วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2551

Shine

นิชา

…สิบนิ้วหยาบกร้านพลิ้วพรมลงบนปุ่มสี่เหลี่ยมสีขาวแกมดำเรียงยาว มือใหญ่สัมผัสเปียโนเรือนสวยราวกับผูกพันมานาน ความอ่อนไหวของตัวโน้ตคลุกเคล้ากับความหนักหน่วงของท่วงทำนอง ราวกับมนตร์สะกดให้ผู้ฟังกว่าหลายชีวิตหยุดที่เขา...ชายผู้เกิดมาพร้อมกับสิ่งที่เรียกว่า ‘พรสวรรค์’

David Helfgott นักเปียโนอัจฉริยะชาวออสเตรเลีย จากเรื่องราวในชีวิตจริงของเขากลายมาเป็นภาพยนตร์ดราม่ายอดเยี่ยมรางวัลอคาดามี อวอร์ด ประจำปี 1997 กำกับโดย Scott Hicks และมีนักแสดงนำอย่าง Geoffrey Rush มาถ่ายทอดเรื่องราวการค้นพบสิ่งพิเศษผ่านความท้าทายและความทุกข์ยาก เป็นสิ่งที่ได้จากความรัก ความมุ่งหมาย และมุมมองในด้านบวกใหม่ๆ ของชีวิต ภาพยนตร์ออสเตรเลียที่กระชากหัวใจคนดูให้ส่องแสงสดใสอีกครั้งกับ ‘Shine’

นักเปียโนชาวออสเตรเลีย เชื้อสายยิวกับโปแลนด์ ‘เดวิด เฮลฟ์ก็อทท์’ มีชะตาชีวิตที่ถูกกำหนดโดยปีเตอร์ ผู้เป็นพ่อ ชีวิตของเดวิดไม่เคยสัมผัสกับวัยเด็กที่สนุกสนาน ชีวิตที่เกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์ทางด้านดนตรี ทำให้เขาต้องหมั่นฝึกซ้อมเปียโนอย่างหนักเพื่อเป็นตัวแทนต่อเติมความฝันของพ่อ ความคาดหวังและความกดดันจากพ่อส่งผลต่อสุขภาพจิตของเดวิดโดยไม่รู้ตัว เดวิดเข้าแข่งขันเปียโนมาตั้งแต่เด็ก โดยพ่อจะเป็นผู้ควบคุมเสมอ เดวิดไม่มีความสุขเวลาอยู่บ้าน แต่เขาก็ได้พบนักเขียนใจดี คือ แคทเธอรีน พริทชาร์ท ซึ่งเธอเป็นเหมือนที่พึ่งทางใจ ครั้งหนึ่งเดวิดได้รับทุนไปเรียนต่อที่ Royal Academy of Music ในประเทศอังกฤษ พ่อไม่ยอมให้ไปแต่เขาก็เลือกที่จะเดินตามโอกาสที่เข้ามาด้วยการตัดสินใจของตนเอง

