วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2551

ป่าน้ำค้าง


ป่าน้ำค้าง
กนกพงศ์ สงสมพันธุ์
พิมพ์ครั้งที่ ๒
สำนักพิมพ์นาคร
๘๐ หน้า ภาพประกอบ
ราคา ๗๐ บาท


“ป่าน้ำค้าง” เป็นหนังสือรวมบทกวีนิพนธ์ และเป็นหนังสือเล่มแรกของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ นักเขียนรางวัลซีไรต์ปี 2539 จากรวมเรื่องสั้นชุดแผ่นดินอื่น รวมกวีนิพนธ์ป่าน้ำค้างพิมพ์ครั้งแรกในปีพ.ศ.2532 และถูกตีพิมพ์อีกครั้งในปีพ.ศ.2549


กนกพงศ์ ได้รับแรงบันดาลใจในการประพันธ์กวีนิพนธ์เล่มนี้จากสภาพบ้านเมืองที่เขาพบเจอ ใน เขาเกิดในภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราชในยุคที่ความขัดแย้งทางการเมืองโดยเฉพาะแถบเทือกเขาบรรทัดอันเป็นถิ่นกำเนิด เป็นความขัดแย้งระหว่างกองกำลังของรัฐกับกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เป็นความขัดแย้งอย่างรุนแรง จากการปราบปรามแบบเหวี่ยงแห และ มาตรการในการกำจัดแบบตัดรากถอนโคนและการทารุณกรรมของฝ่ายรัฐบาลที่เรียกว่า "ถังแดง" และการตัดใบหูของศพเพื่อแลกกับเงินรางวัลของกองกำลังพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่เกิดขึ้นเพื่อปราบปรามผู้ที่มีความเห็นขัดแย้งกับรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะ ก่อนที่จะมีนโยบายการเมืองนำการทหารตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท เป็นนายกรัฐมนตรี

กนกพงศ์เห็นพลังของประชาชนเป็นพลังอันบริสุทธิ์ เปรียบเสมือนน้ำค้างในยามเช้า เขาใช้เวลาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และกลั่นกรองเป็นบทกวีเพื่อหวังจะเป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดเรื่องราวและหวังเป็นอย่างยิ่งให้มีผู้อื่นได้ถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้สืบไป

“ป่าน้ำค้าง” ถ่ายทอดเรื่องราวด้วยถ้อยคำง่ายๆ แต่แฝงไปด้วยความหมาย และนัย ของเรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยใช้ธรรมชาติ ป่าไม้ และหมู่บ้าน โดยแบ่งเป็นสี่ตอน ฤดูเพาะปลูก, ข่าวคราวจากหมู่บ้าน, สัมผัสแห่งแผ่นดิน และความขัดแย้ง ตามลำดับ ก่อนเริ่มบทกวีในตอนหนึ่งๆ จะมีข้อความสั้นๆ เพื่อเกริ่นนำ

“ฤดูเพาะปลูก” ตอนแรกของป่าน้ำค้าง กล่าวถึงการกลับมาของฤดูฝน ฤดูแห่งการเพาะปลูกและเจริญงอกงามของพืชพรรณต่างๆ เมล็ดพรรณแห่งความดี และความกล้าหาญ คือสิ่งที่ผู้เขียนอยากให้ปลูก ซึ่งแท้จริงแล้วกนกพงศ์หมายถึงการลุกขึ้นมาต่อสู้อย่างกล้าหาญและเชื่อมั่นในความดี

“ข่าวคราวจากหมู่บ้าน” บทกวีในตอนนี้ เล่าเรื่องราวและสะท้อนสังคมชนบทที่กำลังถูกกลืนด้วยวัฒนธรรมใหม่จากในเมือง และความเจริญจากวิทยาการใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า ผับบาร์ต่างๆ ทำให้สังคมเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง สังคมชนบทอันเรียบง่ายกำลังถูกทำลาย

“สัมผัสแห่งแผ่นดิน” เรื่องราวของนักต่อสู่ยุคแล้วยุคเล่า ที่ตู่สู้เพื่อผืนแผ่นดินอย่างกล้าหาญ
ร่างแล้ว ร่างเล่า แอบร่างอยู่ในดิน เป็นอาหารให้ป่าไม้ใบหญ้าในผืนป่า หวังให้มีชนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาต่อสู่ ย่ำรอยเท้าบนแผ่นดินอย่างคนรุ่นก่อน เพื่อสร้างสังคมยุคใหม่

“ความขัดแย้ง” สิ่งที่ยังคงมีอยู่บนแผ่นดินนี้ แผ่นดินไทย ผู้เขียนยังคงวางตัวเป็นคนนอกมองเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เขาหวังเพียงสันติที่เกิดขึ้นจากหลายคนที่ยอมพลีชีพลง ภายให้เทือกเขาที่เขายืนอยู่ และทิ้งท้ายด้วยบทกวีที่กล่าถึงประเทศชาติที่รอความล่มสลาย เพราะความคิดที่ง่ายดายของผู้คน

กนกพงศ์เรียบเรียงข้อความผ่านถ้อยคำที่เรียบง่ายร้อยเรียงเป็นบทกลอน และกลอนเปล่า อ่านง่าย แต่กินความหมายและสะเทือนอารมณ์ พรรณนาให้เห็นภาพต่างๆ ทั้งฤดูกาลที่เปลี่ยนผัน กระทั้งการต่อสู้บนเทือกเขาทางภาคใต้

คุณค่าจากการได้อ่านกวีนิพนธ์เล่มนี้คงไม่ใช่เพียงได้อรรถรสจากความไพเราะแห่งบทกวีเท่านั้น แต่ความหมาย แต่ความหวังที่กวีอยากให้ผู้อ่านได้รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น การต่อสู้อย่างกล้าหาญ ความหวังให้คนรุ่นหลังรำลึกถึงวีรกรรมที่วีรชนสร้างเอาไว้ และความหวังให้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงคุณค่าของถิ่นที่อยู่ คุณค่าของแผ่นดิน เป็นสิ่งที่กวีต้องการนำเสนออย่างแท้จริง

ถึงแม้ว่าในบทกวีของกนกพงศ์จะถ่ายทอดเรื่องราวที่เจ็บปวด ภาพของการสู้รบ แต่เขายังแฝงความหวังไว้ในบทกวี ผ่านฤดูกาลแห่งห้วงเวลา ที่ยังคงหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านมาเสมอ มามอบชีวิตให้ มาสร้างเมล็ดพรรณใหม่ นั่นหมายความว่าความหวังยังมีเสมอ

“ฝัน- ฉันจะฝ่า ในฝน
คน- จะต้องสร้างยุคใหม่
ฝน- ฉันจะฝ่า ข้ามไป
ใจ- จะต้องเหนือ เวลา”
(ท่ามกลางฝน)

เด่นนภา

1 ความคิดเห็น:

ken746 กล่าวว่า...

กนกพงศ์เกิดที่ควนขนุน พัทลุงค่ะ