วันอังคารที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2551

สุดปลายสะพาน


สุดปลายสะพาน
สุริศร วัฒนอุดมศิลป์
สำนักพิมพ์อรุณ
๒๔๗ หน้า
๑๗๙ บาท

การเข้ารอบสุดท้ายรางวัล “นายอินทร์ อะวอร์ด” ประจำปี ๒๕๔๙ ย่อมการันตีถึงความยอดเยี่ยมของนวนิยายเรื่อง “สุดปลายสะพาน” ได้เป็นอย่างดี แม้หนังสือเล่มนี้ จะไม่ได้รับรางวัลชนะเลิศมารับรอง หากเนื้อหาที่ถูกถ่ายทอดออกมาด้วยความตั้งใจ ทั้งสำนวนภาษาที่ขัดเกลาจนลึกซึ้งกินใจ ย่อมทำให้ผู้อ่านตกอยู่ในห้วงความคิดคำนึงได้ไม่ยาก “สะพานที่ไม่อาจข้าม” คือชื่อที่ใช้ในการประกวดครั้งแรกของ “สุริศร วัฒนอุดมศิลป์” นักเขียนหน้าใหม่ที่ได้รับการตอบรับอย่างคาดไม่ถึงจากผลงานชิ้นแรก หากแท้จริงแล้วเรื่องนี้เป็นเพียงเรื่องส่งเพื่อเรียนจบวิชา “การเขียนเรื่องสั้นเบื้องต้น” ในปีสุดท้ายของการเรียนมหาวิทยาลัยเท่านั้น เนื้อหาเพียงไม่กี่หน้ากระดาษในวันนั้น ได้ถูกแต้มเติมจนสมบูรณ์ในวันนี้...

“สุดปลายสะพาน” เป็นเรื่องราวของ “ปรเมษฐ์” นายแพทย์หนุ่ม ผู้กำลังศึกษาโครงการ ”Mercy Killing” หรือ “กรุณยฆาต” เรียกว่าการเสนอทางเลือกสุดท้ายแก่ผู้ป่วย ในขณะที่ผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ โดยผู้ป่วยมีสิทธิ์ที่จะเลือก “ตาย” ด้วยความสมัครใจของตนเอง ทว่าเมื่อเรื่องถูกนำเสนอต่อคณะกรรมการ เขากลับไม่มีกรณีศึกษา เพื่อยืนยันความน่าเชื่อถือในโครงการดังกล่าว ปรเมษฐ์ได้พบกับ “เนรัญ” เด็กหนุ่มนักดนตรีที่เล่นเล่นกีตาร์อย่างเดียวดายอยู่บน “สะพานขาว” ในสวนสาธารณะข้างโรงพยาบาลเพียงลำพัง “A time for us” คือเพลงแรกที่ได้ยินจากกีตาร์สีแดง และนิ้วที่พรมลงบนเครื่องดนตรีชิ้นโปรดของเด็กหนุ่ม มิตรภาพครั้งแรกจึงเกิดขึ้นนับแต่นั้น เมื่อได้อยู่กับเนรัญ ปรเมษฐ์สามารถพูดคุยกับเด็กหนุ่มได้ทุกเรื่อง เขารู้สึกสบายใจ เข้มแข็ง และความมั่นใจในตัวเองที่สูญหายไปกลับคืนมา เนรัญคอยเป็นกำลังใจให้เขายามที่ท้อแท้สิ้นหวังและต้องการกำลังใจ จากความรู้สึกดีๆ ที่เรียกว่าเพื่อน จึงพัฒนาความสัมพันธ์จนกลายเป็น “ความรัก”

หากทุกอย่างกลับเลวร้าย เมื่อปรเมษฐ์ ถูกครอบครัวบังคับให้แต่งงานกับหญิงสาวที่บิดาเลือกให้ ด้วยความบาดหมางในใจของปรเมษฐ์กับบิดาอยู่ก่อนแล้ว เขาอยากปฏิเสธออกไป แต่การอาการป่วย ของมารดา ทำให้เขาอยู่ในอาการน้ำท่วมปาก เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้อาการผนังหัวใจรั่วจากพันธุกรรม ของเนรัญที่เขาไม่เคยทราบกำเริบขึ้นมา ซ้ำร้ายแฟนหนุ่มยังเสนอตัวเป็นกรณีตัวอย่างให้เขาเสนอโครงการ ที่กำลังทำอยู่อีกครั้ง การต่อสู้ระหว่างหน้าตาทางสังคม การคลุมถุงชนที่ถูกบังคับโดยผู้มีพระคุณ กับ ความรักที่ตนเองเป็นฝ่ายเลือก สุดท้ายแล้ว...โศกนาฏกรรมที่ใครก็คาดไม่ถึงจึงเกิดขึ้น...

“สุดปลายสะพาน” เป็นนวนิยายขนาดยาว รูปเล่มขนาดเหมาะมือ ปกหน้าเป็นรูปท้องฟ้าสีคราม เมฆสีขาวปุย มีแมกไม้สีเขียวสองฟากฝั่งสายน้ำ กลางของภาพเป็นสะพานลายฉลุสีขาวทอดยาวมองเห็นเพียงครึ่งเดียว “สะพานขาว” สถานที่สำคัญที่สุดของเรื่อง ปกหลังเป็นภาพเดียวกัน ฉาบทาด้วยสีเขียวน้ำทะเลลึกจนภาพทั้งหมดเห็นเพียงลางเลือน มีกรอบไม้สีน้ำตาลเข้ม ภายในเป็นรูปเช่นเดียวกับหน้าปก มีคำโปรยน่าสนใจไม่ยาวนักบนปกหลัง ข้อความบางส่วนกล่าวไว้ว่า “...หัวใจจะพองโตทุกครั้งที่เขาอยู่ใกล้ แต่พอเราแยกกัน ความรู้สึกสับสนจะประดังประเดเข้ามาแทนที่ ... นี่ นี่ผมเป็นเกย์ไปแล้วหรือ ถ้าผมเป็นเกย์จริงๆ ชีวิตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร...” เพิ่มความน่าสนใจให้หนังสือเล่มนี้ไม่น้อยทีเดียว

ชื่อเรื่อง “สุดปลายสะพาน” สื่อถึงอารมณ์ตัวละครได้เป็นอย่างดี ความคาดหวังของตัวละครที่ จะได้ข้ามไปยังอีกฝั่งของสะพาน ชีวิตอีกฟากที่มีคนซึ่งพวกเขารักคอยอยู่ ทั้งเนรัญและแม่ของเขา ดูเหมือนทั้งสองคนจะรอคอยเพียงเวลาเท่านั้น สอดคล้องกับทั้งรูปภาพปก สะพานเพียงครึ่ง ที่อีกส่วนหนึ่งถูกบดบังด้วยไม้ใหญ่น้อยสีเขียวครึ้ม ก่อให้เกิดความสงสัยในรูปลักษณ์ของสะพาน และใครหลายๆ คน คงอยากทราบ...ที่สิ้นสุดของปลายของสะพานอีกด้านเป็นแน่...
แม้ “สุดปลายสะพาน” จะมิใช่วรรณกรรมยอดเยี่ยมแห่งปีในสาขารางวัลใด หากเนื้อเรื่องและถ้อยคำที่ผู้เขียนเลือกสรรมาใช้ภายในกลับทำให้วางไม่ลง สถานที่ต่างๆ ในเรื่องล้วนให้ความรู้สึก “จริง” อย่าง ประหลาด การบรรยายทำให้เกิดมโนภาพชัดเจนเหมือนผู้อ่านกำลังเดินร่วมทางไปกับตัวละคร บรรยากาศและฉากของเรื่องชวนให้รู้สึกอบอุ่น นุ่มลึก ก่อให้เกิดความรู้สึกอยาก “ตามรอย” ไปยังสถานที่ต่างๆที่ตัวละครใช้ชีวิต และเดินทางผ่าน

เนื้อเรื่องสอดแทรกข้อคิดหลากหลาย ทั้งความรักหลายประเภท ความรักของบิดามารดา ที่มีการแสดงออกที่แตกต่างกัน ความรักของเพื่อนอันเป็นมิตรภาพที่ยิ่งใหญ่ และสำคัญที่สุด...ความรักของคนรัก ที่เหมือนพลังให้ใครหลายคน ต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคอย่างไม่ท้อถอยเช่นปรเมษฐ์ โดยมีความเชื่อมั่นจากเนรัญเป็นแรงผลักดัน “มือที่เปื้อนเลือด” ของคนรัก ที่เขามักย้ำกับตัวเองเสมอๆ ยังคงมีประโยชน์ต่อชีวิตใครอีกหลายคน และแท้จริงแล้ว...ผู้อ่านจะได้ทราบว่า “ชีวิต” มีค่าควรแก่การรักษามากกว่า “ทำลาย” เพราะ อย่างน้อย ไม่ใช่การดำรงอยู่เพื่อ “ตัวเอง” แต่กลับเพื่อ “คนที่รัก” ต่างหาก

เชื่อว่า “สุดปลายสะพาน” คงจะเรียก “รอยยิ้ม” บน “ใบหน้าเปื้อนน้ำตา” จากผู้อ่านได้ไม่ยาก รอยยิ้มน้อยๆ กับความรู้สึกเต็มตื้นในความสมบูรณ์ของเรื่องราวที่ถูกร้อยเรียงอย่างตั้งใจ แม้วรรณกรรมเล่มนี้อาจไม่ได้จบแบบสุขนาฏกรรมอย่างที่ใครหลายคนคาดหวัง แต่...รอยยิ้มที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับคราบน้ำตา กลับลบเลือนความโศกเศร้าที่ตัวละครถ่ายทอดให้กับผู้อ่านได้อย่างหมดสิ้น เมื่อปิดกระดาษหน้าสุดท้ายลงแล้ว จึงเหลือเพียง “ความใจหาย” เท่านั้นเอง
ที่สุด...หลังจากวางหนังสือเล่มนี้ลง เราคงต้องทบทวนตัวเองอย่างถ้วนถี่ว่า... ชีวิตที่มีอยู่นั้น เราใช้มันอย่างคุ้มค่า เพื่อตัวเองและคนที่รักแล้วหรือยัง?

มนตรี

ไม่มีความคิดเห็น: