วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

‘สัตว์ประหลาด’ ( Tropical Malady )


เชษฐกิดา ตระกูลกาญจน์ 05490111

สัตว์ประหลาดที่ไม่ใช่สัตว์ประหลาด

‘สัตว์ประหลาด’ ( Tropical Malady ) ฝีมือการกำกับของคุณอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เข้าฉายในปีพ.ศ. 2547 เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้เข้าประกวดในสายหลักของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ และได้รับรางวัล Jury Prize ( ขวัญใจกรรมการ ) จนอาจกล่าวได้ว่านี่คืออีกย่างก้าวแห่งความสำเร็จของภาพยนตร์ไทย จึงควรค่าที่คนไทยจะไปชมเพื่อให้กำลังใจและสนับสนุนภาพยนตร์ไทย

“ภายในตัวเราทุกคนมีสัตว์ป่าแฝงอยู่ มนุษย์มีหน้าที่เป็นผู้คุมสัตว์เหล่านี้ให้เชื่อง แม้แต่สอนมันให้ทำในสิ่งที่ขัดกับสันดานดิบของตนเอง” และนี่คือประโยคเปิดเรื่องของ‘สัตว์ประหลาด’ ภาพยนตร์ที่ตั้งคำถามให้แก่ผู้ชมตลอดทั้งเรื่อง นับตั้งแต่ชื่อเรื่องที่ชวนขบคิดว่า ‘อะไรคือสัตว์ประหลาด’ จากนั้นภาพยนตร์ก็สร้างความประหลาดใจแกมสนเท่ห์แก่ผู้ชมอีกหลายระลอก ไม่ว่าจะเป็นการตัดภาพยนตร์ออกเป็นสองส่วน ภาคแรกเป็นแนวสมจริง( realism) กล่าวคือตัวละครดำเนินชีวิตไปเรื่อยๆประหนึ่งเป็นชีวิตจริง หรือการไม่มีพัฒนาการของตัวละครและจุดไคลแม็กซ์ และภาคที่สองเป็นแนวเหนือจริง
( surrealism) ที่ใช้เทคนิคการผสมผสานเรื่องเล่าของนิทานพื้นบ้าน ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก น้อย อินทนนท์ นอกจากนี้แต่ละฉากก็ไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน อีกทั้งภาพยนตร์ยังสร้างระยะห่างจนผู้ชมรู้สึกเหมือนถูกผลักออกตลอดเวลา ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงฉีกจากขนบของภาพยนตร์ทั่วไป โดยเฉพาะกับภาพยนตร์ไทยโดยสิ้นเชิง

ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเรื่องผ่านความสัมพันธ์ของตัวละครสองตัว คือโต้ง ลูกจ้างโรงงานน้ำแข็ง และ เก่ง ทหารชายแดน ความสัมพันธ์อันบริสุทธิ์แสนซื่อราวกับอยู่ในโลกอุดมคติของทั้งคู่งอกงามขึ้นเรื่อยๆผ่านสภาพสังคมในเมืองใหญ่ แต่จากนั้นเรื่องราวของโต้งก็ขาดหายไป ส่วนเก่งก็ต้องเข้าป่าเพื่อไปค้นหาสาเหตุที่สัตว์เลี้ยงและชาวบ้านหายไป

ราวกับว่าภาพยนตร์ส่วนแรกจบลงตรงนี้ เมื่อเก่งเข้าป่าไป เขาก็ต้องผจญกับความลึกลับดำมืดในป่า และพบกับ ‘เสือสมิง’ ซึ่งตัวละครในที่นี้ก็คือ โต้ง แต่ดูเหมือนว่าทั้งคู่จะไม่รู้จักกัน เวลาผ่านไปเก่งต้องเผชิญกับความหวาดกลัวที่ทวีขึ้นเป็นลำดับ แต่น่าขบคิดว่านั่นคือความหวาดกลัวจากภายนอกหรือภายในใจของเก่งเอง

ทว่าภาพยนตร์ก็ยิงคำถามใส่ผู้ชมเป็นระลอก โดยที่แต่ละเหตุการณ์ที่สะกิดใจนั้นกลับเป็นเหตุการณ์เล็กๆน้อยๆที่ดูไม่น่าสลักสำคัญ เช่น ประการแรก เพราะเหตุใดโต้งจึงต้องสวมชุดทหารตลอดเวลาที่หางานทำในเมือง แม้โต้งจะให้เหตุผลว่ามันจะทำให้เขาได้งานง่ายขึ้น แต่ผู้ชมก็ไม่พบว่าโต้งจะได้งานทำแต่อย่างใด ประการที่ต่อมา คือ เรื่องสถานภาพทางความรู้และการศึกษาของโต้ง จากตอนที่โต้งถามพนักงานขายรองเท้าด้วยความสงสัยแกมขบขันว่า ‘ ขายรองเท้าจำเป็นต้องมีความรู้ด้วยเหรอ ’ หรือการที่โต้งไม่ค่อยรู้หนังสือนั้นสะท้อนอะไรบ้าง

แม้การดำเนินเรื่องที่ไม่ต่อเนื่องกันอาจทำให้อารมณ์สะดุดบ้างเพราะยังไม่เคยพบหรือไม่เข้าใจวิธีการนำเสนอ แต่ภาพยนตร์ในส่วนแรกก็ค่อนข้างสร้างความอิ่มเอมใจจากความสัมพันธ์ที่บริสุทธิ์ของทั้งคู่ ซึ่งดำเนินไปโดยใช้ฉากในเมืองเป็นส่วนใหญ่สลับกับฉากบ้านในชนบทของโต้งบ้าง ประกอบกับโทนที่ดูสว่าง ผู้ชมจึงซึมซับความสุขของทั้งคู่ได้

ทว่าภาพยนตร์ส่วนที่สองกลับขัดแย้งแตกต่างจากส่วนแรกโดยสิ้นเชิง ซึ่งภาพยนตร์ก็บอกเป็นนัยไว้แล้วในตอนที่โต้งเดินจากเก่งไปในความมืด และเมื่อเข้าสู่ส่วนที่สองแล้ว ภาพยนตร์ก็สร้างความอึดอัดให้กับผู้ชมตลอดเวลา ทั้งจากความกดดันที่ได้รับผ่านตัวละครและจากโทนที่ดำมืดอึมครึมด้วย และความมืดหม่นของฉากในป่าของส่วนที่สองนี้เองที่สร้างความขัดแย้งขึ้นในจิตใจของตัวละครจนพัฒนาไปจนถึงจุดไคลแม็กซ์

เนื่องด้วย ‘สัตว์ประหลาด’ แทบจะเรียกได้ว่าถูกหั่นออกเป็นสองส่วน ราวกับว่ามีสองโครงเรื่องซ้อนกัน ตัวละครเอกจึงดูเหมือนมีสองตัว แบ่งหน้าที่กันขับเคลื่อนเรื่องราวจากคนละภาคส่วน ส่วนแรกมีโต้งเป็นตัวละครเอกที่เล่าเรื่องผ่านฉากในเมืองเป็นส่วนใหญ่ และส่วนที่สองมีเก่งเป็นตัวละครเอกเล่าเรื่อผ่านฉากในป่าทั้งสิ้น ทว่าหากสังเกตให้ดีจะพบว่าทั้งคู่เหมือนอยู่ผิดที่ผิดทาง กล่าวคือ โต้งซึ่งเป็นคนชนบทและคุ้นเคยกับธรรมชาติมากกว่ากลับต้องมาดิ้นรนหางานทำในเมือง โดยแทบจะไม่มีความรู้ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งสำคัญหากต้องการใช้ชีวิตในเมือง การสวมชุดทหารของโต้งในเมืองจึงสะท้อนความรู้สึกแปลกแยกและความไม่มั่นใจที่มีต่อสภาพสังคมเมือง นำมาสู่ความต้องการการยอมรับ โต้งจึงสวมชุดทหารด้วยความเชื่อว่ามันจะทำให้เขาดูน่าเชื่อถือหรือมีเกียรติยิ่งขึ้น ‘ชุดทหาร’ ของโต้งจึงเปรียบเสมือนเกราะแต่เป็นเกราะกั้นความเป็นธรรมชาติของเขาไม่ให้เล็ดลอดออกมาสู่สังคมเมือง ในขณะที่เก่งซึ่งมีลักษณะซื่อ และอนุมานได้ว่าน่าจะเป็นคนชนบทเช่นกัน แต่ได้ปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมในเมืองแล้ว เห็นได้จากการรู้หนังสือของเก่งหรือการขับรถเป็น เป็นต้น

แต่หากพินิจดูแล้วพฤติกรรมของเก่งดูไม่ ‘ประหลาด’ อะไรเลย ในขณะที่โต้งนั้นจัดอยู่ในทางตรงข้าม เก่งจีบโต้งด้วยเพลงของนักร้องยอดนิยมร่วมสมัยคือวงแคลช โต้งจีบเก่งด้วยเพลงลูกกรุงย้อนยุคอย่างเพลงวนาลี เก่งรู้หนังสือและขับรถเป็น ส่วนโต้งนั้นไม่ สิ่งเหล่านี้สะท้อนอะไร? เราเรียกพฤติกรรมของโต้งว่า‘ความศิวิไลซ์’ใช่หรือไม่ และเราคุ้นเคยกับพฤติกรรมศิวิไลซ์ของเก่งมากกว่าโต้งใช่หรือไม่

ในขณะเดียวกันภาพยนตร์ก็ทยอยชี้ปม‘ประหลาด’ของเก่งออกมาเช่นกัน เห็นได้จากฉากในถ้ำที่ป้าสำเริงพาทั้งคู่เข้าไปเที่ยว จนเมื่อป้าบอกว่าจะพาเดินต่อไปแต่คนที่เข้าไปโดยไม่มีไฟเกือบเอาชีวิตไม่รอด เก่งก็รู้สึกไม่พอใจอย่างเห็นได้ชัด และรีบออกมาราวกับเกรงกลัวบางอย่าง ‘ชุดทหาร’ซึ่งคือสัญลักษณ์ของการปกป้องตนเองจากธรรมชาติอยู่แล้ว ก็ยิ่งขับให้ชุดทหารของเก่งมีความหมายของการปกป้องตนเองเด่นชัดขึ้น ภาพยนตร์ในตอนแรกที่แม้ดูไม่สลักสำคัญอะไรจึงกลายเป็นการปูทางให้ผู้ชมเข้าใจตัวตนที่แท้ของตัวละคร

และเก่งนี้เองที่พาผู้ชมเข้าสู่แกนกลางของเรื่องผ่านปมขัดแย้งที่อยู่ในใจซึ่งเกิดขึ้นโดยฉากในป่าที่มีโทนมืดหม่น อ้างว้างตลอดเวลา เก่งเริ่มมองเห็นรอยเท้ามนุษย์แปรเปลี่ยนไปเป็นอุ้งตีนของสัตว์ มโนสำนึกของเขาเปลี่ยนไปอีกเมื่อคิดว่าตนเข้าใจคำพูดของชะนีที่บอกว่าจะฆ่าเสือสมิงเพื่อปลดปล่อยวิญญาณผีร้าย หรือยอมให้มันกลืนกินเพื่อเข้าไปอยู่ในโลกของมัน

นอกจากคำถามที่ผุดขึ้นมากมาย ภาพยนตร์ก็หยิบยื่นสัญลักษณ์บางประการให้เราต้องฉุกใจ
ขบคิด สัญลักษณ์หนึ่งคือวิทยุสื่อสารหรือ ‘วอล์คกี้ ทอล์คกี้’ ที่เสือสมิงรู้สึกประหลาดใจและสนใจเป็นอย่างมาก วอล์คกี้ ทอล์คกี้ในที่นี้คืออะไร? อาจกล่าวได้ว่ามันคือ ประดิษฐกรรมหนึ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อก้าวออกจากโลกของธรรมชาติใช่หรือไม่ วอล์คกี้ ทอล์คกี้ทำให้มนุษย์ก้าวไปสู่อีกโลกหนึ่ง ที่หลุดพ้นไปจากโลกที่ตนอยู่ เพราะมันทำให้คนสื่อสารกับคนอื่นที่อยู่โลกภายนอกได้ เสือสมิงสนใจประดิษฐกรรมชิ้นนี้ของมนุษย์ ประดิษฐกรรมที่สุดท้ายไม่สามารถหยิบยื่นความหลุดพ้นของมนุษย์ไปจากธรรมชาติได้ เฉกเช่นการขับรถได้ การมีความรู้ในเรื่องอาชีพที่ตนทำ หรือการรู้หนังสือที่มนุษย์เอ่ยอ้างว่านี่คือบ่อเกิดแห่งอารยะก็ไม่สามารถช่วยเก่งให้หลีกหนีออกจากกรงขังแห่งธรรมชาติได้เลย

สิ่งสำคัญที่ภาพยนตร์ต้องการนำเสนอและชี้ชวนให้หาคำตอบ คือ ‘ อะไรคือสัตว์ประหลาด’ ภาพยนตร์ใช้เสือสมิงเป็นสัญลักษณ์ของสัตว์ประหลาด เสือสมิงที่มีลักษณะของทั้งสัตว์และมนุษย์ อาจเป็นได้ทั้งสัตว์ที่เกือบจะเป็นมนุษย์ หรือมนุษย์ที่เกือบจะเป็นสัตว์ แต่ไม่ว่าเสือสมิงจะเป็นอย่างแรกหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะมนุษย์อย่างเราก็คงสนใจอย่างหลังมากกว่า เสือสมิงหรือสัตว์ประหลาดในที่นี้จึงเป็นตัวแทนของสัญชาตญาณที่กักเก็บอยู่ในตัวมนุษย์ เป็นสัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด จะเห็นได้ว่าท้ายที่สุดเก่งเองไม่สามารถต้านทานความกลัวพลังแห่งธรรมชาติได้อีกต่อไป เก่งจึงปรับสภาพตนเองจนเหมือนสัตว์ป่าสี่ขา จนไม่หลงเหลือความเป็นมนุษย์หรือสัตว์ประเสริฐอันมีนิยามว่าสิ่งมีชีวิตที่มีลำตัวตั้งขนานกับพื้นโลกได้อีกต่อไป ซึ่งอาจไม่ต่างจากเสือสมิงที่ครั้งหนึ่งมันอาจเคยเป็นมนุษย์มาก่อน แต่สัญชาตญาณการเอาตัวรอดได้ถูกปลุกเร้าจากธรรมชาติจนมันต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในที่สุด

นอกจากนี้เสือสมิงในเรื่องก็มีความรู้สึกนึกคิดที่คล้ายมนุษย์มาก คือ ไม่ปรารถนาความอ้างว้างโดดเดี่ยว มันเองก็อยากมีเพื่อนที่รับรู้ชะตากรรมของมันบ้างดังที่ภาพยนตร์ให้คำนิยามของเสือสมิงว่า มันเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความทรงจำอยู่ได้ด้วยความทรงจำของคนอื่น ราวกับภาพยนตร์ต้องการบอกว่า สิ่งมีชีวิตนี้ก็คือมนุษย์ด้วยมิใช่หรือ เก่งทนสภาพในป่าไม่ได้ เพราะทนความอ้างว้างไม่ได้ เขาต้องการให้คนอื่นมีความทรงจำเกี่ยวกับเขาเพียงเพื่อเป็นสิ่งยืนยันว่าเขาไม่ได้ยืนอยู่เพียงลำพัง

เหตุการณ์สุดท้ายคือการเผชิญหน้ากันระหว่างเสือกับเก่ง เก่งได้ยินเสียงจากเสือพูดกับตนว่าเมื่อข้ากินเจ้าแล้ว เราทั้งคู่ก็ไม่ใช่สัตว์และคนอีกต่อไป (ภาพยนตร์ใช้คำว่า creature อันหมายถึง สัตว์โลก) นั่นหมายความว่าหากเก่งยอมพ่ายต่อสัญชาตญาณในใจเขาก็ไม่ใช่มนุษย์อีกต่อไป ขณะเดียวกันเขาก็ไม่ได้กลายเป็นสัตว์ไปเสียทีเดียว เหมือนเขาอยู่บนเกาะกลางถนนที่เชื่อมเส้นทางสองเส้นระหว่างสัญชาตญาณที่มีร่วมกันของมนุษย์และสัตว์
สัตว์ประหลาดที่แท้จริงจึงไม่ใช่สิ่งที่จับต้องได้แบบรูปธรรม แต่มันคือสัญชาตญาณที่ถูกกักเก็บไว้ภายใน และนี่คือประเด็นสำคัญที่ภาพยนตร์ต้องการบอกเราใช่หรือไม่? เรามีแค่สองทางเลือกในชีวิต คือการฆ่าสัตว์ประหลาดซึ่งก็คือความแปลกแยกอ้างว้างและหมองเศร้า ซึ่งเป็นการทำตามสัญชาตญาณป้องกันตัวของมนุษย์ หรือจะยอมให้สัตว์ประหลาดกลืนกินเพื่ออยู่กับมัน ซึ่งก็คือสัญชาตญาณการปรับตัวของมนุษย์ สัญชาตญาณเหล่านี้เป็นเสมือนทางรอดเพียงสองทางของมนุษย์ที่หากทำไม่ได้ก็ไม่อาจมีชีวิตรอดต่อไป

“เมื่อหนังส่วนแรกจบลง มันเหมือนกับว่าผม นายอภิชาติพงศ์ในฐานะผู้กำกับได้ลบความทรงจำของตัวละครทั้งสอง จนพวกเขาต้องออกแสวงหาความทรงจำของตนในช่วงหลัง

แนวคิดและการนำเสนอที่แตกต่างจากภาพยนตร์เรื่องอื่น ปลุกเร้าจินตนาการของเราที่นับวันจะเหือดแห้งลงทุกทีเพราะความฉาบฉวยและสิ่งแปลกปลอมจากธรรมชาติที่มนุษย์สร้างขึ้นนี่เอง ซึ่งอาจตามมาหลอกหลอนเรา จนน่ากลัวว่าสักวันหนึ่งเราอาจต้องกลายเป็นสัตว์ประหลาดของธรรมชาติที่สร้างเราขึ้นมา และก่อนที่เราจะจมดิ่งไปกับสิ่งแวดล้อมแปลกปลอมที่เราสร้างขึ้น เราก็ควรจะออกค้นหาตัวตนของเราไปพร้อมๆกับ‘สัตว์ประหลาด’ ก่อนที่‘สัตว์ประหลาด’ ของเราจะโผล่มา

ไม่มีความคิดเห็น: