วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2551

Shine บุรุษผู้ส่องประกาย

พุทธิดา



Shine เปิดเรื่องขึ้นมาโดยให้คนดูได้เห็นภาพด้านข้างของชายผู้หนึ่ง ที่เอาแต่พูดพร่ำไม่หยุด รัวและเร็วจนจับใจความแทบไม่ได้ ซึ่งคนดูจะได้ทราบในภายหลังว่า เขาคือ เดวิด เฮลฟ์ก็อท นักเปียโนอัจฉริยะของออสเตรเลีย ที่มีสภาพไม่ต่างไปจากชายสติไม่สมประกอบธรรมดาๆคนหนึ่ง กำลังวิ่งฝ่าสายฝนเหมือนกับเด็กๆ และมาหยุดที่หน้าร้านอาหาร ชื่อ”โมบาย” จับจ้องเปียโนที่ตั้งอยู่กลางร้านไม่วางตา เสียงเปียโนที่คลอเบาๆประกอบฉากอยู่ตลอด ชวนให้คนดูสงสัยว่า ชายผู้นี้มีความรู้สึกผูกพันอันใดกับเปียโนนัก ความมืดทึม และบรรยากาศขมุกขมัวในฉากนี้ค่อยๆทอดบรรยากาศต่อเนื่องไปสู่บรรยากาศชีวิตวัยเด็กอันหม่นหมองของ ด.ช.เดวิด เฮลฟ์ก็อท


เดวิด อาศัยอยู่ในครอบครัวที่เข้มงวด พ่อเป็นผู้ที่วางกฎเกณฑ์และกำหนดกรอบการดำเนินชีวิตให้กับทุกคนภายในบ้าน โดยที่ไม่มีสิทธิ์โต้แย้งใดๆ เดวิดจึงกลายเป็นเด็กเงียบ ที่ไม่กล้าแสดงความรู้สึก และชอบเออออตามน้ำ พ่อเคี่ยวเข็ญให้เขาฝึกซ้อมเปียโนอย่างหนักทุกวัน เพื่อทดแทนส่วนที่ขาดหายไปของตนในวัยเด็ก ที่เคยออมเงินไว้ซื้อไวโอลินแต่โดนพ่อ(ปู่ของเดวิด)ขัดขวางทุบไวโอลินทิ้ง เขาจึงยกเอาความฝันเหล่านั้นมาไว้ที่เดวิดแทน และสอนว่า “ต้องชนะเท่านั้น” เดวิดเป็นเด็กที่มีพรสวรรค์ที่ชนะการแข่งขันทุกครั้ง แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจของพ่อที่อยากให้เขาเล่นแร็คมานีนอฟ เพลงที่เป็นสุดยอดของเปียโนให้ได้ วันหนึ่งเดวิดได้รับเชิญให้ไปศึกษาต่อที่สถาบันดนตรีที่มีชื่อเสียงของอเมริกา แต่พ่อไม่ยอมให้ไป เดวิดไม่กล้าขัดคำสั่งพ่อ จึงจำต้องทิ้งโอกาสอันงามไปอย่างน่าเสียดาย


จากการที่พ่อไม่อนุญาตให้เดวิดไปเรียนต่อที่อเมริกา ทั้งๆที่จะสามารถผลักดันให้เดวิดเก่งยิ่งขึ้นและก้าวไปสู่ความสำเร็จอย่างที่พ่อหวังเอาไว้ได้ อาจจะดูเผด็จการเกินไป แต่ที่จริงน่าจะมีเหตุผลแฝงอยู่ว่า ครอบครัวเฮลฟ์ก็อทในความเป็นจริงมีเชื้อสายยิว (หนังเรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริง) เคยรอดพ้นจากภัยสงครามและการคุกคามของนาซี ดังนั้น การอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งครอบครัว โดยที่ไม่มีใครล้มหายตายจากไปสักคนเดียวนั้น จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับพ่อของเดวิด ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นหัวหน้าครอบครัว ที่จริงพ่อของเดวิดก็เป็นพ่อคนหนึ่งที่รักลูก และมีความอ่อนโยนอยู่ลึกๆ จะสังเกตเห็นได้จากฉากที่เขาเล่นกับลูกๆตอนที่ผ่าฟืน หรือแม้แต่ฉากที่เขาเก็บหนังสือพิมพ์ที่มีข่าวของเดวิดไว้เป็นอย่างดี แต่การที่เขาไม่แสดงความรู้สึกรักลูกอย่างอ่อนโยนอย่างที่พ่อแม่คนอื่นๆเขาทำกัน ก็น่าจะเป็นเพราะกลัวเสียระบบ ถ้าหากว่าเขาไม่สามารถรักษาระเบียบวินัยภายในบ้านให้คงไว้อย่างที่เคยเป็น โดยการวางตัวเองไว้ในฐานะผู้คุ้มกฎเช่นนั้นได้ เขากลัวว่าสิ่งต่างๆจะเปลี่ยนแปลงไป เขาก็เป็นแค่เพียงคนที่กลัวการสูญเสียเท่านั้นเอง


ฉากที่เราจะเห็นพัฒนาการของตัวละครเดวิดอย่างเห็นได้ชัดเจนก็คือ เมื่อเขาได้รับโอกาสให้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ เขาขัดคำสั่งของพ่อที่ห้ามไม่ให้เขาไป และเลือกทางเดินชีวิตด้วยตัวเอง การที่เดวิดทะเลาะกับพ่อรุนแรง ถูกพ่อทุบตี และเลือกเดินออกจากบ้านไปในสภาพตัดพ่อตัดลูก ไม่มีบ้านจะให้ย้อนกลับมาอีกแล้ว คนดูคงรู้สึกได้ถึงความบีบคั้นหัวใจและความกลัวของเด็กชายคนหนึ่งที่ไม่เคยแม้แต่จะคิดตัดสินใจอะไรด้วยตนเองแม้สักครั้ง กลับต้องออกไปเผชิญโลกที่เขาไม่เคยเข้าใจเพียงลำพัง โดยที่ไม่รู้ว่ามีอะไรรออยู่ข้างหน้าบ้าง ในตอนนี้ ตัวละครเดวิดจะได้เติบโต และก้าวล่วงจากความเป็นเด็กสู่ความเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาก


ในอังกฤษ เดวิดต้องทนกับภาวะตึงเครียด ทั้งจากการทราบข่าวการเสียชีวิตของแคทเธอรีน พริตชาร์ต นักเขียนที่เดวิดผูกพันและเป็นที่พึ่งทางใจของเขา ราวกับว่าเป็นญาติมิตรสนิทคนเดียวที่เหลืออยู่ในโลก และจากการฝึกซ้อมเพลงแร็คมานีนอฟอย่างหนักหนาสาหัส ในที่สุดเขาก็ได้ขึ้นโชว์ และทุ่มเทกายใจทั้งหมดไปกับจังหวะที่เร้าอารมณ์ของแร็คมานีนอฟ จนเครียดจัดและเกร็งจนช็อคเข้าโรงพยาบาล และกลายเป็น “คนสติหลุด”ที่พูดไม่หยุดราวกับต่อมพูดอักเสบ ซี่งอาจเป็นผลจากความเก็บกดในวัยเด็กที่ไม่สามารถพูดอย่างที่ใจคิดได้ กลายมาเป็นพูดทุกอย่างที่คิดโดยหยุดไม่ได้ไป


ครอบครัวเฮลฟ์ก็อทประท้วงหลังจากดูหนังเรื่องนี้ว่าบิดเบือนความจริง ตรงที่เดวิดไม่ได้ล้มลงมาสติแตกหลังการแสดงดังที่ปรากฏในหนัง แต่ Scott Hicks ผู้กำกับบอกว่า “นี่เป็นเพียงภาษาภาพยนตร์ที่สื่อให้คนดูเข้าใจว่าเดวิดได้ก้าวไปถึงจุดสุดยอดทางเปียโนแล้วเขาก็ตกลงมา..นอกจากนี้หนังเรื่องนี้ไม่ใช่สารคดีชีวประวัติของเดวิด แต่เป็นหนังดัดแปลงต่างหาก” ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ในการดัดแปลงเรื่องราวเล็กๆน้อยๆ และสร้างสรรค์บทบาทของตัวละครให้ดูน่าสนใจมากขึ้น เพื่อดึงดูดความน่าสนใจของคนดู และทำให้หนังมีอรรถรสมากขึ้น ที่ถึงแม้จะดูเกินจริงไปบ้าง แต่ผู้กำกับก็ทำได้สำเร็จตรงที่ สามารถทำให้คนดูใจหายใจคว่ำ และอดลุ้นไม่ได้ว่าเรื่องราวชีวิตของหนุ่มน้อยเดวิดที่ติดตามมาตั้งแต่ต้นจะดำเนินต่อไปเช่นไร


หลังจากที่เดวิดเริ่มมีอาการทางจิตเภท หมอก็สั่งห้ามเขาไม่ให้เล่นเปียโนอีกเด็ดขาด เพราะกลัวว่าจะไปกระตุ้นอารมณ์และทำให้อาการของเขากำเริบ ถ้าหากจะบอกว่าเปียโนทำให้เขามีค่าขึ้นก็คงไม่ผิดนัก เพราะเมื่อไม่มีเปียโน เดวิดก็กลายเป็นเพียงคนเพี้ยนๆคนหนึ่งที่ไม่น่าสนใจอะไร จากการเจ็บป่วยคราวนี้เดวิดต้องพักรักษาตัวเป็นสิบๆปี และเปลี่ยนผู้อุปถัมภ์อยู่บ่อยครั้ง จนได้มาอยู่กับครอบครัวของซิลเวีย และได้รู้จักกับกิลเลี่ยน นักดูดวง เพื่อนของซิลเวีย ทั้งสองได้แต่งงานกันในที่สุด และในช่วงนี้เดวิดได้เริ่มกลับมาเล่นเปียโนและมีชื่อเสียงอีกครั้ง จะสังเกตเห็นข่าวลงในหนังสือพิมพ์ว่า “Remember who?” และเฉลยว่านี่คือ “David Shines” Shine ในที่นี้จึงหมายความว่า ส่องประกาย หรืออย่างที่อาจารย์ในสถาบันดนตรีที่ลอนดอนเคยพูดถึงเดวิดว่า “ฉายแววอัจฉริยะ” จึงเป็นการสื่อว่า คนที่มีพรสวรรค์เปรียบได้กับเพชรน้ำงาม ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่ก็จะยังคงส่องประกายงดงามอยู่เสมอ


ช่วงเวลานี้พ่อของเดวิดมาหา และให้โอกาสเขากลับบ้าน แต่เดวิดพอใจกับชีวิตของเขาตอนนี้แล้ว และพ่อของเขาก็เดินคอตกกลับบ้านไป อาจจะด้วยความรู้สึกผิดหวังที่เดวิดลูกชายอันเป็นที่รักไม่ยอมกลับบ้าน ผสานกับความรู้สึกผิดหวังในตัวเอง ที่เขาค้นพบความจริงที่ว่า เขาไม่มีอำนาจพอที่จะควบคุมใครๆได้อีกแล้ว ฉากนี้เดวิดพูดลาก่อนกับพ่อ อาจจะดูเป็นการร่ำลาธรรมดาๆทั่วไป ไม่ต่างจากการทักทายสวัสดี เมื่อพบเจอกัน แต่ถ้าสังเกตให้ดี จะเห็นว่า นี่เท่ากับเป็นการปลดแอกชีวิตของเขาจากการตกอยู่ในอาณัติของพ่อเป็นเวลานาน ที่แม้แต่ตอนแยกกับพ่อไปอยู่ลอนดอน จนกระทั่งป่วย เดวิดก็ยังอ้างคำพูดของพ่ออยู่เสมอ เช่น “เขาจะถูกลงทัณฑ์ชั่วชีวิต เพราะว่าทำผิด” หรือ “คนอ่อนแอจะถูกขยี้เหมือนแมลง ต้องเข้มแข็ง” เป็นต้น แต่หลังจากฉากร่ำลาพ่อไปแล้ว เดวิดก็ดูจะมีความสุข และทำอะไรอิสระตามใจมากขึ้น บรรยากาศที่เคยหม่นๆมาตลอดทั้งเรื่องจากการใช้สีมืดๆทึมๆเป็นโทนหลักของหนัง ก็ดูจะสว่างไสวมากขึ้น เสียงเปียโนที่ใช้ประกอบตลอดทั้งเรื่องจากที่เคยเป็นเสียงที่เอื่อยๆ ดูหม่นๆตามบรรยากาศของหนังนั้น ก็ฟังดูชัดเจน และสบายๆมากขึ้นไปด้วย เสียงเปียโนที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในหนังเรื่องนี้ ก็ยังมีโทนอื่นๆอีก ยกตัวอย่างเช่น ฉากปะทะอารมณ์ระหว่างเดวิดกับพ่อ เสียงเปียโนฟังดูบีบคั้น เร่งเร้า และรุนแรง , ฉากที่กิลเลี่ยนกลับมาใคร่ครวญเรื่องคำขอแต่งงานของเดวิด เสียงเปียโนในตอนนี้ก็ฟังดูเร่งเร้าแต่คนละแบบกันกับตัวอย่างเมื่อครู่ตรงที่ เสียงดนตรีจะแฝงความอ่อนหวาน และความเร่าร้อนไว้ด้วยกัน สื่อถึงอารมณ์รัก และความปรารถนาอย่างชัดเจน


ในตอนท้ายของเรื่อง เดวิดได้มีโอกาสขึ้นโชว์เดี่ยวเปียโนที่บ้านเกิด มีคนสำคัญในชีวิตของเขามาดูหลายคน ได้แก่ คนในครอบครัวเฮลฟ์ก็อท(ยกเว้นพ่อ เพราะเขาได้เสียชีวิตไปแล้ว โดยที่ในหนังไม่ได้กล่าวถึงสาเหตุ) , ครูโรเซ่น ครูดนตรีคนแรกของเดวิด , ครอบครัวของซิลเวีย และกิลเลี่ยน ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของเขาเอง เมื่อจบการแสดง เดวิดได้รับเสียงปรบมือล้นหลาม จนเขาถึงกับหลั่งน้ำตาออกมา เป็นน้ำตาแห่งความปลื้มปิติ เบิกบานใจ และในขณะเดียวกันก็เป็นการปลดปล่อยความเก็บกดและอัดอั้นที่มีมานานแสนนาน เพราะเวทีนี้เป็นเวทีเดียวกันกับที่เขามาแข่งขันในตอนเด็กและต้องเกร็งกับสายตาที่คอยจ้องจับผิดของพ่อ ณ วันนี้เขาสามารถเล่นได้ในสไตล์ที่เป็นตัวเขาเอง ไม่มีใครมาบังคับ โดยที่คนข้างล่างเวทีเหล่านั้นก็ยอมรับเขา มันจึงกลายเป็นการเล่นดนตรีด้วยความสุขอย่างที่ควรจะเป็นมานานแสนนานแล้ว เหมือนกับว่าเขาได้ทำเวลาของเขาแทบทั้งชีวิตหล่นหายไป แต่ตอนนี้เขาเป็นอิสระแล้ว ฉากจบนี้จึงถือเป็นฉากจบที่สวยหรูและถือได้ว่าเป็นการประสบความสำเร็จของเดวิดอย่างแท้จริง


หนังเรื่องนี้แม้ว่าจะดูน่าเบื่อไปหน่อยสำหรับวัยรุ่น เพราะค่อนข้างเอื่อยเฉื่อยไม่ทันใจ แต่ก็ค่อยๆให้ข้อคิด และแฝงความประทับใจให้แก่คนดูอย่างซึมลึกเข้ามาในหัวใจทีละน้อย ผ่านตัวละครที่ดูน่าเบื่ออย่าง “เดวิด”เด็กเนิร์ดขี้แหย , “ปีเตอร์”พ่อผู้เข้มงวดและเผด็จการ และตัวละครอื่นๆที่ดูไม่ค่อยมีบทบาทมากนัก ทั้งหมดนี้ดูจะเป็นตัวละครที่ดูหม่นหมองและขาดความน่าสนใจ แต่ตัวละครในเรื่องนี้ก็ดูมีความเป็นคนจริงๆอยู่มาก ตรงที่มีพัฒนาการ และมีการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ไปตามสถานการณ์ตลอดเวลา จึงทำให้หนังเรื่องนี้ดูจริง และน่าเชื่อถือมากขึ้น และสิ่งที่เหลือไว้ให้คนดูได้ขบคิดต่อเมื่อหนังจบก็น่าสนใจ ตรงที่ไม่มีหนังเรื่องใดเสนอมุมมองเช่นนี้ ยกตัวอย่างเช่น เพชร ไม่ว่าเมื่อไหร่ก็จะยังคงเป็นเพชรที่ส่องประกายเสมอ หรือ ความรักและกำลังใจเป็นพลังสำคัญที่สามารถชุบชีวิตคนๆหนึ่งได้ราวกับเกิดใหม่ เช่นเดียวกับความรักและกำลังใจที่เดวิด เฮลฟ์ก็อท ได้รับจากกิลเลี่ยน ภรรยาผู้แสนดีของเขานั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น: