วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

Me...Myself ขอให้รักจงเจริญ


น.ส.กุลธิดา อู่บูรณกุล รหัส 05490032

"Me...Myself ขอให้รักจงเจริญ" ภาพยนตร์สัญชาติไทย แนวโรแมนติก - ดราม่า ผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของอ๊อฟ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง โดยได้นักเขียนบทฝีมือดีอย่าง "คงเดช จาตุรันต์รัศมี" จาก “ The Letter จดหมายรัก” มาเขียนบทให้จนทำให้เรื่องนี้กลายเป็นภาพยนตร์รักแนวแปลกใหม่ที่ตราตรึงอยู่ในหัวใจของผู้ชมมากมาย และมีนักแสดงนำผู้รับหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวความรักบทใหม่ ที่ต้องผ่านการพิสูจน์และต้องเลือกระหว่างตัวตนในอดีตกับความรักในปัจจุบัน คือ นักแสดงหนุ่มฝีมือคุณภาพ "อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม" รับบท “แทน” และนักแสดงสาวหน้าใหม่ "แอม - ฉายนันทน์ มโนมัยสันติภาพ" รับบท “อุ้ม” ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2550 และเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ไปแล้ว เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2550 ถือได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ชมมากมาย จนบริษัทภาพยนตร์ในต่างประเทศสนใจขอซื้อลิขสิทธิ์เพื่อนำไปทำต่อเป็นเวอร์ชั่นของเกาหลี
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้นำเสนอเรื่องราวของอุ้ม ครีเอทีฟสาวคนเก่งที่กำลังหมดอาลัยตายอยากกับชีวิต เพราะเธอเพิ่งถูกกริชคนรักของเธอทิ้งไป แถมยังมีภาระต้องเลี้ยงดูโอม หลานชายวัยไม่ถึงสิบขวบ ลูกของพี่สาวที่ตายไป จนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุขึ้นกลางดึกของคืนวันหนึ่ง อุ้มได้ขับรถไปชนชายแปลกหน้าคนหนึ่งจนทำให้ชายคนนั้นความจำเสื่อม เธอจึงต้องแบกรับภาระในการดูแลชายคนนี้เพิ่มขึ้นไปอีก หลักฐานติดตัวของชายคนนี้ไม่มีอะไรเลย นอกจากจี้ห้อยคอ อ่านเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า แทน ดังนั้น อุ้ม จำเป็นต้องพาแทน ชายแปลกหน้าที่ไม่น่าไว้วางใจมาใช้ชีวิตร่วมกับเธอและหลานชายอย่างไม่มีทางเลือก เมื่อเวลาผ่านไปทั้งคู่ได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้แก่กันจนเกิดเป็นความรักอันแน่นแฟ้น แต่เมื่อความจริงปรากฏออกมาว่า แทน เป็นกะเทย ทั้งอุ้มและแทน จึงต้องเผชิญกับความจริงอันแสนปวดร้าวอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งสองใช้เวลาพิสูจน์รักแท้ของตน แต่ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แม้ต้องปวดร้าวสักเพียงใด เขาและเธอก็ยังคงรักในความเป็นตัวตนของกันและกัน
เมื่อพิจารณาถึงการเปิดเรื่องแล้ว ซึ่งเริ่มด้วยการนำเสนอภาพของแทนนั่งอยู่ในคลับคาบาเรต์แห่งหนึ่ง พร้อมกับเสียงเพลงคลอเคล้าเบาๆให้ความรู้สึกอ่อนโยนปนเศร้า เป็นการบ่งบอกให้รู้ว่าเรื่องนี้ต้องเป็นเรื่องที่มีความเศร้าปนอยู่อย่างแน่นอน แล้วมาถึงฉากที่อุ้มขับรถพร้อมกับคุยโทรศัพท์ระบายความในใจกับเพื่อนเรื่องที่ตนถูกกริชแฟนเก่าทิ้งจนไปชนชายคนหนึ่งเข้าจนเขาความจำเสื่อม ชายคนนั้นไม่มีหลักฐานอะไรเลยที่จะสามารถบ่งบอกสถานภาพของเขาได้ นอกจากจี้ห้อยคอที่เขียนว่า tan ( แทน ) (อันที่จริงสร้อยนี้มีชื่อเต็มว่า tanya แต่คำว่า ya หักหายไป) อุ้มจึงต้องรับผิดชอบพาแทนมาอาศัยอยู่กับตนและหลานชายที่อพาร์ตเมนต์อย่างไม่มีทางเลือก และทั้งสองได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันจะกลายเป็นความรักอันหวานชื่นเหมือนคู่รักคู่อื่น เหตุการณ์นี้ดำเนินไปอย่างราบเรียบด้วยโครงเรื่องที่ธรรมดา ไม่ได้ตื่นเต้นสักเท่าใด หรือสามารถพูดได้เลยว่ายืดยาวเกินไป
แต่เมื่อมาถึงจุดสำคัญของเรื่องก็สามารถหักมุมจนผู้ชมคาดไม่ถึงได้นั่นคือตอนที่อุ้มรู้ความจริงแล้วว่าแทนเป็นใคร ฉากนี้เป็นฉากที่แสดงให้เห็นความขัดแย้งภายในใจของตัวละครทั้งสองได้เป็นอย่างดี คือ ภายในใจของแทนเขาต้องเลือกระหว่างตัวตนในอดีตของเขา หรือจะเลือกความรักในปัจจุบัน ส่วนอุ้มก็อึดอัดใจไม่แพ้กัน เธอต้องเลือกระหว่างจบความรักเพียงเพราะคนรักเป็นกะเทยหรือเลือกที่จะรักและยอมรับตัวตนของคนที่เธอรัก ความขัดแย้งในส่วนนี้จึงทำให้เหตุการณ์ที่ดำเนินไปอย่างราบรื่นตลอดต้นเรื่อง หยุดชะงักลง จากเรื่องความรักของคนสองคนที่แสนจะโรแมนติก จึงกลายเป็นความรันทดใจที่จะต้องยอมรับความจริงอันแสนปวดร้าว สิ่งนี้เหมือนเป็นการดึงผู้ชมให้เข้ามาติดกับดักของความรักอันหวานชื่นที่ดำเนินไป แล้วพลิกอารมณ์ของผู้ชมให้เกิดความรู้สึกตะลึงปนเศร้าอย่างฉับพลัน
ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นของแปลกใหม่ในวงการภาพยนตร์รักทั่วไป ซึ่งความดีความชอบนี้คงต้องยกให้คนเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ เขาเข้าใจในความสับสนอย่างลึกซึ้ง เข้าถึงนิยามความรักรูปแบบใหม่ การตั้งโจทย์และตีคำตอบของเขาอยู่ในกรอบที่เป็นไปได้ แม้ใครบางคนจะคิดว่า “พระเอกสมองเสื่อม ยังไงก็เปลี่ยนตัวตนไม่ได้”
จังหวะของภาพยนตร์ในเรื่องนี้ค่อนข้างดี มีการดำเนินเรื่องได้สัมพันธ์กันตลอด โดยไม่ขาดตอน เนื้อหาก็ไม่ได้เน้นแต่ความรักที่เกิดจากอารมณ์เพียงอย่างเดียว แต่มีความเป็นเหตุเป็นผลซ่อนอยู่ โครงเรื่องไม่ได้สร้างให้เป็นหนังที่โรแมนติกเกินหรือเศร้าเกินไป แต่มีความกลมกลืนของทั้งสองอารมณ์รวมกันอย่างลงตัว และยังมีคอมมาดี้อ่อนๆปนไว้อย่างน่าชื่นชม ช่วยให้เนื้อหาในภาพยนตร์ไม่ตึงเครียดจนเกินไป ผู้ชมจึงไม่เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย
หากจะกล่าวถึงฉากและบรรยากาศในภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว บอกได้คำเดียวว่าดีมาก เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถทำให้โครงเรื่องทั้งหมดกลมกลืนกันเป็นอย่างดี และยังเป็นแรงช่วยกระตุ้นให้ผู้ชมเข้าถึงอารมณ์ของตัวละครได้เป็นอย่างดี สถานที่ส่วนใหญ่ที่ใช้เป็นฉาก มักเป็นสถานที่ทั่วไป
มากมายหลายฉาก ได้แก่ ออฟฟิศที่อุ้มทำงานอยู่ สวนสัตว์ งานปาร์ตี้ ห้างสรรพสินค้า ป้ายรถเมล์ สถานีตำรวจ โรงพยาบาล เป็นต้น แต่ฉากที่มีความสำคัญกับเรื่องมากที่สุดคือ อพาร์ตเมนต์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆขึ้นระหว่างอุ้มกับแทน ความรักของคนทั้งสองเริ่มที่นี่ รวมถึงความขัดแย้งในใจของตัวละครก็เริ่มตรงนี้เช่นกัน ฉากนี้ยังสะท้อนให้เห็นชีวิตของคนเมืองกรุง ที่ต้องรีบเร่งกับการงาน และมักอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์อันคับแคบ และอีกฉากหนึ่งที่สำคัญรองลงมา คือฉากที่คลับคาบาเรต์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ทำให้แทนค้นพบความต้องการของตน และเป็นฉากที่ใช้จบเรื่องได้อย่างงดงาม ส่วนช่วงเวลาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเวลาตอนกลางคืนเสียส่วนใหญ่ บรรยากาศในช่วงนี้ให้ความรู้สึกหนาวเย็น สบายๆ ไม่ตึงเครียดมากนัก โทนสีที่ใช้ประกอบฉากในเรื่องจะเน้น โทนเย็น สบายตา รู้สึกได้ถึงความสบายๆ เรียบง่าย เช่น สีฟ้า สีน้ำเงิน เป็นต้น ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความเบาสบายแฝงอยู่ ไม่ดูเป็นเรื่องที่หนักเกินไป อาจมีโทนอบอุ่นบ้างเล็กน้อยเช่น สีครีม สีเหลืองนวลจันทร์ และโทนน้ำตาลซีเปีย ที่ไม่ได้ให้ความรู้สึกร้อนแรง แต่อบอุ่นกลมกลืนกับความเย็นสบาย จึงทำให้เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่เศร้าแบบชนิดที่เรียกว่า คร่ำครวญมากมาย แต่เป็นความเศร้าที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นใจ
และมีการใช้สีที่แบ่งช่วงอารมณ์ อารมณ์โรแมนติก ก็จะเป็นโทน สีครีมอ่อนๆ แต่ถ้าอารมณ์เศร้าก็ใช้สีฟ้า น้ำเงิน และเทาช่วยในการสร้างบรรยากาศ รวมถึงเพลงประกอบภาพยนตร์ “สิ่งที่ฉันเป็น” เข้ากับเนื้อเรื่องและสร้างบรรยากาศให้เกิดความเศร้า ซึ้งและอิ่มใจเป็นอย่างมาก
ตัวละครหลักในเรื่องนี้มี 2 ตัวคือ อุ้ม ครีเอทีฟสาวคนเก่ง แม้เธอจะเป็นผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ได้มีหน้าตาสวยโดดเด่นเหมือนกับนางเอกเรื่องอื่น แต่สิ่งที่ทำให้ผู้ชมมองเห็นความสวยในตัวเธอเมื่อจบเรื่องแล้ว นั่นคือ เสน่ห์ที่มีอยู่ในตัวของหญิงสาวผู้นี้ เธอมีเสน่ห์ที่ทำให้ใครหลายคนหลงใหล นั่นคือ ความมุ่งมั่น ความแข็งแกร่ง (มิใช่แข็งกระด้าง) และความอ่อนโยนที่มีอยู่ในใจของเธอ แม้ลักษณะภายนอกของเธอจะแสดงออกมาด้วยความแข็งกระด้าง แต่จิตใจของเธอกลับฝังลึกไปด้วยความอ่อนโยน อันเป็นสิ่งดึงดูดใจให้เห็นเสน่ห์ความงามในตัวเธอ
ส่วนแทน ชายความทรงจำเสื่อม ที่บังเอิญต้องมาอาศัยอยู่กับอุ้มและโอม (หลานชายของอุ้ม)
อย่างไม่มีทางเลือก แทนเป็นผู้ชายที่อ่อนโยน สุภาพ และเรียบร้อย ต่างกับอุ้มโดยสิ้นเชิง เมื่อเขาก้าวเข้ามาในชีวิตอุ้ม เขาได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของอุ้มให้มีแต่ความสุข สามารถใช้ชีวิตเข้ากับหลานชายได้อย่างลงตัว ทั้งแทนและอุ้มต่างก็มีความสุขมาก จนแทนไม่อยากจะค้นหาความทรงจำเดิมของเขาอีกแล้ว
แทนมีกิริยาท่าทางที่ต่างจากผู้ชายทั่วไป ทั้งท่าเดิน ท่านั่ง ก็เรียบร้อยคล้ายผู้หญิง แต่เขากลับไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นใคร อาจเป็นเพราะเขาปิดกั้นความทรงจำเดิม เนื่องจากมีความทรงจำใหม่ที่ดีเข้ามาแทนที่จนไม่อยากจะกลับไปหาความทรงจำเก่านั้นแล้ว หรืออีกประเด็นหนึ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกไว้คือ ป้าของแทนเลี้ยงดูเขามาในคลับคาบาเรต์ซึ่งเต็มไปด้วยสาวประเภทสอง แทนจึงถูกจับแต่งตัว แต่งหน้า เป็นผู้หญิงตั้งแต่เด็กๆ เขาถูกยัดเยียดให้เป็นในสิ่งนั้นโดยที่เขาไม่มีทางเลือกอื่นเลย แท้จริงจิตใจของเขาอาจเป็นชายเต็มร้อยก็ได้ จึงเป็นเหตุผลสนับสนุนได้ว่า ทำไมแทนจึงจำตัวตนที่ติดตัวเขามาตั้งแต่เด็กๆ ไม่ได้
Me..Myself ขอให้รักจงเจริญ เมื่อพิจารณาจากชื่อเรื่องแล้วจะพบว่า ทั้งชื่อภาษาไทยและภาษาอังกฤษ มีความขัดกันอยู่ แต่เมื่อลองไตร่ตรองให้ลึกลงไปกลับพบว่า ทั้งสองชื่อมีความสอดคล้องกันเป็นอย่างดี “Me Myself” เป็นชื่อที่เข้ากับเนื้อเรื่องในแง่ของความเป็นตัวตนของตัวเราเอง ส่วน “ขอให้รักจงเจริญ” นั้นเป็นความหมายที่ให้นัยอันลึกซึ้ง สอดคล้องกับแก่นเรื่องที่ให้ความสำคัญกับความรักของคนสองคน ที่แม้มีอุปสรรคมาขวางกั้น แต่ทั้งสองก็สามารถผ่านมันไปด้วยดี ด้วยการศรัทธาต่อความรัก และยอมรับความเป็นตัวตนของกันและกัน ซึ่งสามารถตอบโจทย์ให้กับคนที่มีปัญหาในเรื่องความรักได้ว่า ความรักทุกความรักนั้นมีคุณค่าเสมอ ไม่ว่าตัวตนของคนรักจะเป็นอย่างไร หากเรายอมรับในตัวตนนั้นได้ ความรักก็จะเจริญเติบโตต่อไปอย่างงดงาม
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้แฝงแง่คิดเกี่ยวกับชีวิตไว้อย่างแนบเนียน จนมองไม่ออกว่า เป็นปรัชญาที่คุมเรื่องทั้งหมดไว้ให้เป็นเนื้อเดียวกัน เปรียบเสมือนจุดเล็กๆ แต่มีนัยสำคัญต่อแก่นเรื่อง ซึ่งได้สอดแทรกไว้ในฉากตอนที่อาการของแทนก็ไม่ดีขึ้น ความจำไม่กลับมาเลย หมอที่รักษาแทนจึงแนะนำให้ใช้วิธีการสะกดจิต และฉากนี้ถือเป็นจุดสำคัญของเรื่อง เป็นการสนทนากันระหว่างหมอที่รักษาแทนและหมอสะกดจิต เป็นการเสนอแง่มุมมองเกี่ยวกับชีวิตโดยผ่านตัวละครรองทั้งสองไว้ว่า “คุณค่าของชีวิตอยู่ที่เสรีภาพที่คนๆนั้นอยากจะเป็น”
“เราจะแน่ใจได้ยังไงว่าเราเป็นในสิ่งที่เราเป็น หรือเป็นในสิ่งที่เราอยากจะเป็น หรือเป็นในสิ่งที่คนอื่นอยากให้เราเป็น ไม่มีใครรู้” คำพูดนี้เป็นเหมือนนัยที่ซ่อนคำตอบไว้ให้ผู้ชมได้คิด
ต่อมาหมออีกคนได้พูดว่า “แต่ในปรัชญาของการใช้ชีวิตบอกว่า ค่าของมนุษย์อยู่ที่เสรีภาพในการเลือก หมายความว่า เราคิดอย่างไรในขณะนั้น เราก็จะเป็นในสิ่งนั้นไม่ใช่หรือ” และหมอสะกดจิตก็ได้ให้คำตอบกลับมา ซึ่งเป็นแง่คิดว่า “ก็ใช่อยู่ แต่เป็นในสิ่งที่เราเป็น มันไม่ง่ายขนาดนั้นเลยนะ”
จากบทสนทนานี้ให้แง่คิดไว้ว่า คนบางคนอาจไม่อยากเป็นในสิ่งที่ตนกำลังเป็นอยู่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่า คนๆนั้นจะเลือกทางเดินของตนไปในทิศทางใด เพราะคุณค่าของคน คือการได้ใช้เสรีภาพของตนเลือกในสิ่งที่ตนต้องการ
ป็นปรัชญาที่แฝงอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ กลมกลืนกับเนื้อเรื่องจนแยกไม่ออก แสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สอนปรัชญาการใช้ชีวิตโดยไม่ทำให้ปรัชญาเข้ามาเป็นประเด็นหลักจนน่าเบื่อ แต่แฝงไว้เป็นนัยให้ผู้ชมได้ซึมซับผ่านตัวละครและบทสนทนาเอาเอง
จากบทสนทนาของหมอ กล่าวว่าการสะกดจิตมีอยู่ 2 ทางคือ “ การสะกดเพื่อสร้างบุคลิกขึ้นมาใหม่ และอีกด้านที่ใช้กับแทนคือ เพื่อปลอกเปลือกของจิตใต้สำนึกออกมา เพื่อจะได้ค้นหาสิ่งที่หลบอยู่ในจิตใต้สำนึกเพราะโดยส่วนใหญ่แล้วความทรงจำซ่อนอยู่ในตัวของเราเองนี่แหละ ผลขึ้นอยู่กับว่าเราจะเปิดใจแค่ไหน ” เมื่อแทนถูกสะกดจิตแล้ว เขาได้เห็นภาพผู้หญิงอยู่ในความคิดของเขา แต่เขากลับคิดว่า เป็นเรื่องที่เพ้อเจ้อ นั่นเป็นเพราะเขาไม่เปิดใจยอมรับในความทรงจำเดิมของตนเอง จิตใต้สำนึกของเขาในขณะนั้นคิดว่าตนเป็นผู้ชาย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาจะลืมตัวตนเดิมของเขา เพราะนั่นอาจไม่ใช่จิตสำนึกที่แทนเชื่อก็ได้ เมื่อไม่อยากเชื่อ ก็จะไม่เป็นในสิ่งนั้น คนเราจะเป็นในสิ่งที่เราเชื่อเท่านั้น หรือกล่าวอย่างง่ายๆก็คือ จิตใจของของแทนในขณะนั้นได้สวนทางกับพฤติกรรมที่เขาเคยมีมาในอดีตเสียแล้ว

และยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ดิฉัน ประทับใจมากในภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ หลังจากที่อุ้มรู้ว่าแทนเป็นกะเทยแล้ว ทั้งสองก็บอกลากันด้วยความจำใจ โอมหลานของอุ้มทาลิปสติกสีแดง เดินเข้ามาถามน้าของตนว่า "ถ้าโอมโตขึ้นเป็นแบบน้าแทน น้าอุ้มจะยังรักโอมมั้ย" คำถามของโอม บอกเป็นนัยให้รู้ว่า ต่อให้อุ้มพยายามจะปฏิเสธความจริง หนีความปวดร้าวสักเท่าไหร่ สุดท้ายแล้วอุ้มก็ไม่มีทางหนีพ้นได้ และเธอก็ต้องยอมรับว่า แทนยังคงเป็นผู้ชายที่เธอรัก รักแม้เขาจะมีตัวตนภายนอกที่ใครๆ เรียกว่ากะเทย รักเพราะเขาเป็นคนที่แสนดี รักเพราะเขาจะเป็นผู้ชายที่ทำให้เธอได้พบกับความรักที่ตามหามานาน และเป็นคนสุดท้ายที่เธอจะฝากชีวิตไว้ คำพูดของโอมทำให้เธอได้คิดไตร่ตรอง และเลือกที่จะกลับไปหาแทน เธอได้ไปหาแทนที่คลับคาบาเรต์ และชมการแสดงของแทน เธอชมแทนว่า “เต้นเก่งดีนะ” คำพูดนี้ แสดงว่า อุ้มยอมรับในสิ่งที่แทนเป็นโดยไม่อาย หากใครจะว่าเธอรักกะเทยก็ตาม เธอรู้แล้วว่าเธอต้องการเขามากเพียงใด
“ ยังรักอยู่ไหม” อุ้มถามแทน คำพูดนี้เป็นการสื่อโดยนัยที่ยืนยันว่า อุ้มยังคงรักแทน และจะยังคงรักตัวตนของเขาด้วย แม้แทนจะให้เหตุผลว่ามันเป็นไปไม่ได้ อุ้มก็ไม่ฟัง เธออยากได้คำตอบแค่ว่า รักหรือไม่รัก แค่นี้ก็พอแล้วสำหรับเธอ เมื่อแทนตอบว่ารัก นี่แหละคือสิ่งที่อุ้มอยากได้ยินที่สุด ทั้งสองกอดกัน สายฝนโปรยปรายลงมา ให้ความรู้สึกเศร้าซึ้งปนชุ่มฉ่ำทั้งหัวใจ คำพูดเพียงสั้นๆว่า รักหรือไม่รัก จากบทสนทนานี้เป็นสัญลักษณ์ที่ดีให้คนได้คิดว่า บางทีความรักก็อยู่นอกเหนือเหตุผลอื่นใด คนเรารักกัน อาจไม่ต้องหาเหตุผลใดๆเลย เพียงแต่คนสองคนเชื่อมั่นในความรักที่มีให้แก่กัน แค่นั้นก็เพียงพอแล้ว
เมื่อมาถึงทางตันอุ้มและแทน ผ่านอุปสรรคนั้นไปได้เพราะอะไร? นั่นเป็นเพราะทั้งสองเชื่อมั่นในความรักที่มีให้แก่กัน อุ้มยังคงมั่นใจว่า แม้แทนได้เลือกทางเดินของเขาแล้ว เขาก็ยังรักเธอเหมือนเดิม เธอรู้ดีว่าความรักเป็นสิ่งมีค่าควรแก่การศรัทธา เธอจึงไม่ยอมปล่อยให้สิ่งอื่นใดมาขัดขวางความรักของเธอ แทนก็เช่นกัน แม้เขาจะเลือกไปตามทางที่เขาเป็นแล้ว แต่ในเมื่อทุกคนมีเสรีภาพที่จะเป็นอย่างที่ใจต้องการ นั่นก็หมายความว่า แม้เขาจะมีตัวตนเป็นอย่างไรก็ตาม เขาก็มีสิทธิที่จะรักได้เช่นกัน เขาจึงไม่ยอมให้ตัวตนที่แท้จริงของเขา มาพรากความรักของเขาไป
ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเหมือนกระจกสะท้อน ให้เห็นว่า ความรักของคนเราย่อมมีอุปสรรคเข้ามา เพื่อเป็นสิ่งพิสูจน์ว่า เราศรัทธาต่อความรักแค่ไหน ตัวละครสองตัวที่ถูกสร้างขึ้นเป็นเพียงตัวแทนที่นำเสนอให้เห็นว่า สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ให้กับเรานั้นมีความหมายมากกว่าความรักระหว่างกะเทยกับหญิงสาว แต่หมายถึง การยอมรับในความเป็นตัวตนของคนที่เรารักให้ได้ บางทีในชีวิตจริงอาจไม่ใช่อย่างนี้ แต่ก็มีความคล้ายกันเช่น หากเรารักใครสักคน แต่เขาเป็นในสิ่งที่เราไม่อยากให้เป็น เราก็ต้องเลือกระหว่างรักต่อไป หรือแยกทางกัน เพราะคุณค่าของคนอยู่ที่เสรีภาพในการเลือกสิ่งที่ตนอยากจะเป็น
โดยภาพรวมแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็น ผลงานสร้างชื่อของคนไทยเรื่องหนึ่ง นอกจากจะให้ความบันเทิงแล้ว ยังแฝงไปด้วยปรัชญาในการใช้ชีวิตอันมีสาระ และสามารถสะท้อนมุมมองทางความรักและความเป็นตัวตนของคนได้อย่างดี องค์ประกอบทุกส่วนกลมกลืนกันอย่างงดงามจนเป็นที่ประทับใจอย่างมาก
หากภาพยนตร์เรื่องนี้เปรียบเสมือนอาหาร ก็คงเป็นอาหารธรรมดาจานหนึ่ง แต่เป็นจานโปรดของใครหลายคน แม้จะธรรมดา แต่ก็อร่อย และอิ่มท้องกำลังพอดี
สมแล้วที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีชื่อว่า Me…Myself ขอให้รักจงเจริญ ก็หวังว่า ความรักของคนทั้งโลกจะเจริญเติบโตต่อไปด้วยความเข้าใจ และยอมรับในตัวตนของกันและกัน...
อย่าลืมว่า ค่าของมนุษย์อยู่ที่เสรีภาพในการเลือก หมายความว่า เราคิดอย่างไรในขณะนั้น เราก็จะเป็นในสิ่งนั้น...

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ถูกแล้วล่ะ ควรจะรักฉันในสิ่งที่ฉันเป็น...ได้โปรดอย่ารักฉันแต่เพียงภายนอก (เรื่องนี้โดนคร้าบ)