วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

รักแห่งสยาม


นางสาวนิชา มานะประดิษฐ์ ๐๕๔๙๐๑๙๗

“มีความจริงอยู่ในความรักตั้งมากมาย” ท่อนหนึ่งจากบทเพลงที่ถ่ายทอดผ่านตัวละคร การค้นหาความหมายของความรักได้เริ่มต้นขึ้น... ‘รักแห่งสยาม’ ภาพยนตร์รักของไทยที่การันตีด้วยรางวัลสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก 5 สถาบันใหญ่ เบื้องหลังความสำเร็จโดยชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุลหรือมะเดี่ยว ผู้เขียนบทและผู้กำกับหนุ่มไฟแรง ซึ่งแสดงผลงานมาแล้วในเรื่องคน ผี ปีศาจ และ 13 เกมสยอง รักแห่งสยามได้เริ่มถ่ายทำเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2549 ใช้เวลาถ่ายทำร่วม 5 เดือน หนังจึงออกฉายเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 นำแสดงโดยสินจัย เปล่งพานิช , ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี , เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ , มาริโอ้ เมาเร่อ และวิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล ความจริงในความรักยังรอการค้นหาต่อไป หากแต่มีเพียงสิ่งเดียวที่จะไขคำตอบ นั่นคือ ‘หัวใจ’
ภาพยนตร์เรื่อง ‘รักแห่งสยาม’ เป็นเรื่องของเด็กหนุ่มสองคน คือมิวและโต้งซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกันมาตั้งแต่เด็ก เพราะบ้านของทั้งสองอยู่ตรงข้ามกัน มิวมาจากครอบครัวคนจีนที่ร่ำรวย ซึ่งมีปัญหาครอบครัว พ่อกับแม่เลิกกันทำให้มิวต้องอยู่กับอาม่าและป้า ส่วนครอบครัวของโต้งเป็นครอบครัวคาทอลิกที่อบอุ่นมีพ่อ แม่ พี่สาวชื่อแตง และโต้ง วันหนึ่งครอบครัวโต้งไปเที่ยวเชียงใหม่ แต่แตงขอไปเที่ยวกับเพื่อนต่อ และเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น คือแตงหายสาบสูญไป แตงหายตัวไปพร้อมกับความอบอุ่นของครอบครัว พ่อของโต้งรับไม่ได้ หันไปใช้เหล้าแก้ปัญหา ส่วนแม่เมื่อเหลือโต้งคนเดียว จึงดูแลไปรับไปส่งทุกวัน ทำให้โต้งขาดความเป็นอิสระ ครอบครัวโต้งย้ายบ้าน ซึ่งทำให้โต้งและมิวต้องจากกันตั้งแต่นั้น วันเวลาผ่านไปจวบจนทั้งสองเป็นหนุ่มมัธยมปลาย ทั้งคู่ก็ได้กลับมาเจอกันอีกครั้งที่สยามเซ็นเตอร์ ในขณะที่โต้งมาซื้อซีดีเพลงของวงออกัส ซึ่งเป็นวงที่มิวเป็นนักร้องนำ จากวันนั้นความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็เริ่มก่อตัวขึ้นจนเกินกว่าคำว่าเพื่อน โต้งรู้สึกว่ามิวเป็นสิ่งดีๆ ที่เข้ามาเติมเต็มชีวิตที่หดหู่ มิวแนะนำโต้งให้รู้จักกับจูนผู้ดูแลวงออกัส ซึ่งหน้าเหมือนกับพี่แตงพี่สาวของโต้งที่หายตัวไป จูนไปทำงานพิเศษที่บ้านโต้งโดยแกล้งปลอมเป็นแตงเพื่อช่วยพ่อให้หายติดเหล้า อาการของพ่อดีขึ้น แต่วันหนึ่งจูนก็จากไป แม่รู้ว่ามิวกับโต้งมีใจให้กันจึงไปพูดกับมิวให้เลิกยุ่งกับโต้ง ความสับสนของโต้งทำให้แม่และหลายคนเจ็บปวด แต่สุดท้ายโต้งก็เลือกที่จะเดินจากไป เลือกที่จะหยุดความสัมพันธ์กับมิวไว้แค่คำว่าเพื่อน
‘รักแห่งสยาม’ เริ่มต้นจากความเป็นปัจจุบันของตัวละครในวัยเด็กด้วยการถ่ายทอดให้เห็นเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ภายในบ้านและสภาพครอบครัวสลับกันไปมาระหว่างโต้งและมิว โดยผูกโยงให้คนดูรู้สึกถึงความเกี่ยวพันของตัวละครทั้งสองอย่างละมุนละไมด้วยทำนองเพลงไพเราะบาดความรู้สึก จากนั้นเรื่องดำเนินไปสู่ปมขัดแย้งที่ผู้กำกับสอดแทรกไว้อย่างกลมกลืนผ่านชีวิตของตัวละครเอกคือโต้ง ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสังคม โต้งชายผู้มีมอบรักอันบริสุทธิ์ให้กับมิว ซึ่งความรักของทั้งสองเป็น ‘รักต้องห้าม’ ในสายตาของสังคม ‘รักที่ผิดธรรมชาติ’ ในสายตาของแม่และครอบครัวคาทอลิกที่เคร่งครัด ความต่อต้านและสับสนระหว่างความรู้สึกในใจโต้งกับสิ่งที่สังคมรอบข้างคาดหวังจึงเกิดขึ้น ทำให้โต้งอยู่ในภาวะต้องเลือกระหว่างความถูกต้องกับความต้องการของตนเอง จุดวิกฤติของเรื่องนี้คือตอนที่โต้งเดินเข้าไปหามิวและขอคุยด้วย และจากนั้นเรื่องก็ดำเนินมาถึงจุดไคลแม็กซ์ในตอนที่โต้งบอกกับมิวว่า “เราคงคบกับมิวเป็นแฟนไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราไม่ได้รักมิวนะ” เรื่องดำเนินมาถึงจุดสิ้นสุดที่มิว จากใบหน้าอมยิ้มและเปื้อนน้ำตาของมิวกลับไม่ทำให้คนดูรู้สึกเจ็บปวด แต่เกิดเป็นความพองฟูเต็มอยู่ในหัวใจ
ภาพยนตร์เรื่องนี้ความโดดเด่นคงหนีไม่พ้น ‘สยามสแควร์’ สถานที่ซึ่งถ่ายทอดชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนมากมายในละแวกนั้น กิจกรรม การค้าขาย สภาพสังคม และมุมมองที่ถ่ายทอดความเป็นสังคมเมืองในปัจจุบันอย่างชัดเจน แวดล้อมด้วยบรรยากาศในทุกๆ ช่วงเวลาตั้งแต่เช้าถึงยามเย็น แม้จะผสมผสานความรีบเร่งและความชุลมุนวุ่นวายในตอนกลางวัน ร่วมด้วยความตื่นตาละลานใจในเวลาค่ำคืนกับช่วงเทศกาลวันศริสต์มาสและวันปีใหม่ในฤดูหนาว แต่ทุกช่วงเวลายังอบอวลด้วยรักของผู้คนมากมาย จากความรักในแต่ละแบบของแต่ละคน
‘โต้ง’ ตัวละครเอกของเรื่องเป็นเด็กหนุ่มวัยรุ่นหน้าตาดี เป็นนักเรียนม.6 โรงเรียนกรุงเทพวิทยาลัย มีแฟนชื่อโดนัท โต้งเป็นเด็กวัยรุ่นทั่วไปที่ใช้เวลาไปกับการเรียนและอยู่กับเพื่อน จากเด็กชายที่ร่าเริงในวัยเด็ก กลายเป็นเด็กหนุ่มที่เงียบขรึม ขาดความมั่นใจในตนเอง มีชีวิตที่จำเจ ซ้ำซาก เหตุเพราะมีปมความเจ็บปวดในใจ การหายตัวไปของแตงพี่สาว ทำให้โต้งรู้สึกขาด และรับถึงความกดดันจากความผิดหวังของครอบครัว ช่วงชีวิตวัยรุ่นของโต้งจึงไม่น่าตื่นเต้นและสนุกสนานเหมือนเด็กทั่วไป ผิดกับตัวละครรอง คือ มิวที่เป็นชายหนุ่มผู้มีความฝันและพรสวรรค์ทางด้านดนตรี นักเรียนม.6 โรงเรียนเซนต์นิโคลัส ชายผู้มีความอ่อนโยน เรียบร้อย และสดใส แต่ลึกๆ แล้วความเหงาและโดดเดี่ยวก็ยังฝังอยู่ในหัวใจมิวนับตั้งแต่อาม่าได้จากไป ชีวิตของมิวเหมือนท่วงทำนองที่ไพเราะ และโต้งก็คือเนื้อร้องอันซาบซึ้งที่มิวต้องการ เพื่อนำมาเติมเต็มบทเพลงให้สมบูรณ์สวยงาม
‘ตุ๊กตาติดต้นคริสต์มาส’ ตุ๊กตาเด็กผู้ชายกับเด็กผู้หญิงของแม่ ในวันคริสต์มาสแม่ให้โต้งเลือกตุ๊กตาที่จะนำมาตบแต่งต้นคริสต์มาส ตุ๊กตาเป็นสัญลักษณ์แทนคนที่โต้งเลือก โต้งลังเลโดยไม่รู้จะเลือกตัวใดระหว่างตุ๊กตาเด็กผู้ชายกับเด็กผู้หญิง โต้งตัดสินใจเลือกจากคำพูดของแม่ที่ว่า “เลือกที่ตัวเองคิดว่าดีที่สุด” โต้งจึงเลือกตุ๊กตาเด็กผู้ชาย หมายความว่า โต้งได้สารภาพกับแม่แล้วว่าโต้งเลือกที่จะชอบผู้ชาย
จากตุ๊กตาติดต้นคริสต์มาสมาถึง ‘ตุ๊กตาไม้ตัวตลก’ สัญลักษณ์แทนตัวมิวซึ่งเป็นของขวัญชิ้นแรกที่โต้งให้กับมิว ตุ๊กตามีชิ้นส่วนที่ขาดหายไปคือ จมูก เปรียบเสมือนชีวิตของมิวที่มีอะไรขาดหายมาตลอดนับตั้งแต่โต้งย้ายบ้าน และอาม่าได้จากโลกไปคราวนั้น จนมิวได้มาพบกับโต้งอีกครั้งสิ่งที่ขาดหายก็เหมือนจะเริ่มเติมเต็ม โต้งซื้อจมูกตุ๊กตาไม้ให้เป็นของขวัญวันคริสต์มาสกับมิว แต่เมื่อมิวเอาจมูกที่โต้งให้มาประกอบกับตุ๊กตาตัวเดิมกลับใส่ไม่พอดี จมูกเปรียบกับโต้ง ส่วนตุ๊กตาไม้คือมิว เมื่อสองชิ้นส่วนไม่สามารถประกอบกันเข้าได้อย่างลงตัวแล้ว ย่อมเหมือนกับโต้งและมิวที่ไม่สามารถเป็นคนรักได้อย่างเปิดเผยในสังคม แต่การที่ตุ๊กตามีจมูกเข้ามาเพิ่มจนครบองค์ประกอบ เปรียบได้กับความรักและความรู้สึกดีๆ ของคนทั้งสองที่ยังสามารถอยู่ต่อไปได้เสมอ และมีเพียงพวกเขาเท่านั้นที่รับรู้
‘รักแห่งสยาม’ ชื่อที่เมื่อได้ยินครั้งแรกจะให้ความรู้สึกไปถึงความรักในสยามประเทศ นับว่าเป็นการเล่นหลอกคำให้มีความหมายกำกวมได้อย่างดี จากเนื้อเรื่องนับว่ามีความสอดคล้องกับชื่อเรื่องอย่างดียิ่งด้วยอารมณ์ของตัวละครที่มีความสัมพันธ์กับสถานที่อย่างแยกกันไม่ออก ผู้กำกับต้องการสื่อเรื่องราวความรัก ความทุกข์ ความสนุก และผิดหวังผ่านสถานที่ คือ สยามสแควร์ได้อย่างกลมกลืน ไม่ว่าจุดเริ่มต้นของความรักหรือจุดสิ้นสุดของการตัดสินใจเสนอผ่านตัวละครเอกคือโต้ง ก็ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นที่สยามทั้งสิ้น
‘มะเดี่ยว’ ผู้กำกับภาพยนตร์ได้พยายามบิดเบือนตัวอย่างหนังแบบจงใจลวงจากแนวเรื่องที่แท้จริงคือ เรื่องเกย์ มาโฆษณาผ่านมุมมองหนังรักกุ๊กกิ๊กชายหญิง พ่อแง่แม่งอนตามแบบฉบับวัยรุ่นนิยม นับว่าผู้กำกับมีจุดประสงค์อ้อนวอนขอความเห็นใจ และการเปิดใจจากกลุ่มเป้าหมายที่ต่อต้านเรื่องรักร่วมเพศให้มาสัมผัสมุมมองใหม่ในเรื่องการบีบรัดของสังคมไทยทางอ้อม ซึ่งส่งผลให้คนที่อยู่ภายใต้แรงกดดันของสังคมนั้นๆ ต้องยอมเดินตามทางที่สังคมเป็นผู้กำหนดและตัดสินว่าเป็นทางที่ถูกต้อง
ภาพยนตร์เรื่องรักแห่งสยามได้นำเสนอมุมมองความรักในแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรักเพื่อน รักครอบครัว รักข้างเดียว รักชายหญิง จนถึงรักร่วมเพศทำให้รู้สึกว่าความรักไม่มีข้อจำกัด ไม่มีเหตุผล ขอเพียงแต่เป็นความรักที่บริสุทธิ์ก็ย่อมเป็นความรักที่น่าชื่นชมยิ่ง และที่สำคัญภาพยนตร์เรื่องนี้นับว่าน่าสนใจเป็นอย่างมากในส่วนของการนำเสนอเรื่องแบบทวนกระแสสังคมในเรื่อง ‘ชายรักชาย’ ซึ่งนับว่าเป็นรักที่ไม่ได้รับการยอมรับอย่างเปิดเผยในสังคมไทย การค้นหาความหมายและความสำคัญของความรักต่อการมีชีวิตอยู่ ผ่านสายตาของเด็กชายวัยรุ่นสองคนที่กำลังค้นหาคำตอบให้กับตัวเอง พวกเขาเฝ้ามองและสำรวจชีวิตรอบข้างว่า ความรักแบบไหนคือแบบที่ถูกต้อง และรักแบบไหนคือแบบที่เขาต้องการ โดยความเด่นในเรื่องนี้แฝงชัดอยู่ในความขัดแย้งที่รุนแรง จนกลายเป็น ‘ความงามที่เจ็บปวด’ ผู้กำกับมีวิธีการนำเสนอปมขัดแย้งที่รุนแรงให้กลบเกลื่อนเบาบางลงอย่างแนบเนียน ซึ่งทำให้เกิดความเจ็บปวดลึกๆ กับหัวใจของคนดูอย่างไม่รู้ตัว
แม้หลายคนอาจมีความคิดในแง่ลบต่อ ‘รักแห่งสยาม’ เรื่องนี้ แต่ถ้าเปิดใจให้กว้าง หรือเพียงแค่กลับมาดูอย่างไม่อคติเป็นครั้งที่สอง เราจะเข้าใจตัวละครที่พยายามสื่อให้เรารับรู้ถึงความงดงามในรัก โดยไม่มีข้อแม้ว่าเป็นความรักในรูปแบบใด เราจะได้เรียนรู้ว่าคนเราไม่ได้เกิดมาเพื่ออยู่อย่างโดดเดี่ยว แม้บางครั้งชีวิตจะเดินไปสู่หนทางที่มืดมิด แต่ระหว่างทางหัวใจเรายังจะได้สัมผัสความสวยงามของความรักและความหวังไปด้วยเช่นกัน
จากคำพูดสุดท้ายของเรื่อง “แด่...ทุกความรักที่สร้างเรา To all the loves that bring us to life.”

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เขียนวิจารณ์ได้ดี แต่เราคิดว่าตอนที่โต้งเลือกตุ๊กตาผู้ชายหมายถึงว่าโต้งเลือกที่จะเป็นผู้ชาย เพศชายจริง ๆ มากกว่านะ คือตัวเองยอมเจ็บปวด เพื่อให้แม่ไม่ต้องทุกข์ใจเพราะเรื่องของโต้งอีก เพราะแม่ได้ผ่านเรื่องราวที่เจ็บปวดมามากมายแล้ว หลายคนอาจจะมองว่าเรื่องนี้จบแบบแฮปปี้ แต่เราว่าคนที่แฮปปี้คือแม่ ไม่ใช่โต้ง.....แต่ต้องขอนับถือความกตัญญูของโต้งจริงๆ