วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

Shine ชายผู้ส่องแสงเปล่งประกาย


นพวรรณ



เดวิด เฮลฟ์ก็อทท์ (David Helfgott) เด็กชายผู้มีพรสวรรค์ทางด้านดนตรี ซึ่งไม่เคยได้สัมผัสกับความสนุกสนานเหมือนกับเด็กคนอื่นๆในวัยเดียวกัน แต่กลับต้องมาคร่ำเคร่งอยู่กับการฝึกซ้อมเปียโนและเข้ารับการแข่งขันต่างๆ จนวันหนึ่งเขาชนะการแข่งขันและได้รับทุนไปเรียนดนตรีที่อเมริกา แต่พ่อเขากลับไม่ยอมให้ไป ด้วยเหตุผลที่ว่าเขาจะไม่ยอมให้ใครมาทำลายครอบครัวของเขาได้ เดวิดจึงต้องกลับมาใช้ชีวิตแบบเดิมๆ โดยมี แคทเธอรีน พริทชาร์ด นักเขียนหญิงสูงวัยเป็นที่พึ่งทางใจ เธอคนนี้ทำให้เขาเข้มแข็งและกล้าที่จะทำตามที่ใจตัวเองต้องการ ทำให้เขาตัดสินใจไปเรียนดนตรีที่อังกฤษจากทุนที่เขาได้รับเป็นครั้งที่สอง พ่อของเขาประกาศตัดพ่อตัดลูกนับแต่นั้น


ที่อังกฤษ เดวิดเริ่มมีพฤติกรรมที่หมกมุ่นแต่เรื่องการเล่นเปียโน เขาสนใจดูแลตัวเองน้อยลง และทุ่มเทให้กับการฝึกฝนเพลงของแร็คแมนีนอฟ ซึ่งถือเป็นบททดสอบที่ยากที่สุดของความเป็นเลิศด้านเปียโน แต่เมื่อจบการแสดง เขาล้มลงหมดสติอยู่บนเวที และถูกนำตัวเข้ารับการรักษา เขากลายเป็นคนป่วยทางจิตและต้องพักรักษาตัวนานเกือบ 20 ปี แม้เขาจะมีสภาพที่ไม่เหมือนเดิม แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเหมือนเดิมคือเขายังคงเป็นอัจฉริยะทางด้านเปียโน ต่อมาเขาได้พบกับกิลเลียน ซึ่งเธอได้เห็นความน่ารัก ความร่าเริง อารมณ์ดีและความสามารถทางดนตรีของเขาจนเกิดความประทับใจและแปรเปลี่ยนมาเป็นความรักและเขาทั้งคู่ก็แต่งงานกัน ท้ายที่สุดเขาได้กลับมาเล่นเปียโนอีกครั้งและได้รับเสียงชื่นชมจากผู้ชมอย่างท่วมท้นท่ามกลางความยินดีของครอบครัวที่ปราศจาก “พ่อ” ของเขา

เรื่องนี้เปิดฉากในคืนที่ฝนตก ชายวัยกลางคนคนหนึ่ง วิ่งไปตามถนนท่ามกลางสายฝน และไปหยุดอยู่หน้าร้าน “โมบาย” สายตาของเขาจับจ้องอยู่ที่เปียโนในร้าน และเมื่อมีคนมาเปิดประตูให้ เขาก็เริ่มพูดเร็วจนแทบจับใจความไม่ได้ เปลี่ยนเรื่องไปมาอย่างรวดเร็วและพูดไม่หยุด เห็นได้ว่าเป็นอาการของคนที่ไม่ปกติ และจากนั้นเรื่องก็เล่าย้อนไปถึงชีวิตในวัยเด็กของเดวิด ซึ่งถูกพ่อฝึกเปียโนให้อย่างหนักเพื่อจะให้เขาชนะในการแข่งขันต่างๆ โดยไม่สนใจว่าเพลงที่ฝึกให้จะยากเกินไปสำหรับเด็กอย่างเดวิดหรือไม่

เดวิดเติบโตขึ้นมาโดยถูกพ่อตัดสินใจและจัดการให้ทุกเรื่อง ทำให้เขาสับสน ไม่รู้ว่าอะไรถูกหรืออะไรผิดเพราะพ่อจัดการให้ทุกอย่าง ทำให้เขากลายเป็นคนขาดความมั่นใจเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้คน และด้วยความรักที่มากจนเกินไปของพ่อแต่เป็นความรักแบบไม่มีเหตุผลและใจแคบ จึงกลายเป็นสิ่งที่สร้างความกดดันให้เดวิด เขาต้องเติบโตขึ้นมาอย่างเงียบเหงาและโดดเดี่ยว โดยที่พ่อของเขาอ้างความรักในการดูแลครอบครัวแบบเผด็จการ บางครั้งมีการใช้กำลังอย่างรุนแรง ตลอดจนยัดเยียดความต้องการของตนเองให้กับลูก นั่นเป็นเพราะเกิดจากความกดดันที่เขาเคยได้รับในวัยเด็กที่เคยอยากเรียนดนตรี จึงเก็บออมเงินจนสามารถซื้อไวโอลินเองได้ แต่กลับโดนพ่อทุบทิ้ง เขาจึงใช้เดวิดเป็นตัวแทนของตนในวัยเด็ก นำความฝันที่ไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากพ่อมาไว้ที่เดวิด โดยการพร่ำสอนเดวิดเสมอว่า "ลูกต้องชนะ"
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเรื่องที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์โดยเดวิดและพ่อของเขามีความคิดเห็นและมุมมองที่ไม่ตรงกัน เดวิดอยากจะไปเรียนดนตรีที่สหรัฐอเมริกา ในขณะที่พ่อกลับคัดค้านไม่ยอมให้ไป ด้วยเหตุผลที่เขารักครอบครัวของเขามากและต้องการให้ทุกคนอยู่พร้อมหน้ากัน ซึ่งเป็นทัศนคติและจิตใจที่คับแคบของเขา เขาประกาศว่าจะไม่ยอมให้ใครมาทำลายครอบครัวของเขาได้ เป็นเหตุให้เขาคัดค้านและกีดกันไม่ให้เดวิดไปอเมริกา
เดวิดต้องผิดหวังและเสียใจอีกครั้ง เมื่อเขาได้รับทุนไปเรียนดนตรีที่อังกฤษ แต่ครั้งนี้พ่อก็ยังคงไม่ให้เขาไปอยู่ดี เหตุการณ์ในตอนนี้ได้นำไปสู่จุดวิกฤติของเรื่อง ความต้องการและความฝันที่จะไปของเขา ทำให้เขาต่อต้านผู้เป็นพ่อโดยยืนกรานจะไปให้ได้ พ่อโกรธมากจนลงมือทุบตีเขาอย่างรุนแรงสุดท้ายเขาก็เลือกที่จะทำตามความฝันของเขา เขากล้าหาญและเข้มแข็งขึ้นหลังจากที่ได้ยายพริทชาร์ดเป็นที่พักพิงทางใจและยังได้คิดจากคำพูดของยายพริทชาร์ดที่ว่า “พ่อหยุดยั้งเธอไม่ได้เดวิด” ทำให้เขากล้าที่จะต่อต้านโดยไม่ฟังคำคัดค้านของพ่อ เป็นเหตุให้เขาถูกตัดพ่อตัดลูกนับแต่นั้น

เรื่องราวดำเนินมาจนถึงตอนที่เดวิดต้องขึ้นเล่นเพลงที่ถือว่ายากที่สุด นั่นคือเพลงของแร็คแมนีนอฟ เพลงที่เต็มด้วยอารมณ์และความรู้สึกมากมายที่แสนจะสับสน ทั้งท่วงทำนองที่หนักหน่วงและแสนเศร้า แต่เดวิดก็เข้าถึงอารมณ์ของเพลงนี้ได้ แต่เมื่อเขาเล่นไปจนใกล้จะจบเพลง อาการเคร่งเครียดและเหน็ดเหนื่อยอย่างมากของเขาได้แสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจน และในตอนนี้เองที่เป็นการนำเข้าสู่จุดไคลแม็กซ์ของเรื่อง เขาล้มลงหมดสติบนเวทีหลังจากบรรเลงเพลงจบ
หลังจากนั้นเขาได้กลายเป็นผู้ป่วยทางจิต มีความคิดที่รวดเร็ว ไม่ปะติดปะต่อ พูดเร็วและมีการพูดคนเดียว อีกทั้งยังคงคิดถึงเรื่องราวในอดีตว่าตนเองทำผิดจึงเป็นสาเหตุให้เกิดเรื่องเลวร้ายขึ้น การแสดงพฤติกรรมที่ไม่ปกติ เช่น ถอดเสื้อผ้า ไม่รักษาสุขภาพตัวเอง เล่นสนุกสนานตามที่ใจตัวเองต้องการ เหมือนจะเป็นการทดแทนสิ่งที่เขาไม่เคยได้ทำในวัยเด็ก

ด้วยความรักและความเข้าใจจากกิลเลียนและครอบครัว ทำให้เดวิดสามารถหวนกลับมาเล่นเปียโนและสามารถสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ฟังได้อีกครั้ง ฉากปิดเรื่องของหนังเรื่องนี้จบลงที่เดวิดและกิลเลียนไปที่หลุมศพของปีเตอร์ (พ่อของเดวิด) เขาเสียชีวิตไปโดยที่ไม่ทันได้เห็นความสำเร็จของลูกของเขา และในวันนี้เดวิดมีความสุขอยู่กับผู้หญิงที่รักเขาและเขาก็รักเธอมากเช่นกัน เขามีความสุขอยู่กับการเล่นเปียโนและการใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่ค่อยได้มีในช่วงอดีตที่ผ่านมา

หลังจากดูหนังเรื่องนี้จบ ทำให้ได้แง่คิดในเรื่องของ “ความรัก” ความรักซึ่งถือเป็นสิ่งที่สวยงาม แต่กลับกลายเป็นโทษ เมื่อผู้ที่มอบความรักนั้นใช้ความรักในแบบที่ผิด ความรักที่เห็นแก่ตัวจะทำให้ทุกอย่างเลวร้าย แล้วผลสุดท้ายก็ไม่มีใครมีความสุขจากความรักนั้น ปีเตอร์ให้ความรักแก่เดวิดด้วยจิตใจที่คับแคบและยัดเยียดในสิ่งที่ตนเองไม่เคยได้รับในวัยเด็กให้กับเดวิด โดยไม่เคยถามความต้องการของลูกเลย อีกทั้งยังใช้อารมณ์และบางครั้งมีใช้กำลังที่รุนแรง ทำให้สุดท้ายเดวิดก็รับไม่ไหว เขาจึงกลายเป็นคนป่วยทางจิต

พรสวรรค์และความสามารถของแต่ละคน เป็นสิ่งที่จะติดตัวคนทุกคนไปตลอด ไม่ว่าคนๆนั้นจะมีสภาพเปลี่ยนไปเช่นไร ถึงแม้ในวันที่เดวิดไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่เขายังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนก็คือการที่เขาสามารถทำให้ผู้ฟังประทับใจได้ทุกครั้งที่เขาพรมนิ้วลงบนเปียโน เหมือนกับว่า “เปียโน” ได้กลายเป็นสิ่งที่อยู่ในจิตวิญญาณของเขาไปแล้ว

หนังเรื่องนี้นำเสนอภาพของผู้ป่วยทางจิตที่สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้อย่างปกติสุขและไม่มีพิษภัย “ความรักแท้” ที่หวังดีอย่างจริงใจและความเข้าใจ จะสามารถเยียวยาให้เขามีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข สุดท้ายเขาก็ “เปล่งประกายสดใส” อย่างเต็มภาคภูมิได้อีกครั้ง

หนังเรื่องนี้ดึงเอาอารมณ์จากเหตุการณ์ต่างๆในเรื่องออกมาได้อย่างดีและน่าประทับใจอย่างมาก นักแสดงนำทั้งที่รับบทเป็นเดวิดตอนช่วงวัยรุ่นและวัยกลางคน ถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกออกมาได้อย่างดีเยี่ยม เป็นหนึ่งในหนังดีอีกเรื่องที่เมื่อดูจบแล้ว รู้สึกประทับใจอย่างมาก สำหรับทุกคนที่ชอบดูหนัง นี่เป็นหนังดีอีกหนึ่งเรื่องที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง

Shine


ปองกานต์



ภาพยนตร์ที่สร้างจากชีวิตจริงของเดวิด เฮลก็อต นักเปียโนที่ป่วยเป็นโรคจิตเพราะความกดดันจากพ่อตั้งแต่เด็ก เขาถูกตี ถูกด่าว่าสลับกับการกอดและคำปลอบโยนจากพ่อ นั่นยิ่งทำให้เขาสับสนมากขึ้น จากการเคี่ยวเข็ญของพ่อทำให้เขาสามารถคว้าชัยชนะจากเวทีการแข่งขันมากมาย จนได้รับเชิญให้ไปศึกษาต่อที่อเมริกา แต่กลับถูกพ่อปฏิเสธ


เขาได้พบกับนักเขียนหญิงชื่อดังชาวรัสเซียคนหนึ่ง และพวกเขาก็สนิทสนมกันในเวลาต่อมา เขามักจะไปเล่นดนตรีให้เธอฟังและระบายความในใจอยู่เสมอ เธอเองก็รักและเอ็นดูเขาเสมือนลูกชาย ทั้งสองจึงเป็นสิ่งเติมเต็มให้แก่กันและกัน เธอได้มอบความเชื่อมั่นให้เดวิดตัดสินใจไปเรียนต่อที่อังกฤษตามคำเชิญครั้งที่ 2 โดยไม่ฟังคำทัดทานจากพ่อ ทำให้เขาถูกตัดขาดจากครอบครัว

ต่อมาเขาก็ต้องเสียใจอย่างมากเมื่อได้รับข่าวการจากไปของนักเขียนที่เคารพ ซึ่งเป็นเพียงผู้เดียวที่ติดต่อกับเขาตลอดหลังจากมาศึกษาที่อเมริกา ขณะที่ศึกษาเขาฝึกซ้อมเปียโนอย่างหนัก จนสามารถบรรเลงบทเพลงคอนแชร์โต หมายเลข 3 ของโรมานินอฟได้สมใจพ่อ เขาชนะการแข่งขัน แต่หลังจากที่เพลงจบเขาก็หมดสติลง
เขาถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลและได้พบกับครอบครัวอีกครั้ง แต่ก็ยังคงไม่ได้รับการยอมรับจากผู้เป็นพ่อ ต่อมาเขาได้พบกับกิลเลี่ยนซึ่งเป็นนักดูดวง หลังจากที่ทั้งคู่ใช้เวลาอยู่ด้วยกัน กิลเลี่ยนก็มองเห็นความน่ารัก ความสามารถ และจิตใจที่งดงามของเขา จนในที่สุดเดวิดก็ขอเธอแต่งงาน ด้วยความรักจากกิลเลี่ยนและครอบครัว ทำให้เขากลับมาเล่นเปียโนได้อย่างน่าประทับใจอีกครั้ง

การเปิดเรื่องด้วยจุดสงสัย สร้างความน่าสนใจได้ไม่น้อยเลยทีเดียวสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ชายวัยกลางคนผู้หนึ่งไปหยุดยืนที่ร้านอาหารซึ่งปิดบริการแล้ว เขาจ้องมองที่เปียโนหลังหนึ่งในร้านพลางเคาะกระจกร้องเรียกคนข้างใน ท่าทางแปลกๆและคำพูดที่จับใจความไม่ได้ ทำให้สงสัยว่า “ทำไมเขาต้องทำอย่งนั้น” “เปียโนสำคัญอย่างไร” การนำเสนอในลักษณะนี้ทำให้เรื่องดูน่าติดตามขึ้นมาทันที

ต่อมาเรื่องราวจึงเริ่มดำเนินขึ้นโดยการเล่าย้อนไปในอดีตของชายผู้นั้น เดวิด เฮลก็อต เกือบจะทุกรายละเอียดในแต่ละฉาก มีความหมายโดยนัยแฝงไว้ตลอดทั้งเรื่อง การเล่าเรื่องจึงมิได้หยุดอยู่เพียงแค่ตัวละครเท่านั้น แต่อยู่ในทุกรายละเอียดของเรื่อง ตั้งแต่ฉาก บรรยากาศ เวลา เป็นต้น เหล่านี้ล้วนแสดงความหมายได้แจ่มชัดยิ่งกว่าการดำเนินเรื่องผ่านตัวละครเสียอีก

บ้านหลังไม่ใหญ่นัก ภายในค่อนข้างมืด บ่งบอกชัดเจนว่าบรรยากาศของที่นี่เต็มไปด้วยความกดดัน อึมครึมและไม่น่าอยู่ จึงไม่น่าจะเป็นครอบครัวที่มีความสุข รั้วบ้านที่เคยมีช่องเล็กๆก็ถูกปิดตายในเวลาต่อมา ตอกย้ำความคับแคบของความคิดจิตใจ แต่ละฉากที่ผ่านไปยิ่งทำให้เข้าใจตัวละครมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปีเตอร์ เฮลก็อต เดวิด เฮลก็อต แม่ พี่สาวและน้องสาว ทุกคนชีวิตด้วยความกดดัน และเป็นสิ่งที่เกิดจากภายในบ้านทั้งสิ้น ภาพความเกรี้ยวกราดสลับกับความอ่อนโยนของปีเตอร์ แสดงถึงความสับสนภายในใจของเขาเอง สัญลักษณ์ในแต่ละฉาก เช่น ตอนที่เดวิดอยู่ในอ่างน้ำที่เต็มไปด้วยของเสียจากภายในร่างกาย หยดน้ำจากก๊อก ยิ่งทำให้

เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครได้เป็นอย่างดี เป็นต้น

ความทุ่มเทให้กับดนตรีเป็นจิตวิญญาณทางดนตรีที่ชัดเจนของเดวิด หรืออาจเป็นเพราะความกดดันจากพ่อก็เป็นได้ ที่สุดแล้วแม้เขาจะประสบความสำเร็จ แต่กลับไม่ได้รับสิ่งที่รอคอยมาตลอดคือการยอมรับและรอยยิ้มจากพ่อ ซ้ำร้ายเขายังต้องไปรักษาอาการทางจิตที่โรงพยาบาล ชีวิตก็ย่ำแย่ลงถึงขั้นตกต่ำ ให้สัจธรรมของชีวิตว่าไม่มีอะไรแน่นอน เช่นเดียวกัน ในที่สุดเขาก็ได้พบรักแท้ ทำให้เขาหลุดจากวังวนแห่งความพร่ำเพ้อ ไร้สติ และกลับมาประสบความสำเร็จอีกครั้ง เป็นกานมอบกำลังใจให้กับคนที่ท้อได้คิดและมีสติอีกครั้ง เป็นภาพยนตร์ที่เสียเงินไม่เท่าไร แต่สิ่งที่ได้นั้นคุ้มค่าเสียเหลือเกิน แง่คิด ปรัชญาชีวิตที่ซ่อนอยู่ในจอเงินที่คนดูเองก็อาจคาดไม่ถึง

วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

SHINE ขอบคุณที่สวรรค์ไม่ลำเอียง

สุฤดี



SHINE ภาพยนตร์เชื้อสายออสเตรเลียที่สร้างขึ้นในปี 1996 เล่าถึงเรื่องราวของนักเปียโนชาวออสเตรเลียชื่อ เดวิด แฮล์ฟกอท ผู้ซึ่งต้องประสบกับชะตากรรมอันโหดร้ายและความล้มเหลวในชีวิตหลายต่อหลายครั้ง ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลนักแสดงนำยอดเยี่ยม จาก Academy Award

SHINE เรื่องราวของ เดวิด ชายผู้ซึ่งเกิดมาเพื่อเล่นเปียโน เปียโนเปรียบเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของเขา เขาฝึกเล่นเปียโนตั้งแต่ยังเด็ก โดยมีพ่อเป็นครูคนแรกของเขา เขาจึงใกล้ชิดกับพ่อมาก และพ่อของเขาก็พยายามปลูกฝังให้เขารักครอบครัวโดยไม่มีข้อแม้ เขาเป็นเด็กที่มีพรสรวรรค์ในการเล่นเปียโนมาก ครั้งหนึ่งเขาเคยประกวดเล่นดนตรี แต่เขาไม่ได้รับรางวัล แต่หนึ่งในกรรมการกลับมาชวนให้เขาไปเรียนเล่นเปียโนด้วย จากนั้นเขาก็เริ่มเล่นและเรียนเปียโนอย่างจริงจัง และไปประกวดดนตรีอีกครั้ง ครั้งนี้เขาได้เป็นแชมป์ที่เด็กที่สุดและได้ทุนไปเรียนต่อที่อเมริกา ระหว่างนั้นเขาได้พบกับนักเขียนหญิงผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นบุคคลที่เขาเคารพรักเปรียบเสมือนแม่คนหนึ่งในเวลาต่อมา แต่ด้วยความที่พ่อของเขากลัวว่าเขาจะลืมครอบครัว พ่อของเขาจึงไม่ยอมให้เขาไปอเมริกา เขารู้สึกเสียใจและเก็บกดมาก ต่อมาเขาได้เข้าแข่งขันเล่นเปียโนอีกครั้งแต่ครั้งนี้เขาได้เพียงรองชนะเลิศ แต่ถึงอย่างไรเขาก็ได้ทุนไปเรียนต่อที่โรงเรียนดนตรีในลอนดอน ครั้งนี้เขาตัดสินใจขัดคำสั่งของพ่อเพื่อทำตามความต้องการของตนเอง เขาจึงออกจากบ้านไปหลังจากมีปากเสียงกับพ่อและไปเรียนที่โรงเรียนดนตรีแห่งนั้น ที่โรงเรียน มีครูคนหนึ่งมองห็นในความสามารถพิเศษของเขา จึงช่วยสอนให้เป็นพิเศษ เขาบอกกับครูว่าเขาจะเล่นเพลง แรคเมนีนอฟ ซึ่งเป็นเพลงที่ยากมากและเขาอยากเล่นตั้งแต่เด็ก อีกทั้งพ่อของเขาก็ยังอยากให้เขาเล่นเพลงนี้ได้ ครูจึงได้สอนวิธีการเล่นเพลงนี้ให้แก่เขา ก่อนถึงวันประกวดเพียงไม่กี่วัน เขาได้ทราบข่าวร้าย นั่นก็คือ นักเขียนผู้เป็นเสมือนแม่แท้ๆของเขาได้เสียชีวิตลง ถึงวันประกวดดนตรี เขาเล่นเพลงนี้ได้ดีมาก แต่ยังไม่ทันได้ยินเสียงปรบมือ เมื่อจบเพลง เขาก็ช็อคหมดสติไป

หลังจากนั้นเขาก็ไม่เหมือนเดิม เขากลายเป็นเหมือนผู้ป่วยทางจิต ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เขาโทรศัพท์กลับบ้าน แต่พ่อยังไม่ให้อภัยเขา หลังจากนั้นเขาก็อยู่ที่โรงพยาบาล และเขาได้พบกับหญิงนักดนตรีคนหนึ่งซึ่งรู้จักและชื่นชมในตัวเขา เขาได้สอนเธอเล่นเปียโน ด้วยความถูกชะตาและชอบในสิ่งเดียวกัน ทำให้เธอรับเดวิดไปอยู่ด้วย แต่หลังจากนั้นไม่นาน เธอก็ไม่สามารถรับภาระในการเลี้ยงดูคนป่วยที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้อย่างเดวิดอีกต่อไป เธอจึงส่งเขาไปอยู่กับชายผู้หนึ่ง ต่อมาเดวิดได้พบกับซิลเวีย หญิงสาวเจ้าของร้านอาหาร เขาได้ไปเล่นเปียโนที่ร้านของเธอและอาศัยอยู่กับเธอหลังจากนั้น พ่อของเขากลับมาหาเขาและย้ำคำพูดที่ว่า “ไม่มีใครรักแกเท่าพ่อ” ก่อนเดินจากไป ต่อมาเขาได้พบกับเพื่อนของซิลเวีย เขาและเธอถูกชะตากันมาก เดวิดได้ขอเธอแต่งงาน แต่เธอนั้นมีคู่หมั้นอยู่แล้ว แต่ในท้ายที่สุดเธอก็ตัดสินใจกลับมาแต่งงานและดูแลเดวิด เขาได้ขึ้นคอนเสริตอีกครั้ง ครั้งนี้เขาเรียกเสียงปรบมือจากผู้ชมได้อย่างท่วมท้น และเขาก็ได้ใช้ชีวิตกับคนที่เขารักและสิ่งที่เขารักอย่างมีความสุข

ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดฉากด้วยตัวละคร ซึ่งเมื่อดูต่อมาก็จะรู้ได้ว่าตัวละครนั้นคือเดวิด ตัวละครเอกของเรื่อง ทำให้เป็นที่สังเกตว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจะให้ความสำคัญกับตัวละครเป็นหลัก การดำเนินเรื่องมีการตัดภาพไปมาระหว่างภาพในอดีตกับปัจจุบัน โดยเริ่มจากการเปิดฉากตัวละครเอกในตอนกลางเรื่องใกล้จะจบ ทำให้ผู้ชมอยากรู้ว่าเรื่องเป็นมาอย่างไร เหตุใดตัวละครจึงต้องประสบกับชะตากรรมเช่นนั้นอีกทั้งยังต้องลุ้นว่าจะจบอย่างไร หลังจากนั้นก็ย้อนไปเล่าเรื่องตั้งแต่ต้นว่าเหตุการณ์ในเรื่องนั้นดำเนินมาเช่นไร และให้ผู้ชมคอยติดตามเรื่อง

ฉากต่างๆในเรื่องก็มีความหมายและสัญลักษณ์สอดแทรกอยู่ตลอดทั้งเรื่อง เช่น ฉากเปิดเรื่อง ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมาก เปิดด้วยตัวละครบนพื้นสีดำ แสดงให้เห็นถึงความหม่นหมอง ความมืดมิดและการต่อสู้ซึ่งก็สามารถเล่าเรื่องราวได้เป็นอย่างดี อีกฉากหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ฉากที่เดวิดอยู่ในอ่างอาบน้ำ ก๊อกน้ำที่ปิดไม่สนิทและมีน้ำหยดตลอดเวลานั้น เปรียบได้กับความกดดันของเดวิดที่สามารถปะทุออกมาเมื่อไรก็ได้ และเขาก็ใช้วิธีระบายความกดดันนั้นโดยการถ่ายในอ่างอาบน้ำ ทำให้พ่อของเขาอาบน้ำต่อไม่ได้ แสดงถึงการต่อต้านและการที่เขาไม่สามารถควบคุมตัวเองได้

พฤติกรรมของตัวละครในเรื่องนี้ถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก พ่อของเดวิดซึ่งเป็นผู้ที่ทำให้เขารักในการเล่นดนตรี แต่กลับขัดขวางไม่ให้เขาเดินไปตามความต้องการ ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่า พ่อของเขาเพียงต้องการให้เดวิดเป็นตัวแทนของตนเท่านั้น เพราะตนเองไม่สามารถที่จะทำตามความฝันในการเล่นดนตรีได้ เขาจึงฝากความฝันและความหวังทั้งหมดไว้ที่เดวิด แต่เมื่อเดวิดจะต้องจากเขาไปเพื่อทำตามความฝันของตนเองบ้าง เขาก็กลับไม่สนับสนุนอีกทั้งยังขัดขวาง เพราะกลัวว่าเดวิดจะลืมเขา จะเห็นได้ว่าพ่อของเดวิดพยายามปลูกฝังเดวิดอยู่เสมอว่าไม่มีใครรักและจริงใจกับเขาเท่ากับพ่อและครอบครัวอีกแล้ว แสดงให้เห็นว่าความรักที่พ่อมีให้เดวิดนั้น ยังมีความเห็นแก่ตัวซ่อนอยู่ภายใน

เดวิดก็เป็นอีกตัวละครหนึ่งที่มีพฤติกรรมที่น่าสนใจมากทีเดียว เนื่องจากเขาเป็นเด็กที่รับการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดจากผู้เป็นพ่ออีกทั้งพ่อยังฝากความหวังทั้งหมดไว้ที่เขา จึงทำให้เขาดูเหมือนเป็นเด็กที่ค่อนข้างอ่อแอ และเก็บกด และความเก็บกดนั้นก็ถูกแสดงออกมาในรูปแบบต่างๆ เช่น การถ่ายในอ่างอาบน้ำและสุดท้ายเขาก็ทนไม่ไหวจนต้องออกจากบ้านมาใช้ชีวิตของตนเอง และหลังจากที่เขาช็อคไป พฤติกรรมของเขาก็แสดงถึงสัญลักษณ์บางอย่าง เช่น จะสังเกตเห็นได้ว่า เขาสูบบุหรี่ตลอดเวลา เนื่องจากเขาหัดสูบบุหรี่ตั้งแต่เขาได้พบกับนักเขียนหญิงซึ่งเขารักเสมือนแม่ การสูบบุหรี่ของเขาจึงอาจแสดงให้เห็นถึงว่า เขายังคิดถึงนักเขียนคนนั้นตลอดเวลา และยังเป็นเสมือนการหาทางออกให้กับชีวิตอันหม่นหมองของเขาอีกด้วย พฤติกรรมอีกอย่างหนึ่งของเขาก็คือ เขามักจะนำโน้ตเพลงไปแช่ในอ่างอาบน้ำ หรือสระว่ายน้ำ ซึ่งอาจแสดงให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างเขากับดนตรี และน้ำแสดงถึงสิ่งที่สามารถชำระล้างและระบายความทุกข์ออกไปได้

แก่นเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ที่การประสบความสำเร็จของตัวละครนำ ซึ่งก็คือเดวิด เรื่องนี้ต้องการจะสื่อให้เห็นว่า การประสบความสำเร็จของคนเรานั้นไม่ได้ตัดสินจากคนรอบข้างเสมอไป หากแต่ความสำเร็จนั้นขึ้นอยู่ที่จิตใจของเราเอง ว่าเราพอใจในสิ่งที่เราทำและเป็นอยู่มากน้อยแค่ไหน หากเราพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ นั่นก็ถือว่าเราประสบความสำเร็จในชีวิตแล้ว ซึ่งก็สอดคล้องกับชื่อเรื่อง SHINE แสดงถึงความสดใสในชีวิตของเดวิด ตัวละครเอกของเรื่อง ว่าเขามีชีวิตที่สว่างสดใสหลังจากต้องผ่านอดีตอันหม่นหมองและความผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่า

Shine


ปิยะฉัตร


Shine เป็นหนังที่เล่าเรื่องราวของ เดวิด ผู้ที่หลงใหลในการเล่นเปียโน และมีเปียโนที่เปรียบเสมือนชีวิตของเขา เขามีพ่อเป็นครูคนแรกที่สอนเปียโนให้เขา เเต่ด้วยความที่พ่อของเขามีความฝันที่จะเป็นนักดนตรีแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อความฝันของพ่อถูกปิดตาย เดวิดต้องเปรียบเสมือนตัวแทนของพ่อ พ่อของเขาให้ซ้อมเปียโนอย่างเอาเป็นเอาตาย และสอนเขาว่าจะต้องเป็นผู้ชนะ เขาต้องฝึกซ้อมเปียโนด้วยความกดดันทุกวันต่อจากนั้นเขาก็เข้าประกวดเปียโนเป็นครั้งแรก ผลการแข่งขันปรากฎว่าเขาได้เพียงรางวัลรองชนะเลิศ


โรเซนครูสอนเปียโนจึงเข้ามารับช่วงต่อ แต่ความกดดันจากความฝันอันยิ่งใหญ่ก็ยังไม่ได้หายไปแม้แต่น้อย จนเมื่อครั้งหนึ่ง ไอแซก สเติร์น นักไวโอลินผู้ยิ่งใหญ่เสนอทุนฯไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา แต่เขากลับถูกปฏิเสธจากพ่อ หลังจากนั้นเขาได้พบกับนักวรรณกรรมหญิงสาวชาวรัสเซีย แต่ความฝันของเดวิดก็ไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ ด้วยความสามารถและพรสวรรค์อันโดดเด่นของเขา จึงทำให้ Royal College of Music ที่กรุงลอนดอน ให้ทุนเรียนต่อทางด้านดนตรี เดวิดจึงเกิดความลังเลเกิดขบถต่อพ่อด้วยคำแนะนำของนักวรรณกรรมหญิงเชื้อสายรัสเซีย เคธรีน เพื่อนเพียงหนึ่งเดียวของเดวิด เดวิดจึงมั่นใจว่า เขาเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ชีวิตตัวเขาเองได้ถึงแม้ว่า จะต้องตัดพ่อตัดลูกตั้งแต่นั้นเป็นมา


เขาได้หัดฝึกซ้อม เพลงแรคเมนีนอพ ซึ่งนับว่าเป็นเพลงที่ยากมากและไม่มีใครกล้าที่จะเล่เขาฝึกซ้อมอย่างชำนาญและเล่นได้เป็นอย่างดี เพื่อที่จะประกวด ก่อนหน้าการประกวดพียงไม่กี่วัน เขาทราบข่าวร้ายว่านักวรรณกรรมหญิงสาวชาวรัสเซียเสียชีวิต ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นแม่ของเข เขารูสึกเสียใจ เมื่อ เขาเข้าประกวด ก่อนเสียงปรบมือจะดังขึ้น เขาก็ล้มสติแตก

หลังจากนั้นเขาก็เป็นคนสติไม่ดี ต้องเข้าไประรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ในระหว่างนั้นเองเขาได้พบกับผู้หญิงอีกหนึ่งคน เขาได้เลี้ยงดูเดวิด เขาได้ไปพบกับซิลเวียเพื่อนสมัยเด็กในร้านอาหาร เขาได้ไปเล่นเปียโนในร้านอาหารทุกคืน จนได้พบกับเพื่อนของซิลเวียและแต่งงานกัน เขาดูแลเอาใจใส่ให้เดวิดลุกขึ้นยืนได้อีกครั้งหนึ่งซึ่งได้มอบความรักอันแท้จริงให้กับเดวิด หลังจากนั้นเขาก็ยังคงเล่นดนตรีทุกค่ำคืนอย่างมีความสุข พร้อมเสียงปรบมือของผู้ชม สุดท้ายเขาก็ไปที่สุสานที่เป็นหลุมฝังสพของพ่อเพื่อบ่องบอกว่าพ่ออยู่ในใจเขาเสมอ

การเปิดฉากของหนังเรื่องนี้เป็นการนำฉากตอนเกือบจะจบของเรื่องมา นั่นเป็นสิ่งที่น่าสนใจเนื่องจาก ทำให้ผู้ชมเกิดความสนใจ และอยากที่จะติดตามภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าจะดำเนินไปในทิศทางใด ภาพที่เห็นในเรื่องเป็นการดำเนินเรื่องแบการเล่าถึงเหตุการณ์ในปัจจุบันและเหตุการณ์ในอดีตย้อนไปย้อนมา โดยเรื่องนี้มีการกำหนดให้ตัวละคร คือ เดวิดเป็นตัวดำเนินเรื่อง ซึ่งเดวิดจะเป็นตัว ละครที่คลายปมปัญหาและเหตุการณ์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ทั้งหมด
ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการสื่อให้เห็นถึงเรื่องราวความรักของพ่อที่มีความรักต่อครอบครัว แต่จุดสำคัญของเรื่องนี้ เป็นความรักชนิดที่เรียกว่ารักอย่างไม่มีเหตุผล แต่เป็นการรักอย่างทำลายล้าง พ่อของเดวิดอ้างความเป็นเผด็จการในการแสดงออกถึงความรัก โดยให้ลูกเปรียบเสมือนตัวแทนของตนเอง เขายัดเยียดความต้องการของตนเองไว้กับเดวิดที่เคยอยากเรียนดนตรี โดยฝากความฝันไว้กับลูกต้องเป็นผู้ชนะ

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีสัญลักษณ์ที่บ่งบองเนื้อหาในเรื่องอย่างชัดเจนนั่นคือ การเริ่มเรื่องมีรูปหน้าตัวละคร อยู่บนพื้นสีดำ แสดงถึง ความหม่นหมอง ความเศร้าที่เกิดขึ้นกับตัวละคร ในห้องน้ำก๊อกน้ำที่ปิดไม่สนิทมีน้ำหยดอยู่ตลอดเวลานั่นแสดงให้เห็นว่า ความกดดันที่มีอยู่ตลอดเวลา ในอ่างอาบน้ำเดวิดถ่ายลงในอ่างอาบน้ำแสดงให้เห็นว่า เขาไม่สามารถจะควบคุบตัวเองไม่ได้แล้วเพราะเขาแบกรับการกดดันไม่ไหวแล้ว หนังฉายภาพการกลับมาของเดวิดแบบสนุกสนาน พูดจาเร็ว ฟังไม่ได้ศัพท์ ยิ้มและเริงร่าหัวเราะตลอดเวลาเหมือนเป็นการชดเชยที่ไม่เคยทำแบบนั้นมาหลายสิบปี
ภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่ามีการสร้างความแข็งแกร่งบนความอ่อนแอ การใช้ดนตรีในการสื่อสารดีกว่าการใช้ภาษา การแสดงออกด้วยความรักที่ทำลายล้างไม่ใช่ความรักอย่างแท้จริง แต่ความรักที่แท้จริงคือความรักที่สร้างสรรค์ มันจะเป็นพลังให้กับมนุษย์ทุกคนเหมือนกับตายแล้วเกิดใหม่

ชายน์ โชคดีที่สวรรค์ไม่ลำเอียง (Shine)


ปิยะนุช



ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ฮอลีวู๊ด ที่สร้างในปี1996 นำแสดงโดย Geoffrey Rush,Noah TaylorและArmin Mueller-Stahl กำกับภาพยนตร์โดย Scott Hicks และมีJane scott เป็นโปรดิวส์เซอร์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในหลายสาขา เช่น นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม เป็นต้น เรื่องราวการดำเนินชีวิตของตัวละครเอกมีที่มาจากชีวิตจริงของนักเปียโนชาวออสเตรเลีย ผู้มีปัญหาทางจิต David Helfgott จากความมืดมิดของชีวิตในวันวาน สู่ความสำเร็จในที่สุด

ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดฉากด้วยสีดำบนพื้นหลัง สะท้อนถึงความมืดมนในชีวิตของชายคนนี้ ที่มีชายผู้หนึ่งซึ่งต่อมาจะทราบว่าคือตัวเดวิดเอง ออกมาพูดข้อความบางอย่างด้วยลักษณะการพูดที่สามารถทราบได้ว่าเป็นอาการของคนไม่ปกติ คือจะพูดติดๆขัดๆซ้ำไปซ้ำมา ต่อมาเป็นฉากร้านอาหารที่มีผู้ชายใส่แว่นอาการคล้ายคนวิกลจริตวิ่งมาเคาะกระจกหน้าร้าน ภายในร้านมีพนักงานที่นั่งพักผ่อนอยู่หลังจากที่ร้านปิด ภาพยนตร์เรื่องนี้มีการตัดภาพสลับไปมาระหว่างช่วงเวลาเด็กกับช่วงเวลาที่เป็นปัจจุบัน เดวิดเป็นเด็กชายที่เกิดมาในครอบครัวเดี่ยวครอบครัวหนึ่ง ประกอบด้วยพ่อ แม่ พี่สาว เดวิด น้องสาวและน้องเล็กๆอีกคนหนึ่ง ครอบครัวนี้มีพ่อที่เข้มงวดมาก เรียกได้ว่าเป็นคนที่ยึดติดกับความคิดของตัวเองมากและยึดติดกับสภาพที่เป็นอยู่ เคยเป็นอย่างไรก็ต้องการให้เป็นเช่นนั้นตลอดไป มีแม่ที่เป็นผู้ตามอย่างแท้จริง คือไม่มีปากมีสียง ถึงแม้จะรู้สึกว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ถูกต้องหรือไม่ควรจะเกิดขึ้นแต่ก็ไม่กล้าที่จะโต้แย้ง ส่วนลูกๆทุกคนก็ยิ่งไม่มีสิทธ์ที่จะขัดขืน

เดวิดเด็กชายผู้ซึ่งมีความสามารถในการเล่นเปียโน เนื่องจากถูกฝึกฝนและเคี่ยวเข็นโดยผู้เป็นพ่อที่ต้องการให้บุตรชายเป็นนักเปียโนอันดับหนึ่ง สังเกตุได้จากเมื่อเดวิดเข้าประกวดครั้งใด พ่อมักจะย้ำว่าต้องชนะเท่านั้น เมื่อผลคือความพ่ายแพ้พ่อก็จะแสดงออกถึงความเครียดและความผิดหวังเป็นอย่างมาก ทั้งหมดนี้เพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปของชีวิตพ่อที่มีความชอบในดนตรีแต่ปู่ของเดวิดไม่สนับสนุน เขาเคยซื้อไวโอลีนมาตัวหนึ่งแล้วปู่ของเดวิดเอาไปทุบทิ้ง เรื่องนี้เขาเล่าให้ลูกชายฟังทุกครั้งที่เขาต้องการให้เดวิดฝึกฝนมากขึ้น โดยให้เดวิดท่องให้ขึ้นใจว่า เขาเป็นเด็กชายที่โชคดีที่สุดที่ได้มีโอกาสเล่นดนตรี

หลายครั้งที่ชัยชนะไม่ได้เป็นของเดวิด แต่ก็มีแมวมองหลายคนมองเห็นในความเป็นอัจฉริยะทางดนตรีของเขาจนทำให้เขาได้รับทุนไปเรียนดนตรีที่อเมริกา แต่แล้วความดีใจของเขาและทุกคนก็ต้องจบลงเมื่อพ่อไม่อนุญาตให้ไป ด้วยเหตุผลที่ว่าถ้าเขาไปจะขาดจากความเป็นครอบครัวที่ทุกคนต้องอยู่ในบ้านเดียวกันอย่างพร้อมหน้า เมื่ออยู่ในอานัสของพ่อมาตลอดครั้งนี้ก็ต้องเป็นเช่นเคย

นักเขียนม่ายชาวรัสเซียคนหนึ่ง เป็นแรงบันดาลใจให้เดวิดกล้าที่จะคิดและทำอะไรนอกกรอบจากที่พ่อของเขาวางไว้ เธอให้ความอบอุ่นและความเป็นเพื่อนกับเขาเหมือนกับว่าเขาเป็นลูกชายคนหนึ่งของเธอ เป็นที่ปรึกษาในเรื่องต่างๆ อาจจะมาจากคนโดดเดียวสองคนที่มาเติมเต็มซึ่งกันและกันอย่างลงตัว คนหนึ่งโดดเดี่ยวตัวคนเดียว ส่วนเดวิดโดดเดี่ยวในความคิด

เมื่อเขาเข้าประกวดอีกครั้ง ครั้งนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เขาได้รับทุนไปเรียนสถาบันดนตรีที่ลอนดอน ไม่ต่างจากครั้งก่อนพ่อของเขาไม่อนุญาต ด้วยเหตุผลเดิม แต่ครั้งนี้เดวิดไม่เหมือนเดิมเขายืนยันที่จะไปลอนดอนให้ได้ด้วยการสนับสนุนของอาจารย์ แต่สิ่งที่เขาต้องแลกคือเขาต้องทิ้งครอบครัวและตัดขาดกับพ่อ

ที่ลอนดอนเขาแสดงความสามารถให้อาจารย์ท่านหนึ่งได้เห็น แล้วมาสนับสนุนเขาอย่างจริงจัง เขาพยายามเล่นเพลงของโรมานินอฟ ซึ่งเป็นเพลงที่ยากจนไม่มีใครกล้าพอที่จะเล่นและเป็นเพลงที่พ่อของเขาปรารถนาให้เขาเล่นได้มานานแล้ว เขาฝึกฝนอย่างหนักจนทำให้สามารถเล่นเพลงนี้ได้อย่างชำนาญ

เดวิดพลาดโอกาสที่จะเห็นความสำเร็จของตัวเอง เนื่องจากเขาหมดสติไปหลังจากที่ประกวดเพลงนี้เสร็จ ด้วยความกดดันที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เมื่อตื่นขึ้นมาเขาไม่ใช่คนเดิมอีกแล้ว เขามีอาการทางประสาทจนต้องอยู่ในโรงพยาบาล แต่สิ่งหนึ่งที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงในตัวเขาคือ ความสามารถในการเล่นเปียโน จนทำให้ นักเปียโนในโบสถ์คนหนึ่งรับอุปการะเขา

ด้วยปัญหาทางจิตทำให้เขาไม่สามารถอยู่ร่วมกับใครได้ เนื่องจากสร้างความเดือดร้อน จนกระทั่งพบเพื่อนสมัยเด็กคนหนึ่งที่ร้านอาหารตอนเปิดเรื่อง ซิลเวียรับอุการะเขาไว้และให้เขาไปเล่นเปียโนที้ร้านอาหารที่เธอทำงานอยู่

ไม่นานเดวิดก็ได้แต่งงานกับเพื่อนของซิลเวียและเธอคนนี้ เป็นคู่ชีวิตที่คอยดูแลและผลักดันให้เขาลุกขึ้นยืนได้อีกครั้ง โดยสนับสนุนทุกอย่างที่เดวิดอยากจะทำ จนกระทั่งเขาได้มีคอนเสิร์ตของตัวเองอีกครั้ง ท่ามกลางคนที่เขารักและคนที่รักเขา แม้จะปราศจากพ่อของเขาก็ตามที เดวิดทำในสิ่งที่ตัวเขาต้องการคือเล่นเปียโนด้วยเพลงที่เขาอยากเล่น และได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี ปิดเรื่องด้วยฉากสุสาน ที่เดวิดมาพร้อมกับภรรยาของเขา แสดงนัยให้ผู้ชมรู้ว่าพ่อของเดวิดเสียชีวิตแล้ว แสดงให้เห็นว่าถึงวันที่เขาประสบความสำเร็จอีกครั้ง พ่อก็ยังอยู่ในใจเขาเสมอ

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีตัวละครหลายตัวที่น่าสนใจ จนทำให้การดำเนินเรื่องน่าติดตามนอกจากตัวเดวิดแล้ว พ่อของเดวิดก็เป็นตัวละครสำคัญตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดเหตุการณ์มากมาย หากพ่อของเขาไม่เป็นคนยึดติดที่ชอบตีกรอบให้คนอื่นเดินตาม เป็นพ่อแบบพ่อทั่วไปที่สนับสนุนในสิ่งที่ลูกต้องการอย่างไม่เข้มงวด เส้นทางชีวิตของเดวิดอาจจะไม่ได้เป็นนักเปียโนก็เป็นได้ แม่ก็ป็นอีกตัวละครหนึ่งที่เป็นสาเหตุให้เดวิดเป็นเด็กเก็บกด ถึงแม้จะรักลูกมากก็ตามแต่ก็ไม่เคยโต้แย้งสิ่งที่พ่อบงการให้ลูกทุกคนทำตาม ภรรยาของเดวิดก็เป็นตัวละครสำคัญที่ทำให้ชีวิตของเขากลับมาสดใสอีกครั้ง ด้วยความรักที่คอยดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดีและส่งเสริมในสิ่งที่เดวิดรัก

“ชายน์” มีสัญลักษณ์ที่ทำให้ผู้ชมต้องคิดตามอยู่มาก เช่น เหตุการณ์ที่เดวิดประกวดแพ้จนทำให้พ่อไม่พอใจ เขาเดินตามพ่อกลับบ้านด้วยอาการของเด็กเก็บกด แต่เมื่อผ่านสนามที่เด็กๆใช้เล่นกระโดดกัน ท่าเดินของเขาก็เปลี่ยนเป็นท่าแขยงกระโดดแบบเด็กๆ แสดงถึงธรรมชาติของเด็กที่ถูกกดไว้มานาน จนเมื่อเขามีอาการทางจิต บางช่วงเวลาเขาก็ยังทำอาการเช่นนี้

แว่นตาของพ่อที่แตกแต่ก็ไม่ยอมเปลี่ยน แสดงถึงความเป็นคนยึดติดกับความคิดเดิมๆอยู่กลับกรอบเดิมๆ ซึ่งเป็นนิสัยที่ตัวละครแสดงออกมา

ถุงมือที่นักเขียนที่เขาเคารพรักให้มา เมื่อเขาต้องการฝึกเพลงโรนินอฟ เขาตัดปลายนิ้วทั้ง 5 ออกไปเพื่อความถนัดในการเล่นเปียโน แสดงถึงการยอมสละของที่เขารักเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ เหมือนตอนที่ตัดครอบครัวย้ายมาอยู่ลอนดอน

ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างความประทับใจในหลายแง่มุม ตั้งแต่นักแสดงนำที่สามารถถ่ายทอดบทบาทออกมาได้อย่างดี จนทำให้ผู้ชมเข้าถึงอารมณ์ในช่วงเวลานั้นๆ แต่อาจมีบางแง่มุมที่เข้าใจได้ยาก เช่น เดวิดสูบบุรี่ตลอดเวลาแม้กระทั่งเขาจะมีอาการทางจิตแล้วก็ตาม หรือจะเป็นสาเหตุที่เขาชอบจับหน้าอกผู้หญิงที่มีปรากฎในหลายฉาก แต่โดยรวมแล้วชายน์เป็นภาพยนตร์ที่น่าชมเรื่องหนึ่ง เพราะสะท้อนให้เห็นความไม่สมบูรณ์ในชีวิต ที่ตามความเป็นจริงแล้วก็มีอยู่ชีวิตทุกคน เป็นสัจธรรมที่ว่าเมื่อฝนซา ฟ้าจะใส ไม่มีอะไรเลวร้ายตลอดไป เมื่อมีโชคร้ายก็จะมีโชคดีตามมา สมกลับชื่อ ชายน์ โชคดีที่สวรรค์ไม่ลำเอียง

วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

Shine


ตวงพร



เดวิด เฮพก็อต เด็กชายชาวยิวซึ่งถูกผู้เป็นพ่อเคี่ยวเข็ญให้เล่นเปียโนเพื่อการแข่งขันต่างๆ จนได้รับทุนการศึกษาไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา แต่พ่อกลับไม่ยอมให้ไป เขาจึงต้องใช้ชีวิตแบบเดิมต่อไป เดวิดได้พบกับแคทเธอริน เธอเป็นที่พึ่งทางใจทำให้เดวิดมีความเข้มแข็งมากขึ้นและตัดสินใจตอบรับคำเชิญไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ โดยไม่ฟังคำคัดค้านของพ่อ เขาจึงถูกประกาศตัดพ่อตัดลูกนับแต่วันนั้น ที่ลอนดอนเดวิดได้ทุ่มเทให้กับการฝึกซ้อมเพลงของโรมานินอฟ ซึ่งเป็นบททดสอบที่ยากที่สุดจนได้รับรางวัลชนะเลิศ แต่เมื่อแสดงจบเดวิดกลับล้มลงหมดสติบนเวที


เดวิดกลายเป็นคนไข้จิตเวชที่ต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลนานเกือบ 20 ปี โดยที่หมอสั่งห้ามเขาเล่นเปียโนอีกต่อไป หลังออกจากโรงพยาบาลเดวิดมีความสุขกับการได้เล่นเปียโนที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ที่นั่นเขาได้พบกับพ่อของเขาอีกครั้ง แม้ว่าพ่อจะเปิดโอกาสให้เขากลับบ้าน แต่เดวิดพอใจและมีความสุขกับสิ่งที่ทำในตอนนี้ พ่อทนรับกับความผิดปกติทางจิตของเดวิดไม่ได้จึงทิ้งเดวิดไปอีกครั้ง ต่อมาเดวิดได้พบกับกิลเลียน เธอเห็นความน่ารักในตัวเดวิดจนเกิดความประทับใจ จนในที่สุดทั้งคู่ก็แต่งงานกัน การได้รับความรักเป็นการเยียวยาทำให้เดวิดกลับมาเล่นตอนเสิร์ตได้อีกครั้ง ท่ามกลางความยินดีของแม่และน้องสาว แต่น่าเสียดายที่พ่อของเขาจากไปก่อนที่จะเห็นความสำเร็จของเขา

เรื่องราวได้เปิดฉากด้วยเสียงฟ้าร้องในคืนฝนพรำ ชายซึ่งมีลักษณะท่าทางแปลกๆ พูดพึมพำคนเดียว วิ่งตากฝนไปตามถนนแล้วไปหยุดยืนจ้องเปียโนที่หน้าร้านอาหารแห่งหนึ่ง จากนั้นหนังได้เล่าย้อนไปถึงเรื่องราวในอดีตของเดวิด เขาไม่เคยได้สัมผัสกับชีวิตที่สนุกสนานในวัยเด็ก ทุกๆวันจะต้องฝึกซ้อมเล่นเปียโนตามที่พ่อปรารถนา จนบางครั้งเหมือนจะเกินกว่าความสามารถของเขาไป พ่อมักจะพร่ำบอกอยู่เสมอว่าเดวิด”โชคดี”ที่มีโอกาสได้เล่นดนตรีอย่างที่พ่อของเขาไม่เคยได้รับ ผู้เป็นพ่อพยายามใช้ชีวิตวัยเด็กผ่านเดวิด คือเคี่ยวเข็ญให้ลูกเล่นดนตรีเพื่อเต็มเต็มความฝันที่ขาดหายไปให้ตัวเองชีวิตของเดวิดจึงต้องจมอยู่กับความเผด็จการของพ่อที่เอาความเจ็บปวดในวัยเด็กของตนมาเป็นหลักในการบริหารครอบครัว เขาต้องการให้ทุกคนอยู่พร้อมหน้ากันตลอดไปและทึกทักว่าสิ่งที่ตนให้คือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกแล้ว เห็นได้จากการที่เดวิดถูกห้ามไม่ให้รับทุนการศึกษาไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา

ตัวละครของพ่อมีความขัดแย้งในตนเองอยู่ คือเป็นตัวละครสำคัญที่คอยผลักดันให้ลูกเล่นเปียโนและเข้าแข่งขันจนได้รับรางวัลชนะเลิศ แต่เมื่อเดวิดได้รับทุนการศึกษาไปเรียนต่อ ผู้เป็นพ่อกลับห้ามไม่ให้ไป ทำให้เดวิดต้องติดอยู่กับชีวิตเก่าๆ ที่ไม่มีทางพัฒนาสมกับความสามารถของเขา เพราะความริษยาและเห็นแก่ตัวของพ่อเห็นได้จากสีหน้าของพ่อเมื่อเดวิดได้รับทุนการศึกษาและเมื่อมีผู้พูดว่า”บุตรชายของคุณเป็นหน้าเป็นตาให้คุณ” แต่ในทางกลับกันผู้เป็นพ่อก็แฝงไว้ด้วยอารมณ์อันอบอุ่น อ่อนโยนด้วย เป็นความขัดแย้งทางอารมณ์ นอกจากนี้ยังปรากฏความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์คือพ่อกับเดวิด ในขณะที่เดวิดดีใจเมื่อได้รับทุนการศึกษาและตั้งใจว่าจะไปเรียนต่อ แต่พ่อกลับสั่งห้ามไม่ให้ไป ความขัดแย้งนี้นำไปสู่จุดหักเหของเรื่อง คือเมื่อเดวิดตัดสินใจไปเรียนที่ประเทศอังกฤษโดยไม่ฟังคำคัดค้านของพ่อ เป็นชนวนให้เกิดการแตกหักของครอบครัวและเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของเขาเอง

เรื่องราวได้ดำเนินขึ้นสู่จุดสูงสุดเมื่อเดวิดตัดสินใจไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษและฝึกเล่นเพลงโรมานินอฟซึ่งไม่มีใครอาจหาญเล่น ไคลแม็กซ์คือเขาชนะการแข่งขันแต่กลับล้มลงหมดสติเมื่อเล่นเพลงจบ ... เดวิดได้ไปถึงจุดสุดยอดทางเปียโน แล้วชีวิตเขาก็ตกลงมา หลังจากนั้นเรื่องเริ่มคลี่คลายลงและได้เล่าถึงบทถัดไปซึ่งเป็นชีวิตใหม่หลังจากอยู่ในโรงพยาบาลเกือบ 20 ปีของเดวิด ชีวิตของเขาค่อยๆ กลับฟื้นคืนสภาพ แม้เดวิดจะไม่เหมือนเดิม คือพูดจากซ้ำไปมาถึงเรื่องในอดีตที่พ่อสอนไว้ว่า “คนฟิตเท่านั้นที่จะอยู่ได้ คนอ่อนแอจะถูกบี้เหมือนแมลง” เดวิดการจมอยู่กับตราบาปในใจถึงสิ่งที่เขาทำให้ครอบครัวต้องพังลงและทำให้พ่อต้องผิดหวังในตัวเขา

ฉากของเรื่องได้เปิดฉากด้วยบรรยากาศวันฝนตกเหมือนมรสุมในชีวิตของเดวิดตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยกลางคน เหมือนจิตใจของเดวิดที่มีความรู้สึกผิด เขาหวังจะได้รับการอภัยให้จากพ่อตลอดเวลา เมื่อใดก็ตามที่ภาพตัดมาถึงเดวิดหลังเพิ่งออกจากโรงบาลมาก็จะเห็นบรรยากาศฝนตก เหมือนหนทางอันมืดมนของเขา แต่ฟ้าหลังฝนย่อมสดใส หลังจากที่เลือกทางเดินชีวิตของตนเอง เดวิดก็ได้พบพานกับความสุขสมหวังและได้รับความรักที่มาเติมเต็มแล้ว เมฆหมอกก็เริ่มคลี่คลายออกให้เห็นท้องฟ้าอันเจิดจรัส มีเสียงนกร้องเพลงแสดงถึงความสุขในยามที่เขาได้เล่นเปียโนซึ่งดูเหมือนจะฉุดเขาออกมาจากอาการผิดปกติทางจิตด้วย ท้ายที่สุดเดวิดก็ได้รับความสุขที่ทดแทนกับชีวิตในวัยเด็กที่ขาดหายไปดั่งแสงที่สาดส่องลงมา ดั่งชื่อเรื่อง Shine

วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

สงครามที่มีนักรบร่วมรบเพียง 300 คน...


น.ส. ภัทรา ดิสสันดร
รหัสนักศึกษา ๐๕๔๙๐๒๘๗


หากจะกล่าวถึงหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสู้รบของเหล่านักรบผู้กล้าและฉากที่มีความสวยงามสมจริงแล้ว หนังเรื่อง 300 ขุนศึกพันธุ์สะท้านโลก ที่สร้างโดย Zack Snyder ผลงานจากค่าย Warner Bros.Pictures:ซึ่งฉายในปี 2550 ละางโดย ี /.ละทำให้ผู้ชมเกิดความประทับใจหลังจากที่ได้ดูหนังเรื่องนี้คงจะเป็นหนังอีกเรื่องหนึ่งที่เรียกได้ว่าถูกสร้างมาได้ตรงตามคำกล่าวข้างต้นเลยทีเดียว เนื่องจากเทคนิคภาพที่ตระการตาเพื่อความสมจริงของการทำสงครามและทำให้ผู้ชมเกิดความประทับใจหลังจากที่ได้ดูหนังเรื่องนี้


หนังเรื่อง 300 ขุนศึกพันธุ์สะท้านโลกมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการทำสงครามเธอร์โมโพเล เป็นการสู้รบของกษัตริย์เลโอนิดาสและขุนศึกสปาร์ตัน 300 นาย ที่ร่วมกันต่อสู้ในศึกครั้งนี้กับ
เซอร์เซสและกองทัพใหญ่ของชาวเปอร์เซีย โดยที่หนังเรื่องนี้ได้อิงประวัติศาสตร์สงครามในยุคโรมัน ทำให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของชนเผ่าสองกลุ่มและสื่อให้เห็นถึงชีวิตและอารยธรรมโบราณในยุคโรมัน

มีการเปิดเรื่องด้วยการฝึกการเป็นนักรบให้เด็กชายชาวสปาร์ตัน ซึ่งเมื่อเติบโตขึ้นเขาก็คือกษัตริย์ผู้กล้าหาญที่เป็นตัวละครเอกของหนังเรื่องนี้ โดยมีเสียงบรรยายถึงประวัติความเป็นมาของชนเผ่านี้ให้ผู้ชมได้ทราบ โดยที่หนังเรื่องนี้จะมุ่งประเด็นไปที่ความเป็นผู้นำของกษัตริย์เลโอนิดาสและการเข้าร่วมรบของขุนศึกสปาร์ตัน 300 นาย

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้คือความขัดแย้งในรูปแบบของมนุษย์กับมนุษย์ ที่ต้องสู้รบกับเพื่อความอยู่รอดของชนเผ่าของตน และในตอนท้ายของหนังเรื่องนี้มีการปิดเรื่องโดยที่กษัตริย์เลโอนิดาสและทหารจำนวน 300 นาย เสียสละชีวิตเพื่อการช่วยเหลือชนเผ่าของตน

หลังจากที่ได้ดูหนังเรื่องนี้แล้ว จะทำให้ผู้ชมได้รับรู้ถึงความกล้าหาญของเหล่านักรบผู้กล้าที่เสียสละตนเองเพื่อชนเผ่าของตนให้อยู่รอด รวมไปถึงในขณะที่ดูก็ได้รับความตื่นเต้นจากแต่ละฉากและเกิดอารมณ์ร่วมไปกับเหตุการณ์ในเรื่องด้วยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวละครเอกและตัวละครที่มีความสำคัญในเรื่อง ซึ่งฉากที่สร้างขึ้นในหนังเรื่องนี้ก็ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญ เนื่องจากแต่ละฉากจะต้องสื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสถึงอารยธรรมโบราณในยุคโรมัน และเพื่อความสมจริงในการรบจึงมีการใช้เทคนิคในการสร้างหนังแนวต่อสู้ที่ทำให้ผู้ชมเกิดความตระการตาในการชม
นอกจากนี้ผู้ชมอาจจะเกิดความชื่นชมต่อตัวละครเอกของเรื่องคือกษัตริย์เลโอนิดาสที่สามารถนำทัพออกไปสู้รบโดยไม่ท้อถอยถึงแม้ว่าจะต้องจบชีวิตลงในตอนท้ายของเรื่องก็ตาม แต่ก็ได้ทำเพื่อประชากรส่วนใหญ่

จากหนังเรื่องนี้ถือว่ากล่าวถึงความกล้าหาญของนักรบชาวโรมันได้เป็นอย่างดี รวมถึงความมุ่งมั่นและความเด็ดเดี่ยวของผู้นำ ซึ่งสื่อให้ผู้ชมได้เข้าใจถึงการต่อสู้ โดยที่รู้ว่าไม่สามารถต้านทานความยิ่งใหญ่กับกองทัพมหึมาของกษัตริย์ที่คิดว่าตนเป็นดั่งเทพพระเจ้าและกองกำลังจากดินแดนที่หลากหลายอารายธรรม รวมถึงการล่าอาณานิคมของกองทัพทาสที่สู้เพื่อความอยู่รอดจากการปกครองของกษัตริย์สมมุตติเทพ ซึ่งเหมือนกับสัตว์ป่าและผีร้ายที่มีความน่าสะพรึงกลัว จึงเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดสงครามอันยิ่งใหญ่เพื่อการกอบกู้ความกล้าให้แก่นักรบกรีกและชนเผ่านักรบแห่งสปาร์ตันอันเกรียงไกร โดยแสดงให้เห็นถึงความกล้าและจิตวิญญาณของนักรบในการใช้ดาบและโล่เพื่อรักษาอิสรภาพให้คงอยู่ต่อ และสุดท้ายยังให้ข้อคิดเกี่ยวกับการเสียสละตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและการมีความสามัคคีกันหมู่คณะ ซึ่งจะสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี

Daratt (Dry Season)


ชิดกมล ฮวบกระโทก

05490105


ภาพยนตร์เรื่อง Daratt เป็นภาพยนตร์ของประเทศ Chad ซึ่งเคยตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส เป็นประเทศเล็ก ๆ ในทวีปแอฟริกา และติดอันดับต้น ๆ ประเทศยากจนที่สุด ไม่มีอุตสาหกรรมภาพยนตร์เนื่องจากปัญหาสงครามกลางเมือง แต่ Mahamat-Saleh Haroun อพยพหนีภัยสงครามกลางเมืองมาลงหลักปักฐานในฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 1982 เขาประพันธ์และกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ในปี 2006 และได้รางวัล Special Jury Prize ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิสครั้งที่ 63 และยังเป็นหนัง 1 ใน 7 เรื่องจาก 7 ผู้กำกับที่ได้รับเลือกโดยโครงการ New Crowned Hope เฉลิมฉลอง 250 ปี โมสาร์ต

Daratt เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในฤดูแล้งของทวีปแอฟริกา ตัวเอกของเรื่องคืออาติม เด็กหนุ่มที่อาศัยอยู่กับปู่ที่ตาบอด เค้าไม่เคยรู้จักพ่อของเขาด้วยซ้ำ ปู่บอกเขาว่าพ่อถูกฆ่าตอนที่เกิดสงครามกลางเมือง อาติมรู้สึกแค้น จากนั้นปู่ยื่นปืนให้อาติม และบอกให้เขาตามหาคนที่ฆ่าพ่อ และนาสซาร่าคือคนที่ฆ่าพ่อของเขา อาติมเดินทางเข้ามาในเมืองเพื่อมาตามหานาสซาร่า แล้ววันหนึ่งเขาก็ได้พบกับนาสซาร่า


นาสซาร่าในตอนนี้เป็นเพียงแค่ชายแก่ ๆ ที่เปิดร้านขายขนมปัง เขาอยู่กับภรรยาที่กำลังตั้งท้อง และเขายังต้องใช้เครื่องช่วยพูดอีกด้วย นาสซาร่าคิดว่าอาติมมาหางานทำเขาจึงรับไว้ เขาสอนให้อาติมทำขนมปัง ทั้งสองช่วยกันทำขนมปังขาย ทั้ง ๆ ที่อาติมยังรู้สึกโกรธแค้นอยู่ลึก ๆ อาติมมีโอกาสฆ่านาสซาร่าหลายครั้งแต่เขาก็ยังไม่กล้า ในขณะที่นาสซาร่ารู้สึกถูกชะตากับอาติมมาก เขาให้อาติมเข้ามาอยู่ที่บ้าน เมื่อนาสซาร่ามีอาการปวดหลังอาติมต้องทำงานคนเดียว เขาดีใจมากที่สามารถทำขนมปังได้ถูกต้องตามสูตร นาสซาร่าจึงยกกิจการให้อาติมดูแล ระหว่างที่อยู่ที่บ้านอาติมต้องคอยดูแลนาสซาร่าด้วย นาสซาร่าชอบอาติมมาก จะขอรับเป็นลูกบุญธรรม เขาขอให้อาติมพาไปพบครอบครัว อาติมจึงพาเขาไปเจอปู่ ปู่บอกให้อาติมยิงนาสซาร่า แต่อาติมแกล้งยิงไปที่อื่น ทำให้ปู่คิดว่าเขาฆ่านาสซาร่าแล้ว จากนั้นอาติมก็เดินจากไปกับปู่ของเขา

ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดเรื่องที่ฉากความแห้งแล้งของทวีปแอฟริกา จากนั้นค่อย ๆ ซูมเข้าไปหาตัวละครเอก โดยการให้ปู่เดินตามหาและเรียกหาตัวละครเอก (Atim) เพื่อแนะนำตัวละครเอก และให้ตัวละครเอกเป็นคนเล่าเรื่องในตอนเริ่มเรื่อง

ตัวละครทุกตัวมีส่วนกระตุ้นให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ และมีผลต่อการตัดสินใจของตัวละครเอก ไม่ว่าจะเป็น ปู่ นาสซาร่า หรือแม้แต่ภรรยาของนาสซาร่า ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของอาติม เช่น ปู่ทำให้อาติมเกิดความแค้นนาสซาร่า นาสซาร่าทำให้อาติมลังเลและไม่กล้าฆ่านาสซาร่า และภรรยาของนาสซาร่าที่พูดเกลี้ยกล่อมให้อาติมพานาสซาร่าไปพบกับปู่ ซึ่งนำไปสู่จุดไคลแม็กซ์


การตั้งชื่อเรื่องว่า Daratt (Dry Season) นั้นสอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์ของแอฟริกาและเนื้อเรื่องเป็นอย่างดี เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นในฤดูแล้ง และตลอดทั้งเรื่องนั้นจะเห็นได้ว่ามีฉากต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความร้อนความแห้งแล้ง ไม่ว่าจะเป็นภูมิประเทศที่แห้งแล้ง บ้านเรือน แสงแดด ตัวละครมีส่วนช่วยในการบ่งบอกว่าอากาศนั้นเป็นอย่างไร จะเห็นได้จากเหงื่อที่ไหลออกมาตลอดเวลาที่อาติมและนาสซาร่าทำขนมปัง และยังสื่อถึงความร้อนที่อยู่ในใจของอาติมด้วย


นอกจากนี้ยังมีสารจากภาพยนตร์ที่ต้องการสื่อถึงคนดู เช่น ปู่ที่ตาบอด เป็นตัวแทนของคนรุ่นเก่า ที่ยังยึดติดอยู่กับความแค้น ไม่ยอมให้อภัย การที่ตาบอดนั้นเหมือนเป็นการไม่ยอมเปิดใจ และไม่รับความคิดใหม่ ๆ ส่วนอาติมเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเห็นได้จากการแต่งตัวที่สวมกางเกงยีนส์ รองเท้าผ้าใบ และที่อาติมให้อภัยนาสซาร่า อาจเป็นเพราะว่าความแค้นของอาติมไม่ได้เป็นความแค้นจริง ๆ เป็นเพียงความแค้นของปู่ที่ใส่มาในตัวของอาติม ปู่ปลูกฝังความแค้นซึ่งอาติมไม่สามารถเข้าใจมันได้จริง เพราะอาติมไม่ได้เห็นเหตุการณ์ และเขาก็ไม่เคยรู้จักพ่อด้วย แต่นาสซาร่าสอนสิ่งที่จับต้องได้ให้กับอาติม อาติมสามารถเห็นได้จริง คือตอนที่อาติมสามารถทำขนมปังได้สำเร็จตามสูตร และด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดความขัดแย้งในตัวละคร


ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์คือ ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับจิตใจของมนุษย์เอง ตัวละครเอกคือ อาติม เกิดความขัดแย้งภายในใจของตัวเอง เป็นเพราะว่าสิ่งที่ปู่ปลูกฝังมานั้นไม่ตรงกับสิ่งที่เขาได้พบ ทั้ง ๆ ที่เขามีโอกาสฆ่านาสซาร่าหลายครั้ง แต่เขาก็ลังเลและไม่กล้าที่จะทำ นาสซาร่าที่เขาเจอนั้นเป็นเพียงชายแก่ธรรมดา จึงเกิดเป็นปมในใจว่าเขาควรจะฆ่าคน ๆ นี้หรือไม่


ภาพยนตร์เรื่องนี้มีการนำเสนอแบบตรง ๆ ไม่ต้องตีความมากนัก ใช้สีได้อย่างกลมกลืน สีเสื้อผ้าโทนหม่น ช่วยให้คนดูเข้าถึงอารมณ์ของภาพยนตร์ได้ง่ายขึ้น แต่ภาพยนตร์ก็สื่อถึงความรุนแรงตรงที่ตัวละครพกปืน ส่วนที่ดิฉันชอบในภาพยนตร์เรื่องนี้คือ เนื้อเรื่อง เพราะเนื้อเรื่องนั้นสามารถเข้าใจได้ง่าย ให้แง่คิดที่เกี่ยวกับความแค้นและการให้อภัย อีกอย่างหนึ่งที่ดิฉันชอบคือจุดไคลแม็กซ์ของเรื่อง อาติมเลือกการให้อภัย เขาแกล้งยิงปืนไปที่อื่น เพื่อหลอกปู่ที่ตาบอดของเขาว่าเขาฆ่านาสซาร่าแล้ว ปู่ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเขาไม่ได้ฆ่า ซึ่งเป็นการปิดเรื่องที่ดีมาก

วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

Unfortunate Events อยากให้เรื่องนี้ไม่มีโชคร้าย


นางสาวภัสวดี อิฐรัตน์
05490292

เรื่องย่อ

เรื่องราวเกี่ยวกับเด็กๆบ้านโบตแลนด์ที่ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า เพราะพ่อและแม่ของพวกเขาเสียชีวิตด้วยสาเหตุที่ยังลึกลับและเป็นปริศนา โดยบ้านโบตแลนด์เกิดเพลิงไหม้โดยสาเหตุเกิดมาจากหารหักเหของแสง ซึ่งมากจากที่ไกลมากๆ ด้วยเหตุนี้เองเด็กทั้งสามคนจึงต้องย้ายไปอยู่กับบ้านของคนต่างๆโดยที่ โพล นายธนาคาร ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้จัดการมรดกของเด็กๆ เรียกว่าเป็นญาติของพวกเธอ ทั้งๆที่ความเป็นจริงนั้น บ้านที่พวกเขาไปอยู่ด้วยกลับไม่ใช่ญาติของพวกเขาเลยแม้แต่คนเดียว บ้านหลังแรกที่พวกเขาได้ไปอยู่นั้นก็คือ บ้านของ เคานท์ โอลาฟ ชายวัยกลางคน ที่มีหน้าตาอัปลักษณ์ แถมยังจิตใจสกปรกอีกด้วย เขารับเลี้ยงดูเด็กๆทั้งสามโดยเสแสร้งว่ารักและเอ็นดู ทั้งที่จริงๆแล้วเขาใช้งานเด็กทั้งสามอย่างหนักและหลังจากเด็กๆทำงานเสร็จทุกวันเขาก็จะเข้าไปยังหอคอยบนชั้นบนสุดของบ้าน ซึ่งที่เป็นห้องที่เด็กๆทั้งสามไม่สามารถเข้าได้


ท่านเคานท์นั้นแท้จริงแล้วต้องการเพียงสมบัติของเด็กๆที่พ่อและแม่ทิ้งไว้ให้ แต่จะได้ก็ต่อเมื่อไวโอเลต ลูกสาวคนโตอายุครบสิบแปดปี ปีแล้วเท่านั้น วันหนึ่งเขาพยายามจะฆ่าเด็กทั้งสามโดยการทิ้งไว้บนรถซึ่งจอดอยู่บนรางรถไฟ แต่ด้วยความที่เป็นนักประดิษฐ์ของพี่สาวและการรักการอ่านของลูกชายคนกลาง รวมทั้งการเป็นนักกัดของลูกคนเล็ก ก็ทำให้ทั้งสามรอดพ้นจากการตายมาได้ หลังจากนั้น ทั้งสามได้ย้ายไปอยู่กับคุณลุงมอลโกเมอร์รี่ นักวิทยาศาสตร์ที่หลงใหลเรื่องต่างๆเกี่ยวกับสัตว์เลื้อยคลาน โดยเฉพาะงู เด็กทั้งสามรู้สึกดีกับการที่ได้อยู่ที่นี่ แต่ไม่นานนัก เคานท์ โอลาฟ ก็ปลอมตัวมาและก็ฆ่าลุงของเด็กๆทั้งสามได้สำเร็จ

จากนั้นเด็กๆทั้งสามก็ต้องย้ายไปอยู่กับป้าโจโซฟิน ผู้ที่รักไวยากรณ์เป็นชีวิตจิตใจ เธอบอกว่า ไวยากรณ์คือความสุขของเธอ แต่สิ่งที่เด็กๆทั้งสามสงสัยมาตลอดนั้นก็คือ กล้องส่องทางไกล ที่ไม่ว่าเด็กทั้งสามจะไปอยู่ที่บ้านหลังใดก็จะพบว่าคนเหล่านั้นมีกล้องส่องทางไกล แบบเดียวกันกับที่พ่อและแม่ของเธอมี จนมาพบกับรูปที่ป้าเอาให้ดู พวกเขาเห็นพ่อกับแม่และคนอีกหลายคนที่เขาย้ายไปพักอาศัยด้วย แต่ก็ไม่ได้คำตอบอะไร จนวันหนึ่ง เคานท์ โอลาฟ ก็ปลอมตัวมาอีกครั้ง จนที่สุด ป้าก็ทิ้งเบาะแสไว้ ด้วยความสาวมารถของเคล้า นักอ่านก็สามารถแล่นเรื่อไปยังที่ที่ป้าซ่อนตัวอยู่ได้ แต่สุดท้ายป้าก็ตาย และเด็กๆทั้งสามก็ต้องกลับไปอยู่กับเคานท์ โอลาฟอีกครั้ง

แต่เรื่องก็พลิกผันเมื่อเคานท์ โอลาฟทราบว่าเขาจะไม่ได้อะไรเลยหากเด็กๆทั้งสามเป็นอะไรไป แต่เขาจะได้สมบัติหากเขาแต่งงานกับไวโอเลต ดังนั้นเขาจึงจัดละครขึ้นเพื่อบังหน้าที่จะแต่งกับไวโอเลต โดยจับซันนี่น้องสาวคนเล็กไว้เป็นตัวประกัน แต่พี่ชายคนกลางก็สามารถช่วยน้องได้สำเร็จและค้นพบความจริงบนห้องใต้หลังคาที่โดนปิดบังมาตลอดคือ การฆาตกรรมพ่อและแม่ของพวกเขานั้นเอง เขาได้พบว่า ดวงตา บนหอคอยที่หักเหแสงไปยังบ้านของพวกเขาจนเกิดเหตุหารณ์น่าสลดนั้นก็คือ เคานท์ โอลาฟ ชายหน้าตาน่าเกลียดคนนี้นี่เอง แม้สุดท้ายนั้นเคานท์ โอลาฟจะพ้นข้อหา โดยการช่วยเหลือจากเพื่อนอัยการของเขาแต่ทางการก็ยังพยายามจับกุมเขาอยู่ สุดท้ายแล้วเด็กๆก็กลับไปที่บ้านและพบว่าพ่อแม่และได้ส่งจดหมายมาให้ เป็นเชิงคำสั่งเสียที่บอกให้ทั้งสามคนรักกันและดูแลกันให้ดีอย่างที่เป็นมาตลอด และทิ้งสิ่งที่น่าฉงนไว้ให้เด็กๆนั้นก็คือ กล้องส่องทางไกล แต่สิ่งที่เด็กๆได้รู้คือ ไม่ว่าพ่อแม่จะอยู่หรือไม่ พวกเขาก็ต้องก้าวต่อไปและดูแลกันและกันอย่างดีที่สุดตลอดไป

ตัวละคร

ไวโอเลต โบตแลนด์

พี่สาวคนโตของบ้าน เธอเป็นสาวน้อยนักประดิษฐ์ที่เก่งจนน่าแปลกใจ เธอสามารถนำสิ่งของต่างๆที่ไม่ใช่แล้วมาทำเป็นของต่างๆที่มีประโยชน์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

เคล้า โบตแลนด์

ลูกชายคนกลาง นักอ่านตัวยง บ้านโบตแลนด์แม้มีหนังสือมากมายเพียงแต่ แต่เขาก็อ่านมานจนหมดและสามารถจำทั้งหมดนั้นได้ ด้วยการอ่านเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

ซันนี่ โบตแลนด์

ลูกสาวคนสุดท้อง วัยเพียงสี่ขวบ ฟันเพียงสี่ซี่ที่กัดไปทุกอย่างที่มีในโลก

มิสเตอร์ โพล

นายธนาคารที่มีหน้าที่จัดการมรดกของเด็กๆทั้งสาม

เคานท์ โอลาฟ

ชายวัยกลางคน หน้าตาอัปลักษณ์ และท่าทางที่ออกจะไม่ค่อยสมประกอบ แต่งตัวประหลาด และอาชีพของเขานั้นก็คือ นักแสดง

ด๊อกเตอร์ มอลโกเมอร์รี่

ชายวัยกลางคนที่เด็กๆเรียกว่าลุง เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่หลงใหลในสัตว์เลื้อยคลาน โดยเฉพาะงู
เป็นชายใจดี แลดูแลเด็กๆด้วยความรักและเอ็นดูอย่างแท้จริง

ป้าโจโซฟีน

หญิงแก่ที่อยู่บ้านคนเดียวหลังจากที่สามีของเธอตายไป เมื่อก่อนเธอเป็นนักผจญภัยที่ยิ่งใหญ่แต่ปัจจุบันหลังจากที่สามีของเธอตายไป เธอกลายเป็นคนที่หวาดระแวงสิ่งต่างๆเกินเหตุตลอดเวลา และเป็นคนที่เก็บความลับเกี่ยวกับชมรมลับที่พ่อและแม่ของเด็กทั้งสามนั้นเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

ความสำคัญของเรื่อง

คนเราทุกคนย่อมต้องพบเจอเรื่องต่างๆที่เป็นอุปสรรคที่ผ่านเข้ามาในทุกช่วงเวลาของชีวิต และไม่ว่าอย่างไร เราต้องผ่านพ้นมันไปให้ได้ เช่นเดียวกับเด็กๆบ้านโบตแลนด์ทั้งสามคนที่ดูแลกันและกันอย่างดีด้วยความรักและความอดทนอย่างที่เคยเป็นมาเสมอ และเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นนั้น พวกเขาจะไม่สามารถผ่านพ้นมันไปได้เลยหากพวกเขาไม่มีความสามารถที่ตัวเองมีและฝึกฝนมาตลอดชีวิต ดังเช่นที่ ไวโอเลต เด็กนักประดิษฐ์ตัวน้อยที่สุดท้ายก็หาทางออกได้เสมอไม่ว่าจะเจอเรื่องร้ายแรงเพียงใด เคล้า น้องคนกลาง ที่รักการอ่านและอ่านทุกอย่างที่มี และสำคัญคือสามารถจำได้และนำมาใช้ได้อย่างถูกต้องอีกด้วย เพราะเขาเองจึงหาทางออกได้อยู่เสมอๆ แม้บางครั้งจะเป็นเพียงแค่ทฤษฏีเท่านั้น แต่ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำให้พวกเขารอดพ้นจากเรื่องร้ายๆได้ และสุดท้ายน้องคนเล็ก ซันนี่ เด็กสี่ขวบกับฟันสี่ซี่ที่กัดทุกอย่างที่ขวางหน้า และไม่น้อยเลยที่หนูน้อยคนนี้ใช้ความสามารถของเธอช่วยพี่ๆให้ผ่านเรื่องต่างๆไปได้ ดังนั้น แม้เรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นของเด็กๆบ้านโบตแลนด์นั้นมีแต่เรื่องโชคร้ายมาตลอด แต่ความเป็นจริงแล้วอาจจะเรียกว่าเป็นความโชคดีในความโชคร้ายก็ได้ที่เด็กๆทั้งสามคนนั้นเก่งในเรื่องที่ต่างๆกันออกไปและสามารถเอาความสามารถนั้นมาใช้ได้อย่างถูกที่ถูกเวลาอีกด้วย

Me myself ขอให้รักจงเจริญ


นางสาวจิราภรณ์ บุญจันทร์

05490066


“ผิดไหม หากใจฉันจะรักเธอ” หลายคนให้คำนิยามคำว่า “รัก” ในมุมมองที่ต่างกัน ดิฉันเป็นอีกคนหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับความรัก มองว่าความรักเป็นสิ่งสวยงาม และชอบปล่อยอารมณ์ให้อยู่ในห้วงแห่งความรัก โดยเฉพาะกับการชมภาพยนตร์แนวรักโรแมนติก มันทำให้เราได้เข้าใจมุมมองใหม่ๆของผู้อื่นที่เราอาจไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน

คำถามข้างต้นได้เกิดขึ้นในใจของดิฉัน หลังจากที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่อง Me myself ขอให้รักจงเจริญ เขียนบทโดย คงเดช จาตุรันต์รัศมี และกำกับโดย พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง เป็นเรื่องราวของอุ้ม หญิงที่เพิ่งอกหักจากกริช คนรักคนแรกของเธอ คืนหนึ่งเธอขับรถไปชนแทน ชายแปลกหน้า จนความจำเสื่อม เธอจึงต้องรับภาระดูแลแทนจนเวลาผ่านไป แทนเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตเธอมากขึ้น คอยเป็นกำลังใจเธอในเรื่องต่างๆ และทำให้ชีวิตเธอดีขึ้น ในขณะเดียวกัน ชีวิตที่แสนจะว่างเปล่าของแทน กลับค่อยๆถูกเติมเต็มจากอุ้ม จนในที่สุดทั้งคู่ก็ตกหลุมรักกัน แทนจึงไม่คิดจะตามหาอดีตของตัวเองอีกต่อไป เมื่อความทรงจำของแทนกลับคืนมา ทุกคนจึงได้ทราบความจริงว่าแทนเป็นสาวประเภทสอง แต่อุ้มและแทนก็ตัดสินใจที่จะรักกันต่อไป โดยไม่สนใจอดีต และเสียงสะท้อนใดๆจากสังคม

ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเรื่องราวความรักโดยการสื่อออกมาด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา แต่สามารถสร้างความสะเทือนอารมณ์และความประทับใจให้ผู้ชมได้ โดยเริ่มเรื่องจากอุ้มและแทน คนที่ไม่เคยรู้จักกัน กำลังมีปัญหาชีวิตเหมือนกัน เพราะอุบัติเหตุทำให้เขาได้รู้จักกันและได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน

ต่อมา ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ได้พัฒนาจากคนไม่รู้จักกันกลายเป็นคนรักกัน โดยทิ้งข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตในอดีตของแทนไว้ ทำให้เรื่องน่าติดตาม

หลังจากที่อุ้มและกริชได้มาพบกันในงานเลี้ยง ทำให้แทนคิดว่า อุ้มอาจจะกลับไปคืนดีกับกริช แทนจึงตัดสินใจตามหาอดีตของตัวเอง เป็นเหตุให้นำไปสู่จุดไคลแม็กซ์ของเรื่องคือ ความจริงได้ปรากฏว่าแทนเป็นสาวประเภทสอง ความรักของทั้งคู่จึงเกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสังคม

อย่างไรก็ตาม เขาทั้งสอง ก็เลือกที่จะรักกันต่อไป โดยไม่สนใจว่าอดีตของแทนเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นฉากปิดเรื่องที่ซึ้งและกินใจอย่างยิ่ง คงไม่มีเหตุผลใดที่ทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจเช่นนั้น นอกจากความรัก ความเข้าใจที่เขาทั้งสองมีต่อกัน

ดิฉันอาจตอบคำถามในใจไม่ได้ว่า ผิดไหม หากอุ้มจะรักแทน แต่ดิฉันคิดว่า สิ่งเดียวที่จะยึดเหนี่ยวจิตใจคนทั้งสองได้ก็คือ “รัก ” ขอเพียงยังรักกัน ต่อให้มีอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ ก็ยินดีทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ความรักจงเจริญอยู่ในหัวใจของคนทั้งสองตราบชั่วนิรันดร

Across the Universe


นส.สุฤดี ทองมอญ

05490436


เป็นเรื่องราวของ ความรัก สงครามและความขัดแย้ง เมื่อจู๊ด เด็กหนุ่มผู้รักศิลปะจากเมืองลิเวอร์พูลประเทศอังกฤษ ต้องการที่จะหลีกหนีจากความซ้ำซากจำเจ และการต้องเป็นกรรมกรท่าเรือ ไปสู่ดินแดนที่มีสิทธิเสรีภาพ เขาจึงตัดสินใจเดินทางไปอเมริกา ซึ่งไกลจากบ้านเกิดของเขาคนละซีกโลกอย่างผิดกฎหมาย และที่นั่น เขาได้พบกับหญิงสาวที่เพียบพร้อมทุกอย่าง ทั้งรูปร่างหน้าตาและฐานะทางสังคมผู้เปี่ยมไปด้วยความเข้มแข็งและอุดมการณ์ ลูซี่เป็นสาวน้อยที่ต้องสูญเสียคนรักจากสงคราม


หลังจากที่เดเนียลคนรักของเธอถูกส่งไปเป็นทหารในสงครามเวียดนาม จู๊ดได้ทำความรู้จักกับลูซี่ผ่านลูกพี่ลูกน้องของเธอซึ่งเป็นเพื่อนของเขา แม็กซ์ ซึ่งเป็นอีกคนที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม เขาเป็นอีกคนในชีวิตของลูซี่ที่ถูกส่งไปเป็นทหาร หลังจากนั้นจู๊ดกับลูซี่ก็เริ่มคบหากัน ด้วยเหตุที่ลูซี่รู้สึกว่าเธอได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงคราม เธอจึงรู้สึกหวาดกลัวและต่อต้านสงคราม โดยเธอเข้าร่วมกับกลุ่มผู้ประท้วงเพื่อต่อต้านสงคราม การเข้าร่วมประท้วงของเธอในครั้งนี้ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเธอกับจู๊ด และหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ลูซี่หนีไปเพื่อทำตามอุดมการณ์ของเธอ และจู๊ดก็ได้พบเธอโดยบังเอิญขณะที่เธอกำลังร่วมกับกลุ่มผู้นำชุมนุมประท้วงอย่างรุนแรง และถูกกำลังตำรวจเข้าจับกุม เขาพยายามจะเข้าไปช่วยเธอ แต่นั่นกลับทำให้เขาถูกจับและส่งกลับประเทศอังกฤษ หลังจากที่เขากลับไปเขาก็ไม่เคยมีความสุข ลูซี่ก็เช่นกัน จู๊ดจึงตัดสินใจกลับมาหาเธออีกครั้งโดยเดินทางอย่างถูกกฎหมาย และเขากับเธอก็ได้พบกันในที่สุด

ดิฉันคิดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่ใช้ภาพและเพลงประกอบที่ให้ความรู้สึกได้ดี ด้วยเหตุที่ว่าเป็นภาพยนตร์เพลง การใช้เพลงเป็นสื่ออาจทำให้ผู้ชมได้รับรู้ถึงความรู้สึกของตัวละครได้ดีกว่าการใช้บทพูดทั่วไป เพราะภาษาที่ใช้ในบทเพลงเป็นภาษาที่มีความสละสลวยอยู่แล้ว อีกทั้งในภาพยนตร์เรื่องนี้ยังมีการใช้สัญลักษณ์ให้ผู้ชมได้ตีความกันอยู่ตลอดทั้งเรื่อง แต่หากผู้ชมดูเพียงเพื่อความบันเทิงแต่ไม่ได้สนใจในสัญลักษณ์เหล่านั้น ก็จะไม่ได้รับรู้ถึงรสของภาพยนตร์อย่างลึกซึ้งอย่างที่ผู้ทำภาพยนตร์ต้องการจะสื่อ


แต่การที่มีสัญลักษณ์ให้ตีความก็ทำให้ภาพยนตร์มีเรื่องราวและสาระมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ตอนเปิดเรื่อง เปิดด้วยฉากริมทะเลที่มีคลื่นซัดสาดอย่างรุนแรง ซ้อนด้วยภาพเรื่องราวต่างๆของเรื่อง ทั้งความรัก สงครามและการต่อสู้ ดิฉันคิดว่าที่เปิดฉากอย่างนี้เพราะ บ้านเกิดของพระเอกของเรื่องอยู่ติดท่าเรือ และคลื่นที่ถาโถมเข้ามาก็เปรียบกับการที่ต้องต่อสู้อย่างดุเดือดและรุนแรงเพื่อเสรีภาพ และฉากที่พระเอกของเรื่องใช้สตรอเบอรี่เพื่อทำงานศิลปะ แสดงถึงความรุนแรงและเลือดเนื้อที่ต้องเสียไปจากสงคราม การแสดงสัญลักษณ์เหล่านี้ทำให้ผู้ชมต้องติดตามและคิดตามตลอดทั้งเรื่อง


นอกจากการใช้สัญลักษณ์เป็นภาพแล้ว เพลงก็เป็นสื่อสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้ชมได้มีอารมณ์ร่วมไปกับภาพยนตร์มากขึ้น บางครั้งก็ใช้เพลงเดียวกันแต่ใช้เล่าเรื่องในหลายอารมณ์ ทั้งอารมณ์รุนแรง เข้มแข็งและอ่อนไหว ใช้เพลงเล่าเรื่องได้อย่างลื่นไหลโดยที่ผู้ชมไม่รู้สึกขัดหูขัดตา

เมื่อพิจารณาจากชื่อเรื่อง Across the Universe ดิฉันสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลกันเพียงใด ทั้งในเรื่องระยะทาง ฐานะทางสังคม และความแตกต่างทางวัฒนธรรม แต่เมื่อคนสองคนมีความรักและความเข้าใจซึ่งกันและกัน แม้อยู่ไกลกันคนละจักรวาลก็สามารถที่จะมาพบและรักกันได้

จากนี้จะรักเธอตลอดไป (Now and Forever)


นส.ปิยะนุช กล่อมบรรจง

05490236


เนื้อเรื่องย่อ

มินซูชายหนุ่มผู้ผ่านความสัมพันธ์กับหญิงสาวแบบไร้ความหมายมากมายเพราะเขาคิดว่าความรักเป็นเพียงแค่เกมส์ แต่เมื่อวันหนึ่งมินซูพบกับแฮวอน หญิงสาวผู้มีความสุขมองโลกในแง่ดีและใสซื่อ แต่มีเวลาในชีวิตเหลืออีกไม่มากเนื่องจากป่วยเป็นโรคความดันในช่องอก มินซูพยายามทุกวิถีทางที่จะชนะใจแฮวอนให้ได้ โดยเข้ามาตรวจร่างกายในโรงพยาบาลที่แฮวอนพักรักษาตัวอยู่ เธออยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลานานแล้วเพราะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด แต่ด้วยความเป็นคนร่าเริง รักสนุกของเธอทำให้ชอบหนีออกไปเที่ยวข้างนอกอยู่เสมอ มินซูจึงกลายเป็นเพื่อนร่วมเดินทางของเธอ ความรู้สึกของมินซูเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมเมื่อเขายิ่งใกล้ชิดกับแฮวอนมากขึ้น จนกระทั่งเขาบอกกับตัวเองและแฮวอนว่านี่คือความรัก รักที่ดูเหมือนกำลังดำเนินไปได้ด้วยดีก็กลับสะดุดลงเมื่ออาการของแฮวอนทรุดหนัก ในอีกด้านหนึ่งผลการตรวจร่างกายของมินซูแสดงว่าเขาเป็นเนื้องอกในสมองไม่มีทางรักษาหาย ทั้งคู่ต่างปกปิดอาการของตนโดยที่ไม่รู้เลยว่าอีกฝ่ายทราบข่าวร้ายของกันและกันแล้ว แฮวอนขอออกจากโรงพยาบาลเพื่อใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายอย่างมีความสุขกับคนที่เธอรัก มินซูพาเธอไปทุกที่ที่เธอต้องการ ช่วงเวลาสุดท้ายจึงเป็นช่วงที่ดีที่สุดสำหรับทั้งคู่ ได้ใช้เวลาร่วมกันและต่างบอกความรู้สึกของกันและกัน เพราะกลัวว่าจะไม่มีโอกาศได้บอกอีกต่อไป สุดท้ายแฮวอนก็จากไปเหลือไว้แต่ความรักที่มีอยู่เต็มหัวใจในร่างกายที่อ่อนแอเต็มทีของมินซู

ชื่อเรื่อง

ชื่อนี้เป็นชื่อเรื่องที่ดูแล้วสอดคล้องกับเนื้อหาของภาพยนตร์ เนื่องจากเป็นการสะท้อนให้เห็นประเด็นสำคัญของตัวละครเอก คือเมื่อตัวละครเอกทั้งสองได้รักกันก็พร้อมที่จะมั่นคงกับความรู้สึกนั้นไม่เปลี่ยนแปลง ถึงแม้ว่าจะผ่านอดีตที่ไร้จุดหมายและมองไปเห็นอนาคตที่ไม่แน่นอน ทั้งคู่ก็คิดจะเป็นคนสุดท้ายของกันและกันเหมือนเป็นคำมั่นว่าจากนี้จะไม่เปลี่ยนใจ
ประเด็นสำคัญ
ความรักที่ตัวละครเอกทั้งสองมีต่อกัน

ฉาก

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีการเปิดเรื่องด้วยฉากที่บอกความเป็นตัวตนของตัวละครเอกฝ่ายชายเป็นฉากที่เขาพยายามทจะสลัดความสัมพันธ์กับหญิงสาวที่เขามีความสัมพันธ์ด้วยคนหนึ่ง ฉากนี้ทำให้ผู้ชมทราบว่าเขามีลักษณะเป็นเพลบอย เมื่อเรื่องดำเนินไปจนถึงพบรักกับตัวละครเอกฝ่ายหญิงและยอมที่จะเปลี่ยนตัวเองเพื่อความรัก จากชายรักสนุกมาอยู่กับหญิงขี้โรคใกล้ตาย เมื่อแฮวอนตาย ภาพลักษณ์การเป็นเพลบอยของมินซูก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ช่วยดึงอารมณ์ผู้ชมให้สงสารเห็นใจและมีอารมณ์เศร้าคล้อยตามมินซูไปด้วย

ปิดเรื่องด้วยฉากที่มินซูนั่งร้องไห้ดู VDO message ของแฮวอนที่ถ่ายไว้ก่อนตายและบอกเล่าความรู้สึกที่เธอมีต่อคนรัก เบื้องหลังเป็นฉากต้นไม้สองต้นที่โน้มกิ่งเข้าหากัน จนผู้ที่มองจากไกลๆจะคิดว่าเป็นต้นไม้ต้นเดียวกัน สถานที่และต้นไม้คู่นี้เป็นที่ที่แฮวอนชอบมาก ฉากนี้มีต้นไม้เป็นสัญลักษณ์ที่ตอกย้ำให้ผู้ชมรู้ว่าความรักของทั้งสองจะยังคงอยู่และค้ำจุนกันและกันเหมือนต้นไม้สองต้นนี้ ถึงแม้ว่าเขาและเธอจะไม่มีชีวิตอยู่บนโลกนี้อีกแล้วก็ตาม

ตัวละคร

ตัวละครหลักมี 2 ตัวคือ

มินซู (ชาย) เป็นเพลบอยคนหนึ่งที่ไม่เคยจริงจังกับความรักและผู้หญิงที่ผ่านเข้ามาในชีวิต แต่ก็ต้องแพ้ให้กับความรักที่มีต่อแฮวอน เขาพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อเธอ ตัวอย่างเช่นแฮวอนขอให้เขาไปขอโทษผู้หญิงทุกคนที่เคยทำให้เสียใจก่อนที่จะคบกันเป็นแฟน มินซูก็ยอมทำตามทั้งถูกตบ ถูกด่าจากผู้หญิงพวกนั้น เขาก็ยอมทนหรือจะเป็นตอนที่เพื่อนสนิทของเขาบอกให้ไปผ่าตัดเนื้องอกในสมองที่ต่างประเทศ มินซูกลับบอกว่าถ้าเขาผ่าตัดแล้วเสียความทรงจำที่มีต่อแฮวอนคงจะทรมานกว่าอาการเจ็บปวดในตอนนี้แน่นอน เขาจึงไม่ยอมผ่าตัด แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงของชายที่เคยขึ้นชื่อว่าเพลบอยแต่กลับมาทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อผู้หญิงคนนี้

แฮวอน (หญิง) ร่าเริง มองโลกในแง่ดีถึงแม้จะรู้ว่าตัวเองเหลือเวลาอีกไม่นานนัก เอก็ไม่จมปรักอยู่กับความเจ็บป่วยของโรคร้าย มักหาโอกาศหนีออกไปเที่ยวนอกโรงพยาบาลเสมอ เธอปฏิเสธที่จะสานความสัมพันธ์กับมินซูเมื่อครั้งแรกที่พบกัน เพราะไม่อยากให้ใครต้องมาเสียใจเมื่อคบกับเธอแล้วเธอตายไป แต่เมื่อมินซูเข้ามาในชีวิตแฮวอนก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ารักเขามาก เช่น ตอนที่รู้ว่ามินซูเป็นเนื้องอกในสมองไม่มีทางรักษา แต่มินซูสบายใจที่จะปิดบังเธอไว้ เธอก็ทำเป็นไม่รู้เรื่องอะไร เพื่อใช้เวลาที่เหลืออยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขไม่จมไปกับความเศร้า แฮวอนเป็นผู้ป่วยที่มีกำลังใจดีมากเพราะเธอพยายามลืมความเจ็บป่วยและพยายามใช้เวลาที่มีทั้งหมดอย่างมีความสุข

สัตว์ประหลาด ( Monster)


กนกกาญจน์ สุประดิษฐ์

05490003


สัตว์ประหลาดเป็นผลงานการกำกับของอภิชาติพงษ์ วีระเศษฐพงษ์ ซึ่งเป็นหนังที่ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากจากทั้งในและต่างประเทศถึงเนื้อหาที่ค่อนข้างเข้าใจยาก เป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าฉายในเทศกาลหนังเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส สร้างความฮือฮาอย่างมากให้กับวงการหนังไทย และยิ่งฮือฮาเข้าไปอีกเมื่อหนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จ ได้รับรางวัล Jury prize สร้างเกียรติประวัติให้แก่ชาติไทยเป็นอย่างมาก
แต่อย่างไรก็ตาม จากเนื้อหาของภาพยนตร์ที่ว่า ถ้าจะดูให้ง่ายก็ง่าย ถ้าจะดูให้ยากก็ยากนั้น ได้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาพยนตร์หลายท่านออกมาวิพากษ์วิจารณ์ แตกออกเป็นสองฝ่าย บ้างวิจารณ์ว่า เป็นหนังที่เข้าใจยาก ดูยาก เนื้อเรื่องชวนให้หลับ บ้างถึงกับหลงใหลและชื่นชมในความสามารถของผู้กำกับที่สามารถสร้างหนังที่เป็นเอกลักษณ์ได้ถึงเพียงนี้


เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สร้างชื่อเสียงให้กับอภิชาติพงษ์เป็นอย่างมาก แต่เรื่องนี้อาจไม่ใช่เรื่องที่หลายๆคนชอบ เพราะเรื่องที่เขาสร้างนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก มีนักวิจารณ์หนังหลายคนพูดว่า “ หนังเรื่องนี้ต้องเอาหัวใจมาดู อย่าเอาสมองมาดู “ ถ้าจะถามว่าทำไมหนังเรื่องนี้ถึงดูยาก นั่นอาจเป็นเพราะว่าหนังส่วนใหญ่มีรูปแบบที่เป็นพล็อตเรื่องมาแล้ว แต่หนังของอภิชาติพงษ์นั่นต้องใช้จิตนาการสูง ต้องคิดตามจึงเข้าใจยาก ซึ่งหากให้ผู้เชี่ยวชาญทั้งที่เป็นคนไทยและที่เป็นต่างชาติดูก็คงจะทำให้งงได้เหมือนกัน เพราะหนังเรื่องนี้มีลักษณะพิเศษ มีภาษาและรหัสที่เป็นไปในแบบฉบับของมันเอง

อภิชาตพงษ์ได้นำเสนอรูปแบบของหนังเรื่องสัตว์ประหลาดในลักษณะของหนังผ่าครึ่ง หลายคนอาจจะสงสัยว่าหนังผ่าครึ่งคืออะไร หนังผ่าครึ่ง คือหนังที่มีสองเรื่องในเรื่องเดียวนั่นเอง

เรื่องแรกเขาตั้งชื่อเรื่องว่า Tropical Malady ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ แปลเป็นไทยได้ว่า ไข้มาลาเรีย เป็นเรื่องที่เน้นตัวละครเป็นหลัก นั่นคือนายทหารชื่อเก่งและโต้ง เน้นความรักระหว่างชายด้วยกัน หากแต่สามารถแสดงความรักต่อกันได้โดยปกติ ตัวพ่อแม่โต้งเองก็รู้ ชาวบ้านที่ถือว่าเป็นชาวชนบทจริงๆ ก็รับได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ กลายเป็นความรักปกติสามัญ แต่ในที่สุดแล้วหนังเรื่องนี้ก็ทำให้ผู้ชมได้ตั้งคำถามว่า แล้วตกลงมันเป็นเรื่องปกติธรรมดาจริงหรือ? หรือคนจำพวกเก่งและโต้งจะต้องอยู่ในฐานะที่เป็นสัตว์ประหลาดของสังคมกันแน่

ส่วนเรื่องที่สองได้รับอิทธิพลมาจากเรื่องล่องไพรของน้อย อินทนนท์ ซึ่งอภิชาตพงษ์ ได้ตั้งชื่อตอนนี้เป็นภาษาไทยว่า สัตว์ประหลาด เรื่องของตอนนี้ได้เน้นเอาสถานที่เป็นหลัก นั่นก็คือป่า เรื่องได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเก่งเดินทางเข้าไปในป่า ตามล่าเสือที่คาบวัวชาวบ้านไป จนนำไปสู่การที่เก่งได้กลายร่างของเป็นเสือสมิงเสียเอง หนังตอนนี้จะเป็นหนังเงียบ มีบทพูดเพียงไม่กี่บท ซึ่งนี้อาจจะเป็นหนังเรื่องเดียวกระมังที่ให้ความรู้สึกเกี่ยวกับป่าที่ช่างเงียบเหลือเกิน และเราอาจจะไม่เคยดูหนังเรื่องไหนที่พูดถึงป่าได้ลึกซึ้งขนาดนี้ ตอนนี้เป็นตอนที่แปลก เพราะเราจะได้ยินเสียงของความเงียบดังมากๆ ในขณะที่ดูจะทำให้เรานึกย้อนไปถึงบรรยากาศการไปตั้งแคมป์ในป่าเลยทีเดียว

เรื่องแรกจะมีบทพูดมากกว่า ส่วนเรื่องหลังเงียบ บทพูดน้อย เป็นเรื่องของการเดินป่าเป็นส่วนใหญ่ ถ้าจะถามว่าเรื่องไหนดูยากกว่ากัน หลายคนที่ได้ดูจะตอบว่าเรื่องหลังจะดูยากกว่า เพราะเป็นหนังเงียบ นั่นเพราะความเงียบไม่มีเสียงจึงทำให้ผู้ชมภาพยนตร์ต้องใช้จินตนาการของตัวเองค่อนข้างสูง
เราจะเห็นได้ว่า ในเรื่องแรก อภิชาตพงษ์ มีวิธีการนำเสนอที่เป็นเหมือนจริงมากๆ เหมือนในชีวิตประจำวันเลยทีเดียวก็ว่าได้ แต่เรื่องที่สองกลับใช้กลวิธีการนำเสนอแบบเหนือธรรมชาติมากๆด้วยเช่นกัน มีคนเปลี่ยนร่างได้ ลิงพูดได้ การที่เขาใช้วิธีการสองเรื่องแตกต่างกันนั้น เพราะเรื่องแรกเป็นเรื่องทางกายภาพ เป็นเรื่องของความเป็นจริงในปัจจุบัน จึงนำเสนอผ่านรูปแบบที่เป็นปกติสามัญ แต่ในเรื่องที่สองเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับภายในจิตใจของมนุษย์ จึงใช้การนำเสนอแบบเหนือจริง เรื่องนี้ได้พยายามบอกลักษณะภายนอกและภายในของมนุษย์ โดยอีกนัยหนึ่งของเรื่องนี้พยายามที่จะบอกถึงสัญชาตญาณความรุนแรง โดยประเด็นของเรื่องที่อภิชาตพงษ์ต้องการนำเสนอนั่นก็คือ สัญชาตญาณความรุนแรงภายในใจของมนุษย์และเรื่องของ Homosexual นั่นเอง
แต่กระนั้นแล้ว ก็ยังมีผู้ชมอีกหลายคนด้วยเช่นกันที่เกิดข้อสงสัยว่าแล้วสองเรื่องนี้เกี่ยวพันกันได้อย่างไร และมีความเกี่ยวโยงกันตรงไหน ซึ่งหากจะมองทางกายภาพแล้ว หนังสองเรื่องนี้ใช้ตัวแสดงชุดเดียวกัน แล้วการที่เอาเรื่องสองเรื่องมาวางใกล้เคียงกัน ไม่ทางใดทางหนึ่งก็ต้องเชื่อมกันอยู่แล้วเป็นธรรมดา อีกทั้งใน


เรื่องแรกตอนที่นายทหารซึ่งก็คือเก่งกำลังดูรูปของโต้ง ก็มีเสียงของชาวบ้านตะโกนขึ้นมาว่า วัวถูกเสือคาบไป แล้วก็ตัดไปเรื่องที่สองโดยทันที มีภาพของเก่งเดินเข้าไปในป่า นั่นแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมต่อของเรื่องทั้งสอง
สังเกตได้ว่า ตอนต้นเรื่องก่อนที่จะขึ้นตัวเรื่องของหนัง มีบทกลอนเกี่ยวกับสัญชาตญาณ สันดานดิบของมนุษย์ว่า เรามีหน้าที่ที่จะควบคุมมันให้เชื่องเท่านั้นเอง ส่วน

ในเรื่องที่สองจะพูดว่า we are not animal or human นั่นก็คือ เรามิใช่ทั้งคนและมิใช่ทั้งสัตว์ นี่ถือเป็นคีย์เวิร์ดของเรื่องเลยก็ว่าได้ เพราะการที่อภิชาตพงษ์ ได้นำเอาเรื่องของเสือสมิงมาใช้นั่นก็เพราะ มันได้แสดงถึงสัตว์ที่สามารถกลายร่างเป็นคนได้ เสือสมิงจึงไม่ใช่ทั้งสัตว์และมิใช่ทั้งคน และในท้ายที่สุด เก่งจะต้องเลือกวิธีการควบคุมสัญชาตญาณดิบนั่นคือเสือสมิงให้ได้ และวิธีการที่เก่งจะอยู่กับมันได้นั่นก็คือ เก่งจะต้องฆ่ามันและจะต้องปลดปล่อยมัน หรือไม่ก็จะต้องยอมให้มันกินแล้วกลายเป็นตัวมันซะเลย เมื่อเรานำเรื่องแรกกับเรื่องที่สองมาประกอบกัน ก็จะทำให้เราได้เห็นความหมายของเรื่องนี้ชัดเจนขึ้น ว่าอะไรคือสัญชาตญาณ และอะไรคือสันดานดิบที่เราจะต้องควบคุมมันให้ได้

หนังเรื่องสัตว์ประหลาดได้ทำลายโครงสร้างเดิมๆอย่างที่เราคุ้นเคยทิ้งไป ไม่มีฮีโร่ ไม่มีพระเอก ไม่มีนางเอก และเป็นหนังผ่าครึ่ง ซึ่งทำทีท่าว่าจะไม่มีความสัมพันธ์กันเลยระหว่างสองเรื่อง เวลาเรื่องที่สองขึ้นก็ขึ้นฉากใหม่เลย ทำให้เรารู้สึกว่าหนังได้ถูกแบ่งครึ่งเป็นคนละเรื่อง แต่มันก็ได้สร้างจุดที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงความเกี่ยวโยงกันระหว่างสองเรื่อง สร้างความสับสนไม่น้อยเลยทีเดียว

นอกจากนี้แล้ว ว่ากันว่าผู้กำกับที่ดีนั้นก็จะต้องเลือกเฟ้นทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้าไปอยู่ในหนังของเขานั้นให้มีความหมายที่สุด แม้ว่ามันจะแกล้งพรางตัวว่าไม่มีก็ตาม อภิชาตพงษ์ได้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ให้มีเอกภาพในการนำเสนอเป็นอย่างมาก ซึ่งอาจจะดูเหมือนว่ามันไม่มีอะไรเลย แต่ว่ามันกลับมีการเชื่อมโยงกันอยู่ตลอดเวลา เขาได้เลือกเฟ้นตัวแสดงอย่างเข้าถึงบุคลิกภาพของคนๆนั้นจริง โดยใช้บุคลิกของคนๆนั้นมาเป็นตัวดำเนินเรื่องเลย การแสดงที่ไม่เหมือนการแสดง ใช้ความเป็นจริงและลักษณะที่เป็นลักษณะของตัวเขาจริงๆมาใช้ ไม่มีการแอคติ้ง ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงดูเป็นธรรมชาติมากๆ

ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว อภิชาตพงษ์ยังได้ทำลายสิ่งที่เราคุ้นเคย เขาสร้างรูปลักษณ์ใหม่ๆ ไวยากรณ์ใหม่ๆ ขึ้นมา ฉะนั้นหากเราใช้ความคุ้นเคยเดิมๆดูก็คงจะลำบากสักหน่อย แต่ถ้าหากเราต้องการจะดูหนังเรื่องนี้ให้ถึงศาสตร์ของมันแล้วนั้น เราจะต้องพยายามที่จะเข้าใจมันก่อน เพราะมันเรียกร้องความคิดมาก อีกทั้งหนังได้พยายามผลักระยะให้กับคนดู โดยเขาจะมีกลวิธีคือ การใช้ภาพระยะไกลและลักษณะของการแอคชั่นนั่นจะมีน้อยมาก นั่นเป็นการเรียกร้องให้คนดูเป็นผู้เดินเข้าไปหามันเอง แล้วตัวคนดูเองก็จะถามว่าทำไม ทำไม ทำไม อยู่ตลอดเวลา ผิดกับหนังเรื่องอื่นๆที่คนดูจะถูกดึงเข้าไปมีส่วนร่วมโดยอัตโนมัติ และดูเหมือนว่าในแต่ละฉากของ

หนังเรื่องนี้ คนดูจะถูกโยนคำถามอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งจบเรื่อง เป็นความรู้สึกที่เสมือนว่า หนังจบ แต่อารมณ์ไม่จบ นั่นเอง

A.I. (Artificial Intelligence) จักรกลอัจฉริยะ


ตวงพร แสนเสนาะ

05490145


เมื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวล้ำไปถึงจุดสูงสุด มนุษย์ได้ประดิษฐ์หุ่นยนต์ขึ้นมาเพื่อตอบสนองทุกความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ยกเว้นการมอบความรักให้กับเจ้าของ บริษัทผู้ผลิตไม่ติดตั้งโปรแกรมความรักให้หุ่นยนต์เพื่อแสดงให้เห็นว่าหุ่นยนต์ไม่มีวันเหมือนมนุษย์ได้ แต่ในที่สุดเดวิด หุ่นยนต์เด็กตัวแรกที่ถูกติดตั้งโปรแกรมมาให้รักเป็นได้ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อเอาใจคู่สมรสที่ไม่สามารถมีลูกได้ เฮนรี่และโมนิกาภรรยาของเขาซึ่งลูกชายป่วยหนักจนต้องแช่แข็งไว้รอการรักษา พวกเขารับเดวิดเข้ามาทดแทนความรักจากลูกชาย จนเดวิดค่อยๆกลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว แต่แล้ววันหนึ่งลูกชายของพวกเขาก็ฟื้นและกลับมาอยู่ในครอบครัว เขาอิจฉาเดวิดจึงสอนให้เดวิดประพฤติเลวร้าย สุดท้ายโมนิกาก็พาเดวิดไปทิ้งในป่า เดวิดไม่สามารถเข้ากันได้กับคนและก็ไม่ได้รับการยอมรับจากเหล่าเพื่อนจักกลเพราะเขามีความรู้สึกและรักเป็น ด้วยแรงบันดาลใจจากนิทานเรื่องพิน็อคคิโอ เดวิดจึงตัดสินใจออกเดินทางค้นหานางฟ้าเพื่อขอพรให้กลายเป็นคนได้ การออกสู่โลกกว้างของเดวิดได้ทำให้เขาเข้าใจถึงกำแพงที่แบ่งกั้นระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ รวมทั้งความโหดร้ายของโลกแห่งความจริงที่ว่ามนุษย์ได้ย่ำยีเพื่อนผู้ต่ำต้อยของเขาอย่างเลือดเย็น


เมื่อชมภาพยนตร์เรื่องนี้จบ ความรู้สึกแรกที่เกิดคือความสะเทือนใจ สะเทือนใจในความรักอันบริสุทธิ์ของเดวิดที่พยายามทำทุกอย่างให้ได้กลายเป็นเด็กปกติ เดวิดไม่มีอารมณ์ที่สลับซับซ้อนเฉกเช่นมนุษย์ เขาจึงไม่เข้าใจว่าสาเหตุที่เขาถูกทิ้งไม่ใช่เพราะเขาเป็นหุ่นยนต์ แต่เป็นความอิจฉา ความหวาดระแวงจากมนุษย์เอง ทั้งๆที่มนุษย์เป็นผู้สร้างเดวิดมาให้รักเจ้าของอย่างบริสุทธิ์ใจ แต่มนุษย์ไม่ได้รับผิดชอบการกระทำของตนเลย มนุษย์ไม่ได้ให้ความรักต่อหุ่นยนต์มากอย่างที่หุ่นยนต์รักพวกเขา แล้วสุดท้ายเดวิดก็เป็นฝ่ายถูกทอดทิ้ง

สิ่งที่สำคัญที่สุดในเรื่องคือเดวิด ซึ่งเป็นตัวแทนของความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ ถึงแม้เดวิดจะถูกสร้างขึ้นมาให้มีความแตกต่างจากหุ่นยนต์ทั่วไปคือมีความรักเป็น แต่เดวิดก็รู้จักแต่เพียงอารมณ์รักของมนุษย์ เขาไม่เข้าใจอารมณ์อื่นๆ ที่มนุษย์มี ทั้งความเมตตาสงสาร ความโกรธ ความหวาดระแวง ความอิจฉาริษยา ความรักที่บริสุทธิ์ของเดวิดจึงถูกทำลายด้วยน้ำมือของมนุษย์จากโลกแห่งความจริง มนุษย์มีความเชื่อที่มาจากอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ จากสัญชาติญาณ โดยไม่ต้องถูกติดตั้งโปรแกรมอย่างเดวิด ดูจากตอนที่เดวิดถูกส่งไปทำลาย แต่เขากลับร้องขอชีวิต มนุษย์ที่เชื่อว่าหุ่นยนต์ไร้ความรู้สึก ไม่สามารถร้องขอชีวิตได้จึงลุกขึ้นต่อต้านการทำลายหุ่นยนต์ทันที

เนื้อเรื่องจักรกลอัจฉริยะนี้ถูกแบ่งออกเป็น 3 บทสรุปแรกคือเดวิดถูกแม่ตอบแทนความรักของเขาด้วยการนำไปทิ้งในป่า ปัญหาของมนุษย์ก็สิ้นสุดลง แต่ปัญหาของหุ่นยนต์ได้เริ่มต้นขึ้นด้วยการออกตามหานางฟ้าเพื่อขอพรให้กลายเป็นคน บทสรุปตอนที่ 2 คือ นางฟ้าไม่มีจริง เดวิดเฝ้าคอยขอพรจนโลกถึงวันอวสาน สุดท้ายถ่านของเดวิดก็หมดไปทั้งๆ ที่ตายังจ้องไปที่รูปปั้นนางฟ้า บทสรุปสุดท้ายคือเดวิดได้อยู่กับแม่ของเขาอย่างที่เขาเฝ้าฝันตลอดมา

ประเด็นสำคัญของเรื่องคือความขัดแย้งระหว่างวิทยาศาสตร์กับความเชื่อ เดวิดซึ่งเป็นผลิตผลจากความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์กลับมีความเชื่อที่จะกลายเป็นมนุษย์ได้จากนิทานเรื่องพิน็อคคิโอที่แม่เคยเล่าให้ฟัง เขาจึงออกตามหานางฟ้าบลูแฟร์รี่เพื่อขอพร และในบทสรุปที่ 3 หลังจากที่ความจริงประจักษ์แล้วว่านางฟ้าไม่มีจริง ตอนนี้ผู้ชมทุกคนต่างคิดว่าเรื่องคงจบแค่นี้ แต่ทางผู้สร้างกลับเติมความหวัง ใส่ความอบอุ่นลงไปโดยการให้มีเหล่าเอเลี่ยนเนรมิตให้แม่กลับมีชีวิตขึ้นมาใหม่ เดวิดจึงสมหวัง ซึ่งความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ได้ปฏิเสธเรื่องปาฏิหาริย์และความอัศจรรย์มาตลอด แต่ในเรื่องนี้เดวิดได้เป็นตัวเชื่อมให้ความขัดแย้งทั้งสองนี้ค่อยๆผสมกลมกลืนกันได้

ผลงานชิ้นนี้ของสปีลเบอร์กเป็นผลงานที่ข้าพเจ้าชอบที่สุด เขาได้นำเสนอจินตนาการแห่งโลกอนาคตไว้ได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ การดำเนินเรื่องเข้าใจง่าย ไม่สลับซับซ้อน ความยอดเยี่ยมของเรื่องอยู่ที่การให้แง่คิดและมุมมองของความรักในหลายๆ รูปแบบ ทั้งความรักของหุ่นยนต์ที่รักอย่างบริสุทธิ์ ขาดอารมณ์อื่นๆมาเป็นองค์ประกอบ ทำให้กลายเป็นจุดหักเหของเรื่อง ส่วนความรักของมนุษย์นั้น มีการเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลาและเหตุผล มีอารมณ์และสิ่งแวดล้อมมาเป็นองค์ประกอบต่อความรัก หลายฉากได้สื่อถึงความปรารถนาในส่วนลึกของมนุษย์ที่ซ่อนอยู่ สิ่งที่ทิ้งไว้เป็นบทสรุป แปลกแต่น่าสนใจ สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่มนุษย์จะได้รับจากการที่คอยขวนขวายเพื่อให้ตนเองได้อยู่อย่างสุขสบายจนมากเกินไป และความหลงระเริงคิดว่าสามารถควบคุมทุกอย่างได้

บางทีภาพยนตร์เรื่องนี้อาจดูด้วยสายตาไม่พอ แต่ต้องเปิดใจสัมผัสด้วย คำถามในตอนท้ายเรื่อง ผู้ชมต้องตีความเอาเองตามความเข้าใจและมุมมองของตนว่าเรื่องจะลงเอยอย่างไร เพราะเราเป็นมนุษย์ซึ่งต่างจากหุ่นยนต์ จึงต้องลองค้นหาคำตอบของคำถามด้วยตนเอง

The Sixth Sense


กนกวรรณ ตระการชวกุล

05490006


เนื้อเรื่องย่อ ดร.มัลคอล์ม โคร์ว จิตแพทย์เด็กผู้มีชื่อเสียง ถูกรบกวนด้วยความทรงจำอันปวดร้าว เมื่อเขาไม่สามารถช่วยเหลือคนไข้หนุ่มผู้ทนทุกข์ทรมานได้ ดังนั้น เมื่อเขาได้พบกับโคล เด็กชายผู้มีอาการทางจิตคล้ายเด็กหนุ่มคนนั้น ดร.โคร์ว จึงทำทุกอย่างเพื่อไถ่ถอนความผิดพลาดในอดีต เขาจึงมาชดเชยให้โคล แต่ ดร.โคร์ว ไม่ได้เตรียมตัวที่จะรู้ความจริงว่า สิ่งที่คอยรบกวนโคล มาโดยตลอดนั้น คือวิญญาณที่ไม่ได้ไปสู่สุคติ เขาสอนให้ โคล เผชิญหน้า และเขาก็รักษาโคล ได้ในที่สุดและสัมผัสที่ 6 ของโคลนี้เอง เป็นเครื่องที่บอก ดร.โคร์ว ในภายหลังว่า แท้ที่จริงแล้ว ตัว ดร.โคร์ว เองนั้น ได้ตายจากโลกนี้ไปนานแล้ว ด้วยฝีมือของเด็กหนุ่มรายแรก ที่ตัวเขาเองไม่สามารถช่วยรักษาอาการทางจิตของเด็กหนุ่มคนนั้นได้

ความรู้สึกที่มีต่อภาพนตร์เรื่องนี้ ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่ดูแล้วทำให้เกิดความรู้สึกหลากหลาย ทั้งความรัก ความเศร้า ความดีใจ และเสียใจไปพร้อมๆกับความหดหู่ ความรู้สึกรักนั้น แสดงออกทั้งความรักของแม่ที่มีต่อลูก คือ แม่พยายามทำความเข้าใจลูกตนเอง ตัวแม่นั้นคิดถึงลูกอยู่ตลอดเวลา เห็นได้จาก แม้กระทั่งตอนหลับ แม่ยังเพ้อถึงลูกชายที่ชื่อโคล ว่า ลูกเป็นอะไร อีกทั้งยังมีความรักของคู่รักที่แสดงต่อกัน จะเห็นได้จากการที่ภรรยาของ ดร.โคร์ว คิดถึงสามีของตนเองอยู่ตลอดเวลา โดยที่เธอนั้น เอาวิดิโอ เทปงานแต่งงานของเขาทั้ง 2 มาเปิดดู และตอนหลับก็ยังเพ้อถึงสามีตนว่าทิ้งเธอไปทำไม


แต่ถึงอย่างนั้น เธอก็ไม่ได้ปิดตายหัวใจของเธอเอง เธอยังพร้อมมีรักใหม่ได้เสมอ เห็นได้จากการที่เธอแสดงความรู้สึกที่มีต่อชายคนใหม่ที่เข้ามาในชีวิตเธอ ด้วยการซื้อของขวัญวันเกิดให้เขา และกอดกัน แสดงว่าตัวเธอนั้นว้าเหว่ จึงพร้อมที่จะมีรักใหม่ แต่คนรักเก่าก็ยังคงอยู่ในใจเธอเสมอ ส่วนความรักที่ ดร.โคร์ว มีต่อภรรยานั้น ก็ทำให้เขาตัดสินใจเลือกภรรยามากกว่าที่ตะรักษาโคลต่อ เพราะตัวเขาเองคิดว่าเขาและภรรยาห่างกันเกินไป และคิดว่าภรรยาไปมีคนอื่นทั้งๆที่จริงแล้ว เขามารู้ภายหลังว่าตัวเขาเองนั้นได้ตายจากโลกนี้ไปนานแล้ว


และความรักที่ดร.โคร์ว มีต่อโคลนั้น เห็นได้จาก ตอนที่เขาบอกว่าไม่สามารถรักษาโคลได้ เพราะเขาเลือกภรรยานั้น แต่พอกลับถึงบ้าน เขาก็เอาเทปที่รักษาเด็กคนเก่ามาเปิดฟัง แล้วก็สามารถเข้าใจว่าแท้ที่จริงแล้ว โคลนั้นมีสัมผัสที่6 แสดงว่า แม้เขาจะไม่รักษา แต่เขาก็คิดถึงโคล อยู่ตลอดเวลา มันเป็นความรักที่แฝงไปด้วยความรู้สึกผิด และต้องการจะชดเชยให้โคล แทนเด็กชายคนแรกที่เขาเป็นสาเหตุให้เด็กคนนั้นต้องตาย ทุกตอนของเรื่องนี้แฝงไปด้วยความเศร้า ความเศร้าที่ไม่สามารถรักษาเด็กคนก่อนได้ยังติดตัว ความเศร้าที่แม่ไม่เข้าใจว่าลูกตนเป็นอะไร และความเศร้าที่เกิดมาพร้อมกับความกลัวและหดหู่ของ โคล นั่นเอง

ภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับ ความรู้สึกเป็นอย่างมาก คือ ความรู้สึกผิดในตัวของดร.โคร์ว เองว่าสาเหตุให้เด็กชายคนก่อนหน้านั้นตาย จึงหันมาให้ความสำคัญกับ โคลเพื่อเป็นการชดเชย อีกทั้งยังมีความรู้สึกของโคล คือกลัวที่ต้องเผชิญหน้ากับวิญญาณที่มาขอความช่วยเหลือ เห็นจากที่ โคลนั้นต้องแอบหยิบ หุ่นพระแม่มารี พระเยซูในโบสถ์มาไว้ที่เต็นท์ที่เขาใช้ผ้ามาคลุมเพื่อที่เขาจะได้เข้าไปอยู่และรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น

ฉาก บรรยากาศ และสถานที่ของภาพยนตร์เรื่องนี้ สามารถให้ความรู้สึกร่วมไปกับอารมณ์ของตัวละครได้เป็นอย่างดี จะเห็นได้จากที่ผู้จัดเลือกใช้ภาพบรรยากาศในฤดูหนาว ที่แสดงถึงความแห้งแล้ง เยือกเย็น หดหู่และเศร้า แทนที่จะใช้ฤดูร้อน เพราะฤดูร้อนบ่งบอกถึงความกระตือรือร้น และรุ่มร้อน ฉากและสถานที่บ่งบอกถึงอารมณ์เป็นอย่างมาก เช่น ฉากที่โคลต้องแอบหลบที่เต็นท์ที่เขาใช้ผ้ามาคลุมเพื่อที่เขาจะได้เข้าไปอยู่และรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น ผู้จัดเลือกให้โคล แอบหยิบหุ่นพระแม่มารี พระเยซูมา ไว้ในเต็นท์นี้ด้วย แสดงถึงความรู้สึกปลอดภัย เหมือนอย่างเช่น คนไทยที่พกพระ เพื่อป้องกันวิญญาณร้ายนั่นเอง ถ้าผู้จัดฉากแสดงฉากนี้แค่มีเต็นท์แต่ไม่มีพระแม่มารี หรือพระเยซูอยู่ในเต๊นท์ ความรู้สึกที่สื่อออกมาก็ได้แค่ความกลัวจึงหาที่หลบ แต่ที่มีพระเเม่มารี และพระเยซูอยู่ในเต็นท์ด้วยแสดงถึงนอกจากความรู้สึกกลัวแล้ว ยังต้องการความปลอดภัยอีกด้วย

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีการหักมุมในภายหลัง คือ การทำให้คนดูมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครดร.โคร์ว ว่าจะสามารถรักษา โคล ได้หรือไม่ แต่เมื่อรักษาได้แล้ว มีการหักมุมเกิดขึ้น นั่นคือ ตัวเขาเองพึ่งจะมารู้ความจริงในภายหลังว่าเขาตายแล้ว และ โคล ก็รู้ด้วยว่าเขา ตายไปแล้วจากการที่โคลบอกเขาว่า “ผมเจอวิญญาณทุกวันและตัวพวกเขาเองไม่รู้ว่าเขาได้ตายจากโลกนี้ไปแล้วพวกเขาจะเห็นแต่สิ่งที่ต้องการเห็น ”แสดงว่า ดร.โคร์วคิดว่าตนเองมีชีวิตมาโดยตลอด และเขาพึ่งมารู้ทีหลังว่าการที่เขาสื่อสารกับภรรยาไม่ได้เป็นเพราะเขาตายแล้วนั่นเอง

คู่แท้ ปาฏิหาริย์


นางสาวพรรณรอง รัตนไชย

รหัส 05490254


เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักของหญิงชายคู่หนึ่งที่ ฝ่ายชายแอบรักฝ่ายหญิงตั้งแต่ยังเด็ก และในตอนเด็กผู้ชายมีรูปร่างอ้วน จึงชื่อหมูตอน เขาได้ให้นกหวีดไว้กับหล่อน เมื่อเป่าแล้วเขาจะปรากฏตัว และเขามีความฝันว่าโตขึ้น เขาจะปกป้องผู้หญิงคนที่เขารัก และเขาจะต้องเป็นผู้ชายที่สมบรูณ์แบบ แต่ในความเป็นจริง ความพยายามที่เขาจะลดความอ้วน ทำให้เขาต้องป่วย ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ต้องนอนแต่บนเตียง ทำให้ไม่สามารถทำตามความฝันที่จะดูแลผู้หญิงที่เขารักได้ แต่ด้วยความหวังและความศรัทธา อย่างแรงกล้าของเขาเอง ทำให้เขาสร้างมโนภาพของตนที่เป็นคนสมบรูณ์แบบ และใช้ร่างมโนภาพนั้นดูแลหล่อน ซึ่งเขาก็รู้ว่าวันหนึ่งร่างนั้นก็ต้องหายไป และหล่อนก็ต้องใช้ชีวิตอยู่คนเดียว ด้วยตัวเอง แต่ท้ายที่สุดแล้ว ทุกคนก็ต้องอยู่ด้วยความหวังและความศรัทธา เพราะคนเรายังเชื่อว่า “ปาฏิหาริย์” มีอยู่จริง

เมื่อดูภาพยนตร์เรื่องนี้จบ ความรู้สึกแรกที่ปรากฏในใจคือ รู้สึกผิดหวัง และรู้สึกเหนื่อยๆ อาจเพราะว่าข้าพเจ้า
ตั้งความหวังมากเกินไป โดยลืมคิดไปว่าหนังเรื่องนี้สร้างมานานแล้ว เพราะในอดีตข้าพเจ้าได้ยินคนพูดถึงหนังเรื่องนี้ว่าดีมาก
เนื้อหาซึ้งกินใจ ถึงกับต้องร้องไห้ โดยที่ข้าพเจ้ามิได้นึกถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เพราะข้าพเจ้าคิดว่าถ้าหนังดี ดูเวลาไหน เมื่อไหร่ก็ต้องตรึงใจ โดยไม่มีเงื่อนไขของเวลา มันต้องมีความเป็นอมตะ

แต่กับเรื่องนี้มันไม่ใช่ สาเหตุเนื่องจาก ตัวบทที่ไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีเหตุผล เหมือนกับทุกวันนางเอกต้องมีปัญหาและพระเอกมาช่วยเสมอ แต่ถ้าหากดูให้ลึก มิใช่แค่ผิวเผิน ความคิดของพระเอกที่ปรากฏเด่นชัด และเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าชอบคือ ความหวังและความศรัทธาในตัวเองของพระเอก ความหวังและความศรัทธาดังกล่าวมีมากจนทำให้ จิตใจของเขาได้สร้างตัวตนในอุดมคติของตนเองขึ้นมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าต้องหยุดคิดและหันมามองดูตัวเองว่า ความหวังและความศรัทธาของข้าพเจ้ายังคงหลงเหลืออยู่หรือไม่ หรือข้าพเจ้าปล่อยตัวเองไปกับสังคมอันวุ่นวายจนหันหลังให้กับโลกของความคิด ความฝัน และจินตนาการ แต่หันไปยึดติดกับความคิดแบบวิทยาศาสตร์ โดยทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นต้องพิสูจน์ได้แล้วหรือ?


โลกแห่งความฝันในเวลาปัจจุบันตอนนี้ มันเป็นแค่เรื่องเพ้อฝัน ที่ไม่สามารถเป็นจริงได้แล้วหรือ? กระแสสังคมในปัจจุบันทำให้ความคิดของคนเราเปลี่ยนไป หรือเพราะจิตใจของคนเราเปลี่ยนแปลงไปกันแน่? ถ้าหากกระแสสังคมทำให้ความคิดของเราเปลี่ยนไป แล้วทำไมเราถึงไม่เป็นผู้กำหนดกระแสสังคม ทำไมเราต้องปล่อยความคิดให้เป็นไปตามกระแส หรือเพราะเรามองสิ่งต่างๆที่ผ่านมาเข้ามาในชีวิตแค่ผิวเผิน ฉาบฉวย ไม่พยายามมองให้ถึงแก่น เพราะทุกอย่างที่ผ่านเข้ามามันมาเร็ว ไปเร็ว และมากมายเกินกว่าจะมีเวลาเปิดใจให้มัน เพราะหลังจากที่ข้าพเจ้า รู้สึกผิดหวัง ดังนั้นข้าพเจ้าจึงหยุดนิ่งและให้เวลากับ “คู่แท้ ปาฏิหาริย์” และใช้หัวใจในการดู ทำให้พบว่าความจริงแล้วมีสิ่งใดซ่อนอยู่

เรื่องฉากนั้น เป็นฉากในชีวิตจริง ที่ทุกคนสามารถพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจมีความหมายว่า เรื่องที่เกิดขึ้นสามารถเกิดได้กับคนทั่วๆไป เพราะ “ปาฏิหาริย์” อยู่รอบตัวเราทุกคน

ด้านตัวละครนั้น พระเอกให้ความรู้สึกเป็น “หมูตอน” ได้จริงๆ แต่นางเอกยังไม่สามารถทำให้ข้าพเจ้าเข้าถึงความคิด ความรู้สึกของ “ทานน้ำ” ได้
เรื่องอารมณ์ ความรู้สึก ที่ปรากฏในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นใจความหลักของเรื่อง คือเรื่องเกี่ยวกับ ความหวัง ความศรัทธาในตัวเอง และความเชื่อในสิ่งที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ แต่มีคุณค่าทางจิตใจอย่างสูงส่ง ซึ่งทุกคนต้องมีความหวัง ความศรัทธาเพื่อใช้ในการมีชีวิตไม่ใช่หรือ? ดังนั้นสิ่งที่พระเอกแสดงออกมา แสดงให้เห็นถึงความหวัง ความศรัทธา ที่มีต่อความรัก พลังของความรักที่มีอนุภาพมหาศาล สามารถสร้าง “ปาฏิหาริย์” ขึ้นมาได้ และสิ่งที่เขาทำแม้มันจะต้องสูญสลายไปไม่วันใดก็วันหนึ่ง และเขาเองก็รู้อยู่แก่ใจ แต่เขาก็ยังมีความฝันที่ต้องทำให้เป็นจริง และความฝันนั้นก็ถูกหล่อเลี้ยงด้วย ความหวัง และความศรัทธา จนสุดท้ายความฝันนั้นก็เป็นจริง

สุดท้ายนี้อยากให้ทุกคน ย้อนกลับมาถามตัวเองว่า “ ปาฏิหาริย์ละทิ้งเรา หรือ…เราได้ละทิ้ง ปาฏิหาริย์กันแน่ ”

ยังไงก็รัก


นางสาวพิมพิศ คำพา

05490271


เรื่องย่อ: ย้ง เซลล์แมนที่มีอนาคตไม่ไกลนัก แต่งงานอยู่กินกับเง็กซึ่งเป็นลูกสาวของเพื่อนสนิทพ่อมา อยู่มานาน๗ ปีย้งเริ่มเบื่อเง็กและแอบนอกใจเง็กไปมีสัมพันธ์กับพิมพ์เพื่อนร่วมงาน พิมพ์รักย้งและต้องการที่จะมีครอบครัวที่มีความสุขทั้งๆที่รู้ว่าย้งมีภรรยาแล้ว พิมพ์มีผู้ชายที่เพียบพร้อมมาขอแต่งงานโดยให้เวลาพิมพ์ตัดสินใจ ๗ วัน พิมพ์ได้บอกเรื่องนี้กับย้งแล้วยื่นคำขาดว่าภายใน ๗ วันย้งต้องเลือกว่าจะเลิกกับเง็กหรือจะเลิกกับตน ย้งกลุ้มใจมากและคิดที่จะเลิกกับเง็กแต่ติดตรงที่ย้งเคยให้สัญญากับพ่อของตนว่าจะไม่มีวันเลิกกับเง็กเป็นอันขาด ย้งได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษากับเล้ง เล้งจึงได้หาวิธีที่จะทำให้เง็กเป็นฝ่ายขอเลิกกับย้งไปเอง โดยเล้งได้ปลอมตัวเป็นซินแสไปทำนายดวงของย้งกับเง็กว่าดวงของเง็กไม่สมพงษ์กับย้ง หากยังใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันต่อไปเล้งจะต้องมีอันเป็นไป ด้วยความที่เง็กเป็นคนเชื่อเรื่องดวงมาก เง็กจึงเกิดความกลัดกลุ้ม ใกล้ครบกำหนด ๗ วัน พิมพ์ได้ยื่นข้อเสนอให้ย้งอีกครั้งนั่นคือการหนีไปด้วยกัน แต่ด้วยความพยายามของเง็กที่เป็นห่วงย้ง ทำทุกอย่างเพื่อแก้เคล็ดให้ย้ง ย้งจึงเริ่มรู้สึกตัวและกลับมาหาเง็กเหมือนเดิม

บทวิจารณ์: ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์แนว Romantic-Comedy ซึ่งหากมองโดยรวมจะถือว่าเป็นภาพยนตร์ที่นำเสนออย่างตรงไปตรงมา เข้าใจง่าย ดูแล้วจะมีอารมณ์ตลก เศร้า และซึ้งผสมกันไป สิ่งที่สำคัญที่สุดของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ ความต้องการที่จะนำเสนอเรื่องราวความรักของสามีภรรยา ที่ถึงแม้จะมีอุปสรรคต่างๆเข้ามา ด้วยความรักความห่วงใยจึงทำให้ทุกอย่างกลับมามีความสุขได้
ในด้านการดำเนินเรื่องภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดฉากขึ้นมาด้วยพิธีแต่งงานแบบชาวจีนซึ่งเต็มไปด้วยความสุขโดยย้งตัวละครเอกมีท่าทางที่มีความสุขที่ได้แต่งงานกับเง็ก ผู้คนต่างเข้ามาอวยพรให้คู่บ่าวสาวรักกันให้นานๆ จากนั้นจึงตัดเข้าสู่การใช้ชีวิตหลังแต่งงานของทั้งคู่ที่นำเสนอให้เห็นความเบื่อหน่ายของย้งที่มีต่อเง็ก แต่กลับมีความสุขกับหญิงอีกคนหนึ่งแทน การเปิดเรื่องแบบนี้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างถึงความสัมพันธ์ของคน ๒ คนก่อนแต่งงานและหลังแต่งงาน โดยที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งใจจะนำเสนอว่าการแต่งงานไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิตคู่ แต่เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น
จะสังเกตได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีการเน้นย้ำถึงระยะเวลาที่เง็กและย้งได้ใช้ชีวิตร่วมกันมา ๗ ปี แต่ย้งกลับจะใช้เวลาเพียงแค่ ๗ วันในการที่จะขอเลิกกับเง็ก ซึ่งเป็น


การสร้างความแตกต่างให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการทำลายความสัมพันธ์ของคนสองคนใช้เวลาเพียงไม่นาน แต่ก่อนหน้านั้นจะต้องใช้เวลาอย่างมากมายเพื่อที่จะสร้างความสัมพันธ์นั้นขึ้นมา นี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ภาพยนตร์ต้องการจะสื่อให้ผู้ชมได้เห็นคุณค่าของความสัมพันธ์ และรู้จักที่จะถนอมความสัมพันธ์ของตนเองไว้ให้ดี
อีกส่วนหนึ่งคือความสนุกสนานที่ได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้ แม้มุขตลกที่สอดแทรกไว้ในภาพยนตร์จะไม่ใช่การหัวเราะน้ำตาไหล แต่จะได้สัมผัสกับการอมยิ้มไปกับความน่ารักของตัวละครแต่ละตัวแทน ถึงแม้ว่าบางครั้งมุขตลกเหล่านั้นจะดูพยายามมากเกินไป แต่หากชมแบบไม่คิดอะไรก็จะรู้สึกได้ว่าความตลกนั้นมาจาก

ลักษณะเฉพาะของตัวละครเหล่านั้นนั่นเอง

ด้านของฉาก ฉากจะมีอยู่ไม่มากนัก หลักๆคือ บ้านของย้งและเง็ก คอนโดของพิมพ์ ซึ่งความสำคัญของฉากจะอยู่ที่การสร้างบรรยากาศของเรื่องและอารมณ์ของย้ง ซึ่งบ้านที่อาศัยร่วมกับเง็กจะเป็นบรรยากาศของความน่าเบื่อซ้ำซากจำเจ ต่างจากคอนโดของพิมพ์ที่จะมีบรรยากาศแห่งความแปลกใหม่และความสุขที่ย้งได้รับ แต่ในตอนท้ายของเรื่องบ้านของย้งและเง็กกลับมามีบรรยากาศแห่งความสุขเหมือนสมัยที่ทั้งคู่แต่งงานด้วยกันใหม่ๆอีกครั้ง ทั่งหมดนี้จะเห็นได้ว่าฉากมีความสำคัญต่อการดำเนินเรื่องด้วยเช่นกัน

องค์ประกอบที่โดนเด่นที่สุดในเรื่องนี้คือ ความสัมพันธ์ของตัวละครทุกตัว โดยเฉพาะลักษณะตัวละครของเง็กที่ถึงแม้ภายนอกจะจู้จี้ขี้บ่น แต่ภายใต้ความจู้จี้ขี้บ่นนั้นล้วนเกิดจากความรักและความห่วงใยที่มีให้ย้งทั้งสิ้นถึงแม้ในตอนแรกเง็กจะแต่งงานกับย้งเพราะพ่อบังคับ แต่เมื่ออยู่ด้วยกันเง็กก็ดูแลเอาใจใส่ย้งเป็นอย่างดีจึงเกิดเป็นความสัมพันธ์ที่ยากจะถอนได้ สุดท้ายแล้วความดีของเง็กก็ทำให้ย้งได้ตาสว่างอีกครั้งนึง

ภาพยนตร์เรื่องนี้ให้คติในการใช้ชีวิตคู่ว่าไม่ควรที่จะละเลยความสัมพันธ์ บางครั้งเราก็มองข้ามความรักและความห่วงใยของคนรักเรา การนอกใจมีแต่จะสร้างความเจ็บปวดให้กันและกัน เราจึงควรเอาใจใส่ซึ่งกันและกันให้เหมือนกับตอนที่เราได้ตัดสินใจจะใช้ชีวิตร่วมกับคนๆนั้นแล้ว

The Letter ( จดหมายรัก )


วิลาสินี กัลยาเลิศ

05490362


ดิว โปรแกรมเมอร์สาวมี เกด เพื่อนรักเพียงคนเดียวที่อาศัยอยู่ด้วยกันในกรุงเทพ จนกระทั่งความเปลี่ยนแปลงในชีวิตได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อดิวต้องเดินทางขึ้นเชียงใหม่หลังจากได้รับจดหมายแจ้งข่าวการเสียชีวิตของยายเล็ก ที่นั่นดิวได้พบกับ ต้น หนุ่มนักวิจัยพรรณพืชซึ่งมีต้นบ๊วยเป็นความผูกพันเดียวที่เหลืออยู่ ดิวได้สัมผัสถึงความอบอุ่นอ่อนโยนที่มีอยู่ในตัวต้น ถึงแม้ว่าตอนนี้ตนเองได้กลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงที่เต็มไปด้วยชีวิตที่เร่งรีบและเต็มไปด้วยการแข่งขันอีกครั้ง จนกระทั่งต้นเดินทางมาหาดิวถึงกรุงเทพ และในช่วงเดียวกันดิวก็สูญเสียเพื่อนรักอย่างเกดที่เสียชีวิตจากการนัดพบกับเพื่อนชายที่ติดต่อกันทางอินเทอร์เนต สิ่งที่เกิดขึ้นร้ายแรงเกินกว่าที่ดิวจะรับได้จากความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น ทำให้ดิวตัดสินใจเดินทางสู่เชียงใหม่เพื่อพบกับความอบอุ่นที่เหลืออยู่ นั่นคือ ต้น ทั้งคู่แต่งงานกันและสุขใจไปกับจดหมายรักของยายเล็ก แต่โชคชะตาไม่สามารถกำหนดได้ต้นจึงพลัดพรากจากดิวไปอย่างไม่มีวันได้กลับมาพบกันอีก

การเปิดเรื่อง


ดิวได้รับจดหมายแจ้งข่าวการเสียชีวิตของยายเล็ก ต้นบ๊วยบนเขาและงานศพ

เหตุการณ์เริ่มพัฒนา


เมื่อดิวได้พบกับต้นที่สถานีขนส่งเชียงใหม่ ทำให้ดิวได้มีโอกาสไปเที่ยวที่ทำงานของต้น จนกระทั่งดิวกลับกรุงเทพแต่ทั้งคู่ยังมีการติดต่อกันอยู่ตลอดเวลา

จุดสงสัย


ขณะต้นกำลังทำงานตรวจพรรณพืช ต้นได้สลบล้มลงจนต้องไปโรงพยาบาล

ความขัดแย้ง


ระหว่างมนุษย์กับภายในจิตใจของตนเอง

จุดวิกฤติ


ต้นไม่สบายอย่างหนักและเสียชีวิตลงในอ้อมกอดของภรรยาขณะดิวกำลังอ่านจดหมายรักอันซาบซึ้งของยายเล็กให้เขาฟัง

จุดไคลแม็กซ์


จดหมายรักฉบับสุดท้ายที่ต้นส่งให้ดิวหลังจากที่ได้เสียชีวิตลงแล้ว ดิวนั่งดูวีดิโอที่ต้นบันทึกสิ่งที่อยากบอกกับดิวเป็นครั้งสุดท้ายและร้องไห้คร่ำครวญด้วยความรัก

การปิดเรื่อง


ดิวนำดอกไม้ไปวางไว้ที่ต้นบ๊วยบนเขาเพราะต้นบ๊วยต้นนี้เปรียบเสมือนตัวแทนของต้น และยังมีต้นบ๊วยต้นเล็กที่กำลังเจริญเติบโตปลูกอยู่เคียงข้างกัน เด็กชายคนหนึ่งวิ่งเข้ามาหาดิวพร้อมกับเรียกว่า ”แม่” และนั่นคือต้นบ๊วยของลูกตั้มซึ่งเป็นลูกของดิวกับต้นนั่นเอง


เรื่องนี้เน้นแก่นเรื่องเป็นสำคัญซึ่งถ่ายทอดความรักอันบริสุทธิ์ของคนสองคนได้อย่างซึ้งกินใจ แม้ว่าฝ่ายหนึ่งจะตายจากกันไปแล้วแต่การส่งจดหมายของต้นนั้นเป็นการตอกย้ำความรู้สึกของผู้ชมมากยิ่งขึ้น หากมองให้มากกว่านั้นเรื่องนี้เหมือนจะตอบคำถามว่า หากคุณพรัดพรากจากความรัก การตาย หรือ การอยู่ห่างไกลโดยไม่รู้จะได้ติดต่อเมื่อไหร่ คุณจะอยู่ จะมีชีวิตอยู่ด้วยกำลังใจแบบใด .... คำตอบ คือ เพื่อตนเอง และ เพื่อคนที่กำลังรอความรักจากคุณต่อไป

ฤดูแล้งใน DArAtt


น.ส. ชวัลญา คุรุเสถียรพงศ์

05490096


ท่ามกลางทะเลทรายร้อนระอุ ความอดอยาก ภูมิประเทศอันแห้งแล้ง และสงครามกลางเมืองอันโหดร้าย ความแค้นของชายคนหนึ่งได้เริ่มต้นขึ้นที่นี่...

ย้อนหลังกลับไปเมื่อสี่สิบปีที่แล้ว Chad (อ่านว่า ช๊าด)ประเทศเล็กๆในทวีปแอฟริกาก็เป็นหนึ่งในหลายๆประเทศที่ต้องประสบกับปัญหาสงครามกลางเมือง รวมไปถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมหันต์จนกลายมาเป็นเรื่องราวในภาพยนตร์เรื่องนี้

อาติม เป็นเด็กหนุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสงครามนี้โดยตรง เพราะเขาต้องสูญเสียพ่อไปตั้งแต่ก่อนที่เขาจะลืมตาดูโลกเสียอีก และด้วยเหตุนี้เองเขาจึงได้ชื่อว่า “อาติม” ซึ่งแปลว่ากำพร้า เด็กชายเติบโตมากับปู่ และเมื่อมีการยุติสงครามกลางเมือง ทางการประเทศชาดได้ใช้นโยบายสมานฉันท์ (คนไทยน่าจะรู้จักคำนี้ดี) และประกาศนิรโทษกรรมนักโทษสงครามทั้งหมด หนึ่งในนั้นรวมไปถึงนาซาร่า มือสังหารที่ฆ่าพ่อของอาติมด้วย

ด้วยความสนับสนุนของปู่ ทำให้อาติมออกเดินทางตามหาตัวนาซาร่าเพื่อแก้แค้น เขาพบว่าอดีตมือสังหาร กลายเป็นเจ้าของโรงงานขนมปังผู้ใจบุญ แต่อาติมก็ยังไม่ล้มเลิกเจตนาเดิม เขาแฝงตัวเข้าไปทำงานในร้านขนมปัง แต่หลังจากที่ได้ขนมปังถาดแล้วถาดเล่าถูกผลิตขึ้นจากหยาดเหงื่อและแรงงานของเขาเอง สิ่งที่เด็กหนุ่มได้รับจากนาซาร่าคือความรัก ความเอ็นดูและข้อเสนอที่จะรับอาติมเป็นลูกบุญธรรมเพื่อสืบทอดกิจการทำขนมปังต่อไป ท้ายที่สุดแล้วอาติมก็ชักนำให้นาซาร่ามพบปู่ของเขาเพื่อจบเรื่องราวทั้งหมดเสีย และอาติมก็เลือกที่จะยุติความแค้นทั้งหมดด้วยมือของตนเอง...

ฉากแรกของเรื่องเปิดมาด้วยตอนที่อาติมกับปู่นั่งฟังประกาศจากทางรัฐบาล และได้รับรู้ว่าฆาตกรที่สังหารพ่อของเขามีชีวิตลอยนวลอยู่อย่างถูกกฎหมาย นับเป็นการจุดชนวนความแค้นของเด็กหนุ่มที่มีต่อนาซาร่า ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ที่เป็นปมสำคัญของเรื่องและชักนำให้ตัวละครดำเนินบทบาทต่อไป ความขัดแย้งนี้ยิ่งปรากฏชัดเมื่ออาติมเข้ามาทำงานกับนาซาร่า ถึงแม้ว่านาซาร่าจะให้ความเอ็นดูเพียงใดแต่แววตาของอาติมก็ยังคงแสดงความเกลียดชังออกมาอย่างไม่ปิดบัง และเมื่อเรื่องราวดำเนินต่อมา ความขัดแย้งภายในจิตใจของอาติมก็เริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เนื่องมาจากความลังเลใจและความสับสนว่าจะสังหารนาซาร่าดีหรือไม่

ตัวละครเอกของภาพยนตร์เรื่องนี้คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจากอาติม หากลองเปรียบเทียบอาติมในตอนเริ่มเรื่องกับในฉากสุดท้าย จะพบว่าตัวละครตัวนี้แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาการทางความคิดอย่างชัดเจน จากเริ่มแรกที่รับเอาความแค้นมาจากปู่ชนิดที่เรียกได้ว่ารับมาทั้งดุ้น แต่แล้วก็เกิดจุดพลิกผันขึ้นเมื่ออาติมได้เรียนรู้ตัวตนที่แท้จริงของนาซาร่า และนั่นทำให้เขาเลือกที่จะจบความแค้นด้วยวิธีที่ทำให้ผู้ชมอย่างเราต้องนับถือในน้ำใจและความเป็นลูกผู้ชายของเด็กหนุ่มคนนี้

อีกตัวละครหนึ่งที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กันคือนาซาร่า ตัวละครนี้เป็นอีกหนึ่งตัวละครที่มีความซับซ้อนและมีความขัดแย้งภายในตัวเองอยู่มาก ตั้งแต่ฉากแรกที่ปรากฏ นาซาร่านำขนมปังมาแจกจ่ายให้กับเด็กๆที่อดอยากซึ่งขัดกับภาพที่อาติมยึดติดว่าเขาเป็นฆาตกรอย่างชัดเจน และแม้ว่านาซาร่าเองจะเป็นคนที่ทำให้อาติมกำพร้าพ่อ แต่ตัวละครตัวนี้กลับเป็นคนที่สามารถให้ความรัก ความเอ็นดูและทำหน้าที่ของความเป็นพ่อให้กับอาติมได้อย่างแท้จริง

ในภาพยนตร์เรื่อง DArAtt มีจุดสังเกตที่น่าสนใจอยู่หลายจุด และในหลายๆจุดนั้นก็ได้สะท้อนให้ผู้ชมอย่างเราได้เห็นอะไรหลายๆอย่าง เช่นการใช้ขนมปังเป็นสื่อกลางระหว่างอาติมกับนาซาร่า ถ้าหากว่าจะคิดตาม ผู้ชมทุกคนคงเกิดคำถามขึ้นว่า “ทำไมต้องเป็นขนมปัง?” นัยหนึ่งอาจจะต้องการสื่อว่าเมืองชาดตกอยู่ใต้อำนาจอิทธิพลของฝรั่งเศส แต่เมื่อลองพิจารณาดูดีๆแล้ว ขั้นตอนแต่ละขั้นของขนมปังที่เขาเรียนรู้ก็เหมือนกับตัวตนที่แท้จริงของนาซาร่าที่ปรากฏขึ้นทีละน้อย เมื่ออาติมรักการทำขนมปังจากใจจริง กลายเป็นว่าเขาเองก็ผูกพันกับนาซาร่ามากขึ้นโดยไม่รู้ตัว ท้ายที่สุดแล้วขนมปังจึงเป็นเหมือนสายสัมพันธ์ที่เชื่อมสองตัวละครนี้เข้าด้วยกัน

ถึงแม้ว่า DArAtt จะเป็นหนังที่ดูแล้วต้องคิดตามมากสักหน่อย ทั้งยังไม่มีฉากตื่นตาตื่นใจเหมือนหนังฮอลลีวูดทั่วไป แต่ภาพที่ฉายให้ผู้ชมเห็นทางมุมกล้องแคบๆตามแบบฉบับทุนต่ำ กลับสะท้อนให้เห็นอะไรที่กว้างกว่าที่ตาเห็น

อย่างหนึ่งคือสัจธรรมเกี่ยวกับสงคราม ที่ไม่เคยให้ผลประโยชน์กับฝ่ายใดเลย…

อย่างที่สอง...ความหมายของคำว่า “สมานฉันท์” อย่างแท้จริง เฉกเช่นที่อาติมมอบให้กับนาซาร่า... (คนไทยควรศึกษากรณีนี้เป็นพิเศษ)

และสิ่งสุดท้าย... แม้แต่ในฤดูกาลอันแห้งแล้ง แต่หัวใจของมนุษย์ตัวเล็กๆอย่างอาติมก็ไม่เคยแห้งผากเหมือนดังทะเลทรายเลย.

กระสือวาเลนไทน์


น.ส. ณัชชา เฉลิมรัตน์ ๐๕๔๙๐๑๒๕


“สาว” พยาบาลแสนสวยที่ได้เข้ามาทำงานในโรงพยาบาลเก่าแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่เดียวกันกับ “หนุ่ม” ภารโรงคนซื่อที่ร่างกายไม่สมประกอบทำงานอยู่ สาวได้รับดอกกุหลาบจากหนุ่มโดยบังเอิญในวันแห่งความรัก โดยมี “เด็กหญิงขายดอกกุหลาบ” เป็นสื่อ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของคนทั้งคู่ แต่ยังไม่ทันที่จะได้มีโอกาสพูดคุยทำความรู้จักกันมากนัก ก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เมื่อหนุ่มตกบันไดจนเป็นอัมพาต และหลังจากนั้นเหตุการณ์ประหลาดๆ ที่ผูกพันกันอย่างคาดไม่ถึงก็เกิดขึ้น


สาวได้พบกล่องเก่าๆ ใบหนึ่งในบ้านพักของเธอ ภายในกล่องนั้นเธอได้พบกับรูปถ่ายใบเก่าที่ถูกฉีกออกเป็นสองส่วน ในภาพนั้น หนุ่มในชุดทหารสมัยสงครามถ่ายคู่กับเธอในชุดพยาบาลและด้านหลังภาพถ่ายก็มีข้อความที่หนุ่มเขียนถึงเธอ หลังจากนั้นสาวก็ได้พยายามที่จะหาคำตอบให้กับเรื่องที่เกิดขึ้นและยิ่งพยายามค้นหาคำตอบเท่าไหร่ เธอก็ยิ่งได้พบเจอกับเรื่องราวประหลาดๆ เกี่ยวกับพวกเขาทั้งคู่ และภายในค่ำคืนที่สับสนสาวยังได้พบความจริงอันน่าสะพรึงกลัวเกี่ยวกับตัวเธอเองอีกด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้เป็นแค่พรหมลิขิต...หรือ...ชะตากรรม ?

ไม่น่าเชื่อว่าบางทีหนังผีก็อาจจะไม่ใช่หนังผีอย่างที่คิดที่คือสิ่งมี่แปลกและทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้แตกต่างออกไปกระสือวาเลนไทน์ได้พิสูจน์แล้วว่า หนังผีก็มี “อะไร” มากกว่าที่เราคิด เพราะก่อนหน้านี้ข้าพเจ้าเคยคิดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คงจะเหมือนกับหนังผีอื่นๆ ทั่วไป หากไม่น่ากลัวสุดๆ ก็คงจะสนุกสนานเฮฮานั่งหัวเราะไปกับคนที่วิ่งหนีผีจนสุดชีวิต หรืออาจจะได้อรรถรสทั้งสองอย่างอยู่ในเรื่องเดียวกัน แต่กับภาพยนตร์เรื่องนี้นั้นต่างออกไป ซ่อนอารมณ์เศร้าและครุ่นคิดอยู่

ในฉากแห่งความน่ากลัว ในอารมณ์สนุกสนานกลับให้ความรู้สึกแสบๆ คันๆ มากกว่าเสียงหัวเราะ

สิ่งสำคัญที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการจะสื่อนั่นก็คือเรื่องของ “กรรม” ที่เกิดจากกระทำของแต่ละคนจากในชาติที่แล้ว จนในชาติปัจจุบันกรรมเหล่านั้นได้กลับมาสะท้อนยังตัวละครต่างๆ อย่าง หนุ่ม ได้เคยทำกรรมไว้กับสาว เขาเคยทอดทิ้งเธอไปแต่งงานทั้งๆ ที่เป็นคู่รักกันอยู่ โดยที่ตัวเขาเองก็ไม่รู้ว่าสาวตั้งท้องลูกของตน ส่วนตัวสาวเองก็ไม่คิดที่จะเก็บเด็กเอาไว้ และได้รับคำแนะนำวิธีกำจัดเด็กออกจากหมอคนหนึ่งซึ่งเขาก็เป็นคนเดียวกันกับหมอใหญ่ในโรงพยาบาลที่เธอเข้ามาทำงานอยู่ในชาตินี้ พวกเขาต่างทำกรรมกันไว้ซึ่งกันและกันและพวกเขาก็ได้ร่วมกันทำกรรมไว้กับ “ใครคนหนึ่ง” ผู้ซึ่งตามมาทวงคืนในชาตินี้

ความโดดเด่นของภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ที่การผูกเรื่อง ที่สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของตัวละครแต่ละตัวที่เกี่ยวข้องกันทั้งในเรื่องของเวรกรรม และในเรื่องของอดีตชาติและชาติปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ไม่ง่ายแต่ก็ไม่ซับซ้อนมากจนเกินไป มีการผูกเงื่อนปมให้ผู้ชมสงสัย และสามารถคลายปมในตอนท้ายได้อย่างดี แม้จะไม่ถึงกับพลิกความคาดหมายแต่ก็สามารถทำได้ “ลึก” กว่าที่คิดเอาไว้ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนถูกตอกให้เข้าถึงสิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการจะสอน
ได้มากขึ้น

นอกจากการผูกเรื่องแล้ว บทภาพยนตร์ของเรื่องนี้ก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะผู้เขียนได้ใส่รายละเอียด ความสำคัญและความน่าสนใจลงไปจะเรียกได้ว่าแทบในทุกบททุกตอนเลยก็ว่าได้ ในบางคำพูดอาจมีความหมายและความรู้สึกอยู่ในนั้นมากกว่าที่เราคิด แม้แต่เพียงประโยคง่ายๆ ที่เหมือนจะขำขันแต่ก็แฝงแง่คิดบางอย่าง

“แม่จะร้องไห้ไปทำไม ดีเท่าไหร่แล้วที่ไม่ตาย”
ประโยคสั้นๆจากปากของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งในเรื่องกลายเป็นประโยคที่ยังคงติดอยู่ในหัวของข้าพเจ้าเพราะมันเป็นทั้งการเริ่มต้นที่เจ็บปวดและการปิดฉากที่งดงามของตัวภาพยนตร์ ความเจ็บปวดอันไม่มีที่สิ้นสุดและความตายอันพึง
ปรารถนา สุดท้ายแล้วอะไรกันแน่ที่เราทุกคนต้องเลือก ....... ประโยคเพียงประโยคเดียวก็อาจเป็นเสียงสะท้อนได้ว่าแท้จริงแล้ว โลกของเราในปัจจุบันนี้ “การอยู่” มันดีกว่าการ “การตาย” แล้วจริงๆ หรือ

The pursuit of happiness : ยิ้มไว้ก่อนพ่อสอนไว้


นางสาวศศิกานต์ ช้างกลาง
05490375


เรื่องย่อ นำเค้าโครงมาจากเรื่องจริงของนักขายคนหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา ชื่อว่า Chris Gardner ซึ่งเขาได้ฝ่าฟันอุปสรรคทางเศรษฐกิจจนสามารถทำให้ตนเองมายืนอยู่ใจจุดที่สูงสุดของชีวิตได้

Chris Gardner มีชีวิตครอบครัวที่แสนจะมีความสุข เขามีภรรยาและลูกชายหนึ่งคน เลี้ยงชีพโดยการขายเครื่อง scanner กระดูก แต่ด้วยพิษเศรษฐกิจที่รุมเร้า ทำให้ภรรยาของเขาได้ทิ้งเขาไป ทำให้เขาต้องสู้ชีวิตกับลูกน้อยเพียงลำพัง แต่แล้ววันหนึ่ง Chris Gardner ได้เดินผ่านบริษัทการเงินยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง เขาเห็นผู้คนที่นั่นหน้าตามีแต่ความสุข เขาสงสัยและได้ถามไถ่คนที่ทำงานอยู่ที่นั่นว่าทำอะไรกันและจึงได้รับคำตอบพร้อมด้วยคำเชิญชวนให้มาลองฝึกงานที่นี่ ในที่สุดChris Gardner ก็ได้ตกลงใจที่จะฝึกงาน แต่ต้องแลกกับการที่ในระหว่างนั้นเขาจะไม่ได้ขายเครื่องสแกนเนอร์เครื่องสุดท้าย ทำให้ชีวิตในตอนนั้นของเขาและลูกลำบากจนถึงที่สุด แต่แล้วก็เหมือนโชคเข้าข้าง เขาได้ทำงานที่นั่น และด้วยความขยันหมั่นเพียรของเขา ทำให้ Chris

Gardner นั้นกลายเป็นเศรษฐีในที่สุด

จุดเด่นในการนำเสนอเรื่อง อยู่ที่การนำเสนอชีวิตบุคคล ก็คือ Chris Gardner ซึ่งนำแสดงโดย Will Smith

โดยเนื้อเรื่องนั้นต้องการที่จะแสดงให้เห็นถึงชีวิตของคนเราว่ามีสองด้านเสมอ เมื่อมีสุข ก็ต้องมีทุกข์เป็นของคู่กัน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะจัดการกับสุขหรือทุกข์นั้นอย่างไร จากเรื่องก็จะเห็นว่าตัวเอกมีความมานะอดทนที่จะฝ่าฟันอุปสรรค กล้าได้กล้าเสียกับสิ่งที่คิดว่าดีกว่า เห็นได้จากการที่ตัวเอกตกลงฝึกงานโดยไม่รับค่าตอบแทนเลยทั้งๆที่ตนเองก็แทบจะไม่มีเงินติดกระเป๋าเช่นกัน และที่สำคัญคือการให้ความสำคัญกับครอบครัว ซึ่งเรื่องนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าตัวเอกนั้นมีความรักต่อลูกมากมายแค่ไหน