วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

The Terminal ด้วยรักและมิตรภาพ 05490290


เป็นหนังยุโรปแนวcomedy-drama ฉายในปี พ.ศ 2547 อีกหนึ่งผลงานของผู้กำกับที่มีชื่อเสียงอย่าง สวีเว่น สปิลเบิร์ก( Steven Spielberg ) โดยเสนอแนวเรื่องที่มีความน่าสนใจมากขึ้น เป็นการนำตัวละครมาใส่ไว้ในสถานที่ที่ถูกจำกัด นำความแตกต่างของ
วัฒนธรรมและภาษาเข้ามาผสมผสานลงไปด้วย ซึ่งหนังของสปิลเบิร์กเรื่องนี้ ก็ยังคงแฝงข้อคิดต่างๆไว้เหมือนเช่น ในหนังหลายๆเรื่องของเขา ด้านตัวละครในเรื่องนำแสดงโดย ทอม แฮงก์ส
( Tom Hanks)นักแสดงมากความสามารถ และนักแสดงอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งถือเป็นหนังที่มีความลงตัวและทำให้ผู้ที่ชื่นชอบหนังแนวนี้ไม่ผิดหวัง

วิกเตอร์ นาเวอร์สกี้( Viktor navorski) ชายกลางคนชาวยุโรป ที่ตั้งใจเดินทางมาประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา เพื่อทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับพ่อ ซึ่งการมาเยือนครั้งนี้ในเวลาเดียวกันได้เกิดเหตุการณ์ปฏิวัติที่ประเทศคาร์โคเชียร์บ้านเกิดของเขา ดังนั้นจึงส่งผลกระทบมายังสิทธินอกอาณาเขตของเขา เขาถูกจำกัดอาณาเขตและต้องกลายเป็นคนไร้สัญชาติติดอยู่ที่อาคารผู้โดยสารของสนามบินเป็นเวลากว่าหลายเดือน ทั้งอยู่อาศัย หางาน และหาเพื่อนใหม่ ด้วยความที่เขาไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ทำให้เขาต้องใช้ชีวิตอยู่ที่อาคารผู้โดยสารนี้เป็นไปด้วยความยากลำบากพอสมควร เพื่อรอวันที่จะได้สิทธิออกไปสัมผัสกับมหานครและทำบางสิ่งบางอย่างดังที่มุ่งหมายไว้ เขาได้พบปะกับคนมากมายจากทั่วทุกมุมโลก และหลากหลายเรื่องราวที่ผ่านเข้ามา ทำให้เขารู้จักที่จะใช้ชีวิตและเอาตัวรอดจากสถานการณ์ต่างๆและเข้าใจถึงมิตรภาพที่ทุกคนมอบให้กัน





ฉาก

The Terminal ด้วยรักและมิตรภาพ เป็นหนังที่นำเสนอเกี่ยวกับการใช้ชีวิตท่ามกลางความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมของผู้คนในปัจจุบัน โดยเลือกใช้สถานที่คืออาคารผู้โดยสารของสนามบินนานาชาติ จอนห์ เอฟ แคนนาดี้( JFK International Airport )เป็นตัวสื่อให้เห็นถึงการเดินทางที่ไร้ขอบเขตของคนจากทั่วทุกมุมโลก และมีตัวกลางที่เชื่อมให้คนสามารถติดต่อสื่อสารกันอย่างเข้าใจ คือการใช้ภาษาสากลที่ทั่วโลกยอมรับ นั่นก็คือภาษาอังกฤษ เพื่อให้บรรลุตามความต้องการของแต่ละคน

ตัวละคร
หนังเรื่องนี้ใช้ตัวละครเอกที่มีลักษณะเป็นคนต่างพื้นที่และไม่ชำนาญในภาษาอังกฤษเป็นตัวดำเนินเรื่อง ซึ่งสื่อให้เห็นถึงการถูกเลื่อมล้ำทางสิทธิเมื่อไม่สามารถสื่อสารได้อย่างเข้าใจ ทำให้ถูกปฏิบัติอีกแบบหนึ่ง และการเลือกใช้ประเทศอเมริกาเป็นจุดหมายปลายทางที่เขาต้องการจะเดินทางมา ก็ยิ่งทำให้เห็นถึงสังคมที่มีการแข่งขันเร่งรีบ ส่งผลให้ตัวละครต้องเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอด ซึ่งเขาได้พบปะกับบุคคลมากมายหลากหลายอาชีพ ต่างคนต่างก็มีมุมมองชีวิตที่ไม่เหมือนกัน โดยเมื่อมองผ่านมุมมองของตัวละครเอกก็จะเห็นได้ว่าเขาเป็นคนมองโลกในแง่ดี จึงมักจะถูกเอาเปรียบจากคนในสังคมที่ต่างก็เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ในด้านภาษาแม้ว่าเขาจะสื่อสารได้ไม่ดีแต่ก็ไม่ได้รู้สึกด้อยในเรื่องนี้เลย เพราะเขาคิดว่าไม่ได้เป็นปัญหาที่หนักหนา เขาเลือกที่จะค่อยๆเรียนรู้และใช้ทักษะในด้านอื่นแทน เพื่อแสดงศักยภาพของตนออกมาให้คนอื่นยอมรับในตัวเขามากขึ้น ทำให้เกิดความคิดที่ว่าการที่เรารู้หลายๆภาษานั้นได้เปรียบคนอื่นๆจริงหรือไม่
เพื่อให้เห็นถึงความแตกต่างได้มีการยกเอาการใช้ชีวิตของหญิงสาวที่เป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินมาเปรียบเทียบให้เห็นว่า แม้ว่าการที่เธอจะสามารถสื่อสารได้หลายภาษา สนทนากับผู้อื่นได้อย่างเข้าใจ แต่เธอก็ยังขาดสิ่งที่จะเติมเต็มในชีวิตเธอเพราะเธอเลือกที่จะทำเพื่อความต้องการของเธอเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงศีลธรรม จากจุดนี้จึงชี้ให้เห็นว่าไม่ว่าใครจะมีความสามารถหรือด้อยความสามารถในด้านใด ถ้ารู้จักใช้ชีวิต ไม่ยึดติดกับความเจริญทางด้านวัตถุ เรียนรู้ที่จะเข้าใจและยอมรับ ก็สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้แล้ว นอกจากนี้ยังมีตัวละครอีกมากมายที่ทำให้นาเวอร์สกี้เรียนรู้ถึงโลกแห่งความจริงและโลกแห่งมิตรภาพ
การใช้ชีวิตแบบ วิกเตอร์ นาวาสกี้ จึงทำให้ผู้คนที่ต่างเคยละเลยการใช้ชีวิต ไม่ใส่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น ขอเพียงตัวเองอยู่รอดก็พอ ต้องหันกลับมาคิดว่า การที่เราพยายามหาสิ่งนั้นสิ่งนี้มาเติมเต็มชีวิตอยู่เสมอ จนลืมถามตัวเองว่าแท้ที่จริงแล้วชีวิตต้องการอะไรนั้น ผลสุดท้ายก็จะไม่มีความสุขกับสิ่งที่ได้รับมาทั้งหมด นาวาสกี้แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับศีลธรรมที่มาก่อนกฎระเบียบที่สังคมสร้างขึ้น เขาสามารถเข้าใจและช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างไม่รีรอ ซึ่งการปฏิบัติเช่นนี้หาได้ยากในสังคมปัจจุบัน
ดังนั้นจากชื่อเรื่อง The terminal ที่หมายถึงอาคารที่พักผู้โดยสารของสนามบินจึงแสดงให้เห็นถึงสถานที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมอย่างชัดเจน และด้วยอาคารที่พักผู้โดยสารนี้ตั้งอยู่บริเวณที่มีการกำหนดอาณาเขตอย่างแน่นอน จึงเปรียบกับการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพและสอดคล้องกับแก่นเรื่องที่มุ่งเน้นการต่อสู้กับสังคมที่ฉาบฉวย ผู้คนไร้ซึ่งศีลธรรมได้เป็นอย่างดี

สรุปและคุณค่า

จากเรื่องนี้ทำให้ได้ข้อคิดในแง่มุมที่ต่างออกไป และยังเป็นเสมือนกระจกเงาที่สะท้อนสภาพของสังคมได้ชัดเจน ดูผิวเผินอาจจะมองว่าเป็นเรื่องของการได้เปรียบเสียเปรียบของเรื่องภาษา แต่แท้ที่จริงแล้วถ้ามองลึกลงไปกลับได้เห็นแง่คิดที่ว่าศีลธรรมกับชีวิตมนุษย์กำลังแยกออกจากกัน โดยมีความเจริญในยุคโลกาภิวัตน์มาเป็นตัวคั่นกลางให้ช่องว่างของทั้งสองห่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนศีลธรรมนั้นแทบจะไม่มีเหลืออยู่ในจิตใจของมนุษย์อีกเลย

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ชอบมากเลยค่ะ

aaaaa กล่าวว่า...

คิดถึงนะคะ ^^