เพลง Rachmaninoff Concerto No.3 เป็นเพลงที่เดวิดเลือกเล่นเมื่อไปเรียนที่ลอนดอน ซึ่งเป็นแบบทดสอบที่ยากที่สุดในการก้าวไปสู่ความเป็นเลิศทางเปียโน โดยมีอาจารย์เซซิล พาร์คเป็นครูผู้สอน เขาหมั่นซ้อมอย่างหนักจนได้ร่วมเล่นเปียโนในวงดนตรีของมหาวิทยาลัย แต่เมื่อเขาบรรเลงเพลงจบก็ล้มลงหมดสติบนเวที ทำให้เขาได้เข้ารับการรักษาอาการทางจิตที่โรงพยาบาล โดยแพทย์สั่งห้ามเล่นเปียโนอย่างเด็ดขาด เมื่อออกจากโรงพยาบาลเขาก็ได้มาอยู่กับเบอริล แต่พฤติกรรมที่ผิดปกติของเดวิดทำให้เบอริลไม่สามารถทนได้ เธอจึงส่งเขาไปอยู่กับจิมที่บ้านเช่า เดวิดต้องการที่จะเล่นเปียโนทำให้วันหนึ่งเขาเข้าไปเล่นเปียโนในร้านอาหารที่ซิลเวียทำงานอยู่ เขาเล่นได้ไพเราะมาก ทุกคนชื่นชมและให้โอกาสเขา โดยเฉพาะซิลเวียได้พาเขามาอยู่ที่บ้านจนทำให้เดวิดได้เจอกับกิลเลียน ด้วยความดีและความน่ารักของเดวิดทำให้กิลเลียนตัดสินใจแต่งงานด้วย จากนั้นอาการทางจิตของเดวิดก็ดีขึ้นจากการดูแลด้วยความรักและความเข้าใจ เขาจึงกลับมาเล่นเปียโนรวมทั้งมีชีวิตใหม่ที่มีความสุขได้อีกครั้ง

ภาพยนตร์เรื่อง ‘Shine’ เริ่มต้นเรื่องจากตัวละครเอก คือ เดวิด โดยการใช้ภาพ Close up เพื่อแสดงถึงลักษณะและพฤติกรรมที่ผิดปกติของตัวละครเอกให้เด่นชัดขึ้น จากนั้นเหตุการณ์พัฒนาไปที่เดวิดต้องการเข้าไปในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดสงสัยว่า เขาต้องการอะไร ที่หลบฝนหรืออาหาร แต่ความเป็นจริงแล้วเขาต้องการเล่นเปียโนที่อยู่ในร้านนั้นเอง มีการดำเนินเรื่องจากปัจจุบันย้อนไปสู่อดีต การเล่าย้อนอดีตในวัยเด็กทำให้รู้ถึงความขัดแย้งภายในใจเดวิดที่ค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อยมาตั้งแต่เด็ก โดยที่มีตัวละครรอง คือ ปีเตอร์ผู้เป็นพ่อกระตุ้นให้ความขัดแย้งในใจเดวิดรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ความสับสนในพฤติกรรมของพ่อที่เรียกได้ว่า “ตบหัวแล้วลูบหลัง” ทำให้ความอึดอัดและสับสนของเดวิดถูกปิดกั้น ไม่สามารถโต้แย้งหรือแสดงออกมาได้ และอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เดวิดมีอาการผิดปกติทางจิต คือ สังคม ด้วยพื้นฐานครอบครัวเชื้อสายยิว ปีเตอร์มีเบื้องหลังในวัยเด็กที่ไม่สดใส เขามีชีวิตอยู่ในสมัยนาซี ซึ่งฮิตเลอร์เรืองอำนาจและไล่ถล่มยิว ทำให้ปีเตอร์ต้องการมีครอบครัวที่อบอุ่นอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา เขาจึงขัดขวางไม่ให้เดวิดไปเรียนต่อต่างประเทศ และการมาจากสังคมเช่นนั้นทำให้ปีเตอร์เป็นคนเอาความคิดของตนเองเป็นสำคัญ โดยไม่ฟังความคิดเห็นของผู้อื่น นับว่าเป็นการขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสังคมรูปแบบหนึ่ง

เรื่องราวดำเนินต่อไปถึงจุดวิกฤตคือเดวิดเล่นเพลง Rachmaninoff Concerto No.3 ท่ามกลางความตกตะลึงและความชื่นชมของผู้ชมนับร้อย เขาเล่นได้สมบูรณ์แบบและถึงอารมณ์เพลงจนอาจารย์ที่สอนยิ้มด้วยความภูมิใจ แต่เมื่อเขาบรรเลงเพลงจบก็ล้มลงกับพื้นทันที นับว่าเป็นจุดไคลแม็กซ์ของเรื่อง ความรู้สึกเหมือนเดวิดได้ขึ้นไปถึงจุดสูงสุดแล้วตกลงมา จากนั้นเรื่องก็คลี่คลายโดยเดวิดเข้ารับการรักษาตัว และเขาก็ได้พบกับกิลเลียนผู้มาเปลี่ยนชีวิตให้สดใสอีกครั้ง เรื่องดำเนินมาถึงจุดสิ้นสุด คือ เดวิดมาที่หลุมศพของพ่อกับกิลเลียน ปิดฉากด้วยภาพความสุขและเสียงหัวเราะของเดวิดกับกิลเลียนผู้เป็นภรรยา
บ้านของเดวิด ซึ่งอยู่ที่เมืองเพิร์ท ประเทศออสเตรเลียนับว่าเป็นฉากสำคัญของเรื่อง ซึ่งให้บรรยากาศอึดอัดและหนาวเย็น มีความกดดันซ่อนอยู่แม้จะทำกิจกรรมผ่อนคลาย เช่น การเล่นหมากรุก แตกต่างจากบ้านของคุณนายพริทชาร์ทที่ดูอบอุ่นสบาย ภายในบ้านดูมีชีวิตและเต็มไปด้วยความทรงจำมากมาย นอกจากนี้ยังมีฉากในหอประชุมใหญ่ที่เมืองลอนดอนประเทศอังกฤษ เป็นตอนที่เดวิดบรรเลงเปียโน ซึ่งให้ความรู้สึกตื่นเต้น ลุ้นระทึก และแสดงภาพความยิ่งใหญ่อลังการทุกๆ องค์ประกอบของฉากและบรรยากาศ

ตัวละครนับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากในเรื่องนี้ โดยเฉพาะตัวละครเอก คือ เดวิด ในวัยเด็กเดวิดรูปร่างเล็ก ผิวขาว สวมแว่น มีลักษณะไม่มั่นใจในตนเอง เมื่อเป็นวัยรุ่นมีลักษณะการพูดที่ตะกุกตะกัก ไม่มั่นใจและเริ่มมีอาการที่ผิดปกติ คือ ปัสสาวะรดที่นอน อุจจาระลงในอ่างอาบน้ำ ไม่ใส่กางเกงลงมาในที่สาธารณะ หรือ รับประทานอาหารถ้วยเดียวกับแมว และเมื่อตอนเดวิดแก่มีลักษณะการพูดที่รัว เร็ว ย้ำคิดย้ำทำ เขาสวมแว่นตา ติดบุหรี่ และโหยหาความรักจากผู้หญิง ซึ่งพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้เป็นอาการผิดปกติทางจิต

คุณนายพริทชาร์ท เป็นสัญลักษณ์ของแม่ การที่เดวิดโหยหาความรักจากผู้หญิงเพราะเขาต้องการความรักและความอบอุ่นจากแม่มาตั้งแต่เด็ก เขาจะใช้ชีวิตอยู่กับพ่อเป็นส่วนมากโดยไม่ได้สนิทกับแม่ ด้วยเหตุนี้ทำให้เดวิดรู้สึกว่าคุณนายพริทชาร์ทเป็นที่พึ่งทางใจ เธอจะเป็นคนรับฟังและคอยให้คำปรึกษาเสมอ นอกจากนี้ในตอนที่ปีเตอร์นำผ้ามาคลุมรอยขาดของโซฟา เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการที่เขาไม่สามารถยอมรับความผิดพลาดหรือความผิดหวังได้ เขาต้องการให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบโดยเฉพาะกับเดวิด ทำให้ปีเตอร์กลายเป็นสัญลักษณ์ของสังคมยิวที่เน้นความเผด็จการ

เดวิดเป็นตัวละครเอกที่ถูกกระทำโดยตัวละครรอง คือ ปีเตอร์ผู้เป็นพ่อ ซึ่งเป็นชาวโปแลนด์เชื้อสายยิวที่มีความหลังฝังใจตั้งแต่เด็ก คือ เขาเก็บเงินซื้อไวโอลินได้เอง แต่พ่อของเขาขัดขวางและทำลายไวโอลินจนพังยับเยิน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ปีเตอร์คาดหวังและทุ่มเทกับตัวเดวิดมากเพื่อทดแทนในสิ่งที่เขาไม่เคยได้รับในวัยเด็ก โดยปีเตอร์จะเป็นคนป้อนความคิดและการกระทำทุกอย่างของตนเพื่อให้เดวิดทำตาม เขามักให้เดวิดพูดตามในสิ่งที่ตัวเองบอกอยู่เสมอ เช่น “Next time, you have to win” หรือ “You’re a very lucky boy” เป็นต้น

‘Shine’ คำเดียวสั้นๆ แต่กินความหมายมหาศาล นับว่าเป็นชื่อเรื่องที่ถ่ายทอดจุดเด่นที่สุดของเรื่องนี้ออกมา คือ เมื่อเดวิดผ่านเรื่องราวอันเลวร้ายมาแล้ว ในที่สุดเขาก็ได้ชีวิตใหม่อีกครั้ง เดวิดเปรียบเสมือนเพชร แม้จะมีสิ่งใดมาบดบังความงาม แต่หากมีคนนำเพชรเม็ดนั้นมาเจียระไน ดูแลรักษาและทำความสะอาด เพชรเม็ดนั้นก็จะสุกสกาว กลับมาเป็นอัญมณีล้ำค่าที่ส่องสว่างงดงามได้อีกครั้ง

ผู้กำกับต้องการนำเสนอแง่คิดต่างๆ ผ่านตัวละคร การสื่อสารทางดนตรีผ่านเสียงของเปียโนที่ดีกว่าภาษาพูดของตัวละครเอก การสร้างความแข็งแกร่งจากความอ่อนแอนับเป็นการต่อสู้เพื่อนำไปสู่ความเป็นเลิศทางเปียโน และมุมมองความรักของสองขั้วที่แตกต่าง ระหว่างความรักจากผู้เป็นพ่อ ซึ่งเป็นความรักแห่งการทำลายล้างไม่ใช่รักที่แท้จริง เข้าทำนอง ‘พ่อแม่รังแกฉัน’ และความรักของกิลเลียนผู้เป็นภรรยา ซึ่งเป็นความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีเหตุผล เพียงแต่ยอมรับและให้โอกาสด้วยหัวใจเท่านั้น

‘Shine’ เป็นภาพยนตร์คุณภาพเรื่องหนึ่งที่สร้างความสะเทือนใจมาแล้วทั่วโลก ชีวิตของชายผู้พร้อมด้วยพรจากสวรรค์และความสามารถทางดนตรีอันเต็มเปี่ยม ทางที่ควรจะโรยด้วยกลีบกุหลาบกลับกลายเป็นคมหนามด้วยการหล่อหลอมที่ผิดๆ จากผู้เป็นพ่อ ทุกตัวละคร ทุกชีวิตในเรื่องย่อมมีเหตุผลของตน ความต้องการจะให้คนที่เรารักได้ดีและมีความสุข ความรักที่หยิบยื่นกลับกลายเป็นสิ่งที่ย้อนมาทำร้ายโดยไม่รู้ตัว แต่การยอมรับและการเข้าใจจากคนรอบข้างจะทำให้ผู้ป่วยทางจิตกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง โดยใช้หัวใจและความรักเป็นเครื่องรักษาเยียวยา ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นแรงผลักดันให้เราก้าวเดินไปตามทางที่เราฝันด้วยความมุ่งมั่นและความตั้งใจด้วยตัวของเราเอง และเปิดใจให้กับทุกชีวิตรอบๆ ตัวเพื่อให้โอกาสกับความสดใสและสวยงามในชีวิตของเขาอีกครั้ง...

ด้วยความขอบคุณและชื่นชมแด่แสงสว่างที่งดงาม ‘David & Gillian Helfgott’

ไม่มีความคิดเห็น: