วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2551

Shine

พิมพ์อัณณ์

Shine เป็นภาพยนตร์สัญชาติออสเตรเลีย ที่ออกฉายในปี 1996 เป็นหนึ่งในผลงานการกำกับภาพยนตร์ของสก๊อต ฮิกส์ (Scott Hicks) ผู้กำกับชาวออสเตรเลีย ซึ่งดัดแปลงมาจากชีวประวัติของเดวิด เฮล์ฟก็อตต์ (David Helfgott) นักเปียโนชาวออสเตรเลีย ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลมากมายจากหลายสถาบัน อาทิ รางวัล Film of the Year Award จากAustralian Film Institute รางวัลนักแสดงนำยอดเยี่ยมซึ่งรับบทโดยเจฟฟรีย์ รัช (Geoffrey Rush)ผู้แสดงเป็นเดวิด เฮล์ฟก็อตต์ในวัยกลางคน จากสถาบันต่างๆไม่ว่าจะเป็น Academy Award, Los Angeles Film Criticsและ New York Film Critics

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้นำเสนอเรื่องราวของเดวิด เฮล์ฟก็อตต์ (David Helfgott)เด็กหนุ่มผู้มีพรสวรรค์ในการเล่นเปียโน เดวิดเกิดในครอบครัวของชาวยิวที่อพยพจากโปแลนด์มาตั้งรกรากอยู่ที่ออสเตรเลีย เขาเริ่มหัดเล่นเปียโนตั้งแต่เด็กโดยมีพ่อเป็นผู้สอน เดวิดถูกฝึกฝนให้เล่นเปียโนอย่างจริงจังเพื่อจะได้ประสบความสำเร็จในการแข่งขัน พ่อของเดวิดจะเลือกเพลงให้เขาเล่นและปลูกฝังให้เขานึกถึงแต่ชัยชนะเป็นสำคัญ ในการแข่งขันการเล่นเปียโนครั้งแรกของเดวิด ทำให้เด็กหนุ่มพบกับคุณโรเซ่น ครูสอนเปียโนที่เห็นความสามารถในตัวเดวิดและเสนอที่จะสอนการเล่นเปียโนให้แก่เขา จากการสอนของคุณโรเซ่นทำให้ฝีมือของเดวิดพัฒนายิ่งขึ้น

เด็กหนุ่มได้เข้าร่วมการแข่งขันการเล่นเปียโนรายการต่างๆ จนสามารถเป็นผู้ชนะที่อายุน้อยที่สุดในการแข่งขันระดับรัฐ ซึ่งครั้งนี้ เดวิดได้รับโอกาสจากไอแซ็ค สเติร์น นักไวโอลินที่มีชื่อเสียงให้ไปศึกษาต่อยังสถาบันดนตรีชื่อดังในประเทศอเมริกา หากแต่ครอบครัวของเดวิดไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอที่จะส่งเขาไปเรียนต่างประเทศ คุณโรเซ่นจึงเสนอให้เข้าร่วมงานสังคมต่างๆเพื่อระดมทุน ช่วงเวลานั้นเองที่ทำให้เดวิดได้รู้จักกับนักเขียนชื่อดัง แคทเธอรีน พลิชาร์ด เดวิดมักไปเล่นเปียโนให้เธอฟังจนเกิดเป็นความผูกพัน

หลังจากนั้นไม่นานเดวิดก็ได้รับจดหมายเชิญจากสถาบันดนตรีอย่างเป็นทางการ แต่แล้วพ่อของเขากลับเปลี่ยนใจไม่ให้เดวิดไปเรียนต่อ เหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลกระทบต่อจิตใจของเขาอย่างยิ่ง อีกทั้งยังเป็นเหตุให้เด็กหนุ่มไม่ได้เรียนกับคุณโรเซ่นอีกต่อไป ต่อมาเดวิดได้เข้าแข่งขันระดับประเทศหากแต่ครั้งนี้ชายหนุ่มต้องพบกับความพ่ายแพ้เป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตามเดวิดก็ได้รับทุนเรียนฟรีที่สถาบันดนตรีในกรุงลอนดอน ในครั้งนี้เดวิดตัดสินใจไปเรียนต่อโดยไม่ฟังคำคัดค้านจากผู้เป็นพ่อ ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองขาดสะบั้นลง

หลังจากเดวิดเรียนที่สถาบันได้ระยะหนึ่ง เขาก็ได้รับเกียรติจาก ซีซิล พาร์ค นักเปียโนชื่อดังมาเป็นผู้ฝึกสอน ด้วยความตั้งใจจริงของเดวิดทำให้เขาเป็นหนึ่งในผู้ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายของการแข่งขันครั้งสำคัญเพื่อจะได้ไปเล่นที่แอลเบิร์ตฮอลล์ เดวิดเลือกที่จะบรรเลงเพลงคอนแชร์โตหมายเลขสามหรือ “Rach III” จากผลงานของคีตกวีรัคมานินอฟ ซึ่งเปรียบได้กับปราการด่านสุดท้ายก่อนจะก้าวสู่ความเป็นนักเปียโนที่ยิ่งใหญ่ เขาจึงทุ่มเทพลังทั้งหมดในการฝึกซ้อมครั้งนี้ แต่แล้วก่อนวันแข่งขันเขาก็ได้รับข่าวร้ายว่าแคทเธอรีนผู้ที่เขายึดเป็นที่พึ่งทางใจได้เสียชีวิต

เมื่อถึงวันแข่งขันเดวิดก็สามารถสื่อถึงจิตวิญญาณของบทเพลงได้อย่างดีเยี่ยม แต่แล้วทันทีที่การบรรเลงสิ้นสุดชายหนุ่มก็ล้มหมดสติอยู่บนเวที เดวิดถูกส่งตัวไปรักษาและพบว่าเขาป่วยเป็นโรคจิตเภท หลังจากนั้นเดวิดเลือกที่จะเดินทางกลับบ้าน หากแต่เขาได้รับการปฏิเสธจากผู้เป็นพ่อ เดวิดจึงไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ต่อมาเดวิดได้รู้จักกับ เบอริล นักเปียโนในโบสถ์ซึ่งรู้สึกถูกชะตากับเดวิดจึงได้รับอุปการะเขา แต่ด้วยพฤติกรรมที่ผิดปกติของเดวิดทำให้เบอริลลำบากใจ เธอจึงส่งเดวิดไปพักที่อพาร์ทเมนท์แห่งหนึ่งพร้อมกับซื้อเปียโนให้แก่เขา เมื่อเดวิดต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวเขาจึงเลือกที่จะเล่นเปียโนทั้งวันทั้งคืนหลังจากไม่ได้เล่นมากว่า 20 ปี เสียงของเปียโนที่ดังตลอดเวลาได้สร้างความรำคาญให้แก่เพื่อนร่วมชั้น เป็นเหตุให้เจ้าของที่พักล็อคเปียโนของเขา

เดวิดจึงเดินไปเรื่อยเปื่อยเพื่อหาเปียโนเล่น จนกระทั่งเห็นเปียโนในร้านอาหารชื่อโมบาย และที่นี้เองที่เขาได้แสดงความสามารถทางดนตรีให้ทุกคนได้เห็น เดวิดจึงได้เล่นเปียโนประจำที่ร้านแห่งนี้โดยอยู่ในความดูแลของซิลเวีย จากนั้นไม่นานเดวิดก็เริ่มมีชื่อเสียงและมีภาพลงในหนังสือพิมพ์ เมื่อพ่อของเดวิดเห็นข่าวจึงเดินทางมาหาและเปิดโอกาสให้เขาได้กลับบ้าน หากแต่เดวิดเลือกที่จะหันหลังให้พ่อ จากนั้นไม่นานเดวิดได้พบรักและแต่งงานกับกิลเลียนเพื่อนของซิลเวีย ด้วยความรักและเข้าใจจากกิลเลียนและคนรอบข้างทำให้เดวิดกลับมาเล่นเปียโนและได้จัดการแสดงของเขาเอง และนี้เป็นครั้งแรกที่เดวิดรู้สึกได้ถึงความสุขอย่างแท้จริงบนเวที เขาไม่จำเป็นต้องแข่งขันเพื่อชัยชนะอีกต่อไป จากนั้นไม่นานพ่อของเดวิดก็เสียชีวิตลง

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นแนวเรื่องเน้นตัวละคร โดยมีเดวิด เฮล์ฟก็อตต์ เป็นตัวละครเอกที่มีบุคลิกและอารมณ์อันซับซ้อนตั้งแต่วัยเด็ก ประกอบกับเหตุการณ์ต่างๆที่กระทบจิตใจอย่างรุนแรง ส่งผลให้เขาป่วยเป็นโรคจิตเภทในเวลาต่อมา ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้เดวิดป่วยเป็นโรคจิตเภทน่าจะมาจากการเลี้ยงดูของพ่อซึ่งตั้งความหวังทั้งหมดที่มีอยู่ให้แก่เดวิด การเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดและปลูกฝังให้อยู่เพียงในกรอบที่ตนวางไว้ โดยไม่เคยถามความต้องการที่แท้จริงของเดวิด ส่งผลให้เดวิดกลายเป็นเด็กที่เก็บกด อ่อนแอและไม่มีความมั่นใจยิ่งขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับความสามารถในการเล่นเปียโนของเขาอย่างสิ้นเชิง ประกอบกับอารมณ์และการแสดงออกที่แปรปรวนของผู้เป็นพ่อที่กระทำต่อเขาก็ล้วนแต่ทำให้เขาเกิดความเครียดและเก็บกดมากยิ่งขึ้น ดังเช่น การที่พ่อบอกว่ารักเดวิดหากแต่กลับเป็นผู้ทำลายความฝันของเขาเสียเอง เมื่อถึงจุดๆหนึ่งเราก็พบว่าเดวิดเริ่มมีอาการผิดปกติอย่างเห็นได้ชัด นั้นคือ เขาไม่สามารถควมคุมระบบขับถ่ายของตนเองได้ ด้วยอารมณ์ที่ไม่มั่นคงของพ่อทำให้เดวิดรู้สึกเก็บกดมากยิ่งขึ้น จากนั้นไม่นานเดวิดก็ตัดสินใจไปเรียนต่อที่อังกฤษซึ่งนั้นเองเป็นจุดแตกหักระหว่างเขากับพ่อ

การไปอยู่อังกฤษของเดวิดไม่ได้ทำให้เขาหลุดจากกรอบความคิดที่พ่อได้ครอบไว้แม้แต่น้อย เพราะเขายังคงรู้สึกผิดเสมอในการจากมา และเมื่อไม่ได้รับจดหมายตอบกลับจากทางบ้านยิ่งทำให้เขารู้สึกเคว้งคว้างยิ่งขึ้น ผ่านไปไม่นานเดวิดก็เริ่มมีอาการผิดปกติปรากฎให้เห็น เช่น การหมกมุ่นอยู่กับการเล่นเปียโนจนลืมใส่กางเกงใน ต่อมาหลังจากที่เขาได้แสดงการบรรเลงบทเพลงแรคหมายเลขสามในแข่งขันการเล่นเปียโนครั้งสุดท้าย เดวิดได้กลายเป็นผู้ป่วยโรคจิตเภทตั้งแต่บัดนั้นและหมอได้ห้ามเขาเล่นเปียโนอีก

เมื่อเขากลับออสเตรเลียและตัดสินใจโทรกลับบ้าน เขาก็ได้รับการปฏิเสธจากพ่อ ส่งผลให้เขาเลือกที่จะอยู่ในโลกส่วนตัว เราจะเห็นได้ถึงความเศร้าหมองของเดวิดในความจริงที่ว่าเขาสามารถไปที่ไหนก็ได้แต่เขากลับไม่มีที่ให้ไป เพราะบ้านที่เขาต้องการกลับไม่ได้เปิดประตูต้อนรับเขาอีกต่อไป เดวิดต้องอยู่โรงพยาบาลนานกว่า 20 ปี อาการของเขาเริ่มดีขึ้นหลังจากที่เขาได้พบรักกับกิลเลี่ยน จะเห็นได้ว่าตัวละครเอกของเรื่องได้ผ่านมรสุมชีวิตมามากมายโดยเฉพาะด้านจิตใจ ซึ่งส่งผลให้เขาป่วยเป็นโรคจิตเภท ดังนั้นพฤติกรรมต่างๆของเดวิดที่เราพบเห็นนั้นล้วนแต่มีนัยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น การที่เขาสูบบุหรี่ตลอดเวลาเป็นการสื่อว่าเขานึกถึงแคทเธอรีน ผู้ซึ่งเขาเคารพรักและสอนให้เขาสูบบุหรี่ และการที่เดวิดชอบจับหน้าอกผู้หญิงได้สื่อว่าเขาต้องการความรักจากแม่ นอกจากนั้นลักษณะการพูดที่เร็ว ไม่ได้ศัพท์ ยิ้มหัวเราะตลอดเวลา อีกทั้งลักษณะการเดินแบบเด็ก ล้วนแสดงให้เห็นว่าเขาต้องการใฝ่หาช่วงเวลาในวัยเด็กที่ขาดหายไป ทุกวันนี้เดวิดยังคงเป็นผู้ป่วย หากแต่ความรักของคนรอบข้างได้ฉุดเขาออกมาจากความมืด เดวิดจึงได้เห็นแสงอีกครั้ง

การสร้างฉากและบรรยากาศในภาพยนตร์เรื่องนี้ นับได้ว่ามีความโดดเด่นอย่างยิ่งโดยเฉพาะการนำเอาบทเพลงคลาสสิคมาประกอบตลอดทั้งเรื่อง นับได้ว่าเป็นจุดเด่นของการสร้างบรรยากาศให้แก่เรื่องอย่างยิ่ง บทเพลงที่นำมาประกอบก็ล้วนแต่ถูกคัดสรรให้เข้ากับเนื้อเรื่อง ซึ่งล้วนแต่สื่อให้เห็นถึงอารมณ์ ความรู้สึกของตัวละครอย่างงดงาม เหมาะสมและลื่นไหล ด้วยความซาบซึ้งใจไปกับบรรยากาศของภาพยนตร์ซึ่งนำเอาบทเพลงคลาสสิคที่โด่งดังมาประกอบ ไม่ว่าจะเป็น เพลงเปียโน Raindrop ของโชแปง เพลง Nulla In Mundo Pax Sincera ของ Antonio Vivaldi จึงไม่แปลกที่ใครหลายคนเลือกที่จะชมภาพยนตร์เรื่องนี้อีกครั้ง นอกจากบรรยากาศที่เต็มไปด้วยเสียงเพลงแล้ว ฉากในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็มีความโดดเด่นและน่าสนใจอยู่หลายฉาก เริ่มจากฉากเปิดและฉากปิดของเรื่องที่มีลักษณะเหมือนและตัดกันอย่างชัดเจน

เราจะเห็นได้ว่าในฉากเปิดเรื่องมีการใช้เสียงฝนและความมืดนำมาก่อนแล้วจึงเพิ่มเสียงของผู้ชายคนหนึ่งที่บ่นพึมพำฟังไม่ได้ศัพท์อยู่คนเดียวซึ่งเขายังคงอยู่ภายใต้ความมืดเช่นกัน จากนั้นจึงมีการปรับให้เห็นรูปหน้าของผู้ชายที่เป็นต้นเสียงที่ยังคงพูดอีกสักพัก แล้วเขาก็วิ่งฝ่าสายฝนในช่วงเวลากลางคืนจนไปหยุดที่หน้าร้านอาหารแห่งหนึ่งที่มีเปียโนตั้งอยู่ และชายคนนั้นก็ต้องการเข้าไปในร้านเพื่อเล่นเปียโน ส่วนในฉากปิดเราจะเห็นภาพการสนทนาอย่างชัดเจนระหว่างผู้ชายคนเดียวกันในฉากเปิดเรื่องกับผู้หญิงคนหนึ่งในสุสานเกี่ยวกับการจากไปของปีเตอร์ ผู้เป็นพ่อของเขา ระหว่างการเดินทางออกจากสุสานเราจะเห็นได้ถึงใบหน้าที่เปี่ยมสุขของคนทั้งสองที่เดินเคียงคู่ไปด้วยกันพร้อมกับเสียงเพลงที่บรรเลงประกอบ

จากรายละเอียดข้างต้นทำให้เราเห็นถึงความเหมือนและต่างของฉากทั้งสองที่เปรียบกันได้อย่างลงตัว ซึ่งทั้งสองฉากมีความเหมือนในการเสนอความเกี่ยวข้องระหว่างตัวละครเอกกับเสียง รวมถึงการนำเอาเสียง แสง บุคคลและวัตถุ มาใส่ไว้ในฉากเช่นเดียวกัน ขณะเดียวกันในความเหมือนก็มีความต่างในรายละเอียดอย่างชัดเจน กล่าวคือ ทั้งฉากเปิดและปิดของเรื่องต่างนำเสนอด้านตรงข้าม เริ่มจากเสียงที่มีความต่างในท่วงทำนองจากเสียงฝนที่ขาดหายไม่ต่อเนื่องมาเป็นเสียงดนตรีที่มีชีวิตและท่วงทำนองที่ลื่นไหล ความมืดในช่วงเวลากลางคืนที่นำเสนอ ความทุกข์ทนเศร้าหมอง การปกปิดและความอึดอัด มาเป็นความสว่างในช่วงเวลากลางวันที่นำเสนอ ความสุขสดใส การเปิดเผย ความโล่งสบายและอิสระ สุดท้ายคือความเปลี่ยนแปลงของตัวละครเอก จะเห็นได้ว่าเขาอยู่คนเดียวไม่มีรอยยิ้มและพูดในสิ่งที่ไม่มีใครเข้าใจในฉากเปิด หากแต่ในฉากปิดเขาไม่ได้อยู่คนเดียวอีกต่อไป วันนี้เขามีคนที่พร้อมจะพูดคุยและรับฟังในสิ่งที่เขาคิดด้วยความเข้าใจ
สัญลักษณ์ที่เด่นชัดในภาพยนตร์เรื่องนี้คือแว่นตา อันเปรียบได้กับกรอบความคิดซึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้มีผู้ที่สื่อสัญลักษณ์ของแว่นตาเพียงสองคน คือเดวิดกับปีเตอร์ผู้เป็นพ่อโดยมีความแตกต่างดังนี้ แว่นของปีเตอร์เปรียบได้กับสัญลักษณ์ของการยึดติดอยู่ภายในกรอบที่เขาได้เลือกเอง โดยเห็นสัญลักษณ์เหล่านี้ผ่านฉากต่างๆ คือ
ตั้งแต่ฉากแรกที่เห็นปีเตอร์ เราจะเห็นได้ว่าการมองโลกของเขาเป็นการมองแบบยึดตนเองเป็นหลัก ปีเตอร์เลือกที่จะอยู่ภายใต้กรอบที่เขากำหนดเช่นเดียวกับที่เขาไม่เคยถอดแว่นตา เขาดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อมั่นที่ว่าความคิดของเขาล้วนเป็นสิ่งที่ถูกต้องและดีที่สุดสำหรับทุกคนในครอบครัว ดังนั้นการกระทำทุกอย่างของเขาจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนในครอบครัวต้องยอมรับโดยไม่มีข้อโต้แย้ง แต่แล้วความเชื่อมั่นในกรอบที่ปีเตอร์ยึดติดก็ถูกสั่นคลอนโดยการตัดสินใจออกจากบ้านของเดวิด และนั้นก็เป็นครั้งเดียวที่เราได้เห็นการถอดแว่นเพื่อซับน้ำตาของเขา หากแต่ก็เป็นเพียงแค่ช่วงสั้นๆ เพราะในที่สุดปีเตอร์ก็เลือกที่จะสวมแว่นซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาเลือกที่จะอยู่ภายใต้กรอบความคิดของตนเอง จนกระทั่งฉากสุดท้ายที่เราได้เห็นปีเตอร์ไปหาเดวิดที่ร้านอาหาร เราพบว่าแว่นตาของเขาแตก หากแต่ปีเตอร์ยังคงไม่เปลี่ยนแว่นตา เขาเลือกที่จะนำกระดาษกาวมาพันไว้เท่านั้น แว่นตาของเขาจึงเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของความคิดที่คับแคบอยู่แต่ในกรอบ ซึ่งการที่เขาไม่เปลี่ยนแว่นก็เท่ากับเขาเลือกที่จะอยู่กับความคิดเดิมๆที่เขายึดติดมาเนิ่นนานและไม่คิดจะเปลี่ยนแปลง แม้ว่าเขาจะเคยเสียน้ำตาภายใต้กรอบแว่นอันนี้มาแล้วก็ตาม
ส่วนแว่นของเดวิดจะสื่อออกมาในหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการสวม การถอด การตก หรือการเปลี่ยนแว่นตาของเดวิดล้วนแต่มีความสัมพันธ์กับ การกระทำ ความคิดและความรู้สึกของเขาทั้งสิ้น แว่นตาของเดวิดจึงมีนัยสำคัญที่น่าติดตาม เริ่มตั้งแต่การสวมแว่นตาตั้งแต่เด็กของเดวิด ซึ่งไม่ได้หมายถึงผู้ที่มีความบกพร่องทางสายตาเท่านั้น หากแต่ยังสื่อให้เห็นว่าเขาถูกผู้เป็นพ่อครอบงำทางความคิดตั้งแต่เด็กกระทั่งโต เราจึงได้พบกับภาพของความกดดัน ความมุ่งมั่น ความไม่มั่นใจ ความสับสนต่างๆ ภายใต้กรอบแว่นของเดวิด ซึ่งล้วนเป็นผลจากการถูกครอบงำทางความคิดทั้งสิ้น

เรามักจะเห็นสัญลักษณ์ผ่านฉากสำคัญของเรื่องหลายฉาก อาทิ ฉากสำคัญในการบรรเลงบทเพลงแรคหมายเลขสามของเดวิด ซึ่งเขาได้หมดสติล้มลงหลังจากการแสดงจบพร้อมๆกับการตกลงของแว่น การตกของแว่นในครั้งนี้จึงเปรียบได้กับการหลุดออกจากกรอบที่พ่อได้ครอบให้แก่เดวิดด้วยการย้ำเสมอว่าเดวิดต้องบรรเลงเพลงนี้ให้ได้ เพราะมันจะเป็นผลงานที่ทำให้พ่อภูมิใจที่สุด

นอกจากนั้นแว่นอันเดียวกันนี้ก็ยังได้รับการนำไปเปรียบเทียบกับแว่นอันที่เดวิดใส่ในการแสดงใหญ่ครั้งแรกหลังจากป่วยเป็นโรคจิตเภท แว่นทั้งสองยังคงเป็นสัญลักษณ์ในการถูกครอบงำทางความคิดหากแต่เป็นการเปรียบให้เห็นมุมมองอีกด้านผ่านประกายและความสดใสของแว่นที่ต่างก็ตั้งในมุมเดียวกัน กล่าวคือ แว่นอันแรกเสนอให้เห็นว่าการเล่นดนตรีเพื่อสนองกรอบที่ถูกครอบจากภายนอกโดยหวังเพียงแต่ชัยชนะ ความสำเร็จที่ได้มาจึงไม่ต่างจากความสุขจอมปลอมเช่นเดียวกับความมัวของแว่น หากแต่แว่นอันที่สองเสนอให้เห็นว่าการเล่นดนตรีภายใต้กรอบของตัวเองอย่างอิสระ ไม่ยึดติดกับผลแพ้ชนะ ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จที่แท้จริงที่ทำให้เรามีความสุขสดใส เช่นเดียวกับประกายที่สดใสของแว่น

แว่นของเดวิดก็เคยแตกเช่นเดียวกับแว่นของปีเตอร์ แว่นของเขาแตกหลังจากที่เปียโนถูกล็อคซึ่งในเวลานั้นเดวิดรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มีที่พึ่ง สุดท้ายเขาเลือกที่จะเปลี่ยนแว่นซึ่งเปรียบได้กับสัญลักษณ์แห่งการเปิดกรอบทางความคิด หลังจากเปลี่ยนแว่นเดวิดก็เลือกที่กล้าเดินไปหาเปียโนเล่น จนในที่สุดเขาได้พบมิตรภาพที่ดีกลับมา และการเปลี่ยนแว่นในครั้งนี้ยังถือได้ว่าเขาเลือกที่จะหลุดออกจากกรอบของปีเตอร์ผู้เป็นพ่ออย่างถาวร เราจะเห็นได้จากการเผชิญหน้ากันครั้งสุดท้ายว่าเดวิดเลือกจะเปลี่ยนแว่น และนั้นทำให้ชีวิตเขาพบกับแสงสว่าง ดังนั้นแว่นของเดวิดจึงเปรียบได้กับสัญลักษณ์ของการถูกครอบงำทางความคิด การหลุดพ้นจากกรอบที่ถูกครอบงำ และการเปลี่ยนกรอบความคิด

แก่นเรื่องที่ได้รับจากภาพยนตร์เรื่องนี้คือ“แสงสว่างที่ส่องทางให้แก่ผู้ป่วยนั้นมิได้มาจากใครคนใดคนหนึ่งหากแต่เกิดจากทุกคนร่วมด้วยช่วยกัน”
ผู้ป่วยโรคจิตเภทอย่างเช่นเดวิด ล้วนมีปมภายในใจที่ส่งผลให้เขาเป็นเช่นนั้น เราจึงควรศึกษาหาปมที่ซ่อนอยู่ในใจของผู้ป่วยด้วยความอดทน ขณะเดียวกันก็ต้องกระตุ้นให้ผู้ป่วยกล้าที่เผชิญหน้ากับปัญหาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งการช่วยผู้ป่วยให้สามารถกลับมาดำรงชีวิตอย่างปกติเช่นเดิมคงเป็นไปไม่ได้ หากแต่เราสามารถช่วยผู้ป่วยให้กลับมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขร่วมกับผู้คนในสังคมได้ แต่ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากครอบครัว คนรอบข้าง และสังคมในการให้โอกาสแก่ผู้ป่วย ที่สำคัญคือ เราต้องไม่ปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่เพียงลำพังหรือรู้สึกโดดเดี่ยว ประกอบกับต้องดูแลผู้ป่วยด้วยความเข้าใจ พร้อมที่จะรับฟังปัญหาและความคิดเห็นของเขา ไม่ควรว่ากล่าวต่อพฤติกรรมที่ผิดแผกของเขา แต่ควรแนะนำให้เขาเข้าใจอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้ให้แสงสว่างแก่เดวิดเท่านั้น หากแต่ยังส่องคำถามมายังเราด้วยว่า วันนี้เราได้ให้ความสำคัญกับคนในครอบครัวแล้วหรือยัง ใครหลายคนอาจจะมัวไข่วคว้าหาความสุขความสำเร็จให้แก่ชีวิต จนลืมไปว่าความสุขอยู่ใกล้แค่ตัวเรา ใครๆต่างบอกว่าครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ทุกคนต่างก็รักครอบครัวของตน หากแต่เรารักอย่างถูกต้องแล้วหรือ บทเรียนชีวิตของเดวิดคงจะเป็นคำตอบที่ดีให้แก่เราได้ว่า ความรักอาจเป็นดั่งยาทิพย์ที่ช่วยฟื้นชีวิตเรา หากแต่ความรักก็เป็นดั่งยาพิษที่พร้อมจะพรากชีวิตไปจากเราได้เช่นกัน ทั้งหมดอยู่ที่คุณตัดสินใจเลือก

ไม่มีความคิดเห็น: