วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2551

Shine

ชามาศ

หนังออสเตรเลียเรื่องนี้ สร้างขึ้นจากชีวิตจริง ของนักเปียโน ชาวออสเตรเลีย - ยิวที่ในวัยเด็กของเขาถูกกดดันจากพ่อ ให้ฝึกฝนอย่างหนักที่จะเป็นนักเปียโนด้วยความที่เป็นผู้ที่มีพรสวรรค์อย่างอัจฉาริยะ เขาได้รับทุนให้ไปศึกษาต่อ ที่ Rayal Academy of Musicรับบทมือเปียโนโดยดาราอังกฤษ Geoffrey Rushกำกับโดยชาวออสเตรเลีย Scott Hicks เข้าฉายในปี 1996

David Helfgott เกิดที่ Melbourne Australia ปี 1947 ในครอบครัวชาวยิว เดวิดมีความสามารถพิเศษทางด้านเปียโนตั้งแต่เล็ก เมื่อเขาย่างเข้าสู่วัยรุ่น ด้วยความที่เป็นผู้ที่มีพรสวรรค์อย่างอัจฉริยะ เขาได้รับทุนให้เข้ารับการเรียนเพื่อพัฒนาทักษะทางด้านดนตรี แต่จนแล้วจนรอด เดวิดก็ไม่มีโอกาสได้ไปเรียนเพราะการบังคับของพ่อ จนอีก 5 ปีต่อมา เขาได้เข้าเรียนที่ The Royal College Of Musicปี 1970 เนื่องจากโรคร้ายทำให้เดวิดต้องกลับไปที่ Perth โดยไร้ซึ่งชื่อเสียงใดๆ และจนกระทั่งเขาสามารถต่อสู้จนเอาชนะโรคร้ายได้และกลับมาเป็นมือเปียโนที่มีชื่อเสียงได้ในที่สุด

ปี 1991 CD " Liszt,Rachmaninoff,Chopin " ของเดวิด ได้รับการเสนอชื่อสำหรับรางวัล Australian Aria Award เดวิดได้เดินทางไปแสดงยังสถานที่ต่างๆและทุกที่ที่เขาไป จะได้รับการตอบรับและชื่นชมจากผู้คนมากมาย ปี 1996 ภาพยนตร์เรื่อง Shine ของ Scott Hicks เป็นหนังที่ถูกสร้างขึ้นโดยอ้างอิงจากชีวิตจริงของเขา ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Oscar และในปีนั้น Geoffrey Rush ซึ่งเป็นผู้สวมบทบาทของ เดวิด ได้รับรางวัล Best Actor ชื่อของ เดวิด จึงเป็นที่รู้จักและกล่าวขวัญถึงในหลายประเทศ เขาได้เดินทางไปเปิดการแสดงเปียโนยังสถานที่ต่างๆ จากกระแสความนิยมในตัวของ เดวิด ทำให้เขาถูกเรียกขานว่าเป็น A Necessary Breath Of Fresh Air ปี 1997 เดวิดได้ทำตามความฝันที่เขาตั้งใจไว้ คือเปิดการแสดงที่ Albert Hall ท่ามกลางผู้ชม 6,000 คน CD ของเขากลายเป็น CD ที่ขายดีที่สุด The New York Times และBillboard Magazine ขนานนามเขาว่า " Most Influential Classical Musician Of The Year " ในหมู่นักฟังเพลงดนตรีคลาสสิกทั่วโลก ถือได้ว่า เดวิด เป็นผู้ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง การบรรเลงเปียโนที่ถ่ายทอดอารมณ์ออกมาได้ลึกซึ้งสวยงาม สร้างแรงบันดาลใจแก่นักดนตรีรุ่นใหม่ให้ยึดถือเป็นแบบอย่างต่อไป

Shine มีการลำดับเรื่องแบบเล่าย้อนไปในอดีตสลับกับภาพปัจจุบัน โดยเปิดเรื่องจากฉากที่มีสายฝนโปรยปรายนอกหน้าต่าง แล้วตัวเอกของเรื่องคือเดวิดมองออกไปแล้วนึกถึงอดีตตั้งแต่วัยเด็ก เสียงของสายฝนดังเหมือนกับเสียงปรบมือจึงทำให้เดวิดนึกถึงเสียงปรบมือในตอนที่เขาเคยเล่นเปียโนอยู่บนเวที

เดวิด เฮพก็อด เด็กชายตัวเล็กๆที่มีพรสรรค์ทางด้านดนตรี ถือกำเนิดมาในครอบครัวชาวยิวที่เคร่งครัดปรัชญาของชาร์ล ดาวิน ไม่เคยได้สัมผัสกับสิ่งที่สนุกสนานตามวัยอันสมควร แต่กลับต้องมาคร่ำเคร่งอยู่กับการฝึกซ้อมเปียโนเพื่อทดแทนความฝันที่ขาดหาย ชะตาที่ถูกกำหนดเอาไว้อย่างเคร่งครัดและรัดรึงจากผู้ที่ได้ชื่อว่า พ่อ พ่อมักจะสอนเขาเสมอว่า ผู้ที่เอาตัวรอดในสังคมได้นั้นต้องเป็นผู้ที่แข็งแรงและชนะเท่านั้น นี่นับว่าเป็นโชคดีหรือโชคร้ายของเขากันแน่


ปีเตอร์ เฮลฟ์ก็อท ผู้เป็นพ่อ หากดูจากภายนอกจะรู้สึกได้ว่าเขาเป็นคนเจ้าระเบียบและโลกทัศน์แคบ ไม่ยอมเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆรอบตัวและมักจะปิดกั้นโอกาสของลูกเสมอโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของลูก คิดแค่เพียงว่าไม่อยากให้ครอบครัวแตกแยกหรือหากคิดในแง่ดีคือเขารักลูกและครอบครัวมาก การที่เขาใช้สก๊อตเทปปิดรอยแตกของแว่นเมื่อมองเผินๆอาจคิดว่าเป็นเพราะนิสัยงกของเขา แต่แท้จริงแล้วแสดงถึงสัญลักษณ์ของการไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง

ส่วนเดวิด เฮลฟ์ก๊อท ตัวละครเอกของเรื่องก็ได้เคยแสดงความผิดปกติของเขาออกมาในฉากที่เขานั่งแช่อยู่ในอ่างอาบน้ำเป็นเวลานานเนื่องจากความสะเทือนใจทำให้เขาไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ จึงถ่ายในอ่างน้ำ แล้วก็ตัดภาพไปยังก๊อกน้ำที่มีน้ำหยด นี่เป็นอีกครั้งที่แสดงถึงสัญลักษณ์บางอย่าง ซึ่งเผยให้เห็นถึงการที่ความอดทนของเดวิดกำลังขาดสะบั้นลง เหมือนกับก๊อกน้ำที่บิดเกลียวแน่นๆจนมีน้ำรั่วออกมา

ความรัก....ความเห็นแก่ตัว กลายเป็นสิ่งกดดันให้ เดวิด เติบโตขึ้นมาอย่างเงียบเหงา อ้างว้าง และโดดเดี่ยวอย่างเหลือเกิน เพราะผู้เป็นพ่อไม่ยอมให้ลูกคบหาและทำความรู้จักกับเพื่อนเลย สิ่งเหล่านี้ได้เบี่ยงเบนให้เขากลายเป็นคนที่ขาดความมั่นใจเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้คน ดวงดาวเปล่งประกายฉายแววเมื่อเขามีโอกาสได้รับทุนให้ไปศึกษาต่อทางด้านดนตรีที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่แล้วกลับไม่มีโอกาสได้ทอแสงเจิดจรัสบนฟากฟ้า เส้นทางที่โรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบรออยู่เบื้องหน้าถูกปิดกั้นไว้ด้วยจิตใจที่คับแคบของผู้เป็นพ่อ พ่อของเขาไม่อนุญาตให้ไปโดยอ้างเหตุผลว่าจะไม่ยอมให้ใครมาทำให้ครอบครัวของเขาต้องแตกแยกเป็นอันขาด นี่คงจะเป็นผลมาจากความเชื่อของชาวยิว

เมื่อทุกอย่างดำเนินมาจนถึงที่สุด เดวิดได้ตัดสินใจรับทุนการศึกษาไปเรียนดนตรีที่ลอนดอนและเดินจากครอบครัวมาโดยไม่ฟังคำทัดทานจากผู้เป็นพ่อที่ขู่ไว้ว่าหากเดินออกไปจากบ้านก็ไม่ต้องกลับมาเหยียบที่นั่นอีก ไม่มีอะไรอีกแล้วจะหยุดยั้งสิ่งที่หัวใจต้องการขอเพียงได้ไปเท่านั้น ความหวัง ความฝัน เรียกร้องและเร่งเร้าให้เดวิดตัดสินใจแหวกกฎเกณฑ์ทั้งหลาย....กำแพงของความอดทนได้พังทลายลงโดยสิ้นเชิง

การเดินทางมาเรียนต่อในครั้งนี้ทำให้เขามีโอกาสสานฝันของตัวเองให้สำเร็จ นั่นคือการเลือกที่จะเล่นเพลงแร็คมานีนอฟที่3 เพื่อใช้ในการแข่งขัน เขาทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจในการฝึกซ้อมอย่างหนัก เมื่อถึงวันแสดง เขาก็สามารถทำให้ทุกคนประจักษ์ในความสามารถของเขา และแล้วเมื่อการแสดงจบลง เดวิดก็เกิดล้มลงและช็อคหมดสติอยู่ ณ ที่ตรงนั้น และนี่คือจุดหักเหที่สุดในชีวิตของเขาเมื่อได้เกิดอุบัติเหตุทางจิตใจหลังการแข่งขันเปียโน จนทำให้เขาต้องกลายเป็นคนสติแตก จิตแพทย์ห้ามเล่นเปียโนตลอดชีวิต

เดวิดกลับกลายเป็นคนป่วยทางจิต แต่ความรู้สึกที่เคยขาดไปในวัยเยาว์ได้รับการเติมเต็ม สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่ในวิญญาณของเขาคือสิ่งนี้...เปียโน ไม่ว่าสภาพในวันนี้ของ เดวิด จะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน ทุกครั้งที่นิ้วมือได้สัมผัสมัน จิตใจดูเหมือนจะชุ่มฉ่ำดุจสายฝนที่ร่วงหล่น พรสวรรค์ยังไงก็ยังคงเป็นพรสวรรค์อยู่เสมอ

ในผับกับเพลง Flight Of The Bumble Bee ไพเราะจับใจแสดงให้เห็นถึงความสามารถพิเศษของ เดวิด สะกดใจผู้ฟังให้เหมือนดังต้องมนต์ เจ้าของผับคือโรซี่ได้ว่าจ้างเขาเป็นนักเปียโนประจำผับ และจากเหตุการณ์นี้เองที่ทำให้เขาได้พบรักกับกิลเลียน สาวนักพยากรณ์ที่เดินทางมาจากซิดนีย์ เขาและเธอได้แต่งงานกัน เธอเป็นผู้ทำให้ชีวิตของเขามีแสงสว่างขึ้น สภาพจิตใจของเขาค่อยๆได้รับการเยียวยา

ภายในใจลึกๆของเดวิดยังเฝ้ารอคอย วันที่พ่อจะให้อภัย เสี้ยวหนึ่งเขารับรู้ได้ ถึงความรักที่พ่อมีให้เขายังคงไม่เปลี่ยนแปลง เพียงแต่ เดวิด ตัดสินใจที่จะมีชีวิตอยู่รอดให้ได้ตามวิถีทางซึ่งเขาได้เลือกเองมาตั้งแต่ต้น จะผิดจะถูก จะร้ายหรือดี เขาก็ได้เลือกแล้วและยอมรับซึ่งผลของมัน เมื่อเมฆหมอกจางหาย ท้องฟ้ากลับสดใสอีกครา และนี่คือรางวัลชิ้นเยี่ยมที่เขาสมควรได้รับ การรอคอยอันเนิ่นนาน แต่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าเหลือเกิน...

กำกับ Scott Hicks ดึงเอาอารมณ์และเหตุการณ์ของหนังออกมาในแต่ละช่วงได้ดีและน่าประทับใจ ทั้ง Noah Taylor และ Geoffrey Ruch สวมบทบาทของเดวิดตอนช่วงวัยรุ่น และวัยกลางคน ซึ่งทั้งสองถ่ายทอดความรู้สึกและแสดงได้อย่างยอดเยี่ยม

ไม่มีความคิดเห็น: