วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2551

Zoo


Zoo
โอทสึอิจิ
ปีที่พิมพ์ 2548
NB Horror ในเครือเนชั่นบุ๊คส์
341 หน้า
225 บาท

Zoo เขียนโดย โอตสึอิจิ นักเขียนชื่อดังชาวญี่ปุ่น ผลงานเรื่องแรกของเขาที่ปรากฏต่อสายตาผู้อ่าน คือ ฤดูร้อน ดอกไม้ไฟกับร่างไร้วิญญาณของฉัน ซึ่งได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในการประกวดนวนิยายครั้งที่ 6 ของนิตยสาร JUMP ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 เขาได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดนวนิยายสืบสวนสอบสวนครั้งที่3 จากเรื่อง Goth: คดีตัดข้อมือ จนมาถึง Zoo ที่รวมเรื่องสั้นไว้ทั้งหมดสิบเรื่อง ทุกเรื่องล้วนเล่าถึงจิตใจอันซับซ้อนของมนุษย์ ที่ถูกความกดดันรุมเร้า จนทำให้เกิดเป็นจินตนาการด้านมืด อันเป็นจุดเด่นของนิยายของโอตสึอิจิทุกเล่ม


Zoo พาเราไปสัมผัสกับความดำมืดภายในจิตใต้สำนึกของมนุษย์ ในเรื่องสั้นทั้งหมดสิบเรื่อง เล่าถึงอารมณ์และโทนของเรื่องที่แตกต่างกันออกไป ให้ความรู้สึกที่หลากหลาย ดังเช่นในเรื่องแรก คาซาริกับโยโกะ เรื่องราวของสองพี่น้องฝาแฝดที่มีชีวิตแตกต่างกันสุดขั้ว คนหนึ่งเป็นที่รักของทุกคน มีแม่คอยเฝ้าทะนุถนอม ชีวิตช่างมีแต่ความสดใส อีกคนหนึ่งโดดเดี่ยวอ้างว้าง ถูกแม่จงเกลียดจงชังขนาดที่ว่าอยากจะฆ่าให้ตายอยู่ทุกเมื่อ เรื่องนี้สะท้อนสังคม ถึงการเลี้ยงดูภายในครอบครัว สองฝาแฝดเปรียบเหมือนคนคนเดียวกัน แต่ได้รับการเลี้ยงดูเอาใจใส่ต่างกัน จึงมีสภาพจิตใจที่ต่างกัน จนนำไปสู่เหตุการณ์ที่พลิกผันไปสู่โศกนาฏกรรมและเปลี่ยนชีวิตของพวกเธอไปตลอดกาล

เรื่องที่สองที่จะขอเขียนถึงก็คือ บทกวีแห่งมุมอุ่นไอแดด เป็นหนึ่งในตอนที่ข้าพเจ้าชอบมากที่สุด เป็นเรื่องของหุ่นยนต์สาวที่ถูกสร้างขึ้นมาเพียงเพื่อฝังชายผู้หนึ่งในวาระสุดท้ายของชีวิตของเขา แต่เธอกลับมีหัวใจ เรียนรู้ที่จะรัก และต้องมารู้จักความสูญเสีย เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าการสูญเสียเป็นสิ่งที่ต้องเกิดตามธรรมชาติ เราต้องทำใจยอมรับให้ได้ และบางครั้งความเหงาและว้าเหว่ก็อาจทำให้คนเราคิดทำเรื่องที่เห็นแก่ตัวขึ้นมาได้

เรื่องสุดท้ายที่จะขอกล่าวถึงคือ Seven Rooms ตอนนี้เป็นตอนเด่นในหนังสือเล่มนี้ ไม่ว่าจะถามใครที่ Zoo เคยผ่านตา ก็จะต้องตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าชอบตอนนี้ที่สุด เรื่องราวเล่าถึงสองพี่น้องที่ถูกจับตัวไปขังไว้ในห้องโล่งๆ ที่มีเพียงท่อระบายน้ำที่ผนังด้านหนึ่ง และประตูที่เปิดไม่ออก น้องชายที่ตัวเล็กพอจะรอดได้ ได้ไปสืบดูผ่านทางท่อระบายน้ำ เขาได้พบว่ามีห้องอยู่เจ็ดห้องด้วยกัน มีหกห้องที่มีคนอยู่ และทุกๆวันจะมีคนเข้ามาใหม่หนึ่งคน และหายไปหนึ่งคน ศพที่ลอยมาทุกวันทางท่อระบายน้ำเป็นสิ่งที่บอกได้ดีว่า คนที่หายไปไปไหน และพวกเขาจะต้องเจอกับเหตุการณ์อะไรในอีกเจ็ดวันข้างหน้า ตอนนี้เป็นตอนที่สะเทือนใจผู้อ่านมากที่สุด กับสภาพความหมดอาลัยตายอยาก และการก้มหน้ารับความตายของแต่ละคน นอกจากนั้นตอนนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงการสู้เพื่อให้มีชีวิตรอด ความรักระหว่างพี่น้อง และการเสียสละอันยิ่งใหญ่ ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า หากมีคนสำคัญให้ปกป้อง เราจะไม่กลัวแม้แต่ความตาย

เรื่องสั้นในหนังสือเล่มนี้ได้ถ่ายทอดอารมณ์ด้านมืดในจิตใจของตัวละครได้อย่างละเอียดอ่อน ขณะเดียวกันก็ก้าวร้าวรุนแรง สะท้อนปมปัญหาของสังคมญี่ปุ่นส่วนหนึ่งในปัจจุบันที่จะนำพาผู้อ่านให้รู้สึกถึงความเศร้าและความซับซ้อนอย่างน่าสะพรึงกลัวในจิตใจของคน ในขณะเดียวกันก็ได้แฝงกลิ่นอายของข้อคิด และคติสอนใจไว้ได้อย่างแนบเนียนผ่านอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครแต่ละตัว เหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ที่มีที่มาที่ไปแตกต่างกัน

Zoo จึงเปรียบเสมือนสวนสัตว์ ที่ประกอบไปด้วยสัตว์นานาชนิด ที่ถูกกักขังเอาไว้ภายในกรง เหมือนดั่งตัวเอกในทุกๆเรื่องในหนังสือเล่มนี้ ที่ต่างก็ถูกกักขังเอาไว้ในความคิด ความกลัว ความอ้างว้าง ความเครียด ความเหงา ความเจ็บปวด ความสิ้นหวังของตนเอง ซึ่งล้วนแต่น่าสะเทือนใจ Zooได้นำเอาด้านมืดที่ซ่อนไว้ในจิตใจทุกคนมานำเสนอ และพาเราไปสัมผัสกับความเป็น “มนุษย์” ในหลายรูปแบบ หลายแง่มุม มากกว่าหนังสือทั่วไปในปัจจุบัน ที่มักเสนอ ความเป็น “มนุษย์” ในด้านเดียว มีพระเอกนางเอกที่แสนดี และตัวร้ายที่แสนร้ายกาจ ต่างกับZooที่ดึงเอาความเป็น “มนุษย์” ออกมาให้เห็นได้อย่างแตกต่างน่าสนใจจนอดคิดไม่ได้ว่า ฉันที่เป็น “มนุษย์” นั้นยังไม่เข้าใจคำว่า “มนุษย์” เลย

พุทธิดา

ไม่มีความคิดเห็น: