วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2551

Shine โชคดีที่ได้ก้าวตามใจปรารถนา

เชษฐกิดา

ภาพยนตร์ดราม่าสัญชาติออสเตรเลียที่เปี่ยมไปด้วยพลังเรื่อง “Shine” สร้างขึ้นจากชีวิตจริง ของเดวิด เฮลฟ์ก็อทท์ นักเปียโนอัจฉริยะชาวออสเตรเลีย – ยิว “Shine” ออกฉายในปี ค.ศ.1996 โดยฝีมือการกำกับการแสดงของสก็อต ฮิคส์ชาวออสเตรเลีย ซึ่งได้รับความสนใจอย่างท่วมท้นจากทั่วโลก ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการเสนอเข้ารับรางวัลตุ๊กตาทองถึงเจ็ดสาขาในสาขาหลักที่แตกต่างกันออกไปรวมไปถึงการเสนอชื่อสำหรับรางวัล Best Director รางวัล Best Screenplay และรางวัล Best Film ทั้งยังได้รับการเสนอชื่อเข้ารับถึงแปดรางวัล BAFTA และได้รับถึงเก้ารางวัลจากงานภาพยนตร์จากสถาบัน Australian Film Institute Award


นอกจากนี้ “Shine” ยังส่งให้เจฟฟรีย์ รัชดาราชาวอังกฤษเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจากการรับบทนำในภาพยนตร์ ทั้งยังทำให้เขาได้รับรางวัลออสการ์สาขาดารานำชายยอดเยี่ยม รางวัลลูกโลกทองคำ รางวัลสมาพันธ์นักแสดง และอีกมากมายหลายรางวัล

“Shine”เริ่มเล่าเรื่องที่ชายวัยกลางคนคนหนึ่งฝ่าสายฝนเข้ามาในร้านอาหารกึ่งบาร์ที่กำลังจะปิด แล้วเรื่องราวในชีวิตของเขาก็พรั่งพรูออกมาจากปากดุจสายฝนที่รั่วลงจากฟ้า ชายคนนี้ชื่อเดวิด เฮลฟ์ก็อทท์ ในอดีตเขาเป็นเด็กชายที่เติบโตมาท่ามกลางความกดดันและคาดหวังจากพ่อที่ต้องการให้ลูกเป็นนักเปียโนที่เก่งกาจที่สุด และไม่รู้จักคำว่า“แพ้” ด้วยการเลี้ยงดูของพ่อทำให้เด็กชายเป็นคนเคร่งขรึมและคิดอะไรเองไม่เป็น ต่อมาเดวิดก็ได้ครูที่เห็นพรสวรรค์ของเขาช่วยผลักดันให้ความสามารถฉายชัดยิ่งขึ้น เวลาผ่านไปเด็กชายเดวิดก็กลายเป็นนายเดวิดที่มีพรสวรรค์ด้านเปียโนเติบโตขึ้นเช่นกัน เดวิดออกประกวดได้รับรางวัลและเริ่มมีชื่อเสียง จนกระทั่งได้รับทุนให้ไปเรียนต่อด้านดนตรีที่สหรัฐอเมริกา ท่ามกลางการสนับสนุนของคนรอบข้าง มีเพียงพ่อของเขาเท่านั้นที่คัดค้าน ชายหนุ่มผิดหวังและเสียใจมาก ทว่าเขาก็ยอมละทิ้งความฝันตัวเอง เวลาผ่านไปเดวิดก็ได้รับทุนให้ไปเรียนต่ออีกครั้งที่วิทยาลัยดนตรีที่ลอนดอน คราวนี้เขาตัดสินใจทำตามความฝันของตนเองแม้ว่าจะถูกพ่อกีดกันจนถึงขั้นตัดขาดความเป็นพ่อลูกก็ตาม ที่นั่นครูสอนเปียโนคนหนึ่งเห็นแววอัจฉริยะที่ฉายออกมาจากเดวิดจึงสนับสนุนเขาเต็มที่ จนกระทั่งเขาได้ออกแสดงและเล่นเพลงแรคแมนีนอฟ ซึ่งเป็นเพลงที่พ่อบอกให้เขาเล่นมาตลอดและเป็นเพลงที่สื่อถึงอารมณ์ความรักอันลึกซึ้งและเล่นได้ยาก แต่เดวิดกลับเล่นได้ดีมาก

ทว่าท่ามกลางเสียงกู่ร้องและเสียงปรบมือแสดงความชื่นชมยินดีเมื่อแสดงจบ เดวิดกลับเหมือนสวิตช์ไฟที่ถูกปิด เขาหมดสติล้มลง และชีวิตของเขานับจากนั้นก็เปลี่ยนไป เดวิดกลายเป็นคนป่วยโรคจิตเภท (Schizophrenia) ที่ไม่มีที่ไปแม้แต่บ้านจึงต้องอยู่ที่โรงพยาบาล จวบจนเวลาผ่านไปหลายปี เดวิดในวัยกลางคนจึงได้ออกจากโรงพยาบาล เขาเริ่มกลับไปเล่นเปียโนอีกครั้งจนเริ่มมีชื่อเสียงขึ้น วันหนึ่งพ่อก็พบข่าวของเดวิดจากหนังสือพิมพ์ จึงมาหาเพื่อพูดคุยกับเขาแล้วจากไป เดวิดจึงใช้ชีวิตในแบบของเขาต่อไปจวบจนได้แต่งงาน และด้วยความสนับสนุนของภรรยา เพื่อนๆรวมไปถึงความพยายามของเขาเอง ในที่สุดวันเดวิดจึงออกแสดงเปียโน แล้วพรสวรรค์และความ สามารถที่ถูกกดเก็บมานานก็ฉายแสงโชนออกมาอีกครั้ง...

เดวิด เฮลฟ์ก็อทท์เป็นตัวละครเอกที่ขับเคลื่อนเรื่องราวต่างๆ ลักษณะนิสัยและพฤติกรรมของเดวิดล้วนเป็นผลมาจากการเลี้ยงดูด้วยความคาดหวัง การตีกรอบชีวิตและความกดดันจากพ่อ เดวิดจึงเปรียบเสมือนเครื่องจักรเครื่องหนึ่งที่มีพ่อถือคันโยกควบคุม จนเหมือนกลายเป็นคนที่คิดหรือทำอะไรเองไม่เป็นเลย
การเลี้ยงดูของพ่อของเขาส่งผลทั้งในด้านดีและไม่ดี สิ่งดีสิ่งหนึ่งที่ผู้เป็นพ่อปลูกฝังให้เขาคือ การเล่นเปียโน แม้ว่าการปลูกฝังนี้จะแฝงความกดดันมาด้วยก็ตาม แต่ก็ทำให้เดวิดรักเปียโนจนกลายเป็นนักเปียโนที่มีชื่อในที่สุด

ทว่าเมื่อมองในอีกด้านหนึ่งจะพบว่า การเล่นดนตรีซึ่งควรจะเป็นความชอบโดยสมัครใจ หรือแม้กระทั่งการเลือกเพลงที่จะเล่นก็ตามเดวิดก็ไม่มีสิทธิ์ได้เลือกเอง นอกจากนี้ภาพยนตร์ยังตอกย้ำความเป็นลักษณะนิสัยของเดวิดให้ชัดเจนยิ่งขึ้นจากหลายเหตุการณ์ เช่น ในวัยเด็ก พ่อของเขาจะเลือกเพลงให้เล่นทุกครั้ง และพร่ำบอกเดวิดให้พูดตามอยู่เสมอว่าเขาเป็นคนโชคดีที่มีครอบครัวและโชคดีที่ได้เล่นดนตรี ทำให้เขาเป็นคนขาดความมั่นใจในตัวเอง และดูเหมือนคิดอะไรเองไม่เป็น เห็นได้จากการที่เขามักจะพูดตามหรือเห็นคล้อยตามคนอื่นเสมอ ภาพลักษณ์เหล่านี้ทำให้เดวิดเหมือนเป็นเพียงตัวละครแบนๆตัวหนึ่ง ทว่ากลับเมื่อเขาถูกห้ามไม่ให้ไปเรียนดนตรี ความเสียใจที่เดวิดแสดงออกก็ทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าเขาเป็นคนมีเลือดเนื้อและความนึกคิดเช่นกัน

แรคแมนีนอฟ เพลงหนึ่งที่ได้ยินจากภาพยนตร์บ่อยๆทั้งจากการพูดถึงและเพลงที่บรรเลง โดยเฉพาะครึ่งแรกของภาพยนตร์ (ช่วงชีวิตในวัยเด็กและวัยหนุ่มของเดวิด) ผู้ชมติดตามร่วมเดินทางไปกับเดวิดราวกับเป็นเพียงเพื่อนร่วมทาง แต่เมื่อเดินทางไปถึงครึ่งหลังของภาพยนตร์ ผู้ชมกลับรู้สึกราวกับเดวิดกลายเป็นเพื่อนสนิท เพราะเดวิดคนนี้เปิดเผยตัวตนของเขาให้เรารู้จักมากขึ้น และเป็นเดวิดคนเดียวกันที่เผยกับผู้ชมว่า เขาไม่ได้ต้องการเล่นเพลงแรคแมนีนอฟเหมือนกับที่เคยยืนยันจะเล่นในตลอดเวลาที่ผ่านมา ราวกับเดวิดในวัยกลางคนได้ปอกเปลือกแล้วคว้านเนื้อในออกมาให้เห็น ช่วงเวลาที่เขาอยู่ในโลกของตัวเองกลับเป็นช่วงเวลาที่ได้เติมเต็มความรู้สึกที่ขาดหายไปในวัยเยาว์ การได้ทำทุกอย่างตามแต่ใจปรารถนาทำให้เดวิดส่องประกายความสุขอย่างเด่นชัด ทุกเพลงที่เขาเล่นล้วนมาจากใจที่เปี่ยมสุข ดังนั้น แต่ละเพลงที่เขาเล่นจึงมีท่วงทำนองรื่นเริง สนุกสนาน ไม่มีอารมณ์รักพิศวาสลึกซึ้งอันเข้มข้นเหมือนแรคแมนีนอฟ

แรคแมนีนอฟจึงคล้ายกับเป็นโซ่ตรวนที่พ่อใช้ขึงรั้งจิตใจของเดวิดไว้ไม่ให้โบยบินไปตามปรารถนา ทว่าสุดท้ายเดวิดก็ปลดมันออกและพาจิตใจออกบินสู่อิสระได้
ส่วนปีเตอร์ เฮลฟ์ก็อทท์ พ่อของเดวิดเป็นคนที่มีลักษณะนิสัยและพฤติกรรมตรงกันข้ามกับเดวิดราวฟ้ากับเหว แม้ว่าจะเป็นตัวละครรองแต่ก็มีความสำคัญมากเพราะเป็นผู้ผลักดันและส่งผลต่อพฤติกรรมต่างๆของเดวิด พ่อของเขาเป็นคนจิตใจคับแคบ มองโลกในแง่ร้ายและมีนิสัย เผด็จการ อีกทั้งลึกลงไปยังเป็นคนเก็บกดซึ่งอาจเป็นเพราะในวัยเด็ก เขาเคยถูกปู่ของเดวิดห้ามไม่ให้เล่นดนตรี เสี้ยวหนึ่งของชีวิตของพ่อจึงขาดหายไปและรอการเติมเต็ม และก็เดวิดก็คือเสี้ยวหนึ่งที่จะมาเติมเต็มให้ความฝันของพ่อสมบูรณ์ ความคาดหวังนี้ถูกระบายออกโดยการถ่ายเทไปยังเดวิดด้วยการตั้งความหวังกับเดวิดไว้สูงลิบ พร้อมกับความคิดที่คับแคบว่าต้องชนะการแข่งขันทุกครั้ง เพราะคนที่แข็งแรงเท่านั้นที่จะเอาตัวรอดได้

“โลกมันโหดร้าย แต่ดนตรีจะเป็นมิตรของลูก...” และ “โลกมันโหดร้าย แต่ลูกต้องเอาตัวให้รอด” เพียงคำพูดสองประโยคก็เผยความคิดและความในใจของพ่อได้ชัดเจน คือมองโลกว่าโหดร้าย แต่จะมีสิ่งที่ช่วยให้คนเราอยู่ในโลกอันโหดร้ายได้ คือ ดนตรีและการเอาชนะ สอดคล้องกับการปลูกฝังเดวิดให้เล่นเปียโนพร้อมกับการเป็นผู้ชนะ นอกจากนี้เขายังเป็นคนมองโลกแคบอีกด้วย เขาขังตัวเองไว้ในโลกที่ตัวเองสร้างขึ้น อีกทั้งยังมองโลกเฉพาะที่ตนอยากจะเห็น เขาจึงเป็นคนใจแคบ เผด็จการ และชอบตัดสินคนอื่น

อย่างไรก็ตาม ลึกลงไปในจิตใจ สายสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกก็เป็นสิ่งที่ตัดกันไม่ขาด แม้จะบาดหมางกันแต่ทั้งคู่ยังโหยหาความรักจากกันและกันอยู่เสมอ แม้พ่อจะดูใจร้ายและกดดันเดวิดมากเพียงไร แต่เขาก็รักเดวิดอย่างที่สุด รักในแบบของเขา รักในแบบที่ต้องการให้เดวิดเป็นผู้ชนะเพราะเชื่ออยู่เสมอว่า “คนเข้มแข็งเท่านั้นที่เอาตัวรอดได้ คนอ่อนแอถูกขยี้เหมือตั๊กแตน” แม้แต่การพบหน้ากันครั้งสุดท้าย พ่อก็ยังคงแสดงความแข็งแรงด้วยการเปิดกระป๋องให้เดวิด เมื่ออยู่ต่อหน้าพ่อ เดวิดจึงกลับเป็นเหมือนเด็กอ่อนแอที่ทำและคิดอะไรเองไม่ได้ แว่นตาปิดสก๊อตเทปของพ่อก็ยังคงสะท้อนถึงทัศนคติที่ไม่เคยเปลี่ยนรวมถึงความเป็นคนยึดติดอยู่กับกรอบที่ตนสร้างขึ้นจนไม่ยอมเปิดใจยอมรับความจริงจากโลกภายนอก

พ่อยังคงให้เดวิดพูดตามว่าเขาเป็นคนโชคดี อาจมีเพียงอย่างเดียวที่เปลี่ยนแปลงไปคือจิตใจที่อ่อนทิฐิลงจึงมาหาลูกได้ ประโยคสุดท้ายจากปากพ่อ คือ การพูดถึงเรื่องไวโอลินที่เก็บหอมรอมริบกว่าจะได้มา ตามด้วยคำถามเดิมๆว่ารู้มั้ยว่าเกิดอะไรขึ้น แต่คราวนี้เดวิดตอบว่าไม่รู้ ไม่ว่าจะด้วยสภาพจิตใจที่ผิดปกติไปจนทำให้จำไม่ได้ หรือด้วยจิตใต้สำนึกได้ปกปิดคำถามที่ไม่อยากตอบเอาไว้ แต่นั่นก็เพียงพอที่จะบอกว่าเขาได้หันหน้าไปสู่เส้นทางชีวิตสายใหม่แล้ว และแม้จะดูตื่นกลัวเมื่อเห็นพ่อในคราวแรก แต่เขาก็เข้มแข็งพอที่จะยืนอยู่บนเส้นทางชีวิตที่เขากำหนดเอง ลึกลงไปเขายังคงรักพ่อและอยากให้พ่อยอมรับเขา แต่เขาก็ทำเพียงเอ่ยลาเมื่อพ่อหันหลังกลับไปแล้วเท่านั้น

สายฝน เป็นบรรยากาศหนึ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้บ่อย และใช้สื่อความหมายทั้งในโทนสว่างและโทนมืด เริ่มเหตุการณ์แรกก็ใช้ฝน แต่ก็ไม่ได้สื่อว่าเรื่องราวจะเดินไปทางใด จวบจนเมื่อเดวิดในวัยรุ่นน็อคไปจากการเล่นเปียโนและตัดสินใจจะกลับบ้าน ทว่าท่ามกลางสายฝนที่เทกระหน่ำ พ่อของเขากลับตัดขาดอย่างไม่เหลือเยื่อใย สายฝนในขณะนั้นจึงสื่อเป็นนัยถึงชีวิตที่มืดหม่น ไร้ที่พักที่พึ่งพิงของเขา แล้วภาพก็ตัดมาที่บรรยากาศฝนตกในเหตุการณ์ต่อมาอย่างฉับพลัน เป็นปรอยฝนที่ซาแล้วตกลงบนกระจกรถซึ่งมีที่ปัดกระจกทำงานอยู่และเป็นช่วงเวลากลางวันที่สดใส ราวกับภาพยนตร์จะสื่อเป็นนัยถึงช่วงชีวิตในเวลาต่อมาของเดวิดที่สดใสเหมือนฟ้าหลังฝน ต่อมาเป็นเหตุการณ์ที่เดวิดวิ่งเล่นในสวนท่ามกลางสายฝน ภาพถ่ายช้าและเน้นที่ใบหน้าของเขาซึ่งดูล่องลอยและราวกับปลดปล่อยตัวเองไปกับสายฝนนั้น แล้วภาพก็ฉายซ้ำไปยังฉากฝนตกฉากแรก

โรงพยาบาลบำบัดอาการทางจิตและสุสานดูเป็นสถานที่ที่สร้างความหดหู่และหม่นหมอง แต่ภาพยนตร์กลับสามารถใช้ฉากทั้งสองนี้ในโทนสว่างได้อย่างน่าอัศจรรย์ เดวิดในวัยกลางคนใช้ชีวิตอย่างดูมีความสุขในโรงพยาบาลนั้น อีกทั้งเขายังไม่ได้หม่นเศร้าเมื่อไปเคารพหลุมศพพ่อที่สุสาน ราวกับโลกทั้งใบเป็นของเดวิด ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ใดเขาก็มีความสุขได้ ผิดกันกับฉากที่บ้านโดยสิ้นเชิง บ้าน...สถานที่ที่รวบรวมความรักความอบอุ่นจากครอบครัวไม่ใช่นิยามของเดวิด ทุกครั้งที่ปรากฏภาพบ้านของเขา ผู้ชมหรือแม้แต่ตัวเดวิดเองต่างก็รู้สึกไม่มีความสุข เขาดูจะยิ้มออกก็เพียงเวลาที่ถูกน้องสาวตัวกระจ้อยกระเซ้าเท่านั้น

นอกจากนี้ ภาพยนตร์ก็ใช้ฉากการเล่นเปียโนในแต่ละช่วงชีวิตของเขาในการให้อารมณ์ที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่เริ่มต้นที่เดวิดเล่นเปียโนด้วยความเคร่งเครียดตั้งแต่ยังเยาว์จวบจน กระทั่งโตเป็นวัยรุ่น สนามแข่งขันที่เปรียบเหมือนสนามรบ ทำให้เดวิดดูคร่ำเคร่ง เอาจริงเอาจัง และไม่มีความสุข แม้แรคแมนีนอฟที่เขาเล่นตอนแข่งขันนั้นจะไพเราะ และเฉียบคมเข้าถึงอารมณ์เพียงไร แต่มันก็แฝงความกดดันมากับเดวิดด้วย จนเหมือนทำให้เส้นประสาทของเขาขาดผึงไป ต่างกันกับการเล่นเปียโนแต่ละครั้งของเขาในวัยกลางคน ที่ดูมีความสุข ปราศจากความกดดันใดๆทั้งสิ้น

ความกดดันในชีวิตของเดวิดก่อตัวขึ้นเรื่อยมาตั้งแต่ยังเยาว์ แต่มันถูกกักเก็บไว้ภายในอย่างเงียบเชียบ จวบจนเขาถูกกีดกันจากพ่อไม่ให้ไปเรียนต่อ ความเครียดและเก็บกดจึงถูกระบายออกมาทีละน้อย จนเกิดเป็นความขัดแย้งในจิตใจของเดวิดเอง เมื่อถูกกีดกันครั้งแรก แม้เขาจะอยากไปเรียนมาก แต่ก็กดเก็บความรู้สึกโกรธพ่อไว้ภายใน ทว่าอาการผิดปกติจากสภาพจิตใจก็ฟ้องขึ้นด้วยเหตุการณ์ในห้องน้ำอันเสมือนเป็นลางบอกเหตุล่วงหน้า(foreshadow)ว่าต่อไปจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นในชีวิตของเขา คือ เหตุการณ์ที่เดวิดขับถ่ายในอ่างอาบน้ำอย่างไม่รู้ตัว เขาถูกพ่อด่าว่าและลงโทษรุนแรง ทว่าเดวิดกลับนิ่งเฉยไม่ตอบโต้ ผู้ชมคงแยกความแตกต่างระหว่างเดวิดกับหุ่นยนต์ไม่ออก หากดวงตาของเขาไม่คุโชนด้วยความกดดันและเสียใจ

ต่อมาเมื่อเดวิดมีโอกาสได้รับทุนไปเรียนต่ออีกครั้ง เขากลับรู้สึกหดหู่ใจอย่างเห็นได้ชัด แต่เมื่อได้กำลังใจจากนักเขียนหญิงชราที่สนิทกัน เดวิดก็ต่อสู้กับความขัดแย้งในจิตใจ จนตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะต้องไปเรียนต่อให้ได้ การตัดสินใจด้วยตนเองที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นครั้งแรกในชีวิตกลับก่อความขัดแย้งระหว่างเขากับพ่อขึ้น จนพ่อของเขาตัดขาดความเป็นพ่อลูก ทว่าครั้งนี้เดวิดเอาชนะความขัดแย้งในจิตใจที่เคยเกิดขึ้นเหมือนคราวก่อนได้ ตั้งแต่นั้นเขาจึงเป็นผู้ลิขิตชีวิตตนเอง แม้ต่อมาจะเป็นชีวิตที่หลุดอยู่แต่ในโลกของเขาเองเพราะอาการทางจิตนับเป็นสิบปีก็ตาม

พรสวรรค์อย่างไรก็เป็นพรสวรรค์ เขาเยียวยาตนเองด้วยเสียงเปียโนเคล้าคลอไปกับเสียงเอาใจช่วยจากคนรอบข้าง “Shine” จึงเป็นคำที่อธิบายชีวิตของเดวิดได้งดงามลงตัวที่สุดคำหนึ่ง ครั้งหนึ่งในที่ชีวิตถูกกดดันอับเฉาได้ถูกฟื้นฟูจนสามารถส่องประกายออกมาได้อย่างงดงามยิ่งกว่าเก่า แสงแห่งความสุขและความสามารถแบบอัจฉริยะทอประกายออกมาจากตัวของเดวิดจนทุกคนรู้สึกได้ ซึ่งภาพยนตร์เองก็ได้บอกเป็นนัยไว้แล้วในตอนที่พ่อของเขาอ่านหนังสือพิมพ์ แล้วพบข่าวเกี่ยวกับลูกที่พาดหัวข่าวว่า“Remember who ?” และอีกกรอบเล็กๆข้างกันว่า “David Shines”

การเติบโตจากเด็กเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง ล้วนเป็นผลจากการเลี้ยงดูของคนในครอบครัว พ่อแม่อาจชี้แนะ ตักเตือนลูกได้แต่ไม่อาจบังคับจิตใจลูกให้เป็นไปตามใจตนได้ เดวิดเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นผลของการตีกรอบให้ลูกมากเกินไป แต่เขาก็โชคดีที่มีเสียงดนตรีและความรักช่วยเยียวยาจนกลับมาเปล่งประกายส่องสว่างได้อย่างงดงามอีกครั้ง ในมุมใดมุมหนึ่งของโลกอาจยังมีเดวิดในวัยเด็กและวัยรุ่นอยู่บ้าง แต่จะมีเดวิดน้อยคนยิ่งกว่าที่จะพลิกฟื้นชีวิตของตนจน “shine”ได้เหมือนที่เดวิดในวัยกลางคนเป็น

Shine

ชินาภรณ์

ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากชีวิตจริงของเดวิด เฮล์ฟกอต นักเปียโนชาวออสเตรเลีย หนังเปิดเรื่องด้วยชายคนหนึ่งวัยกลางคนวิ่งฝ่าสายฝนและได้ไปหยุดยืนอยู่ที่หน้าร้านอาหารแห่งหนึ่ง ชายคนนี้มีลักษณะท่าทางแปลกๆ พูดกับตัวเองคนเดียว เนื้อหาการพูดนั้นจับใจความไม่ได้ เปลี่ยนเรื่องไปมา สายตาของเขาจับจ้องอยู่ที่เปียโน ที่ตั้งอยู่ในร้านอาหารแห่งนั้น

ฉากก็ตัดไปที่ภาพเด็กชายกำลังเล่นเปียโน เด็กคนนี้คือเดวิด เขาเกิดในครอบครัวชาวยิว พ่อรักเขามากและพยายามเคี่ยวเข็ญให้ลูกชายเล่นเปียโนเพื่อที่จะได้ชนะการแข่งขันรายการต่างๆ พ่อของเดวิดรักลูกชายมาก และมากจนเกินไป สิ่งที่พ่อสอนคือต้องชนะเท่านั้น ต่อมาเดวิดชนะการประกวด หลายครั้ง จนกระทั่งได้รับการเชิญไปศึกษาต่อยังสถาบันสอนวิชาดนตรีชื่อดังที่ประเทศอเมริกา แต่พ่อของเดวิดไม่ยอม โดยให้เหตุผลว่าครอบครัวจะถูกทำลาย จึงทำให้เดวิดยังคงต้องอยู่ในครอบครัวต่อไป

สีที่ทาบ้านเป็นสีทึมๆ แสดงออกถึงบรรยากาศที่ดูอึดอัดไม่มีความสุข เพราะพ่อคือผู้เป็นใหญ่ในบ้าน และมีลักษณะของความเป็นเผด็จการ ลงโทษลูกด้วยการทุบตี ไม่เปิดโอกาสให้คนในครอบครัวตัดสินใจทำอะไรที่นอกเหนือไปจากความคิดของพ่อ สลับไปกับความรักของพ่อที่มีต่อลูก

ลักษณะนิสัยของเดวิดจะเป็นคนที่ไม่กล้าตัดสินใจทำอะไรเอง คือต้องให้พ่อรู้เห็นก่อนทุกครั้ง เขายังมีลักษณะนิสัยเหมือนเด็ก ดูได้จากตอนเล่นกับน้องและพ่อ เดวิดมีพัฒนาการทางจิตใจเท่าเด็กประถมแม้ว่าเขาจะโตแล้วก็ตาม แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่ผิดปกติแต่ก็ไม่ได้รับการรักษา

พ่อมักจะสอนให้เดวิดพูดทวนคำพูดที่พ่อบอกเป็นประจำ เหมือนว่าให้จำไว้เสมอให้ขึ้นใจ อีกทั้งสอนอยู่เสมอว่าผู้ที่เก่งเท่านั้นคือผู้ที่อยู่รอด และไม่เชื่อในเรื่องศาสนาโดยบอกว่าเป็นเรื่องเหลวไหล พ่อบอกกับเดวิดเสมอว่าเขาเป็นคนที่โชคดี ที่ได้รับอนุญาติให้เล่นดนตรีได้ เพราะปู่ของเดวิดไม่เคยให้พ่อเล่นดนตรี แต่เหล่านี้สะท้อนถึงความคิดของพ่อที่เชื่อว่าตนเป็นคนที่ “ให้โอกาส”แก่ลูกในการทำสิ่งที่ชอบได้ ทั้งๆที่เป็นการใช้อำนาจของพ่อบังคับให้ลูกเดินไปในทางที่ตนต้องการ

ต่อมาเดวิดก็ได้ไปเล่นดนตรีให้แคทเธอรีนฟังที่บ้านของเธออยู่บ่อยๆ จนเกิดเป็นความผูกพันและเป็นที่พักพิงทางใจของเดวิด ซึ่งทำให้เดวิดมีความเข้มแข็งมากขึ้น ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของเขาและเป็นครั้งแรกที่เขาได้ “เลือก”เส้นทางด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก เดวิดตัดสินใจเลือกที่จะไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ ในตอนที่มีจดหมายเชิญมาอีกครั้ง โดยไม่สนใจคำคัดค้านของพ่อว่าจะตัดพ่อตัดลูก

มีสัญลักษณ์หลายอย่างที่ใช้ในเรื่อง คือ ตอนที่แว่นของพ่อแตก แล้วพ่อก็ไม่ยอมเปลี่ยนอันใหม่ยังใช้อันเดิมอยู่ สะท้อนให้เห็นถึงความคิดของพ่อที่หัวแข็ง ยึดติด ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไร

ตอนที่พ่อทุบตีเดวิดที่นั่งในอ่างอาบน้ำ แล้วภาพก็ตัดไปที่ก๊อกน้ำที่ปิดสนิทแต่ยังมีเสียงน้ำหยดอยู่
แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าพ่อจะเข้มงวดกับชีวิตของเดวิดและคอยบงการสักเพียงไหน แต่เมื่อเขาโตขึ้น เขาก็ต้องตัดสินใจเลือกที่จะทำอะไรด้วยตนเอง กฎระเบียบที่ยิ่งเข้มงวดก็ยิ่งมีการต่อต้านขัดขืนแม้ว่าจะไม่ได้แสดงท่าทีอย่างโจ่งแจ้งก็ตาม

หลังจากที่บริกรพาเดวิดมาส่งที่พัก แล้วภาพก็เลื่อนไปจับที่ป้ายๆหนึ่งที่เขียนว่า “Eden Lounge”
ดิฉันคิดว่านี่คือการบอกถึงสภาพชีวิตหลังจากนี้ของเดวิดที่จะมีความสุข ได้เล่นเปียโนที่เขารักอีกครั้งและเขาก็เล่นด้วยความสุขอย่างแท้จริง อีกทั้งได้พบกับความรักที่ไม่ใช่การบังคับแต่เป็นความเข้าใจเอื้ออาทรต่อกัน

จุดไคล์แมกซ์ของเรื่องคือตอนที่เขากำลังเล่นเปียโนในงานประกวด และเมื่อเขาได้อยู่บนจุดสูงสุดคือการได้เล่นเพลงที่ยากแสนยากสำเร็จ เขาก็ตกลงมาสู่พื้นใน ณ ขณะนั้นที่เล่นจบนั่นเอง

หนังฉายภาพการกลับมาของเดวิดแบบสนุกสนาน พูดจาเร็ว ฟังไม่ได้ศัพท์ ยิ้มและเริงร่าหัวเราะตลอดเวลา เหมือนเป็นการชดเชยที่ไม่เคยทำแบบนั้นมาหลายสิบปี เดวิดป่วยเป็นโรคทางจิตและหมอสั่งห้ามเล่นเปียโน จนกระทั่งเขาได้พบกับกิลเลี่ยน ต่อมาได้แปรเปลี่ยนกลายเป็นความรักจนในที่สุดทั้งสองก็แต่งงานกัน ด้วยความรักและความเข้าใจ จากกิลเลี่ยนและครอบครัว ทำให้เดวิดสามารถหวนกลับมาเล่นเปียโน และสามารถสร้างความประทับใจให้กับผู้ฟังได้อีกครั้ง ช่วงเวลานี้เปรียบเสมือนแสงสว่างที่ส่องเข้ามาในชีวิตของเดวิด ที่จะชี้นำให้เขาหลุดพ้นจากสิ่งเหนี่ยวรั้งต่างๆ ท้องฟ้าที่สดใส ภายในบ้านเต็มไปด้วยสีสันล้วนแล้วแต่สะท้อนถึงการได้ความสุขที่สุดในชีวิตของเขาแล้ว

โชคดีที่สวรรค์ไม่ลำเอียง

ชิดกมล

Shine…โชคดีที่สวรรค์ไม่ลำเอียง เป็นภาพยนตร์ของประเทศออสเตรเลีย สร้างขึ้นจากชีวิตจริงของนักเปียโนชาวออสเตรเลีย – ยิว ในปี 1996 กำกับโดย Scott Hicks ชาวออสเตรเลียอีกเช่นเดียวกัน Shine ได้รับรางวัลอคาเดมีอวอร์ดส์ประจำปี1997 สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม โดยเจฟฟรี่ รัช ผู้รับบทเป็นเดวิดตอนแก่ และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม ตัดต่อภาพยอดเยี่ยม นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รวม 6 รางวัลด้วยกัน


เดวิด เฮลก็อต เด็กชายที่มีพรสวรรค์ในการเล่นเปียโน ในวัยเด็กเขาถูกกดดันจากพ่อ(ปีเตอร์) ให้ฝึกฝนอย่างหนักที่จะเป็นนักเปียโนที่เก่งที่สุด เดวิดได้เรียนเปียโนกับครูโรสเซ่น เมื่อเขาเป็นวัยรุ่นเขากลายเป็นนักเปียโนที่โด่งดังที่อายุน้อยที่สุด พ่อต้องการฝึกให้เขาเล่นเพลงที่ยากขึ้นทั้งที่ครูสอนเปียโนได้บอกแล้วว่าเดวิดยังไม่พร้อม แต่พ่อก็ยังยืนยันคำเดิม เขาชนะการแข่งขันหลายครั้งจนได้รับทุนให้ไปศึกษาต่อที่ Rayal Academy of Music แต่พ่อไม่อยากให้เขาไป เขาทะเลาะกับพ่อและถูกพ่อตี พ่อทำให้เดวิดยังคงต้องใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ ต่อไป เดวิดได้พบกับนักเขียนชื่อดัง แคทเธอรีน พลิชาร์ดและเดวิดก็ได้ไปเล่นดนตรีให้เธอฟังอยู่บ่อย ๆ จนเกิดเป็นความผูกพันและเป็นที่พักพิงทางใจของเดวิด ทำให้เดวิดมีความเข้มแข็งขึ้น และเขาตัดสินใจไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ วันหนึ่งเขาหมดสติหลังจากการบรรเลงเพลงที่ยากที่สุดในการแข่งขัน ทำให้เขาต้องกลายเป็นคนสติแตก จิตแพทย์ห้ามให้เขาเล่นเปียโนตลอดชีวิต แต่เขาสามารถต่อสู้จนกลับมาเป็นมือเปียโนที่มีชื่อเสียงได้ในที่สุด แต่น่าเสียดายที่พ่อของเขาต้องมาจากไปเสียก่อนที่จะได้เห็นความสำเร็จของลูก


ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดเรื่องโดยการนำตอนท้ายของเรื่องมาเปิดเรื่อง คือเรื่องเริ่มขึ้นที่ฉากคืนฝนพรำ โดยการซูมที่หน้าของตัวละครเอกที่จิตไม่ปกติยืนพูดคนเดียว เขาวิ่งไปบนถนนและหยุดที่ร้านอาหารสายตาจับจ้องที่เปียโน จากนั้นก็ได้เล่าย้อนสลับไปมาระหว่างอดีตและปัจจุบัน เพื่อคลี่คลายความสงสัยในตอนเริ่มเรื่อง ฉากทุกฉากในเรื่องใช้สีที่หม่น รวมถึงโทนสีของเสื้อผ้าที่ตัวละครสวมใส่ สื่อถึงอารมณ์ของตัวละครและเนื้อหาของภาพยนตร์ที่มีความเศร้าและหม่นหมอง


ตัวละครที่เป็นพ่อ (ปีเตอร์) มีบทบาทสำคัญและมีอิทธิพลต่อตัวละครเอก (เดวิด) อย่างมาก คือ พ่อจะตัดสินใจแทนเดวิดตลอด เข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตของเดวิดมากเกินไป บังคับ กดดันให้เดวิดทำทุกอย่างตามที่ตัวเองต้องการ เพื่อตอบสนองความสนใจทางด้านดนตรีในวัยเด็กของตนที่ไม่ได้รับการสนับสนุน เดวิดเป็นเด็กที่ไม่ร่าเริงทั้ง ๆ ที่อยู่กับดนตรี เขามีแต่ความเครียดและความ กดดันที่รับมาจากพ่อ เขาไม่กล้าขัดใจพ่อ ในบางครั้งพ่อแสดงอารมณ์ที่รุนแรง บางครั้งมีการใช้กำลัง สลับกับการแสดงออกถึงความอบอุ่น ทำให้เดวิดเกิดความสับสนจนเกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างพ่อกับลูก ป้าพลิชาร์ดเป็นตัวละครที่เป็นแรงผลักดันให้เดวิดกล้าที่จะตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตของตัวเอง และเขาก็มีความมุ่งมั่นตั้งใจ ดูเหมือนตั้งใจมากเกินไปจนกลายเป็นความหมกมุ่นอยู่แต่กับตัวเอง เปียโน และการแข่งขัน ถึงแม้ว่าเดวิดจะไม่ได้อยู่กับพ่อแล้ว แต่เขาก็เหมือนยังมีแรงกดดันของพ่อที่ฝังอยู่ในจิตใจ เขาเลือกเพลงที่ยากในการแข่งขัน เพลงที่พ่อต้องการให้เขาเล่นในสมัยเด็ก ๆ หรือแม้แต่ตอนที่เขากลายเป็นคนสติไม่ค่อยดีเขาก็ยังท่องคำพูดที่พ่อเคยพูดกับเขาอยู่ตลอด ทั้งหมดนี้ล้วนแสดงให้เห็นว่าพ่อมีอิทธิพลกับเดวิดมาก


ส่วนการตั้งชื่อเรื่องว่า Shine…โชคดีที่สวรรค์ไม่ลำเอียง สอดคล้องกับเนื้อหาของภาพยนตร์เป็นอย่างดี ซึ่งตรงกับชีวิตของตัวละครเอกที่ต้องกลายเป็นคนที่มีจิตใจไม่ปกติแต่สวรรค์ก็ยังใจดีให้เขายังกลับมาเล่นเปียโนได้ และกลับมาเป็นนักเปียโนที่มีชื่อเสียงอีกครั้ง


ในภาพยนตร์เรื่องนี้มีสารที่ผู้กำกับต้องการสื่อถึงผู้ชม เช่น ตอนที่แว่นตาของพ่อแตก แต่พ่อก็ยังไม่ยอมเปลี่ยนแว่นตาอันใหม่ นั่นหมายถึงการที่พ่อไม่ยอมรับสิ่งใหม่ ๆ ไม่ยอมเปลี่ยนมุมมองและความคิด โดยพ่อพยายามให้เดวิดใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ เล่นดนตรีอยู่ที่บ้านกับตนเอง ไม่ยอมให้เดวิดไปเรียนที่ต่างประเทศ และก๊อกน้ำที่เกรียวหวานปิดไม่สนิทนั้นก็แสดงถึงอารมณ์ของตัวละครที่จะระเบิดหรือจะถูกปลดปล่อยออกมาเมื่อใดไม่มีใครรู้ได้ เหมือนกับน้ำที่สามารถจะพุ่งออกมาจากก๊อกที่ไม่สามารถปิดได้อีกแล้วตลอดเวลา


Shine เป็นภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่มีเนื้อหาดีมาก ให้คุณค่าทางด้านอารมณ์ไม่ว่าจะเป็นสีหน้าท่าทางของตัวละคร โทนสีของฉาก รวมถึงบทเพลงที่บรรเลง ล้วนสื่อให้ผู้ชมได้เข้าถึงอารมณ์ของภาพยนตร์ได้เป็นอย่างดี และให้ข้อคิดด้านความมุ่งมั่นตั้งใจ ไม่ละทิ้งความฝันของตนที่ทำให้คนเราสามารถประสบความสำเร็จได้ ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมภาพยนตร์เรื่องนี้ถึงได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลมากมายเช่นนี้

Shine

ชามาศ

หนังออสเตรเลียเรื่องนี้ สร้างขึ้นจากชีวิตจริง ของนักเปียโน ชาวออสเตรเลีย - ยิวที่ในวัยเด็กของเขาถูกกดดันจากพ่อ ให้ฝึกฝนอย่างหนักที่จะเป็นนักเปียโนด้วยความที่เป็นผู้ที่มีพรสวรรค์อย่างอัจฉาริยะ เขาได้รับทุนให้ไปศึกษาต่อ ที่ Rayal Academy of Musicรับบทมือเปียโนโดยดาราอังกฤษ Geoffrey Rushกำกับโดยชาวออสเตรเลีย Scott Hicks เข้าฉายในปี 1996

