วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551

ปีกหัก(THE BROKEN WING)


ปีกหัก(THE BROKEN WING)
แปลโดย ระวี ภาวิไล
พิมพ์ครั้งที่ ๙
สำนักพิมพ์ผีเสื้อ
๑๔๐ หน้า ราคา ๑๓๒ บาท



หนังสือที่มีสำนวนเขียนเช่นเดียวกับบทกวี แม้ไม่ใช่ร้อยกรองก็สามารถสร้างอารมณ์และบรรยากาศพลิ้วไหวดั่งสายน้ำ “ปีกหัก” เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งของคาลิล ยิบราน


“นักปราชญ์ ไม่มีใครปฏิเสธความเป็นปราชญ์ของคาลิล ยิบราน”
“กวีเรืองนามทั้งหลาย ยกย่องให้เขาเป็นมหากวี”
“นักวรรณคดียอมรับว่า เขาเป็นนักเขียนนวนิยายที่ใช้ถ้อยคำไพเราะอย่างหาผู้ใดทัดเทียมได้ยาก”

กอปรกับผู้แปล ศาสตราจารย์ ดร.ระวี ภาวิไล ผู้เป็นทั้งราชบัณฑิต นายกสมาคมดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ผู้อำนวยการธรรมสถานในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอื่นๆอีกมาก ทำให้”ปีกหัก”กลายเป็นหนังสือที่ไม่ธรรมดาไปโดยปริยาย

คาลิล ยิบราน พรรณนาความรักและความทุกข์ในวัยหนุ่มของเขา โดยผ่านตัวอักษรลงบนหนังสือเล่มนี้ไว้ได้อย่างอ่อนหวานและอ่อนไหวในแบบของกวีผู้ช้ำรัก แม้ที่สุดแล้วคือความเจ็บปวด
หากเขาก็ยังได้ลิ้มรสความรักอันลึกซึ้งในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต

นวนิยายรักที่คาลิลเป็นตัวละครซึ่งโลดแล่นอยู่ภายใน เรื่องนี้ เสมือนดังหีบทองคำเก็บความทรงจำในวัยหนุ่มของเขา บรรจุความรัก ความฝันและจิตวิญญาณเอาไว้เต็มล้น แต่เดิม เขาใช้ชีวิตลำพังอย่างทรมาน(หัวใจ) ไร้นางใดมาเคียงคู่ ความคิดและจินตนาการเตลิดไปไกลกระจัดกระจายเหลือเกิน จวบกระทั่งได้พบกับเซลมา คารามี “หญิงคนแรกผู้ได้ปลุกวิญญาณของข้าพเจ้าให้ตื่นขึ้นด้วยความงามของเธอและนำข้าพเจ้าเข้าสู่อุทยานแห่งความรักอันสูงส่ง ณ ที่ซึ่งทิวากาลผ่านไปดังความฝัน และรัตติกาลผ่านไปดังการอภิเษกสมรส”

ทุกสิ่งเกิดขึ้นและจบลงรวดเร็วราวกับฝันไป หลังจากการพบกันเพียงไม่นาน ความสัมพันธ์ระหว่างเขาและเธอก็ไม่อาจเปิดเผยได้อีกต่อไป เมื่อสังฆราชบูโลส กาลิบ ผู้นำศาสนาแห่งเลบานอน “โจรผู้ซึ่งซ่อนตัวอยู่ในเสื้อคลุมแห่งราตรี” ประสงค์ให้เซลมาแต่งงานกับหลานชายของเขา กาลิบ มานซัวร์ เบย์ “อันธพาลซึ่งเดินอย่างองอาจผึ่งผายในแสงแดด” เพื่อหน้าตาทางสังคม “โดยฉะนี้ ชะตากรรมได้จับกุมเซลมา และฉุดกระชากลากเธอเข้าสู่ทิวแถวของหญิงตะวันออกผู้น่าสมเพชดังเช่นทาส” ความรักของคนทั้งคู่จึงได้แต่เปล่งประกายอยู่ภายในใจเท่านั้น

หลังจากที่เซลมาแต่งงานแล้ว ทั้งเขาและเธอก็มิอาจมีความสุขได้แม้เสี้ยววินาที โดยเฉพาะเวลาที่นึกถึงอีกฝ่าย เซลมาใช้ชีวิตหลังแต่งงานอย่างทุกข์ตรม จนเมื่อเธอคลอดบุตรชายเธอก็จากไปชั่วนิรันดร์ “คล้ายกับว่าเด็กชายมาช่วยปลดปล่อยแม่ของเขาจากสามีที่ไร้เมตตา” ราวพายุร้ายโหมกระหน่ำหัวใจของคาลิล เพียงเท่านี้เค้ายังเจ็บปวดไม่พออีกหรือ ใยพระเจ้าจึงทรงพรากเธอไปจากเขาตลอดกาล “ท่านได้ฝังดวงใจของผมไว้ในหลุมนี้ด้วยแล้ว”

คาลิลไม่เพียงแต่พร่ำเพ้อถึงความรัก และตัดพ้อโชคชะตาด้วยสำนวนกวีอันวิจิตรลึกซึ้ง ยังสอดแทรกปรัชญาชีวิตและความรักไว้ได้อย่างกลมกลืน ผู้อ่านสามารถซึมรับความซาบซึ้งของเรื่องราวได้โดยไม่สะดุด แม้ในฉากแห่งความระทมทุกข์ไปจนถึงความสุขใจ ก็สามารถเล่าเรื่องได้ต่อเนื่องสนิทเนียน กลมกลืนกัน โดยผู้อ่านมิได้รู้สึกว่าขัดแย้งกันแต่อย่างใด

ภาษาและถ้อยคำที่ใช้สวยงาม สละสลวย จนไม่อยากเปิดผ่านไปแม้จะอ่านจบแล้ว ดึงดูดผู้อ่านให้ซาบซึ้ง คล้อยตามไปด้วย สังฆราชบูโลสกับหลานชายจึงถูกประนามทั้งที่ยังไม่เคยพบเจอด้วยซ้ำ “พรุ่งนี้ความจริงจะปรากฏขึ้นดังภูตผี และการตื่นขึ้นจะเป็นดังความฝัน คนรักกันนั้นพึงพอใจที่จะโอบกอดภูตผี และคนกระหายน้ำพอใจที่จะดื่มกินจากธารน้ำพุในความฝันละหรือ”

ด้วยชื่อเสียงของผู้แต่งบวกกับคุณวุฒิของผู้แปล เป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้กับ“ปีกหัก” สำหรับคุณค่าทางจิตวิญญาณนั้น เป็นหน้าที่อันชอบธรรมของผู้อ่านในการตัดสินด้วยตนเอง และคุณค่าในเชิงอักษรศาสตร์ก็อาจกล่าวได้ว่าสูงล้ำเหนือคำบรรยายยิ่งนัก จิตวิญญาณแห่งความเป็นปราชญ์และมหากวีของคาลิล ได้ถ่ายทอดออกมาอย่างลึกซึ้ง ซาบซึ้ง จนไม่อาจเข้าถึงบุคคลทั่วไปได้ หากไม่ใช่เรื่องยากที่จะเรียนรู้ถ้าพร้อมที่จะเปิดรับคุณค่าทางจิตวิญญาณ เพราะไม่เพียงแค่อรรถรส ความหวานซึ้งเท่านั้น ที่พึงได้รับจากนวนิยายเรื่องนี้ สำนวนภาษาที่คมคายบาดหัวใจ กลวิธีการเล่าเรื่องที่เสมือนกับผู้อ่านได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ ยิ่งเพิ่มความสะเทือนใจทวีคูณ และปรัชญาชีวิตและความรักที่ทำให้เข้าใจโลกมากขึ้น

“ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าได้โปรดทรงพระกรุณาและรักษาปีกหักของข้าน้อยด้วยเถิด”
“หลังจากคืนนั้นเป็นต้นมา มีหลายครั้งที่ข้าพเจ้าคิดถึงกฏทางวิญญาณ ซึ่งทำให้เซลมาเลือกความตายแทนชีวิต และมีหลายครั้งที่ข้าพเจ้าเปรียบเทียบระหว่างเกียรติของการเสียสละ
และความสุขของการประท้วงเพื่อหาดูว่าอะไรมีเกียรติและงดงามกว่า
แต่กระทั่งบัดนี้
ข้าพเจ้าก็กลั่นได้สัจจะเพียงประการเดียวจากเรื่องทั้งหมด
และสัจจะนี้คือความจริงใจ
อันทำให้การกระทำทุกอย่างงดงามและมีเกียรติ
และ เซลมา คารามี
เป็นผู้มีความจริงใจอันนี้”


ปองกานต์

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

หนังสือคลาสสิกคือโจทย์ที่ยากสำหรับนักเขียนหน้าใหม่ เพราะหนังสือยากต้องการการย่อยให้ง่าย

ย่อหน้า1-2 เป็นการโปรยเข้าสู่เรื่อง อาจจะเขียนด้วยโครงสร้างประโยคง่ายๆ เรียงแบบประธาน กริยา กรรมว่า


"ปีกหัก" เป็นหนังสือเล่มหนึ่งของคาลิล ยิบราน ผู้ที่นักปราชญ์และกวีทั้งหลายยกย่องให้เป็นมหากวี หนังสือไม่ธรรมดาเล่มนี้ยังได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.ระวี ภาวิไลแปลเป็นภาษาไทยไว้ด้วยภาษาที่ไพเราะยิ่ง....


ขอเป็นกำลังใจให้ อ่านมาก เขียนให้มากต่อไป

7