วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551

สมุดปกดำกับใบไม้สีแดง


สมุดปกดำกับใบไม้สีแดง
วินทร์ เลียววาริณ
บริษัทอมรินทร์บุ๊คเซ็นเตอร์ จำกัด
๑๓๓ หน้า
๑๒๕ บาท


หากใครที่ชื่นชอบการอ่านเรื่องสั้นเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสั้นประเภทหักมุมแล้ว ต้องบอกไว้ก่อนว่าไม่ควรพลาดหนังสือรวมเรื่องสั้นสมุดปกดำกับใบไม้สีแดงเป็นอันขาดหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นชนิดหักมุมที่ได้รับรางวัลชมเชยจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติในปีพ.ศ.๒๕๓๘ ซึ่งเขียนโดยนักเขียนที่ได้รับรางวัลซีไรต์ ถึงสองปีด้วยกันคือปีพ.ศ.๒๕๔๐ และ พ.ศ.๒๕๔๒ นักเขียนคนนั้นจะเป็นใครไม่ได้นอกจากคุณวินทร์ เลียววาริณ


คุณวินทร์เป็นนักเขียนที่ได้ชื่อว่ามีการตกผลึกทางความคิดและนำมาแสดงออกผ่านตัวอักษรได้เป็นอย่างดี ผลงานที่ผ่านมาได้รับความนิยมเป็นที่แพร่หลายและสะท้อนภาพของสังคมในปัจจุบันได้ชนิดที่ผู้อ่านคาดไม่ถึง

ผลงานรวมเรื่องสั้น ๑๓ เรื่องในสมุดปกดำกับใบไม้สีแดงนั้นก็เป็นอีกผลงานหนึ่งที่ดิฉันยอมรับว่าเป็นเรื่องสั้นแนวหักมุมอย่างรุนแรง ที่สร้างความประหลาดใจและประทับใจให้กับดิฉันไม่น้อย แม้กระทั่งว่าอ่านจบไปแล้วยังต้องกลับไปอ่านซ้ำอีกรอบ เพื่อตอบคำถามที่เกิดภายในใจของดิฉันเองว่า “ตกลงดิฉันพลาดตกหลุมพรางของคุณวินทร์เมื่อไหร่กัน”

ถ้าท่านผู้อ่านไม่เข้าใจว่าหลุมพรางที่คุณวินทร์สร้างขึ้นนั้นมันเกิดขึ้นได้อย่างไรดิฉันก็จะขอยกตัวอย่างเรื่องสั้นสักเรื่องหนึ่งภายในเล่มให้ท่านผู้อ่านลองตัดสินใจหนี เป็นเรื่องราวของชายคนหนึ่งที่หนีออกจากคุกที่ได้ชื่อว่าไม่เคยมีใครหนีรอดออกมาได้ ในขณะที่หนีออกมานั้นก็มีชาย ๓ คนไล่ล่าตามเขามาติดๆ นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับอันตรายรอบด้านทั้งสิงสาราสัตว์รวมไปถึงความเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเขา ความมั่นใจในตอนแรกที่คิดว่าจะหนีพ้นเริ่มลดลงไปตามระยะเวลาแห่งการหนี จนสุดท้ายเขาก็ไม่สามารถหนีชายที่ไล่ล่าเขามาทั้งวันทั้งคืนพ้น

หากผู้อ่านอ่านอย่างไม่ระมัดระวังก็อาจจะติดกับของผู้เขียนโดยไม่รู้ตัวและเข้าใจไปว่าชายที่หนีนั้นคือนักโทษฉกรรจ์ที่ต้องการแหกคุกหนีโทษทัณฑ์ที่จะได้รับ หารู้ไม่ว่าแท้จริงแล้วเขาคือ พัสดี ที่ท้าพนันกับเพื่อนพัสดีคนอื่นๆ เพื่อพิสูจน์ข้อโต้เถียงถึงระบบรักษาความปลอดภัยของทัณฑสถานแห่งนั้นนั่นเอง

เรื่องสั้นเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าคุณวินทร์เข้าใจธรรมชาติและอคติของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี นำการตัดสินอะไรจากสิ่งที่เห็น หรือถูกสร้างให้เห็น มาสร้างเป็นกับดักให้ผู้อ่านตกหลุมพรางที่ผู้อ่านเองเป็นคนสร้างขึ้นจากพื้นฐานความเชื่อส่วนบุคคลนั่นเอง

ไม่เพียงแต่เรื่อง หนี เรื่องเดียวเท่านั้นที่จะสร้างความบันเทิงและความประหลาดใจให้กับผู้อ่าน หากได้อ่านตั้งแต่เรื่องแรกจนถึงเรื่องสุดท้ายแล้ว ท่านก็จะพบว่าเรื่องสั้นแต่ละเรื่องจะสะท้อนมุมมองชีวิตที่เกิดขึ้นและรอให้ผู้อ่านเข้ามาค้นหาคำตอบด้วยตัวของท่านเอง หากอ่านแบบไม่ระวัง หรือที่คุณวินทร์เรียกว่า “การไม่อ่านระหว่างบรรทัด” ท่านก็จะตกหลุมพรางของผู้เขียนได้อย่างง่ายดาย

การเลือกใช้มุมมองในการเล่าเรื่องของคุณวินทร์ก็มีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้เรื่องสั้นหักมุมของคุณวินทร์ในแต่ละเรื่องมีความสมบูรณ์ การบอกใบ้และการสื่อความหมายโดยนัยมายังผู้อ่านก็สามารถทำได้อย่างแนบเนียนชนิดที่ว่าถ้าไม่สังเกตก็จะไม่รู้สึกถึงคำใบ้เหล่านั้น ทางเดียวที่จะรับรู้ได้คือการกลับมาอ่านซ้ำอีกครั้งนั่นเอง

เรื่องสั้นทั้ง ๑๓ เรื่องเป็นเรื่องราวที่นำเสนอความขัดแย้งอย่างหลากหลาย และหักมุมอย่างคาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไฟ วีรบุรุษ ดวง เงื่อนตาย คนละมุม เรือคนบาป คาว มนุษยธรรม สมุดปกดำกับใบไม้สีแดง เหลี่ยม ความมืด-มือปืน-คำสั่งฆ่า และความรัก-ดอกไม้-คำสั่งฆ่า เรื่องราวทั้งหมดนั้นเกี่ยวข้องกับ ตำรวจ โจร มือปืน ทหาร คนค้ายาเสพติด หญิงโสเภณี แมงดา ไต้ก๋งเรือ อาชญากร หรือเจ้าพ่อ ที่ล้วนสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นภายในสังคมไทย


ทั้งนี้ผู้เขียนต้องการที่จะสะกิดให้ผู้อ่านรู้จักลงมือที่จะแก้ปัญหาไม่ใช่แต่เพียงเฝ้ารอหรือคร่ำครวญต่อโชคชะตาฟ้าดิน หากได้ลองอ่านแล้วก็จะรู้สึกได้ว่าความคิดของผู้เขียนเป็นความคิดที่สมเหตุสมผล ไม่ได้ห่างไกลเกินที่จะจินตนาการเลย

แม้ว่าสมุดปกดำกับใบไม้สีแดงจะเป็นเรื่องสั้นแนวทดลอง แต่ฝีมือและชั้นเชิงการเขียนที่หักมุมชนิดตลับแล้วตลบอีกก็ได้แสดงให้เห็นว่าผู้เขียนไม่ได้อยู่ในระดับทดลองแต่อย่างใด ดิฉันแน่ใจว่าอาการที่เกิดขึ้นเมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้จะต้องเป็นอาการเดียวกัน นั่นคืออาการที่เหมือนถูกตีแสกหน้าด้วยไม้หน้าสามกับความคิดของผู้เขียน ที่นำเอาการเข้าถึงจิตใจและธรรมชาติของมนุษย์มาใช้ในงานเขียนได้อย่างลึกซึ้ง โดยใช้ภาษาที่เรียบง่ายแต่เสียดสีและหักมุมให้ผู้อ่านต้องเจ็บแปลบไปถึงหัวใจ หนังสือสมุดปกดำกับใบไม้สีแดงเล่มนี้ จึงกลายเป็นหนังสือดีอีกเล่มหนึ่งที่คอหนังสือทั้งหลายพลาดไม่ได้เลยทีเดียว


พิมพ์พิศ

5 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก
หนุ่มอักษร...นอนตื่นสาย กล่าวว่า...

จริงๆ รวมเรื่องสั้นชุดนี้ไม่ใช่เรื่องสั้นแนวทดลองนะครับ ผู้เขียนระบุไว้ชัดเจนตรงหน้าปกและคำนำว่า "เรื่องสั้นหักมุม" และกลวิธีการนำเสนอก็มิใช่การหักมุมแต่อย่างใด

การวางหลุมพรางเป็นหัวใจหลักของการสร้างเรื่องสั้นหักมุมอยู่แล้วครับ ผมคิดว่ายังไม่น่าสนใจพอจะยกมาเล่าให้ผู้อ่านฟัง สิ่งที่น่าสนใจของรวมเรื่องสั้นชุดนี้คือ คำกล่าวอ้างของคุณวินทร์เองที่ผมเคยอ่านมาจากที่ไหนสักแห่ง คือมีคนถามเขาว่า การเขียนไว้บนหน้าปกว่า เรื่องสั้นหักมุม จะไม่ทำให้ผู้อ่านเดาตอนจบได้หรือ วินทร์ตอบไปว่า ถือเป็นความท้าทายของเขาเองที่เขียนไว้บนหน้าปกอย่างนั้น เพราะถ้าผู้อ่านรู้แต่แรกว่าเป็นเรื่องสั้นหักมุมแต่ก็ยังอ่านแล้วจบแบบที่ผู้อ่านคาดไม่ถึง แสดงว่าเขาประสบความสำเร็จ

บางเรื่องในเล่มนี้จบหักมุมแบบที่วินทร์ว่าไว้ คือการหักมุมสองหรือสามชั้น เช่นเรื่องสมุดปกดำฯ เรือคนบาป มนุษยธรรม เป็นต้น ส่วนเรื่อง "หนี" นั้นคิดว่ายังไม่น่าสนใจพอจะยกมายั่วน้ำลายคนอ่าน ถ้าดึงการหักมุมสองสามชั้นตรงนี้มาแนะนำได้ ก็อาจจะดูน่าสนใจขึ้นนะครับ

หนุ่มอักษร...นอนตื่นสาย กล่าวว่า...

"กลวิธีการนำเสนอก็มิใช่การหักมุมแต่อย่างใด" - - พิมพ์ผิดครับ! ที่จริงจะพูดว่า "กลวิธีการนำเสนอมิใช่แนวทดลองแต่อย่างใด"

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ชอบค่ะ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมติดตามผลงาน มานานแล้วครับ ชอบมาก