David Helfgott เกิดที่ Melbourne Australia ปี 1947 ในครอบครัวชาวยิว เดวิดมีความสามารถพิเศษทางด้านเปียโนตั้งแต่เล็ก เมื่อเขาย่างเข้าสู่วัยรุ่น ด้วยความที่เป็นผู้ที่มีพรสวรรค์อย่างอัจฉริยะ เขาได้รับทุนให้เข้ารับการเรียนเพื่อพัฒนาทักษะทางด้านดนตรี แต่จนแล้วจนรอด เดวิดก็ไม่มีโอกาสได้ไปเรียนเพราะการบังคับของพ่อ จนอีก 5 ปีต่อมา เขาได้เข้าเรียนที่ The Royal College Of Musicปี 1970 เนื่องจากโรคร้ายทำให้เดวิดต้องกลับไปที่ Perth โดยไร้ซึ่งชื่อเสียงใดๆ และจนกระทั่งเขาสามารถต่อสู้จนเอาชนะโรคร้ายได้และกลับมาเป็นมือเปียโนที่มีชื่อเสียงได้ในที่สุด

ปี 1991 CD " Liszt,Rachmaninoff,Chopin " ของเดวิด ได้รับการเสนอชื่อสำหรับรางวัล Australian Aria Award เดวิดได้เดินทางไปแสดงยังสถานที่ต่างๆและทุกที่ที่เขาไป จะได้รับการตอบรับและชื่นชมจากผู้คนมากมาย ปี 1996 ภาพยนตร์เรื่อง Shine ของ Scott Hicks เป็นหนังที่ถูกสร้างขึ้นโดยอ้างอิงจากชีวิตจริงของเขา ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Oscar และในปีนั้น Geoffrey Rush ซึ่งเป็นผู้สวมบทบาทของ เดวิด ได้รับรางวัล Best Actor ชื่อของ เดวิด จึงเป็นที่รู้จักและกล่าวขวัญถึงในหลายประเทศ เขาได้เดินทางไปเปิดการแสดงเปียโนยังสถานที่ต่างๆ จากกระแสความนิยมในตัวของ เดวิด ทำให้เขาถูกเรียกขานว่าเป็น A Necessary Breath Of Fresh Air ปี 1997 เดวิดได้ทำตามความฝันที่เขาตั้งใจไว้ คือเปิดการแสดงที่ Albert Hall ท่ามกลางผู้ชม 6,000 คน CD ของเขากลายเป็น CD ที่ขายดีที่สุด The New York Times และBillboard Magazine ขนานนามเขาว่า " Most Influential Classical Musician Of The Year " ในหมู่นักฟังเพลงดนตรีคลาสสิกทั่วโลก ถือได้ว่า เดวิด เป็นผู้ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง การบรรเลงเปียโนที่ถ่ายทอดอารมณ์ออกมาได้ลึกซึ้งสวยงาม สร้างแรงบันดาลใจแก่นักดนตรีรุ่นใหม่ให้ยึดถือเป็นแบบอย่างต่อไป

Shine มีการลำดับเรื่องแบบเล่าย้อนไปในอดีตสลับกับภาพปัจจุบัน โดยเปิดเรื่องจากฉากที่มีสายฝนโปรยปรายนอกหน้าต่าง แล้วตัวเอกของเรื่องคือเดวิดมองออกไปแล้วนึกถึงอดีตตั้งแต่วัยเด็ก เสียงของสายฝนดังเหมือนกับเสียงปรบมือจึงทำให้เดวิดนึกถึงเสียงปรบมือในตอนที่เขาเคยเล่นเปียโนอยู่บนเวที

เดวิด เฮพก็อด เด็กชายตัวเล็กๆที่มีพรสรรค์ทางด้านดนตรี ถือกำเนิดมาในครอบครัวชาวยิวที่เคร่งครัดปรัชญาของชาร์ล ดาวิน ไม่เคยได้สัมผัสกับสิ่งที่สนุกสนานตามวัยอันสมควร แต่กลับต้องมาคร่ำเคร่งอยู่กับการฝึกซ้อมเปียโนเพื่อทดแทนความฝันที่ขาดหาย ชะตาที่ถูกกำหนดเอาไว้อย่างเคร่งครัดและรัดรึงจากผู้ที่ได้ชื่อว่า พ่อ พ่อมักจะสอนเขาเสมอว่า ผู้ที่เอาตัวรอดในสังคมได้นั้นต้องเป็นผู้ที่แข็งแรงและชนะเท่านั้น นี่นับว่าเป็นโชคดีหรือโชคร้ายของเขากันแน่


ปีเตอร์ เฮลฟ์ก็อท ผู้เป็นพ่อ หากดูจากภายนอกจะรู้สึกได้ว่าเขาเป็นคนเจ้าระเบียบและโลกทัศน์แคบ ไม่ยอมเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆรอบตัวและมักจะปิดกั้นโอกาสของลูกเสมอโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของลูก คิดแค่เพียงว่าไม่อยากให้ครอบครัวแตกแยกหรือหากคิดในแง่ดีคือเขารักลูกและครอบครัวมาก การที่เขาใช้สก๊อตเทปปิดรอยแตกของแว่นเมื่อมองเผินๆอาจคิดว่าเป็นเพราะนิสัยงกของเขา แต่แท้จริงแล้วแสดงถึงสัญลักษณ์ของการไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง

ส่วนเดวิด เฮลฟ์ก๊อท ตัวละครเอกของเรื่องก็ได้เคยแสดงความผิดปกติของเขาออกมาในฉากที่เขานั่งแช่อยู่ในอ่างอาบน้ำเป็นเวลานานเนื่องจากความสะเทือนใจทำให้เขาไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ จึงถ่ายในอ่างน้ำ แล้วก็ตัดภาพไปยังก๊อกน้ำที่มีน้ำหยด นี่เป็นอีกครั้งที่แสดงถึงสัญลักษณ์บางอย่าง ซึ่งเผยให้เห็นถึงการที่ความอดทนของเดวิดกำลังขาดสะบั้นลง เหมือนกับก๊อกน้ำที่บิดเกลียวแน่นๆจนมีน้ำรั่วออกมา

ความรัก....ความเห็นแก่ตัว กลายเป็นสิ่งกดดันให้ เดวิด เติบโตขึ้นมาอย่างเงียบเหงา อ้างว้าง และโดดเดี่ยวอย่างเหลือเกิน เพราะผู้เป็นพ่อไม่ยอมให้ลูกคบหาและทำความรู้จักกับเพื่อนเลย สิ่งเหล่านี้ได้เบี่ยงเบนให้เขากลายเป็นคนที่ขาดความมั่นใจเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้คน ดวงดาวเปล่งประกายฉายแววเมื่อเขามีโอกาสได้รับทุนให้ไปศึกษาต่อทางด้านดนตรีที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่แล้วกลับไม่มีโอกาสได้ทอแสงเจิดจรัสบนฟากฟ้า เส้นทางที่โรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบรออยู่เบื้องหน้าถูกปิดกั้นไว้ด้วยจิตใจที่คับแคบของผู้เป็นพ่อ พ่อของเขาไม่อนุญาตให้ไปโดยอ้างเหตุผลว่าจะไม่ยอมให้ใครมาทำให้ครอบครัวของเขาต้องแตกแยกเป็นอันขาด นี่คงจะเป็นผลมาจากความเชื่อของชาวยิว

เมื่อทุกอย่างดำเนินมาจนถึงที่สุด เดวิดได้ตัดสินใจรับทุนการศึกษาไปเรียนดนตรีที่ลอนดอนและเดินจากครอบครัวมาโดยไม่ฟังคำทัดทานจากผู้เป็นพ่อที่ขู่ไว้ว่าหากเดินออกไปจากบ้านก็ไม่ต้องกลับมาเหยียบที่นั่นอีก ไม่มีอะไรอีกแล้วจะหยุดยั้งสิ่งที่หัวใจต้องการขอเพียงได้ไปเท่านั้น ความหวัง ความฝัน เรียกร้องและเร่งเร้าให้เดวิดตัดสินใจแหวกกฎเกณฑ์ทั้งหลาย....กำแพงของความอดทนได้พังทลายลงโดยสิ้นเชิง

การเดินทางมาเรียนต่อในครั้งนี้ทำให้เขามีโอกาสสานฝันของตัวเองให้สำเร็จ นั่นคือการเลือกที่จะเล่นเพลงแร็คมานีนอฟที่3 เพื่อใช้ในการแข่งขัน เขาทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจในการฝึกซ้อมอย่างหนัก เมื่อถึงวันแสดง เขาก็สามารถทำให้ทุกคนประจักษ์ในความสามารถของเขา และแล้วเมื่อการแสดงจบลง เดวิดก็เกิดล้มลงและช็อคหมดสติอยู่ ณ ที่ตรงนั้น และนี่คือจุดหักเหที่สุดในชีวิตของเขาเมื่อได้เกิดอุบัติเหตุทางจิตใจหลังการแข่งขันเปียโน จนทำให้เขาต้องกลายเป็นคนสติแตก จิตแพทย์ห้ามเล่นเปียโนตลอดชีวิต

เดวิดกลับกลายเป็นคนป่วยทางจิต แต่ความรู้สึกที่เคยขาดไปในวัยเยาว์ได้รับการเติมเต็ม สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่ในวิญญาณของเขาคือสิ่งนี้...เปียโน ไม่ว่าสภาพในวันนี้ของ เดวิด จะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน ทุกครั้งที่นิ้วมือได้สัมผัสมัน จิตใจดูเหมือนจะชุ่มฉ่ำดุจสายฝนที่ร่วงหล่น พรสวรรค์ยังไงก็ยังคงเป็นพรสวรรค์อยู่เสมอ

ในผับกับเพลง Flight Of The Bumble Bee ไพเราะจับใจแสดงให้เห็นถึงความสามารถพิเศษของ เดวิด สะกดใจผู้ฟังให้เหมือนดังต้องมนต์ เจ้าของผับคือโรซี่ได้ว่าจ้างเขาเป็นนักเปียโนประจำผับ และจากเหตุการณ์นี้เองที่ทำให้เขาได้พบรักกับกิลเลียน สาวนักพยากรณ์ที่เดินทางมาจากซิดนีย์ เขาและเธอได้แต่งงานกัน เธอเป็นผู้ทำให้ชีวิตของเขามีแสงสว่างขึ้น สภาพจิตใจของเขาค่อยๆได้รับการเยียวยา

ภายในใจลึกๆของเดวิดยังเฝ้ารอคอย วันที่พ่อจะให้อภัย เสี้ยวหนึ่งเขารับรู้ได้ ถึงความรักที่พ่อมีให้เขายังคงไม่เปลี่ยนแปลง เพียงแต่ เดวิด ตัดสินใจที่จะมีชีวิตอยู่รอดให้ได้ตามวิถีทางซึ่งเขาได้เลือกเองมาตั้งแต่ต้น จะผิดจะถูก จะร้ายหรือดี เขาก็ได้เลือกแล้วและยอมรับซึ่งผลของมัน เมื่อเมฆหมอกจางหาย ท้องฟ้ากลับสดใสอีกครา และนี่คือรางวัลชิ้นเยี่ยมที่เขาสมควรได้รับ การรอคอยอันเนิ่นนาน แต่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าเหลือเกิน...

กำกับ Scott Hicks ดึงเอาอารมณ์และเหตุการณ์ของหนังออกมาในแต่ละช่วงได้ดีและน่าประทับใจ ทั้ง Noah Taylor และ Geoffrey Ruch สวมบทบาทของเดวิดตอนช่วงวัยรุ่น และวัยกลางคน ซึ่งทั้งสองถ่ายทอดความรู้สึกและแสดงได้อย่างยอดเยี่ยม

SHINE

ชัชลัย

ภาพยนตร์เรื่อง SHINES เป็นภาพยนตร์ของประเทศออสเตรเลีย เข้าฉายที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1996 ซึ่งเขียนบทและกำกับบทภาพยนตร์โดย สก็อต ฮิค ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลมากมายหลากหลายสาขา เช่น ในปี ค.ศ.1997 ได้รางวัลออสการ์ประเภทดารานักแสดงนำยอดเยี่ยม และในปีเดียวกันนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง6 สาขาด้วยกัน ในปี ค.ศ.1998 ชนะรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่ประเทศออสเตรเลีย และมีรางวัลอื่นๆที่สามารถรับรองถึงความมีคุณภาพของภาพยนตร์เรื่องนี้มากมาย

เดวิดเด็กหนุ่มซึ่งหลงใหลในการเล่นเปียโนมาตั้งแต่เด็ก โดยมีพ่อของเขาที่ให้กำลังใจอยู่ข้างๆเสมอ วันหนึ่งที่เดวิดแพ้การแข่งขันเปียโนได้ถามพ่อว่า “พ่อครับพ่อสอนผมเล่นได้ไหม” เป็นคำพูดที่ทำให้พ่อตัดสินใจไปหาครูเพื่อมาสอนเดวิด เดวิดเป็นคนที่มีพรสวรรค์ในการเล่นเปียโนเป็นอย่างมาก เมื่อมีครูมาคอยชี้แนวทางเขาก็สามารถเล่นเปียโนได้ดีมากขึ้นเรื่อยๆ จนครูของเขาบอกว่าเขาเป็นอัจฉริยะ ความพยายามในการเล่นเปียโนของเดวิดส่งผลให้เดวิดได้รับการเสนอทุนให้ไปเรียนดนตรีที่อเมริกา แต่ไม่ยอมให้เดวิดไป โดยพ่อบอกว่าไม่ต้องการให้สิ่งใดมาทำลายครอบครัวของเขาอีก

เดวิดได้พบกับแคทรีนนักแต่งหนังสือระดับแนวหน้า แคทรีนเป็นผู้ที่คอยให้กำลังใจและชี้แนวทางให้แก่เดวิดเสมอ จนสุดท้ายเดวิดตัดสินใจไปอังกฤษตามที่เขาได้รับเสนอทุนมาเป็นครั้งที่สอง เดวิดต้องไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศเพียงลำพัง โดยการเดินทางในครั้งนี้พ่อของเขาคัดค้านอย่างถึงที่สุด และได้ยื่นคำขาดว่าหากเดวิดตัดสินใจรับทุนก็อย่ากลับมาหาครอบครัวนี้อีก แต่เดวิดก็เลือกที่จะทำตามความฝันของตัวเขาเองโดยมีแคทรีนเป็นผู้สนับสนุนการตัดสินใจของเขา


ในขณะที่เดวิดใช้ชีวิตอยู่ที่ลอนดอน เขาพยายามตั้งใจฝึกซ้อมการเล่นเปียโนอย่างเต็มที่โดยเพลงที่เขาตั้งใจจะเล่นให้ได้คือ เพลงแร็คแมนีนอฟ ซึ่งพ่อเขาเองก็ต้องการให้เขาเล่นเหมือนกัน เดวิดสามารถชนะเลิศการประกวดด้วยเพลงนี้จนได้ แต่ยังไม่สิ้นเสียงปรบมือ เขาก็ล้มลงบนเวที หลังจากนั้นเดวิดต้องพักรักษาตัวอยู่เป็นเวลานานและหมอได้สั่งห้ามเขาเล่นดนตรีอีก

หลังจากที่เดวิดออกมาจากโรงพยาบาลเดวิดก็ได้ไปเล่นเปียโนอยู่ที่ร้านอาหาร และเขาก็ได้กลับไปแสดงคอนเสิร์ตอีกครั้ง โดยในตอนนี้เขามีภรรยาที่คอยดูแลเขาอยู่ตลอดซึ่งเป็นเพื่อนของซิลเวีย เพื่อนเก่าของเดวิดที่เป็นเจ้าของร้านอาหารที่เดวิดไปเล่นเปียโน ตลอดเวลาที่เขาป่วยเขาได้พยายามติดต่อพ่อเขาตลอดแต่พ่อเขากลับยังไม่ให้อภัย

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีการเปิดเรื่องแบบที่นำเนื้อหาในช่วงกลางของเรื่องมาเล่าก่อน แล้วจะค่อยๆกล่าวให้รู้ว่าตัวละครเหล่านั้นเป็นใครไปเรื่อยๆ เป็นการดำเนินเรื่องจากช่วงกลางแล้วเล่าย้อนไปในตอนต้น จนกลับมาเจอช่วงเดิมแล้วจึงเล่าเรื่องต่อไป ฉากในเรื่องนี้จะมีความเศร้าปนอยู่ตลอด แสงและสีที่สื่อออกมาจะสะท้อนให้เห็นถึงความหม่นหมองทั้งของพ่อและเดวิด เกือบทุกฉากในภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีเปียโนเป็นส่วนประกอบเสมอทำให้เห็นว่า เปียโนมีความสัมพันธ์กับความขัดแย้ง และเรื่องราวต่างๆเสมอ

ความขัดแย้งของภาพยนตร์เรื่องนี้ อยู่ที่ความแตกต่างกันของทรรศนะคติของพ่อและลูก โดยพ่อคิดว่าครอบครัวคือชีวิต ส่วนเดวิดถือว่าชีวิตของเขาคือเปียโน ตลอดในช่วงต้นของเรื่องพ่อเขาจะย้ำกับเดวิดอยู่เสมอว่า เขาโชคดี เขาเกิดมาบนความโชคดี เช่น เดวิดโชคดีที่มีครอบครัว และโชคดีที่ได้เล่นดนตรี ตรงข้ามกับตัวของพ่อที่ไม่มีครอบครัว ไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วพ่อและแม่ของเขาจากไปอย่างไร ไวโอลินที่เขาต้องการจะเล่นก็ไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากปู่ ซึ่งพ่อได้ย้ำเรื่องพวกนี้กับเดวิดมาโดยตลอด เดวิดเองก็จะตอบรับทุกครั้งว่าผมรู้ครับว่าผมเกิดมาโชคดี

เดวิดเป็นคนที่มีความเก็บกดทางด้านอารมณ์อย่างมาก สังเกตได้จากการที่เดวิดชอบจับหน้าอกผู้หญิงก็น่าจะมาจากการที่เขาต้องการจะระบายออกทางอารมณ์ และเป็นการแสดงให้เห็นว่าเขาไม่มีความคุ้นเคยกับผู้หญิงเนื่องจาก เขาและแม่ดูเหมือนจะไม่สนิทกันเท่าไหร่ มีแต่พ่อที่คอยดูแลมาตลอด และแม่ก็ปรากฏพียงแค่ในช่วงต้นของภาพยนตร์เท่านั้น และแว่นตาของเขาที่ไม่ว่าจะหล่นจะแตกอย่างไร เขาก็ไม่มีทางเปลี่ยน อีกทั้งตอนที่เขาถูกห้ามไม่ไห้ไปอเมริกา แล้วเขาไปถ่ายในอ่างอาบน้ำ ทั้งๆที่น้ำนั้นจะต้องให้พ่อใช้ต่อ เป็นการแสดงให้เห็นว่าเขาต้องการที่จะต่อต้านพ่อ เพียงแต่ว่าเขาเป็นคนที่เก็บอารมณ์จะไม่พูดจาก้าวร้าวเพื่อเป็นการต่อต้าน เดวิดมีความผูกพันกับแคทรีนอย่างมาก เขาจึงเก็บถุงมือที่แคทรีนให้ไว้ตลอด แม้ขณะเล่นเปียโนเขายังต้องการที่จะใส่ถุงมือคู่นั้นไว้ เขาจึงตัดส่วนนิ้วของถุงมือออกเพื่อที่จะได้เล่นถนัดขึ้น เดวิดจะระบายอารมณ์อย่างเต็มที่เมื่อเขาได้เล่นเปียโน ทำให้เขาสามารถเล่นเพลงยากๆ และเข้าถึงเพลงเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี

พ่อเป็นตัวละครที่มีปมหลังแฝงอยู่ เขาเป็นผู้ที่เติบโตมาในครอบครัวที่ไม่อบอุ่น เขาจึงต้องการสร้างครอบครัวใหม่ของเขาเองที่เต็มไปด้วยความรัก การที่พ่อเขาพยายามทำตัวแข็งพูดจาแข็งกร้าว ไม่แสดงท่าทีอ่อนโยนอกมา เพราะว่าต้องการปิดบังความอ่อนแอลึกๆของเขาเอาไว้ แต่แท้จริงแล้วพ่อยังคงเป็นห่วงเดวิด เพราะว่าเขายังคงเอาโน้ตเพลงที่เดวิดเล่นมาเปิดดู ยังคงดูรูปในสมัยก่อนอยู่เสมอ

จุดที่เปลี่ยนความรู้สึกในเรื่องมีหลายช่วงและในแต่ละช่วงจะมีตัวแสดงตัวใหม่มาช่วยดำเนินเรื่อง แต่จะยังคงมีเดวิดและพ่อเป็นตัวละครหลักอยู่ เช่น ตอนที่เดวิดได้รับทุนไปอเมริกาแล้วพ่อไม่ให้ไป ทำให้เดวิดเกิดการต่อต้านและเจอแคทรีน เดวิดฝืนคำสั่งพ่อรับทุนไปเรียนที่โรงเรียนดนตรีที่อังกฤษเดวิดได้เจอครูที่คอยสนับสนุนการเล่นเปียโนของเขา และได้พบเพื่อน ซึ่งเป็นเพื่อนกลุ่มแรกของเดวิด การที่เดวิดชนะการประกวดแต่ไม่ทันได้เห็นความสำเร็จก็ต้องป่วยหนัก แต่เขาก็ได้เจอซิลเวียผู้เป็นเพื่อนแท้ของเขา

ปิดเรื่องที่สุสานของพ่อ แสดงให้เห็นว่าแม้เดวิดจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ด้วยตัวเขาเองแล้ว แต่สุดท้ายเบื้องหลังที่เป็นกำลังใจ และเป็นผู้ที่เขาคิดถึงอยู่เสมอก็คือ พ่อของเขา ไม่ว่าจะอย่างไรพ่อจะยังคงอยู่ในใจตลอดไป เขาไม่เคยโกรธในสิ่งที่พ่อทำเลยสักครั้งเดียว

ภาพยนตร์เรื่องนี้แม้ว่าจะเป็นภาพยนตร์ที่ดูแล้วจะรู้สึกหนักๆ เครียดๆ แต่จะมีการเดินเนื่องที่ต่อเนื่อง สร้างความอยากรู้อยู่ตลอด อีกทั้งเลือกใช้นักแสดงที่มีความสามารถทางการแสดงเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้คนสนใจและอยากที่จะติดตาม ยิ่งช่วงที่เดวิดไม่สบาย นักแสดงเล่นได้เก่งจนทำให้เชื่อว่าเขาป่วยจริงๆ และอยากจะรู้ต่อว่าเมื่อเขาป่วยแล้วเขาจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร ตัวละครใหม่ๆที่เข้ามา ช่วยทำให้เกิดความสนใจว่าคนเหล่านั้นจะมาเปลี่ยนแปลงอะไรในเรื่องบ้าง แล้วความขัดแย้งของเดวิดและพ่อที่เห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงต้นนั้น สุดท้ายแล้วจะลงเอยอย่างไร เรียกได้ว่าเรื่องนี้เด่นที่ตัวละคร และบทของเรื่องจริงๆ จนบางครั้งลืมที่จะสนใจฉากรอบด้าน หรือเพลงประกอบต่างๆไปเสียหมด


05490100

Shine : บุรุษผู้ไม่เคยหยุดฉายแสง

ชวัลญา

Shine คือชื่อสั้นๆของภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากเรื่องราวชีวิตที่ไม่ธรรมดาของนักดนตรีผู้มีนามว่า เดวิด เฮลฟ์กอทท์...

นักดนตรีที่ทำให้ผู้ฟังทุกคนทึ่งต้องกับฝีมือการบรรเลงบทเพลงชีวิตอันไม่ธรรมดาของเขา...
เรื่องราวในภาพยนตร์นำเสนอชีวิตของเดวิดตั้งแต่เด็ก เขาเป็นลูกศิษย์เอก และเป็นความหวังเพียงหนึ่งเดียวของผู้เป็นพ่อในเรื่องการบรรเลงเปียโน จุดหมายของเด็กชายในการบรรเลงบทเพลงอยู่ที่ แรคเมนีนอฟหมายเลขสาม บทเพลงคลาสสิกที่นักดนตรีอาชีพน้อยคนนักจะสามารถบรรเลงได้อย่างไพเราะ

เดวิดต้องทนรับความกดดันและความคาดหมายอย่างมากมาย จนกระทั่งเบน โรเซ่น ครูสอนเปียโนมองเห็นพรสวรรค์ของเขาจากการประกวดในงานเล็กๆ และเสนอตัวเพื่อสอนเดวิด นับแต่นั้นมาพรสวรรค์ทางด้านดนตรีของเขาก็เปล่งประกายมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งเขาก็ได้รับทุนให้ไปศึกษาด้านดนตรีต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทว่าพ่อของเดวิดก็ทำลายความฝันของเขาอย่างไม่มีชิ้นดีด้วยการยื่นคำขาดว่าการไปของเขาจะเป็นการ “ฉีกครอบครัวออกเป็นชิ้นๆ” แต่นั่นกลับเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้กับเดวิดอย่างไม่รู้ตัว ต่อมาเมื่อเขาได้รับทุนให้ไปศึกษาด้านดนตรีต่อที่มหาวิทยาลัยดนตรีในลอนดอน เดวิดก็ได้รับแรงสนับสนุนจากนักเขียนอาวุโสที่มักจะเชื้อเชิญเขาไปเล่นดนตรีที่บ้านบ่อยๆ เขาจึงตัดสินใจไม่ฟังคำทัดทานใดๆของพ่อ และมุ่งหน้าสู่ลอนดอน

ที่วิทยาลัย เดวิดได้พบกับอาจารย์ซีซิล ปาร์เกส ผู้ที่ผลักดันให้เขาสามารถเล่นเพลงแรคเมนีนอฟได้ในที่สุด แต่ในวินาทีที่เดวิดแสดงผลงานเพลงชิ้นเยี่ยมจบลง ชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไปในทันที จากความกดดันทั้งมวลที่เขาประสบมาตลอดชีวิต ในที่สุดประสาทของเขาก็ไม่สามารถทนรับมันได้อีกต่อไป หลังจากอาการช็อคในวันนั้น เดวิดกลายเป็นคนพูดรัวเร็ว และมีพฤติกรรมบางอย่างคล้ายคนเสียสติ จนกระทั่งเขาได้เข้าไปเล่นเปียโนในร้านอาหารเล็กๆแห่งหนึ่ง และได้รู้จักกับกิลเลียต หมอดูสาวเพื่อนของพนักงานเสิร์ฟในร้าน และหญิงสาวคนนี้เองที่เป็นผู้เยียวยาเขาจากอาการประสาท และชักนำให้เขากลับมาฉายแสงบนเวทีอีกครั้ง

ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้วิธีการเปิดเรื่องด้วยเหตุการณ์ปัจจุบันก่อนจะมองย้อนกลับไปในอดีต ฉากแรกเริ่มขึ้นเมื่อเดวิดในวัยกลางคนวิ่งเข้าไปหลบฝนที่ร้านอาหารเล็กๆแห่งหนึ่ง ทำให้ผู้ชมได้เห็นสภาพในปัจจุบันของตัวละคร จากนั้นจึงค่อยเล่าเรื่องราวย้อนไปในสมัยเด็กเพื่อมองหาสาเหตุว่าเขากลายมาเป็นเช่นนี้ได้อย่างไร
จุดเริ่มต้นของชีวิตของเดวิดคือ “บ้าน” และนั่นคือเครื่องมือสำคัญอย่างแรกที่ตีกรอบให้กับเด็กชาย ละแวกบ้านที่เดวิดอาศัยอยู่บ่งชี้ให้เห็นถึงฐานะทางครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวย แต่สิ่งหนึ่งที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนคือรั้วไม้ที่กั้นรอบบ้าน เปรียบเสมือนสิ่งพ่อของเขาขีดไว้กั้นลูกๆทุกคนออกจากโลกภายนอกและนั่นส่งผลให้เดวิดเติบโตมาโดยไม่มีเพื่อนเลยแม้แต่คนเดียว

แต่สิ่งที่มีอิทธิพลต่อเดวิดมากที่สุดคงหนีไม่พ้น ปีเตอร์ เฮลฟ์กอทท์ พ่อของเขาเอง ปีเตอร์เลี้ยงดูลูกชายให้เป็นเหมือนสิ่งชดเชยอดีตของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการปลูกฝังให้เดวิดเล่นดนตรีคลาสสิกตั้งแต่เล็กทั้งๆที่เป็นความชอบของตัวเอง หรือย้ำความคิดที่ว่าเดวิดโชคดีมากเหลือเกินที่มีพร้อมทั้งครอบครัวและพรสวรรค์ด้านดนตรี นอกจากนั้นปีเตอร์ยังเป็นคนที่มีบุคลิกสองด้าน บางครั้งผู้ชมจะเห็นได้ว่าปีเตอร์เป็นพ่อที่อบอุ่น รักและเอาใจใส่ลูก แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็เป็นคนก้าวร้าวรุนแรง และใช้กำลังอย่างไม่มีเหตุผล ทั้งยังเป็นคนยึดมั่นในอุดมคติของตัวเองอย่างแรงกล้าจนไม่รับรู้เหตุผลใดๆ แม้กระทั่งตอนท้ายของเรื่องปีเตอร์ก็ยังคงคิดว่าสิ่งที่เขากระทำต่อเดวิดในอดีตนั้นเป็นสิ่งถูกต้อง

การเลี้ยงดูของปีเตอร์หล่อหลอมให้เดวิดเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กที่ค่อนข้างมีโลกส่วนตัวสูง ไร้เพื่อนฝูงในวัยเดียวกัน และเป็นคนค่อนข้างขาดความมั่นใจเนื่องจากต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพ่อเพียงอย่างเดียว สิ่งที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือ เมื่อตอนที่อาจารย์โรเซ่นมาเกลี้ยกล่อมให้แม่ของเดวิดสนับสนุนเรื่องการไปอเมริกา แม่ของเดวิดกลับพูดว่า เดวิดยังฉี่รดที่นอนอยู่แม้ว่าเขาจะเป็นวัยรุ่นแล้วก็ตาม สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงภาวะบางอย่างในจิตใจของเขา เพราะเดวิดไม่เคยสัมผัสและเรียนรู้โลกภายนอกด้วยตัวเอง ทำให้เดวิดยังเป็นเด็กอยู่เสมอ อีกปัจจัยหนึ่งอาจเป็นเพราะการเลี้ยงดูที่จำกัดสิทธิในแทบจะทุกด้านของพ่อ ทำให้เขาเกิดภาวะเครียดโดยไม่รู้ตัว
กลายเป็นว่าความรักของพ่ออย่างปีเตอร์ กลับกลายเป็นยาพิษสำหรับลูกชาย

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาจึงเป็นความขัดแย้งระหว่างสองพ่อลูก ซึ่งเป็นตัวผลักดันทำให้เกิดเรื่องราวต่างๆ เพราะตั้งแต่เล็กจนโต เดวิดเติบโตมาภายใต้คำสั่งสอนของพ่อราวกับเป็นหุ่นเชิด แต่เมื่อถึงจุดแตกหักที่เขาเริ่มไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของปีเตอร์ เดวิดก็เริ่มมีอาการกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ จนส่งผลให้มีพฤติกรรมแปลกไป
เหตุการณ์หนึ่งที่เป็นข้อพิสูจน์ได้อย่างดีคือ ฉากที่เดวิดช็อคจากการถูกสั่งห้ามไม่ให้ไปอเมริกา เขานั่งกอดเข่าแช่น้ำอยู่ในอ่างอาบน้ำเงียบๆ จากนั้นพ่อของเขาก็เดินเข้ามาเพื่อที่จะอาบน้ำต่อ แต่พอพบว่าลูกชายถ่ายอยู่ในอ่างอาบน้ำ ปีเตอร์ก็โรธจัดแล้วเอาผ้าเช็ดตัวฟาดเดวิดอย่างรุนแรง ทว่าเด็กหนุ่มก็ยังคงนั่งนิ่งอยู่อย่างนั้น เมื่อจบฉากนี้กล้องได้ตัดให้เห็นภาพก๊อกน้ำที่มีน้ำรั่วหยดลงมาทีละหยด ทีละหยด เหมือนกับสภาพจิตใจที่เริ่มเกิดรอยรั่วทางความคิดทีละน้อย

แน่นอนว่าสิ่งที่สมานรอยรั่วนั้นได้ย่อมเป็นความรัก ความเข้าใจและการยอมรับ…

ซึ่งกิลเลียต เฮลฟ์กอทท์ ภรรยาของเดวิดกลับเป็นผู้เดียวที่สามารถมอบสิ่งเหล่านี้ให้แก่เขาได้ และเธอยังแสดงให้เราเห็นถึงการตัดสินคุณค่าของคนจากภายใน รวมถึงการให้โอกาสแก่ผู้อื่นโดยไม่เคยคิดว่ามันเป็นเรื่องที่สายเกินไป

หากกิลเลียตไม่ตอบรับคำขอแต่งงานของเดวิด เขาก็คงไม่ได้กลับมาเปล่งประกายอีกครั้งอย่างเช่นทุกวันนี้...

Shine นับเป็นภาพยนตร์ที่นำเสนอให้เราเห็นทุกช่วงชีวิตเล็กๆของนักดนตรีคนหนึ่งที่ไม่ได้มีแต่ด้านที่สวยงามเสมอไป ทั้งยังแฝงไว้ด้วยความหมายอันลึกซึ้งไม่แพ้บทเพลงชิ้นเอกของโมสาร์ต และตราบใดที่โอกาสกับความหวังยังไม่เลือนหาย สักวันเราก็คงจะได้มีโอกาสฉายแสง เหมือนดังเช่นที่ เดวิด เฮลฟ์กอทท์ กำลังส่องประกายอยู่ในใจของใครหลายๆคนชั่วนิรันดร์

SHINE โชคดีที่สวรรค์ ไม่ลำเอียง

ชยานุตม์


เรื่อง Shine เป็นภาพยนตร์ที่ถูกสร้างขึ้นโดยอ้างอิงจากชีวิตจริงของศิลปินท่านหนึ่ง ในเรื่องได้กล่าวถึงเด็กชายเดวิดที่มีความสามารถในการเล่นเปียโน พ่อของเขากำหนดชะตาชีวิตให้สำเร็จรูปอย่างเคร่งครัดและรัดรึงเพราะต้องการทดแทนความฝันด้านดนตรีของตนเองที่ขาดหายไปในวัยเด็กทำให้เดวิดกลายเป็นคนไม่มีความคิดเป็นของตนเองและไม่กล้าที่จะตัดสินใจเรื่องใดๆ เดวิดจึงกลายเป็นคนขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ความกดดันจากพ่อที่พยายามฝังความคิดของเขาตลอดเวลาว่าต้องชนะเท่านั้น เมื่อผลคือความพ่ายแพ้พ่อก็จะแสดงออกถึงความเครียดและความผิดหวังเป็นอย่างมาก สุดท้ายความกดดันทำให้เขากลายเป็นผู้ป่วยทางจิต แต่ถึงแม้ว่าชีวิตของเขาจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร พรสวรรค์ก็ยังคงเป็นพรสวรรค์เสมอ การเล่นเปียโนก็ยังคงอยู่ในจิตวิญญาณของเขา


ภาพยนตร์เรื่องนี้ดึงเอาอารมณ์และเหตุการณ์ออกมาในแต่ละช่วงได้อย่างน่าประทับใจ เนื้อหาของเรื่องยังสะท้อนให้เห็นความเป็นจริงของชีวิตผ่านสัญลักษณ์ภาษาภาพยนตร์ ดังที่ปรากฏในหลายๆฉาก เช่น ฉากที่จับกล้องไปที่ก๊อกน้ำที่ถูกบิดเกลียวแน่นเกินไปทำให้น้ำเอ่อไหลออกมานอกก๊อก สื่อให้เห็นว่าคนเราควรดำเนินชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความพอดี ไม่ตึงและไม่หย่อนจนเกินไปเพราะอาจจะทำให้เกิดผลเสีย ฉากที่เดวิดอุจจาระในอ่างอาบน้ำแสดงให้เห็นว่า เขาเริ่มมีอาการผิดปกติทางจิต แต่พ่อของเดวิดไม่เคยใช้จิตใจในการบำบัดรักษา แต่กลับใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาทุกครั้งไป เนื่องจากนิสัยของพ่อที่ใช้ความคิดตนเองเป็นที่ตั้ง และไม่เคยรับฟังความคิดจากผู้อื่น จนสุดท้ายมันกลายเป็นความรักที่ทำลายชีวิตของลูกเขาเอง สังเกตได้จากแว่นตาของพ่อที่แตกแล้วแต่ก็ไม่ยอมเปลี่ยน แสดงให้เห็นว่า พ่อเป็นคนหัวโบราณที่ยึดติดอยู่กับความคิดเดิมๆ ยังมีเหตุการณ์ที่เรื่อง Shine ได้แสดงสัญลักษณ์แทนคำบรรยาย นั่นคือ ถุงมือที่คุณนายนักเขียนให้เดวิดไปใช้ที่ลอนดอน เมื่อเขาต้องการจะฝึกฝนเปียโน เขาได้ตัดนิ้วทั้งห้าออก เพื่อสะดวกในการเล่น นั่นก็เป็นอีกนัยยะหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า เดวิดยอมสละสิ่งที่เขารักเพื่อแลกกับสิ่งที่เขาต้องการในอนาคต เหมือนที่เขายอมตัดออกมาจากครอบครัว เพื่อตามล่าฝันในการเป็นศิลปินเปียโนที่ยิ่งใหญ่


นักแสดงในเรื่องหลายตัวมีความน่าสนใจ ตัวละครถ่ายทอดอารมณ์ผ่านสีหน้า ท่าทางได้อย่างชัดเจนและลึกซึ้งแล้ว การวางตัวละครในเรื่องเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เรื่องนี้น่าติดตามมากขึ้น นอกจากตัวละครที่สำคัญคือ เดวิดและพ่อแล้ว แม่ก็เป็นอีกตัวละครหนึ่งที่มีส่วนทำให้เดวิดกลายเป็นคนเก็บกด เพราะถึงแม้แม่จะรู้ผิดชอบชั่วดีอย่างไร แต่แม่ไม่เคยโต้เถียงหรือแสดงความคิดเห็นใดๆต่อพ่อเลย ส่งผลให้พ่อบงการชีวิตของเดวิดได้ตามอำเภอใจตัว ตัวละครอีกตัวที่สำคัญ คือ ภรรยาของเดวิด เพราะเขาทำให้เดวิดกลับมามีชีวิตสดใสอีกครั้งจากการดูแลและบำบัดโรคของเขาด้วยจิตใจและความรักที่สร้างสรรค์


ภาพยนตร์เรื่องนี้ จึงเป็นภาพยนตร์คุณภาพอีกเรื่องหนึ่งที่ดิฉันอยากจะแนะนำสำหรับใครที่ชื่นชอบภาพยนตร์แนวดราม่า นอกจากภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดจินตนาการความคิดของผู้กำกับที่ต้องการจะให้คนดูรับรู้แล้ว ยังเปรียบเสมือนกระจกบานเล็กๆที่สะท้อนสภาวะสังคมปัจจุบัน จากมุมหนึ่งของสื่อภาพยนตร์เพื่อให้เกิดคติเตือนใจและแนวทางในการดำเนินชีวิต
แล้วคุณจะได้อะไรจากภาพยนตร์เรื่องนี้มากกว่าความบันเทิง