รับการเสนอทุนไปเรียนต่อที่สหรัฐฯแต่พ่อไม่ยอมให้ไป ต่อมาได้รับทุนไปเรียนที่ Royal College of Music กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แต่ด้วยพลังแห่งความฝันที่อยู่ภายใต้แรงกดดันตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา ประกอบกับการสนับสนุนของนักเขียนสตรีสูงศักดิ์วัยกลางคนเชื้อสายรัสเซีย ที่ให้อะไรแก่เขาในสิ่งพ่อแม่ให้ไม่ได้ คือความเข้าใจในพลังอันยิ่งใหญ่ที่มีอยู่ในตัวเขา คอยให้กำลังใจ และช่วยให้เขาได้ปลดปล่อยมันออกมา เดวิดจึงตัดสินใจไปแบบขืนใจพ่อ แม้ว่าเขาจะถูกประกาศตัดลูกตัดพ่อตั้งแต่ตอนนั้นก็ตาม เมื่อไปอยู่ที่อังกฤษเขาได้เรียนเปียโนกับเซซิล พาร์คส์(Cecil Parkes)นักเปียโนชื่อดังชาวอังกฤษ ผู้ขัดเกลาฝีมือการเล่นเปียโนระดับสูงให้เขา เขาหมั่นฝึกซ้อมตามคำสอนของครูอย่างหนัก จนสามารถเล่นเปียโน คอนแชร์โตหมายเลข 3 ของรัคมานีนอฟ (Rachmaninoff) ได้อย่างยอดเยี่ยมจนได้รับการบันทึกไว้ว่าเป็นสุดยอดการแสดง Rach 3 ซึ่งว่ากันว่าเป็นบททดสอบสุดท้ายที่ยากที่สุดของความเป็นเลิศทางเปียโนตามที่เขาต้องการ หลังการแสดงใน Albert Hall จบลง เขาล้มลงหมดสติ ถูกนำส่งโรงพยาบาล โดยที่หมอสั่งห้ามไม่ให้เล่นเปียโนอีกและต้องพักรักษาอาการทางประสาทอยู่เกือบยี่สิบปี ก่อนที่จะค่อยๆ กลับฟื้นคืนสู่สภาพที่ไม่ปกติเหมือนเดิมคือ ดูสนุกสนานร่าเริง พูดจาเร็วจนฟังไม่ได้ศัพท์ ยิ้มและหัวเราะตลอดเวลา และเขาก็ได้กลับมาเล่นเปียโนอีกครั้งที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งและเล่นประจำอยู่ที่นั่น ทุกคนต่างตกตะลึงในลีลาการเล่นเปียโนของชายที่สติไม่สมประกอบอย่างเขา ต่อมาเขาได้พบกับกิลเลียนเพื่อนของซิลเวียคนที่เขาอาศัยอยู่ด้วยและทั้งคู่ก็แต่งงานกัน หลังจากนั้นไม่นานพ่อของเขาเสียชีวิต กิลเลียนดูแลเดวิดอย่างใกล้ชิดด้วยความรัก จนในที่สุดเขาก็ได้ขึ้นเวทีแสดงคอนเสิร์ตเป็นครั้งแรกหลังจากห่างหายไปนานกันการรักษาตัว ท่ามกลางความปลาบปลื้มใจ ชื่นชมและชื่นชอบของภรรยาที่เป็นกำลังใจสำคัญ ตลอดจนแม่ น้องสาวและผู้ชมอีกมากมาย
ภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจะให้ความสำคัญกับตัวละครเป็นหลัก เพราะเปิดเรื่องด้วยหน้าของผู้ชายคนหนึ่งบนพื้นสีดำที่กำลังพรึมพรำอะไรบางอย่างกับตัวเอง และชายคนนั้นเองที่เป็นตัวดำเนินเรื่องตั้งแต่เริ่มเรื่องจนกระทั่งจบเรื่อง ชายใส่แว่นตาพร้อมกับบุหรี่หนึ่งมวนท่าทางไม่เหมือนคนปกติเท่าไรนัก วิ่งตากฝนมาเคาะกระจกร้านอาหารที่มีคนเล่นเปียโน ซี่งกำลังจะปิดแล้วแต่ก็ยังมีพนักงานอยู่ในร้าน เขาคนนั้นคือเดวิด ซึ่งเป็นตัวละครเอกของเรื่อง การลำดับเหตุการณ์ของเรื่องนี้เริ่มเรื่องด้วยเวลาในปัจจุบันและเล่าย้อนไปถึงเรื่องราวในอดีตที่มีความสัมพันธ์และส่งผลสืบเนื่องให้เกิดเหตุการณ์ในปัจจุบันสลับไปมา โดยมีเดวิดเติบโตไปพร้อมๆกับเหตุการณ์ต่างๆเหล่านั้น ฉากส่วนใหญ่ในตอนช่วงต้นและกลางเรื่อง มักเป็นฉากฝนตกหรือไม่ก็เป็นฉากมีโทนสีที่ให้บรรยากาศเศร้าหมอง ไม่สดชื่น สดใส รวมไปถึงบรรยากาศในบ้านของเดวิดที่ให้ความรู้สึกหดหู่และเงียบเหงาซึ่งอาจสื่อถึงชีวิตที่อึดอัด มืดมนของเดวิดและอาจรวมถึงสมาชิกในครอบครัวที่ต้องอยู่ภายใต้การกดดันจากพ่อ ส่วนในช่วงหลังบรรยากาศโดยรวมมักมีแสงสว่างสดใส ซึ่งอาจเปรียบเสมือนอารมณ์ความรู้สึกของเดวิด ที่ได้แต่งงานและมีความสุขกับชีวิตที่เขาเลือกเองหลังจากที่ต้องทนทุกข์อยู่ในความมืดมนมาเกือบครึ่งชีวิต นอกจากนี้ยังมีการนำฉากเดิมในตอนเริ่มเรื่องมาปรากฏอีกครั้ง เมื่อข้อขัดแย้งต่างๆได้ยุติลง เสมือนว่าเป็นการบรรจบกันระหว่างเรื่องราวในอดีตกับปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจและน่าติดตาม
เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในShine ล้วนอยู่ภายใต้ความขัดแย้งระหว่างปีเตอร์ พ่อผู้มีชีวิตเป็นครอบครัวกับเดวิด ลูกชายผู้มีเสียงดนตรีเป็นชีวิต จนเป็นชนวนสำคัญให้เหตุการณ์ต่างๆในเรื่องตั้งแต่ต้น ดำเนินไปสู่จุดวิกฤต จุดไคลแม๊กซ์ จนกระทั่งจุดจบของเรื่อง ตัวละครทั้งสองนี้จึงมีพฤติกรรมและลักษณะที่น่าสนใจอยู่หลายประการ
เดวิดเป็นตัวละครที่เติบโตไปพร้อมๆกับเรื่องราวและกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ ด้วยลักษณะที่ส่อแววความเป็นอัจฉริยะมาตั้งแต่เด็ก เขาจึงได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีด้วยความรักที่หนักอึ้งไปด้วยความหวังของผู้เป็นพ่อ เขาทำทุกอย่างตามที่พ่อต้องการมาตลอด จนทำให้กลายเป็นเด็กที่ไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง ไม่กล้าตัดสินใจแม้แต่ที่จะพูดอะไรออกไปจากความคิดและจิตใจของตัวเอง หากสังเกตฉากที่เดวิดแข่งขันเปียโนครั้งแรก จะเห็นได้ว่าสีหน้าท่าทางของเขาดูตึงเครียดและดูเหมือนว่าถูกบังคับให้มา แต่เขาก็สามารถเล่นเปียโนในเพลงที่พ่อเลือกให้ซึ่งถือว่ายากสำหรับเด็กในวัยนั้นได้อย่างเฉียบขาด จึงเป็นที่น่าสงสัยว่า ณ ช่วงเวลานั้น แท้จริงแล้วเดวิดรู้สึกอย่างไรกันแน่ระหว่างความรักและหลงใหลในเสียงดนตรีกับความรู้สึกกดดันที่ถูกผู้เป็นพ่อบังคับให้เล่นและฝากความหวังไว้ที่เขา
แต่แล้วเมื่อโตขึ้นนิสัยรักในเสียงดนตรี(เปียโน)ตามที่พ่อได้ปลูกฝังไว้ตั้งแต่เล็กนั้นก็เต็มเปี่ยมอยู่ในหัวใจของเขา แต่ด้วยความกดดันจากพ่อที่ไม่ยอมให้เขารับทุนไปเรียนต่อที่สหรัฐฯและอังกฤษ ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่อยากให้ใครมา “ทำลายครอบครัว” ทำให้เดวิดเริ่มมีอาการของคนที่อยู่ภายใต้ความกดดันอย่างหนัก จนควบคุมตัวเองไม่อยู่ดังเช่นตอนที่เขาถ่ายอุจจาระลงในอ่างอาบน้ำ เนื้อตัวสั่นสะท้านไปหมด เมื่อพ่อมาเห็นก็ถูกตีอย่างแรงสร้างความรู้สึกหวาดกลัวและกดดันเพิ่มขึ้นไปอีก จนในที่สุดพลังความมุ่งมั่นสู่ความฝันเพื่อทำในสิ่งที่ตนเองรักเท่าชีวิตของเขา ก็ไม่มีใครสามารถฉุดรั้งเอาไว้ได้แม้แต่พ่อ ผู้ที่เขายอมทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการตลอดชีวิตที่ผ่านมา ความกล้าตัดสินใจของเดวิดเพื่อไปเรียนต่อที่อังกฤษโดยไม่ฟังคำทัดทานของพ่อ การยอมแลกความฝันกับครอบครัวที่ต้องตัดขาดกับพ่อและทุกคนในบ้าน ทำให้ความสงสัยของดิฉันที่กล่าวไว้ในตอนต้นหมดไปทันที เพราะไม่ว่าสาเหตุของความรักในเสียงดนตรีของเขาจะเกิดจากอะไรก็ตาม แต่สิ่งที่เขาทำได้แสดงให้เห็นว่าเสียงดนตรีคือชีวิตและความฝันของเขาอย่างแท้จริง และเมื่อตัดสินใจก้าวออกมาแล้ว เขาก็ไม่เคยคิดจะถอยหลัง แต่กลับใช้แรงกดดันที่เคยมีให้เปลี่ยนเป็นแรงผลักดันไปสู่จุดสูงสุดในชีวิต
เขาตั้งใจฝึกซ้อมเปียโนอย่างหนักหน่วงเพื่อเล่น Rach 3แบบปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ได้เรียนรู้มาจากเซซิล พาร์คส์นักเปียโนผู้มีชื่อเสียงชาวอังกฤษ และด้วยความกดดันที่สะสมมาตั้งแต่วัยเด็กที่พ่อมักสอนให้เล่นอะไรที่ยากเกินตัวมาถึงจุดสุดท้าย เขาได้ปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกทั้งหมดภายในจิตใจด้วยการเล่น Rach 3 ของรัคมานีนอฟที่เป็นสุดยอดแห่งดนตรีเปียโน ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกอันแสนโกลาหลอลหม่าน ซึ่งเดวิดก็เข้าถึงแบบตีแตก แลกด้วยชีวิตของตนเองอีกครั้ง จิตวิญญาณของการเป็นนักเปียโนได้เข้าไปอยู่ในสายเลือดของเขาอย่างเข้มข้น สังเกตได้จากตอนที่เขาไม่สามารถเล่นเปียโนได้เพราะหมอสั่งห้าม เมื่อเขาได้ยินเสียงเปียโนครั้งใด เขาก็จะกระดิกนิ้วตามเสมือนว่าได้พรมนิ้วอยู่บนคีย์เปียโนเลยทีเดียว การที่เขาพอใจและมีความสุขกับชีวิตที่เป็นอยู่โดยไม่คิดที่จะกลับไปอยู่กับครอบครัวที่บ้านเพราะสิ่งที่เขาเป็นอยู่คือหนทางชีวิตที่เขาเลือกเองแต่เขาก็ยังคงรับรู้ได้ถึงความรักที่พ่อมีให้เขาไม่เคยเปลี่ยนแปลง สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าความฝันที่เขายอมแลกด้วยชีวิตทั้งชีวิตมันคุ้มค่าและเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่แล้วสำหรับตัวเขา
ตัวละครอีกคนหนึ่งที่น่าสนใจและน่าค้นหาเรื่องราว ความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนความต้องการที่อัดแน่นอยู่ในใจของเขา ก็คือปีเตอร์ เฮล์ฟกอตต์ (Peter Helfgott) พ่อของเดวิด ปีเตอร์เป็นชาวยิวที่หนีภัยสงครามและการคุกคามของนาซีจากโปแลนด์มาอยู่ที่ออสเตรเลีย ความเจ็บปวดอันโหดร้ายกับสูญเสียพ่อแม่พี่น้องที่เขารักไปได้ตราตรึงอยู่ในใจของเขาอยู่ตลอดเวลา “ชีวิตของเขาคือครอบครัว” เขาจึงต้องการให้ลูกๆอยู่พร้อมหน้ากันตลอดไป การจากไปของใครสักคนในบ้านทั้งๆที่ยังมีชีวิตอยู่ถือว่าเป็นการทำลายครอบครัว และนั่นก็เป็นเหตุผลที่เขาไม่ยอมให้เดวิดไปเรียนต่อที่สหรัฐฯและอังกฤษ
ด้วยการยึดมั่นในจิตใต้สำนึกของตนจากประสบการณ์ที่เลวร้าย ทำให้ความรู้สึกภายในใจกับการแสดงออกของปีเตอร์ดูเหมือนว่าจะขัดแย้งกัน จากชีวิตในวัยเด็กที่โดนกีดกันไม่ให้เล่นดนตรีปีเตอร์จึงยกความฝันนี้มาฝากไว้ที่เดวิด เขาสอนเปียโนลูกด้วยตัวเองตั้งแต่ยังเล็ก และอยากให้ลูกเก่งและเป็นผู้ชนะเสมอจึงยัดเยียดบทเรียนยากๆให้ในขณะที่ลูกยังไม่พร้อม และด้วยความรักประกอบกับความหวังดีที่ต้องการให้ลูกประสบความสำเร็จที่อาจมากเกินไป จนทำให้ลูกรู้สึกว่าต้องอยู่ระหว่างความฝันอันยิ่งใหญ่ที่พ่อตั้งไว้ให้เขาประสบความสำเร็จกับโอกาสอันน้อยนิดที่พ่อปิดไว้ไม่ให้เขาไปถึงจุดนั้น ความรักที่มากล้นของพ่อที่มีต่อลูกจึงกลับกลายเป็นความกดดันอันโหดร้ายที่สร้างความทุกข์ทรมานให้แก่เขาทั้งคู่
ด้วยอุดมการณ์ที่แตกต่างระหว่างพ่อผู้มีชีวิตเป็นครอบครัวกับลูกชายผู้มีเสียงดนตรีเป็นชีวิต เมื่อเดวิดตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตของตัวเอง นั่นเท่ากับว่าเขาได้ทำลายชีวิตของพ่อลงไปด้วยในขณะเดียวกัน เหตุการณ์หลายตอนในเรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นลักษณะร่วมอย่างหนึ่งที่แฝงอยู่ในความขัดแย้งของความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกคู่นี้ นั่นคือ ทั้งคู่ต่างมีความรักอันยิ่งใหญ่ให้กัน และรับรู้ถึงความรู้สึกนั้นเสมอมา เพียงแต่เดวิดเลือกที่จะเดินไปตามเส้นทางแห่งความฝันอันสูงสุดในชีวิตของเขา เลือกที่จะเดินไปข้างหน้าโดยไม่คิดที่จะหวนกลับมาจมปลักอยู่กับความรู้สึกที่แสนจะเจ็บปวดทรมานที่เคยเจอในอดีต แต่เขาใช้ชีวิตที่เหลืออยู่กับจิตวิญญาณแห่งความเป็นนักเปียโนที่เขาแลกมาด้วยชีวิต อยู่กับความเป็นจริงในปัจจุบัน แตกต่างจากพ่อของเขาที่ยังคงยึดติดอยู่กับความคิด ความรู้สึกเดิมๆ ที่ฝังใจมาตั้งแต่อดีต เขาเก็บความเจ็บปวดนั้นไว้ในใจเสมอ ซ้ำยังส่งผ่านความรู้สึกนั้นไปยังคนรอบข้างที่เขารักอย่างไม่รู้ตัว ทุกคนต้องเชื่อฟังคำสั่งและรอการตัดสินใจของเขา ความอบอุ่นในครอบครัวไม่ได้เกิดจากการอยู่ร่วมกันอย่างพร้อมหน้าอย่างที่เขาคิด แต่มันเกิดจากสายใยแห่งความรักที่มีต่อกันต่างหาก
เมื่อครั้งที่เดวิดชนะการแข่งขันเปียโนอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่รู้จักของทุกคนก่อนที่จะได้รับทุนเรียนต่อ พ่อของเขาภูมิใจมาก ถึงขนาดตัดข่าวในหนังสือพิมพ์มาเก็บไว้และชื่นชมอย่างมีความสุข แต่พอรู้ว่าเดวิดตัดสินใจไปเรียนต่อโดยไม่ฟังคำขู่ตัดพ่อตัดลูกหรือแม้แต่คำร้องขอจากเขา เขาพยายามเก็บอาการผิดหวังและเสียใจแต่ก็กลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่ แล้วจึงนำข่าวของเดวิดที่เคยชื่นชมนั้นมาเผาทิ้ง เขาไม่เคยตอบจดหมายที่เดวิดส่งมาจากอังกฤษเลยแม้แต่ฉบับเดียว ครั้นเมื่อเดวิดโทรศัพท์มาหาก็ไม่คุยด้วย จนกระทั่งถึงตอนใกล้จบเรื่องซึ่งเป็นฉากสุดท้ายที่พ่อและเดวิดได้เจอกัน เขานำเหรียญห้อยคอซึ่งน่าจะเป็นเหรียญแห่งชัยชนะที่ทำเองมาให้เดวิด เขาสวมกอดเดวิดอย่างเคยและยังคงพูดประโยคเดิมที่เคยพูดกับเดวิดมาตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก “มองหน้าพ่อแล้วบอกว่า...แกเป็นคนโชคดี ไม่มีใครรักแกเท่าพ่อ ไม่มีใครเหมือนพ่อ...ตอนพ่อยังเด็ก พ่ออุตส่าห์เก็บออมเงินซื้อไวโอลินเอง แล้วรู้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้น...” เหตุการณ์ที่ยกมาข้างต้นนี้แสดงในเห็นว่าพ่อของเดวิดยังคงยึดติดอยู่กับอุดมคติเดิมๆแม้ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนแปลงไป ความรักระหว่างพ่อลูกที่ยังคงมีให้กันเสมอไม่ว่าจะช่วงเวลาไหนก่อให้เกิดความสุขอันยิ่งใหญ่ก็จริง แต่การใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ขังตัวเองอยู่กับความมืดมนจากเรื่องราวอันเลวร้ายในอดีตอาจบดบังความสุขสูงสุดในชีวิตที่ควรจะได้รับก็เป็นได้
แว่นตา...คือสัญลักษณ์สำคัญที่เป็นตัวแทนในการสื่อให้เห็นถึงความเหมือนและความแตกต่างของเดวิดและพ่อ แว่นตาเปรียบเสมือนกรอบชีวิตที่ถูกกำหนดขึ้น ทั้งเดวิดและพ่อใส่แว่นตาเหมือนกัน แต่เส้นทางชีวิตของทั้งคู่ต่างกัน เดวิดไม่ใส่แว่นตาตอนเล่น Rach 3 นั่นอาจสื่อให้เห็นว่าเดวิดได้ปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกไปกับการเล่นเปียโนของเขาอย่างเต็มที่จนหลุดพ้นจากกรอบของชีวิต เดวิดเปลี่ยนแว่นตาอันใหม่เมื่อแว่นอันเก่าแตก แต่พ่อของเขายังคงใส่แว่นที่แตกอยู่อย่างนั้น แสดงว่าเดวิดพร้อมที่จะเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆเข้ามา เลือกที่จะเดินไปข้างหน้าต่อไปเรื่อยๆ ต่างจากพ่อของเขาที่ยังคงปิดตัวเองอยู่กับอดีตและความคิดเดิมๆไม่เปลี่ยนแปลง
สาระสำคัญของ Shine อยู่ที่ความขัดแย้งบนพื้นฐานแห่งความรักระหว่าง พ่อผู้มีชีวิตเป็นครอบครัวกับลูกชายผู้มีเสียงดนตรีเป็นชีวิต พ่อเป็นผู้หล่อหลอมนิสัยการรักในเสียงดนตรีและสอนให้เดวิดเล่นเปียโนตั้งแต่เด็กเพื่อให้สานต่อความฝันที่ล่มสลายของตนในวัยเด็ก แต่กลับไม่ให้โอกาสเขาทำตามความฝันเพราะยังคงฝังใจอยู่กับการสูญเสียครอบครัวในอดีต จึงอยากให้ครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้า แต่หากคนในครอบครัวไม่มีความสุข คำว่า “ครอบครัว”นั้นก็ถือว่าได้ถูกทำลายลงไปแล้ว การยัดเยียดความหวังใส่มือผู้มีความฝันอันบริสุทธิ์ก็เช่นกันจากความหวังดีอาจกลายเป็นความกดดันอันแสนจะโหดร้ายได้ดังกรณีของเดวิดนี้
คนในครอบครัวเป็นตัวการสำคัญในการหล่อหลอมคนๆหนี่งให้เติบโตขึ้นในลักษณะที่แตกต่างกัน ความฝันและความสำเร็จบางครั้งก็ต้องแลกด้วยชีวิต ถ้าเรากล้าพอที่จะดิ้นรนให้หลุดพ้นจากกรอบชีวิตที่ใครบางคนกำหนดไว้เพื่อทำตามความฝันของตัวเอง กล้าที่จะก้าวออกจากวังวนแห่งความมืดมน เก็บเอาความเจ็บปวดในอดีตมาเป็นแรงผลักดันไปถึงจุดสูงสุดของชีวิตให้ได้ ถึงแม้ว่าสักวันเราอาจต้องลงมาจากจุดนั้น...แต่มันก็เป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจมิใช่หรือ
ถ้าเดวิดไม่มีพ่ออย่างปีเตอร์....เขาอาจไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับความสำเร็จสูงสุดเช่นนี้ก็ได้ และถึงแม้ว่าเดวิดจะต้องเป็นโรคประสาทและตกลงจากจุดสูงสุดนั้นอย่างกะทันหัน แต่เขาก็มีความสุขและพอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่เพราะมันเป็นชีวิตที่เขาลิขิตเอง
ไม่มีใครที่จะพบกับความมืดมน ผิดหวัง ไปตลอดชีวิต อย่างเดวิดที่สุดท้ายชีวิตก็ได้อยู่กับเปียโนและคนที่เขารักอย่างมีความสุข ประดุจกับแสงสว่างที่ได้ส่องลงมามอบความสดใสให้ชีวิตฟื้นขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ต้องพบกับพายุฝนที่ถาโถมเข้ามาอย่างหนักหน่วง ตามชื่อของภาพยนตร์เรื่องนี้ “Shine”
Shine เป็นภาพยนตร์ที่เป็นมากกว่าหนังชีวิตที่บันทึกประวัติศาสตร์เรื่องหนึ่งเรื่องใดเอาไว้พอดูแล้วอาจเลือกที่จะทิ้งเรื่องราวทุกอย่างไว้ตรงนั้นให้มันจบลงพร้อมกับฉากสุดท้าย แต่ Shine เป็นเสมือนบทเรียนชีวิตที่นำเสนอแนวคิด คติเตือนใจบนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง ทำให้คนดูเชื่อและเกิดอารมณ์ความรู้สึกคล้อยตามกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้โดยไม่ยากเกินไป เนื่องจากทุกองค์ประกอบของภาพยนตร์เรื่องนี้ล้วนมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้ง ทุกสิ่งทุกอย่างต่างมีความหมาย มีเหตุผล มีที่มาที่ไป นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังรู้สึกซาบซึ้งในความรักของพ่อที่มีต่อลูก แม้ว่าความรักนั้นจะกลายเป็นความกดดันที่หวนกลับมาทำร้ายลูกอย่างแสนสาหัสก็ตาม แต่ข้าพเจ้าก็สัมผัสได้ถึงความเจ็บปวดของผู้เป็นพ่อที่มีอยู่ไม่น้อยไปกว่าลูกเลย
วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น