วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

Pay It Forward…หากใจเราพร้อมจะให้(ใจ) เราจะได้มากกว่าหนึ่ง


น.ส.ลักษมณ พีรประภากร 05490330

Pay It Forward…หากใจเราพร้อมจะให้(ใจ) เราจะได้มากกว่าหนึ่ง

หากว่าคุณกำลังมองหาภาพยนตร์ดีๆสักเรื่อง คุณก็ไม่ควรพลาดที่จะชม Pay It Forward ภาพยนตร์ของประเทศอเมริกา กำกับโดยมีมี่ เลเดอร์ ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นภาพยนตร์ที่สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมเหมือนเรื่องทั่วๆไป แล้วความรู้สึกก็จบลงเมื่อภาพยนตร์จบเท่านั้น แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้สร้างกระแสให้กับผู้ชมทั่วโลกในการทำความดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ นอกเสียจากให้คนๆนั้นทำความดีกับคนอื่นต่อไป แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเข้าฉายไปนานแล้ว ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2544 แต่กระแสการทำความดีแบบลูกโซ่ก็ยังไม่จบลง และยังทวีความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงขั้นที่ว่ามีการเปิดเว็บไซด์มากมายเพื่อรับสมัครสมาชิกในการทำความดี โดยหวังว่าสักวันหนึ่งโลกใบนี้จะกลายเป็นสังคมที่มีแต่ความสงบสุข เหมือนกับที่ตัวละครเอกของเรื่องคาดหวังไว้
Pay It Forward เป็นเรื่องราวของแทรเวอร์ เด็กชายวัยเพียง 11 ปี อาศัยอยู่กับแม่ในแถบชุมชมผู้มีรายได้น้อยของลาสเวกัส แม่ของเขาทำงานหนัก และติดเหล้าจนไม่ค่อยมีเวลาดูแล
แทรเวอร์ ส่วนพ่อก็ทิ้งครอบครัวไปนานแล้ว ทำให้แทรเวอร์ต้องดูแลตัวเอง เขาจึงเป็นเด็กที่มีความเป็นผู้ใหญ่เกินตัว
ในวันแรกของการเรียนเกรด 7 ซึ่งเป็นชั้นสุดท้ายของวัยประถม เขาได้พบกับ
ครูซิมโมเน็ท ครูสังคมคนใหม่ ซึ่งได้จุดประกายความคิดของเขา โดยการให้การบ้านกับเด็กๆว่าให้คิดหาวิธีที่จะเปลี่ยนแปลงโลก และที่สำคัญคือต้องนำความคิดนั้นไปปฏิบัติด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการบ้านที่ค่อนข้างยากสำหรับเด็กวัยเพียง 11 ปี แต่แทรเวอร์จริงจังกับการทำการบ้านชิ้นนี้มาก เขาได้คิดทฤษฎี “Pay it forward” หรือ “จ่ายให้คนต่อไป” ขึ้นมา เป็นการทำความดีเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนใดๆ นอกเสียจากว่าให้คนๆนั้นช่วยเหลือคนอื่นต่อไปอีก 3 คน และแต่ละคนที่ได้รับการช่วยเหลือก็จะทำเช่นนี้ต่อไปอีกคนละสามครั้งต่อไปเรื่อยๆเป็นลูกโซ่ โดยแทรเวอร์หวังว่าสักวันหนึ่งมันจะขยายกว้างออกไปเรื่อยๆ โลกของเราก็จะกลายเป็นสังคมที่สงบสุข และเป็นสังคมในอุดมคติตามแนวความคิดแบบยูโทเปียซึ่งเชื่อในโลกที่มีความสมบูรณ์
เขาเริ่มทำการเปลี่ยนแปลงโลกโดยช่วยเหลือชายจรจัดติดยาที่ชื่อเจอร์รี โดยการให้เงินและอาหารเพื่อหวังว่าเขาจะสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ แต่ท้ายที่สุดเขาก็กลับไปเสพยาตามเดิม คนต่อมาที่เขาช่วยเหลือคือครูซิมโมเน็ท โดยการพยายามจับคู่เขากับแม่ของตนเอง แต่ก็ต้องผิดหวังเมื่อครูมีปมในจิตใจตั้งแต่สมัยเด็กๆที่ถูกพ่อเอาน้ำมันราดและจุดไฟเผา จนเกิดรอยแผลเป็นน่ากลัวอยู่ทั่วร่างกาย ส่งผลให้ครูไม่กล้าที่จะเปิดเผยตัวตนและเปิดใจให้แก่ใครจริงๆ ส่วนแม่ของเขาเองก็ใจอ่อนเมื่อพ่อที่ทิ้งพวกเขาไปกลับมาขอคืนดี ทำให้แทรเวอร์เริ่มท้อใจเมื่อแผนการที่จะเปลี่ยนโลกของเขาไม่มีท่าทีว่าจะสำเร็จเลยสักอย่างเดียว
แต่ไม่นานนักทุกอย่างก็เริ่มพลิกผัน เมื่อวันหนึ่งขณะที่เจอร์รีเดินข้ามสะพาน พร้อมกับคิดว่าเขาจะสามารถไปหายาจากที่ไหนมาเสพได้ เขาก็ได้พบและช่วยเหลือผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งกำลังจะฆ่าตัวตายเอาไว้ได้ ส่วนครูซิมโมเน็ทกับแม่ของเขาก็เริ่มเปิดใจให้กันและกันมากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นของความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงโลกของเจอร์รี แล้วคนที่ได้รับการช่วยเหลือก็ช่วยเหลือคนอื่นต่อไปเรื่อยๆ จนกระแสของ Pay it forward แพร่กระจายไปทั่วลาสเวกัส และรัฐอื่นๆของอเมริกาโดยที่เจอร์รีเองก็ไม่รู้ตัว
กระแสของ Pay It Forward หรือ จ่ายให้คนต่อไปโด่งดังจนไปเกิดขึ้นกับนักข่าวคนหนึ่ง เขาจึงออกเดินทางตามหาเจ้าของความคิดนี้ จนกระทั่งมาเจอแทรเวอร์ และได้สัมภาษณ์แทรเวอร์ออกรายการโทรทัศน์ ยิ่งทำให้ผู้คนทั่วสหรัฐอเมริการู้จักกับการจ่ายให้คนต่อไปมากยิ่งขึ้น แต่ในเย็นวันนั้นเอง เรื่องไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ขณะที่แทรเวอร์กำลังจะกลับบ้าน เขาเจอเพื่อนในห้องคนหนึ่งกำลังถูกรุมรังแก เขาจึงรีบเข้าไปช่วยแต่ตนเองกลับถูกแทงที่ท้องจนเสียชีวิตซะเอง และถึงแม้เขาจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่กระแสการทำความดีที่เขาสร้างขึ้นก็ยังคงอยู่สืบไป
ภาพยนตร์เรื่อง Pay It Forward นี้มีการดำเนินเรื่องจากปัจจุบันแล้วเล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์ในอดีต โดยเริ่มเปิดเรื่องจากนักข่าวคนหนึ่งที่ไปทำข่าวผู้ร้ายจับกุมผู้หญิงเป็นตัวประกัน แต่ผู้ร้ายเกิดขับรถหลบหนีออกมาชนกับรถของเขาเข้า ในขณะที่เขากำลังอารมณ์เสียที่รถพังอยู่นั้น ก็มีชายคนหนึ่งยื่นกุญแจรถจาร์กัวคันใหม่ของตนเองให้เขาใช้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน และนั่นเองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการตามหาเจ้าของความคิด Pay It Forward แล้วหลังจากนั้นเรื่องจึงเริ่มย้อนเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 4 เดือนที่แล้ว โดยเริ่มตั้งแต่ที่แทรเวอร์ได้รับการบ้านจากครูซิมโมเน็ทให้คิดแนวทางที่จะเปลี่ยนแปลงโลก และลงมือปฏิบัติตาม
จากนั้นเหตุการณ์ก็เริ่มพัฒนาไปเรื่อยๆ โดยค่อยๆให้รายละเอียดเกี่ยวกับแทรเวอร์ซึ่งเป็นตัวละครเอกว่าเป็นใคร สถานะความเป็นอยู่ทางสังคมเป็นอย่างไรบ้าง ทำให้ผู้ชมพอทราบคร่าวๆว่าเขาเป็นเด็กอายุ 11 ปี ที่ค่อนข้างจะมีความคิดเป็นผู้ใหญ่ และการดำเนินเรื่องก็ทวีความน่าสนใจมากขึ้นไปอีก เมื่อผู้ชมเห็นสิ่งต่างๆที่แทรเวอร์ตั้งใจทำ ตั้งแต่ที่พาชายจรจัดเข้ามาในบ้าน จนถึงพยายามจับคู่ของครูกับแม่ของเขา แต่ในตอนแรกเริ่มดูเหมือนว่าทุกอย่างจะไม่เป็นไปตามอย่างที่เขาคิดไว้ จึงทำให้ผู้ชมอยากจะติดตามต่อไปอีกว่าแทรเวอร์จะทำอย่างไรต่อไป
ความขัดแย้งในเรื่องที่ต้องการจะนำเสนอออกมาก็คือความขัดแย้งภายในจิตใจของตนเอง ซึ่งในเรื่องจะพบได้ว่าตัวละครแต่ละตัวจะมีความลังเลใจเกิดขึ้นเมื่อต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ตนเองเคยชินและเป็นอยู่ เช่นเจอร์รีต้องต่อสู้อย่างมากเพื่อจะเลิกเสพยาให้ได้ แม่ของแทรเวอร์ต้องพยายามที่จะเลิกเหล้าและตัดใจจากสามีของตนเองให้ได้ ส่วนครูซิมโมเน็ทก็ต้องพยายามที่จะเปิดใจของตนเองให้ผู้อื่นเข้าถึงได้บ้าง มีประโยคหนึ่งที่แทรเวอร์ได้พูดเอาไว้ขณะที่ถูกสัมภาษณ์ออกรายการโทรทัศน์ที่บ่งบอกถึงความขัดแย้งในเรื่องได้เป็นอย่างดี คือ “ผมคิดว่ายากที่จะเปลี่ยน สำหรับคนที่เคยชินกับอย่างหนึ่งแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ไม่ดี เขาก็เลยยอมแพ้ แล้วพอเขายอม ทุกคนก็เลยพ่ายแพ้”
นอกจากเนื้อเรื่องที่มีความน่าสนใจแล้ว ตัวละครเอกของเรื่องก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน เริ่มตั้งแต่ฉากเปิดตัวแทรเวอร์ที่โรงเรียน ก็ชี้ให้เห็นว่าเขาเป็นเพียงเด็กตัวเล็กๆคนหนึ่งซึ่งเมื่อเทียบกับเด็กคนอื่นๆที่อายุเท่ากันแล้วจะเห็นว่าเขาตัวเล็กกว่าเพื่อนๆทุกคน แต่สิ่งที่เขาต้องการจะทำเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกนั้นยิ่งใหญ่มาก ซึ่งผู้ใหญ่บางคนกลับละเลยที่จะปฏิบัติ
แม้แต่ฉากในเรื่องทั้งหมดก็มีความสำคัญเช่นกัน สถานที่ที่เกิดเหตุการณ์นี้ก็คือลาสเวกัส ซึ่งรู้กันดีว่าเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยบ่อนการพนัน แสงสี และสภาพแวดล้อมก็ค่อนข้างแห้งแล้ง
ซึ่งสามารถสื่อได้ถึงจิตใจของคนที่สับสนวุ่นวาย และเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว การที่จะหาคนดีสักคนเพื่อทำความดีเพื่อคนอื่นอาจจะเป็นเรื่องยากเต็มที การเลือกสถานที่เกิดเหตุเป็นที่นี่ก็เพราะต้องการสื่อว่าแม้การเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นจะเป็นเรื่องยาก แต่คนเราก็สามารถทำได้หากมีความพยายามจริงๆ
ส่วนการตั้งชื่อเรื่องว่า Pay It Forward ก็สามารถบอกผู้ชมได้เป็นอย่างดีว่าแก่นของเรื่องคืออะไร เพราะส่วนสำคัญที่สุดของเรื่องก็คือเนื้อเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำความดีต่อกันไปเรื่อยๆแบบเป็นลูกโซ่ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ผู้สร้างต้องการนำเสนอไปยังผู้ชม เพื่อกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้กับคนที่หมดหวังกับการทำความดีให้มีพลังขึ้นมาอีกครั้ง
กล่าวโดยรวมแล้วภาพยนตร์เรื่อง Pay It Forward หรือ หากใจเราพร้อมจะให้(ใจ) เราจะได้มากกว่าหนึ่ง มีหัวใจสำคัญอยู่ที่ตัวเนื้อเรื่องที่สะท้อนภาพสังคมที่มีแต่ความวุ่นวาย และไม่มีคนที่คิดจะเปลี่ยนแปลงสังคมที่เลวร้ายเช่นนั้นให้ดีขึ้น จึงเลือกนำตัวละครเด็กมาถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกที่อยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น เพื่อให้คนดูซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยรุ่นขึ้นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่เกิดความรู้สึกละอายใจที่จะทำความผิด และกระตุ้นให้คนเหล่านี้หันมาทำอะไรสักอย่างเพื่อสังคม ตรงส่วนนี้เองที่ทำให้ข้าพเจ้าชอบภาพยนตร์เรื่องนี้มาก เพราะดูจบแล้วแต่อารมณ์และความซาบซึ้งที่ได้รับมายังไม่จบลงเพียงแค่นั้น และอยากแนะนำให้ใครหลายๆคนได้ชมกัน โดยไม่ใช่เป็นการชมเพื่อเสพความบันเทิงแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่อยากให้นำกลับมาคิดและปฏิบัติตามด้วย เพราะถึงแม้ความคิดจะวิเศษเพียงใด แต่ถ้าไม่ปฎิบัติก็ไม่มีผลดีใดๆเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น: