วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

มหา'ลัยเหมืองแร่


นางสาวรุ่งรัตน์ เฟื่องขจร ๐๕๔๙๐๓๒๒

มหา’ลัยเหมืองแร่ ภาพยนตร์สัญชาติไทยจากบทประพันธ์ของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ โดยผู้กำกับคนเก่ง จิระ มะลิกุลได้นำมาถ่ายทอดลงบนแผ่นฟิล์มในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ และได้รับรางวัลสุวรรณหงส์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม ในปีเดียวกัน


ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องราวชีวิตในวัยหนุ่มของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งพ้นสภาพการเป็นนักศึกษาในขณะที่เข้าเรียนได้เพียง ๒ ปี พ่อของเขาจึงส่งไปดัดนิสัยที่เหมืองแร่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา
อาจินต์ ได้ไปสมัครงานที่เหมืองกระโสม และได้งานทำเพราะความใจดีของนายฝรั่งชาวออสเตรเลียที่ชื่อ มิสเตอร์แซม ชีวิตของเขาจึงได้เริ่มต้นใหม่ ณ เหมืองแร่แห่งนี้ โดยต้องใช้ชีวิตท่ามกลางป่าเขา และปราศจากเครื่องอำนวยความสะดวกใดๆ มีเพียงธรรมชาติ และความครื้นเครงจากเพื่อนร่วมงานเป็นสิ่งที่ช่วยบรรเทาความเหงา และความคิดถึงคนรัก
ตำแหน่งงานแรกที่เขาได้รับคือ กรรมกร ต้องเริ่มเรียนรู้งานหนักจากเพื่อนรุ่นพี่ เขาได้พบกับนายหัวจอห์น นายหัวฝรั่งที่มีนิสัยรักสนุก บ้าบิ่น และขยันทำงาน ได้เรียนรู้งานจากมิสเตอร์ทอม(น้องชายนายฝรั่ง) และเพื่อนคนอื่นๆ มิตรภาพ และเรื่องราวมากมายจึงเกิดขึ้น

บททดสอบความซื่อสัตย์ของเขาได้ถูกเริ่มต้น ด้วยการจัดฉากของนายฝรั่ง และเขาก็ผ่านพ้นบททดสอบนี้ไปได้ด้วยดี นายฝรั่งจึงเพิ่มเงินเดือน และให้ทำงานในตำแหน่งช่างแผนที่นอกจากนี้ นายฝรั่งได้ให้นายไข่มาเป็นผู้ช่วยอาจินต์ และทั้งคู่ได้สนิทกันอย่างรวดเร็ว
บรรยากาศในมหา’ลัยเหมืองแร่แห่งนี้ดูจะไปได้สวยแต่ก็ต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจทำให้บริษัทแม่ที่ประเทศมาเลเซีย สั่งปิดกิจการ และเขาก็ต้องกลับไปใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯตามเดิม

จากวรรณกรรมชิ้นรวมเรื่องสั้นเหมืองแร่ ของอาจินต์ ปัญจพรรค์ เมื่อนำมาถ่ายทอดเรื่องราวเป็นภาพยนตร์ ย่อมเป็นที่จับตามองของผู้ติดตามผลงานของนักเขียนผู้นี้ ซึ่งจิระ มะลิกุล ก็ไม่ทำให้ผู้ชมผิดหวัง เพราะสามารถนำเรื่องสั้นที่มีความยาวถึง ๑๔๒ ตอน มาถ่ายทอดได้อย่างลงตัว

ภาพยนตร์เรื่องนี้ เปิดฉากโดยการเล่าถึงพระเอก ซึ่งพ้นสภาพการศึกษาจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากเหตุการณ์นี้ถือเป็นปมปัญหาเริ่มต้นของเรื่อง กล่าวคือ เหตุการณ์นี้ทำให้พ่อของตัวละครเอก ส่งไปดัดนิสัยโดยให้ไปภาคใต้เพื่อไปทำงาน ซึ่งตัวเอกเลือกไปที่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา และไปสมัครงานที่เหมืองกระโสม และเมื่อวิเคราะห์ดูจากสถานที่ ว่าเพราะอะไรตัวเอกจึงไปอยู่ที่นั่นทั้งๆที่ไม่มีคนรู้จักเลย อาจเป็นไปได้ว่าพ่อของตัวเอกต้องการให้เขาได้เรียนรู้ชีวิตอย่างแท้จริง เหมือนกับการส่งลูกหลานไปเรียนต่างจังหวัดของคนทั่วๆไป และอีกประการหนึ่งน่าจะมาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจในขณะนั้นที่ตำแหน่งงานในเมืองกรุงคงไม่มีที่ว่างพอให้คนที่เรียนไม่จบอย่างเขาได้แสดงฝีมือ

การดำเนินเรื่องโดยใช้น้ำเสียงของตัวเอกเป็นผู้เล่าเรื่อง ทำให้รู้สึกเหมือนกับเรากำลังฟังเพื่อนเล่าประสบการณ์ชีวิตให้ฟัง แตกต่างตรงที่หากเรานั่งฟังเพื่อนเล่าเรื่อง หน้าที่ของเราก็คือต้องจินตนาการตามไปด้วย ซึ่งบางสถานการณ์ การไม่มีประสบการณ์ร่วมจึงทำให้เราจินตนาการไม่ถึง และสูญเสียสุนทรียภาพในการฟัง แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้บรรยายภาพไว้ทุกสถานการณ์ ทำให้เราเพลิดเพลิน และคล้อยตามตัวละครไปอย่างไม่รู้ตัว ซึ่งสิ่งนี้คือลักษณะที่ดีของงานศิลปะ ที่สามารถทำให้ผู้เสพเข้าไปอยู่ในภวังค์และมีอารมณ์ร่วมกับงานนั้นๆ เช่นเมื่อตัวละครกล่าวถึงเหมืองแร่ ก็จะมีฉากเกี่ยวกับเหมืองแร่ ทำให้ผู้ที่ไม่รู้จักกับเหมืองแร่มาก่อนเห็นภาพจริงของสถานที่ได้

ดนตรีที่ใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ สามารถทำให้หัวใจพองโตทุกครั้ง เสมือนเป็นปฏิกิริยาตอบรับกับสารที่ผู้สร้างงานศิลปะต้องการสื่อออกมา เช่น ตอนที่นายฝรั่งพาพระเอกไปยังเหมืองแร่ครั้งแรก ดนตรีที่ประกอบก็ให้ความรู้สึกที่ตื่นตาตื่นใจ แระหนึ่งว่าเราเป็นตัวละครเอกเสียเอง หรือเพลงที่คุ้นหูหลังจากชมภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ เพลง you’re my sunshine ที่นายฝรั่งนำมาสอนคนงานที่เหมือง ก็เป็นบรรยากาศที่น่าประทับใจ และรับรู้ได้ถึงความอบอุ่นที่เจ้านายมอบให้กับรุ่นน้องหากเปรียบเหมืองแร่เป็นมหาวิทยาลัย ดิฉันคิดว่านายฝรั่งคงเป็นอาจารย์ที่ดีประจำมหาวิทยาลัยอย่างแน่นอน

เสน่ห์อีกสิ่งหนึ่งของเรื่องนี้ที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้ ก็คือภาษาอันสละสลวย เป็นที่ทราบกันดีว่าผลงานเรื่องนี้นำมาจากงานเขียน และที่สำคัญไปกว่านั้นคืองานเขียนของศิลปินแห่งชาติด้านวรรณศิลป์ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตัวละครจะดำเนินเรื่องด้วยภาษาอันมีศิลปะ หรือวรรณศิลป์นั่นเอง เช่น บทพูดตอนเริ่มเรื่อง ที่พระเอกกล่าวว่า “ใบพ้นสภาพการเป็นนักศึกษาเป็นสมบัติที่มีค่ามากที่สุดในบรรดาสมบัติที่ไม่มีค่าเลยของผม” หรือจากคำพูดที่สร้างภาพพจน์ประชดฝนตกว่า “ฝนตกมากจนภูเขาละลาย ใบไม้โงหัวไม่ขึ้น” เป็นต้น

การลำดับเรื่องของตัวละคร ใช้การเปรียบเทียบสี่ปีในเหมืองแร่เหมือนกับสี่ปีในมหาวิทยาลัย โดยเล่าถึงปี ๑ ของตัวเอกว่าไม่ต่างกับเด็กหอที่เพิ่งสอบติดทั่วๆไป ซึ่งต้องคิดถึงบ้านเป็นเรื่องธรรมดา นอกจากนี้ยังมีการเล่าว่ามีเหตุการณ์รับน้อง เป็นต้น ในส่วนปี ๒ และปี ๓ เป็นภาพที่พระเอกกำลังปรับตัวได้ดี เริ่มอยู่กับเพื่อนมากขึ้น และเกิดมิตรภาพขึ้นมากมาย จนเรื่องดำเนินมาถึงปีสุดท้าย ที่ดิฉันรู้สึกใจหายไปกับตัวละครด้วย เพราะเรื่องกำลังอบอุ่น แต่เหมืองก็ต้องมาปิด

การลำดับเรื่องในลักษณะที่กล่าวมาข้างต้น เป็นสิ่งที่ดี เพราะสามารทำให้คนดูลำดับความคิดตามได้ง่าย เข้าใจถึงแก่นเรื่องได้รวดเร็ว ไม่ต้องตีความและเหมาะกับผู้ชมทุกวัย เพราะความหมายของสารสามารถสื่อได้โดยตรง โดยไม่ต้องอาศัยการตีความมากนัก
ในตอนท้ายของเรื่องที่พระเอกต้องใช้หนี้ให้อาโก เจ้าของร้านชำก็ให้ความรู้สึกที่เงียบเหงา จนมาถึงตอนจบที่มีเพลง you’re my sunshine ขึ้นพร้อมกับภาพบรรยากาศของตัวละครต่างๆในเรื่องแล้วภาพเคลื่อนไหวก็กลายเป็นรูปภาพขาวดำ และตัดภาพไปที่ตัวละครเอกสองตัวที่ยังมีชีวิตอยู่กลับมาพบกัน มานั่งคุยกัน ได้แก่ อาจินต์ และไข่ ลักษณะเช่นนี้เราคงเคยพบแล้วกับภาพยนตร์เรื่องไททานิค ตรงนี้ดิฉันคิดว่าเป็นเทคนิคที่ดีมาก เพราะเป็นการเพิ่มอารมณ์ให้เข้าถึงเรื่องได้มากขึ้น หรือภาษาพูดก็คือ รู้สึกอิน กับภาพยนตร์ ลักษณะเช่นนี้เหมือนกับการก่อไฟ พอไฟติดดีแล้ว ก็เพิ่มถ่านไปให้ไฟมันร้อนแรงขึ้น และดิฉันไม่อยากให้ภาพยนตร์เรื่องนี้จบ ยังต้องการอิ่มเอมกับความประทับใจอีก

เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบของภาพยนตร์ดังที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด ความน่าสนใจ
ก็ปรากฏไม่น้อย และยิ่งเมื่อได้ศึกษาจากเนื้อเรื่องก็ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจอีกเป็นทวีคูณ เพราะแก่นเรื่องและข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้ ล้วนแต่มีความหมายเป็นอย่างยิ่ง แก่นเรื่องที่ปรากฏคือ ปริญญาไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตเสมอไป หากแต่ว่าประสบการณ์ และมิตรภาพต่างหากที่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในเนื้อเรื่องนี้

ในส่วนของข้อคิดในเรื่องอันสะเทือนใจ มีปรากฏหลายแห่งเช่นเดียวกัน เช่นคำพูดของชายชราเพื่อนต่างวัยของพระเอก มักจะมีคำพูดดีๆมาสอนพระเอกเสมอ เช่น “ความทุกข์ไม่มีที่ระลึก” หมายความว่าไม่ต้องการเห็นพระเอกนั่งทุกข์กับความผิดหวังในความรัก หรือในตอนจบที่ชายชราผู้นี้นุ่งผ้าขาวม้ากลับตัวเดียว เพราะบอกว่ามาแค่ไหนก็อยากกลับไปแค่นั้น เป็นต้น

สิ่งที่น่าปรับปรุงของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือ นักแสดงนำชาย หรือพระเอก เนื่องจากในบางอารมณ์ นักแสดงผู้นี้ยังเข้าไม่ถึงบท แต่ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของเขาก็เป็นได้

มหา’ลัยเหมืองแร่ เป็นภาพยนตร์ที่รงคุณค่าในความรู้สึกส่วนตัวของดิฉัน ดิฉันหลงรักภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งแต่ได้ชมในครั้งแรก ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่ รวมไปถึงทุกๆคนควรชม เพราะอาจทำให้มีมุมมองใหม่ๆกับการให้ความสำคัญเฉพาะการเรียนในมหาวิทยาลัย เหมือนที่ดิฉันได้พบแล้ว

3 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมชอบมากเลยครับ ดูมาสามสิบครั้งยังไม่เบื่อเลย สุดยอดครับ ให้สิบห้าดาวเลย ผมหรักคูนๆๆๆๆๆๆๆๆ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

มีอีกใหมครับหนังดีๆแบบนี้ใครรู้บอกผมหน่อย แล้วใครรู้จักอาจิน บ้างครับ ผมอยากนั่งคุยกับเขาจัง ดูหนังแล้ววึ้งมากเลย

galileoyachting กล่าวว่า...

ผมก็ชอบบบบบบมากๆ