วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551

เด็กชายจากดาวอื่น


เด็กชายจากดาวอื่น
วาวแพร
พิมพ์ครั้งที่ ๘
สำนักพิมพ์ผีเสื้อ
๑๘๘ หน้า
๙๗ บาท


‘วาวแพร’ ชื่อที่คุ้นเคยสำหรับผู้รักการอ่านวรรณกรรมเยาวชน เป็นนามปากกาหนึ่งของ มกุฎ อรฤดี นักเขียนผู้มีผลงานตีพิมพ์มาแล้วมากกว่า ๑๐ เรื่องในสำนักพิมพ์ผีเสื้อ และหลายเรื่องในจำนวนนั้นได้รับรางวัลหนังสือแห่งชาติ เช่นเดียวกันกับหนังสือเล่มนี้ ‘เด็กชายจากดาวอื่น’ ที่ได้รับรางวัลหนังสือแห่งชาติ ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ และเคยสร้างเป็นภาพยนตร์โทรทัศน์มาแล้ว



วรรณกรรมเล่มนี้ได้รับการพิมพ์ซ้ำมาแล้วถึง ๘ ครั้ง พิมพ์ด้วยกระดาษปอนด์ ดูดซับแสงได้ดี มีปริมาณการสะท้อนแสงน้อย ทำให้ไม่เกิดผลร้ายต่อสายตาผู้อ่าน อีกทั้งทางสำนักพิมพ์รับประกันการเข้าเล่มด้วยระบบเย็บกี่และไสกาว ซึ่งทำให้รูปเล่มแข็งแรงไม่หลุดออกมาเป็นแผ่นๆ และที่สำคัญมีราคาไม่แพง เพราะเป็นหนังสือที่สำนักพิมพ์จัดพิมพ์พิเศษสำหรับนักเรียนนักศึกษา จึงได้กำหนดราคาจำหน่ายไว้ต่ำกว่าราคามาตรฐานทั่วไป

‘เด็กชายจากดาวอื่น’ แสดงออกถึงความคิด ความรู้สึกของกลุ่มคนที่สังคมเรียกพวกเขาว่า ‘เด็ก’ โดยวาวแพรสามารถถ่ายทอดความรู้สึกเกี่ยวกับคำถามที่ว่า “เด็กคิดอะไร” ได้อย่างตอบโจทย์ เข้าใจได้ชัดเจนและลึกซึ้ง โดยเรียบเรียงความคิดของเด็กแต่ละคนแต่ละกลุ่มที่มีความแตกต่างกัน และทำความเข้าใจว่า “ทำไมพวกเขาจึงคิดเช่นนั้น” เพราะความคิดของเด็กในวัยเดียวกันอาจแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ผิดแผกจากกันและได้รับการเลี้ยงดูที่ไม่เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กมีสภาพจิตใจที่แตกต่างกันด้วย

เสน่ห์ของวรรณกรรมเล่มนี้อยู่ที่กลวิธีการเล่าเรื่อง ในตอนเริ่มแรกผู้อ่านอาจจะรู้สึกสับสนกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่อง และเกิดคำถามในใจขึ้นมากมายว่าผู้เขียนเขียนผิดหรือไม่ หรืออย่างไร แต่เมื่ออ่านไปได้อีกสักหน่อย เนื้อเรื่องก็จะค่อยๆ คลี่คลายปมคำถามที่ผู้อ่านสงสัยทีละน้อย จนหลายๆครั้งที่ต้องพลิกกลับไปอ่านเรื่องราวในตอนแรก ๆใหม่แล้วจึงเข้าใจเรื่องราวได้ชัดเจน กลวิธีนี้เป็นการเล่าเรื่องที่น่าติดตามและทำให้ผู้อ่านเกิด

ความสนใจ อยากรู้เรื่องราวต่อไป

เนื้อเรื่องสอดแทรกเนื้อหาสาระเกี่ยวกับจิตวิทยา อีกทั้งส่งเสริมศีลธรรมจรรยาให้กับเด็ก โดยแสดงออกผ่านเรื่องราวชีวิต ความคิด และจินตนาการของเด็กชายคนหนึ่งที่มีชื่อว่า “ปาน” เด็กชายอายุ 5 ขวบที่มีปานแดง (อันน่าเกลียด) ที่แก้มซ้าย และพูดติดอ่างจนใครหลาย ๆ คนอยากจะพูดแทนปานเสียทุกครั้งไป แม่บอกกับปานว่า ปานเป็นเด็กชายตัวเล็กๆ ที่ ‘มาจากดาวอื่น’ เป็นเด็กพิเศษ ไม่ใช่เด็กธรรมดาที่เกิดบนโลกใบนี้ และยังมีเรื่องพิเศษอีกหลายๆเรื่องเกี่ยวกับสมาชิกในบ้านของปาน อย่างเช่นแม่ของปานมีลูกถึง ๔๙ คน ซึ่งปานรู้สึกได้ว่าแม่มีลูกมากกว่าคนอื่นๆ หรือเรื่องที่น้องของปานนั้นหายตัวไปทีละคนก็ทำให้ปานเกิดความสงสัยขึ้นมาเช่นกัน

วรรณกรรมเล่มนี้เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย โดยไม่จำเป็นว่าหนังสือที่เป็นวรรณกรรมเยาวชน จะต้องให้กลุ่มเยาวชนอ่านเท่านั้น ผู้ใหญ่ก็อ่านได้ และดูเหมือนว่าวรรณกรรมเล่มนี้จะเหมาะสำหรับผู้ใหญ่เสียมากกว่า เพราะการที่ผู้ใหญ่อยู่ร่วมกับเด็กและเกี่ยวข้องกับเด็กนั้น จะต้องทำความเข้าใจกับความคิด การแสดงออกของเด็ก และจะต้องระมัดระวังคำพูดมากเป็นพิเศษ ซึ่งถ้าได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ก็จะเข้าใจได้มากขึ้นว่าเด็กกำลังคิดอะไรอยู่ ทำไมเขาจึงคิดเช่นนั้นและควรทำอย่างไรในการสอนหรืออธิบายในสิ่งที่เด็กอยากรู้ เพราะในบางครั้งความผิดพลาดเล็กน้อยของผู้ใหญ่ซึ่งกระทำและแสดงออกโดยไม่รู้ตัวนั้น อาจกลายเป็นการเอาเข็มปลายแหลม ไปสะกิดหัวใจดวงเล็ก ๆ ของเด็กให้เป็นแผลก็เป็นได้

ข้อคิดที่ได้จากการอ่าน ‘เด็กชายจากดาวอื่น’ ทำให้รู้ว่า หลายๆ คนบนโลกใบนี้ล้วนแตกต่างกัน แม้เราจะไม่เหมือนคนอื่น แต่เราก็ทำตัวให้มีค่าเท่ากับคนอื่นได้ ในเมื่อคนที่มาจากดาวอื่นอย่างปาน ก็ยังเป็น‘คนพิเศษ’ ได้แล้วทำไมคนที่อยู่บนโลกใบนี้อย่างเราๆ จะเป็น ‘คนพิเศษ’ บ้างไม่ได้ ความพิเศษนั้นทุกคนก็มีได้เพียงแค่ทำความดี โดยไม่ต้องหวัง ‘เหรียญรางวัล’ อย่างเช่นปาน หลาย ๆ ครั้งที่ปานรู้สึกท้อแท้ รู้สึกว่าตนเองอ่อนแอ แต่ทุก ๆ ครั้งปานก็เอาชนะความอ่อนแอนั้นได้ด้วยความรัก ความจริงใจ และที่สำคัญคือความดีของปาน

หากใครกำลังมองหาหนังสือดีๆ ที่อ่านแล้วได้ข้อคิด หรือต้องการความอิ่มเอมในหัวใจ ก็ไม่ควรพลาดที่จะหยิบหาหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน คุณอาจจะได้เปิดโลกให้กว้างให้กับตนเองอีกสักครั้งและอาจทำให้คุณน้ำตาซึมได้โดยไม่รู้ตัว

สุดท้ายนี้ผู้เขียนได้กระซิบบอกมาว่า “ในโลกนี้และสังคมนี้ มีเด็กประเภทที่ ‘มาจากดาวอื่น’ เป็นจำนวนมาก ถึงแม้จะยังไม่สามารถทำให้รักพวกเขาได้ ก็ขอให้ทำตัวเป็น 'เทวดานางฟ้า’ สักครั้งหนึ่งในชีวิตก็ยังดี เพราะแม้พวกเขาจะ ‘มาจากดาวอื่น’ แต่ความจริงก็คือ ในขณะนี้ทุกคนต่างอยู่บนดาวดวงเดียวกัน และถ้าหากตัวเองต้องกลายเป็น ‘เด็กจากดาวอื่น’ บ้าง จะรู้สึกอย่างไร”

จุฑาทิพย์

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

การจัดลำดับความคิดยังทำได้ไม่ดี ประเด็นที่กล่าวถึงยังไม่มีการเรียงลำดับว่าควรพูดเรื่องใดก่อนหลัง เช่นย่อหน้าที่ 2 น่าจะอยู่ท้ายๆ บทมากกว่า เพราะเป็นเกร็ดมากกว่าจะเป็นเนื้อหาหลัก ลองสังเกตบทแนะนำของผู้อื่นเปรียบกับของตนด้วยจะได้เห็นความแตกต่าง

ไม่น่าใช้คำว่าสุดท้ายนี้

7