วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551

ในฝัน

ในฝัน
โรสลาเรน
พิมพ์ครั้งที่ ๒ ปีที่พิมพ์ ๒๕๒๒
ห้างหุ้นส่วนจำกัด บำรุงสาส์น
๗๕๕ หน้า
๖๕ บาท


“ในฝัน” เป็นนวนิยายที่แต่งโดย “โรสลาเรน” หรือที่หลายคนรู้จักกันดีในนาม “ทมยันตรี” ผู้แต่ง นวนิยายเลื่องชื่อ “คู่กรรม” “ในฝัน” เป็นนวนิยายเรื่องแรกที่ท่านแต่งขึ้นในขณะมีอายุเพียง ๑๙ ปี

หลายคนขนานนาม “ในฝัน” ว่าเป็น “ลิเกฝรั่ง” เห็นจะเป็นภาษาที่ใช้กันในราชนิกูล และหมู่ผู้มียศฐาบรรดาศักดิ์ เฉกเช่นเดียวกับลิเกไทยที่มักพูดถึงเรื่องในวัง และใช้คำราชาศัพท์ที่เริดหรูสวยงาม หากแต่ต่างกันเพียงฉากและบรรยากาศที่เหมือนอยู่ในต่างประเทศ

“ในฝัน” เป็นจดหมายที่บุคคลหลัก 3 คนเขียนถึงกัน เจ้าชายพิรียพงศ์ผู้เป็นน้องชาย เจ้าหญิงพรรณพิลาศผู้เป็นพี่สาว เจ้าชายโอริสสาผู้เป็นพระสหายครั้งวัยเยาว์ของเจ้าหญิงพรรณพิลาศ และเป็นครูผู้สอนการเมืองการปกครองของเจ้าชายพิรียพงศ์

เจ้าชายพิรียพงศ์ องค์รัชทายาทแห่งแคว้นพรหมมินทร์ แคว้นเล็กๆที่สงบสุข ได้เดินทางมาเรียนด้านการเมืองการปกครองที่เมืองหลวงอันเป็นเมืองที่ท่านอาปกครองอยู่ โดยมีเจ้าชายโอริสสา หรืออีกพระนามหนึ่งว่า เจ้าชายเสนาบดี ณ แคว้นกุสารัฐ คอยดูแลอบรมสั่งสอน เจ้าชายโอริสสาเป็นเหมือนฟันเฟืองสำคัญของการดำรงอยู่ของประเทศและราชบัลลังก์ของกษัตริย์ เจ้าชายโอริสสามีความเพียบพร้อมในทุกอย่าง ทั้งรูปร่าง ความคิด ความรับผิดชอบ และความเฉลียวฉลาด รอบคอบในการเดินเกมส์การเมืองที่อยู่ในช่วงอันตรายทุกฝีก้าว ผู้เคร่งขรึมกับทุกเรื่องเว้นแต่เรื่องความรักและคำสัญญาในวัยเด็กที่มีต่อเจ้าหญิงองค์น้อย เจ้าหญิงพรรณพิลาศ การพูดคุยมีขึ้นอีกครั้งเมื่อเจ้าชายพิรียพงศ์มาอยู่ในความดูแลของเจ้าชายโอริสสา เจ้าชายโอริสสาถือโอกาสนี้ติดต่อกับเจ้าหญิงอีกครั้ง
ท่ามกลางเกมส์การเมืองอันร้อนระอุ ประจวบกับการประชวรของกษัตริย์ที่มีเพียงองค์หญิงรัชทาญาติพระองค์เดียว ทำให้เกิดการแก่งแย่งอำนาจในบัลลังก์กันอยู่ลึกๆ เจ้าชายโอริสสาทำทุกอย่างเพื่อรักษาความมั่นคงของราชบัลลังก์ไว้ ทำให้เจ้าชายเป็นที่เกลียดชังแก่ทุกคนที่ไม่หวังดีต่อราชบัลลังก์

ในหลังจากที่เจ้าหญิงพรรณพิลาศและเจ้าชายโอริสสาเปิดเผยว่ารักกันแล้ว เจ้าชายสัญญาว่าเมื่อภารกิจเกี่ยวกับงานเมืองทั้งหลายเสร็จสิ้น จะอภิเษกกับเจ้าหญิงในทันที และต่อมาเจ้าชายพิรียพงศ์ได้อภิเษกกับองค์หญิงรัชทายาททำให้ราชบังลังก์มั่นคงขึ้น ภารกิจของเจ้าชายโอริสสาจึงใกล้เสร็จสิ้นลง ระหว่างที่เจ้าชายทำภารกิจสุดท้ายก่อนอำลาการเมืองและอำนาจ ไปใช้ชีวิตที่ “บ้าน” ที่เจ้าชายฝันจะมีนานมาแล้ว เจ้าชายก็ถูกยิงสิ้นพระชนม์ด้วยน้ำมือศัตรูเก่า

“ริสายอดรัก” เป็นคำที่เจ้าชายรอฟังจากปากเจ้าหญิงมากที่สุด หากแต่เจ้าหญิงกลับทำได้เพียงเขียนลงจดหมายฉบับสุดท้าย ฉบับที่บัดนี้ไม่รู้จะส่งให้ใครอีกแล้ว

“โรสลาเรน” ใช้กุสโลบายที่ทำให้ผู้อ่านมีอารมณ์ร่วมกับเรื่องได้มากกว่าการอ่านนวนิยายทั่วไป โดยการแต่งในรูปแบบของจดหมายที่เขียนมาตอบไป เล่าสารทุกข์สุกดิบ ความเป็นไปให้กันฟัง รูปแบบอันแฝงด้วยกุสโลบายนี้ทำให้ผู้อ่านรู้สึกเหมือนว่ากำลังอ่านจดหมายฉบับหนึ่งที่ส่งมาถึงตน เหมือนได้รับจดหมายจากญาติมิตรผู้เป็นที่รักจริงๆ หากอ่านจดหมาย “ในฝัน” ของ “โรสลาเรน”ตั้งแต่ต้น เราจะสามารถรู้สึกถึงความรู้สึกนึกคิดของตัวละครในเรื่องได้โดยไม่ต้องรอให้ใครมาเล่าว่าใครพูดว่าอะไรหรือทำหน้าตาท่าทางอย่างไรเหมือนนวนิยายเรื่องอื่น

ฉันเคยได้ยินว่า “เมื่อเดินตามถนนในประเทศอิตาลี หากคุณเจอชายหนุ่มหน้าตาดีเดินสวนมา คุณไม่ต้องหันมองตามไป เพราะคุณสามารถมองหาข้างหน้าได้อีก” และฉันคงไม่สามารถเข้าใจความรู้สึกนั้นได้เลยหากไม่ได้อ่านนวนิยายเรื่องนี้ เพราะในฝันมีลักษณะเช่นนั้นอยู่ในภาษาที่หรูหราคมคาย คือ เมื่ออ่านเจอประโยคถูกใจก็อยากจะอ่านแล้วอ่านอีก หรือไม่ก็คั่นไว้เพื่อกลับมาสัมผัสความงามนี้อีกรอบ แต่พอฉันอ่านไปเรื่อยๆฉันพบว่าไม่มีบรรทัดใดเลยที่ไม่น่าเก็บไว้ ในที่สุดเรื่อยมาจนจบเล่ม ฉันค้นพบว่าวิธีที่ดีที่สุดในการลิ้มความตื้นตันในภาษาและความหมายนั้นคือต้องกลับมาอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก และทุกครั้งที่ได้อ่านก็เหมือนกับได้กินขนมหวานรสอร่อยที่พอตักเข้าปากแล้วอยากจะละเลียดกินทีละน้อยๆ ให้คำแต่ละคำหมดไปอย่างช้าๆ

หากจะให้ไล่เรียงสิ่งที่ประทับใจในเรื่อง “ในฝัน” ให้ครบถ้วนกระบวนความแล้วละก็ เห็นทีคงต้องยกเนื้อเรื่องทั้งเล่มมาอ่านให้ฟังกันทีเดียว แต่เพียงทุกท่านได้ลองอ่านคงเข้าใจว่าความน่าอัศจรรย์ของเรื่องราว และความอัจฉริยะของผู้เขียนที่ขณะนั้นมีวัยเพียง ๑๙ ปี รวมถึงความซาบซึ้งตรึงใจกับภาษาที่อ่อนหวานสวยงามอย่างยิ่งเป็นอย่างไร และที่สุด น้ำตาที่พรากแก้มคงเป็นสิ่งที่บอกถึงตัวตนของ “ในฝัน” ได้ดีที่สุด




สรินทร์พร

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

คุณใช้ภาษาได้ดี เล่าเรื่องไม่มากไปไม่น้อยไป ทำไมใช้คำว่า "ลิเกฝรั่ง" "บุคคลหลัก" รู้สึกไม่เพราะ ความที่ไม่ขยันอ่านกระมังทำให้เลือกหนังสือเก่ามาเล่าใหม่ ควรตามหนังสือใหม่ๆ บ้างนะ เสียดายฝีมือ

8