วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2551

Shine โชคดีที่ได้ก้าวตามใจปรารถนา

เชษฐกิดา

ภาพยนตร์ดราม่าสัญชาติออสเตรเลียที่เปี่ยมไปด้วยพลังเรื่อง “Shine” สร้างขึ้นจากชีวิตจริง ของเดวิด เฮลฟ์ก็อทท์ นักเปียโนอัจฉริยะชาวออสเตรเลีย – ยิว “Shine” ออกฉายในปี ค.ศ.1996 โดยฝีมือการกำกับการแสดงของสก็อต ฮิคส์ชาวออสเตรเลีย ซึ่งได้รับความสนใจอย่างท่วมท้นจากทั่วโลก ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการเสนอเข้ารับรางวัลตุ๊กตาทองถึงเจ็ดสาขาในสาขาหลักที่แตกต่างกันออกไปรวมไปถึงการเสนอชื่อสำหรับรางวัล Best Director รางวัล Best Screenplay และรางวัล Best Film ทั้งยังได้รับการเสนอชื่อเข้ารับถึงแปดรางวัล BAFTA และได้รับถึงเก้ารางวัลจากงานภาพยนตร์จากสถาบัน Australian Film Institute Award


นอกจากนี้ “Shine” ยังส่งให้เจฟฟรีย์ รัชดาราชาวอังกฤษเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจากการรับบทนำในภาพยนตร์ ทั้งยังทำให้เขาได้รับรางวัลออสการ์สาขาดารานำชายยอดเยี่ยม รางวัลลูกโลกทองคำ รางวัลสมาพันธ์นักแสดง และอีกมากมายหลายรางวัล

“Shine”เริ่มเล่าเรื่องที่ชายวัยกลางคนคนหนึ่งฝ่าสายฝนเข้ามาในร้านอาหารกึ่งบาร์ที่กำลังจะปิด แล้วเรื่องราวในชีวิตของเขาก็พรั่งพรูออกมาจากปากดุจสายฝนที่รั่วลงจากฟ้า ชายคนนี้ชื่อเดวิด เฮลฟ์ก็อทท์ ในอดีตเขาเป็นเด็กชายที่เติบโตมาท่ามกลางความกดดันและคาดหวังจากพ่อที่ต้องการให้ลูกเป็นนักเปียโนที่เก่งกาจที่สุด และไม่รู้จักคำว่า“แพ้” ด้วยการเลี้ยงดูของพ่อทำให้เด็กชายเป็นคนเคร่งขรึมและคิดอะไรเองไม่เป็น ต่อมาเดวิดก็ได้ครูที่เห็นพรสวรรค์ของเขาช่วยผลักดันให้ความสามารถฉายชัดยิ่งขึ้น เวลาผ่านไปเด็กชายเดวิดก็กลายเป็นนายเดวิดที่มีพรสวรรค์ด้านเปียโนเติบโตขึ้นเช่นกัน เดวิดออกประกวดได้รับรางวัลและเริ่มมีชื่อเสียง จนกระทั่งได้รับทุนให้ไปเรียนต่อด้านดนตรีที่สหรัฐอเมริกา ท่ามกลางการสนับสนุนของคนรอบข้าง มีเพียงพ่อของเขาเท่านั้นที่คัดค้าน ชายหนุ่มผิดหวังและเสียใจมาก ทว่าเขาก็ยอมละทิ้งความฝันตัวเอง เวลาผ่านไปเดวิดก็ได้รับทุนให้ไปเรียนต่ออีกครั้งที่วิทยาลัยดนตรีที่ลอนดอน คราวนี้เขาตัดสินใจทำตามความฝันของตนเองแม้ว่าจะถูกพ่อกีดกันจนถึงขั้นตัดขาดความเป็นพ่อลูกก็ตาม ที่นั่นครูสอนเปียโนคนหนึ่งเห็นแววอัจฉริยะที่ฉายออกมาจากเดวิดจึงสนับสนุนเขาเต็มที่ จนกระทั่งเขาได้ออกแสดงและเล่นเพลงแรคแมนีนอฟ ซึ่งเป็นเพลงที่พ่อบอกให้เขาเล่นมาตลอดและเป็นเพลงที่สื่อถึงอารมณ์ความรักอันลึกซึ้งและเล่นได้ยาก แต่เดวิดกลับเล่นได้ดีมาก

ทว่าท่ามกลางเสียงกู่ร้องและเสียงปรบมือแสดงความชื่นชมยินดีเมื่อแสดงจบ เดวิดกลับเหมือนสวิตช์ไฟที่ถูกปิด เขาหมดสติล้มลง และชีวิตของเขานับจากนั้นก็เปลี่ยนไป เดวิดกลายเป็นคนป่วยโรคจิตเภท (Schizophrenia) ที่ไม่มีที่ไปแม้แต่บ้านจึงต้องอยู่ที่โรงพยาบาล จวบจนเวลาผ่านไปหลายปี เดวิดในวัยกลางคนจึงได้ออกจากโรงพยาบาล เขาเริ่มกลับไปเล่นเปียโนอีกครั้งจนเริ่มมีชื่อเสียงขึ้น วันหนึ่งพ่อก็พบข่าวของเดวิดจากหนังสือพิมพ์ จึงมาหาเพื่อพูดคุยกับเขาแล้วจากไป เดวิดจึงใช้ชีวิตในแบบของเขาต่อไปจวบจนได้แต่งงาน และด้วยความสนับสนุนของภรรยา เพื่อนๆรวมไปถึงความพยายามของเขาเอง ในที่สุดวันเดวิดจึงออกแสดงเปียโน แล้วพรสวรรค์และความ สามารถที่ถูกกดเก็บมานานก็ฉายแสงโชนออกมาอีกครั้ง...

เดวิด เฮลฟ์ก็อทท์เป็นตัวละครเอกที่ขับเคลื่อนเรื่องราวต่างๆ ลักษณะนิสัยและพฤติกรรมของเดวิดล้วนเป็นผลมาจากการเลี้ยงดูด้วยความคาดหวัง การตีกรอบชีวิตและความกดดันจากพ่อ เดวิดจึงเปรียบเสมือนเครื่องจักรเครื่องหนึ่งที่มีพ่อถือคันโยกควบคุม จนเหมือนกลายเป็นคนที่คิดหรือทำอะไรเองไม่เป็นเลย
การเลี้ยงดูของพ่อของเขาส่งผลทั้งในด้านดีและไม่ดี สิ่งดีสิ่งหนึ่งที่ผู้เป็นพ่อปลูกฝังให้เขาคือ การเล่นเปียโน แม้ว่าการปลูกฝังนี้จะแฝงความกดดันมาด้วยก็ตาม แต่ก็ทำให้เดวิดรักเปียโนจนกลายเป็นนักเปียโนที่มีชื่อในที่สุด

ทว่าเมื่อมองในอีกด้านหนึ่งจะพบว่า การเล่นดนตรีซึ่งควรจะเป็นความชอบโดยสมัครใจ หรือแม้กระทั่งการเลือกเพลงที่จะเล่นก็ตามเดวิดก็ไม่มีสิทธิ์ได้เลือกเอง นอกจากนี้ภาพยนตร์ยังตอกย้ำความเป็นลักษณะนิสัยของเดวิดให้ชัดเจนยิ่งขึ้นจากหลายเหตุการณ์ เช่น ในวัยเด็ก พ่อของเขาจะเลือกเพลงให้เล่นทุกครั้ง และพร่ำบอกเดวิดให้พูดตามอยู่เสมอว่าเขาเป็นคนโชคดีที่มีครอบครัวและโชคดีที่ได้เล่นดนตรี ทำให้เขาเป็นคนขาดความมั่นใจในตัวเอง และดูเหมือนคิดอะไรเองไม่เป็น เห็นได้จากการที่เขามักจะพูดตามหรือเห็นคล้อยตามคนอื่นเสมอ ภาพลักษณ์เหล่านี้ทำให้เดวิดเหมือนเป็นเพียงตัวละครแบนๆตัวหนึ่ง ทว่ากลับเมื่อเขาถูกห้ามไม่ให้ไปเรียนดนตรี ความเสียใจที่เดวิดแสดงออกก็ทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าเขาเป็นคนมีเลือดเนื้อและความนึกคิดเช่นกัน

แรคแมนีนอฟ เพลงหนึ่งที่ได้ยินจากภาพยนตร์บ่อยๆทั้งจากการพูดถึงและเพลงที่บรรเลง โดยเฉพาะครึ่งแรกของภาพยนตร์ (ช่วงชีวิตในวัยเด็กและวัยหนุ่มของเดวิด) ผู้ชมติดตามร่วมเดินทางไปกับเดวิดราวกับเป็นเพียงเพื่อนร่วมทาง แต่เมื่อเดินทางไปถึงครึ่งหลังของภาพยนตร์ ผู้ชมกลับรู้สึกราวกับเดวิดกลายเป็นเพื่อนสนิท เพราะเดวิดคนนี้เปิดเผยตัวตนของเขาให้เรารู้จักมากขึ้น และเป็นเดวิดคนเดียวกันที่เผยกับผู้ชมว่า เขาไม่ได้ต้องการเล่นเพลงแรคแมนีนอฟเหมือนกับที่เคยยืนยันจะเล่นในตลอดเวลาที่ผ่านมา ราวกับเดวิดในวัยกลางคนได้ปอกเปลือกแล้วคว้านเนื้อในออกมาให้เห็น ช่วงเวลาที่เขาอยู่ในโลกของตัวเองกลับเป็นช่วงเวลาที่ได้เติมเต็มความรู้สึกที่ขาดหายไปในวัยเยาว์ การได้ทำทุกอย่างตามแต่ใจปรารถนาทำให้เดวิดส่องประกายความสุขอย่างเด่นชัด ทุกเพลงที่เขาเล่นล้วนมาจากใจที่เปี่ยมสุข ดังนั้น แต่ละเพลงที่เขาเล่นจึงมีท่วงทำนองรื่นเริง สนุกสนาน ไม่มีอารมณ์รักพิศวาสลึกซึ้งอันเข้มข้นเหมือนแรคแมนีนอฟ

แรคแมนีนอฟจึงคล้ายกับเป็นโซ่ตรวนที่พ่อใช้ขึงรั้งจิตใจของเดวิดไว้ไม่ให้โบยบินไปตามปรารถนา ทว่าสุดท้ายเดวิดก็ปลดมันออกและพาจิตใจออกบินสู่อิสระได้
ส่วนปีเตอร์ เฮลฟ์ก็อทท์ พ่อของเดวิดเป็นคนที่มีลักษณะนิสัยและพฤติกรรมตรงกันข้ามกับเดวิดราวฟ้ากับเหว แม้ว่าจะเป็นตัวละครรองแต่ก็มีความสำคัญมากเพราะเป็นผู้ผลักดันและส่งผลต่อพฤติกรรมต่างๆของเดวิด พ่อของเขาเป็นคนจิตใจคับแคบ มองโลกในแง่ร้ายและมีนิสัย เผด็จการ อีกทั้งลึกลงไปยังเป็นคนเก็บกดซึ่งอาจเป็นเพราะในวัยเด็ก เขาเคยถูกปู่ของเดวิดห้ามไม่ให้เล่นดนตรี เสี้ยวหนึ่งของชีวิตของพ่อจึงขาดหายไปและรอการเติมเต็ม และก็เดวิดก็คือเสี้ยวหนึ่งที่จะมาเติมเต็มให้ความฝันของพ่อสมบูรณ์ ความคาดหวังนี้ถูกระบายออกโดยการถ่ายเทไปยังเดวิดด้วยการตั้งความหวังกับเดวิดไว้สูงลิบ พร้อมกับความคิดที่คับแคบว่าต้องชนะการแข่งขันทุกครั้ง เพราะคนที่แข็งแรงเท่านั้นที่จะเอาตัวรอดได้

“โลกมันโหดร้าย แต่ดนตรีจะเป็นมิตรของลูก...” และ “โลกมันโหดร้าย แต่ลูกต้องเอาตัวให้รอด” เพียงคำพูดสองประโยคก็เผยความคิดและความในใจของพ่อได้ชัดเจน คือมองโลกว่าโหดร้าย แต่จะมีสิ่งที่ช่วยให้คนเราอยู่ในโลกอันโหดร้ายได้ คือ ดนตรีและการเอาชนะ สอดคล้องกับการปลูกฝังเดวิดให้เล่นเปียโนพร้อมกับการเป็นผู้ชนะ นอกจากนี้เขายังเป็นคนมองโลกแคบอีกด้วย เขาขังตัวเองไว้ในโลกที่ตัวเองสร้างขึ้น อีกทั้งยังมองโลกเฉพาะที่ตนอยากจะเห็น เขาจึงเป็นคนใจแคบ เผด็จการ และชอบตัดสินคนอื่น

อย่างไรก็ตาม ลึกลงไปในจิตใจ สายสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกก็เป็นสิ่งที่ตัดกันไม่ขาด แม้จะบาดหมางกันแต่ทั้งคู่ยังโหยหาความรักจากกันและกันอยู่เสมอ แม้พ่อจะดูใจร้ายและกดดันเดวิดมากเพียงไร แต่เขาก็รักเดวิดอย่างที่สุด รักในแบบของเขา รักในแบบที่ต้องการให้เดวิดเป็นผู้ชนะเพราะเชื่ออยู่เสมอว่า “คนเข้มแข็งเท่านั้นที่เอาตัวรอดได้ คนอ่อนแอถูกขยี้เหมือตั๊กแตน” แม้แต่การพบหน้ากันครั้งสุดท้าย พ่อก็ยังคงแสดงความแข็งแรงด้วยการเปิดกระป๋องให้เดวิด เมื่ออยู่ต่อหน้าพ่อ เดวิดจึงกลับเป็นเหมือนเด็กอ่อนแอที่ทำและคิดอะไรเองไม่ได้ แว่นตาปิดสก๊อตเทปของพ่อก็ยังคงสะท้อนถึงทัศนคติที่ไม่เคยเปลี่ยนรวมถึงความเป็นคนยึดติดอยู่กับกรอบที่ตนสร้างขึ้นจนไม่ยอมเปิดใจยอมรับความจริงจากโลกภายนอก

พ่อยังคงให้เดวิดพูดตามว่าเขาเป็นคนโชคดี อาจมีเพียงอย่างเดียวที่เปลี่ยนแปลงไปคือจิตใจที่อ่อนทิฐิลงจึงมาหาลูกได้ ประโยคสุดท้ายจากปากพ่อ คือ การพูดถึงเรื่องไวโอลินที่เก็บหอมรอมริบกว่าจะได้มา ตามด้วยคำถามเดิมๆว่ารู้มั้ยว่าเกิดอะไรขึ้น แต่คราวนี้เดวิดตอบว่าไม่รู้ ไม่ว่าจะด้วยสภาพจิตใจที่ผิดปกติไปจนทำให้จำไม่ได้ หรือด้วยจิตใต้สำนึกได้ปกปิดคำถามที่ไม่อยากตอบเอาไว้ แต่นั่นก็เพียงพอที่จะบอกว่าเขาได้หันหน้าไปสู่เส้นทางชีวิตสายใหม่แล้ว และแม้จะดูตื่นกลัวเมื่อเห็นพ่อในคราวแรก แต่เขาก็เข้มแข็งพอที่จะยืนอยู่บนเส้นทางชีวิตที่เขากำหนดเอง ลึกลงไปเขายังคงรักพ่อและอยากให้พ่อยอมรับเขา แต่เขาก็ทำเพียงเอ่ยลาเมื่อพ่อหันหลังกลับไปแล้วเท่านั้น

