วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2551

ตำบลช่อมะกอก


ตำบลช่อมะกอก
วัฒน์ วรรลยางกูร
ปีที่พิมพ์ : 4/2542
แพรวสำนักพิมพ์
จำนวนหน้า : 167 หน้า
ราคา: 105 บาท

ตำบลช่อมะกอกเป็นผลงานการเขียนนวนิยายของวัฒน์ วรรลยางกูล ซึ่งเป็นวรรณกรรมเพื่อชีวิตที่วัฒน์ได้สรรค์สร้างผ่านปลายปากกาในช่วงสมัย 6 ตุลา 2519 ในขณะนั้นแผ่นดินไทยกำลังร้อนระอุจากเหตุการณ์การรวมตัวกันของนักศึกษาประชาชนที่เห็นความอยุติธรรมในสังคม ด้วยเพราะวัฒน์ วรรลยางกูลมีอาชีพเป็นนักข่าว ได้เก็บเกี่ยวข้อมูล เห็นภาพการกดขี่ข่มเหงที่เกิดขึ้นในสถานการณ์สังคมบ้านเมืองยุค 14 ตุลาคม 2516 – 6 ตุลาคม 2519 แล้ว จึงกลั่นกรองความคิดความรู้สึกร้อยผ่านตัวอักษรออกมาเป็นเรื่องราวของการต่อสู้ สะท้อนความเป็นจริงของสังคม นวนิยายเรื่องนี้จึงไม่ใช่เป็นนวนิยายที่อ่านแล้วรู้สึกจรรโลงใจ หากแต่ผู้อ่านจะเห็นภาพความจริงที่ถูกปิดบังมาโดยตลอด การต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีขึ้นของชาวบ้านนักศึกษาจึงเป็นแรงบันดาลใจให้วัฒน์ได้กำเนิดวรรณกรรมเพื่อชีวิตเรื่องนี้


ตำบลช่อมะกอกเป็นเรื่องราวการต่อสู้ของชาวนาไทย ที่โดนรังแกจากบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้รักษาความถูกต้องของสังคม โดยกลุ่มคนเหล่านั้นได้กดขี่ข่มเหงคนที่มีอาชีพเป็นชาวนา อาชีพที่เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของชาติ จนทำให้กลุ่มชาวนาแห่งตำบลช่อมะกอกต้องพบเจอกับความทุกข์ยากอยากแสนสาหัส ความเดือดร้อนเหล่านี้หาได้กระทบแต่ตัวของชาวนาไม่ หากแต่สะเทือนถึงปากท้องของลูกเมีย ชาวนาตำบลช่อมะกอกหลายรายที่ในอดีตมีที่นาเป็นของตนกลับต้องมาเผชิญหน้ากับพวกปีศาจร้ายที่จ้องจะเอาแต่ผลประโยชน์ ด้วยอาศัยกำลังเงินและความรู้ที่เหนือกว่าเหยียบย่ำชาวนาตำบลช่อมะกอกจนไม่มีที่ดินที่นาเป็นของตนเอง ต้องเช่านาที่อดีตเคยเป็นของตนมาจากพวกสูบธรณี พอผลผลิตข้าวออกดอกออกผลเป็นรวงสีทองอร่าม ชาวนาเหล่านั้นหวังจะเงยตาอ้าปากให้สมกับความทุกข์ยากที่กว่าจะได้ข้าวมา กลับต้องมาสูญเสียข้าวไปเพื่อชดเชยหนี้ให้คนเห็นแก่ตัว จากข้าวที่เป็นความหวังกลับกลายเป็นข้าวที่เปื้อนไปด้วยคราบน้ำตาของชาวนาแห่งตำบลช่อมะกอก


ความทุกข์ยากเหล่านั้นทำให้ชาวนาตำบลช่อมะกอกทนไม่ไหว จึงเกิดการรวมตัวกันตั้งเป็นสหพันธ์ชาวนาแห่งตำบลช่อมะกอก เพียงเพื่อจะเรียนรู้ทันกลโกงของปีศาจนายทุนหน้าเลือด แต่ทว่าเหตุการณ์กลับดำเนินไปในทางที่แย่ลง เมื่อพวกคนหน้าเนื้อใจเสือเห็นว่าการกระทำเหล่านั้นได้ขัดผลประโยชน์ตน จึงลงมือขัดขวาง ใส่ร้ายป้ายสีว่าการกระทำนั้นผิดกฎหมาย เป็นการกระทำของพวกคอมมินิตย์ ไข้ปากกระบอกจึงแพร่ระบาดขึ้น ใครที่คิดต่อกรกับปีศาจหน้าเลือดกลุ่มนี้ก็จะโดนไข้ปากกระบอกสังหารเสีย ชีวิตชาวนาตำบลช่อมะกอกที่คิดจะต่อสู้กลับราคาถูกกว่าลูกตะกั่วลูกเล็กๆ แล้วการดิ้นรนต่อสู้ของชาวนาแห่งตำบลช่อมะกอกจะสิ้นสุดลงที่ใด ความถูกต้องจะหวนคืนกลับมาได้หรือไม่ และชาวนาแห่งตำบลช่อมะกอกจะสามารถกลับมาดำรงความสุขกับวิถีชีวิตเรียบง่ายได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้มีคำตอบอยู่ใน การต่อสู้ของชาวนา ตำบลช่อมะกอก


ตำบลช่อมะกอกเป็นวรรณกรรมก้าวหน้าหรือที่เรียกว่าวรรณกรรมเพื่อชีวิต เรียกร้องให้สังคมหันกลับมามองปัญหาของชาวนาไทย ลักษณะการเปิดเรื่องได้แสดงให้เห็นฉากและบรรยากาศของท้องทุ่งท้องนา อบอวลไปด้วยกลิ่นของฟางข้าวที่อดีตเคยเป็นสถานที่แห่งความสุข แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นที่สถานที่ที่คละคลุ้งไปด้วยหยาดเหงื่อและน้ำตาของชาวนาที่ทุกข์ยาก นวนิยายเรื่องนี้จึงมีลักษณะของฉากและบรรยากาศที่โดดเด่น ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพตามที่ผู้เขียนต้องการถ่ายทอด ด้วยสถานการณ์ของเรื่องที่ชวนติดตามจึงทำให้อ่านแล้วรู้สึกอยากอ่านต่อไปเรื่อยๆ


ความขัดแย้งของตัวละครก็เป็นประเด็นที่ผู้เขียนต้องการสื่อออกมา สะท้อนให้เห็นภาพการต่อสู้ของชาวบ้านนักศึกษาที่เป็นอยู่ในขณะนั้น จึงทำให้ปมปัญหาที่ผู้เขียนสร้างขึ้นมาและต้องการจะแก้ไขนั้นเป็นไปอย่างน่าสนใจ เพราะเกี่ยวพันกับสถานการณ์บ้านเมือง จึงทำให้ไม่รู้สึกแปลกใจเลยว่า ทำไมนวนิยายเรื่องนี้จึงเป็นวรรณกรรมต้องห้ามในสมัยนั้น เรื่องตำบลช่อมะกอกจึงมีเนื้อเรื่องที่ชวนติดตาม บวกด้วยตัวละครที่สร้างมาให้เห็นความแตกต่าง บุคลิกที่โดดเด่น แม้นวนิยายเรื่องตำบลช่อมะกอกจะเป็นเรื่องที่สะท้อนความจริง หากแต่เป็นความจริงที่ผู้เขียนสร้างตัวละครได้อย่างลงตัว


ลีลาการเขียนนวนิยายเล่มนี้ ผู้เขียนได้แบ่งเนื้อเรื่องออกเป็นตอนๆ ซึ่งในแต่ละตอนจะแสดงบทบาทการดำเนินเรื่องอย่างง่ายๆ และบางตอนก็จะสะท้อนความคิดของตัวละครแต่ละตัว ทำให้ผู้อ่านมองเห็นความรู้สึกนึกคิดของตัวละครที่ผู้เขียนต้องการสื่อ ภาษาที่ใช้เป็นภาษาชาวบ้านที่เข้าใจง่ายและสื่อสารออกมาอย่างเรียบง่าย นำพาให้ผู้อ่านดำดิ่งไปกับห้วงแห่งความทุกข์ยากของชาวนา และได้สัมผัสกับความเป็นจริงที่แสนโหดร้ายที่เกิดขึ้นจริงในสังคม สะเทือนอารมณ์ไปกับภาพชาวนาที่โดนเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต่างก็เป็นเหตุการณ์จริงที่ดำเนินอยู่ไม่ไกลไปจากชีวิตของเราเลย


ปกของนวนิยายเล่มขนาดกะทัดรัดมือเล่มนี้ใช้ภาพของฉาก คือบรรยากาศท้องทุ่งท้องนา แสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดในเรื่องเกิดขึ้นที่ใด ตัวพื้นปกเป็นสีขาวนวล มีภาพควายสามตัวกำลังเล็มหญ้าอยู่ข้างกองฟาง เบื้องหลังเป็นพื้นนาไกลสุดลูกหูลูกตา เห็นถึงความแห้งแล้ง ถึงแม้สีปกจะไม่ฉูดฉาดแต่ภาพปกกลับสะท้อนความจริงบางอย่างที่ดึงดูดผู้อ่านให้เปิดอ่าน และเมื่อหยิบขึ้นมาอ่าน ผู้อ่านก็จะได้ซึมซับความทุกข์ยากไปพร้อมกับชาวนาแห่งตำบลช่อมะกอกจนไม่อยากวางหนังสือลงเลยทีเดียว


ตำบลช่อมะกอกเป็นนวนิยายเรื่องแรกของผู้เขียน ซึ่งตัวผู้เขียนเองได้ผ่านการเขียนเรื่องสั้น บทความ เรียงความที่มีคุณค่ามามากมายผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ และด้วยเนื้อเรื่องของนวนิยายเรื่องนี้ก็สะท้อนความสะเทือนอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับชีวิตของชาวนาได้อย่างถึงพริกถึงขิง ลีลาการเขียนที่โดดเด่นของฝีมือนักเขียนมือทองคำคนนี้ จึงเป็นสิ่งที่การันตีคุณภาพนวนิยายเล่มนี้ได้เป็นอย่างดี


ผู้อ่านคนใดที่อยากลิ้มลอง อยากเข้าถึงนทีชีวิตแห่งทุกข์ยากของชาวนา ก็ขอแนะนำให้ลองยื่นมือออกไปหยิบฉวยความรู้ที่จับต้องได้เล่มนี้ขึ้นมาอ่าน หนังสือที่ต้องการพลังจากคนทุกเพศทุกวัย ให้ร่วมกันต่อสู้ไปกับสิ่งชั่วร้าย ผู้อ่านจะซาบซึ้งไปกับน้ำใจของเพื่อนมนุษย์ที่แสนจะบริสุทธิ์ และเห็นความใสสะอาดผ่านน้ำใจของชาวบ้านตำบลช่อมะกอก แต่ในขณะเดียวกันก็จะเห็นความชั่วร้ายของคนหน้าซื่อใจคด ที่ปัจจุบันมีให้เห็นอยู่เกลื่อนเมือง ผ่านลีลาการเขียนที่โดดเด่น การดำเนินเรื่องที่เรียบง่ายแต่กลับตรึงใจผู้อ่าน สอดแทรกข้อคิดให้ผู้อ่านได้ขบคิดความหมายตาม นวนิยายเรื่องนี้จึงมีคุณค่าเหลือคณานับที่ผู้อ่านจะต้องหยิบขึ้นมาพิสูจน์ด้วยตนเอง รับรองท่านต้องวางหนังสือเล่มนี้ไม่ลงเลยทีเดียวเชียว

กนกกาญจน์

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สะกดนามสกุลของผู้เขียนผิดหมด บางคำเคยพูดกันแล้ว เช่น โดน ใช้คำผิดที่ผิดทางต้องไปอ่านงานเขียนอื่นๆ ให้มากกว่านี้ กะทัดรัดมือ อยากลิ้มลอง เกลื่อนเมือง

บทจบไม่สร้างความประทับใจ


7