วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551

เด็กหญิงสองหัวใจ


เด็กหญิงสองหัวใจ
ผู้เขียน : รุ่งธรรม บุญสุระ
ปีพิมพ์ : 1 / 2549
สำนักพิมพ์ : สถาพรบุ๊คส์
จำนวนหน้า : ปกอ่อน / 216 หน้า
ราคาปกติ 130.00 บาท


เด็กหญิงสองหัวใจ เป็นเรื่องของเด็กผู้หญิงชาวลานนาคนหนึ่ง วัยสิบสองปี มีชื่อว่าฟองฝ้ายเป็นลูกของพ่อเมืองแก้วและแม่ไหมคำ มีลักษณะนิสัยที่แปลกประหลาดคือ มีสองหัวใจในร่างเดียว ในช่วงเช้าจะมีจิตใจเป็นเด็กผู้หญิง ร่างกายบอบบาง อ่อนโยน รักความสงบ และชอบเย็บปักถักร้อย แต่ในช่วงบ่ายกลับมีจิตใจเป็นเด็กผู้ชาย ร่างกายแข็งแรง กล้าหาญ ชอบเล่นผาดโผน ซึ่งตัวฟองฝ้ายเองก็สับสนในลักษณะเช่นนี้ของตนเองเช่นกัน


ภายในเนื้อหาของเรื่องนั้นจะเป็นการเล่าถึงการเดินทางผจญภัยของฟองฝ้ายกับเพื่อนต่างเผ่าพันธุ์คือ หึ่ง ๆ ผึ้งน้อยกับหย่งโย่ เจ้าตั๊กแตนตัวโต โดยการนำทางของขนนกกระยางที่ตกอยู่ตามทางเดินจนเข้าไปในดินแดนแห่งหนึ่งที่ชื่อว่าเมืองดอกไม้ โดยมีภารกิจสำคัญรออยู่นั่นก็คือการช่วยเหลือเจ้าหญิงพรรณมาลีและชาวเมืองดอกไม้ให้หลุดพ้นจากคำสาปของผู้เฒ่าฟ้าง้างผู้อ้างว่าเด็กหญิงสองหัวใจเป็นลูกของตน โดยระหว่างทางก็จะมีอุปสรรคต่าง ๆ มาทดสอบความสามารถของเด็กหญิงสองหัวใจผู้นี้ ฟองฝ้ายจึงต้องนำเอาลักษณะพิเศษเฉพาะตัวของตนมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ประกอบกับความช่วยเหลือของเพื่อนต่างเผ่าพันธุ์ทั้งสองที่คอยให้กำลังใจฟองฝ้าย เมื่อยามเดือดร้อนก็ไม่ทิ้งกัน ทำให้เกิดมิตรภาพที่สวยงามขึ้น นอกจากอุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างทางแล้ว


ฟองฝ้ายยังต้องต่อสู้กับอุปสรรคทางด้านจิตใจด้วย เมื่อฟองฝ้ายต้องตัดสินใจเลือกระหว่างความผูกพันกับผู้เฒ่าฟ้าง้างผู้ซึ่งดูแลฟองฝ้ายเหมือนลูกและความถูกต้องที่จะต้องช่วยเจ้าหญิงพรรณมาลีและชาวเมืองที่ถูกสาป ท้ายที่สุดฟองฝ้ายก็ได้เลือกความถูกต้องและได้ช่วยปลดปล่อยคำสาปให้กับเจ้าหญิงพรรณมาลีและชาวเมืองดอกไม้ได้สำเร็จ แต่เรื่องไม่ได้จบเพียงเท่านั้น เมื่อฟองฝ้ายกลับมาที่บ้าน ฟองฝ้ายยังต้องเจอกับอุปสรรคทางด้านจิตใจครั้งใหญ่ เมื่อฟองฝ้ายต้องเลือกว่าจะมีจิตใจที่เป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้ชายกันแน่ แต่ไม่ว่าฟองฝ้ายจะเลือกทางไหน ฟองฝ้ายก็จะเป็นฟองฝ้ายที่มีความเป็นตัวของตัวเอง ตัวตนที่ดีที่สุดต่อฟองฝ้ายและครอบครัวของฟองฝ้ายเอง

เด็กหญิงสองหัวใจเป็นผลงานการเขียนของ คุณรุ่งธรรม บุญสุระ ผู้หลงใหลในการเขียนบทความมาตั้งแต่เด็ก ๆ เป็นนักเขียนที่ได้รับรางวัลดวงดาวถึงสองครั้งด้วยกัน ซึ่งหนังสือเล่มนี้ก็เป็นหนังสือที่ได้รับรางวัลดวงดาวในปี 2548 ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นเครื่องยืนยันได้ดีถึงคุณภาพของหนังสือเล่มนี้
ปกของหนังสือเล่มนี้ใช้สีชมพูอ่อนเป็นพื้นหลังและมีรูปของเด็กหญิงฟองฝ้ายและเพื่อนๆคือหึ่งๆ และหย่งโย่ มีการจัดองค์ประกอบของภาพดี ดูแล้วสบายตา น่าหยิบขึ้นมาอ่าน อีกทั้งภาพที่ใช้ก็สื่อได้ถึงมิตรภาพอันดีงามระหว่างเพื่อนต่างเผ่าพันธุ์ได้เป็นอย่างดี

เด็กหญิงสองหัวใจเป็นวรรณกรรมเยาวชนที่มีขนาดเนื้อเรื่องยาวพอสมควร ใช้ภาษาง่าย ๆ แต่มีความไพเราะเพราะมีการใช้คำสัมผัสคล้องจองในการแต่งทำให้จำง่าย อ่านแล้วสนุก ไม่น่าเบื่อ เป็นการใช้คำที่เหมาะสมกับวรรณกรรมเยาวชน ฉากในเรื่องมีการเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ทำให้เรื่องน่าติดตาม มีการใช้จินตนาการในการสร้างสรรค์ตัวละครที่แปลก น่าสนใจ การนำเสนอบุคลิกและอุปนิสัยของตัวละครก็สามารถทำได้ดี เพราะผู้เขียนไม่ได้บอกนิสัยของตัวละครโดยตรงแต่แต่งให้ตัวละครเอกซึ่งก็คือฟองฝ้ายค่อยๆเรียนรู้นิสัยของเพื่อนๆในระหว่างการเดินทางที่ต้องเจอกับอุปสรรคนานัปการทำให้รู้นิสัยที่แท้จริงของกันและกัน เป็นการนำเสนอที่ทำให้ผู้อ่านค่อยๆรู้จักนิสัยของตัวละครไปพร้อม ๆ กับฟองฝ้ายด้วย ทำให้ผู้อ่านมีอารมณ์คล้อยตามไปกับเรื่องที่อ่าน การปิดเรื่องก็ปิดได้น่าสนใจเพราะเป็นการปิดเรื่องโดยให้ผู้อ่านกลับไปคิดเองว่าตัวละครจะทำอย่างไร หลังจากที่ผู้อ่านได้ทำความรู้จักกับตัวละครแล้ว ซึ่งการจบด้วยวิธีนี้จะทำให้ผู้อ่านประทับใจและจดจำวรรณกรรมเรื่องนี้ได้

หนังสือเล่มนี้ ยังสอดแทรกประเพณีและวัฒนธรรมของชาวลานนาที่น้อยคนนักจะรู้ ผู้เขียนได้เสนอวิธีการละเล่นของเด็ก ๆ ชาวลานนาได้น่าสนใจทั้งนำมาเกี่ยวโยงกับเนื้อเรื่องด้วย ซึ่งเป็นการนำเสนอได้น่าสนใจมาก ทำให้ผู้อ่านสามารถจดจำการละเล่นนี้ได้ นอกจากนี้ยังได้แทรกข้อคิดไว้ตลอดเรื่องตั้งแต่ต้นเรื่องจนจบเรื่อง ซึ่งนอกจากจะเป็นการทำให้ผู้อ่านได้รับทั้งความสนุกและข้อคิดที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย

วรรณกรรมเรื่องนี้เหมาะสำหรับเยาวชนทุกคนที่รักการอ่าน เพราะนอกจากจะมีเนื้อหาและกลวิธีที่น่าสนใจแล้ว ยังมีข้อคิดซึ่งในเรื่องนี้จะเน้นหนักในเรื่องของการคิดดี ทำดี ความกตัญญูต่อพ่อแม่ และความผูกพันกันระหว่างเพื่อน ที่ถึงแม้จะต่างเผ่าพันธุ์กัน ก็มีความรักที่จริงใจต่อกันได้ หนังสือเล่มนี้จะทำให้ผู้อ่านทุกคนต้องประทับใจและรู้สึกได้ถึงมิตรภาพที่งดงามระหว่างเพื่อน ซึ่งหาได้ยากในโลกแห่งความเป็นจริงนี้


พิมพ์รัก

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เรียบง่ายเหมาะสมกับเนื้อหาของหนังสือ

ย่อหน้าที่ว่า เด็กหญิงสองหัวใจเป็นผลงานการเขียนของ คุณรุ่งธรรม บุญสุระ........

น่าจะอยู่ต้นๆ

ฉากในเรื่องมีการเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ทำให้เรื่องน่าติดตาม น่าจะขยายความ เพิ่มรายละเอียดให้มากกว่านี้

8