วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551

อัจฉริยะบนทางสีขาว ดร. อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา



ศศิธร สังข์ทอง ๐๕๔๙๐๓๗๖อัจฉริยะบนทางสีขาว ดร. อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา
สานุพันธ์ ตันติศิริวัฒน์
พิมพ์ครั้งที่ ๕
สำนักพิมพ์ฟรีมายด์
๒๑๕ หน้า ภาพประกอบ
๑๙๕ บาท

หลายคนคงรู้จัก ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา จากภาพยนตร์โฆษณาชุดหนึ่งที่กล่าวถึง ดร.อาจองว่า เป็นผู้คิดค้นระบบคลื่นสัญญาณติดตั้งบนยานไวกิ้ง ให้ลงจอดบนดาวอังคารได้สำเร็จ แต่นั่นเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของความสามารถในตัวดร.อาจองผู้นี้ ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมามาของท่านมีหลากหลายแขนงไม่ว่าจะเป็นวิศวกร อาจารย์ นักธุรกิจ นักการเมือง นักการศึกษา ยิ่งไปกว่านั้นยังเคยได้รับเชิญไปแสดงภาพยนต์เรื่องข้างหลังภาพอีกด้วย

หนังสือเรื่อง “อัจฉริยะบนทางสีขาว ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา” เล่มนี้ เรียบเรียงโดย สานุพันธ์ ตันติศิริวัฒน์ นักเขียนผู้มีอุดมการณ์ที่จะสร้างสรรค์หนังสืออันมีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน ได้รวบรวมและถ่ายทอดชีวิตของดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ออกมาได้อย่างครบถ้วนและมีชีวิตชีวา ประดุจนั่งฟังเรื่องเล่าอันน่าอิ่มเอมใจ ใครที่ได้อ่านคงมีความรู้สึกไม่ต่างจากฉันว่าชีวิตยังมีสิ่งดีๆอีกมาก หากเราใช้ชีวิตอย่างเข้าใจ

เริ่มเรื่องโดยกล่าวถึงชีวิตในปัจจบันของดร.อาจอง ว่า “ท่านได้หลีกเร้นไปจากสังคมส่วนใหญ่ ด้วยวัยที่ผ่านโลกมากว่า หกทศวรรษ หันไปใช้ชีวิตในบทบาทของ ‘ครู’ ผู้สอนวิชาความรู้และชี้แนวทางแห่งธรรมะที่คิดว่าเหมาะสม ให้แก่นักเรียนตัวน้อยๆ” ซึ่งผู้เขียนกล่าวว่าสถานที่แห่งนั้นเปรียบเป็น “ดินแดนแห่งสรวงสวรรค์” เนื่องจากที่แห่งนั้น “ห้อมล้อมด้วยธรรมชาติ สวยงาม สงบ และคนที่นั่นยังเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม....ความรักและความเมตตา”

หลังจากนั้นจึงเล่าถึงชีวิตของดร.อาจอง ว่าท่านเกิดในช่วงเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งตอนเกิด พ่อและแม่ของท่านคิดว่าต้องได้ลูกสาวจึงเตรียมซื้อข้าวของสำหรับเด็กผู้หญิง แต่ปรากฎว่าเป็นผู้ชาย พ่อแม่เลยตกใจ จึงได้ชื่อเล่นว่า “เด็กชายเอ๊ะ”

ชีวิตของดร.อาจอง มีเรื่องราวเกิดขึ้นมาก กล่าวคือ ตั้งแต่เด็กต้องเดินทางไปยังจังหวัดหนองคาย พร้อมกับแม่และพี่ชาย เพื่อหลบภัยสงครามที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ หลังจากสงครามยุติลงจึงได้กลับมากรุงเทพฯอีกครั้ง และ “หลังจากนั้นการเปลี่ยนแปลงของชีวิตก็เริ่มต้นขึ้น” เมื่อท่านต้องเดินทางไปกับครอบครัวเพื่อติดตามบิดาไปทำงานที่ประเทศฝรั่งเศส หลังจากนั้นก็ได้ไปเรียนยังประเทศอังกฤษตามความมุ่งหวังของบิดา และเล่าเรียนจนได้รับรางวัลมากมายและศึกษาจนจบปริญญาเอก จึงตัดสินใจนำความรู้ความสามารถกลับมาใช้ประโยชน์ในประเทศไทย โดยทำหน้าที่ตั้งแต่การเป็นอาจารย์ให้แก่นิสิตนักศึกษา เป็นนักการเมือง ‘น้ำดี’ และเป็นนักการศึกษาผู้เปี่ยมด้วยคุณธรรม

ท่านก่อตั้ง “โรงเรียนสัตยาไส” ขึ้นที่จังหวัดลพบุรี ซึ่งถือเป็น “โรงเรียนชีวิต โรงเรียนธรรมชาติ โรงเรียนคุณธรรมที่มีลักษณะกลมกลืนกับกระบวนการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ที่สำคัญโรงเรียนแห่งนี้ไม่คิดค่าเล่าเรียน และในการเรียนการสอนจะมีการสอดแทรกธรรมะอยู่เสมอ เห็นได้จากในตอนเช้าก็จะมีการนั่งสมาธิกันตั้งแต่ตีห้าครึ่ง การนั่งสมาธิจะแปลกไปจากที่พบมาคือมีการใช้เสียงดนตรีประกอบการนั่งสวดมนต์และนั่งสมาธิ ซึ่งการนั่งสมาธินี้เป็นวิธีการสั่งจิตใต้สำนึก ที่ ดร.อาจอง คิดขึ้นมาเพื่อให้เด็กๆคิดแต่สิ่งดี เพราะดร.อาจองมีปณิธานว่า “เราต้องการคนดีเหนือสิ่งอื่นใด เราต้องการสร้างคนที่มีคุณธรรมสูง ไม่ใช่สร้างคนเก่ง เพราะคนเก่งแล้วเห็นแก่ตัว อันตราย แต่ถ้าเค้าดีแล้ว เค้าจะเก่งเอง มีสมาธิดี ความจำดี ทุกอย่างจะดีขึ้น”

ทุกวันนี้ ดร.อาจองใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ทุ่มเททุกอย่างเพื่อโรงเรียนสัตยาไส เพื่อการศึกษาของเด็กๆ โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆจากการทำงาน

หนังสือเล่มนี้รวบรวมชีวประวัติของดร.อาจองเอาไว้อย่างดีเยี่ยมและน่าสนใจ เขียนในลักษณะเป็นกันเองกับผู้อ่าน กล่าวคือไม่ได้เขียนชนิดที่เรียกว่าเคร่งครัดกับข้อมูลชีวประวัติจนเกินไป การบรรยายเป็นไปอย่างเรียบง่ายแต่ไม่น่าเบื่อ การเรียกดร.อาจอง ในแต่ละช่วงอายุก็เสนอออกมาได้อย่างน่าเอ็นดู คือเรียก ดร.อาจองด้วยชื่อเล่น คือ ในช่วงวัยเด็กจะเรียกว่า “เด็กชายเอ๊ะ” หลังจากนั้นเปลี่ยนมาเป็น “นายเอ๊ะ” จนกลายเป็น “ดร.อาจอง” ในเวลาต่อๆมา

นอกจากชีวประวัติที่ครบถ้วนแล้ว ผู้เขียนได้แทรกเกร็ดชีวิตด้านเล็กๆแต่มีประโยชน์มหาศาลของดร.อาจองไว้หลากหลาย เช่น เมื่อตอนดร.อาจองอายุ ๑๕ ปี ท่านได้ทดลองนั่งสมาธิแบบ “อาณาปานสติ” หลังจากนั้นชีวิตของท่านก็เปลี่ยนไป คือกลายเป็นคนใจเย็น มีสมาธิ และผลการเรียนก็ดีขึ้นเรื่อยๆจึงใช้การนั่งสมาธิเป็นเครื่องขัดเกลาจิตใจมาตลอด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการนั่งสมาธิมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่เรื่องการรับประทานมังสวิรัติ ที่บอกว่า
ผู้รับประทานอาหารประเภทนี้จะมีสุขภาพแข็งแรงและป้องกันโรคร้ายต่างๆซึ่งความคิดการรับประทานมังสวิรัตินี้ เกิดขึ้นตอนที่ดร.อาจอง แผ่เมตตาให้สัตว์ทั้งหลาย แต่มาคิดได้ว่าเราแผ่เมตตาให้พวกมันแต่เรายังกินเนื้อมันเป็นอาหารอยู่ ดังนั้นท่านจึงเลิกรับประทานเนื้อสัตว์เป็นต้นมา

สิ่งประทับใจที่สุดจากหนังสือเล่มนี้คือ แนวทางการดำเนินชีวิตที่ดร.อาจองฝากไว้แก่คนรุ่นหลังว่า... “ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้ เพียงแต่เราต้องสร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง และความมั่นใจจะเกิดขึ้นจากการที่เรารู้จักตัวเอง มนุษย์จะเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่สุดถ้าเรารู้จักตัวเอง”

ไม่เพียงแต่จะเป็นหนังสือชีวประวัติเท่านั้น แต่ “อัจฉริยะบนทางสีขาวฯ” เล่มนี้ยังเป็นหนังสือที่แฝงไปด้วยข้อคิดที่ดีงามเหมาะสมกับการดำเนินชีวิต ของทุกคน

ผู้อ่าน แม้ไม่ใช่อัจฉริยะทางความคิด แต่อ่านจบแล้ว อาจเป็นอัจฉริยะทางจิตใจก็เป็นได้


ศศิธร

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เลือกหนังสือได้น่าสนใจ ในย่อหน้าแรกน่าจะตัดคำว่า " ตัวดร.อาจอง" เนื้อหาโดยรวมใช้ได้ ให้รายละเอียด ลงท้ายน่าประทับใจ


8