วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

รักแห่งสยาม


ประภาพรรณ สุวัณณุสส์
0548232


บทวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่อง “รักแห่งสยาม”
โต้งกับมิวเป็นเพื่อนกันตั้งแต่เด็กเพราะบ้านอยู่ตรงข้ามกัน มิวอาศัยอยู่กับอาม่า โต้งอาศัยอยู่กับกรและสุนีย์พ่อและแม่รวมทั้งแตงพี่สาว แตงหายไปขณะไปเที่ยวเชียงใหม่ ทำให้พ่อจมอยู่กับความเศร้าไม่สามารถทำงานได้และกินเหล้าตลอดเวลา ครอบครัวของโต้งย้ายไปอยู่บ้านใหม่เพื่อลืมความทรงจำเก่าๆ แต่พ่อยังอยู่กับความทุกข์เช่นเดิม ไม่กี่เดือนต่อมาอาม่าของมิวก็เสียชีวิต

โต้งมีแฟนชื่อโดนัท แต่ด้วยความเย็นชาและห่างเหินของโต้งทำให้โดนัทคิดว่าโต้งไม่รักเธอแล้ว ในขณะที่มิวก็ทุ่มเทความรักให้กับเสียงเพลงและวงดนตรีออกัส หญิงเพื่อนบ้านของมิวคอยเป็นกำลังใจและแอบรักมิวอยู่เงียบๆ มิวและโต้งกลับมาเจอกันอีกครั้งหนึ่งที่สยาม ความสัมพันธ์ของทั้งคู่เริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อมิวแนะนำโต้งให้รู้จักจูนผู้ดูแลวงดนตรีของมิวที่มีหน้าตาและท่าทางคล้ายแตงพี่สาวที่หายไป โต้งและแม่จึงว่าจ้างให้จูนมาช่วยดูแลอาการของพ่อให้ดีขึ้น

โต้งและมิวมีความสัมพันธ์ที่เกินคำว่าเพื่อน จนสุนีย์ขอร้องไม่ให้ทั้งสองติดต่อกันอีก แต่เมื่อจูนได้เตือนสติสุนีย์ ทำให้เธอรู้ว่าความรักที่แท้จริงเป็นอย่างไร เธอจึงให้โต้งเลือกทางเดินของตนเอง

ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอความรักหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความรักในครอบครัวที่สุนีย์ต้องเป็นผู้ประคับประคองครอบครัวไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้นอีก กรจมอยู่กับความโศกเศร้าที่ต้องสูญเสียลูกสาวจนลืมนึกถึงคนที่อยู่ด้วย ความรักของโดนัทที่มีต่อโต้งเป็นความรักเพื่อให้ได้มาซึ่งการครอบครอง ในขณะเดียวกันความรักของหญิงที่มีต่อมิวเป็นความรักที่ปรารถนาให้มิวมีความสุขแม้เธอจะไม่ได้ครอบครองมิวก็ตาม และความรักของโต้งกับมิวที่สื่อออกมาในรูปแบบของเพศเดียวกัน เป็นความรักที่มีให้กันโดยไม่มีเรื่องเพศสัมพันธ์เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ไม่ว่ามิวจะเป็นหญิงหรือชายโต้งก็อาจจะรักมิวเพราะเข้ามาเติมเต็มส่วนที่ขาดหาย

ความขัดแย้งในเรื่องมีหลายเหตุการณ์แต่ทุกเหตุการณ์มีความเกี่ยวข้องและสามารถนำมาร้อยเรียงกันได้อย่างกลมกลืน ความขัดแย้งแรกจะเห็นตั้งแต่ต้นเรื่องคือตอนที่แตงหายตัวไป เป็นความขัดแย้งในจิตใจของกรเอง กรเฝ้าแต่โทษตัวเองว่าไม่น่าปล่อยให้ลูกไปเลย กรเสียใจมากจึงเอาแต่ดื่มเหล้าและเฝ้ารอการกลับมาของลูกสาว เขากลายเป็นคนที่โหยหาแต่คนที่จากไป จนทิ้งภาระทุกอย่างให้กับคนที่ยังอยู่โดยไม่สนใจ รวมทั้งบทสวดของชาวคริสต์ที่ครอบครัวนี้มักจะสวดอยู่เสมอก่อนทานข้าวก็ไม่มีอีกต่อไป อาจหมายความว่าเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจหรือศรัทธาที่มีต่อพระเจ้าหายไปพร้อมกับแตง

เมื่อจูนหญิงสาวที่มีหน้าตาและท่าทางคล้ายแตงเข้ามาในโลกของกร ทำให้กรกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง ภาพถ่ายครอบครัวโต้งตอนไปเที่ยวเชียงใหม่ไม่มีรูปแตงอยู่ด้วย กรมักจะถามจูนหรือสุนีย์เสมอว่าแตงหายไปไหน แต่การมาของจูนทำให้เห็นว่าไม่ว่าแตงจะอยู่หรือไม่ จูนเป็นคนที่ทำให้กรลุกขึ้นมายอมรับความจริง ตอนที่กรเข้าโรงพยาบาลจะเห็นแก้วน้ำหวานที่มีหลอด และเห็นผึ้งพยายามไต่หลอดเพื่อออกจากแก้ว เหมือนกับกรที่ต้องก้าวผ่านความเจ็บปวดไปให้ได้

ความขัดแย้งต่อมาอยู่ที่ตัวสุนีย์ สุนีย์ต้องรับภาระทั้งหมดหลังจากกรติดเหล้า เธอต้องพยายามประคับประคองครอบครัวไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้นอีก เธอเก็บความหวาดกลัวไว้ในใจจนแสดงออกมาเป็นความหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเธอกับกรและโต้ง
เมื่อสุนีย์รู้ว่าโต้งกับมิวมีความสัมพันธ์เกินเพื่อน จึงไม่ให้ทั้งสองคบกันอีก แต่สิ่งที่สุนีย์ทำลงไปกลับทำให้โต้งเจ็บปวด จูนเข้ามาเตือนสติจนในที่สุดสุนีย์ให้โต้งตัดสินใจด้วยตนเอง หนังสื่อให้เห็นถึงการเลือกตุ๊กกตาประดับต้นคริสต์มาสของโต้ง โต้งเลือกตุ๊กตาผู้ชาย ในขณะที่สุนีย์ก็ยอมรับการตัดสินใจของลูก
ปัญหาของโต้งน่าจะอยู่ที่โต้งยังสับสนเพราะไม่รู้ว่าตนเองเป็นอะไรหรือต้องการอะไร ในขณะที่โต้งคบกับโดนัท โต้งรู้สึกเฉื่อยชาแต่เมื่ออยู่กับมิวโต้งมีความสุขและสดใส จนเมื่อโต้งยอมรับกับตัวเองว่ารักมิว เขาจึงบอกเลิกกับโดนัทและไปดูคอนเสริ์ตที่มิวเล่น จึงหมายความว่าโต้งยอมรับกับสิ่งที่ตนเองเป็นและต้องการ

ฉากสำคัญที่ปรากฏคือ สยามสแควร์ เป็นสถานที่ที่โต้งเจอกับมิวครั้งแรกนับตั้งแต่จากกันมา นอกจากสถานที่แล้ว เวลาที่ปรากฏคือวันคริสต์มาสเพราะเป็นวันสำคัญของชาวคริสต์ นัยยะของสถานที่และเวลาจึงมีความเกี่ยวข้องกัน โต้งบอกเลิกโดนัทในคืนวันคริสต์มาสที่สยามสแควร์ และบอกรักมิวพร้อมให้ของขวัญ โต้งบอกมิวว่า “เราคงคบมิวแบบแฟนไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้รักมิวนะ” แสดงให้เห็นว่าความรักของทั้งโต้งและมิวไม่ต้องการการครอบครอง

ตัวละครแต่ละตัวต้องเผชิญปัญหาที่เข้ามาในชีวิต บททดสอบนี้เองที่ทำให้ตัวละครมีการเติบโตทางความคิดและมุมมองที่เปลี่ยนไปทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อีกทั้งหนังยังปูพื้นตัวละครตั้งแต่การเลี้ยงดู สภาพครอบครัว สภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อจิตใจของตัวละคร เช่นมิวอยู่กับอาม่าและเรียนโรงเรียนชายล้วน จึงมีโอกาสที่จะมีพฤติกรรมที่เอนเอียงไปในทางชายรักชาย ในขณะที่โต้งมีพ่อแต่พ่อไม่อยู่ในสภาพผู้นำประกอบกับช่วงวัยรุ่นที่ต้องการความรัก โต้งจึงเกิดความสับสนและมีมิวมาเติมเต็มส่วนที่ขาดหาย ทั้งคู่จึงกลายเป็นส่วนเติมเต็มของกันและกัน

ตัวละครที่น่าสนใจอีกตัวหนึ่งคือจูน จูนใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงเทพฯคนเดียว พ่อแม่เสียชีวิตหมดแล้ว จูนจึงมีทั้งความเหงาและความหว้าเหว่ แต่เธอใช้สิ่งที่ขาดหายไปในชีวิตของเธอมาทำให้ครอบครัวโต้งรู้ว่าครอบครัวนี้โชคดีขนาดไหนที่อยู่รวมกันเป็นครอบครัว เธอยังเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกรและสุนีย์กับโต้งและสุนีย์ เพราะเธอรู้ว่าความเหงาเจ็บปวดขนาดไหน

การมีความรักให้แก่กันทุกคนสามารถทำได้ แต่การทะนุถนอมและรักษาความรักให้ยืนนานเป็นเรื่องอยาก ความรักอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอและไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของชีวิต ต้องอาศัยความเข้าใจเป็นองค์ประกอบหลัก เมื่อมีความเข้าใจเป็นพื้นฐานของความรักแล้ว ความรักของเราคงไม่ทำให้คนรอบข้างและตัวเราเองเจ็บปวด

ตัวละครในเรื่องสื่ออารมณ์ถึงกันออกมาเป็นอย่างดีทั้งนักแสดงรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ปมปัญหาถูกร้อยเข้าด้วยกันอย่างแนบเนียน รวมทั้งผู้กำกับทิ้งเรื่องราวให้ผู้ชมขบคิดว่าแตงและจูนเป็นคนเดียวกันหรือไม่ จูนจะมางานวันคริสต์มาสหรือไม่มา หรือจมูกตุ๊กตาไม้ที่โต้งให้มิวแม้จะเข้ากันได้ไม่สนิทแต่ไม่ได้หมายความว่าจะรักหรืออยู่ด้วยกันไม่ได้ ความรักต้องค่อยๆดำเนินไปเหมือนกับที่โต้งให้มิวหาส่วนประกอบของตุ๊กตาไม้ทีละชิ้นส่วน แล้วค่อยนำประกอบกัน

ภาพยนตร์เรื่องรักแห่งสยามเป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนรูปแบบความรักหลายแง่หลายมุม และไม่ได้ตัดสินว่าความรักรูปแบบไหนถูกหรือผิด แต่อยู่ที่ตัวเราเองว่าจะเลือกรักแบบไหน เหมือนที่มิวบอกโต้งว่า “มันจะเป็นไปได้เหรอที่เราจะรักใครโดยไม่มีการสูญเสีย แต่อีกใจหนึ่งก็คิดว่าแล้วมันจะเป็นไปได้เหรอถ้าเราอยู่ได้โดยไม่รักใครเลย”

ไม่มีความคิดเห็น: