วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551

เจ้าชายไม่วิเศษ


เจ้าชายไม่วิเศษ
ปรีดา อัครจันทโชติ
ปีพิมพ์ ๒๕๔๖
สำนักพิมพ์บริษัทอมรินทร์พรินติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด ( มหาชน )
๒๔๐หน้า ภาพประกอบ
๑๖๐ บาท


“เจ้าชายไม่วิเศษ” เป็นวรรณกรรมเรื่องสั้นสำหรับเยาวชนของ ปรีดา อัครจันทโชติ ซึ่งได้รับรางวัลวรรณกรรมเยาวชนยอดเยี่ยมของนายอินทร์อะวอร์ด ประจำปี พุทธศักราช ๒๕๔๖


ผู้เขียนวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง “เจ้าชายไม่วิเศษ” นำป่าหิมพานต์ ซึ่งเป็นป่ามหัศจรรย์ที่กล่าวไว้ในวรรณคดีไทยโบราณ และนำนิทานไทย เช่น เรื่องสังข์ทอง หลวิชัย-คาวี สิงหไกรภพ และนิทานไทยอีกหลายเรื่อง ซึ่งนิทานไทยส่วนใหญ่มักมีโครงเรื่องประกอบด้วยพระราชาครองราชอาณาจักร เมื่อมีพระราชโอรสก็ส่งไปเรียนศิลปวิทยาการกับฤๅษีในป่า ซึ่งจะทำให้มีวิทยายุทธ์และได้อาวุธวิเศษมาเป็นเครื่องมือในการปกครองบ้านเมือง จากนั้นเจ้าชายก็ต้องต่อสู้กับยักษ์ เลือกเจ้าหญิงเป็นคู่ครอง แล้วปกครองบ้านเมืองเป็นสุขสืบไป ผู้เขียนนำโครงเรื่องเช่นนี้มาเล่าใหม่ โดยพลิกแพลงให้ต่างไปจากเดิมอย่างน่าสนใจ

“เจ้าชายไม่วิเศษ” เป็นเรื่องราวของเจ้าชายคนหนึ่งมีนามว่า “ เจ้าชาย เฉยๆ ” เป็นลูกคนที่สิบเอ็ดของพระราชาแห่งดินแดนแสนวิเศษ ผู้คนทุกคนในดินแดนแสนวิเศษนั้นตอนเกิดมาทุกคนต่างก็มีของวิเศษติดตัวมา แต่เจ้าชายเฉยๆนั้น เมื่อเกิดไม่ได้มีของวิเศษติดตัวเหมือนคนอื่นๆในดินแดนแสนวิเศษ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สร้างความแปลกใจให้กับทุกๆคนในดินแดนแสนวิเศษเป็นอย่างมาก พระราชาจึงได้เนรเทศเจ้าชายเฉยๆออกจากดินแดนแสนวิเศษ เป็นเวลาทั้งสิ้นเจ็ดปี เพื่อให้เจ้าชายเฉยๆ เดินทางไปศึกษาหาความรู้จากสำนักฤๅษี ในป่าหิมพานต์ พร้อมกับต้องค้นหาของวิเศษคู่กาย ปราบยักษ์ และค้นหาเจ้าหญิงที่คู่ควร เพื่อสร้างวีรกรรมและความยิ่งใหญ่ให้แก่ตนเอง หากเจ้าชายเฉยๆทำไม่สำเร็จก็ไม่ให้กลับมายังดินแดนแสนวิเศษนี้อีก ด้วยเหตุนี้เจ้าชายเฉยๆจึงเริ่มเดินทางผจญภัย และมีผู้ร่วมเดินทางคือ “ขอทานน้อย” การเดินทางผจญภัยของเจ้าชายนั้นทำให้เจ้าชายได้เรียนรู้ถึงคุณค่าในชีวิตว่า “ สิ่งสำคัญนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมีหรือไม่มีของวิเศษ แต่อยู่ที่ว่าได้ทำประโยชน์ให้ผู้อื่นหรือไม่และได้เบียดเบียนผู้อื่นหรือไม่ต่างหาก ”

ปกของหนังสือเล่มนี้ใช้สีเขียวอมเหลือง มีการวาดรูปตัวละครซึ่งแสดงให้เห็นถึงสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในป่าหิมพานต์ ทั้งยักษ์ ฤๅษีตาไฟ ราชสีห์ นารีผล เป็นต้น และยังวาดรูปมงกุฎซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนถึงเจ้าชายอีกด้วย การจัดวางรูปภาพนั้นทำได้อย่างลงตัว ปกที่มีสีสีสันฉูดฉาดสร้างความสวยงามและโดเด่นให้ จึงทำให้หนังสือเล่มนี้น่าหยิบขึ้นมาอ่าน และเมื่อหยิบขึ้นมาอ่านแล้วก็แทบจะวางไม่ลงเลยทีเดียว
วรรณกรรมเรื่อง “เจ้าชายไม่วิเศษ” ภายในเล่มมีภาพประกอบแทรกตามหน้าต่างๆของหนังสือ ทำให้เมื่ออ่านแล้วเห็นภาพที่ชัดเจนของเนื้อเรื่องมากยิ่งขึ้น เป็นผลให้เกิดอรรถรสในการอ่านเพิ่มมากขึ้น

ท่วงทำนองการเขียนนั้น ผู้เขียนแต่งเรื่องได้อย่างสนุกสนาน ชวนอ่าน แฝงการเสียดสีสังคมสมัยใหม่ไว้ไม่น้อยพอให้เกิดอารมณ์ขัน ภาษาที่ใช้เป็นภาษาที่เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน มีการพรรณนาเรื่องราวได้อย่างชัดเจน เห็นภาพ สามารถรับรู้ได้ถึงอารมณ์ของฉากนั้นๆ จึงทำให้เด็กอ่านได้ ผู้ใหญ่อ่านสนุก

วรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้ นอกจากให้ความสนุกสนานแปลกใหม่แล้ว ยังให้ข้อคิดอีกว่า “ของวิเศษ”นั้นไม่ใช่สิ่งที่มีคุณค่าต่อชีวิต การครอบครองของวิเศษไม่ได้ทำให้ชีวิตมีคุณค่าเพิ่มมากขึ้น หากผู้ครอบครองของวิเศษนั้นไร้ซึ่งคุณธรรม เห็นแก่ตัว ปรารถนาอำนาจและความยิ่งใหญ่ส่วนตน ของวิเศษของผู้นั้นก็จะเป็นเพียงแค่เครื่องมือที่ใช้เบียดเบียนรังแกผู้อื่น แทนที่จะเป็นของวิเศษที่ใช้เพื่อทำประโยชน์แก่บุคคลอื่น ซึ่งของวิเศษนั้นหมายถึงเงินทอง ตำแหน่ง หรืออำนาจซึ่งคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันนิยมแสวงหาเพื่อเสริมสร้างบารมีให้ตนเอง แทนที่จะเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นในสังคม

หากใครที่กำลังมองหาหนังสือดีดีสักเล่ม ก็ขอแนะนำให้ลองหยิบวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง “เจ้าชายไม่วิเศษ” วรรณกรรมที่จะทำให้ผู้อ่านซาบซึ้งกินใจไปกับการดำเนินเรื่องด้วยการนำนิทานไทยมาสอดแทรกล้อเลียนอย่างสนุกสนานน่าสนใจ อีกทั้งยังมีข้อคิดและคติสอนใจที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเรียนรู้ชีวิตและใช้ชีวิตไปในทางที่ถูกต้องและเหมาะสม
หนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือที่น่าอ่านไม่น้อยเลย

พัชยา

3 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

รายละเอียดครบถ้วนมาก ย่อหน้าเกริ่นนำและปิดท้ายทำตามหน้าที่ รวมถึงทุกย่อหน้าว่าไปตามสูตร แต่ไม่ชวนอยากอ่านตัวเล่ม ทั้งๆ ที่มีเนื้อหาน่าจะสนุกสนาน
หรือว่าจะเป็นเพราะการใช้ภาษาที่ใครๆ ก็ใช้ในการแนะนำหนังสือทั่วไป ก็ไม่ทราบได้

"ปกที่มีสีสีสันฉูดฉาดสร้างความสวยงามและโดเด่นให้ จึงทำให้หนังสือเล่มนี้น่าหยิบขึ้นมาอ่าน และเมื่อหยิบขึ้นมาอ่านแล้วก็แทบจะวางไม่ลงเลยทีเดียว"


7.5

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ย่อหน้าที่ดีไม่ควรเกินสี่บรรทัดจ้ะ ไม่ควรย่อจบเรื่อง ย่อให้ผู้อ่านรู้สึกถูกกระตุ้นให้อยากอ่านเล่มจริง

Unknown กล่าวว่า...

เคยอ่านแล้วชอบมากๆค่ะ เป็นนิยายในดวงใจเลยค่ะ