สายฝน เป็นบรรยากาศหนึ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้บ่อย และใช้สื่อความหมายทั้งในโทนสว่างและโทนมืด เริ่มเหตุการณ์แรกก็ใช้ฝน แต่ก็ไม่ได้สื่อว่าเรื่องราวจะเดินไปทางใด จวบจนเมื่อเดวิดในวัยรุ่นน็อคไปจากการเล่นเปียโนและตัดสินใจจะกลับบ้าน ทว่าท่ามกลางสายฝนที่เทกระหน่ำ พ่อของเขากลับตัดขาดอย่างไม่เหลือเยื่อใย สายฝนในขณะนั้นจึงสื่อเป็นนัยถึงชีวิตที่มืดหม่น ไร้ที่พักที่พึ่งพิงของเขา แล้วภาพก็ตัดมาที่บรรยากาศฝนตกในเหตุการณ์ต่อมาอย่างฉับพลัน เป็นปรอยฝนที่ซาแล้วตกลงบนกระจกรถซึ่งมีที่ปัดกระจกทำงานอยู่และเป็นช่วงเวลากลางวันที่สดใส ราวกับภาพยนตร์จะสื่อเป็นนัยถึงช่วงชีวิตในเวลาต่อมาของเดวิดที่สดใสเหมือนฟ้าหลังฝน ต่อมาเป็นเหตุการณ์ที่เดวิดวิ่งเล่นในสวนท่ามกลางสายฝน ภาพถ่ายช้าและเน้นที่ใบหน้าของเขาซึ่งดูล่องลอยและราวกับปลดปล่อยตัวเองไปกับสายฝนนั้น แล้วภาพก็ฉายซ้ำไปยังฉากฝนตกฉากแรก

โรงพยาบาลบำบัดอาการทางจิตและสุสานดูเป็นสถานที่ที่สร้างความหดหู่และหม่นหมอง แต่ภาพยนตร์กลับสามารถใช้ฉากทั้งสองนี้ในโทนสว่างได้อย่างน่าอัศจรรย์ เดวิดในวัยกลางคนใช้ชีวิตอย่างดูมีความสุขในโรงพยาบาลนั้น อีกทั้งเขายังไม่ได้หม่นเศร้าเมื่อไปเคารพหลุมศพพ่อที่สุสาน ราวกับโลกทั้งใบเป็นของเดวิด ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ใดเขาก็มีความสุขได้ ผิดกันกับฉากที่บ้านโดยสิ้นเชิง บ้าน...สถานที่ที่รวบรวมความรักความอบอุ่นจากครอบครัวไม่ใช่นิยามของเดวิด ทุกครั้งที่ปรากฏภาพบ้านของเขา ผู้ชมหรือแม้แต่ตัวเดวิดเองต่างก็รู้สึกไม่มีความสุข เขาดูจะยิ้มออกก็เพียงเวลาที่ถูกน้องสาวตัวกระจ้อยกระเซ้าเท่านั้น

นอกจากนี้ ภาพยนตร์ก็ใช้ฉากการเล่นเปียโนในแต่ละช่วงชีวิตของเขาในการให้อารมณ์ที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่เริ่มต้นที่เดวิดเล่นเปียโนด้วยความเคร่งเครียดตั้งแต่ยังเยาว์จวบจน กระทั่งโตเป็นวัยรุ่น สนามแข่งขันที่เปรียบเหมือนสนามรบ ทำให้เดวิดดูคร่ำเคร่ง เอาจริงเอาจัง และไม่มีความสุข แม้แรคแมนีนอฟที่เขาเล่นตอนแข่งขันนั้นจะไพเราะ และเฉียบคมเข้าถึงอารมณ์เพียงไร แต่มันก็แฝงความกดดันมากับเดวิดด้วย จนเหมือนทำให้เส้นประสาทของเขาขาดผึงไป ต่างกันกับการเล่นเปียโนแต่ละครั้งของเขาในวัยกลางคน ที่ดูมีความสุข ปราศจากความกดดันใดๆทั้งสิ้น

ความกดดันในชีวิตของเดวิดก่อตัวขึ้นเรื่อยมาตั้งแต่ยังเยาว์ แต่มันถูกกักเก็บไว้ภายในอย่างเงียบเชียบ จวบจนเขาถูกกีดกันจากพ่อไม่ให้ไปเรียนต่อ ความเครียดและเก็บกดจึงถูกระบายออกมาทีละน้อย จนเกิดเป็นความขัดแย้งในจิตใจของเดวิดเอง เมื่อถูกกีดกันครั้งแรก แม้เขาจะอยากไปเรียนมาก แต่ก็กดเก็บความรู้สึกโกรธพ่อไว้ภายใน ทว่าอาการผิดปกติจากสภาพจิตใจก็ฟ้องขึ้นด้วยเหตุการณ์ในห้องน้ำอันเสมือนเป็นลางบอกเหตุล่วงหน้า(foreshadow)ว่าต่อไปจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นในชีวิตของเขา คือ เหตุการณ์ที่เดวิดขับถ่ายในอ่างอาบน้ำอย่างไม่รู้ตัว เขาถูกพ่อด่าว่าและลงโทษรุนแรง ทว่าเดวิดกลับนิ่งเฉยไม่ตอบโต้ ผู้ชมคงแยกความแตกต่างระหว่างเดวิดกับหุ่นยนต์ไม่ออก หากดวงตาของเขาไม่คุโชนด้วยความกดดันและเสียใจ

ต่อมาเมื่อเดวิดมีโอกาสได้รับทุนไปเรียนต่ออีกครั้ง เขากลับรู้สึกหดหู่ใจอย่างเห็นได้ชัด แต่เมื่อได้กำลังใจจากนักเขียนหญิงชราที่สนิทกัน เดวิดก็ต่อสู้กับความขัดแย้งในจิตใจ จนตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะต้องไปเรียนต่อให้ได้ การตัดสินใจด้วยตนเองที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นครั้งแรกในชีวิตกลับก่อความขัดแย้งระหว่างเขากับพ่อขึ้น จนพ่อของเขาตัดขาดความเป็นพ่อลูก ทว่าครั้งนี้เดวิดเอาชนะความขัดแย้งในจิตใจที่เคยเกิดขึ้นเหมือนคราวก่อนได้ ตั้งแต่นั้นเขาจึงเป็นผู้ลิขิตชีวิตตนเอง แม้ต่อมาจะเป็นชีวิตที่หลุดอยู่แต่ในโลกของเขาเองเพราะอาการทางจิตนับเป็นสิบปีก็ตาม

พรสวรรค์อย่างไรก็เป็นพรสวรรค์ เขาเยียวยาตนเองด้วยเสียงเปียโนเคล้าคลอไปกับเสียงเอาใจช่วยจากคนรอบข้าง “Shine” จึงเป็นคำที่อธิบายชีวิตของเดวิดได้งดงามลงตัวที่สุดคำหนึ่ง ครั้งหนึ่งในที่ชีวิตถูกกดดันอับเฉาได้ถูกฟื้นฟูจนสามารถส่องประกายออกมาได้อย่างงดงามยิ่งกว่าเก่า แสงแห่งความสุขและความสามารถแบบอัจฉริยะทอประกายออกมาจากตัวของเดวิดจนทุกคนรู้สึกได้ ซึ่งภาพยนตร์เองก็ได้บอกเป็นนัยไว้แล้วในตอนที่พ่อของเขาอ่านหนังสือพิมพ์ แล้วพบข่าวเกี่ยวกับลูกที่พาดหัวข่าวว่า“Remember who ?” และอีกกรอบเล็กๆข้างกันว่า “David Shines”

การเติบโตจากเด็กเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง ล้วนเป็นผลจากการเลี้ยงดูของคนในครอบครัว พ่อแม่อาจชี้แนะ ตักเตือนลูกได้แต่ไม่อาจบังคับจิตใจลูกให้เป็นไปตามใจตนได้ เดวิดเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นผลของการตีกรอบให้ลูกมากเกินไป แต่เขาก็โชคดีที่มีเสียงดนตรีและความรักช่วยเยียวยาจนกลับมาเปล่งประกายส่องสว่างได้อย่างงดงามอีกครั้ง ในมุมใดมุมหนึ่งของโลกอาจยังมีเดวิดในวัยเด็กและวัยรุ่นอยู่บ้าง แต่จะมีเดวิดน้อยคนยิ่งกว่าที่จะพลิกฟื้นชีวิตของตนจน “shine”ได้เหมือนที่เดวิดในวัยกลางคนเป็น

ไม่มีความคิดเห็น: