วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2551

ลูกป่า


ลูกป่า
มาลา คำจันทร์
พิมพ์ครั้งที่ 13 ปีที่พิมพ์ 2551
สำนักพิมพ์เคล็ดไทย
184 หน้า ภาพประกอบ
110 บาท



“ลูกป่า” เป็นวรรณกรรมเยาวชนอีกหนึ่งผลงานของ มาลา คำจันทร์ ได้รับรางวัลดีเด่นบันเทิงคดีสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่นจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2525 และรางวัลจากคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2525

วรรณกรรมเยาวชนเรื่อง “ลูกป่า” ผู้เขียนเขียนเพื่อส่งเสริมคุณธรรมแก่เยาวชนในรูปแบบบันเทิงคดี จากคำชักชวนของเจ้าหน้าที่ในกระทรวงศึกษาธิการ ผู้เขียนผูกเรื่องราวจากตัวละคร 3 คน คือ เมืองคำ ลูกป่าพื้นราบวัย 14 ปี เขาชอบทำอะไรด้วยตนเอง ชอบเข้าป่าล่าสัตว์เหมือนพ่อ เมืองคำไม่ชอบพวก ยาง หรือ คนดอยสูงที่มีกลิ่นตัวเหม็นสาบแบบ ยาชิ ลูกป่าดอยสูงรุ่นราวคราวเดียวกับเมืองคำ ยาชิเป็นเด็กมีน้ำใจ เขาเคยช่วยชีวิตเมืองคำไว้ไม่ให้ถูกงูกัด ยาชิยังเป็นเด็กเรียนเก่ง เขาฝันอยากเป็นครูแต่บ้านยากจนจึงต้องสอบชิงทุนเพื่อลงจากดอยมาเรียน ยาชิสอบแพ้ ซุทอ ลูกป่าชาวยางด้วยกัน แต่ในที่สุดยาชิก็ได้ทุนลงจากดอยมาเรียนหนังสือกับเมืองคำ ทั้งสองเป็นเพื่อนรักกัน เว้นแต่ซุทอที่แม้จะเป็นชาวยางเหมือนยาชิแต่ก็คอยกลั่นแกล้งยาชิอยู่เสมอ ระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่ในหอพักโรงเรียนก็มีเรื่องราวแปลกๆเกิดขึ้นให้เมืองคำและยาชิสงสัยอยู่ตลอดเวลา

ลูกป่า เป็นหนังสือเล่มเล็กๆที่มีเนื้อหาไม่หวือหวาซับซ้อน เหมาะกับเด็กวัยเรียน ใช้ภาษาเรียบง่าย ไม่ต้องตีความมาก บางบทสนทนาก็ลึกซึ้งกินใจ เพราะเป็นคติสอนใจให้ผู้อ่านได้คิดตาม มีกลวิธีการเล่าเรื่องที่น่าติดตาม ใช้วิธีการพรรณนาสลับกับการบรรยายบรรยากาศของฉากกับตัวละครอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ทำให้ผู้อ่านสามารถจินตนาการภาพตามได้ ดิฉันคิดว่ากลวิธีการเล่าเรื่องเช่นนี้เป็นจุดเด่นที่ทำให้หนังสือเรื่องนี้มีคุณค่าน่าอ่าน นอกจากนี้ยังแบ่งเนื้อหาออกเป็นตอนๆ แต่ละตอนจะเล่าเหตุการณ์ต่อเนื่องกันไป ทำให้ผูกเรื่องราวได้ง่ายไม่สับสน ส่วนที่เป็นจุดเด่นของแต่ละตอนคือ ผู้เขียนไม่ลืมที่จะสอดแทรกข้อคิด และคำพูดที่สามารถกระทบใจผู้อ่านได้ เช่น ตอนคนสูงคนต่ำ ตัวละครชาวดอยแสดงทัศนคติให้เห็นว่าคนเราจะสูงจะต่ำไม่ได้อยู่ที่ชาติกำเนิดแต่อยู่ที่จิตใจและการกระทำ

สาระสำคัญของลูกป่า คือมิตรภาพระหว่างเพื่อน ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน นอกจากนี้ยังมีความผูกพันระหว่างพ่อกับลูกชาย และอีกหนึ่งความผูกพันที่ได้จากเรื่องนี้คือความผูกพันระหว่างชาวเขาชาวดอยกับป่าที่เป็นเสมือนชีวิต เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ แต่นานวันความอุดมสมบูรณ์ก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
ปมและวิธีการแก้ปัญหาของตัวละครในเรื่องมีความน่าสนใจ เช่นตอนที่มีสิ่งแปลกปลอมมาอยู่ในตู้และเตียงของยาชิอยู่เป็นประจำ ทำให้ผู้อ่านคิดสงสัยตามไปด้วยว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นของใคร เหตุใดจึงมาอยู่กับยาชิ และผู้เขียนสามารถคลายปมปัญหาได้ในตอนท้ายของเรื่อง ซึ่งตัวละครก็รู้ความจริงไปพร้อมกับผู้อ่านเช่นกัน
แม้ว่าหนังสือเรื่องนี้จะมีภาพประกอบเพียงเล็กน้อย แต่แต่ละภาพก็สื่อถึงเหตุการณ์และบรรยากาศของเรื่องในแต่ละตอนได้เป็นอย่างดี ผู้อ่านสามารถเข้าใจความหมายของรูปภาพได้ง่าย และหากอ่านเนื้อเรื่องของแต่ละตอนจบแล้วก็จะยิ่งเข้าใจความหมายของรูปภาพได้มากขึ้นด้วย

ปกของหนังสืออาจดูธรรมดาไม่ตามสมัยมากนัก แต่ตัวการ์ตูนที่อยู่บนปก คือตัวละครเอกนั้น ผู้ออกแบบ(คุณทองรัช เทพารักษ์) สามารถถ่ายทอดบุคลิกของตัวละครเอกออกมาเป็นลายเส้นที่น่ารักลงตัวและมีรูปร่างลักษณะตรงตามที่ดิฉันได้จินตนาการไว้ ส่วนชื่อเรื่องว่า “ลูกป่า” ตามความหมายที่ผู้เขียนต้องการบอก หมายถึง เพื่อน ความรัก ความผูกพัน และความช่วยเหลือเกื้อกูลกันในแง่ที่ว่า ไม่ว่าจะมีความแตกต่างกันอย่างไรก็ยังสามารถเป็นเพื่อนที่ดี มีมิตรภาพที่ดีต่อกันได้ ผู้เขียนยังสะท้อนให้เห็นอีกว่า ความเป็นเพื่อน ความรัก ความผูกพัน และความช่วยเหลือเกื้อกูลกันนี้ คงไม่จำกัดขอบข่ายอยู่แต่เพียงเมืองคำ ยาชิ และซุทอ เด็กชาวดอยเท่านั้น แต่จะต้องแผ่ขยายมาถึงเด็กในเมืองพื้นราบทั้งหลายด้วยเช่นกัน

หากใครกำลังมองหาหนังสือดีๆสักเล่ม หนังสือเรื่อง “ลูกป่า” น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้ท่านได้เพลิดเพลินไปกับกลวิธีการใช้ภาษาที่สวยงาม อ่านแล้วผ่อนคลาย และหลังจากที่ท่านได้อ่านเรื่องลูกป่าแล้ว ท่านจะรู้ว่ามิตรภาพระหว่างเพื่อนนั้น สร้างได้ไม่ยาก เพียงแค่เรามีความจริงใจต่อกันและกัน อีกทั้งการนำเรื่อง “ลูกป่า” กลับมาตีพิมพ์ซ้ำถึง 13 ครั้ง ก็เป็นเครื่องรับรองและยืนยันความมีคุณค่าในการจรรโลงใจผู้อ่านได้ ซึ่งเป็นคุณภาพที่ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ใดใดอีก

ชนิกรรดา

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณค่ะ สำหรับบทความดี ๆ