วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551

ข้างหลังภาพ


ข้างหลังภาพ
ศรีบูรพา
สำนักพิมพ์ดอกหญ้า
158 หน้า
100 บาท





หากจะพูดถึงหนังสือที่อยู่ในความทรงจำของตัวเองมาตั้งแต่เด็กก็คงไม่มีอะไรที่จะอยู่ในความทรงจำและมีความประทับใจได้มากเท่ากับ “ข้างหลังภาพ” และเมื่อปี พ.ศ. 2548 ที่ผ่านมานี้เอง ก็เป็นวาระครบ 100 ปี กุหลาบ แสงประดิษฐ์ ฉันซึ่งเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชมและชื่นชอบในตัวของนักเขียนผู้นี้เป็นอันมากจึงอยากจะนำเอาบทประพันธ์ ซึ่งมีทั้งความปิติ ความหว่าเหว่ และความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส ซึ่ง กุหลาบ แสงประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพานั้นได้ถ่ายทอดอย่างลึกซึ่ง ไว้ในหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่งที่อาจจะดูเพียงภายนอกแล้วอาจจะตีค่าความลึกซึ้งของมันว่าอาจจะมีเพียงเล็กน้อย เมื่อดูจากจำนวนแผ่นหน้ากระดาษ แต่ใครจะรู้ไหมว่า ในแต่ละบรรทัดของหนังสือเล่นนี้นั้น ได้รวบรวมความงดงามของวรรณศิลป์ และภาษิตต่างๆไว้อย่างแยบยล

ทุกคนคงจะพอจำชื่อของตัวละครเอกของเรื่องอย่างคุณหญิงกีรติและนพพรได้กระมังครับ ตกใจเล็กๆไหมครับว่าในปี 2551 นี้ นิยายรักแสนเศร้าเรื่องนี้ก็จะมีอายุปาเข้าไป 72 ปีเต็มแล้ว และถ้าหากตัวละครทั้งสองมีชีวิตจริงๆแล้วหละก็ ในปีหน้าคุณหญิงกีรติก็จะมีอายุมากถึง 107 ปี ส่วนหนุ่มน้อยนักเรียนไทยในญี่ปุ่นอย่างนพพรนั้นปีหน้าก็มีอายุอานามเข้าสู่ปีที่ 94 ปีแล้ว และเรื่องราวนี้ก็ยังไม่ได้ล้าสมัยลงเลย เพราะไม่ว่าจะเป็นใครก็คงจะปฏิเสธได้ว่าความรักนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เคยล้าสมัยลงเลยแม้แต่น้อย

และเรื่องราวที่เป็นอัมตะนี้ เมื่อเราสืบค้นจากประวัติและผลงานของศรีบูรพา ระบุว่า ศรีบูรพา ลงมือเขียน “ข้างหลังภาพ” ในปี พ.ศ. 2479 และเริ่มลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวันแบบวันต่อวัน โดยแรกเริ่มนั้นตั้งใจจะให้นิยายเรื่องนี้จบลงเพียงบทที่ 12 แต่ครั้นเมื่อมีผู้อ่านให้ความสนใจและติดตามอ่านกันเป็นจำนวนมาก เมื่อถึงคราวการพิมพ์รวมเล่ม ศรีบูรพาจึงได้เขียนเพิ่มเติมขึ้นอีก 7 บท โดย 12 บทเดิมนั้นถือเอาเป็นภาคต้นหรือภาคต่างแดน ซึ่งจบลงที่ ม.ร.ว.กีรติ กับนพพร ลาจากกันที่ท่าเรือโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ส่วนอีก 7 บทที่เขียนขึ้นในภายหลังนั้นถือเป็นภาคในประเทศหรือภาคจบสมบูรณ์ ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้ผู้อ่านหลายๆคนนั้นถึงกับน้ำตาล่วงลงได้เลยทีเดียว รวมถึงตัวของฉันด้วย

กล่าวกันว่าแรงบันดาลใจที่ผลักดันให้ศรีบูรพาเขียนนิยายเรื่องนี้สืบเนื่องมาจากความประทับใจที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางไปดูงานหนังสือพิมพ์อาซาฮีที่ประเทศญี่ปุ่นในราวปี พ.ศ.2479 ความงดงามในทัศนียภาพอันร่มรื่น แวดล้อมไปด้วย ลำธาร และแมกไม้เขียวขจีของมิตาเกะ บันดาลให้นักประพันธ์เอกเกิดความประทับใจเป็นอย่างมาก กระทั่งนำเอาสถานที่แห่งนี้มาใช้เป็นฉากหลังในตอนที่เป็นเสมือนหัวใจของเรื่อง และเป็นที่มาของภาพ “ริมลำธาร” ที่บอกเล่าเรื่องราวและความทรงจำที่ยากจะลืมในอดีตของคนสองคนเอาไว้เบื้องหลัง

ความรักระหว่างนพพรกับคุณหญิงกีรตินั้นเป็นความรักที่เกิดขึ้นจากความสนิทของทั้งคู่ ที่เกิดขึ้นระหว่าที่คุณหญิงกีรติไปท่องเที่ยวกับสามีซึ่งเป็นชายแก่ที่ชราแล้ว ความรักของนพพรนั้นได้ทวีความรุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆ แต่คุณหญิงกีรตินั้นกลับต้องซ่อนความรู้สึกของตนไว้ภายในอย่างเจ็บปวด

“ข้างหลังภาพ” เป็นนิยายที่กล่าวถึงความรักไว้ได้อย่างลึกซึ้ง เป็นงานเขียนที่จัดว่าหมดจดงดงามทั้งในด้านภาษาและสำนวนความที่ไพเราะ เรียบง่ายนัยยะทางการประพันธ์ที่แฝงอยู่ภายในเนื้อหาและการดำเนินไปของนิยายรักเรื่องนี้ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่สร้างให้ข้างหลังภาพเป็นหนังสือที่อ่านแล้วผู้อ่านสามารถถอดรูปอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครออกมาได้อย่างละเอียดประณีตและสมจริงก็คือ การวางความขัดแย้งให้ปรากฏอยู่ในจิตใจของตัวละครเอกทั้งสองคนของเรื่องได้อย่างซับซ้อน อีกทั้งยังได้กำหนดเงื่อนไขของเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาในเรื่องอย่างละมุนละไมและสมเหตุสมผล ความขัดแย้งที่ศรีบูรพามอบให้แก่นพพรและกีรติเป็นความขัดแย้งที่สลับซับซ้อน ทั้งไม่สามารถที่จะบรรยายระบายความให้แก่ใครทราบได้ เว้นแต่ผู้อ่านซึ่งได้สิทธิที่จะรู้เห็นการเพาะสร้างความสัมพันธ์ของทั้งคู่อย่างใกล้ชิดเป็นลำดับ รูปแบบขัดแย้งที่เกิดขึ้นอยู่ภายในใจของนพพรและกีรติไม่ใช่ความขัดแย้งอันเกิดจากผลประโยชน์ ความแค้น อำนาจ หรือเงินตรา เช่นที่ปรากฏอยู่เสมอในนิยายรักประโลมโลกทั่วไป แต่เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากเงื่อนไขของกาลเวลา ความแตกต่างของวัย และบริบททางสังคม โดยมีกรอบของความรักเป็นศูนย์กลางในการดำเนินไปของเรื่อง

ความรักของชายหนุ่มวัยยี่สิบสองอย่างนพพร เป็นความรักที่แสดงออกอย่างร้อนแรงและเต็มไปด้วยไฟแห่งความปรารถนาที่จะครอบครอง นพพรแสวงหาคำตอบของทุกคำถามที่ผุดขึ้นในห้วงความคิด ความรักของนพพรนั้น เป็นความรู้สึกสับสนวุ่นวายระหว่างความรักระหว่างชายหญิงกับความรู้สึกอบอุ่นของเด็กหนุ่มที่จากบ้านมาไกลยังต่างแดน ที่มีต่อผู้หญิงสาววัยสามสิบห้าปีที่ตนเองมีโอกาสได้ใกล้ชิดสนิทสนมผิดกับกีรติ ซึ่งมีรักที่สงบเยือกเย็น เป็นความรักที่อ่อนโยนและมีแต่การให้

แต่ภายใต้รูปลักษณ์ภายนอกที่ดูเสมือนหนึ่งสายหมอกจางๆในยามเช้าของกีรตินั้น ภายในกลับเปี่ยมไปด้วยความรักอันร้อนดังเพลิงที่ครุกรุ่น และกำลังค่อยๆเผาไหม้ทำลายหัวใจของเธอไปกับกาลเวลาอันว่างเปล่าและวันวัยที่โรยรา

หลายปีที่ทั้งคู่แทบไม่มีโอกาสได้พบกัน กีรติประทังชีวิตอยู่ด้วยความหวัง และบำรุงเลี้ยงหัวใจด้วยสิ่งนี้จนกระทั่งความหวังได้สิ้นสุดไปพร้อมๆกับลมหายใจสุดท้ายของเธอ
ส่วนนพพรนั้นเล่า สุดท้ายความรักอย่างคลุ้มคลั่งของเขาที่มิตาเกะค่อยๆเปลี่ยนแปลงกลายเป็นความเคารพนับถือต่อกีรติ ไม่ต่างไปจากเด็กหนุ่มที่เคารพรักและเชื่อฟังญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งซึ่งเคยมีช่วงเวลาที่สนิทชิดเชื้อกันแต่ก่อนมาและนี่คือเกร็ดแก่นโดยย่อของนวนิยายคลาสสิคเรื่องนี้

ดังนั้น คงจะไม่แปลกที่ผลงามชิ้นเอกชิ้นนี้ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ จะเป็นวรรณกรรมที่อยู่ในความทรงจำของใครหลายๆคน รวมถึงตัวของฉันด้วย ที่ไม่ว่าจะหยิบขึ้นมากี่ครั้ง ความงดงามของวรรณศิลป์ต่างๆ ในเรื่องนี้นั้นก็ล้วนยังอยู่อย่างไมเคยเลือนหายเลยแม้แต่น้อย

ธีรเดช

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

รักหนังสือเรื่องนี้มาก ดีใจที่มีผู้แนะนำ แต่การแนะนำหนังสือชั้นครูที่มีผู้ทราบข้อมูลอย่างลึกซึ้งกลับเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับนักเขียนมือใหม่ เรื่องแรกข้อมูลต้องแม่นตรงถูกต้อง ศรีบูรพานามจริงคือกุหลาบ สายประดิษฐ์ (คิดทางดีว่าพิมพ์ผิดมากกว่า) การทำงานหยาบ มีการหลุดคำ หว่าเหว่ออกมาในย่อหน้าแรก คะแนนชวนติดตามหดหาย หรือคำว่า อัมตะ ผิดอย่างไม่น่าให้อภัย และอีกหลายคำ

ตกใจเล็กๆ ไหมครับ ทำให้ข้อเขียนลดความเป็นกึ่งทางการลงเป็นการพูดคุยธรรมดาไป



6.5

หนุ่มอักษร...นอนตื่นสาย กล่าวว่า...

หากมีเวลาอ่านซ้ำอาจจะแก้ข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ได้ครับ
เสริมนิดว่าน่าจะมีการโค้ดคำพูดสวยๆ ที่ปรากฏในเรื่องมาด้วยนะครับ จะได้เห็นว่า "ภาษามีวรรณศิลป์" ของศรีบูรพาเป็นเช่นไร
คำสนทนาในเรื่อง "ลิเก" มากๆ แต่ไม่รู้ทำไมเวลาอ่านถึงไม่รู้สึกตะขิตตะขวงใจเลย นี่กระมังที่เขาว่า ภาษาวรรณศิลป์มีอำนาจโน้มน้าวผู้อ่านให้คล้อยตามได้เสมอ

::วุฒินันท์::