วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2551

Shine...ขอเพียงก้าวไปตามใจฝัน

กุลธิดา


“ Shine ขอเพียงก้าวไปตามใจฝัน ” ภาพยนตร์สัญชาติออสเตรเลีย แนวดราม่า ผลงานการกำกับของ Scott Hicks ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อ ปี 1966 โดยอ้างอิงและดัดแปลงจากชีวิตจริงของ David Helfgott นักเปียโนอัจฉริยะชาวออสเตรเลียที่มีอาการผิดปกติทางจิต ซึ่งได้นักแสดงนำฝีมือดีอย่าง Noah Taylor มารับบทเดวิดตอนวัยรุ่น Geoffrey Ruch รับบทเป็นเดวิดตอนแก่ และ Armin Mueller-Stahl รับบท ปีเตอร์ พ่อของเดวิด






ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลอะคาเดมี อวอร์ดส์ ประจำปี1997 สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมโดย Geoffrey Ruch ผู้รับบทเป็นเดวิดตอนแก่และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม ตัดต่อภาพยอดเยี่ยม นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รวม 6 รางวัลด้วยกัน จึงทำให้ชื่อของเดวิด กลายเป็นที่รู้จักและกล่าวขวัญถึงในหลายประเทศ เขาได้เดินทางไปเปิดการแสดงเปียโนยังสถานที่ต่างๆ จากกระแสความนิยมในตัวของเดวิด ทำให้เขาถูกเรียกขานว่าเป็น A Necessary Breath Of Fresh Air







ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เสนอเรื่องราวของ David Helfgott นักเปียโนอัจฉริยะชาวออสเตรเลีย เดวิดเติบโตมาในครอบครัวที่ไม่ค่อยมีฐานะมากนัก พ่อแม่ของเดวิดเป็นชาวยิวจากโปแลนด์ที่อพยพหนีภัยสงครามและการคุกคามของนาซีมาตั้งรกรากในประเทศออสเตรเลีย ในวัยเด็ก เดวิดถูกกดดันจากพ่อให้ฝึกฝนเล่นเปียโนอย่างหนัก พ่อมักย้ำอยู่เสมอว่า ลูกต้องชนะ สิ่งนี้ทำให้เดวิดเล่นเปียโนเพื่อเอาชนะอย่างเดียว พ่อบังคับเดวิดให้เล่นเพลงที่ยากกว่าเด็กวัยอย่างเขาจะเล่นได้ และเป็นคนตัดสินใจแทนเขาในทุกเรื่องเสมอมา จึงทำให้เดวิดกลายเป็นเด็กที่คิดเองไม่เป็นและได้รับความกดดันสูง เวลาต่อมาด้วยความที่เป็นผู้มีพรสวรรค์ทางด้านดนตรี จึงทำให้เขาชนะการแข่งขันมากมาย จนกระทั่งได้รับทุนไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา จากไอแซก สเติร์น นักไวโอลินผู้ยิ่งใหญ่ แต่พ่อของเขาไม่ยอมให้ไปด้วยเหตุผลเพียงว่า หากเขาไปจะทำให้ครอบครัวแตกแยก เขาจึงต้องทิ้งความฝันและเผชิญกับชีวิตที่ไร้จิตวิญญาณต่อไปตามเดิม ในช่วงเวลานั้นเองที่เดวิดได้พบกับนักเขียนชื่อดังชาวออสเตรเลียเชื้อสายรัสเซีย แคทเธอรีน พลิตชาร์ด เดวิดได้ไปเล่นดนตรีให้เธอฟังอยู่บ่อยๆ จนเกิดเป็นความผูกพัน เดวิดได้รับคำปรึกษาและกำลังใจที่ดีจากเธอ เธอจึงเปรียบเสมือนเป็นที่พักพิงทางใจของเขา ทำให้เขามีความเข้มแข็งมากขึ้น และสามารถตัดสินใจเลือกที่จะไปเรียนต่อที่ Royal Music Collage ประเทศอังกฤษ โดยไม่สนใจคำคัดค้านของพ่อ เป็นเหตุให้ถูกตัดพ่อตัดลูก และไม่สามารถกลับมาที่บ้านได้อีก






ระหว่างที่เขาอยู่ที่อังกฤษ การอยู่คนเดียวทำให้เขาเกิดความว้าเหว่ใจ แต่โชคดีเขายังมีแคททอรีนคอยเป็นเพื่อนคุยแก้เหงา และให้คำปรึกษาแก่เขาทางโทรศัพท์อยู่เสมอ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเขาต้องเผชิญกับความโหดร้ายอีกครั้ง เมื่อป้าแคททอรีนที่พึ่งทางใจของเขาได้เสียชีวิตลง และยิ่งไปกว่านั้นเขายังต้องเสียใจเป็นอย่างมาก เมื่อพ่อสุดที่รักของเขาไม่ยอมตอบรับของเขาเลยแม้แต่ฉบับเดียว






ในเวลานั้นเอง เดวิดได้รับการฝึกสอนเปียโนจากอาจารย์ชื่อดังซีซิล พาร์ค ซึ่งทำให้เขาสามารถบรรเลงบทเพลงที่ได้ชื่อว่ายากที่สุด “เปียโน คอนเชอร์โต ราช หมายเลข 3 ของ แร็ชมานินอฟ” (ซึ่งก็คือบทเพลงที่พ่อของเขาบังคับให้เขาเล่นให้ได้ในสมัยก่อนนั่นเอง) ใน Albert Hall ได้สำเร็จ เมื่อการแสดงจบ เขาล้มลงด้วยอาการของคนที่ควบคุมสติไม่ได้ และถูกนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการทางจิตที่ผิดปกติ ในระยะนี้แพทย์ได้สั่งห้ามไม่ให้เขาเล่นเปียโนอีก เพราะอาจจะทำให้อาการทางจิตกำเริบขึ้นอีกครั้ง เขาพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวชเป็นเวลาหลายปี ต่อมาจึงย้ายไปอาศัยอยู่กับเบอริล หญิงวัยกลางคนที่เป็นอาสาสมัครมาเล่นเปียโนให้ผู้ป่วยทางจิตฟัง แต่ด้วยพฤติกรรมที่ผิดปกติของเดวิด ทำให้เบอริลลำบากใจที่จะให้เขาอาศัยร่วมกับเธอต่อไป เธอจึงตัดสินใจพาเขาไปฝากไว้กับมินิน๊อก เพื่อนของเธอในอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง เดวิดหมกมุ่นอยู่กับการเล่นเปียโนในห้องทั้งวันทั้งคืน จนเป็นที่รำคาญของห้องพักใกล้เคียง ในที่สุดมินิน๊อกจึงต้องเข้ามาล็อคเปียโนของเขา เมื่อไม่ได้เล่นเปียโนเขาจึงเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย






อยู่มาวันหนึ่งเขาออกไปข้างนอกและวิ่งไปเรื่อยเปื่อย และมาหยุดจ้องมองเปียโนในร้านอาหารแห่งหนึ่ง และได้พบกับซิลเวีย เพื่อนเก่าของเขาสมัยวัยรุ่น ซิลเวียพาเขามาอยู่ที่บ้านด้วยกัน ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่กิลเลียน โหรทำนายดวงชะตาเพื่อนรักของซิลเวียก็มาเยี่ยมที่บ้านเช่นกัน ทั้งสองรักกัน และได้ตัดสินใจแต่งงานกันอย่างมีความสุข กิลเลียนเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตของเดวิดให้สดใสขึ้น เธอเป็นคู่ชีวิตที่คอยดูแลและให้กำลังใจแก่เขาเสมอมา จนเดวิดสามารถกลับมาเล่นเปียโนได้อีกครั้ง จากนั้นไม่นาน เดวิดได้เปิดการแสดงดนตรีอีกครั้ง เมื่อการแสดงจบ เสียงปรบมือก็ดังกระหึ่มขี้น เขาภาคภูมิใจจนหลั่งน้ำตาออกมาด้วยความปลื้มปีติ




ด้วยความรัก ความเข้าใจที่คนรอบข้างมีให้แก่เขา แสงสว่างในใจของเขาจึงเริ่มเจิดจรัสขึ้นอีกครั้ง...




การเปิดเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มต้นขึ้น ในคืนวันฝนพรำ ชายวัยกลางคนผู้หนึ่ง ซึ่งมีลักษณะท่าทางแปลกๆ พูดกับตัวเองคนเดียว เนื้อหาการพูดนั้นจับใจความไม่ได้ เปลี่ยนเรื่องไปมาอย่างรวดเร็ว กำลังวิ่งอยู่กลางถนน และได้ไปหยุดยืนอยู่ที่หน้าร้านอาหารชื่อ “โมบาย” สายตาของเขาหยุดและจับจ้องอยู่ที่เปียโน ที่ตั้งอยู่ตรงกลางร้านอาหารแห่งนั้น แล้วทำไมเขาจึงต้องหยุดวิ่ง และจ้องมองอยู่ที่เปียโนหลังนั้น นั่นคือประเด็นให้ผู้ชมได้คิดแล้วว่า ชายคนนี้ต้องมีความสัมพันธ์อย่างใดอย่างหนึ่งกับเปียโนอย่างแน่นอน และการที่เขาพูดพึมพำนั้นมันต้องมีความหมายอะไรซ่อนอยู่ แม้ว่าจะฟังไม่ค่อยชัดเจนเท่าไร






เมื่อมาดูถึงการเปิดเรื่องด้วยสายฝน นั่นเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องเป็นเรื่องราวของความเศร้า หรือเรื่องที่หดหู่ แต่แฝงด้วยเงาแห่งความหวังเล็กน้อย เพราะสายฝน หมายถึง ความชุ่มฉ่ำ ความอึมครึม ความไม่สดใส ถ้าเปรียบกับชีวิตคนเรา ก็เหมือนชีวิตที่มืดมนไม่สดใส เพลงที่บรรเลงเปิดฉากนี้ เมื่อฟังแล้วรู้สึกเหมือนเศร้าแต่มีความหวัง เป็นดนตรีที่ให้ท่วงทำนองที่นุ่มนวล แต่แฝงด้วยการปลุกเร้าอารมณ์ให้ฮึกเหิมเร้าใจให้มีหวังขึ้นมา






หากกล่าวถึงจังหวะของการดำเนินเรื่องในภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่าดี กระชับ ไม่เยิ่นเย้อจนน่าเบื่อ สังเกตได้ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ความสำคัญกับภาษากาย และสัญลักษณ์ทางภาพมากว่าภาษาพูด ซึ่งทำให้ผู้ชมเข้าใจเรื่องได้ชัดเจน และทำให้เนื้อเรื่องกระชับ ได้ใจความ และมีความน่าสนใจเมื่อมีการตัดฉากสลับไปมาระหว่างชีวิตของเดวิดในวัยเด็ก และวัยผู้ใหญ่ ทำให้มองเห็นพัฒนาการของตัวละครได้ดี มองเห็นสาเหตุได้อย่างชัดเจนจากอดีตซึ่งส่งผลมาสู่ปัจจุบันที่ทำให้ตัวละครเอกต้องมีพฤติกรรมไปในทิศทางนั้นๆ กล่าวคือทำให้ทราบว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เดวิดมีอาการผิดปกตินั้นคือการได้รับความกดดันจากครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก นอกจากนี้ยังมีความลงตัวของความเป็นดราม่าที่มีความขบขันปนอยู่เล็กน้อยเพื่อให้เรื่องไม่ตึงเครียดจนเกินไป






ส่วนเรื่องฉากและบรรยากาศในภาพยนตร์เรื่องนี้ มีการใช้ฉากได้กลมกลืนกับเหตุการณ์ในเรื่อง ฉากเหล่านี้ช่วยให้ผู้ชมสัมผัสกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครได้ดี จะเห็นได้ว่า ฉากจะเริ่มต้นด้วยบรรยากาศฝนตก อึมครึม ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงอารมณ์เศร้าของตัวละครได้เป็นอย่างดี ส่วนใหญ่ก็จะใช้โทนสีเทา ดำ น้ำเงินคราม น้ำตาล และสีโทนหมองๆ ให้ความรู้สึกหดหู่ กดดัน เป็นการแสดงให้เห็นว่าเนื้อหาในเรื่องเป็นเรื่องเศร้า หดหู่ใจ แต่เมื่อมาถึงตอนที่เดวิดมาพบกับซิลเวีย และกิลเลียน ฉากและบรรยากาศอันหม่นหมองเริ่มหายไป รวมถึงฉากฝนตกก็ไม่มีปรากฏให้เห็น โดยฉากเหล่านี้ถูกแทนที่ด้วยบรรยากาศของแสงแดดที่ส่องสว่างเป็นส่วนใหญ่ ท้องฟ้าแจ่มใส และโทนสีก็เปลี่ยนเป็นโทนสีขาว เหลือง ฟ้าสดใสของน้ำ เป็นสีที่แสดงความสดใส ร่าเริง ซึ่งให้ความรู้สึกที่เต็มไปด้วยความหวัง และความสุขใจ ฉากและบรรยากาศเหล่านี้จึงถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่มีความสัมพันธ์กับเนื้อเรื่อง ช่วยให้เนื้อเรื่องมีความชัดเจนขึ้น รวมถึงดนตรีประกอบที่มีความหลากหลาย กลมกลืนกับอารมณ์ของตัวละครและฉากได้เป็นอย่างดีด้วย






แก่นเรื่องในเรื่องนี้มีประเด็นสำคัญอยู่ที่ตัวละครหลักคือ เดวิด ซึ่งเป็นตัวละครที่เป็นผู้ถูกกระทำเสมอ สิ่งที่กระทำกับเขาคือ การที่เขาเติบโตมาจากการเลี้ยงดูของครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์นัก จึงสามารถกล่าวได้ว่า ครอบครัวมีส่วนสำคัญที่จะทำให้บุคคลในครอบครัวมีพฤติกรรมออกมาในทิศทางใด สำหรับเดวิด การที่เขาเติบโตมาในครอบครัวที่ใช้อารมณ์เป็นหลักจึงทำให้เกิดความกดดันในจิตใจ แต่ในภายหลังเขาได้รับกำลังใจและความเข้าใจจากคนรอบข้าง สุดท้ายเขาก็สามารถยืนหยัดได้อย่างมีความสุข






ภาพยนตร์เรื่องนี้มีการเน้นพฤติกรรมของตัวละครเป็นสำคัญ เรื่องราวต่างๆ สามารถดำเนินไปได้ด้วยพฤติกรรมของตัวละครหลัก คือ เดวิด เขาเป็นตัวละครที่มีพัฒนาการทางอารมณ์ที่เห็นได้เด่นชัด เดวิดเติบโตมาในครอบครัวที่ใช้อารมณ์เป็นหลักมากกว่าเหตุผล เขาถูกยัดเยียดให้ฝึกเล่นเปียโนอย่างหนัก และพ่อมักย้ำให้เขาเอาชนะแต่เพียงอย่างเดียว สาเหตุสำคัญที่ทำให้พ่อคาดหวังในความสำเร็จของเดวิดมาก ทั้งนี้เกิดขึ้นจาก ชีวิตในวัยเด็กของพ่อนั้นไม่ได้รับการตอบสนองความสนใจทางด้านดนตรีจากพ่อ (ปู่ของเดวิด) จึงทำให้เขาส่งเสริมเดวิดทางด้านดนตรีมากเกินไปเสมือนหนึ่งเพื่อทดแทนหรือเติมเต็มและตอบสนองความต้องการของตัวเองในอดีต ส่งผลให้ตัวเดวิดเองเกิดความสับสน ไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูก หรือสิ่งที่ผิดเพราะพ่อจัดการให้แบบเบ็ดเสร็จ และทำให้ขาดความเชื่อมั่นในตัวเองไปด้วย






พ่อใช้อารมณ์เป็นเครื่องตัดสินแทนที่จะใช้เหตุผลเป็นหลัก การที่พ่อเข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตของเดวิดมากเกินไป เช่น การตัดสินใจแทน โดยไม่รับฟังเหตุผล การว่ากล่าวด้วยวาจาที่รุนแรง บางครั้งมีการใช้กำลังสลับกับการแสดงออกถึงความอบอุ่นของตัวพ่อเอง สิ่งนี้ทำให้เดวิดสับสนและแยกแยะไม่ออก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ของพ่ออย่างกะทันหันจนรับไม่ทัน เดวิดจึงเกิดความกดดันที่สะสมอยู่ในจิตใจ






เดวิดไม่มีทางออกของชีวิต ความกดดันจึงทวีขึ้น จะเห็นได้จาก ฉากที่เดวิดนั่งแช่ตัวในอ่างอาบน้ำ ด้วยความตึงเครียดที่สะสมมานาน ทำให้เขาไม่สามารถควบคุมระบบการทำงานของร่างกายได้ จึงได้อุจจาระลงในอ่าง นี่แสดงให้เห็นว่า จิตใจของเขาเริ่มเข้าสู่ภาวะผิดปกติจนควบคุมอารมณ์ไว้ไม่อยู่ แทนที่พ่อเข้ามาเห็นจะเป็นห่วงลูก กลับโมโหและทุบตีซ้ำเติมเขาอีก ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มความกดดันให้เขามากยิ่งขึ้น แต่อาการทางจิตของเดวิดยังไม่รุนแรงมาก นั่นเป็นเพราะ เขายังมีที่พึ่งทางใจคือป้าแคททอรีน คอยให้กำลังใจและเป็นที่ปรึกษาแก่เขา จึงยังช่วยระงับจิตใจอันฟุ้งซ่านของเขาไปได้บ้าง






เมื่อวิเคราะห์จากอาการทางจิตของเดวิดในวัยเด็กนั้น เรียกได้ว่า เริ่มเป็นโรคจิตเภทอ่อนๆ จนเมื่อป้าแคททอรีนเสียชีวิตลง เดวิดขาดที่พึ่งทางใจ ผนวกกับการต้องใช้ชีวิตตามลำพังที่อังกฤษ จึงทำให้จิตใจอ่อนแอลงไป เดวิดเริ่มแสดงอาการผิดปกติออกมา เช่นในฉากที่เขาเดินแก้ผ้าท่อนล่างลงมาหยิบพัสดุทางชั้นล่างของอพาร์ตเมนต์ ยิ่งเมื่อเขาต้องฝึกซ้อมบทเพลงแร็คมานีนอฟ 3 ซึ่งเป็นเพลงที่ต้องเล่นโดยใช้อารมณ์ที่ลึกซึ้งอย่างมากเข้าด้วยแล้ว ยิ่งทำให้จิตใจของเขาเข้าสู่ความกดดันของอารมณ์ครั้งใหญ่ เขาเริ่มพูดซ้ำๆ เร็วๆ รัวๆ ที่ไม่เข้าใจ จนเมื่อเขาได้เข้าแข่งขันดนตรี และเมื่อการแสดงจบลงเขาก็ล้มลงอย่างคนไร้สติ ซึ่งเปรียบได้กับ ชีวิตของเขาเมื่อมาถึงจุดสูงสุดแล้ว ก็ต้องพบกับจุดต่ำสุดของชีวิต ( เป็นสัญลักษณ์ที่ผู้สร้างภาพยนตร์ต้องการจะสื่อให้ผู้ชมได้เห็น ) กล่าวคือ เมื่อเดวิดกลายเป็นนักเปียโนที่เก่งกาจจนสามารถเล่นเพลงที่ยากที่สุดได้แล้ว แทนที่ชีวิตจะรุ่งโรจน์ เขากลับต้องเผชิญกับจุดพลิกผันของชีวิตอันแสนตกต่ำ




การที่เดวิดป่วยเป็นโรคจิตเภทนั้น ไม่อาจเกิดขึ้นมาลอยๆ ได้ โดยไม่มีสาเหตุ ครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขาเป็นแบบนี้ การแสดงความรักของพ่อนั้นมากเกินไป จนกลายเป็นการยัดเยียดให้เขาทำอย่างคนที่ไร้สมอง ความกดดันจึงส่งผลให้เขาเป็นโรคจิตในที่สุด




การที่เดวิดกลายเป็นคนป่วยทางจิต เขาได้เผยจิตใต้สำนึกออกมาจากการกระทำ และคำพูดของเขา เขาชอบวิ่ง หัวเราะไปเรื่อยๆ มีฉากหนึ่งในโรงพยาบาลจิตเวช เดวิดเดินไปกับนางพยาบาล และก้าวกระโดด เหมือนเด็กๆ นั่นเป็นเพราะเขาต้องการทดแทนความสุขเล็กๆน้อยๆ ที่เขาไม่มีในวัยเด็ก นอกจากนี้เขามักโทษตัวเองอยู่เสมอที่ทำให้พ่อผิดหวังในตัวเขา การที่เขาพึมพำเรื่องต่างๆ นั้น ล้วนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวเขาเองทำสิ้น นั่นเป็นเพราะเขายังจมปักอยู่กับอดีตที่ปวดร้าว จนเมื่อเจอกิลเลียน ภรรยาของเขา เธอเปรียบเสมือนแสงสว่างที่ส่องลงมาเบิกทางให้เขาอีกครั้ง ผู้ป่วยโรคจิตอย่างเขา อาการดีขึ้นได้ด้วยยาใจจากคนที่เข้าใจและให้กำลังใจเขาเสมอ การยอมรับ และแนะนำสิ่งที่ดีให้แก่ผู้ป่วยอย่างเดวิดเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ที่จะช่วยฉุดเขาให้พ้นเหวนรกนั้นได้






เมื่อพิจารณาถึงตัวละครที่มีบทบาทสำคัญอีกตัวคือ ปีเตอร์ พ่อของเดวิด หากคิดในแง่จิตวิทยาแล้ว เป็นไปได้ที่ปีเตอร์อาจมีความผิดปกติทางจิตซ่อนอยู่ หรือที่เรียกว่า โรคจิตอ่อนๆ คือไม่ได้แสดงออกด้วยอาการผิดปกติเกินไปจนคนในสังคมรับไม่ได้ แต่เขาเป็นคนที่มีปมปัญหาในตัวของเขาเอง เมื่อวัยเด็กเขาถูกพ่อกีดกันไม่ให้เล่นไวโอลิน ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาชอบ ความทรงจำเหล่านี้จึงฝังใจมาตลอด จนเมื่อมีลูก เขาจึงเห็นลูกเป็นเครื่องมือที่ใช้ทดแทนสิ่งที่เขาขาดหายไป โดยไม่นึกถึงความรู้สึกของลูก เขาต้องการเห็นลูกเป็นเงาของตัวเองในคราบแห่งความสำเร็จ แต่ความที่เขาสอนลูกไม่ถูกทาง เพียงแต่เอาความคิดที่ไร้เหตุผลกรอกสมองให้ลูกว่า ลูกต้องชนะ จนทำให้ลูกกลายเป็นเด็กเก็บกด แม้เขาจะเป็นพ่อที่รักลูกมาก แต่แสดงออกไม่เป็น ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล แทนที่จะชมลูกว่าทำดีแล้ว แต่กลับกดดันลูกให้รู้สึกว่าตนแพ้อยู่เสมอ และต้องเอาชนะให้ได้






การที่ปีเตอร์เผด็จการ และกลัวครอบครัวจะแตกแยกนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากปมในอดีตของเขาที่ต้องใช้ชีวิตอย่างลำบาก ต้องเผชิญกับสงครามอันโหดร้ายจนสูญเสียพ่อแม่และพี่สาวไป ความเก็บกดในใจของเขาเป็นสิ่งกระตุ้นให้เขาคิดฟุ้งซ่าน และไม่ยอมให้เดวิดไปเรียนต่อที่อังกฤษ เพราะเขาคิดว่าหากขาดเดวิดไป ก็เหมือนสมาชิกครอบครัวอยู่ไม่ครบ ทำให้ครอบครัวแตกแยก เขาคิดว่าการให้ความรักกับลูก และครอบครัวจะสมบูรณ์ได้นั้นคือการที่ทุกคนในครอบครัวจะต้องอยู่ด้วยกันตลอดไป แต่สิ่งนี้กลับกลายเป็นเครื่องบั่นทอนความฝันของลูกโดยไม่รู้ตัว ถือว่าปีเตอร์เป็นตัวละครที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อพฤติกรรมของตัวละครเดวิดอย่างมาก






ตัวละครอีกตัวที่แม้จะไม่เด่นมากนัก แต่ก็มีความสำคัญต่อพฤติกรรมของตัวละครหลักเป็นอย่างมาก คือ กิลเลียน ตัวละครนี้ถือได้ว่า เป็นหญิงที่เพียบพร้อมทั้งฐานะ การทำงาน และความรัก ทั้งที่เธอมีคู่หมั้นที่มีคุณสมบัติครบถ้วนอยู่แล้ว แต่ทำไมเธอถึงเลือกที่จะแต่งงานกับเดวิด ชายซึ่งมีอาการผิดปกติทางจิตได้ ก็เพราะเธอมองลึกลงไปในจิตใจอันดีงามไร้พิษภัยของเดวิดมากกว่าที่จะมองภาพลักษณ์ภายนอก กิลเลียนทำให้ผู้ชมได้เปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อคนโรคจิต หลายคนคิดว่าคนโรคจิตจะเป็นภัยต่อสังคม แต่ในเรื่องนี้กลับไม่ใช่อย่างที่คิด เดวิดแม้จะเป็นโรคจิตแต่เขาก็ไม่คิดทำร้ายใคร กิลเลียนถือเป็นคนที่น่ายกย่องคนหนึ่ง เธอทำให้หลายคนเปลี่ยนทัศนคติใหม่และมองโลกในแง่ดีขึ้น เธอเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พฤติกรรมของเดวิดเปลี่ยนไปในทางที่ดี ทำให้เราได้เห็นว่า กำลังใจและความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถเยียวยาใจที่บอบช้ำของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี






ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่ามีความดีเด่นทางด้านการใช้สัญลักษณ์โดยนัยที่สื่อให้เห็นเหตุการณ์และพฤติกรรมในตัวละครได้อย่างลึกซึ้งขึ้น ได้แก่ แว่นตา เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความคิดของตัวละคร โดยในฉากที่เดวิดย้ายมาอยู่ในอพาร์ตเมนต์และเล่นเปียโนทั้งวัน ในขณะนั้นเขายังสวมใส่แว่นตาที่แตกและติดเทปกาวไว้ หมายความว่า เดวิดยังคงไม่เปลี่ยนความคิด ยังคงจมปลักกับอดีต เขามักโทษตัวเองว่าทำให้พ่อผิดหวัง และตนจะถูกลงโทษไปตลอดชีวิต จนเมื่อเดวิดมาเล่นเปียโนที่ร้านอาหารของซิลเวีย และได้เจอกับกิลเลียน เขาได้เปลี่ยนแว่นอันใหม่ นั่นก็หมายความว่า เขาได้เปลี่ยนความคิดใหม่และเลิกที่จมปลักกับอดีตที่เจ็บปวดแล้ว






ในขณะที่พ่อของเขามาหาเขาที่ห้องพัก และยังคงสวมแว่นตาอันเดิมที่มีรอยแตกและติดเทปกาวไว้ หมายความว่า แม้วันเวลาจะผ่านไป แต่พ่อของเขายังคงไม่เปลี่ยนแปลงความคิดของตนเลย




ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับแว่นตา คือ เดวิดมีปัญหาทางด้านสายตามาตั้งแต่เด็กๆ เขาจึงสวมแว่นตาอยู่ตลอดเวลา แต่ทุกครั้งที่เขาเล่นเปียโนเขาจะถอดแว่นตาวางไว้ แล้วจึงเริ่มเล่น นี่เป็นอีกความหมายหนึ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้บอกโดยนัยว่า เมื่อเดวิดได้เล่นเปียโน ก็เหมือนกับการได้ปลดปล่อยอารมณ์และความรู้สึกของตนได้อย่างเต็มที่ จนไม่สามารถควบคุมได้




นอกจากนี้ยังมีภาพของก๊อกน้ำที่ปิดสนิทแล้ว แต่ยังมีหยดน้ำไหลลงมาอย่างช้าๆ ซึ่งเปรียบได้กับจิตใจของเดวิด ซึ่งได้รับความกดดันจนถึงขีดสูงสุดเกินกว่าจะควบคุมได้ จึงรั่วไหลออกมากลายเป็นจิตใจที่บอบช้ำจนยากที่จะควบคุมให้เป็นปกติได้




ในเรื่องนี้ยังมีสัญลักษณ์ที่เน้นย้ำให้เราเห็นถึงความคิดของตัวละครได้ชัดเจน ได้แก่ ฉากที่พ่อพาเดวิดไปทำพิธีเข้าศาสนายิว ซึ่งเมื่อเสร็จพิธี และยังไม่ทันเดินออกมานอกตัวอาคารประกอบพิธีเลย พ่อก็ถอดหมวกที่เป็นเครื่องหมายของศาสนาลง เป็นนัยบอกให้ทราบว่า พ่อของเดวิดไม่สนใจศาสนาเลย และเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไร้สาระ




คำพูดที่ติดปากของเดวิดที่ว่า “We gonna win .” เป็นสิ่งที่บอกเป็นนัยให้ทราบว่า เดวิดถูกพ่อสั่งสอน ปลูกจิตสำนึกเรื่องการเอาชนะมาตั้งแต่เด็กจนฝังลึกลงในจิตใจ ยากที่จะลบล้างได้




เมื่อเริ่มชมภาพยนตร์ก็ยังสับสนกับชื่อเรื่อง “Shine” แต่เมื่อชมจนจบแล้ว จึงทราบว่า ชื่อเรื่องกับเนื้อหากลมกลืนกันอย่างลงตัว หากพิจารณาให้ลึกซึ้งก็จะเห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ เริ่มเรื่องด้วยความเศร้า ผิดหวัง หดหู่ ของเดวิดตัวละครหลัก แต่กลับมีความสุขในตอนจบ คือเปลี่ยนจากความมืดมนของชีวิต เป็นแสงสว่างที่ส่องมากระทบให้ชีวิตสดใสอีกครั้ง ความสอดคล้องระหว่างความหมายของชื่อเรื่องและตอนสุดท้ายของภาพยนตร์เป็นเหตุผลที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีชื่อว่า “Shine” นั่นเอง




นักแสดงที่รับบทเดวิดทั้งวัยเด็กและวัยแก่ในเรื่องนี้แสดงได้ดี และเข้าถึงอารมณ์ของตัวละครอย่างแท้จริง จนทำให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครด้วย ส่วนผู้รับบทปีเตอร์ พ่อของเดวิดก็สามารถถ่ายทอดอารมณ์ของความเป็นพ่อที่เผด็จการได้เป็นอย่างดี




ภาพรวมของภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่าดีมาก ไม่ว่าจะเป็นโครงเรื่องที่มีการเปิดฉากได้น่าสนใจ การดำเนินเรื่องที่ไปตามลำดับของเหตุการณ์ มีการสลับฉากวัยเด็กกับวัยผู้ใหญ่ได้อย่างลงตัว และไม่ทำให้ผู้ชมสับสน แก่นเรื่องที่ให้ข้อคิดที่ดีแก่ผู้ชม ฉากและบรรยากาศที่ช่วยเสริมสร้างอารมณ์และความรู้สึกของตัวละครได้เป็นอย่างดี ดนตรีประกอบที่นอกจากจะไพเราะแล้ว ยังช่วยให้เกิดจินตนาการและอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครได้เป็นอย่างดี องค์ประกอบทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้สามารถผสมผสานกันได้อย่างลงตัว เป็นความกลมกลืนที่ทำให้เกิดความงดงามในภาพยนตร์






และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้คือ ครอบครัวมีส่วนสำคัญยิ่งในการกำหนดทิศทางพฤติกรรมและจิตใจของสมาชิกในครอบครัว หากคนในครอบครัวไม่มีความเข้าใจกันและไม่ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะกดดันจนถึงขั้นมีอาการทางจิตได้ ดังเช่นเดวิด เดวิดเป็นเหมือนอุทาหรณ์ที่สอนใจให้ได้คิดและตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินชีวิตในครอบครัว เดวิดถีบตัวจากชีวิตใต้เหวลึกออกมาสู่พื้นดินใต้ท้องฟ้าอันแสนสดใสได้ ด้วยการรับการรักษาทางการแพทย์อย่างถูกต้อง และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การดูแลอย่างดี การให้ความรัก ความเข้าใจอย่างสม่ำเสมอดังในช่วงท้ายของหนังเรื่องนี้ ที่ซิลเวียและกิลเลียนดูแลเขาด้วยความรักและความเข้าใจ ทำให้เขาสามารถหวนกลับไปเล่นเปียโน และประสบความสำเร็จได้อีกครั้ง แม้เขาจะไม่สามารถกลับไปเป็นปกติเหมือนเดิมอย่างเต็มตัว แต่เขาก็สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข


อย่าลืมว่า ...โรคทางใจไม่มียาตัวใดรักษาให้หายได้........นอกจากยาใจ..............

ไม่มีความคิดเห็น: