วันอังคารที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2551

ความน่าจะเป็น


ชื่อหนังสือ: ความน่าจะเป็น
ผู้แต่ง: ปราบดา หยุ่น
ปีที่พิมพ์: 2551
จำนวนหน้า: ปกอ่อน/176 หน้า
ราคา: 135 บาท

"ความน่าจะเป็น" เรื่องสั้นที่ได้รับรางวัล ซีไรต์ ประจำปี พ.ศ.2545 ของปราบดา หยุ่น คนรุ่นใหม่ที่มีมุมมองความคิดแตกต่างจากบุคคลทั่วไป จากประสบการณ์ที่เขาได้เคยสร้างสรรค์ผลงานทางด้านศิลปะ ประกอบกับความคิดที่เขามีต่อสังคมในมุมกลับ ทำให้เขาสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่นำเสนอด้วยกลวิธีแปลกใหม่กว่าเรื่องอื่นๆ และด้วยความแปลกใหม่ของกลวิธีในการนำเสนอ จึงทำให้เราได้เข้าใจแนวคิดที่สะท้อนถึงสังคมยุคหลัง อย่างยุคที่เรียกว่า postmodern


เรื่องสั้นทั้ง 13 เรื่อง ที่ปราบดา นำมารวมเล่มเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นชุดความน่าจะเป็นมีดังนี้คือ ความน่าจะเป็น ด้วยตาเปล่า ตามตาต้องใจ อะไรในอากาศ นักเว้นวรรค เหตุการณ์กรรมซ้ำเล่า กรมอุตุนิยมวิทยา บรรยากาศเป็นกันเอง อุปกรณ์ประกอบฉาก ตื้น-ลึก-หนา-บาง คนนอนคม มารุตมองทะเล และเจอ แต่ละเรื่องสะท้อนแนวคิดให้เห็นถึงความเป็นจริงของมนุษย์ ในจำนวนเรื่องสั้นทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นมีเรื่องที่นำเสนอ แนวคิดได้เด่นชัดคือความน่าจะเป็น เป็นเรื่องของชายหนุ่มกำพร้าที่วิถีชีวิตถูกเลี้ยงดูอยู่กับตาและยาย ชายหนุ่มคนนี้มีความคิดที่แตกต่างจากบุคคลทั่วไป เขามักจะมีคำถามต่างๆอยู่ในใจเสมอ แต่ละคำถามมักจะเป็นคำถามที่บุคคลทั่วไปไม่เคยคิด ไม่เคยจะค้นหาคำตอบ การที่เขาได้อยู่ในสภาพสังคมที่ตากับยายเลี้ยงดูนั้น ทำให้เขาได้ซึมซับบางอย่างไว้ในใจ เมื่อเขาโตขึ้นได้ทำงานตามสิ่งที่เรียนมา คืองานที่เกี่ยวข้องกับศิลปะและงานโฆษณา เขาก็ได้นำความทรงจำเดิมๆขณะที่อยู่กับตาและยาย มาสร้างเป็นผลงานโฆษณาจน กลายเป็นที่ยอมรับและรู้จักของคนทั่วไป

ด้วยตาเปล่า เรื่องของชายหนุ่มชื่อปราชญ์ วันหนึ่งขณะที่เขาตั้งใจจะไปออกกำลังกายที่สวนลุมพินี เขาก็ได้พบกับชายชื่อปลง ชายคนนี้มีลักษณะแปลกและน่าสนใจ เพราะเขามักจะมานั่งสังเกตพฤติกรรมของคนที่มาเดินในสวนสาธารณะแห่งนี้ ปราชญ์ได้พบกับปลงทุกครั้งที่มาออกกำลังกาย แต่ละครั้งทั้งสองได้พูดคุยกัน ปลงได้แสดงความคิดว่า “คนเราไม่ควรตัดสินอะไรจากสิ่งที่เรามองเห็นโดยไม่พิจารณา เพราะนั่นอาจจะทำให้เราไม่ได้พบกับความเป็นจริงได้”

ตามตาต้องใจ เรื่องของเด็กหญิงต้องใจ นักเรียนชั้นปีที่ 4 เธอเป็นเด็กที่มีความคิดต่างจากเพื่อนๆ เธอไม่ชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์เพราะเธอไม่เข้าใจว่าทำไมหนึ่งบวกหนึ่งต้องเท่ากับสอง เพราะในความเข้าใจของเธอหนึ่งบวกหนึ่งน่าจะเท่ากับสามหรือมากกว่าสาม ทุกครั้งที่เธอตอบคำถามเธอจะตอบตามเพื่อน แต่ในความคิดของเธอนั้นขัดแย้งอยู่เสมอ การที่เธอต้องตอบตามความคิดของครูและเพื่อนๆนั้น เพียงเพราะเธอคิดว่าสิ่งนั้นจะทำให้เธออยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข ไม่แปลกไปจากสังคมเท่านั้นเอง

ตื้น-ลึก-หนา-บาง เรื่องของนักเดินทางคนหนึ่ง เขามักจะเดินทางไปท่องเที่ยว และได้พบเห็นสิ่งต่างๆมากมาย วันหนึ่งเขาได้พูดว่าตัวเขาพบของที่เป็นความลับ แต่ไม่ได้เปิดเผยให้ใครรู้ ด้วยความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ ในที่สุดเขาก็ได้ตกลงจะเปิดเผยความลับของเขา ขณะที่เขาจะเปิดเผย เขาก็ได้คิดว่า ทำไมทุกคนถึงไม่ถามถึงสิ่งที่เขาได้ไปพบขณะที่ท่องเที่ยว ซึ่งน่าสนใจกว่าความลับที่เขาเก็บไว้ แต่ในที่สุดขณะที่เขาให้สัมภาษณ์ในรายการ เขาได้บอกพิธีกรและผู้ชมว่า ตัวเขาจำไม่ได้แล้วว่าความลับคืออะไร เพราะ “ความลับไม่มีในโลก”

“ความน่าจะเป็น” วรรณกรรมที่น่าจะถือได้ว่าเป็นตัวแทนความคิดของคนรุ่นใหม่ ปราบดาเป็นนักเขียนที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ช่างสังเกตชีวิตและพฤติกรรมมนุษย์ วิพากษ์วิจารณ์สังคมและค่านิยมของงยุคสมัย แล้วนำมาล้อเลียนเสียดสีด้วยอารมณ์ขันอย่างเฉียบคม ซึ่งได้แสดงความสามารถของผู้เขียนในการนำเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นเรื่องมาเขียนให้เป็นเรื่องที่น่าขบคิดหรือตั้งคำถามโดยไม่ให้คำตอบ ทำให้เรื่องสั้นในหนังสือรวมเรื่องสั้นชุดนี้มีลีลา และกลวิธีการเขียนเฉพาะตัว และมีความหลากหลาย แปลกใหม่ในด้านกลวิธีและขนบวรรณศิลป์ นอกจากนี้ยังมีความโดดเด่นในด้านการเล่นกับภาษาอย่างมีรากฐานทางวัฒนธรรม อีกทั้งเป็นคำถามปลายเปิดให้ผู้อ่านมีส่วนร่วมด้วย

ในแต่ละเรื่อง ปราบดา แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของมนุษย์ได้อย่างชัดเจน ทั้งในด้านความคิด ความอยากรู้อยากเห็น ความกลัว สิ่งเหล่านี้อยู่ในตัวของมนุษย์ทุกๆคน ดังนั้นแต่ละเรื่องที่เขานำมาเสนอในรูปแบบของเรื่องสั้นนั้น ได้แสดงให้เห็นถึงความคิดของตัวเขาในอีกมุมมองหนึ่งที่แตกต่างไปจากมุมมองของคนทั่วไปในสังคม

เรื่องสั้นทั้ง 13 เรื่องได้สะท้อนให้เห็นว่า สังคมของเรากำลังอ่อนแอลงอย่างมากโดยเฉพาะความอ่อนแอทางด้านความคิด ความเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละคนกำลังถูกทำลายลง เพราะจุดที่แต่ละคนยืนอยู่นั้นมาพร้อมกับคำว่าอิทธิพล ซึ่งมาคู่กับคำว่าอำนาจ ชนิดที่แยกจากกันไม่ได้ คิดแต่เพียงว่าหากขัดขืนก็ตาย เชื่อตามก็รอด ทั้งๆที่บางครั้ง เชื่ออาจตาย ขัดขืนอาจรอดก็เป็นได้ และใครจะให้คำตอบได้ดีไปกว่าตัวของตัวเอง เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้น กับปัญหาที่กำลังจะขยายแผ่กว้างออกไป ความคิดที่อ่อนแอลง กับทางออกที่ควรจะเป็นก็คือ ตัวมนุษย์เอง เพราะ “มนุษย์ควรมีความเป็นตัวของตัวเอง มากกว่าจะถูกครอบงำจากความคิดของบุคคลอื่น”
ดังนั้น “ความน่าจะเป็น” นับเป็นเรื่องสั้นอีกเรื่องหนึ่งที่จะนำพาความคิดของท่านได้ให้ได้โลดแล่น และขุดคุ้ยความเป็นจริงภายในตัวตนของมนุษย์ ให้หลุดออกมาจากมุมมืดทางความคิดที่หมกตัวอยู่ในสังคมพร้อมด้วยปัญหามากมาย ผ่านท่วงทำนองที่เรียบเรียงเป็นตัวหนังสือ ของชายหนุ่มคนนี้ ปราบดา หยุ่น


ภัสวดี

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อัตลักษณ์แปลว่าไรอ่ะ