วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

โหมโรง


นางสาวภัทราพร ศรีเหรา
05490288


โหมโรง เป็นผลงานกำกับของ อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ เข้าฉายในปี 2547 ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 77 ในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม และยังได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย ทั้งรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 14, รางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 13 ประจำปี พ.ศ. 2547 และรางวัลสตาร์เอนเตอร์เทนเม้นท์ อวอร์ดส์ ครั้งที่ 3 ประจำปี พ.ศ. 2547 โดยโหมโรงเป็นเรื่องราวของ ศร เด็กหนุ่มที่มีความผูกพันกับดนตรีไทยมาตั้งแต่เกิด ได้รับการถ่ายทอดฝีมือในการตีระนาดเอกจาก ครูสิน บิดาและครูสอนดนตรีไทยผู้มีปมในชีวิต หลังการสูญเสียพี่ชายของศรซึ่งจากการดวลระนาดต่อคู่ปรับ ทำให้ครูสินตัดสินใจหยุดการสอนดนตรีไทยลง แต่ด้วยคำเตือนสติจากหลวงพ่อ ทำให้ครูสินกลับมาสอนดนตรีไทยอีกครั้ง ศรจึงได้รับการถ่ายทอดฝีมือตีระนาดจากบิดา และมีทิว เพื่อนสนิทที่คอยช่วยเหลือมาตลอดเวลา
ศร กลายเป็นดาวเด่นในเชิงระนาดเมื่อก้าวเข้าสู่วัยหนุ่ม ฝีมือของศรยากหาใครทัดเทียม หลังจากชนะประชันครั้งแล้วครั้งเล่า ศรจึงเกิดความลำพองในฝีมือของตนเอง จนเมื่อศรเดินทางเข้ามายังบางกอก เขาพ่ายแพ้เป็นครั้งแรกต่อขุนอิน ผู้มีฝีมือการเล่นระนาดในระดับสูง และมีทางระนาดที่ดุดัน ศรกลายเป็นคนที่สูญเสียความภาคภูมิใจในตัวเอง แต่เขาก็กลับมามุมานะฝึกปรือฝีมืออีกครั้ง และคิดค้นทางระนาดแบบใหม่ที่ไม่ซ้ำใคร จนในที่สุด ศรก็มีชื่อเสียงโด่งดังไปถึงในพระราชวัง เขาได้รับการอุปถัมภ์ให้เป็นนักดนตรีประจำราชสำนักศรต้องประชันระนาดกับขุนอิน ด้วยความกลัวทำให้เขาตัดสินใจหนีปัญหากลับอัมพวาบ้านเกิด แต่ในที่สุดศรก็กลับเข้าวังฝึกฝนอย่างหนัก และศรก็สามารถเอาชนะขุนอินได้
ล่วงเข้าสู่วัยชรา ศร กลายเป็นครูดนตรีอาวุโสที่มีลูกศิษย์มากมาย ขณะที่บ้านเมืองกำลังเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตก รัฐบาลมีนโยบายปรับปรุงประเทศให้มีความทันสมัย และออกระเบียบควบคุมศิลปะแขนงต่างๆรวมทั้งดนตรีไทย แต่ศรก็ใช้เสียงเพลงต่อสู้ เพื่อให้ดนตรีไทยที่เขารักดั่งชีวิตนั้น อยู่รอดจากการถูกทำลาย
ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดเรื่องด้วยฉากที่ ศร ในวัยเด็กวิ่งไล่ตามผีเสื้อไปจนกระทั่งเจอระนาดเอกและได้ลองเล่นทั้งที่ไม่เคยเล่นมาก่อน นับเป็นการเริ่มต้นชีวิตการเล่นระนาดของศร จากนั้นเนื้อเรื่องก็จะดำเนินไปโดยผ่านชีวิตของศรตั้งแต่วัยเด็กจนก้าวเข้าสู่วัยหนุ่มเต็มตัว และมีการตัดฉากสลับกันไปมาระหว่างช่วงชีวิตวัยหนุ่มกับชีวิตในบั้นปลายของศรได้ และเนื่องจากการที่มีการเล่าสลับกันระหว่างช่วงชีวิตสองวัยนี้เอง องค์ประกอบหลายๆอย่างของเรื่องจึงมีอยู่ทั้งสองช่วงเวลา

ความขัดแย้งของเรื่องเมื่อดูในช่วงชีวิตวัยหนุ่มของศร เราอาจจะคิดว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างศรกับขุนอิน เพราะดูเหมือนตัวละครสองตัวนี้จะต้องประชันกันตลอดเวลา แต่ถ้าเรามองให้ลึกลงไป จะเห็นความขัดแย้งอื่นๆ คือ ความขัดแย้งภายในจิตใจของศร โดยจะเห็นได้ชัดจากตอนที่ศรรู้ว่าตัวเองต้องลงประชันระนาดเอกกับขุนอิน ตอนแรกศรไม่มั่นใจในฝีมือตนเองกลัวว่าจะแพ้จนถึงกับต้องหนีไป แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจกลับมา แสดงให้เห็นว่าศรสามารถเอาชนะความกลัวในจิตใจของตัวเองได้ ส่วนความขัดแย้งในช่วงบั้นปลายชีวิตนั้น เป็นความขัดแย้งระหว่างศร กับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องการกำจัดดนตรีไทยออกไป ศรต้องต่อสู้เพื่อรักษาคนตรีไทยเอาไว้ เปรียบได้กับความขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมตะวันตกที่แพร่เข้ามา ในช่วงนั้นประเทศไทยต้องต่อสู้กับการกลืนวัฒนธรรมของชาติตะวันตก

ศรเป็นตัวละครที่สามารถสะท้อนหลายๆแง่มุมของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี ในวัยหนุ่มศรเป็นคนที่หยิ่งยโส ลำพอง อวดตัวว่ามีฝีมือ และเป็นคนที่ชอบเอาชนะ แต่เมื่อได้เผชิญกับอุปสรรคหลายๆอย่างทำให้แง่มุมความคิดของศรเปลี่ยนไป ศรในวัยชราเป็นคนใจเย็นและมีใจเปิดกว้างสามารถยอมรับวัฒนธรรมใหม่ๆที่เข้ามาได้ จากบทบาทของศรทำให้เราเห็นพัฒนาการทางความคิดของตัวละคร เรียกได้ว่าศรเป็นตัวละครที่มีความสมจริง ไม่ใช่มีเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น

จุดไคลแม็กซ์ของเรื่อง ในช่วงที่ศรเป็นหนุ่ม คือ ฉากการประชันระนาดเอกกับขุนอินในวังหลวง ช่วงแรกจะมีฉากที่ตะกั่วหลุดจากรางระนาดเป็นการกระตุ้นอารมณ์ของผู้อ่านให้อยากรู้ว่าศรจะแก้ปัญหาอย่างไรต่อไป และยิ่งเป็นการเร้าอารมณ์มากขึ้นไปอีกเมื่อศรต้องประชันระนาดตัวต่อตัวกับขุนอิน ในฉากนี้จังหวะทั้งการเคลื่อนไหวของภาพ และเสียง สามารถเร้าอารมณ์ของผู้ชมได้เป็นอย่างดี และเมื่อขุนอินเกร็งจนไม่สามารถเล่นต่อไปได้ก็เหมือนเป็นการผ่อนคลายสถานการณ์ลง หลังจากนั้นฉากก็ตัดไปที่จุดไคลแม็กซ์ของอีกช่วงคือเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมาค้นบ้านของศร
ศรในวัยชราได้ใช้เล่นระนาดท่วงทำนองช้าๆ แต่ไพเราะจับใจ เป็นการกล่อมเกลาจิตใจและสอนให้คนรุ่นใหม่เห็นค่าของดนตรีไทย ในที่สุดเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยอมกลับไป

ในเรื่องนี้มีการใช้สัญลักษณ์คือ ผีเสื้อ ในตอนเปิดเรื่องนั้นศรไล่ตามผีเสื้อไปจนเมื่อผีเสื้อบินไปเกาะที่ระนาดเอก ก็เปรียบเหมือนชีวิตการเล่นระนาดของศรที่ได้เริ่มต้นขึ้น และในฉากสุดท้ายของเรื่องเมื่อศรสิ้นลมหายใจ ผีเสื้อก็บินขึ้นไปบนท้องฟ้า เปรียบเสมือนชีวิตของศรที่สิ้นสุดลง นอกจากนี้ระนาดเอกก็เป็นสัญลักษณ์ด้วยเช่นกัน การที่ศรพยายามจะซ่อมแซมและดูแลเครื่องดนตรีชิ้นนี้ ก็คือ เหมือนเป็นการบอกให้เราดูแลปกป้องวัฒนธรรมของไทย

สำหรับองค์ประกอบทางด้านภาพและเสียงนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถผสมผสานทุกอย่างได้อย่างลงตัว จะเห็นได้สถานที่ที่ใช้มีความสมจริง อีกทั้งนักแสดงก็มีบุคลิก ลักษณะที่เหมาะสม จึงทำให้ภาพที่ออกมาสามารถสื่อสารให้ผู้ชมเข้าใจได้เป็นอย่างดี และสิ่งที่นับว่าสำคัญยิ่งสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้คือ ดนตรี ไม่ว่าจะเป็นดนตรีประกอบหรือเสียงดนตรีไทยที่นักแสดงบรรเลงในเรื่อง ล้วนแต่มีความไพเราะ และสามารถทำให้ผู้ชมซาบซึ้งไปกับดนตรีได้

ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถสะท้อนสังคมและให้แง่คิดแก่ผู้ชมมากมายที่เห็นได้เด่นชัดคือต้องการให้เราตระหนักและเห็นถึงคุณค่าของดนตรีไทยที่นับวันจะยิ่งสูญหายไป แต่ก็มิใช่ว่าจะให้เราปิดกั้นตัวเองจากสิ่งใหม่ๆ แต่ให้เรารู้จักนำวัฒนธรรมจากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้กับวิถีแบบไทยๆ อย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์ ดังที่ศรบรรเลงระนาดร่วมกับร่วมกับลูกชายที่เล่นเปียโนออกมาเป็นเพลง “ลาวดวงเดือน” ได้อย่างไพเราะ นอกจากนี้แสดงให้เห็นถึงความนบนอบและมีสัมมาคารวะของคนไทย จากฉากที่ศรเข้าไปกราบขอขมาขุนอินหลังการประชัน และสิ่งสำคัญภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการสื่อออกมาคือการรักษาวัฒนธรรมไทย จากคำพูดของขุนอินที่บอกให้ศรดูแลสืบทอดดนตรีต่อไปนั้น ไม่ใช่เพียงแค่การรักษาดนตรีไทยอย่างการเล่นระนาดเพียงอย่างเดียว หากแต่ความหมายนั้นครอบคลุมถึงวัฒนธรรมและความเป็นไทยอีกด้วย

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ดีมากๆมีแบบนี้อีกเรื่อยๆเลย