วันอังคารที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2551

ช่างสำราญ


ช่างสำราญ
เดือนวาด พิมวนา
พิมพ์ครั้งที่ ๑๓
สำนักพิมพ์สามัญชน
๒๔๐ หน้า
๑๗๕ บาท



ในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ช่วงชีวิตที่เรียกได้ว่าช่างสำราญของเดือนวาด พิมวนาได้เกิดขึ้น จากนวนิยายเล่มแรกไปสู่รางวัลที่เป็นความภูมิใจยิ่งในด้านวรรณกรรม นวนิยายเรื่องช่างสำราญของเดือนวาด พิมวนาได้รับรางวัลซีไรต์ในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ นี้เอง พลังงานในการสร้างสรรค์

นวนิยายเล่มนี้ได้สร้างงานเขียนที่สื่อให้เห็นถึงความแปลกใหม่ในแง่มุมการนำเสนอเรื่องราวของชีวิตที่แสนเศร้าออกมาด้วยอารมณ์ขันและการมองโลกในแง่ดี
ช่างสำราญ นวนิยายที่ทำให้ผู้อ่านมองสภาพสังคมที่มีแต่ความทุกข์ยากของมนุษย์ด้วยหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยน้ำใจของเพื่อนร่วมโลก นี่คือนวนิยายอันเรียบง่ายที่แสดงให้เห็นถึงระบบความสัมพันธ์ทางสังคมที่ผู้เขียนต้องการเสนอในเชิงบวก เพื่อให้ชีวิตที่ถูกละเลยในมุมหนึ่งของสังคมได้สลายหายไปในสักวันหนึ่ง ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีต่างๆบนโลกใบนี้จะก้าวหน้าไปเพียงใดก็ตาม แต่ความรู้สึกและการดำเนินชีวิตของมนุษย์จำนวนหนึ่งก็ยังคงหาความสงบสุขได้ยากเช่นเดิม ดังคำกล่าวที่ว่า “มนุษย์ตะกายฝันไปสู่ดวงดาวจนมองไม่เห็นรอยราวบนฐานราก”

“กำพล” ช่างสำราญ เด็กชายวัย ๕ ปี ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณห้องแถวของคุณแม่ทองจันทร์ โดยอยู่กับพ่อแม่และน้องชายของเขาอีกหนึ่งคน และในเวลาต่อมาแม่ของเขาไปมีชู้ พ่อและแม่จึงตัดสินใจแยกทางกัน พ่อจึงพาน้องของกำพลไปหาที่อยู่ใหม่และบอกให้กำพลรออยู่ที่เดิมก่อน แล้วสัญญาว่าจะมารับ ข่าวกำพลถูกทิ้งทำให้ชาวบ้านในละแวกนั้นเกิดความสงสารจึงให้ความช่วยเหลือกำพลทั้งในด้านที่อยู่อาศัยและอาหาร ด้วยน้ำใจของชาวบ้านจึงช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตของกำพลไว้ แต่ถึงอย่างไรก็ตามกำพลก็ยังหวังว่าในสักวันหนึ่งครอบครัวของเขาจะกลับมาอยู่ด้วยกันเช่นเดิม

ตัวละครต่างๆในเรื่องช่างสำราญนี้ คงจะพบเห็นได้ในสังคมสมัยก่อนที่จะให้ความช่วยเหลือต่อผู้ยากไร้ด้วยหัวใจที่เอ่อล้นไปด้วยน้ำใจที่แสนงดงาม ถึงแม้ว่าจะได้พบเห็นบุคคลเช่นนี้ในสังคมปัจจุบันก็คงจะเหลือน้อยลงเต็มที แต่เรื่องราวชีวิตของ“กำพล” ซึ่งเป็นตัวละครเอกของเรื่องนั้นกลับพบเห็นได้ง่ายยิ่งกว่า เพราะสะท้อนให้เห็นถึงความทุกข์ยากในการดำเนินชีวิตที่ต้องดิ้นรนต่อสู้และฝากความสุขของชีวิตไว้กับความหวังอันเลื่อนลอยที่ยังคงมาไม่ถึงสักที แต่ถึงอย่างไรก็ตาม “สายพานแห่งวันเวลา” ของคนเหล่านี้ก็ยังคงเคลื่อนที่ต่อไปอย่างสม่ำเสมอในสังคม

ข้าพเจ้าคิดว่าเรื่องราวชีวิตที่เกิดขึ้นในแต่ละตอนในเรื่องช่างสำราญนั้น สามารถประสบพบเห็นได้โดยทั่วไป เป็นเรื่องราวที่แสนจะธรรมดาสามัญสำหรับชีวิตของมนุษย์ แต่ละตอนของช่างสำราญจึงไม่ลืมที่จะแฝงข้อคิดหรือการเย้ยหยันสังคมเล็กๆน้อยๆของผู้เขียนไปหากแต่ผู้อ่านได้พินิจพิจารณาแต่ละตอนอย่างถี่ถ้วนแล้วก็คงจะรับสารที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อได้อย่างดีทีเดียว เช่น ตอน “เด็กโชคดี” เมื่ออ่านแล้วเกิดรอยยิ้มบนใบหน้าและเกิดการทำงานของเส้นความคิดในสมองแล้ว สารของผู้เขียนในตอนนี้ก็คงจะสื่อมาถึงผู้อ่านได้อย่างสมบูรณ์แบบแต่ในบางตอนของเรื่องนั้น สารที่ผู้เขียนต้องการเสนอกลับทำให้ผู้อ่านหัวเราะไม่ออกได้เช่นกัน จึงทำให้ความแปลกและแตกต่างของหนังสือเล่มนี้ดึงดูดความสนใจยิ่งขึ้น

ปกสีครีมเข้มที่มีภาพเด็กผู้ชายยืนหันหลังไปมองการจากไปของรถบรรทุกสีฟ้า ประกอบกับชื่อเรื่องที่ขัดแย้งกับภาพแล้ว น่าจะทำให้ผู้ที่เดินเลือกหนังสืออยู่เอื่อมมือไปหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาดูด้วยแรงดึงดูดของความสงสัยภายในใจ ว่าหนังสือที่มีสัญลักษณ์ของรางวัล ซีไรต์อยู่บนปกเล่มนี้มีความน่าสนใจเพียงใดถึงได้ครอบครองรางวัลนี้ไปในปี ๒๕๔๖

ข้าพเจ้าเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีความหวังที่จะมองเห็นเพื่อนร่วมสายพันธุ์เดียวกันอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข นวนิยายเรื่องช่างสำราญเล่มนี้ก็เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่จะช่วยแต่งเติมความฝันและสานความหวังไว้ในใจของผู้อ่านได้เป็นอย่างดี รวมทั้งการใช้ภาษาที่สละสลวย ข้อคิดที่สอดแทรกไว้ในแต่ละตอนที่จะช่วยปลุกจิตใจของมนุษย์ให้ตื่นขึ้นเพื่อโลกที่สงบสุขและสันติ ดังนั้นหากคุณกำลังมองหาหนังสือสักเล่มหนึ่ง ข้าพเจ้าจึงขอแนะนำหนังสือที่สามารถทำให้หัวใจสำราญด้วยช่างสำราญเล่มนี้


ภัทรา

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ดีจังคับ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณค่ะ