วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551

งามอย่างเซน : เมล็ดพันธุ์แห่งธรรม จากมุมมองของผู้หญิง


งามอย่างเซน : เมล็ดพันธุ์แห่งธรรม จากมุมมองของผู้หญิง
ผู้เขียน : พระภิกษุณีชุนโด อาโอยาม่า
ผู้แปล : ช่อฟ้า เจตนาวีระบุตร
ปีที่พิมพ์ ๒๕๔๙
สำนักพิมพ์เสมสิกขาลัย
๒๘๐ หน้า


งามอย่างเซน : เมล็ดพันธุ์แห่งธรรม จากมุมมองของผู้หญิง เป็นงานเขียนของภิกษุณี
ชุนโด อาโอยาม่า ซึ่งเป็นนักบวชหญิงนิกายเซนที่ได้รับการนับถือมากในญี่ปุ่นและมีบทบาทอย่างมากในการสืบทอดการปฏิบัติของพระพุทธศาสนาสายเซนมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ โดยท่านได้สอนธรรมะให้แก่สาธารณชน โดยการจัดอบรม บรรยาย ตลอดจนเขียนหนังสือและเขียนบทความลงในนิตยสารต่างๆโดยท่านอาโอยาม่าไม่เพียงแต่ศึกษาหนังสือหรือคัมภีร์เซนโบราณซึ่งเขียนโดยชาวญี่ปุ่นและชาวจีนในอดีตเท่านั้น หากแต่ยังศึกษาทัศนคติของผู้คนในปัจจุบันด้วย โดยจะเห็นได้จากการที่ท่านมักจะนำเหตุการณ์ คำพูด หรือความคิดเห็นของคนในสังคมมาวิเคราะห์ และใช้เป็นสื่อในการสั่งสอนเซน คำสอนของท่านจึงถ่ายทอดด้วยภาษาง่ายๆ สอดคล้องกับชีวิตประจำวันของคนทั่วไปทำให้สามารถเข้าถึงจิตใจของผู้ฟังได้เป็นอย่างดี

หนังสืองามอย่างเซนแปลมาจากฉบับภาษาอังกฤษที่ชื่อ Zen Seeds:Reflection of a famale priest โดยZen Seeds เป็นผลงานของท่านอาโอยามาในช่วงแรกๆ ก่อนหน้านั้นถูกแปลเป็นภาษาต่างๆมากมาย ดังนั้นคำสอนของท่านอาโอยาม่าจึงไม่เพียงแพร่หลายแต่สังคมญี่ปุ่นเท่านั้น หากแต่ยังเผยแผ่ออกไปยังต่างชาติด้วย โดยท่านภิกษุอาโอยาม่ายังได้รับรางวัลสตรีดีเด่นทางพุทธศาสนาประจำปี ของสหประชาชาติ เนื่องในวันสตรีสากลอีกด้วย ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าผลงานและกิจกรรมต่างๆที่ท่านได้ทำมาตลอดนั้นเป็นที่ยอมรับกว้างขวางในระดับสากลแล้ว

หนังสืองามอย่างเซนนี้เรียบเรียงออกมาจากจิตใจที่งดงาม ถ่ายทอดผ่านภาษาที่ละมุนละไม ง่ายๆแต่ลึกซึ้งกินใจ เพียงวินาทีแรกที่สายตาได้สัมผัสกับตัวอักษรก็สามารถเข้าใจความหมายที่ซ่อนอยู่ได้ทันที ดังตอนหนึ่งของบทที่๑๓ บานดอกเหมย เผยฤดูใบไม้ผลิ
“...ความสุขที่ขึ้นอยู่กับว่าคุณอยากได้อะไรหรือคุณอยากเป็นอะไรนั้น เป็นเพียงความสุขที่มีเงื่อนไข ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ความเป็นจริงก็คือไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นก็ตาม มันก็สักแค่เกิดขึ้น...การเผชิญหน้ากับสิ่งใดก็ตาม และยอมรับมันให้ได้ด้วยวงแขนที่เปิดรับในกรณีที่มันไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จะเปิดทัศนคติของคุณให้สามารถเห็นได้ว่าชีวิตที่สวยงามนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เมื่อใดก็ตามที่คุณมีทัศนคติเช่นนี้ คุณก็ถึงสวรรค์แล้ว ไม่ว่าที่ใด เวลาไหน และในสถานการณ์ใด”

ท่านอาโอยาม่ายังใช้วิธีหยิบยกธรรมชาติ มาเปรียบเทียบกับธรรมะ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น ดังตอนหนึ่งของบทที่๑ ได้ยินเสียงสายน้ำจากหุบเขา “เมื่อเราฟังเสียงน้ำที่ไหลโดยใช้จิตใต้สำนึกของเรา ท่วงทำนองหลากหลายย่อมเกิดขึ้นมิใช่หรือ หยดน้ำแต่ละหยดไม่สามารถไหลผ่านหินก้อนเดิมได้สองครั้ง ทั้งเสียงรำพึงของสายน้ำที่วิ่งไหลผ่านก้อนหินทุกครั้งก็เปลี่ยนไป ทุกๆสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลงและไม่เหมือนเดิม...น้ำซึ่งครั้งหนึ่งไหลลงไปตามท้องน้ำไม่สามารถไหลกลับทางเดิมฉันใด ชีวิตมนุษย์ก็ไม่ต่างกัน ที่เรามองว่าเมื่อวานนี้เป็นไปเหมือนเช่นในวันนี้ก็เพราะตาและใจของเราเคลือบมายา ตาและจิตที่สว่างเท่านั้นจึงจะรู้ได้ว่าในแต่ละช่วงขณะหนึ่งขณะใดนั้นย่อมมีความต่างจากช่วงขณะอื่นๆเสมอ”

ท่านอาโอยามาไม่เพียงถ่ายทอดคำสั่งสอนและแนวคิดแต่ของตนเองเท่านั้น หากแต่ยังสอดแทรกและหยิบยกคำพูดของภิกษุท่านอื่นไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วย ผู้อ่านจึงได้แนวคิดที่หลากหลาย เช่นกลอนบทหนึ่งของอาจารย์โยชิโอ โตอิ ที่แทรกไว้ในบทที่๓๔ ตั้งใจให้มั่น กล่าวไว้ว่า “เธออาจพูดว่าเธอมีชีวิตอยู่ แต่หนอนก็มีชีวิตเช่นกัน หากแต่เราเป็นมนุษย์ เราปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่ด้วยศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่สูงขึ้นมาหน่อย เธออาจพูดว่าเธอมีชีวิตอยู่ด้วยความสามารถทั้งหมดที่มีอยู่ แต่ดักแด้และกิ้งกือก็มีชีวิตอยู่ด้วยความสามารถทั้งหมดที่มันมีอยู่ด้วยเช่นกัน และมนุษย์ก็ไม่ควรมีชีวิตเหมือนดักแด้หรือกิ้งกือ ทำให้เพื่อนมนุษย์บางคนมีความสุขเพิ่มขึ้นมาอีกนิด ถือว่าเราดำรงชีวิตนี้อยู่ด้วยความสามารถทั้งหมดที่เรามีอยู่ได้หรือไม่หนอ”

งามอย่างเซนฯ มิได้รุ่มรวยด้วยศัพท์สวยหรูเช่นหนังสือธรรมะเล่มอื่นๆหากแต่ถูกเรียบเรียงด้วยภาษาเรียบง่าย จึงเป็นหนังสือธรรมะที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย และไม่ว่าผู้อ่านจะกำลังอยู่ในความรู้สึกใด หนังสือเล่มนี้ก็มีประโยชน์ต่อจิตใจของผู้อ่านเสมอ เพราะหากผู้ที่อ่านหนังสือเล่มนี้กำลังอยู่ในความทุกข์ก็จะได้รับแง่คิดและหนทางออกของปัญหา แต่หากผู้อ่านกำลังอยู่ในความสุขก็จะยิ่งเพิ่มพูนความอิ่มเอมใจมากขึ้นไปอีก

ฐิติกานต์

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ใช้ภาษาได้ดีพอใช้ เขียนประโยคยาว มีแต่คำเชื่อม ซึ่ง ที่ โดย
ย่อหน้า1,2,3 ขึ้นต้นด้วยชื่อหนังสือเหมือนกัน ควรเปลี่ยนในย่อหน้า2,3 ไม่ให้ซ้ำ ไม่ควรใช้ "มัน" ในงานเขียน แม้จะเป็นภาษากึ่งทางการ

7.5

Unknown กล่าวว่า...

เป็นหนังสือที่ดีมากๆที่เคยอ่านมาสอนในทุกเรื่องได้อย่างลึกซึ้ง และอาจจะใช้ถ้อยคำที่เข้าใจยากแต่ถ้าไดอ้่านจบแล้วจะได้รุ้ว่าการที่เราจะพูดจะเจรจาใครในแบบของผู้ดีนั้นเป็นอย่างไร ขอ ชื่นชม ผู้ ประทุ👍👍👏👏👏