วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551



นิ้วกลม (นามปากกา)
สำนักพิมพ์ a book
๒๕๖ หน้า ภาพประกอบ
๑๖๐ บาท

ณ เป็นงานวรรณกรรมประเภทบันเทิงคดีที่เป็นความเรียงแบ่งเป็นตอนๆทั้งหมดยี่สิบหกตอน รวมรวมจากคอลัมน์ “ณ” ในนิตยสาร a day ซึ่งถ่ายทอดความหมาย บรรจุความทรงจำของสถานที่และสอดแทรกแง่คิดที่น่าสนใจไว้โดยนักเขียนอารมณ์ดีและการมองโลกในแง่ดี ซึ่งนอกจากจะได้ความสนุกสนานเพลิดเพลินของภาษาและการดำเนินเรื่อง ยังเพลิดเพลินไปกับการรื้อความทรงจำเก่าๆในลิ้นชักของเราออกมาสนุกตามไปอีกด้วย

คุณนิ้วกลมเป็นนักเขียนที่มีผลงานมากมายในงานเขียนลักษณะการเดินทางที่แสดงถึงความเป็นนักเดินทางของเขา แต่งานเขียนชิ้นนี้ไม่เน้นการท่องเที่ยวในสถานที่ที่แปลกใหม่แต่เป็นการบอกเล่าถึงสถานที่ที่ผ่านตาทุกวัน ทุกวัน โดยที่ใครๆอาจจะเดินผ่านไปโดยไม่ให้ความสนใจแต่เขาหยิบขึ้นมาบอกเล่าและสอดแทรกความเห็นและมุมมองส่วนตัวในทุกๆสถานที่นั้น

สถานที่พิเศษของครอบครัว สถานที่ที่อยู่ในความทรงจำกับคนรัก สถานที่ธรรมดาที่ผ่านตาทุกวันๆ เช่นร้านตัดผม ร้านก๋วยเตี๋ยว สถานที่อันเป็นส่วนรวมและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์รวมไปถึงบ้านนั้น ล้วนแต่มีความหมายต่อเขาทั้งสิ้น ซึ่งเขาสามารถจับมาเล่าเรื่องผ่านมุมมองของคนที่มองโลกกว้างและละเอียด เช่น มุมมองในชีวิตประจำวัน เช่น ตอนที่กล่าวถึงสถานที่ “สี่แยกไฟแดง” นั้นมีมุมมองที่น่าสนใจของคนที่อยู่ในรถตากแอร์เย็นฉ่ำและห่างออกไปเพียงกระจกกั้นนั้น อากาศร้อนและมลพิษที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ยังมีเด็กขายพวงมาลัยที่ต้องใช้เวลาแทบทั้งวันที่หลายๆคนไม่ใส่ใจและมองข้าม

กระทั่งสถานที่ที่เรียกได้ว่ามีความตึงเครียด เช่น สนามหลวงที่มีการชุมนุมเดินขบวนนั้น เขายังเห็นสิ่งเล็กๆน้อยๆความใส่ใจและความมีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์เช่นการแบ่งปันอาหาร เครื่องดื่ม ไม่เว้นแม้แต่เสื่อหรือที่นั่งต่างๆ “ภาพการหยิบยื่นจากคนแปลกหน้าสู่คนแปลกหน้าเหล่านั้นชวนให้เขาคิดว่าโดยพื้นฐานแล้วมนุษย์เรามีนิสัยของ ‘ผู้ให้’ อยู่โดยธรรมชาติ แต่อาจด้วยอะไรบางอย่างที่ทำให้บางสถานการณ์ มนุษย์เลือกที่จะแปลงร่างกลับใจกลับกลายเป็น ‘ผู้เอาเปรียบ’” เป็นการมองโลกในแง่ดีขัดกับสถานที่นั้นแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่สังคมขาดไปในปัจจุบันและปรากฎให้เห็นภาพอย่างชัดเจน

หนังสือเล่มนี้จบด้วยบทที่ชื่อว่า “ณ ตอนอวสาน” เป็นชื่อที่หยอกล้อละครทางโทรทัศน์ ซึ่งในตอนนี้ก็ให้แง่คิดของการจบที่นำไปเชื่อมโยงกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ ลักษณะการทำงานเพื่อเขียนคอลัมน์นี้ สิ่งที่เขาได้จากการเขียนคอลัมน์นี้ทุกเดือนๆ และจบท้ายด้วยการขอบคุณผู้อ่านที่ติดตามผลงาน

ภาพประกอบมีความแปลกใหม่และมีความสร้างสรรค์ในแง่การนำภาพที่ใช้ในการออกแบบสถานที่ทางสถาปัตยกรรม เช่น การออกแบบสถานก่อสร้าง นำมาจัดทำเป็นรูปประกอบที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ที่จะกล่าวถึงซึ่งมีความแปลกใหม่และน่าสนใจเป็นอย่างมาก

ภาษาที่ใช้ในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนได้ใช้ภาษาตั้งแต่ภาษาระดับล่างที่เรียกว่าภาษาปากหรือภาษาพ่อขุนรามฯ ไปจนถึงภาษาระดับกึ่งทางการตามคู่สนทนาและสถานที่นั้นๆ แสดงให้เห็นถึงการเลือกใช้ภาษาที่ถูกกาลเทศะและแสดงให้เห็นถึงความเป็นกันเองระหว่างผู้เขียนและผู้อ่านซึ่งอาจถึงขั้นที่เรียกได้ว่า “ตีสนิท” กันซึ่งๆหน้าเลยทีเดียว

มีการใช้ความเปรียบที่ทำให้เห็นภาพและเข้าใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อให้ผู้ที่อ่านนำไปคิดต่อหลังอ่านจบ “ผมจ้องมองไปยังกระจกรถตรงหน้า แล้วคิดถึงสิ่งที่เราเรียกกันว่า ‘หัวใจ’... มันจะใส ก็ต่อเมื่อเราเช็ด” นอกจากนี้ยังมีการใช้เนื้อเพลงในการดำเนินเรื่องในตอนหนึ่งที่ใช้ถ่ายทอดความรู้สึกและอารมณ์ของผู้เล่าแทนคำพูดบรรยายในสถานที่นั้นๆอีกด้วย

ด้วยวิถีชีวิตที่ความเครียดคืบคลานเข้าสู่คนทุกเพศ ทุกวัยมากขึ้น การผ่อนคลายความเครียดด้วยการอ่านหนังสือถือว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่กำลังมองหาหนังสือที่นอกจากจะให้ความสนุกสนานแล้ว ยังมีมุมมองดีๆในการมองโลกใบนี้รออยู่ ท้ายนี้หวังว่าหนังสือเล่มนี้คงจะได้ทำหน้าที่ของมันกับท่านผู้อ่านคนอื่นๆเป็นอย่างดีต่อไป

รุ่งทิวา

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ชื่อหนังสือน่าสนใจ แต่ภาพรวมกลับไม่อาจดึงจุดเด่นออกมาได้ เรียกผู้เขียนไม่ต้องใช้คำว่า คุณ

ย่อหน้าที่ 3 นามวลีขึ้นต้นย่อหน้ายาวไป ไม่ควรใช้ "ท้ายนี้หวังว่า"

7