วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551

เท่าดวงอาทิตย์


เท่าดวงอาทิตย์
ประภาส ชลศรานนท์
พิมพ์ครั้งที่ ๔
สำนักพิมพ์ เวิร์คพอยท์
๒๔๑ หน้า
๑๙๕ บาท

คุณ ประภาส ชลศรานนท์ นั้นเป็นนักเขียนคอลัมน์ยอดนิยมในหนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันอาทิตย์ และหนังสือเท่าดวงอาทิตย์เล่มนี้นั้นเป็นผลงานพ๊อคเก็ตบุ๊คเล่มที่เจ็ดในชุดหนังสือ “คุยกับประภาส” หนังสือเล่มนี้นั้นถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผลงานอันแพรวพรายของคุณประภาสอีกเล่มหนึ่ง คุณประภาสนั้นได้รับการยกย่องว่าเป็นทั้งนักเขียนชั้นยอด เป็นนักคิดที่ไม่เพียงแต่คิดนอกกรอบ แต่เป็นนักคิดที่ฉีกกฎทุกกฎทางความคิด งานเขียนของท่านจึงแสดงออกทางความคิด ความรู้สึกออกมาได้อย่างไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน แต่การคิดอย่างฉีกกฎของคุณประภาสนั้นยังคงตั้งอยู่ในกรอบพื้นฐานของการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบัน ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องเพ้อฝัน แต่ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตสังคมเราได้ทุกคน การอ่านหนังสือเท่าดวงอาทิตย์นี้จึงเป็นหนังสือที่ควรค่าแก่การอ่านอีกเล่มหนึ่งเลยทีเดียว

เท่าดวงอาทิตย์ เป็นหนังสือที่ได้นำเอาจดหมายจากผู้อ่านคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์มติชนมาขึ้นต้นในแต่ละบท โดยส่วนมากแล้วจดหมายฉบับต่างๆที่ส่งมานั้นนั้นมักจะเขียนเพื่อปรึกษา และขอคำแนะนำจากผู้เขียน โดยคุณประภาสนั้นก็จะตอบคำถามต่างๆได้อย่างยอดเยี่ยม โดยสามารถเข้าถึงและแก้ประเด็นปัญหาได้อย่างชัดเจน โดยเลือกใช้คำที่สามารถเข้าใจง่าย แต่ทว่ามุมมองในการตอบของคุณประภาสนั้นนั่นเองที่น่าสนใจ คุณประภาสนั้นมักจะตอบโดยใช้มุมมองใหม่ๆ มุมมองที่เราเองและผู้เขียนจดหมายมานั้นอาจจะไม่เคยมองเห็นมาก่อน ทำให้หลังจากได้อ่านงานเขียนเล่มนี้แล้วผู้อ่านจึงได้รับทรรศนะมุมมองการใช้ชีวิตแบบใหม่ๆ และเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบลงผู้อ่านจะได้นึกย้อนกลับไปคิดพิจารณาถึงปัญหาต่างๆในชีวิต และใช้มุมมอง ทางความคิด และทรรศนะใหม่ๆในการตัดสินและแก้ไขปัญหา

ข้าพเจ้าได้เลือกอ่านหนังสือเท่าดวงอาทิตย์นี้เพราะว่าเพื่อนสนิทได้แนะนำให้อ่าน หลังจากที่ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือเล่นนี้แล้วทำให้มุมมองการใช้ชีวิตของข้าพเจ้าได้เปลี่ยนแปลงไปทีละนิด สิ่งเล็กๆน้อยๆที่ข้าพเจ้าได้เคยมองข้ามไป ข้าพเจ้าก็เริ่มสนใจมากขึ้นทีละน้อยๆ และสิ่งที่ข้าพเจ้าเคยให้ความสำคัญและใส่ใจมากนั้น ข้าพเจ้าก็ปรับให้มีความพอดีมากขึ้น และอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกประทับใจนั้นก็คือ สำนวนภาษาและกลวิธีทางการเขียนที่ผู้เขียนได้เลือกมาใช้ ผู้เขียนได้ใช้สำนวนภาษาที่เรียบง่าย ธรรมดา ไม่ได้มีลีลาทางการเขียนบรรยายและพรรณนาให้ลึกซึ้งกินใจแต่อย่างใด หากผู้เขียนนั้นจะใช้ตัวอย่างประกอบเพื่อทำให้ผู้อ่านนั้นเข้าใจเนื้อเรื่องและใจความสำคัญของเรื่องนั้นๆได้ง่ายขึ้น เช่นการที่ผู้เขียนต้องการจะพูดถึงเรื่อง “ นักฆ่าความฝัน ” คือ บุคคลที่มักจะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเป็นไปไม่ได้ และมักจะออกความคิดเห็นคัดค้านกับความคิดของผู้อื่นอยู่เสมอ คุณประภาสก็ได้ยกตัวอย่างถึง เกรแฮม เบล์ล ผู้ประดิษฐ์โทรศัพท์ว่า ตอนที่เบล์ลทดลองโทรศัพท์ข้ามแม่น้ำได้สำเร็จเมื่อสามร้อยปีก่อนนั้น ได้มีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งดูแคลนสิ่งประดิษฐ์ของเบล์ลว่า “เป็นเพียงของเล่นเท่านั้น ไม่มีประโยชน์อันใด ” แต่ทว่าในปัจจุบันนั้น โทรศัพท์ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในวิถีชีวิตของเราทั้งสิ้น ผู้เขียนได้แสดงทรรศนะอีกว่า ถึงแม้ว่าจะมีนักฆ่าความฝันมากมายเพียงใด แต่เรานั้นต้องอย่าให้คำพูดของคนเหล่านั้นมาทำลายและยื้อแย่งความฝันของเราไปได้ เราจะต้องเชื่อและศรัทธาในความฝันของเรา และจะต้องทำให้มันเป็นจริง

หนังสือเท่าดวงอาทิตย์เล่มนี้ได้ให้ข้อคิดและคติสอนใจมากมาย เป็นหนังสือที่ถือว่าเป็นการเปิดโลกทัศน์ของผู้อ่าน และถือได้ว่าเป็นหนังสือที่มีประโยชน์ต่อโลกวรรณกรรมและสังคมไทย เพราะเนื่องมาจากเป็นวรรณกรรมชิ้นยอด นอกจากให้ความรู้ และแนวคิดอันแยบคายในการดำเนินชีวิตแล้วนั้น ยังให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินอีกด้วย ถึงแม้ว่าหนังสือเล่นนี้จะยาว และไม่มีภาพประกอบ แต่สำนวนการเขียนและมุมองใหม่ๆของผู้เขียนนั้นได้มองความสนุกสนานให้กับผู้อ่านได้ไม่น้อยเลยทีเดียว หากเปรียบหนังสือเป็นเหมือนเพชร หนังสือเท่าดวงอาทิตย์เล่มนี้ก็คงจะเปรียบได้กับเพชรน้ำหนึ่งที่ใสบริสุทธ์ ที่แต่ละมุมแต่ละเหลี่ยมของเพชรนั้นได้ถูกเจียระไนไว้อย่างตั้งใจ ด้วยมุมมองและการใช้ความคิดของผู้เขียนนั่นเอง

ถ้าหากใครกำลังมองหาหนังสือที่ให้ความรู้ ความคิดใหม่ๆ ให้ทรรศนะและมุมมองอย่างหลากหลาย อีกทั้งยังอ่านสนุกไม่รู้เบื่อและสามารถนำไปปรับใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดีแล้วนั้น หนังสือ เท่าดวงอาทิตย์ ก็คงจะเป็นตำตอบที่ดีทีเดียว


ชริสา

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ภาษาที่ใช้มีข้อสังเกตว่าบางคำไม่เหมาะกับบริบท เช่น ผลงานอันแพรวพราย นักเขียนชั้นยอด เปรียบเป็นเพชรน้ำหนึ่งที่ใสบริสุทธิ์ ฯลฯ

การลำดับความคิดยังทำได้ไม่ดี ย่อหน้าเดียวมีหลายเรื่องปนกันอยู่

ใช้ภาษาซ้ำๆ หลายครั้งทีเดียว

7