สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์
ปรามินทร์ เครือทอง
พิมพ์ครั้งที่ ๒
สำนักพิมพ์มติชน
๙๕ หน้า ภาพประกอบ
๑๑๒บาท
เมื่อพูดถึงภาพยนตร์เรื่อง สุริโยทัย หลายๆคนคงรู้จักดีและเคยชมภาพยนตร์เรื่องนี้มาแล้ว แต่เคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมถึงต้องใช้ท่อนจันทน์ประหารชีวิตเชื้อพระวงศ์?
ประวัติศาสตร์ไทยนั้นประกอบด้วยความเป็นมา พิธีกรรมต่างๆเต็มไปด้วยความศักดิ์สิทธ์ และเมื่อกล่าวถึงประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา คนส่วนใหญ่มักจะนึกภาพประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงาม ความสงบสุขของบ้านเมือง พระมหากษัตริย์ที่ปรีชาสามารถในการสู่รบและการบริหารบ้านเมือง แต่ทราบหรือไม่ว่าภายใต้บริบทเหล่านี้ มีภาพนัยยะทางการเมืองที่รุนแรงและวุ่นวายซ่อนอยู่ โดยเฉพาะช่วงรอยต่อการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน มักจะมีเหตุการณ์แย่งชิงราชสมบัติที่นำไปสู่บัลลังก์เลือด
ทุกครั้งสิ่งที่ตามมาหลังการแย่งชิงราชสมบัติบรรลุผลคือ การลงโทษหรือการกำจัดกษัตริย์และบรรดาเชื้อพระวงศ์ของกษัตริย์องค์ก่อนเสีย เพื่อป้องกันการกลับมาทวงบัลลังก์ ซึ่งมีทั้งที่ได้รับพระเกียรติสูงสุดในวาระสุดท้าย และมีทั้งที่ต้องทนทุกข์ทรมานอย่างไร้เกียรติเช่นกัน ตามโบราณราชประเพณีได้กำหนดการมอบพระเกียรติแก่พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ในวาระสุดท้ายไว้อย่างเคร่งครัด ดังที่ปรากฏอยู่ในกฎมนเทียรบาล เพื่อเป็นการรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์ที่ว่าเกิดเป็นกษัตริย์ก็ต้องตายอย่างกษัตริย์
สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ ผลงานการเขียนของคุณปรามินทร์ เครือทอง มีเนื้อหาที่เน้นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ในเรื่องของการใช้ท่อนจันทน์เป็นอาวุธสำเร็จโทษ(ประหารชีวิต) ตามกฎมนเทียรบาล (กฎหมายลักษณะหนึ่งในมาตราสามดวง ว่าด้วยระเบียบแบบแผนอันเกี่ยวเนื่องกับราชสำนัก)
“...โบราณราชประเพณีได้กำหนดการมอบพระเกียรติแก่พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ ในวาระสุดท้ายไว้อย่างเคร่งครัด...ทั้งนี้เพื่อรักษาความศักดิ์สิทธ์ของสถาบันกษัตริย์ไว้ไม่ให้เสื่อม คือผู้ที่เกิดอย่างเจ้าก็ควรจะตายอย่างเจ้าเช่นกัน...”
การลงโทษประหารชีวิตพระเจ้าแผ่นดินหรือเชื้อพระวงศ์นั้นมีข้อกำหนดตามกฎมนเทียรบาลที่สำคัญเรื่องหนึ่งคือ คนธรรมดาสามัญไม่สามารถถูกเนื้อต้องตัวกษัตริย์ได้ ดังนั้นในการทำการลงโทษประหารจะมีการจับเจ้านายใส่ถุงแดงก่อนแล้วจึงทำการสำเร็จโทษตามประเพณี เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ใดผู้หนึ่งจับต้องพระวรกายของเชื้อพระวงศ์ และป้องกันไม่ให้ผู้ใดได้เห็นพระศพ
สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ เป็นหนังสือที่มีความน่าสนใจอย่างมากสำหรับผู้ที่สนใจเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และบุคคลทั่วไปก็สามารถอ่านได้ เพราะใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย กระชับ เนื้อหาชวนติดตาม อีกทั้งผู้เขียนได้มีการศึกษาค้นคว้าข้อมูลเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียด จะเห็นได้จากทุกบทของหนังสือเรื่องนี้มักจะมีการอ้างอิงที่มาของข้อมูลจากหลายๆแหล่ง ตัวอย่างเช่น
บทที่ ๑ หัวข้อเรื่องกฎมนเทียรบาล ผู้เขียนได้อ้างอิงเนื้อหาข้อมูลทั้งจากหนังสือ กฎหมายเล่ม ๒ สำหรับผู้พิพากษาแลทนายว่าความของพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หนังสือกฎหมายไทย ฉบับหมอบรัดเลย์ และหนังสือ กฎหมายตราสามดวง ฉบับ ร.แลงการ์ เป็นต้น
กลวิธีการเล่าเรื่องนั้นไม่ต่างจากเวลาอ่านหนังสือแนวสืบสวนสอบสวน ที่มักจะมีปมปัญหาให้เราขบคิดหาคำตอบ แล้วปมปัญหาจะค่อยๆคลี่คลาย และการเกิดอารมณ์สะเทือนใจของผู้อ่านที่มีต่อผลของพิธีกรรมลงโทษอันสลับซับซ้อน
รายละเอียดเรื่องก็จะเป็นการให้ข้อมูล การตีความโดยอิงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อธิบายให้เกิดจินตนาการตามและตอบข้อสงสัยต่างๆ อาทิ สาเหตุที่เชื้อพระวงศ์ถูกสำเร็จโทษ ทำไมถึงต้องใช้ท่อนจันทน์และมีผ้าแดงคลุม ขั้นตอนการสำเร็จโทษ การวิเคราะห์สถานที่ใช้ในการสำเร็จโทษ
สิ่งที่สะท้อนอย่างเด่นชัดในเรื่องก็คือ จุดมุ่งหมายของพิธีกรรมที่ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดก็เพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์ ถ้าหากเกิดเป็นกษัตริย์ก็ต้องตายอย่างกษัตริย์จะตายอย่างสามัญชนไม่ได้ เพราะจะทำให้สถาบันกษัตริย์ลดความน่าเชื่อถือลงไป ทั้งนี้เพราะประชาชนก็อาจจะคิดได้ว่ากษัตริย์ก็เป็นแค่คนธรรมดา เวลาถูกลงโทษประหารชีวิตก็กระทำด้วยวิธีที่ไม่ต่างจากไพร่
หากใครอยากเพิ่มพูนความรู้ใหม่ๆ สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ คือทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่รักการอ่าน ด้วยเนื้อหาที่ไม่ยาวจนน่าเบื่อและไม่สั้นจนไม่ได้ใจความ หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้ผู้อ่านมีมุมมองที่กว้างและลึกซึ้งขึ้นได้
ชินาภรณ์
วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น