วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551


ชุดประดาน้ำเเละผีเสื้อ

ฌ็อง-โดมินิก โบบี้ เขียน
วัลยา วิวัฒน์ศร แปล
พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.๒๕๔๑
สำนักพิมพ์ผีเสื้อ

๒๑๕ หน้า
๑๓๙ บาท



“เคยอ่านชุดประดาน้ำเเละผีเสื้อกันบ้างหรือเปล่า” คำถามของอาจารย์สกุล บุณยทัตที่เอ่ยขึ้นมาในคาบเรียนวิชาวิเคราะห์บทละครของนักศึกษาเอกนาฏศาสตร์ พร้อมกับเเนะนำว่าเป็นหนังสือที่ควรหามาอ่านอย่างยิ่งเพียงเท่านี้ก็สร้างเเรงผลักดันได้มากพอที่ฉันจะขวนขวายหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านให้จงได้

เฝ้าเพียรหาหนังสือเล่มนี้ในห้องสมุดอยู่นานในที่สุดก็พบ “ ชุดประดาน้ำเเละผีเสื้อ ” แฝงตัวอยู่บนชั้นหนังสือที่เรียงรายกัน ปกสีเขียวตัดด้วยพื้นสีเหลืองไม่ค่อยดึงดูดสายตานักอาจเป็นเพราะช่วงเวลาที่พิมพ์หนังสือเล่มนี้ผ่านมานานจนลักษณะการออกเเบบปกจึงไม่ดึงดูดใจเท่ารูปแบบของหนังสือในสมัยนี้เเต่ใครจะไปรู้ว่าเเท้จริงเเล้วหนังสือเล่มนี้มีสิ่งดีๆซ่อนเร้นอยู่ภายใต้ความหนาสองร้องสิบห้าเพียงรอให้ใครสักคนมาเปิดอ่านเท่านั้น

ชุดประดาน้ำเเละผีเสื้อ เป็นเรื่องราวของชาวฝรั่งเศสที่ชื่อว่า ฌ็อง โดมินิก โบบี้ บรรณาธิการบริหารนิตยสารELLE นิตยสารเเฟชั่นที่คนทั่วโลกต่างคุ้นหูคุ้นตา ชื่อเสียงของโบบี้เป็นที่รู้จักกันดีเเละหน้าที่การงานของเขาก็กำลังก้าวหน้าในวัยเพียง ๔๔ ปีเท่านั้น เเต่อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอในชีวิตของมนุษย์อย่างที่โบบี้ไม่เคยจะนึกว่ามรสุมลูกใหญ่จะพัดเข้ามาอย่างรวดเร็ว เเละไม่มีการเตือนล่วงหน้าเเต่อย่างใดนั่นก็คือ เส้นเลือดในสมองเเตก ขณะที่เขานั่งรถไปรับลูกชายเพื่อไปดูละคร ผลก็คือโบบี้กลายเป็นอัมพาตทั้งตัวเหลืออวัยวะตาซ้ายข้างเดียวที่ยังเคลื่อนไหวได้ เเม้สมองจะทำงานเป็นปกติเเต่โบบี้ระลึกอยู่เสมอว่านี่คือฝันร้ายที่สุดของเขา เป็นฝันร้ายที่กัดกินร่างกายจนไม่อาจขยับเขยื้อนได้เหลือเพียงจินตนาการที่ยังคงโบยบินไปทุกหนทุกแห่งเท่านั้น

ตลอดระยะเวลา ๑๕ เดือนที่โบบี้เป็นอัมพาต เขาไม่ได้ทิ้งเวลาให้สูญเปล่าอย่างคนที่ท้อเเท้หมดหวังกลับมีความพยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะถ่ายทอดความรู้สึกของเขาออกมาเป็นหนังสือ ความน่าสนใจอยู่ตรงที่โบบี้ขยับตัวเเละพูดไม่ได้ดังนั้นวิธีใดกันเล่าที่จะสื่อสารความคิดของเขาออกมา เเละฉันก็ได้พบกับวิธีอันชายฉลาดนั้นในที่สุด เป็นวิธีไล่ตัวอักษรที่เรียงตามลำดับความถี่ที่ใช้กันมากในภาษาฝรั่งเศสเเทนที่จะเรียงจาก A-Z เรียกว่าอักษรชุด ESA ดังนั้นในระยะเวลาไม่นานคำหนึ่งคำก็จะครบสมบูรณ์โดยการเลิกเปลือกตาข้างซ้ายของโบบี้ ผู้ช่วยของเขาเป็นส่วนสำคัญทีเดียวที่ทำให้โบบี้สร้างหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาได้สำเร็จ

“ ชุดประดาน้ำรัดรึงน้อยลงเเละเเล้วความคิดก็ร่อนเร่พเนจรไปเหมือนผีเสื้อ ” โบบี้อธิบายความรู้สึกของเขาเอาไว้เช่นนั้น เขาคิดเสมอว่าร่างกายอันเป็นอัมพาตของเขานั้นเปรียบเสมือนสวมชุดประดาน้ำที่รัดเเน่นจนอึดดอัดเเละเจ็บร้าว เเต่ทว่าในชุดประดาน้ำนั้นเขาก็เเหวกว่ายได้อย่างอิสระภายใต้จิตสำนึกที่ล่องลอยเป็นผีเสื้อที่ไปได้ทุกเเห่งหน สัมผัสใบหน้าคนที่เขารัก เเวะชมอดีตอันน่าจดจำ ผ่านเข้าไปในความฝันที่แปลกประหลาด เยี่ยมชมสถานที่ที่เขาใฝ่ฝันได้ทุกเมื่อ

ในหนังสือที่เสมือนเป็นการบันทึกชีวิตในชุดประดาน้ำของโบบี้นี้ เขาได้ค้นพบบางสิ่งซึ่งเขาเพิ่ง
ตระหนักได้เมื่อตอนที่ความทุกข์มาเยือนว่า ในโลกของความเป็นจริงคนที่รักเราอย่างจริงใจกลับเป็นคนที่เรามองข้ามเเละละเลย มัวเเต่หลงอยู่กับความสุขจอมปลอมจากคนที่ฉาบฉวยเเละเอาหน้า โบบี้จึงสุขใจเสมอเมื่อในวันที่เขาเป็นอัมพาตเเละต้องพักอยู่ที่โรงพยาบาลนั้นเขาจะเฝ้ามองการมาถึงของลูกสาวเเละลูกชาย ภรรยาเก่าที่เขาเคยทอดทิ้ง เสียงจากชายชราผู้เป็นพ่อที่ดังมาตามสายโทรศัพท์ ผู้ช่วยของเขาที่หาวิธีสื่อสารโดยชุดอักษร ESA มาให้ นักกายภาพบำบัดที่ไม่ยอมให้เขายอมเเพ้เเละลุกขึ้นมาต่อสู้กับโชคชะตาที่โหดร้ายของตัวเอง บุคคลเหล่านี้เป็นตัวเเปรสำคัญที่ทำให้โบบี้อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

สิ่งสำคัญที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ติดตรึงอยู่ในความทรงจำของฉันคงเป็นความสวยงามของภาษาที่โบบี้ใช้คำได้กระทัดรัดเนื่องจากเขาต้องการให้เนื้อหาไม่ยืดเยื้อเเละตรงประเด็นมากที่สุด เเต่ก็สละสลวยอยู่ในทีเพราะตัวเขาเองเข้าวงการหนังสือมาตั้งเเต่อายุยี่สิบสอง ประสบการณ์ด้านการใช้ภาษาของเขาจึงมีอยู่มากพอควร ในทุกๆบทโบบี้จะเล่าความรู้สึกในช่วงเวลานั้นของเขาแทรกไปด้วยอารมณ์ขันเเละทิ้งท้ายด้วยคำพูดที่ถ้าเราอ่านเเวบเเรกคงจะรู้สึกขำขันเเต่เมื่อมาพิจารณาอีกทีกลับชวนให้เศร้าใจอย่างบอกไม่ถูกราวกับว่าโบบี้กำลังเสียดเเทงจิตใจของตัวเองอยู่ ด้วยถ้อยคำที่สวยงามอย่างเช่น ตอนที่เขาเล่าว่าเขานั่งรถพยาบาลผ่านตึกที่เขาเคยทำงาน “ต้นไม้บุกรุกบดบังหน้าอาคารทั้งหลาย ปุยนุ่นสองสามปุยลอยล่องอยู่ในนภาสีฟ้ากระจ่าง ไม่มีอะไรขาดหายไป นอกจากตัวผม ผมอยู่ที่อื่น..” เเละอีกหลายประโยคที่ทำให้ฉันเองถึงกับพูดไม่ออกรู้สึกทรมานพอๆกับที่โบบี้รู้สึกเเละเห็นความสวยงามพอๆกับที่โบบี้เห็นเช่นกัน

โบบี้จากโลกนี้ไปใน เดือนมีนาคม ค.ศ.๑๙๙๗ หลังหนังสือ “ชุดประดาน้ำกับผีเสื่อ” วางจำหน่ายได้สามวัน น่าเสียดายที่เขาจากไปเร็วเกินกว่าจะได้รับรู้ว่าหนังสือของเขาเป็นที่ชื่นชมเเละถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง เเต่อย่างไรก็ตาม ฌ็อง โดมินิก โบบี้ ก็ได้ทิ้งสิ่งซึ่งล้ำค่าไว้เเก่คนเบื้องหลังอย่างสมบูรณ์เเล้ว

“ความหวัง สำคัญสำหรับทุกคนเสมอ ” การเรียนรู้ที่จะมีชีวิตอยู่บนโลกอย่างงดงามเป็นสิ่งที่โบบี้ต้องการสื่อกับผู้อ่านมากที่สุด ดังนั้นหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือของผู้ที่ป่วยหรือพิการทางกายหากเเต่เหมาะสมกับใครก็ตามที่กำลังพิการทางใจ พ่ายเเพ้ให้กับโลกอันโหดร้ายใบนี้เเละหมดหวังกับทุกๆสิ่งบนพื้นเเผ่นดินเพื่อจะได้เรียนรู้ว่าความเจ็บปวดนั้นไม่มีน้ำหนักพอที่จะมาบดบังความสวยงามของชีวิตไปได้ ...

ในช่วงชีวิตของใครสักคนคงไม่เคยนึกล่วงหน้าเอาไว้ว่าตัวเองจะกลายเป็นอัมพาตทั้งตัว เป็นอนาคตที่คงไม่มีมนุษย์คนใดปรารถนาจะให้เกิดเเต่อย่าลืมว่าโชคชะตามักเล่นตลกร้ายกับมนุษย์เสมออย่างที่เกิดกับโบบี้เเต่เขาก็ได้เเสดงให้เห็นเเล้วว่าการมีชีวิตอยู่นั้นมีค่ามากเพียงใด เเม้ใต้ชุดประดาน้ำอันทรมานเเต่หากเราหมั่นล่อเลี้ยงจิตตวิญญาณที่ถูกกังขังนั้นด้วยจินตนาการเเล้วไซร้ ปีกผีเสื้อก็จะมากระพืออยู่ข้างหูเเละพาใจของเราให้หลุดลอยออกจากความบอบช้ำ


ไปรยาพร

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ภาษาเป็นกวีเชียว ชอบที่ว่า "...เเละอีกหลายประโยคที่ทำให้ฉันเองถึงกับพูดไม่ออกรู้สึกทรมานพอๆกับที่โบบี้รู้สึกเเละเห็นความสวยงามพอๆกับที่โบบี้เห็นเช่นกัน" นั่นเป็นความรู้สึกที่ถ่ายทอดถึงผู้อ่าน และชวนให้ตามไปอ่านเล่มนี้

ภาษาในบทแนะนำกะบเนื้อหาของหนังสือสัมพันธ์กันอย่างลงตัว คุณทำได้ดีค่ะ

9