วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551

โตเกียวไม่มีขา


โตเกียวไม่มีขา
นิ้วกลม
พิมพ์ครั้งที่ ๘
พ.ศ. ๒๕๕๑
สำนักพิมพ์ a book
๓๘๑ หน้า ภาพประกอบ
๑๗๐ บาท


“โตเกียวไม่มีขา” เป็นผลงานชิ้นแรกของนักเขียนนามปากกาที่รู้จักกันดีว่านิ้วกลม เป็นหนึ่งใน ๗ เล่ม ของหนังสือชุด the first hand ที่สำนักพิมพ์ a book ต้องการผลิตนักเขียนหน้าใหม่ที่มีความสามารถขึ้นมา โดยเนื้อหาผู้แต่งได้ถ่ายทอดเรื่องราวสุดแสนประทับใจจากการเดินทางของตนเองกับเพื่อนชายอีกคนหนึ่งที่ชื่อน้ำ ไปท่องเที่ยวเมืองโตเกียวประเทศญี่ปุ่น ที่ถือได้ว่าเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก โดยเขาและเพื่อนมีเงินติดตัวรวมกันแค่เพียง ๑๒,๐๐๐ บาท และต้องใช้ชีวิตอยู่ถึง ๙ วันในเมืองใหญ่แห่งนี้

หลายคนมีความคิดความฝันที่อยากจะเดินทางท่องเที่ยวไปประเทศที่ตนเองชื่นชอบสักครั้ง เช่นเดียวกับนิ้วกลมและน้ำที่อยากจะเดินทางไปท่องเที่ยวญี่ปุ่น พอมีโอกาสเหมาะที่ทั้งสองคนมีเวลาว่างตรงกัน จึงตัดสินใจเก็บสัมภาระและออกเดินทางไปด้วยกันโดยที่ไม่มีมัคคุเทศก์นำทางไปเลย และอย่างที่รู้กันดีชาวญี่ปุ่นเป็นคนที่รักชาติของตนเป็นอย่างมาก ดังนั้นประชากรเกินกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ในญี่ปุ่นจึงไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ รวมทั้งนิ้วกลมและน้ำก็ไม่สามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้เช่นเดียวกัน นี้จึงเป็นความท้าทายและน่าติดตามกับการผจญภัยของนักท่องเที่ยวทั้งสองคนในเมืองหลวงโตเกียว

นิ้วกลมเริ่มเรื่องตั้งแต่การขอวีซ่าและของที่จำเป็นในการเดินทางโดยมีกลเม็ดเล็กๆ มาฝากผู้อ่านว่าสการไปต่างประเทศควรทำบัตรนักศึกษาไปด้วยเพื่อใช้เป็นส่วนลดในสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่ง เช่นพิพิธภัณฑ์ หลังจากนั้นเขากับเพื่อนก็มุ่งหน้าสู่ประเทศญี่ปุ่น และเมื่อมาถึงเราจะเห็นภาพของความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและสังคมเมืองที่คับคั่งไปด้วยผู้คน

หลายคนเคยกล่าวไว้ว่าสังคมเมืองเป็นสังคมที่เห็นแก่ตัว การจะหาน้ำใจจากคนเมืองนั้นยากเต็มที แต่เห็นว่าคำกล่าวนี้คงจะไม่สามารถใช้ได้เสมอไปกับเมืองโตเกียว จากประสบการณ์ของนิ้วกลมหลายค่ำคืนที่เขาและเพื่อนต้องนอนอย่างคนไร้บ้านคือค่ำไหนนอนนั้น แต่ทุกครั้งเขาก็จะได้รับการแบ่งปันที่นอนจากคนไร้บ้านคนอื่นๆ และก็ไม่เคยมีเจ้าของบ้านคนไหนออกมาไล่เขาไม่ให้นอนหน้าบ้าน รวมทั้งไม่ว่าเขาจะถามทางหรือขอข้อมูลต่างๆ ชาวญี่ปุ่นทุกคนที่เขาเจอได้ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี อย่างเหตุการณ์ที่ นิ้วกลมและน้ำต้องการหาที่พักราคาถูก จึงไปถามป้าชาวญี่ปุ่นเจ้าของห้องพัก โดยทั้งสองฝ่ายไม่สามารถสื่อสารกันได้รู้เรื่อง ต่างก็ผลัดกันเปิดคู่มือหนังสือโต้ตอบกันไป จนในที่สุดก็สามารถเข้าใจกันได้ สิ่งหนึ่งที่นิ้วกลมได้เล่าไว้คือ “ตลอดครึ่งชั่วโมงแห่งความไม่รู้เรื่องนั้น เต็มไปด้วยรอยยิ้มและความพยายามอย่างจริงใจในการอธิบาย ถึงไม่ได้เช่าห้องป้าทั้งสองแต่เราก็อดชื่นชมคนทั้งคู่ไม่ได้” แสดงให้เห็นว่าน้ำใจของคนเมืองใหญ่ก็ยังมีอยู่
แม้ว่าการใช้ชีวิตในเมืองโตเกียวจะเพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก แต่ก็ยังมีคนทุกข์ยากเป็นจำนวนมากที่ต้องต่อสู้ให้ชีวิตตนเองอยู่รอด มุมเล็กของซอกตึกหลายแห่งอาจเป็นที่อยู่อาศัยที่ดีของใครหลายคนก็ได้ รวมทั้งบนตึกโตเกียวอีกหลายที่อาจมีคนที่ต้องการเงินและพร้อมที่จะยอมแลกทุกอย่างแม้แต่ร่างกายเพื่อความอยู่รอดของพวกเขา นิ้วกลมได้เสนอเรื่องราวหลากหลายแง่มุม ทั้งด้านสว่างและด้านมืดของสังคมเมืองโตเกียวไปควบคู่กัน

การเดินทางของนิ้วกลมยังได้สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นที่เป็นคนมีวินัย มีความรับผิดชอบสูง และมีจิตสำนึกต่อส่วนรวมสูงมาก ฉะนั้นภาพคนญี่ปุ่นต่อแถว เป็นภาพที่มีให้เห็นทุกที่ทั้งป้ายรถเมล์ สถานีรถไฟ ตลาด เป็นต้น สิ่งหนึ่งที่ชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญมากที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องการศึกษา นอกจากจะมีมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงหลายแห่งแล้ว คนญี่ปุ่นยังแสวงหาความรู้ด้วยการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ที่มีในเมืองโตเกียวเป็นจำนวนมาก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาวญี่ปุ่นจะสามารถพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว

วัฒนธรรมเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นเอกลักษณ์ของชาวญี่ปุ่นได้อย่างชัดเจน ในเมืองโตเกียวมีวัฒนธรรมหลายอย่างที่ชาวญี่ปุ่นอนุรักษ์ไว้ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงละครคาบูกิ หรือพิธีชงชา ที่จะมีหญิงชราและหญิงสาวชาวญี่ปุ่นใส่ชุดกิโมโนเข้าร่วม การชงชาเป็นพิธีที่ต้องใช้สมาธิและความละเอียดอ่อน เป็นการผสมผสานระหว่างตะวันตกกับตะวันออก ซึ่งแสดงให้เห็นวัฒนธรรมที่แตกต่างแต่สามารถอยู่ร่วมกันได้

หนังสือเรื่อง “โตเกียวไม่มีขา” นิ้วกลมได้ถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้อย่างสนุกสนาน ใช้ภาษาที่กะทัดรัดและเข้าใจง่าย อีกทั้งยังมีการใช้ภาพพจน์พรรณาโวหารที่บรรยายเรื่องราวต่างๆได้อย่างละเอียดจนสามารถจินตนาการให้เกิดภาพตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อได้ รวมทั้งผู้เขียนได้มองสิ่งรอบตัวในมุมมองที่แตกต่างไปอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน จึงเป็นการช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กว้างไกลมากขึ้น

นอกจากนี้ นิ้วกลมยังได้สอดแทรกข้อคิดดีๆ ระหว่างการเดินทางให้กับผู้อ่านสามารถนำมาใช้ใน ชีวิตประจำวันได้ ดิฉันประทับใจคำพูดประโยคสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ที่ว่า “ความฝันก็เหมือนกันกับโตเกียว มันไม่มีขา ถ้าอยากไปต้องเดินหาเอง” ทำให้ฉันได้เรียนรู้ ไม่ว่าสิ่งไหนที่เราอยากทำ ที่ไหนที่เราอยากไป ประสบการณ์แบบไหนที่เราอยากเจอ เราต้องพยายามและอย่ารอช้าเพราะบางครั้งความฝันก็ไม่ได้เดินมาหา แต่เป็นเราที่จะต้องเดินเข้าหาความฝันนั้นเอง
ถ้าผู้อ่านท่านใดกำลังมองหาหนังสือดีๆอ่านสักเล่ม ดิฉันขอแนะนำ “โตเกียวไม่มีขา” ของนิ้วกลม แล้วท่านจะได้ร่วมเพลิดเพลินกับการเดินทางที่แม้จะเต็มไปด้วยอุปสรรคแต่ก็เป็นการเดินทางที่น่าจดจำ รวมทั้งอาจเป็นแรงบันดาลใจให้ใครอีกหลายๆคน คิดอยากออกเดินทางด้วยตัวเองสักครั้งก็ได้


สุดาทิพย์

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เขียนแนะนำได้ดี แต่ขาดความมีชีวิตชีวาไปนิดนึง

ชอบที่ยกข้อความมาในย่อหน้ารองสุดท้าย จึงเข้าใจว่าทำไมถึงตั้งชื่อแบบนี้ ลงท้ายได้ดี

8.5