วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551

กฤตยา


กฤตยา
ทมยันตี
พิมพ์ครั้งที่ ๖
๓๙๒ หน้า ๒๒๐ บาท
สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม


“กฤตยา” นวนิยายแนวจิตวิญญาณที่มีกลิ่นไอของอียิปต์โบราณผสมผสานแนว
วิทยาศาสตร์สมัยใหม่อย่างลงตัว งานเขียนของจริงคือคุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์หรือทมยันตีนามปากกาที่ชินหูนักอ่านมานานหลายทศวรรษได้รับการตอบรับจนนำไปโลดแล่นอยู่บนหน้าจอโทรทัศน์มากมาย นอกจากทมยันตีแล้วเรายังรู้จักในอีกหลากหลายนามปากกาไม่ว่าจะเป็นโรสรา-เลน ลักษณวดี กนกเรขา ก็ล้วนแล้วแต่เป็นผลงานของคุณหญิงทั้งสิ้น คุณหญิงใช้สำนวนภาษาตามแบบหลวงวิจิตรวาทาการและร.จันทพิมพะนักเขียนสตรีรุ่นเก่าหน้าปกเป็นรูปราชินีอียิปต์โบราณและภาพเขียนฝาผนังภายในพีระมิด สีตัวอักษรชื่อเรื่องเด่นชัดเห็นได้จากที่ไกล สีปกกลมกลืนกันสวยงานน่าหยิบขึ้นมาอ่าน

กฤตยาเป็นนวนิยายแนวจิตวิญญาณที่อิงประวัติศาสตร์อียิปต์โบราณผสมผสานไปกับความรู้ทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ได้อย่างลงตัวจึงชวนติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ

กฤตยาเป็นชื่อของหญิงสาวที่มีความลึกลับและมีอดีตที่ซับซ้อน ในวัยเยาว์หลังจากสูญเสียทั้งบิดาและมารดาจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ เธอก็ประสบอุบัติเหตุที่ต้องทำให้นอนพักรักษาอยู่ในห้องไอ.ซี.ยู. ท่ามกลางความหวั่นใจของลุงกับป้าว่าความตายจะมาพรากเธอไป เธอตื่นขึ้นมาพร้อมกับประกาศว่าเธอชื่อ ตี ที่เธอต่อในใจว่า ตี ตาเตน พร้อมกลับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เธอผู้ติดตามลุงที่จะย้ายไปเป็นทูตประจำกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ด้วยความดีใจและบอกใครต่อใครว่า เธอจะได้กลับบ้าน

ไอลวิล ศัลยแพทย์มือหนึ่งของเมืองไทยประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ชื่อของเขาหมายถึงท้าวกุเวน ผู้อยู่เหนือความตายและวิญญาณทั้งปวง เขาผู้เลื่องลือว่าเป็น “หมอปากพระร่วง”ที่มีการตัดสินใจที่แม่นยำ “รายนี้ ถ้าเอ่ยปากว่าไม่ตายเป็นไม่ตาย แต่ถึงอาการที่เราแน่ใจว่าปลอดภัย ถ้ารายนี้ว่าตาย ก็แหง”

นอกจากหน้าที่ศัลยแพทย์แล้ว เขายังมีอีกหน้าที่หนึ่งงานวิจัยที่สำคัญยิ่ง การปลุกเซลล์ที่ตายแล้วขึ้นมาใหม่ และที่สำคัญเซลล์นั้นมีอายุกว่าสามพันปีเซลล์ที่เป็นของฟาโรห์
สเมนกาเรเชษฐาแห่งตุตันคาเมน ฟาโรห์แห่งราชวงศ์ที่สิบแปด ครองราชย์เมื่อสามพันสามร้อยสี่สิบปีที่ผ่านมา

อดีตเชื่อมโยงกับปัจจุบันแม้ว่าจะผ่านมานานกว่าสามพันปีแล้วแล้วที่พระนางเมอริตาเตนพระชายาแห่งสเมนกาเรนรอคอยวันที่ดวงพระวิญญาณของพระสวามีถูกปลดปล่อยจากคำสาป ที่อัย ฟาโรห์องค์ที่ ๑๙ แห่งราชวงศ์อียิปต์ สาปไว้เพราะแค้นเคืองที่พระนางเมอริตาเตนไม่อภิเษกด้วยหลังจากที่สเมนกาเรนสิ้นพระชนม์จึงโกรธแค้นไม่รับพระศพสเมนกาเรนเพื่อทำมัมมี่นั้นหมายถึงการไม่มีโลกหน้าให้สเมนกาเรน หากแต่พระนางเมอริตาเตนมิยอมเช่นนั้น นางพยายามทำทุกวิธีเพื่อทำมัมมี่ให้พระสวามี แต่ความรับไม่มีในโลก อัยทรงล่วงรู้นางจึงถูกฝังทั้งเป็นเคียงข้างพระสวามีอันเป็นที่รัก

ปัจจุบันกฤตยาได้นำเซลล์เนื้อเยื่อมัมมี่อายุกว่าสามพันปีมา ให้ไอลวิลปลุกชีวิตขึ้นมาใหม่ กรรมที่ทำร่วมกันมาถือเป็นกรรมร่วม เมื่อไอลวิลละทิ้งซึ่งโทสะและความพยาบาททั้งมวลเขาจึงสามารถทำหน้าที่แห่งตนได้อย่างสมบูรณ์

เทพีเซลเค็ตเทพที่รักษาปกป้องพระศพฟาโรห์ ผู้ใดที่แตะต้องพระศพของฟาโรห์จะต้องได้รับโทษอย่างหนักแต่กฤตยาถูกละเว้นด้วยผลจากความเสียสละและความเที่ยงธรรม

“วัฏจักรแห่งโลกมีจริง การเกิดและการตายเป็นเพียงข้ามจากภพหนึ่งไปสู่ภพหนึ่ง ใครจะรู้บ้างว่าตนเองผ่านมากี่ภพ กี่ชาติ ใครจะรู้บ้างว่าตนจะเดินทางจากแห่งนี้ไปสู่แห่งใด เพราะกรรมเป็นเครื่องกำเนิด กรรมน้อมนำไปและกรรมมิมีที่สิ้นสุด”

กรรม คือการกระทำ การกระทำไม่มีวันสิ้นสุดตราบเท่าที่เรายังเวียนว่ายตายเกิดอยู่
ในสังสารวัฎ ทางที่พ้นจากทุกข์ตามพระพุทธศาสนาคือนิพพาน ไม่ว่าจะต้องเกิดอีกกี่ชาติภพหากสิ่งที่ติดตัวเราไปคือกรรมซึ่งชาติใดภาษาใดไม่ต้องมีพจนานุกรมในการแปลความหมายก็สามารถส่งผลถึงกันได้เพราะมนุษย์ย่อมเป็นไปตามกรรม

ภัทรกุล

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

มีรายละเอียดมาก เนื้อเรื่องยาว แต่รีบจบทันทีเหมือนไม่จบ ไม่มีย่อหน้าลงท้าย


7.5