วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551

ปุลากง


ปุลากง
โสภาค สุวรรณ
ฉบับพิมพ์ พ.ศ.๒๕๔๒
โรงพิมพ์กรุงธนพัฒนา จำกัด
๔๒๑ หน้า
ราคา ๑๑๐ บาท

โสภาค สุวรรณ นักประพันธ์ที่ได้รับความสนใจจากนักอ่านอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานหลายปี มีผลงานเป็นที่รู้จักหลายเรื่อง อาทิ สายโลหิต สงครามดอกรัก ฟ้าจรดทราย เป็นต้น และ “ปุลากง” ก็เป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของท่าน หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลชมเชยประเภทนวนิยายจากการประกวดหนังสือในงานครบรอบร้อยปีของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ นอกจากนี้ในปีการศึกษา ๒๕๒๐ กระทรวงศึกษาธิการได้คัดเลือกให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา วิชาภาษาไทย สำหรับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายอีกด้วย

“ปุลากง” เป็นเรื่องของนายตำรวจหนุ่ม (เข้ม) และพัฒนากรสาว (หนูตุ่น) ได้รับหน้าที่ไปประจำอยู่ที่ตำบลปุลากง โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยพัฒนาสร้างความมั่นคงเป็นปึกแผ่นให้แก่ครอบครัวชนบทเพื่อป้องกันการรุกรานจากกลุ่มก่อการร้ายที่เข้ามายุยงให้เกิดความแตกแยกภายในประเทศ ทั้งสองทำงานตามอุดมคติโดยสิ่งที่คนทั้งสองต้องการนั้นมิใช่เงินเดือน แต่เป็นความภาคภูมิใจที่อย่างน้อยชีวิตหนึ่งที่ได้เกิดมาเป็นคน ได้มีโอกาสทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ พวกเขาใฝ่หาสันติและเสรีภาพโดยมิได้หวังว่าชื่อของตนจะถูกจารึกลงในประวัติศาสตร์บทไหน

ผู้แต่งได้มีการผูกปมปัญหาในชีวิตของตัวละครเอกทั้งสองเอาไว้อย่างแยบยล ตั้งแต่ปมปัญหาในสมัยเด็ก “เข้ม” นั้นมีพ่อที่มีหน้าที่การงานใหญ่โตและไม่ค่อยสนใจแม่ซึ่งเป็นภรรยาน้อย ทำให้เข้มมีปมปัญหาในใจ เข้มจึงตั้งปณิธานเอาไว้ว่า เมื่อโตขึ้นเขาจะไม่เป็นแบบพ่อ และทำงานเพื่ออุดมคติมิใช่เพื่อยศถาบรรดาศักดิ์ ในเรื่องความสัมพันธ์กับ”หนูตุ่น”นั้น ทั้งสองคนเคยเป็นเพื่อนบ้านกันมาตั้งแต่เด็กๆและไม่ค่อยชอบหน้ากัน มักทะเลาะกันเป็นประจำ แต่เมื่อโตขึ้นกลับต้องมาทำงานที่มีอุดมการณ์เหมือนกัน อยู่ใกล้ชิดกันจนเกิดมีความรู้สึกแปลกๆเกิดขึ้นในใจของทั้งคู่

ผลงานชิ้นนี้ของ โสภาค สุวรรณ นำประเด็นการเรียกร้องแบ่งแยกดินแดนของกลุ่มก่อการร้ายเป็นปมปัญหาใหญ่ของเรื่อง ซึ่งยังคงเป็นปัญหาที่มีมาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยตัวผู้แต่งได้สอดแทรกแนวคิดการแก้ไขปัญหานี้โดยผ่านตัวละคร “หนูตุ่น” พัฒนากรสาวที่เข้าไปพัฒนาหมู่บ้านปุลากงซึ่งมีแนวความคิดที่จะพัฒนากลุ่มชาวบ้านไปพร้อมกับการสร้างความเข้มแข็งให้กับคนในหมู่บ้านโดยยึดพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงประทานแก่นักพัฒนากรว่า “การสร้างความมั่นคงเป็นปึกแผ่นแก่ครอบครัวชนบทเป็นการป้องกันประเทศชาติด้านหนึ่ง”

นอกจากนี้ “ปุลากง” ยังได้สอดแทรกข้อคิดเรื่องการสำนึกรักบ้านเกิด โดยการบรรยายให้เห็นภาพของสังคมชนบทที่กำลังรอคอยความหวังว่าจะมีผู้มาปรับปรุงหมู่บ้านให้มีความเจริญทันต่อยุคสมัย และได้แทรกข้อคิดนี้ผ่านความคิดของตัวละครเด็กในหมู่บ้านปุลากงที่มีความคิดที่อยากจะสร้างความผาสุกในหมู่บ้านและพัฒนาหมู่บ้านให้ก้าวหน้าขึ้น จึงตั้งใจเรียนเพื่อจะได้เข้าไปศึกษาต่อในเมืองแล้วกลับมาเป็นครูสอนเด็กๆในหมู่บ้าน

ในข้อคิดต่างๆของเรื่องนี้ ส่วนที่น่าประทับใจมากที่สุด คือ ความคิดของ “หนูตุ่น” พัฒนากรสาวที่กล่าวว่า “อยากจะให้พวกคนรุ่นหลังสำนึกในผืนแผ่นดินไทยที่เขาเป็นเจ้าของ เขาจะต้องรักในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง ซึ่งต่างกันเพียงศาสนา ภาษาที่เขาพูดกันเป็นพื้นนั้นเป็นเพียงวัฒนธรรม และประเพณีของท้องถิ่น ไม่ได้แสดงว่าเขาไม่ใช่คนไทย”

นับว่าผลงานของโสภาค สุวรรณ ชิ้นนี้ ได้ให้แง่คิดที่เหมาะกับสภาพสังคมในปัจจุบันในหลายๆด้าน ว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะสร้างความสันติและสามัคคีให้เกิดขึ้นในชาติ ทั้งยังได้ถ่ายทอดอุดมการณ์นี้ให้แก่คนรุ่นหลัง ผลงานชิ้นนี้จะดีหรือไม่นั้น เหลือเพียงรอให้ผู้อ่านเข้ามาตัดสินด้วยตัวเอง

วาสินี

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

หนังสือเก่ามาก อาจแนะนำเพราะความประทับใจ แต่การแนะนำใหม่ยิ่งท้าทายให้เลือกจุดเด่นที่ยังไม่มีใครรู้มาพูด หรือไม่ก็ย้อนอดีตพูดถึงความประทับใจมากของผู้แนะนำที่มีต่อหนังสือเล่มนี้ในวัยเด็ก งานชิ้นนี้จึงดูธรรมดา

7