วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551

เกาะโลมาสีน้ำเงิน
ผู้แต่ง: สก็อต โอ เดลล์
ผู้แปล: วิลาวัณย์ ฤดีศานต์
พิมพ์ครั้งที่ ๖/๒๕๕๑
สำนักพิมพ์มติชน
๑๙๒ หน้า

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ไม่สามารถอยู่ตัวคนเดียวได้ ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันตลอดเวลา และด้วยความชาญฉลาด มนุษย์ก็ได้ผลิตเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อทำให้การดำรงชีวิตมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เราติดต่อสื่อสารกันได้แม้จะอยู่คนละมุมโลก การทำงานบ้านไม่ใช่เรื่องที่ยากลำบากอีกต่อไปเพราะมีทั้งเครื่องซักผ้า เครื่องดูดฝุ่นไว้ทุ่นแรง แต่ถ้าวันหนึ่งเราต้องใช้ชีวิตอยู่คนเดียวโดยปราศจากสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ และไม่มีเพื่อนพูดคุยคลายเหงา เราจะอยู่ได้หรือไม่ และชีวิตจะเป็นอย่างไร หนังสือเรื่อง เกาะโลมาสีน้ำเงิน ได้ให้คำตอบไว้อย่างน่าประทับใจ

เกาะโลมาสีน้ำเงิน เป็นเรื่องราวของการานา เด็กหญิงอายุ ๑๒ ปี ชาวอินเดียนแดงที่ต้องอาศัยอยู่บนเกาะคนเดียวเป็นเวลาถึง ๑๘ ปี ครั้งหนึ่งเธอเคยใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับครอบครัวของเธอ ซึ่งประกอบไปด้วยพ่อ พี่สาว และน้องชาย ร่วมกับชาวอินเดียนแดงที่เรียกตัวเองว่า ฆาลัส-อัส บนเกาะโลมาสีน้ำเงินแห่งนี้ อยู่มาวันหนึ่งพวกอาลูตมาล่านากทะเลบนเกาะ และเกิดการต่อสู้กับพวกชาวเกาะ เนื่องจากการเอาเปรียบของพวกอาลูต การต่อสู้ครั้งนี้ทำให้ชาวฆาลัส-อัส เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รวมทั้งพ่อของการานาด้วย ทำให้พวกเขาคิดจะอพยพไปจากเกาะแห่งนี้ เพราะกลัวว่าพวกอาลูตจะกลับมาทำร้ายตนเองอีก

เมื่อถึงเวลาที่ต้องเดินทางจากเกาะนี้ไป น้องชายของการานากลับไปเอาของสำคัญที่ลืมไว้ที่บ้าน ทำให้มาขึ้นเรือไม่ทัน การานาจึงกระโดลงจากเรือเพื่อไปหาน้องชายท่ามกลางเสียงคัดค้านของทุกคน ด้วยเหตุนี้เขาทั้งสองคนจึงต้องอาศัยอยู่บนเกาะกันตามลำพัง แต่แล้วน้องชายของการานาก็ถูกหมาป่ากัดตาย เธอจึงต้องอยู่คนเดียว สัญชาตญาณของการเอาตัวรอดและการแก้แค้นก็ได้เริ่มต้นขึ้น “ฉันสาบานว่าสักวันหนึ่งฉันจะกลับไปฆ่าเจ้าหมาป่าในถ้ำพวกนั้น ฉันจะฆ่าพวกมันให้หมด”

ตลอดเวลาที่การานาอาศัยอยู่บนเกาะ เธอต้องสร้างที่พัก ทำอาวุธ หาอาหาร และต้องต่อสู้กับหมาป่า เธอยังคงเฝ้ารอให้เรือมารับจนเวลาล่วงเลยไป “หลายดวงอาทิตย์ หลายดวงจันทร์” ท่ามกลางความเหงาและความอ้างว้าง มิตรภาพก็เริ่มก่อตัวขึ้นระหว่างเธอกับศัตรูตัวฉกาจคือเจ้าหมาป่า รวมถึงเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่เดินทางมากับพวกอาลูต ผู้ที่ฆ่าพ่อของเธอด้วย การานาได้เรียนรู้การให้อภัยและเห็นคุณค่าชีวิตของสัตว์อื่นมากขึ้น “อูลาเป้คงหัวเราะเยาะฉัน คนอื่นๆ คงจะหัวเราะเยาะเหมือนกัน พ่อของฉันคงหัวเราะมากที่สุด แต่นี่เป็นสิ่งที่ฉันรู้สึกกับสัตว์ที่กลายมาเป็นเพื่อนกัน รวมถึงพวกที่ไม่ได้เป็นเพื่อนด้วยแต่ก็อาจจะได้เป็นสักวัน ถ้าอูลาเป้กับพ่อฉันกลับมาและหัวเราะ และคนอื่นๆ กลับมาและหัวเราะ ฉันก็จะยังคงคิดแบบนี้ เพราะสัตว์และนกก็เหมือนกับคน ถึงแม้มันจะพูดไม่เหมือนคนหรือไม่ทำอะไรเหมือนคน แต่ถ้าไม่มีพวกมัน โลกก็จะเป็นที่ที่ไม่มีความสุข”

เกาะโลมาสีน้ำเงินเป็นวรรณกรรมที่เขียนขึ้นเมื่อประมาณ ๕๐ ปีที่แล้ว ทว่าเนื้อหาไม่ได้ล้าสมัยไปตามกาลเวลาเลย ผู้แต่งได้นำเสนอเรื่องราวที่อยู่บนพื้นฐานจิตใจของมนุษย์ทุกยุคทุกสมัยนั่นคือสัญชาตญาณการเอาตัวรอด ในสภาพแวดล้อมที่กดดันให้มนุษย์ทำทุกอย่างเพื่อความอยู่รอดนั้น ความเห็นแก่ตัวและการเบียดเบียนคนอื่นเพื่อผลประโยชน์ของตนเองไม่ใช่ทางออกที่จะทำให้มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ได้ หากแต่เป็นการมอบความรักความเมตตาให้แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน รวมถึงสิ่งมีชีวิตร่วมโลกชนิดอื่น ที่จะทำให้เราอยู่รอดและพบกับความสุขที่แท้จริงในชีวิต

ผู้แต่งใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย โดยใช้กลวิธีการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของการานา ทำให้เราเข้าใจถึงความรู้สึกหวาดกลัวและความโดดเดี่ยวอ้างว้างของเธอได้ดี ถึงแม้ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายสักเพียงใด เธอก็ได้แสดงความกล้าหาญในการเผชิญกับสิ่งต่างๆ ได้อย่างชาญฉลาด ถือว่าเด็กอายุเพียง ๑๒ ปีอย่างเธอ มีทักษะการใช้ชีวิตที่ยอดเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบ้านด้วยสองมือของเธอเอง การทำอาวุธไว้ต่อสู้กับพวกหมาป่าและสัตว์ร้าย การสร้างเรือแคนูเพื่อไว้ใช้ยามออกไปหาอาหาร หรือการทำเสื้อผ้าจากขนนกกาน้ำ

วรรณกรรมเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นพลังอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ ตัวละครคือการานาจะต้องเผชิญกับความท้าทายที่ต้องอยู่คนเดียว และมีอุปสรรคต่างๆ เป็นแบบทดสอบให้เธอข้ามผ่านไปให้ได้ เมื่ออ่านแล้วก็รู้สึกตื่นเต้นไปกับการผจญภัย บางครั้งก็น้ำตาไหลให้แก่การสูญเสีย และอิ่มเอมใจกับมิตรภาพอันอบอุ่นที่เกิดขึ้นบนเกาะโลมาสีน้ำเงินแห่งนี้ ผู้เขียนยังได้สอดแทรกความสำคัญของธรรมชาติที่มีต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ และสอนให้เรารู้จักเคารพสิ่งมีชีวิตอื่น ด้วยเหตุนี้ เกาะโลมาสีน้ำเงิน จึงได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 วรรณกรรมเยาวชนยอดเยี่ยมในรอบ 200 ปี จากสมาคมวรรณกรรมเยาวชนอเมริกา ซึ่งเป็นเครื่องประกันคุณภาพของผลงานได้อย่างดี

ชีวิตของคนในปัจจุบันเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย ความเห็นแก่ตัวเกาะกินใจของคนจนเกิดการเอารัดเอาเปรียบกัน ทรัพย์สินเงินทองมากมายเพียงใดก็เติมเต็มความสุขของมนุษย์ไม่ได้ แต่ถ้าคุณลองหยิบหนังสือเรื่อง เกาะโลมาสีน้ำเงิน ขึ้นมาอ่านก็จะพบว่าสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตนอกเหนือจากปัจจัย ๔ อันได้แก่ ที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรคแล้ว ก็คือมิตรภาพที่เราหยิบยื่นให้กัน หาใช่เกียรติยศชื่อเสียงจอมปลอมที่มนุษย์ต่างใฝ่หาเพื่อให้ตนเองเหนือกว่าคนอื่นไม่
สุพจนา

ไม่มีความคิดเห็น: