วันอังคารที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2551

เที่ยวบินยามเช้า เรียนรู้โลกภายในด้วยหัวใจแสวงหา


เที่ยวบินยามเช้า เรียนรู้โลกภายในด้วยหัวใจแสวงหา
ชมัยภร แสงกระจ่าง
สำนักพิมพ์คมบาง
๒๑๖ หน้า ภาพประกอบ
๘๐ บาท


คงไม่มีนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร คณะอักษรศาสตร์ชั้นปีที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๔๙ คนใดที่ผ่านชีวิตน้องใหม่มาได้โดยไม่รู้จักนิยายเรื่อง กุหลาบในสวนเล็กๆ ของคุณชมัยภร แสงกระจ่าง เป็นแน่ เหตุเพราะเป็นหนังสือบังคับอ่านนอกเวลาในรายวิชา การใช้ภาษาไทย เนื้อเรื่องนั้นเกี่ยวกับชีวิตนักศึกษาที่ชื่อ “เพลิน” ผู้ค้นพบแนวคิดใหม่ๆ จากบุคคลรอบกายและจากหนังสือหลายเล่มที่ได้รับการเอ่ยนามใน นวนิยายเรื่องนี้ ซึ่งทำให้ผู้อ่านได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเพลินด้วย ไม่นานผมก็รับหนังสืองานเขียนของ คุณชมัยภร เรื่อง “เที่ยวบินยามเช้าฯ” มาครอบครองโดยบังเอิญอีกเล่มหนึ่ง จากการประกวดอ่านบทละครของภาควิชาภาษาไทย ประจำปี ๒๕๔๙

หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในหนังสือเล่มจำนวน ๑๕ เล่ม ที่จัดทำขึ้นในโครงการวรรณกรรมเพื่อสร้างภูมิคุ้มใจเยาวชน เนื่องในวาระเฉลิมฉลองครบ ๑๐๐ ปี ชาตกาลท่านพุทธทาสภิกขุ ในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๙ โดยมีเป้าหมายที่จะปลูกฝังธรรมะของพระพุทธองค์แก่เยาวชนไทยเพื่อให้มีจิตสำนึกทางพุทธธรรมและภูมิคุ้มกันทางใจที่จะทำให้ชีวิตมีคุณค่ากับตัวเองและสังคมโดยรวม ซึ่งนับเป็นวรรณกรรมคู่มือการเรียนรู้ชีวิตที่เหมาะยิ่งกับวัยรุ่นไทยสมัยนี้

เรื่องราวถ่ายทอดผ่านตัวละครชื่อ “นก” หนุ่มน้อยวัย ๑๕ ปี ที่ไม่พอใจกับข่าวการแต่งงานใหม่ของแม่ที่จะมีขึ้นในไม่ช้าหลังจากที่พ่อของเขาได้จากไปเป็นเวลา ๕ ปี เขาคิดว่าตำแหน่งคนสำคัญที่สุดของแม่นั้นคงไม่ใช่เขาต่อไปแน่ หากแต่จะเป็นพ่อเลี้ยงใหม่ของเขา จึงได้วางแผนหนีออกจากบ้านโดยยังไม่รู้จุดหมายปลายทาง ไม่นานขาก็เลือกที่หมายได้ด้วยเหตุผลที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตของเขามากที่สุด

ระหว่างทางนั้นนกได้พบชีวิตหลากหลายผ่านหน้าต่างรถไฟ เขาเพิ่งได้เจาะไข่ในหินออกมาดูโลกกว้างโดยลำพังก็วันนี้นี่เอง แล้วเขาก็ได้พบหญิงสาวท่าทางมอมแมมผู้เป็นเพื่อนใหม่ในการเดินทางครั้งนี้ ทั้งคู่ลงรถไฟที่ชลบุรีแล้วเดินทางไปที่อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี หมายที่จะตามหายายของ “สอยดาว” อันเป็นชื่อเพื่อนร่วมทางที่นกเพิ่งทราบหลังจากซักไซ้ไล่เลียงอยู่หลายหน วี่แววที่จะพบยายของสอยดาวนั้นช่างลำบากเสียยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร จนกระทั่งได้มาอยู่ในป่า ได้มาใช้ชีวิตกับปู่ผมยาวในป่า นก ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตและข้อขบคิดแห่งการเป็นมนุษย์อย่างที่เขาไม่เคยได้สัมผัสมาก่อนในชีวิตเด็กเมือง จนทำให้เขาเข้าใจโลกมากขึ้นและคิดที่จะกลับบ้านไปอยู่กับแม่ผู้ที่รักเขามากที่สุด

เหตุที่ผมเกริ่นถึงเรื่อง กุหลาบในสวนเล็กๆ ในตอนต้นนั้น ก็เพราะทำให้ผมเห็นลักษณะงานเขียนของคุณชมัยพรที่คล้ายคลึงกัน ทั้งกุหลาบในสวนเล็กๆ และเที่ยวบินยามเช้านั้นเสมือนวรรณกรรมต่อยอด คือ ไม่เพียงถ่ายทอดเรื่องราวของหนังสือนั้นๆ เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการยกชื่อหนังสือต่างๆ มาเป็นคติ
สอดแทรกในเรื่อง ดังที่จะเห็นว่าเรื่องนี้มีการกล่าวถึงผลงานของ Antoione De Saint Exupery กวีชาวฝรั่งเศส เรื่อง “เจ้าชายน้อย” ที่พ่อให้นกอ่านในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ และ “เที่ยวบินกลางคืน” ที่นกอ่านเองเมื่อโตขึ้นมาแล้ว และกล่าวถึงตัวละครที่เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตอย่าง “คุณปู่ฟูกุโอกะ” ในเรื่องปลูกต้นไม้ของญี่ปุ่น หรือ “ดุสิต โตมิกรณ์” จากเรื่องสงครามแห่งชีวิต เป็นต้น รวมถึง “หนังสือเล่มใน”ของท่านพุทธทาส เสมือนการบูรณาการวรรณกรรมหลากหลายมาไว้ในหนังสือเล่มเดียวกัน

การดำเนินเรื่องยังแสดงให้เห็นการพัฒนาของมนุษย์ตามหลักอริยสัจ ๔ โดยเริ่มต้นจากปัญหา (ทุกข์) แล้วนำไปสู่การเล็งเห็นแล้วคิดที่จะแก้ปัญหา (สมุทัย) เมื่อคิดได้ก็ปฏิบัติ (นิโรธ) แล้วก็พบกับความสำเร็จ (มรรค) บางครั้งอาจผิดถูกคละเคล้ากันไปบ้าง นั่นก็สอดคล้องกลับชื่อเรื่องรองที่ว่า “เรียนรู้โลกภายในด้วยหัวใจแสวงหา” ส่วน “เที่ยวบินยามเช้า” นั้นก็เป็นการตั้งชื่อเปรียบกับ “เที่ยวบินกลางคืน” ที่มีความเหมือนกันในด้านการเผชิญปัญหา แต่แตกต่างกันที่ปัญหาของนกเป็นเรื่องของเที่ยวบินยามเช้าที่ทัศนวิสัยนั้นไม่มืดมนเท่าไร แต่ “ฟาเบียง” ในเที่ยวบินกลางคืนนั้นเป็นปัญหาที่หนักหนาถึงกับต้องหลุดพ้นด้วยชีวิต ทำให้นกเข้าใจว่าคนที่ทนทุกข์กับปัญหานั้นไม่ใช่แค่นกเท่านั้น แต่ยังมีคนอีกมากมายที่ลำบากเสียยิ่งกว่าเขาอีก

ผมคงเสียดายแย่หากเพียงเทิดทูนรางวัลชิ้นนี้เพียงไว้บนชั้นหนังสือโดยไม่เปิดอ่าน เที่ยวบินยามเช้าผู้โดยสารให้เพลินเพลินพร้อมกับข้อขบคิดมากมาย ทั้งยังกระตุ้นให้ผู้อ่านอยากอ่านหนังสือเล่มอื่นๆ ต่อไปเรื่อยๆ อีก เที่ยวบินเที่ยวนี้ยังรอให้ผู้โดยสารมาใช้บริการโดยไม่จำกัดจำนวน
“ขโณ โว มา อุปจฺจคา อย่าปล่อยกาลเวลาให้ล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์” ลองใช้เวลาเพียงเล็กนเรียนรู้ชีวิตที่แท้จริงดูจากหนังสือเล่มนี้ เพื่อคุณจะได้เข้าใจวิถีแห่งมนุษย์มากขึ้น

สิทธิเดช

ไม่มีความคิดเห็น: